โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (เดอกาแวง De-quervain's) โรคยอดฮิตของคนใช้ข้อมือเยอะ

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ หรือโรคเดอกาแวง คือภาวะที่มีอาการปวดบริเวณข้อมือด้านนิ้วโป้ง มีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นเอ็นที่อยู่ฝั่งนิ้วโป้ง โดยปกติแล้วเส้นเอ็นดังกล่าวจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างง่ายในเนื้อเยื่อที่มีลักษณะอุโมงค์คือปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ (sheath) เมื่อเกิดการอักเสบแล้ว การบวมจะทำให้เส้นเอ็นไม่สามารถเคลื่อนไหวภายในปลอกหุ้มเอ็นได้ ทำให้มีอาการปวดข้อมือบริเวณฝั่งนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะในขณะทำงานที่ต้องกำมือหรือขยับข้อมือ ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุประมาณ 30-50 ปี โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็น มากกว่าผู้ชาย ประมาณ 8-10เท่า โดยมักจะมีอาการปวดข้อมือ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด และมักจะมีอาการในช่วงกลางคืน  อาการ อาการปวดในข้อมือฝั่งข้างเดียวกับนิ้วโป้งซึ่งอาจค่อยๆเกิดอย่างช้าๆหรือเกิดอย่างฉับพลัน อาการปวดไปตามแนวนิ้วโป้งหรือจากช้อมือลงมายังแขน อาการบวมของข้อมือด้านนิ้วโป้ง รู้สึกอาการเจ็บ เสียวเมื่อขยับนิ้วโป้ง การรักษา การรักษาอาจเริ่มด้วยการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆก่อนที่จะพิจารณาทำการผ่าตัด การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือในท่าซ้ำๆ หรือใส่อุปกรณ์ดามข้อมือและนิ้วโป้ง เพื่อลดการเคลื่อนไหว รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ การเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปวด การประคบบริเวณที่เป็นด้วยน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวม การฉีดเสตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบโดยทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดโดยการกรีดบริเวณที่เป็นเล็กน้อยเพื่อให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นคลายและมีที่สำหรับเส้นเอ็นได้เคลื่อนไหวมากยิ่งชึ้น โดยจะลดอาการปวดและบวมได้ การเคลื่อนไหวจะกลับมาใช้ได้ปกติ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นิ้วล็อค (Trigger Finger) โรคฮิตของคนทำงาน

     ภาวะนิ้วล็อค (Trigger finger) หรือ ภาวะปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว มีโอกาสเป็นได้กับทุกนิ้ว สาเหตุเกิดจากการหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นนี้ได้ยากขึ้น ทำให้เกิดการติดล็อคหรือเกิดอาการปวดได้ โรคนี้ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากที่สุดในผู้หญิงวัยกลางคน โดยมากจะเกิดกับกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำ และทำให้มือต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน รวมทั้งทำซ้ำบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้าน การหิ้วของหนัก การยกของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า หรือแม้แต่การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ แท็บเล็ตตลอดเวลานานๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อค ลักษณะอาการของโรคนี้ 1. มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และอาจรู้สึกติดแข็งในตอนเช้า 2. รู้สึกสะดุด หรือมีเสียงเวลาขยับข้อนิ้ว และอาจคลำได้ก้อนบริเวณโคนนิ้ว 3. รู้สึกตึงและรู้สึกเหมือนมีบางอย่างนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อค 4. นิ้วล็อคติดในท่างอ แต่ยังสามารถจับเหยียดนิ้วออกมาได้ 5. นิ้วล็อคติดในท่างอ โดยที่ไม่สามารจับเหยียดออกมาได้ วิธีการรักษา ดังนี้ 1.ให้พักใช้งานมือข้างที่มีอาการ และหลีกเลี่ยงการงอและเหยียดนิ้วมือซ้ำๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ 2.แนะนำให้แช่น้ำอุ่นและนวดบริเวณโคนนิ้ว ยืดเหยียดนิ้วมือให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในตอนเช้าอย่างน้อย   5-10 นาทีต่อวัน 3.การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Finger splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดไม่ให้งอข้อปลายนิ้ว ข้อโคนนิ้วใหแคลื่อนไหวได้ปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนซึ่งจะช่วยลดอาการปวดในตอนเช้าได้ 4.การใช้วิธีทางกายภาพบำบัดได้แก่ การใช้ความร้อนประคบ การนวดเบา ๆ การออกกำลังโดยการเหยียดนิ้วและการใช้เครื่องดามนิ้วมือ โดยอาจมีการรักษาร่วมกันด้วยการใช้ยาและกายภาพบำบัด และมักใช้ได้ผลดีเมื่อมีอาการของโรคในระยะช่วงแรก 5.การรับประทานยา จำพวกยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์(NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และได้รับคำแนะนำก่อนใช้ยา 6.การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ลดปวดและลดบวม ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นมานาน หรือการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษา โดยฉีดยาสเตียรอยด์(steroid injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งการฉีดยาควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้นเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก แต่การฉีดยามักถือว่าเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ซึ่งการฉีดยานี้สามารถใช้ได้กับอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะท้าย หากผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องใช้งานมือข้างที่มีอาการอยู่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีอาการกำเริบซ้ำขึ้นอีกได้ โดยอาจจะมีอาการกลับมาหลังฉีดยาประมาณ 3-6 เดือน และหากมีอาการกลับมาอีกครั้ง แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดยาซ้ำได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะฉีดยามากกว่า 2 ครั้งในนิ้วเดียวกัน 7.การรักษาโดยการผ่าตัด แบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ -  การผ่าตัดแบบเปิด(Open release)  เป็นการทำในห้องผ่าตัดโดยทั่วไปสามารถทำได้ โดยหลักในการผ่าตัด คือ การฉีดยาชาฉพาะที่และเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1cm และใช้มีดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัด หรือสะดุดอีก หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้วต้อง หลีกเลี่ยงการใช้งานมือหนักประมาณ 2 สัปดาห์ การผ่าตัดโดยมีแผลเปิดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะนัดมาตัดไหมที่ประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด -  การผ่าตัดแบบปิด (Percutaneous release) โดยการใช้เข็มเขี่ย หรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก วิธีนี้มีข้อดีคือ แผลจะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 2mm ซึ่งการผ่าตัดแบบปิดนี้นั้นแทบจะไม่มีแผลให้เห็น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์มากขึ้น และมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เนื่องจากเส้นประสาทอยู่ใกล้กับบริเวณที่ผ่าตัดมาก และการผ่าตัดแบบปิดนี้ใช้ได้สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไป โดยภาพรวมนั้นถือว่าการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในการที่จะช่วยไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคได้อีก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือเรียกอีกอย่างว่า “โรครองช้ำ”

เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้หญิง  โดยมักมีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้า ซึ่งสัมพันธ์กับการเดินลงน้ำหนักเท้า มักเป็นมากตอนเช้าขณะลุกจากเตียง อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ตามลักษณะการใช้งาน การอักเสบจะเกิดขึ้นบริเวณเอ็นส้นเท้าต่อเนื่องไปจนถึงเอ็นร้อยหวาย ในรายที่เป็นมานานหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการจะเป็นเรื้อรังมากขึ้นจนอาจเป็นตลอดวัน สาเหตุ เกิดจากการตึงตัวที่มากเกินของเส้นเอ็นฝ่าเท้าและอุ้งเท้าที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกขณะที่เราลงน้ำหนัก จนเกิดเป็นพังผืด และเกิดการอักเสบเรื้อรังสะสมมาเรื่อย ๆ ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 1.คนที่มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูง เท้าแบน 2.น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้มีแรงส่งไปที่เท้าเยอะขึ้น 3.คนที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ 4.การวิ่งที่ลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามากเกินไป 5.การวิ่งที่พื้นแข็งเกินไป หรือรองเท้าแข็งหรือบางเกินไป และรับแรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร 6.คนสูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นลดลง 7.คนที่มีอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ ทำให้พงผืดฝ่าเท้าตึง  อาการ อาการของผู้ที่เป็นโรครองช้ำ คือ จะปวดฝ่าเท้ารอบ ๆ ส้นเท้าไปถึงเอ็นร้อยหวายในช่วงแรกที่เริ่มใช้งาน เช่น ตอนตื่นนอน ตอนลุกจากการนั่งนาน ๆ เป็นต้น โดยจะมีอาการปวดเหมือนมีเข็มมาแทงหรือโดนของร้อน อาการจะดีขึ้นเมื่อมีการใช้งานไปสักระยะ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดจะเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ การวินิจฉัย โดยทั่วไป การวินิจฉัยโรครองช้ำสามารถทำได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอกซเรย์: หากมีการอักเสบของจุดเกาะเส้นเอ็นเป็นเวลานาน ร่างกายจะสร้างแคลเซียมมาพอกไว้ ซึ่งหากเอกซเรย์พบแคลเซียมที่มาพอกจุดเกาะเส้นเอ็น จะเป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยโรครองช้ำ อัลตราซาวด์: สามารถบ่งบอกการบวมหนาของเส้นเอ็นฝ่าเท้าได้ ซึ่งจะบอกถึงการอักเสบของเส้นเอ็นฝ่าเท้า การรักษา จะเริ่มจากการใช้ยาไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากยังไม่หาย จะเริ่มมีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยการรับประทานยา เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และระยะเวลาการรับประทานยาไม่ควรนานจนเกินไป การใช้เฝือกอ่อน โดยจะใช้ในช่วงแรกเพื่อลดอาการอักเสบ ฝึกยืดเหยียดฝ่าเท้า และแช่เท้าในน้ำอุ่น การใช้แผ่นรองเท้าที่มีลักษณะนิ่ม หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสม การทำกายภาพบำบัด ใช้ความร้อนแบบอัลตราซาวด์ การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave) มักทำในกรณีที่ทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย หรือต้องการให้อาการหายเร็วขึ้น การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่การรักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นระยะเวลาหนึ่งไม่สำเร็จ โดยจะมีหลายเทคนิค ซึ่งแพทย์จะเป็นคนเลือกให้เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย การป้องกัน โดยทั่วไปโรคนี้สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้ เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ได้แก่ รองเท้าที่ไม่รัดจนเกินไป มีส้นที่นิ่ม มีแผ่นรองรองเท้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่น้ำหนักเยอะ หรือใช้งานเท้าเยอะ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานาน หรือการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง หากมีการออกกำลังโดยการวิ่งอยู่ประจำ ควรปรับท่าวิ่งให้เหมาะสม ได้แก่ ก้าวให้สั้นลง และลงน้ำหนักให้เต็มเท้า หากต้องใช้ฝ่าเท้าหรือใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ควรมีการถอดออกมาพัก และยืดเส้นเอ็นเป็นระยะ ในผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าที่ผิดปกติ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตัดรองเท้าให้เหมาะสม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

10 ข้อแนะนำ ในการมีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี

1. สร้างบรรยากาศห้องนอนที่เหมาะสม 2.เข้านอนตรงเวลาและตื่นตรงเวลา ในเวลาใกล้เคียงกันทุกวันทั้งวันธรรมดาและวันหยุดก่อนเวลานอนซัก 1 ชั่วโมงควรผ่อนคลาย 3.อย่าบังคับตัวเองให้นอนหลับ 4. สามารถนอนได้ในเวลากลางวันโดย ไม่เกิน 30 นาทีและไม่ควรงีบหลับหลังบ่าย3โมง 5 พยายามรับแสงในตอนเช้า ประมาณ 10-15 นาที และ หลีกเลี่ยงเลี่ยงแสงจ้าในตอนเย็น 6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรเป็นช่วงเวลาเช้าและไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอน 3 ชั่วโมง 7. ไม่ควรดื่มชา, กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟน อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการนอน 8. ไม่ควรทานอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 4 ชม. ก่อนการนอนหลับ 9.ไม่ควรดื่มน้ำมากกว่า 1 แก้วก่อนนอนและแนะนำให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน 10. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หากจะดื่มแนะนำให้ดื่มอย่างน้อย 4 ชม. ก่อนเข้านอน   เวชศาสตร์วิถีชีวิต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เวชศาสตร์ วิถีชีวิต : เวชปฏิบัติแนวใหม่ในการ แก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เวชศาสตร์ วิถีชีวิต ( Lifestyle Medicine: LM ) คือการบูรณาการแนวทางเวชศาสตร์ปฏิบัติด้านวิธีชีวิตเข้ากับการแพทย์ปัจจุบันซึ่งการบูรณาการนี้มี จุดมุ่งหมายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง  และในกรณีที่เป็นโรคอยู่แล้วก็สามารถใช้เป็นแนวทางเสริมในการบำบัดรักษาได้ในปีค.ศ. 2007 ให้ คำจำกัดความของเวชศาสตร์วิถีชีวิตว่าเป็น “ การประยุกต์ใช้หลักการด้านสิ่งแวดล้อมพฤติกรรมศาสตร์ การแพทย์ และแรงจูงใจในการจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในระดับคลินิก เวชศาสตร์วิถีชีวิตเป็นเวชศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสตร์ที่จะสามารถจัดการป้องกันและควบคุมโรคNCDs  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย เวชศาสตร์วิถีชีวิตเป็นเวชชปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยบุคคลและชุมชนด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างครอบคลุมกว้างขวาง โดยเวชศาสตร์วิถีชีวิตประกอบไปด้วยหกเสาหลัก (Six Pillars) ได้แก่ โภชนาการ การออกกำลังกาย และการมีกิจกรรมทางกาย การจัดการความเครียด การนอนหลับที่มีคุณภาพ การลด ละ เลิกสารเสพติดให้โทษ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ และการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในสังคมและในครอบครัว  โดยคำว่าเสาหลักนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงความจำเป็นของทุกเสาหลักที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งผลให้เกิดการมีสุขภาพที่ดี ความสำคัญของแนวทางการเป็นองค์รวม ( Holistic approach ) ซึ่งไม่สามารถใช้เพียงแค่ 1-2 องค์ประกอบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิต   6 เสาหลักของวิถีชีวิต lifestyle medicine ประกอบไปด้วย 1. การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นการเน้นการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพบส่วน 2. การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นการส่งเสริมให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและปรับให้เหมาะสมกับความสามารถและความชอบของแต่ละคน 3. การจัดการความเครียด เป็นการสอนเทคนิคการลดความเครียดและส่งเสริมกลไกการเผชิญปัญหาที่ดีเพื่อจัดการกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการมีความเครียดเรื้อรังส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนซึ่งส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตสูงที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและ ส่งผล ต่อ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 4. การนอนหลับที่ก่อให้เกิดการมีความสุขภาพดี การนอนหลับที่ไม่ดีส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อและทำให้ความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับที่พอเพียงจะอยู่ในช่วงประมาณ7- 9 ชั่วโมง เวชศาสตร์วิถีชีวิตมีบทบาทในการประเมินสภาวะสุขภาพในด้านการนอน ด้วยการแนะนำการจัดการสิ่งแวดล้อมและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการนอนหลับที่ดี 5. การหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย เช่น บุหรี่และแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่สำคัญซึ่งสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายประการ เวชศาสตร์วิถีช่วยสนับสนุนให้เกิดการลดละเลิกและหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดโทษต่อ ร่างกาย 6. การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกทางสังคมคือการมีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้อื่น รู้สึกเป็นที่รัก ห่วงใย เห็นคุณค่าและได้รับการชื่นชมจากผู้อื่น และมีการสนับสนุนทางอารมณ์เมื่อรู้สึกแย่ โดย แพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิต จะประเมินสภาวะการแยกตัวออกจากสังคม หาสาเหตุ และให้คำแนะนำความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ความสำคัญของเวชศาสตร์วิถีชีวิต มีแนวทางการดูแลสุขภาพที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นความสำคัญของการดูแลเฉพาะบุคคล การตัดสินใจร่วมกัน และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพและเป็นศาสตร์ที่เน้นการทำงานแบบสหวิทยาการ ที่รวบรวมสาขาวิชาต่างๆ  รวมถึงโภชนาการ สรีระวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา และสาธารณสุข     ที่มาจาก : วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                พญ. กานดา กู้เมือง สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วิตามิน B12 สำคัญอย่างไร กับผู้สูงอายุ และ คนที่กินเนื้อสัตว์น้อย ?

วิตามินบี 12 วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ พบในอาหาร เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ และผลิตได้จากแบคทีเรียในลำไส้ เนื่องจากเราไม่สามารถผลิตวิตามินบี 12 เองได้ จึงต้องอาศัยรับประทานจากอาหาร และ การมีจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้อย่างหลากหลายและสมดุล   ใครเสี่ยงขาดวิตามินบี 12 บ้าง ? ผู้สูงอายุ งานวิจัยพบว่า คนที่อายุเกิน 60 ปีในประเทศอังกฤษ และ อเมริกาขาดวิตามินบี 12 มากถึง 20% ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อย การดูดซึมไม่ดี หรือมีการใช้ยาต่างๆหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 ผู้ที่ทานอาหารแบบมังสวิรัติ หรือ วีแกน หรือทานเนื้อสัตว์น้อย ทำให้ได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากวิตามินบี 12 ถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ การที่มีตับอักเสบหรือถูกทำลายจากแอลกอฮอล์ทำให้การเก็บสะสมและการปล่อยวิตามินบี 12 ออกมาใช้ทำได้ไม่ดี นอกจากนี้หากดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก อาจทำให้กินอาหารอื่นๆที่มีวิตามินบี 12ลดลง และแอลกอฮอล์ยังอาจส่งผลให้กระเพาะและลำไส้อักเสบ ทำให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ลดลงได้อีกด้วย ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้ออก เนื่องจากทำให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ทำได้น้อยลง ผู้ที่ทานยาเบาหวาน metformin พบว่าขาดวิตามินบี12ได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้ปริมาณยามาก และทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเป็นเพราะยาไปรบกวนการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่ลำไส้ และ รบกวนสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ผู้ที่ทานยาลดกรด เช่น omeprazole (Miracid), esomeprazole (Nexium), lansoprazole (Prevacid) เนื่องจากความเป็นกรดที่ลดลงทำให้การดูดซึมวิตามินบี12 จากอาหารลดลงได้ ผู้ที่กินยาโรคเก๊าท์ colchicine เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังลำไส้ส่วนปลายแบบชั่วคราว ซึ่งมีผลให้การดูดซึมวิตามินบี12 ลดลงได้   วิตามินบี 12 มีประโยชน์อย่างไร ? วิตามินบี 12 ช่วยในการสร้าง DNA สร้างเซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์ระบบประสาท   เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราขาดวิตามินบี 12 ? การขาดวิตามินเล็กน้อย อาจยังไม่ทำให้เกิดอาการใด หากขาดมาก อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ชาปลายมือปลายเท้า หรือ เหน็บชา มีอาการชายิบๆง่าย ผิวหนังซีด, โลหิตจาง ลิ้นเลี่ยน ลิ้นอักเสบ หรือ ปากเป็นแผลบ่อยๆ ท้องผูก ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือ ท้องอืด มีลมในท้องมาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย   อย่างไรก็ตาม อาการของการขาดวิตามินบี 12 มักไม่ชัดเจน หรือไม่เฉพาะเจาะจง ปัจจุบันเราสามารถทราบภาวะการขาดวิตามินบี 12 ได้จากการตรวจวิตามินในเลือด ซึ่งการตรวจวิตามินบี 12 โดยตรงอาจมีความไวของการตรวจไม่มากนัก ต้องขาดมากๆแล้ว ค่าจึงจะผิดปกติ จึงมีการตรวจโดยอ้อมจากการตรวจสารอักเสบของหลอดเลือดที่ชื่อว่า Homocysteine ซึ่งสารอักเสบนี้จะคั่ง หรือพบปริมาณมาก หากขาดวิตามินบี 12 กรดโฟลิค หรือ วิตามินบี 6 นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่าการมีสาร Homocysteine นี้ปริมาณสูง สัมพันธ์กับโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะสารดังกล่าวทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และการอักเสบของหลอดเลือดขึ้น   เราจะเพิ่มปริมาณวิตามินบี 12 ในร่างกายได้อย่างไร ? ทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา นม ไข่ ทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์ หรือ จุลินทรีย์ชนิดดี เช่น โยเกิร์ตที่ระบุว่ามีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (Live & active cultures), ชาหมักคอมบูชะ (Kombucha) หรือทานโปรไบโอติกส์โดยตรง เพื่อให้แบคทีเรียชนิดดีเหล่านี้ช่วยสร้างวิตามินบี 12 ให้เรา ทานอาหารกลุ่มพรีไบโอติกส์ หรือ อาหารของจุลินทรีย์ชนิดดี เพื่อหล่อเลี้ยงแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เรา เช่น กระเทียมดิบ หอมหัวใหญ่ หอมแดง หรือต้นหอมดิบ ขิง ข่า ตะไคร้ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว แอปเปิ้ล แครอท งดแอลกอฮอล์ ทานวิตามินบี 12 เสริม หากพบว่าขาดวิตามินบี 12 สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทานวิตามินเสริม และ ตรวจติดตาม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

รู้ได้อย่างไร ว่าเราขาดวิตามินดี Vitamin D

วิตามินดี (Vitamin D) วิตามินดีเป็นวิตามินละลายในไขมัน เราได้รับวิตามินดีส่วนใหญ่โดยการสังเคราะห์ทางผิวหนังจากแสงแดดเป็นหลัก วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่อยู่ในออฟฟิศหรือในบ้านเป็นหลัก กลัวผิวเสีย ทำให้เราขาดวิตามินดีกันได้มากขึ้น ใครเสี่ยงขาดวิตามินดีบ้าง ? ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสขาดวิตามินดี เนื่องจาก อาจมีโอกาสอยู่กลางแดดน้อยลง การรับประทานอาหารลดลง ตัวรับบริเวณผิวหนังลดลง ทำงานในร่มตลอดเวลา ไม่ค่อยได้ออกกลางแจ้ง เช่น พนักงานออฟฟิศ ทาครีมกันแดดเป็นประจำ หญิงที่ให้นมบุตร มีโรคตับเรื้อรัง, การทำงานของตับผิดปกติ ทำให้เปลี่ยนวิตามินดีเป็นตัวออกฤทธิ์ได้น้อยลง มีโรคไตเรื้อรัง, การทำงานของไตผิดปกติ ทำให้เปลี่ยนวิตามินดีเป็นตัวออกฤทธิ์ได้น้อยลง หรือวิตามินดีรั่วออกไปได้มากขึ้น   วิตามินดีมีประโยชน์อย่างไร ? วิตามินดี ช่วยในการรักษาสมดุลของ แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส ในร่างกาย ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ร่วมกับแคลเซียมในการป้องกันกระดูกพรุน มีส่วนสำคัญกับการเจริญเติบโตและซ่อมแซมกระดูกและกล้ามเนื้อ ช่วยลดการอักเสบ และช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันพบว่า นอกจากเป็นวิตามินแล้ว วิตามินดียังเป็นฮอร์โมนอีกด้วย ซึ่งช่วยในการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย และการขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังที่พบบ่อยๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง โรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราขาดวิตามินดี ? ในเด็ก การขาดวิตามินดีอย่างมากอาจทำให้การเจริญของกระดูกผิดปกติ เดินได้ช้า หรือกระดูกขาโก่งงอ แต่สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการชัดเจน เราจึงมักจะทราบว่าเราขาดวิตามินดีก็ต่อเมื่อเราได้ตรวจระดับวิตามินดีในร่างกาย อย่างไรก็ตามอาการที่อาจพบได้ เช่น ปวดกระดูก ปวดข้อ มวลกระดูกลดลงมาก อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เป็นตะคริวบ่อยๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เราจะเพิ่มวิตามินดีในร่างกายได้อย่างไร ? ออกกลางแจ้งบ้าง พบว่า 80-90% ของวิตามินดีในร่างกายเราได้รับมาจากการสังเคราะห์ทางผิวหนังจากแสงแดด หากอยู่ในร่มตลอดทั้งวัน แนะนำให้ออกกลางแจ้งบ้าง ในช่วงเวลาที่ไม่รู้สึกว่าร้อนเกินไปหรือไม่ทำให้ผิวไหม้ เนื่องจากจริงๆแล้ว UVB ที่ทำให้เกิดอาการไหม้ เป็นตัวกระตุ้นให้คอเลสเตอรอลที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี ดังนั้นยิ่งแดดแรงยิ่งได้วิตามินดีมาก แต่ก็ควรตากแดดแต่พอดีนะคะ เอาที่เรารู้สึกไม่ร้อนเกินไป และผิวเราไม่แดง ไม่แสบนะคะ ทานอาหารที่มีวิตามินดี วิตามินดีเป็นวิตามินละลายในไขมัน พบในอาหาร เช่น ปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูนา หรือ ตับ ไข่แดง เห็ดต่างๆ ทานวิตามินดีเสริม หากตรวจวิตามินดีแล้วพบว่ามีวิตามินดีต่ำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทานวิตามินดีเสริม และ ตรวจติดตามเป็นระยะนะคะ เนื่องจากระดับวิตามินดีที่สูงเกินไปก็สามารถส่งผลเสียแก่ร่างกายได้เช่นกันค่ะ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเอสแอลอี (SLE)

โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า "ลูปัส" ซึ่งในภาษาลาตินแปลว่าหมาป่า ชื่อนี้มีที่มาจากรอยโรคที่หน้าของผู้ป่วยบางรายมีลักษณะคล้ายรอยถูกหมาป่ากัด โดยโรคลูปัสนั้นมีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ โรคที่ผิวหนังเท่านั้น (Cutaneous Lupus Erythematosus) และ โรคที่เกิดในระบบต่างๆนอกจากเฉพาะทางผิวหนัง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรคเอสแอลอี เป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune Rheumatic Disease)     โรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของตนเองโจมตีเนื้อเยื่อของตนเอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆซึ่งถูกภูมิคุ้มกันโจมตีนั้นมีการอักเสบ เกิดขึ้นโดยโรคต่างๆในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองจะถูกจำแนกชนิดตามลักษณะอาการที่ปรากฏในอวัยวะต่างๆและชนิดของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เกี่ยวข้อง โรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองมีหลายโรค เช่น โรคเอสแอลอี โรคหนังแข็ง โรครูมาตอยด์ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม โรคโจเกร็น เป็นต้น โดยอาจพบโรคในกลุ่มนี้พร้อมกัน 2 โรคในผู้ป่วยคนเดียวกันได้ ด้วยในโรคเอสแอลอีแม้อาจปรากฏอาการได้ในหลายระบบ เช่น ข้อ เลือด ไต สมอง หรือผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการแค่บางระบบเท่านั้น โดยในแต่ละช่วงเวลาอาจมีการกำเริบในอวัยวะที่แตกต่างกันได้ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีปัญหา ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบเป็นปกติ โรคเอสแอลอีเกิดจากอะไร?     การเกิดโรคเอสแอลอีโดยมีปัจจัยหลัก 2 ส่วน ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมโดยมียีนบางชนิดที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและเมื่อถูกกระตุ้นโดยปัจจัย สิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเอสแอลอีขึ้น ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นเหตุกระตุ้น เช่น ยาบางชนิด หรือ แสงแดด เป็นต้น การวินิจฉัย     ต้องอาศัยหลักฐานลักษณะอาการร่วมกันกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค การวินิจฉัยโรคเอสแอลอีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หลักฐานทางคลินิค และ หลักฐานที่ตรวจพบในระบบภูมิคุ้มกัน หลักฐานทางคลินิคประกอบด้วยลักษณะของอาการและอาการแสดงรวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีลักษณะเข้ากันได้กับโรคเอสแอลอี เช่น ข้ออักเสบ ไตอักเสบ เยื่อบุปอดหรือช่องท้องอักเสบ ลมชัก ผื่นผิวหนังอักเสบ ลูปัส เม็ดเลือดแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น หลักฐานที่ตรวจพบในระบบภูมิคุ้มกันที่เข้าได้กับโรคเอสแอลอี เช่น  ANA, anti-dsDNA, anti-Sm, anti-SSA เป็นต้น อาการของโรค        อาการทั่วไปที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้พบได้ในหลายโรค แต่หากผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าเกิดจากโรคกำเริบหรือไม่   อาการที่พบบ่อยเกิดใน 4 ระบบ ได้แก่ ผิวหนัง ข้อ ไต และเลือด ผิวหนัง เช่น ผื่นแดงลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อที่หน้า ผื่นแพ้แสง ผื่นเป็นวงที่หู ผมร่วง เป็นตัน ข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น ไต เช่น ปัสสาวะมีฟองมาก ขาบวม เป็นต้น เลือด เช่น โลหิตจางมีอาการซีดเพลีย เกร็ดเลือดต่ำมีอาการจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง เม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบอาการในอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อบุปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาการชัก อาการชา ประสาทหลอน ความคิดสับสน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีหลายอาการกำเริบและสงบสลับกันไป ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนึ่งก่อนจะมีอาการอื่นๆค่อยๆทยอยมา อาจมีอาการจากความผิดปกติของอวัยวะเดียวหรือหลายอวัยวะร่วมกันได้ การรักษาด้วยยา ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อควบคุมอาการปวดอักเสบข้อ เยื่อบุปอดอักเสบ หรือไข้ ผลข้างเคียงยาที่สำคัญคืออาจทำให้ปวดท้องหรือเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีโรคไตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนรับประทานยาในกลุ่มนี้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาชิน นาโพรเซน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น ยากลุ่มใหม่ เช่น โมบิค อาร์ค็อกเซีย ซิลิเบร็ค ยาในกลุ่มใหม่มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ากลุ่มเดิมแต่ยังคงต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีโรคไตหรือโรคหัวใจเช่นกันกับกลุ่มเดิม หากผู้ป่วยวางแผนที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดขอให้แจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อ พิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัด หากรับประทานยาในกลุ่มนี้ต่อเนื่องควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อประเมินผลข้างเคียงเป็นระยะ กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาในกลุ่มนี้ เช่น เพร็ดนิโซโลน เด็กซ่าเมทาโซน ไฮโดรคอร์ติโซน เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้รู้จักกันในชื่อยาสเตียรอยด์ ยานี้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ปกติถูกสร้างจากต่อมหมวกไต ยาสเตียรอยด์ช่วยควบคุมการกำเริบโรคเอสแอลอีในอวัยวะต่างๆ เช่น ไตอักเสบ เม็ดเลือดแดงแตก ข้ออักเสบที่ไม่ตอบสนองต่อยาควบคุมโรคเบื้องต้น เป็นต้น ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ในระยะยาวที่สำคัญ เช่น กดการทำงานของต่อมหมวกไต กระดูกพรุน อ้วนขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นต้น ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับขนาดและระยะเวลาที่ใช้ยา ดังนั้นการติดตามการรักษาและปรับยาโดยแพทย์ผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคว ดังนั้นการเข้ารับ การตรวจรักษาหรือวางแผนการผ่าตัดต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลให้ทราบ ว่ามีโรคประจำตัวเป็นโรคเอสแอลอีซึ่งกำลังรับประทานยาสเตียรอยด์ด้วยทุกครั้ง กลุ่มยาต้านมาลาเรีย ยาในกลุ่มนี้ช่วยควบคุมอาการปวดอักเสบข้อ อาการผื่นผิวหนังอักเสบ เยื่อบุปอดอักเสบ ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีเมื่อรับประทานร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันยังช่วยให้สามารถลดขนาดยากดภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้โรคสงบได้ นอกจากนี้เมื่อโรคเอสแอลอีเข้าสู่ระยะสงบแล้วยายังช่วยลดโอกาสโรคกลับมากำเริบ ผลข้างเคียงยาที่สำคัญ คือ ผลข้างเคียงต่อจอประสาทตาโดยความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของยา ขนาดของยา ระยะเวลาการรับประทาน เป็นต้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มนี้อยู่จึงควรเข้ารับการตรวจตาเป็นระยะตามคำแนะนำของแพทย์ หากตรวจพบความผิดปกติของจอประสาทตาการหยุดรับประทานยาจะช่วยให้ผลข้างเคียงดังกล่าวกลับคืนเป็นปกติได้ กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน        ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีในหลายลักษณะ เช่น ในกรณีการกำเริบโรคที่รุนแรง กรณีไม่ตอบสนองต่อยา ควบคุมโรคเบื้องต้น หรือเพื่อลดขนาดยาสเตียรอยด์ ตัวอย่างชนิดยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน เช่น เมทโทเทร็กเซ็ต อาชาไทโอปริน (อิมมูแรน) ไมโคฟีโนเลตโมเฟติล (เซลเซ็ป) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (เอ็นด็อกแซนด์) เป็นต้น การรับประทานยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษาและปรับยาจากแพทย์ผู้ดูแลเป็นประจำ โดยจำเป็นต้องรับการตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อติดตามผลข้างเคียงของยาตามแต่ชนิดของยานั้น ควรปฏิบัติตัวดูแลตนเองอย่างไรเพื่อลดโอกาสโรคกำเริบ มีสุขนิสัยที่ดี ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ล้างมือให้สะอาด กินอาหารสุกสะอาด งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทําจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนอย่างเดียวไม่ออกกำลังกายก็ทำให้กล้ามเนื้อลีบไม่มีแรง   ป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากทั้งโรคเอสแอลอีและยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้ติดเชื้อ ได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน จึงมีอาหารบางชนิดที่ต้องงด เช่น ปลาดิบ ส้มตำ ไข่ลวก เป็นต้น หากไปในสถานที่มีคนอยู่มากให้ระวังการติดเชื้อ ควรล้างมือบ่อย และอาจต้อง ไส่หน้ากากอนามัย รวมถึงควรดูแลสุขภาพของช่องปากอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบ   เลี่ยงแดด เพราะรังสีอุลตราไวโอเลตในแสงแดดอาจกระตุ้นให้โรคกำเริบ ควรทาครีมกันแดด SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกัน UVB และเลือกครีมกันแดดที่ป้องกัน UVA ในระดับ ++ ขึ้นไป โดยควรทาอย่างถูกวิธี ได้แก่ ทาหนาเพียงพอ ทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที   ห้ามตั้งครรภ์โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคกำเริบมากขึ้นได้ ยาที่ควบคุมโรคบางชนิดจำเป็นต้องหยุดยาก่อนการตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ในทางกลับกันยาบางชนิดก็ไม่ควรหยุดเพราะอาจทำให้โรคกำเริบในช่วงตั้งครรภ์ซึ่งกลับเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติบางอย่างในโรคเอสแอลอีเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง หรือการเกิดโรคหัวใจของทารกในครรภ์ได้   ห้ามขาดยา ปรับยาหรือหยุดยาเอง ยกเว้นกรณีแพ้ยา หากกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล รับยาเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่นหรือรับประทานยาสมุนไพรควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลรับทราบ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ทำความรู้จัก "แคดเมียม" สาเหตุโรคมะเร็งและโรคอิไต อิไต

แคดเมียม (Cadmium) มีสูตรทางเคมีคือ Cd ค้นพบปี พ.ศ. 2360 ซึ่งในธรรมชาติมักปะปนอยู่ในแร่สังกะสีซัลไฟด์ และเป็นผลพลอยได้จากการถลุงแร่ สังกะสี แคดเมียมเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติอ่อน งอได้ มีสีขาวปนน้ำเงินเป็นโลหะที่ทนต่อการกัดกร่อน มีจุด หลอมเหลวประมาณ 321 องศาเซลเซียส หากหลอมเหลวด้วยความร้อน และความกดดันสูงทำให้กลายเป็นไอ ควัน ในรูปแบบแคดเมียมออกไซด์ นอกจากนี้แคดเมียมอาจอยู่ในรูปเกลือหรือสารประกอบต่างๆ เช่น แคดเมียมออกไซด์ มีสีแดง แคดเมียมซัลเฟต มีสีเหลือง ใช้ในการผลิตสี และแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม เป็น ต้น   การเข้าสู่ร่างกายและกลไกการเกิดโรค ทางการหายใจ ฝุ่นละอองที่มีสารแคดเมียม และไอควันแคดเมียมออกไซด์ การสูบบุหรี่ ทางการกิน ปนเปื้อนจากอาหาร แหล่งน้ำ และดินที่เพาะปลูก มักถูกดูดซึมในทางเดินอาหารร้อยละ 2-6 แต่ในภาวะที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากถึงร้อยละ 20 เมื่อแคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วนั้น ร้อยละ 80-90 จะจับกับโปรตีน (metallothionin) ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดพิษจากแคดเมียม และร้อยละ 50 ของแคดเมียมที่มีอยู่ทังหมดในร่างกาย สะสมอยู่ที่ตับ และไต แคดเมียมมีระยะกึ่งชีพยาวนาน 7-30 ปี ตามปกติแคดเมียมถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่ อัตราการขับออกทางปัสสาวะค่อนข้างต่ำและจำนวนเล็กน้อย ถูกขับออกทางน้ำดี น้ำลาย ผม และเล็บ   อาการเฉียบพลัน  (จากการหายใจรับไอหรือควันของแคดเมียม)  อาการเฉียบพลัน (จาการอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแคดเมียมเกินกว่า 15 มก./ลิตร) ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน ไข้หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก สูญเสียน้ำ และเกลือแร่ อาจช็อกและไตวาย อาการเรื้อรัง เกิดพังผืดที่ปอด ถุงลมโป่งพอง พิษต่อไต โรคกระดูก กระดูกพรุน กระดูกเปราะ และ หักง่าย ปวดขาและเดินลำบาก อาจพบภาวะโลหิตจางจากการแตกของเม็ดเลือดแดง และก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก สำหรับพิษต่ออวัยวะสำคัญ คือ พิษต่อไต โดยมีการอักเสบที่ไต ทำให้สูญเสียการทำงานของไต ซึ่งทำให้การดูดซึมโปรตีนกลับจากปัสสาวะลดลง รวมทั้งมีการขับโปรตีนออกมาในปัสสาวะมากขึ้น และขับแคลเซียมฟอสฟอรัส ออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นทำให้เกิดไตวายเรื้อรังในที่สุด หากเกิดขึ้นแล้วจะไตจะเสื่อมถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้   โรคอิไต อิไต เป็นโรคพิษแคดเมียมที่มีผลต่อกระดูก การที่ไตขับแคลเซียมและฟอสฟอรัส ออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อเมแทโบลิซึมของกระดูก ทำให้เกิดกระดูกเปราะ กระดูกพรุน และ หักง่าย   แคดเมียมกับมะเร็ง  แคดเมียมจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง การรับสารแคดเมียมเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด ได้ เป็นต้น   แคดเมียมก่อให้เกิดโลหิตจาง แคดเมียมยังก่อให้เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ภาวะซีด   ฝุ่น pm 2.5 ที่มีฝุ่นละอองของแคดเมียมและก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดผลกระทบต่อ โรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น   การป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารที่ปลูกและผลิตในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนกำลังสูบบุหรี่ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง แคดเมียม ป้องกันไอควันแคดเมียม ให้เหมาะสม งดเข้าพื้นที่เสี่ยง หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยเฉพาะการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูภาวะความเสื่อมของไต    การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีสูดดม ฝุ่นละอองแคดเมียม หรือไอควันแคดเมียม ให้ ออกจากพื้นที่นั้น รับอากาศ บริสุทธิ์ และส่งแพทย์ทันที หากมีการกลืนกิน หรือดื่ม อาหารหรือน้ำดื่มที่มีแคดเมียมปนเปื้อน ให้ดื่มน้ำตามทันที 2 แก้ว แล้วรีบพบแพทย์  หากฝุ่นละอองแคดเมียมหรือ ไอควัน เข้าตา อาจ มีอาการแสบเคืองตา น้ำตาไหล ให้ล้างตา ด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆและพบจักษุแพทย์  หากสัมผัสทางผิวหนัง ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์ งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังกตุอาการตนเอง หากผิดปกติ รีบพบแพทย์  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ตรวจสุขภาพกายไม่ทิ้งสุขภาพใจ

ตรวจสุขภาพกายไม่ทิ้งสุขภาพใจ การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคขั้นพื้นฐานคงหนีไม่พ้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสารเสพติด ขั้นต่อมาของการป้องกันโรคคือการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรค โรคที่ไม่มีอาการ หรือโรคในระยะแรก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดความรุนแรงของโรคเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของสุขภาพไม่ได้มีเพียงแต่ด้านร่างกายเท่านั้น ยังรวมถึงสุขภาพทางใจซึ่งหมายถึง สภาวะจิตใจที่เป็นสุข สามารถจัดการหรือปรับตัวต่อปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ รับรู้ศักยภาพที่ตนเองมี สามารถเรียนรู้หรือทำงานได้เป็นอย่างดี สุขภาพกายและสุขภาพใจมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางรายมีความเครียดกับโรคที่ตนเองเป็น ทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือคนทำงานที่มีความเครียดสูงทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าไม่สามารถออกกำลังกายหรือเลือกรับประทานอาหารสุขภาพได้ จึงทำให้เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ดังนั้นการตรวจเช็คสุขภาพใจจึงมีความสำคัญไม่แพ้การตรวจสุขภาพกาย หลายคนคงเคยประเมินสุขภาพจิตด้วยแบบสอบถามกันมาบ้างแล้ว โดยแบบสอบถามที่นิยมใช้กันมักเป็นแบบสอบถามเพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น แบบประเมินความเครียด แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า ซึ่งแบบสอบถามเหล่านี้มีประโยชน์ในการค้นหาโรคเพื่อเข้ารับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป แต่การประเมินสุขภาพจิตด้วยการใช้แบบสอบถามดังกล่าวก็มีข้อจำกัด ไม่ได้ประเมินปัญหาความทุกข์ทางใจได้กว้างขวางครอบคลุมในบางประเด็นที่อาจไม่ใช่ความผิดปกติเช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การจัดการอารมณ์ มุมมองต่อตนเองหรือผู้อื่น การตัดสินใจเรื่องสำคัญชีวิต เป็นต้น ทางเลือกในการประเมินและดูแลสุขภาพใจอีกทางก็คือการพูดคุยกับบุคลากรด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะช่วยเป็นพื้นที่ปลอดภัย รับฟังปัญหาที่ไม่สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในตนเอง และสถานการณ์ของปัญหาตามความเป็นจริง ส่งผลให้ผู้เข้ามารับการพูดคุยสบายใจขึ้น เปิดมุมมองใหม่ต่อปัญหา นำไปสู่ทางจัดการแก้ไขตามความเหมาะสมต่อไป ดังนั้น หากดูแลสุขภาพกายด้วยการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว ถ้าได้ดูแลสุขภาพใจด้วยการพูดคุยกับบุคลากรด้านสุขภาพจิตร่วมด้วย ยิ่งทำให้การดูแลสุขภาพครบถ้วน นำไปสู่สุขภาวะหรือชีวิตที่เป็นสุขทั้งกายและใจต่อไป   #ตรวจสุขภาพกายไม่ทิ้งสุขภาพจิต #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม

การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม               การตรวจอัลตราซาวด์คือการตรวจโดยใช้ประโยชน์จากคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพโครงสร้างที่ทำการตรวจ โดยหลักการคือ หัวตรวจปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงส่งผ่านเข้าสู่โครงสร้างที่กำลังตรวจ และคลื่นเสียงที่ตกกระทบเนื้อเยื่อต่างๆก็จะสะท้อนกลับมายังหัวตรวจซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นเสียงด้วย แล้วแปลงคลื่นเสียงกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้าแสดงเป็นภาพขึ้นที่หน้าจอแสดงภาพ ด้วยคุณสมบัติการสะท้อนคลื่นเสียงที่แตกต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดทำให้ได้ภาพซึ่งสามารถแยกแยะเนื้อเยื่อแต่ละอย่างได้ นอกจากสามารถดูเนื้อเยื่อต่างๆแล้วยังสามารถดูเลือดที่มาเลี้ยงที่เนื้อเยื่อต่างๆได้ด้วย การอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจข้อและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal ultrasound) เป็นหนึ่งในแขนงของการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการประเมินความผิดปกติ ตัวอย่างการตรวจอัลตราซาวด์ เช่น อัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายในช่องท้อง อัลตราซาวด์หลอดเลือดเพื่อดูภาวะหลอดเลือดอุดตัน อัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram) เพื่อประเมินหัวใจและหลอดเลือดบริเวณหัวใจ เป็นต้น             มีแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาที่ใช้การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจข้อและกล้ามเนื้อ เช่น รังสีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ความนิยมในการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องมาจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์มีให้รายละเอียดของภาพที่สูงมาก เครื่องอัลตราซาวด์ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถนำมาใช้ในการตรวจในสถานที่ที่ดูแลรักษา เช่น ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ที่หอผู้ป่วยใน หรือที่ห้องฉุกเฉิน การตรวจสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ที่เหนือกว่าการตรวจด้วยภาพในวิธีอื่นๆ เช่น มีความปลอดภัยไม่ต้องสัมผัสรังสีอย่างการถ่ายเอ็กซเรย์ (X-ray) หรือถ่ายเอ็กซเรย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CT scan) สามารถประเมินหลอดเลือดหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อด้วยภาพดอปเพลอร์ (Doppler imaging) โดยไม่ต้องฉีดสี สามารถตรวจในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ตรวจได้ และค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูงเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ในการติดตามผลการรักษา และใช้ช่วยในการทำหัตถการให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้นโดยการนำด้วยอัลตราซาวด์ (ultrasound-guided) เช่น การเจาะข้อเพื่อตรวจนำ้ไขข้อ การฉีดยาเข้าข้อ การฉีดยาเข้าปลอกหุ้มเอ็น การฉีดยาเฉพาะจุด การตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มข้อ อย่างไรก็ตามอัลตราซาวด์ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถตรวจโครงสร้างที่อยู่ใต้กระดูกได้ ให้ภาพรายละเอียดสูงเฉพาะโครงสร้างที่ค่อนข้างตื้น หากตรวจหลายบริเวณจะใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์คือเป็นการตรวจที่อาศัยความชำนาญของผู้ตรวจสูง             การนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจโรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือรูมาโตโลยี (ultrasound in rheumatology) มีการต่อยอดไปมากกว่าการตรวจในระบบข้อและกล้ามเนื้อ โดยนำไปตรวจเพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินความผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรครูมาติสซั่มอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำลายในโรคโจเกร็น หลอดเลือดในโรคหลอดเลือดอักเสบ และปอดในโรคปอดที่เกี่ยวข้องกับแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น             แม้ว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวด์จะยังมีการใช้ในเวชปฏิบัติเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคข้อและรูมาติสซั่มไม่มากนักเนื่องจากข้อจำกัดบางประการ แต่เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ราคาเครื่องอัลตราซาวด์ถูกลงแต่มีคุณภาพสูงขึ้น พกพาสะดวกมากขึ้น และเป็นประโยชน์ในการช่วยดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ในผู้ป่วยโรครูมาติสซั่มจะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต #การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ (spondyloarthritis)

กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ                         กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบหรือข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส (spondyloarthritis) เป็นกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของข้อชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งแยกย่อยได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis) และกลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis) โรคต่างๆในกลุ่มโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส ได้แก่ โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (ankylosing spondylitis) โรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบรีแอ็กทีฟ (reactive arthritis) โรคข้ออักเสบที่สัมพันธ์กับโรคลำไส้อักเสบ   กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis)             กลุ่มโรคนี้มีปัญหาสำคัญคือมีอาการปวดหลังส่วนเอวหรือปวดที่ก้น แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อระยางค์อักเสบร่วมด้วยแต่ต้องมีอาการหลักคือข้อกระดูกสันหลังอักเสบ กลุ่มโรคนี้แบ่งได้เป็น โรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์และโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (โรคข้อสันหลังอักเสบที่เห็นได้ด้วยเอ็กซ์เรย์) ความผิดปกติที่แยกสองโรคนี้ออกจากกันคือ ความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บที่มีการอักเสบซึ่งเห็นได้ด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์หรือไม่ ในโรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ก็จะไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บได้ด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ แต่จะสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้เมื่อติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ไประยะหนึ่ง ก็จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่พัฒนาต่อกลายเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด             ประวัติและอาการที่ชี้นำว่าอาจเป็นโรคในกลุ่มนี้คือ อาการปวดหลังที่น่าจะเกิดจากการอักเสบไม่ใช่อาการปวดหลังที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือจากความเสื่อม ลักษณะที่ชี้นำว่าอาการปวดหลังนั้นน่าจะเกิดจากการอักเสบ เช่น เริ่มมีอาการปวดในผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี เริ่มมีอาการปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่เริ่มปวดอย่างฉับพลันทันที ระยะเวลาที่ปวดเรื้อรังอย่างน้อย 3 เดือน ปวดในเวลากลางคืน มีอาการฝืดตึงหลังจากตื่นนอนนานอย่างน้อย 30 นาที อาการดีขึ้นเมื่อได้ลุกขยับหลัง อาการปวดดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกายหรือรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาการไม่ดีขึ้นด้วยการพัก นอกจากอาการที่หลังโดยตรงแล้วอาจมีประวัติและอาการอื่นๆที่ช่วยชี้นำว่าอาจเป็นโรคกลุ่มนี้ เช่น มีประวัติเคยเป็นม่านตาอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ข้อระยางค์อักเสบ นิ้วมือหรือนิ้วเท้าบวมอักเสบคล้ายไส้กรอก เอ็นร้อยหวายอักเสบหรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดหรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น หากมีประวัติและอาการหลายข้อที่ชี้ว่าสาเหตุอาจมาจากกลุ่มโรคข้อสันหลังอักเสบควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แต่หากมีอาการปวดหลังที่ไม่มีลักษณะชี้นำว่าเป็นอาการปวดหลังจากการอักเสบควรปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อ   กลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis)             ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบในกลุ่มนี้อาจมีอาการข้ออักเสบ จุดเกาะเอ็นอักเสบ หรือนิ้วอักเสบบวมมีลักษณะคล้ายไส้กรอก ข้ออักเสบ ข้อที่อาจมีการอักเสบ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า จำนวนข้อที่มีการอักเสบมักจะไม่มาก อักเสบครั้งละหนึ่งถึงสี่ข้อ หรือหากมีข้ออักเสบหลายข้อก็มักจะมีแนวโน้มเป็นแบบไม่สมมาตร เช่น ข้อมือขวาอักเสบข้อมือข้างซ้ายก็จะไม่อักเสบ ข้อเท้าซ้ายอักเสบข้อเท้าข้างขวาก็จะไม่อักเสบ ข้อนิ้วชี้มือขวาอักเสบข้อนิ้วชี้มือซ้ายก็จะไม่อักเสบ เป็นต้น จุดเกาะเอ็นอักเสบ จุดเกาะเอ็นคือบริเวณที่เส้นเอ็นมาเกาะกับกระดูก ตัวอย่างจุดเกาะเส้นเอ็นที่มักจะมีการอักเสบ เช่น จุดเกาะของเอ็นร้อยหวายที่กระดูกส้นเท้า จุดเกาะของเอ็นฝ่าเท้าที่กระดูกส้นเท้า จุดเกาะเอ็นที่บริเวณข้อศอก และจุดเกาะเอ็นที่บริเวณข้อเข่า เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มโรคข้อสันหลังและข้อระยางค์อักเสบมักจะมีปัญหาจุดเกาะเอ็นอักเสบร่วมด้วย นิ้วอักเสบบวมคล้ายไส้กรอก ลักษณะดังกล่าวเกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบเส้นเอ็น เกิดได้กับนิ้วมือหรือนิ้วเท้า อาจเกิดกับนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้             ทั้งนี้ในผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลักนี้อาจมีอาการปวดหลังเช่นเดียวกับผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักได้เช่นกัน แต่อาการปวดหลังไม่ใช่อาการหลักของผู้ป่วยในกลุ่มนี้   อาการนอกหลังและนอกข้อของข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส             ผู้ป่วยที่เป็นโรคในกลุ่มนี้อาจมีอาการอื่นๆนอกจากปัญหาข้อสันหลังและข้อระยางค์อักเสบซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคกลุ่มนี้โดยตรง ได้แก่ โรคม่านตาอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆร่วม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไฟโบรไมอาลเจีย โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น             โรคม่านตาอักเสบเป็นอาการนอกข้อที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีผื่นสะเก็ดหนาสีเงินหรือสีขาว พื้นหนาสีแดง และอาจมีความผิดปกติที่เล็บร่วมด้วย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองที่ลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด   การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส             โรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยโดยอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มเพราะต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับโรคสปอนไดโลอาร์ไทรติสและโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งหมด แพทย์จะใช้ข้อมูลทั้งจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือด และผลการตรวจภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอ แล้วประมวลว่าอาการต่างๆน่าจะอธิบายจากโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสหรือไม่ การวินิจฉัยไม่สามารถทำได้ด้วยการให้คะแนนว่าครบตามเกณฑ์หรือไม่             ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดที่จะสามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสแน่นอน แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเลือดที่อาจช่วยสนับสนุน (หรือคัดค้าน) การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส  เช่น ยีน HLA-B27 และ ค่าการอักเสบ CRP และ ESR แพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคอื่น เช่น rheumatoid factor, anti-CCP หรือ ANA เป็นต้น             ผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักจะพบความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บ (ข้อต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับกระดูกปีกสะโพก) จากการตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้การแปลผลความผิดปกติที่พบในภาพเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอค่อนข้างยาก แพทย์แต่ละท่านอาจให้ความเห็นที่แตกต่างกันได้ ความผิดปกติในเอ็มอาร์ไอบางอย่างที่ชี้นำว่าอาจจะเป็นโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสอาจพบได้แม้ในคนปกติ ดังนั้นการแปลผลจึงจำเป็นต้องประเมินร่วมกับประวัติ การตรวจร่างกายและผลการตรวจเลือดร่วมด้วยเสมอ   การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส             การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่คล้ายกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยของการรักษาที่แตกต่างกันตามลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค   การออกกำลังกาย             การออกกำลังกายมีความสำคัญมากในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส ชนิดการออกกำลังกายที่แนะนำในผู้ป่วยได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อลำตัว การออกกำลังกายชนิดแอโรบิกเพื่อพัฒนาศักยภาพของปอดและหัวใจ การออกกำลังกายที่มีการขยายทรวงอกเพื่อพัฒนาการหายใจ การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาพิสัยข้อสันหลังและข้อระยางค์ การออกกำลังกายชนิดยืดเหยียด รายละเอียดวิธีการออกกำลังกายสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล             ท่าทางในกิจวัตรประจำวันมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดเนื่องจากผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเกิดข้อสันหลังติดในท่าก้ม ข้อสะโพกติดในท่างอ คอติดในท่าก้ม ซึ่งท่าดังกล่าวเป็นท่าที่ผู้ป่วยซึ่งทำงานสำนักงานต้องนั่งใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะส่งผลให้หลังและข้อสะโพกติดยึดได้โดยง่าย จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องจัดท่าและอุปกรณ์สำนักงานให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และควรมีการขยับยืดเหยียดร่างกายเป็นระยะ ท่าทางการนอนก็มีความสำคัญ หมอนที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดใช้ควรเป็นหมอนที่ค่อนข้างแบนเพราะการนอนหมอนสูงจะทำให้คอของผู้ป่วยมีโอกาสติดในท่าก้มได้             กีฬาที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดควรหลีกเลี่ยงคือกีฬาที่มีการกระทบกระแทกรุนแรง เช่น ต่อยมวย เตะฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการนวดแผนไทยในท่าที่มีการดัดกระดูกสันหลังหรือกระดูกคอ  รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีไคโรแพรคติก เพราะกิจกรรมต่างๆดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกระดูกสันหลังหักและกดทับไขสันหลังได้   การรักษาด้วยยา ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่มักจะใช้เป็นอันดับแรกในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่ายาจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่จึงจะตัดสินได้ว่าตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เช่น การฉีดยาเข้าข้อ หรือรอบเส้นเอ็น อาจได้ประโยชน์เพื่อลดการอักเสบเฉพาะจุด จึงเป็นประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีตำแหน่งที่มีการอักเสบไม่กี่จุด ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) และเมโธเทรกเซท (methotrexate) อาจได้ประโยชน์ในการควบคุมการอักเสบของข้อระยางค์ ยาในกลุ่มยาชีววัตถุต้านรูมาติกและยาสังเคราะห์มุ่งเป้าต้านรูมาติก เช่น infliximab, etanercept, adalimumab, golimumab, secukinumab, ixekizumab, และ tofacitinib ยาในกลุ่มนี้อาจพิจารณาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาในลำดับต้นๆ #กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ #กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis) #กลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis) #การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดข้อ

            อาการปวดบริเวณข้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากอาการปวดแล้วอาจมีอาการอย่างอื่นด้วย เช่น อาการบวม แดง ร้อน อาจมีอาการฝืดข้อหลังตื่นนอนหรือหลังจากอยู่ในอิริยาบทท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ข้ออาจขยับได้ลดลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ผื่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลด เจ็บคอ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด ตาอักเสบ แผลร้อนในที่ปาก ผมร่วง เป็นต้น ประวัติต่างๆเหล่านี้ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยต้นเหตุของข้ออักเสบได้ สาเหตุของอาการปวดข้อ             สาเหตุของอาการปวดข้อเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติที่โครงสร้างในข้อหรือรอบข้อก็ได้ หรืออาจเป็นการปวดร้าวมาจากที่อื่น โครงสร้างบริเวณข้อ ได้แก่ เยื่อหุ้มข้อ กระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และนวมไขมัน อาการปวดข้ออาจมีสาเหตุจากปัญหาที่โครงสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างบริเวณข้อนั้น แพทย์ผู้ดูแลจะพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุว่าอาการปวดข้อนั้นเกิดจากปัญหาที่โครงสร้างใดและเกิดจากโรคอะไร การรู้สาเหตุของอาการปวดข้อมีความสำคัญมากเพราะแต่ละโรคมีพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน บางโรคสามารถหายได้เอง บางโรคไม่อันตรายและตอบสนองต่อการรักษาได้ดี บางโรคเรื้อรังแต่ไม่อันตราย บางโรคต้องเริ่มรักษาเร็วเพราะมีผลต่อความผิดปกติในระยะยาว บางโรคต้องรีบรักษาทันทีเพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ตัวอย่างสาเหตุอาการปวดข้อ เช่น สาเหตุจากนอกข้อ เช่น เส้นเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อบริเวณข้อปวดตึง โรคไฟโบรไมอาลเจีย ความผิดปกติของระบบประสาท อาการปวดร้าวมาจากนอกข้อ เป็นต้น สาเหตุจากในข้อ แบ่งเป็น ข้อไม่มีการอักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม การบาดเจ็บของโครงสร้างข้อ เป็นต้น ข้อมีการอักเสบ เช่น โรคเกาต์ โรคซีพีพีดี (โรคเกาต์เทียม) โรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น การวินิจฉัยโรค             แพทย์จะอาศัยการซักประวัติ ได้แก่ ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาเดิม ประวัติอาการนำก่อนอาการปวดข้อ ระยะเวลาการปวดข้อ ลักษณะการดำเนินโรคของอาการปวดข้อ ปัจจัยที่ทำให้มีอาการมากขึ้นหรืออาการทุเลาลง และประวัติอาการที่อวัยวะอื่นๆนอกจากที่ข้อ เป็นต้น ร่วมกับการตรวจร่างกายบริเวณข้อที่ปวดเพื่อแยกแยะว่าเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างใดในข้อ ผู้ป่วยอาจไม่ได้ปวดเพียงข้อเดียวแต่อาจปวดหลายข้อ โดยพิจารณาลักษณะรูปแบบของอาการปวดข้อ เช่น ปวดข้อเดียว ปวดสองถึงสามข้อ ปวดหลายข้อแบบไม่สมมาตร ปวดหลายข้อแบบสมมาตร รวมถึงการตรวจร่างกายในอวัยวะอื่นๆนอกข้อ เช่น วัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจผิวหนังที่ต่างๆเพื่อหาผื่น ดูเล็บ ดูหนังศีรษะ ดูในช่องปาก คลำหาก้อน คลำต่อมน้ำเหลือง ตรวจปอด ตรวจหัวใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ร่องรอยความผิดปกตินอกเหนือจากบริเวณข้อสามารถบ่งชี้ต้นเหตุของโรคได้ ข้อมูลการซักประวัติและการตรวจร่างกายมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยให้แพทย์จะสามารถตีกรอบโรคที่สงสัยได้ แพทย์อาจสามารถให้การวินิจฉัยสาเหตุได้เลย หรืออาจจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานสนับสนุน (หรือคัดค้าน) ในโรคที่สงสัย เช่น ทำการตรวจเลือด ตรวจนำ้ไขข้อ หรือตรวจด้วยภาพ             ตัวอย่างการตรวจเลือดที่ช่วยในการวินิจฉัยโดยตรง เช่น หากสงสัยโรครูมาตอยด์ แพทย์จะส่งตรวจรูมาตอยด์แฟกเตอร์และแอนติซีซีพี หากสงสัยโรคเอสแอลอี แพทย์จะส่งตรวจเอเอ็นเอและอาจพิจารณาส่งตรวจแอนติบอดีจำเพาะ และแพทย์อาจส่งตรวจเลือดบางอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและการรักษา เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เอ็นไซม์ตับ การทำงานของไต ค่าการอักเสบ เป็นต้น             การเจาะข้อเพื่อตรวจนำ้ไขข้อมีความสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัยบางโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการข้ออักเสบเฉียบพลันจำนวนหนึ่งถึงสองข้อ เพราะช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ โรคเกาต์และโรคซีพีพีดี เป็นต้น             การตรวจด้วยภาพ ได้แก่ การตรวจเอ็กซ์เรย์ การตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจเอ็มอาร์ไอ และการตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอ็กซ์เรย์เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อยแต่สามารถเห็นได้ดีเฉพาะส่วนที่เป็นกระดูก ช่วยในการประเมินการกร่อนทำลายของข้อ ความแคบของช่องข้อ การงอกขึ้นของเนื้อกระดูกบริเวณข้อ แคลเซี่ยมที่พอกอยู่ที่บริเวณข้อ หรือความเสียหายในเนื้อกระดูก ซึ่งความผิดปกติต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงช้า ใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีจึงจะพบความผิดปกติในภาพเอ็กซ์เรย์ แต่ก็มีความสำคัญในการติดตามความเปลี่ยนแปลง การตรวจด้วยอัลตราซาวด์เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถประเมินความผิดปกติได้ดีทั้งเนื้อเยื่อรอบโครงสร้างข้อ ข้อ และผิวกระดูก แต่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติในส่วนที่ลึกกว่าผิวกระดูกได้จึงมักจะจำเป็นต้องประเมินคู่กับภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ และข้อจำกัดที่สำคัญของการทำอัลตราซาวด์คือเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ผู้ตรวจสูง การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอมีประโยชน์มากเพราะพบความผิดปกติได้รวดเร็ว ประเมินโครงสร้างทั้งส่วนตื้นและส่วนลึกได้ดี เห็นภาพรวมทั่วทั้งบริเวณที่ส่งตรวจ แต่มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และไม่เหมาะกับผู้ที่กลัวที่แคบ การตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์มีข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่าเอ็มอาร์ไอ ใช้เวลาในการตรวจไม่นาน แต่ประเมินได้ดีเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นกระดูกหรือบริเวณที่มีแคลเซี่ยมพอกอยู่ ทั้งนี้การตรวจด้วยภาพทุกวิธีมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องประเมินคู่กับอาการทางคลินิกเพราะอาจตรวจพบความผิดปกติที่ไม่มีความสำคัญหรือไม่ได้เป็นต้นเหตุของอาการปวดข้อนั้นได้ แนวทางการรักษา             แนวทางการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดข้อ ตัวอย่างแนวทางในการรักษา เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด ยาทรามาดอลเพื่อบรรเทาอาการปวดที่ค่อนข้างมาก ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน อีโทริค็อกซิบ) เพื่อบรรเทาปวดและลดการอักเสบ การทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวด แก้ปัญหาการติดยึดของข้อและเส้นเอ็น และฟื้นฟูพัฒนากล้ามเนื้อ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบในข้อที่มีการอักเสบ ยาปฏิชีวนะในโรคข้ออักเสบติดเชื้อ ยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไฮดร็อกซีคลอโรควิน สเตียรอยด์ เม็ทโทเทร็กเซท) เพื่อรักษาโรคในกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น #ปวดข้อ #สาเหตุของอาการปวดข้อ #การวินิจฉัยโรค #แนวทางการรักษา #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihotpital  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์คืออะไร?                 สาเหตุที่ทำให้ข้อมีการอักเสบมีมากมายหลายโรค โรครูมาตอยด์เป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เกิดข้ออักเสบได้ ข้อที่มีการอักเสบจะมีอาการปวด บวม หรือฝืดตึง โดยโรครูมาตอยด์เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไปทำร้ายข้อของตนเอง โรครูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมโรคให้สงบ และต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมากำเริบอีก   อาการของโรครูมาตอยด์                 อาการสำคัญของโรครูมาตอยด์คืออาการปวด บวม ฝืดตึงของข้อ โดยมักจะเกิดกับข้อเล็กเป็นหลัก เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า อาจมีข้อใหญ่อักเสบร่วมด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อไหล่ ทั้งนี้ข้อส่วนใหญ่ของร่างกายอาจมีการอักเสบที่เกิดจากโรครูมาตอยด์ได้ยกเว้นข้อสันหลังส่วนเอวและส่วนอก โรครูมาตอยด์มักจะเกิดอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการดำเนินโรคที่เรื้อรัง ข้อที่อักเสบมักจะอักเสบพร้อมๆกันจำนวนหลายข้อ และส่วนใหญ่เกิดในข้อที่ตรงกันในด้านตรงข้ามด้วย เช่น มีการอักเสบของข้อมือทั้ง 2 ข้าง ข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการฝืดตึงของข้อหลังตื่นนอนโดยอาการฝืดตึงของข้อจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง                 เมื่อโรคมีการดำเนินต่อ ข้อที่มีการอักเสบจะถูกทำลายตามระยะเวลาที่ผ่านไป ส่งผลให้ข้อค่อยๆเคลื่อนและผิดรูป ส่วนของข้อที่ถูกทำลายและผิดรูปไปแล้วจะเป็นอย่างถาวร ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรครูมาตอยด์และแนะนำให้เริ่มการรักษาเพื่อควบคุมโรคแล้ว ผู้ป่วยควรเริ่มรับการรักษาเลย                 อาการอื่นนอกจากปัญหาที่ข้อซึ่งสัมพันธ์กับการกำเริบของโรครูมาตอยด์โดยตรง เช่น ก้อนรูมาตอยด์ที่ผิวหนัง ผื่นหลอดเลือดอักเสบ ตาขาวอักเสบ และการเป็นโรครูมาตอยด์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคพังผืดในปอด โรคกระดูกพรุน ไขมันในเลือดสูง และโรคซึมเศร้าอีกด้วย   การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์                 การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์อาศัยผลของการซักประวัติและการตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรครูมาตอยด์ ร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรครูมาตอยด์และคัดค้านโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกับโรครูมาตอยด์ ผลการตรวจเลือดที่สนับสนุนการวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ได้แก่ การตรวจพบปัจจัยรูมาตอยด์ (rheumatoid factor) หรือ anti-CCP แต่การตรวจพบก็ไม่ได้ยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นรูมาตอยด์อย่างแน่นอนเพราะแม้จะพบได้น้อยแต่ก็อาจพบในโรคอื่นได้เช่นกัน ทางกลับกันในผู้ป่วยรูมาตอยด์บางรายอาจตรวจไม่พบปัจจัยรูมาตอยด์ และ anti-CCP ได้ การตรวจลำดับถัดไปที่แพทย์มักจะส่งตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยคือการตรวจเอ็กซ์เรย์ แต่หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว การตรวจด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์อาจไม่พบความผิดปกติของกระดูกและข้อได้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดและฝืดตึงข้อแต่ไม่มีอาการข้อบวมชัดเจนและภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ปกติ กรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีการอักเสบของข้อหรือไม่ แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจอัลตราซาวด์ข้อหรือเอ็มอาร์ไอข้อเพิ่มเติม   การรักษาโรครูมาตอยด์                 ในปัจจุบันมียาเป็นจำนวนมากที่ใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์ อาจแบ่งเป็นกลุ่มของยาที่ช่วยบรรเทาการอักเสบ และกลุ่มของยาที่ช่วยปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (ทำให้โรคสงบ ป้องกันการทำลายข้อและข้อผิดรูป) กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen, indomethacin, meloxicam, celecoxib, etoricoxib เป็นต้น เป็นยาที่บรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของข้อแต่ไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone, dexamethasone ยาสเตียรอยด์อาจใช้ในช่วงแรกของการรักษาร่วมกับยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคเพื่อควบคุมการอักเสบของข้อระหว่างรอการออกฤทธิ์ของยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค กลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน ได้แก่ hydroxychloroquine, chloroquine, methotrexate, sulfasalazine, leflunomide, azathioprine, cyclosporine ยาในกลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ช่วยควบคุมโรคในระยะยาว แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดเพื่อช่วยควบคุมโรค ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับชนิดของยา ยาบางชนิดต้องติดตามผลข้างเคียงด้วยการเจาะเลือดตรวจ บางชนิดต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ บางชนิดต้องตรวจปัสสาวะ ยาชีววัตถุต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ infliximab, etanercept, adalimumab, golimumab, rituximab, tocilizumab, abatacept ยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีมากแต่ราคาสูง บริหารยาโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้าหลอดเลือด มีผลกดภูมิคุ้มกันมากกว่ายาในกลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มจึงอาจเลือกใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน ยาสังเคราะห์มุ่งเป้าต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ tofacitinib และ baricitinib ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีมากแต่ราคาสูง บริหารยาด้วยการรับประทาน กดภูมิคุ้มกันมากกว่ายาในกลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน จึงอาจถูกเลือกใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน                   ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรครูมาตอยด์ (อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือ รูมาโตโลจิสต์) ทั้งนี้การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาใดและปริมาณยาเท่าใดในการช่วยควบคุมโรคจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของโรค อายุและโรคร่วมของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของยา วิธีการบริหารยา และราคายา เป็นต้น ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์จึงอาจได้รับยาควบคุมโรคที่แตกต่างกันห้ามนำยาของตนเองให้ผู้อื่นรับประทานโดยเด็ดขาด แพทย์จะทำการติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลการรักษาและผลข้างเคียงของยาเป็นระยะ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่ติดตามการรักษาเพราะอาจเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะการขาดยามีผลต่อการกำเริบโรคและหากโรคกลับมากำเริบมากอาจควบคุมโรคได้ยากขึ้น   การดูแลตนเอง                 ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ควรมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้นและมีการบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าการเริ่มขยับร่างกายจะมีอาการปวดฝืดตึงอยู่บ้างแต่หากไม่ขยับเคลื่อนไหว ข้อก็จะยิ่งฝืดตึงมากขึ้น อีกทั้งหากไม่ได้บริหารร่างกายเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อและศักยภาพการทำงานของข้อก็จะลดน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีความกังวลว่าการออกกําลังกายจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบ แต่จากหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความกระตือรือร้นในการทํากิจกรรมต่างๆและออกกําลังกายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพร่างกายและฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับการใช้ข้ออย่างเหมาะสมเพื่อลดโอกาสบาดเจ็บของข้อและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทําให้ข้อผิดรูป  เช่น งานหัตถการ การตัดแต่งกิ่งไม้ การถอนหญ้า การบิดผ้า การเปิดฝาขวดแบบเกลียว และการหิ้วของหนักๆด้วยนิ้วมือ แต่ยังคงสามารถมีกิจกรรมด้วยการปรับการใช้ข้อ เช่น การบีบผ้าให้หมาดและตากให้แห้งแทนการบิดผ้า ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเปิดฝาขวด การหิ้วของหนักด้วยการคล้องที่แขนหรือใช้วิธีอุ้มของแทน เป็นต้น คําแนะนําสําหรับการออกกําลังกายคล้ายกับคําแนะนําสําหรับประชากรทั่วไป คือมีการออกกำลังกายเบาๆเพื่ออบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายและการยืดเหยียดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้งและอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ควรเริ่มอย่างเบาๆก่อน หากไม่มีอาการปวดข้อหรือกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายจึงค่อยๆปรับเพิ่มความหนักของการออกกำลังกายตามลำดับ มีข้อควรพิจารณาเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์คือ ควรมีการปรับความหนักเบาของแผนการออกกําลังกายตามการกําเริบของโรคอย่างเหมาะสม ในช่วงที่ข้ออักเสบมาก การออกกําลังกายที่เหมาะสมคือ การออกกําลังกายชนิดคงพิสัยข้อ และชนิดการเพิ่มความแข็งแรงเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เมื่ออาการอักเสบของข้อทุเลาลงแล้วจึงเริ่มออกกำลังกายชนิดแอโรบิก การออกกําลังชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกําลังชนิดเพิ่ม/คงพิสัยข้อ การออกกำลังกายของมือ และผู้ป่วยควรวางแผนความหนักของการออกกําลังกายอย่างเหมาะสมในผู้ที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย ควรระมัดระวังการเกิดกระดูกหักในผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนร่วม และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมควรระมัดระวังแรงกระทําต่อข้อเทียมที่มากเกินไป หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติหลังการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหรือนักกายภาพบำบัด                 การดูแลตนเองอย่างอื่นที่มีผลต่อการกำเริบโรค ได้แก่ ควรงดสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่มีผลต่อการควบคุมโรครูมาตอยด์ ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเนื่องจากในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีผลให้มีข้ออักเสบมากกว่าผู้ที่นำ้หนักปกติ ควรดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องจากฟันผุและเหงือกอักเสบมีผลต่อโรครูมาตอยด์ #การรักษาโรคซีพีพีดี #อาการของโรครูมาตอยด์ #การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ #การรักษาโรครูมาตอยด์ #การดูแลตนเอง #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<