Q&A เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Covid-19 ในสตรีตั้งครรภ์

Q&A เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Covid-19 ในสตรีตั้งครรภ์

ระยะฝากครรภ์

1.การตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่

ตอบ การตั้งครรภ์ ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19

2.อาการของสตรีตั้งครรภ์ที่เป็น COVID-19 แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่

ตอบ ไม่แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ อาการที่พบ ได้แก่ ไข้ ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำมูก จมูกไม่ได้รับกลิ่น  เป็นต้น   พบว่าประมาณร้อยละ 90 หายได้ โดยไม่ต้องรับไว้รักษาใน รพ.  แต่อาจมีอาการของโรครุนแรงกว่าสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ >= 35 ปี อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

3.สตรีที่ติดเชื้อ COVID-19 ระหว่างการตั้งครรภ์ จะมีภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นหรือไม่

ตอบ สตรีตั้งครรภ์ จะมีภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้เพิ่มขึ้น

  • การคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะในรายที่มีปอดอักเสบหรือป่วยรุนแรง
  • การผ่าตัดคลอด
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ

ทารก ไม่พบความพิการของทารก หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เพิ่มขึ้น

4.ทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 มีความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยหรือไม่

ตอบ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเชื้อ COVID-19 ผ่านรก และทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ

         อย่างไรก็ตาม มีรายงานจำนวนไม่มาก ที่พบว่าทารกซึ่งคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อในไตรมาสที่ 3 ติดเชื้อ COVID-19 (ประมาณร้อยละ 2)

5.ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของ COVID-19 มาก จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการฝากครรภ์อย่างไรบ้าง ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติด COVID-19 ของสตรีที่มาฝากครรภ์

ตอบ แพทย์จะปรับการดูแลให้เหมาะสม ตามความเสี่ยงของสตรีที่มาฝากครรภ์แต่ละราย โดยขั้นตอนที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่

  • การให้คำปรึกษาทางไกล (telehealth)
  • การลดจำนวนครั้งของการฝากครรภ์
  • การลดระยะเวลาของการตรวจในแต่ละครั้งที่มา รพ.
  • การจำกัดจำนวนคนที่มารอรับการตรวจครรภ์และการตรวจทางห้องปฏิบัตการ และจัดให้อยู่ห่างกัน
  • การรวมการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้อยู่ในคราวเดียวกัน
  • การตรวจอัลตราซาวด์เฉพาะที่มีข้อบ่งชี้

ปรับระยะเวลาและความถี่ของการตรวจประเมินสุขภาพทารกในครรภ์

ระยะคลอด

1.สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่มีอาการ ควรเลื่อนการชักนำการคลอดหรือผ่าตัดคลอด ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าในครรภ์ ออกไปก่อนหรือไม่

ตอบ ไม่ควร เพราะอาจมีอันตรายต่อมารดาหรือทารกในครรภ์มากกว่า

2.วิธีการระงับความปวดในระหว่างการรอคลอด ที่เหมาะสมสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 คือวิธีใด

ตอบ การให้ยาชาทางไขสันหลัง  มีข้อดีคือ...

  • ช่วยลด ภาวะเครียดต่อระบบการทำงานของหัวใจและปอด ที่เกิดจากความปวดและความกังวล
  • ทำให้ไม่ต้องดมยาสลบ ในกรณีต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน
  • ไม่ควรใช้ Nitrous oxide ซึ่งเป็นยาลดความเจ็บปวดชนิดสูดดมในขณะรอคลอด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในเรื่องการทำความสะอาด (cleaning) การกรอง (filtering) และโอกาสทำให้เกิดละออง (aerosolization)

 

3.ควรตรวจกรอง COVID-19 บุคคลที่อยู่กับสตรีตั้งครรภ์ระหว่างการรอคลอดหรือไม่

ตอบ คนที่อยู่ในห้องรอคลอดควรได้รับการตรวจกรอง COVID-19 (ทั้งนี้ ข้อกำหนดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่)

ไม่ควรให้บุคคลต่อไปนี้อยู่ในห้องรอคลอด

  • คู่สมรสที่ตรวจพบ COVID-19 แต่ไม่มีอาการ
  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ที่เป็นโรค COVID-19 ภายใน 14 วัน               

4.สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 จำเป็นต้องคลอดโดยการผ่าตัดคลอดหรือไม่

ตอบ ไม่จำเป็น เพราะการผ่าตัดคลอดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางด้านมารดาและไม่ทำให้ผลลัพธ์ทางด้านทารกดีขึ้นแต่อาจมีความจำเป็นในรายที่มารดามีอาการเหนื่อยหอบ มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่ควรให้คลอดโดยการผ่าตัดคลอด

ระยะหลังคลอด

1.ทารกซึ่งคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับการดูแลในโรงพยาบาลอย่างไร

ตอบ ให้การดูแลตามแนวทางควบคุมการติดเชื้อ (infection control precautions)

         ให้การดูแลแยกออกจากทารกคนอื่น  เก็บสารคัดหลั่งภายในจมูกและคอ (nasopharyngeral swab) เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 และให้การดูแลต่อตามผลตรวจที่ได้

2.มารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 ควรให้การดูแลทารกอย่างไร

ตอบ สามารถให้ทารกอยู่ในห้องเดียวกับมารดาได้ โดยควรวางทารกห่างจากมารดามากกว่า 6 ฟุต    มารดาต้องสวมหน้ากากอนามัย (face mask) และ ทำความสะอาดมือก่อนสัมผัสทารกทุกครั้ง

3.มารดาทีติดเชื้อ COVID-19 ควรมีการรักษาระยะห่างกับทารกแรกเกิด (isolation) และปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้อ (infection precaution) เป็นระยะเวลานานเท่าใด

ตอบ ในมารดาที่มีอาการ.....

  • อย่างน้อย 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ
  • อย่างน้อย 20 วัน ในกรณีมีอาการรุนแรงหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ไม่มีไข้ โดยที่ไม่ได้ใช้ยาลดไข้ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • อาการอื่น ๆ ดีขึ้น

         ในมารดาที่ไม่มีอาการ

  • อย่างน้อย 10 วัน หลังตรวจพบเชื้อ (test positive)

4.ทารกสามารถรับน้ำนมจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 ได้หรือไม่

ตอบ แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อ COVID-19 สามารถถ่ายทอดผ่านน้ำนมมารดาได้หรือไม่  เมื่อเทียบประโยชน์ที่ได้จากน้ำนมมารดาแล้ว แนะนำให้ทารกดื่มนมมารดาได้

5.มารดาที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ควรปฏิบัติอย่างไรในการให้นมทารกแรกเกิด

ตอบ ทำความสะอาดมือ เต้านม และสวมหน้ากากอนามัย (face mask) ขณะให้นมบุตรเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ (droplet transmission) หรือ ทำความสะอาดมือ เต้านม และสวมหน้ากากอนามัย (face mask) แล้วปั๊มนมให้คนอื่นนำไปเลี้ยงทารกก็ได้

 

 

วัคซีนโควิด สำหรับสตรีตั้งครรภ์และสตรีให้นมบุตร

1.มีข้อแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน COVID-19 สำหรับสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์

ตอบ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการระบาดของโรค ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์สูงขึ้น จึงไม่ได้แนะนำให้เลื่อนการตั้งครรภ์ออกไป แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ ถ้าทำได้ ทั้งนี้ วัคซีนไม่มีผลทำให้มีบุตรยาก และ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วไม่จำเป็นต้องเว้นช่วงการตั้งครรภ์

2.วัคซีนมีความปลอดภัย สำหรับสตรีตั้งครรภ์ หรือไม่

ตอบ วัคซีนไม่ได้มีส่วนประกอบของเชื้อที่สามารถแบ่งเพิ่มจำนวนได้ จึงไม่ได้ทำให้เกิดโรค Adjuvant (aluminium salts) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีน มีความปลอดภัย และมีการฉีดในสตรีตั้งครรภ์อย่างกว้างขวาง เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (TdaP)

          อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ไปแล้ว  ในกรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วตั้งครรภ์ ให้ฉีดเข็มที่ 2 ตามเวลาเดิมเหมือนสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์

3.การฉีดวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ จะมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่

ตอบ มีผลข้างเคียงจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเหมือนที่พบได้ในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไปตามชนิดของวัคซีนที่ฉีด

4.วัคซีนมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร

ตอบ ข้อมูลที่มีพบว่าอัตราการแท้ง ความพิการของทารก การเติบโตช้าของทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และการตายปริกำเนิด ไม่เพิ่มขึ้น ในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีน

5.ประสิทธิภาพของวัคซีนที่เกิดขึ้นในสตรีตั้งครรภ์เป็นอย่างไร

ตอบ วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อ COVID-19 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าวัคซีนบางชนิดที่ฉีด ทำให้สตรีตั้งครรภ์ เกิดภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ได้ (cross-reactive immune responses)

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบภูมิคุ้มกัน (antibodies) ในสายสะดือ ในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงอาจช่วยให้ทารกแรกเกิดได้รับภูมิคุ้มกันจากมารดาด้วย

6.สตรีตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นที่แนะนำให้ฉีดในระยะฝากครรภ์ได้หรือไม่                                                                                                                                                                                                                         

ตอบ สามารถให้พร้อมวัคซีนอื่น เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (TdaP), ไข้หวัดใหญ่ (influenza) ได้

7.สตรีที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่

ตอบ ภูมิต้านทาน (antibodies) ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในมารดา สามารถออกมาทางน้ำนมได้ และอาจจะมีผลป้องกันการติดเชื้อในทารกได้

 

บทความโดย พ.อ.พญ. พีระพรรณ พันธุ์ภักดีคุณ สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี ประธาน PCT สูติ-นรีเวชกรรม

สอบถามข้อมูลได้ที่ แผนกสูติ-นรีเวช 02-561-1111 / 02-058-1111 ต่อ 2219-20