โรคหัด ผู้ใหญ่ก็เป็นได้

โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Measles เป็นโรคที่มีอาการแสดงชัดเจน คือ จะมีผื่นสีน้ำตาลแดงขึ้นตามร่างกาย พบได้บ่อยตลอดทั้งปี แต่มักมีการแพร่ระบาดสูงในช่วงหน้าร้อน สามารถติดต่อกันได้หรือไม่? โดยโรคหัดสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ โดยผ่านทางลมหายใจ การสัมผัส ซึ่งเชื้อไวรัสโรคหัดจะแพร่ระบาดจากละออง ไอ จาม ของคนไข้ที่กระจายอยู่ในอากาศ ทำให้หากมีคนอื่นที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดสูดหายใจเข้าไป หรือสัมผัสถูกเชื้อแล้วนำไปขยี้ตา แคะจมูก หรือหยิบอาหารรับประทาน ก็จะมีโอกาสติดโรคหัดได้   สามารถหายเองได้หรือไม่? ซึ่งโรคหัดเมื่อเป็นแล้วจะสามารถหายเองได้ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ทว่าในผู้ป่วยบางราย ก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงจนกระทั่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นแนะนำว่าหากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโรคหัด แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา   โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าโรคหัดจะพบได้เฉพาะในเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นโรคหัดได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคหัดจัดอยู่ในภาวะที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง ตามคำประกาศเตือนขององค์การอนามัยโลก เพราะสามารถติดต่อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดยังอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ด้วย   อาการของโรคหัด จะมีลักษณะคล้ายการเป็นหวัด คือจะมีอาการคัดจมูก ไอ จาม และมีไข้สูง ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีความรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ปวดเมื่อย ไม่อยากอาหาร เป็นต้น   อาการแสดงสำคัญของโรคหัดที่สามารถทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคหัดคือ มีจุดสีเทาขาวภายในกระพุ้งแก้ม มีผื่นสีน้ำตาลแดงขึ้นตามร่างกาย โดยเริ่มจากศีรษะ คอ และลามไปตามร่างกาย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันจากผื่นร่วมด้วย   ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหัด อาจเป็นได้ทั้งการเกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ  อาทิ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ รวมถึงอาจเป็นการเกิดอาการผิดปกติในระบบประสาท  อย่างเช่น ภาวะสมองอักเสบ ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ถือว่าอันตรายมาก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหัดจากอาการแสดง รวมถึงลักษณะของผื่น โดยเฉพาะการพบจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ   การรักษา จะเป็นไปในลักษณะของการรักษาตามอาการ  เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง เช่นหากพบว่าผู้ป่วยมีไข้ ก็ให้ยาลดไข้ บรรเทาปวด ควบคู่ไปกับการให้คนไข้ได้พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำมากๆ โดยแยกคนไข้ออกจากคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ และเฝ้าดูอาการแทรกซ้อนต่างๆ จนการดำเนินของโรคหายไปเอง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน   การป้องกัน การป้องกันตัวเองจากโรคหัดนั้น สามารถทำได้ด้วยการรับวัคซีน MMR หรือ Measles, Mumps and Rubella Vaccine ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และโรคคางทูม โดย จะฉีดกันเข็มแรกในตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มที่ 2 ตอนอายุ 2 ขวบครึ่ง และปัจจุบันเพื่อเป็นการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทาง WHO แนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน   ด้วยความปราถนาดีจาก โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

7 เคล็ดลับสร้างฮอร์โมนความสุขให้ตัวเอง

7 เคล็ดลับสร้างฮอร์โมนความสุขให้ตัวเอง  20 มีนาคมในวันความสุขสากลนี้ มาเรียนรู้วิธีเสริมสร้างฮอร์โมนความสุขให้กับตัวเอง เพื่อชีวิตที่มีสมดุลยิ่งขึ้น ฮอร์โมนความสุขหลัก ๆ ได้แก่ เซโรโทนิน (Serotonin), โดปามีน (Dopamine) , และเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) และนี่คือ 7 เคล็ดลับที่คุณสามารถทำได้ เพื่อกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนความสุขในทุกๆวัน :   1.   ออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยเพิ่มระดับ “เอ็นดอร์ฟิน” ในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทในการสร้างความรู้สึกสุขใจและลดความเครียด 2.   รับแสงแดดในตอนเช้า : แสงแดดช่วยกระตุ้นการผลิต “เซโรโทนิน”  ในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับ 3.   ฟังเพลงโปรด :  ระหว่างที่เรากำลังฟังเพลงสมองจะหลั่งสาร “โดปามีน”  “เซโรโทนิน” ซึ่งทำให้เรามีความสุขและรู้สึกดี ยิ่งฮอร์โมนเหล่านี้เข้มข้นขึ้น สมองเหล่าก็ยิ่งจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้เก่งขึ้น 4.   ทานอาหารที่มีสารอาหารสำคัญ : เปรียบเสมือนการเติมพลังให้ร่างกาย ช่วยให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ 5.   สร้างความสัมพันธ์ที่ดี : การใช้เวลากับคนที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นคนรัก ครอบครัว เพื่อนหรือสัตว์เลี้ยง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาสามารถเพิ่มระดับ “โดปามีน” และ “เอ็นดอร์ฟิน” ในร่างกายให้สูงขึ้น 6.   หัวเราะบ่อย ๆ : การหัวเราะไม่เพียงแต่ทำให้คุณรู้สึกดี แต่ยังเพิ่มระดับ “เอ็นดอร์ฟิน” และ “เซโรโทนิน” ในร่างกายด้วย 7.   ทำกิจกรรมที่คุณชอบ : ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ อ่านหนังสือ หรือเล่นดนตรี การทำกิจกรรมที่คุณรักสามารถกระตุ้นการผลิต “โดปามีน” ในร่างกายได้   ผลดีของความสุขที่มีต่อสุขภาพ ในโลกของการดูแลสุขภาพ ความสุขไม่ได้มีแค่ความหมายในเรื่องของอารมณ์ที่เราสัมผัสได้เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย การมีความสุขสามารถช่วยลดความเครียดได้ ซึ่งความเครียดนี่แหละที่เป็นต้นตอของหลายๆ โรค เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ ความสุขยังมีส่วนเชื่อมโยงกับการมีอายุที่ยืนยาวและระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง   การมีความสุขไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง แต่ยังส่งผลดีต่อคนรอบข้างอีกด้วย เพราะความสุขนั้นสามารถส่งต่อได้เมื่อเรามีความสุข เรามักจะแบ่งปันความรู้สึกดีๆนั้นกับผู้อื่น สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อความสุขและการสนับสนุนทางอารมณ์ในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว ในวันแห่งความสุขสากลนี้ ลองใช้เวลาสะท้อนถึงความสำคัญของความสุขในชีวิตของเรา และหาวิธีที่จะเพิ่มความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ว่าจะผ่านการดูแลสุขภาพที่ดี การสร้างความสัมพันธ์ที่เอื้ออำนวยต่อความสุข หรือการทำกิจกรรมที่เรารักและชื่นชอบ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ข้อแตกต่างระหว่างการทำ PRK และ FEMTO LASIK

หลายคนที่กำลังสงสัยว่าการทำเลสิคนั้นมีกี่วิธีกันแน่นะ? มาดูข้อแตกต่างระหว่างการทำ PRK และ FEMTO LASIK  เพื่อเปรียบเทียบว่าแบบไหนเหมาะสมกับคุณ และแบบไหนที่ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ 1. ข้อแตกต่าง: TRANS-PRK: เป็นวิธีการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ที่ไม่ต้องใช้ใบมีด มันจะลอกชั้นบนสุดของกระจกตาออกแล้วใช้เลเซอร์ปรับรูปร่างของกระจกตาเพื่อแก้ไขสายตา ทั้งหมดนี้ทำในขั้นตอนเดียว FEMTO LASIK: เป็นวิธีการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ที่ใช้เลเซอร์สองชนิด วิธีนี้จะสร้างฟลับ (เหมือนแผ่นบางๆ) บนกระจกตาก่อน แล้วจึงใช้เลเซอร์อีกตัวหนึ่งมาปรับรูปร่างของกระจกตาที่อยู่ด้านใต้ฟลับเพื่อแก้ไขสายตา 2. เหมาะกับค่าสายตา: TRANS-PRK: เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น, สายตาเอียง, หรือสายตายาวในระดับปานกลาง (รวมกันไม่เกิน 600) FEMTO LASIK: เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น (100-1,000), สายตาเอียง (600) 3. ขั้นตอนการผ่าตัด: TRANS-PRK: ใช้เลเซอร์ลอกเอาผิวกระจกตาออกแล้วปรับความโค้งกระจกตาในขั้นตอนเดียว FEMTO LASIK: แยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ femtosecond แล้วยิงเลเซอร์ เพื่อปรับความโค้งของกระจกตา 4. ระยะเวลาผ่าตัด: TRANS-PRK: ประมาณ 10-15 นาทีต่อตา FEMTO LASIK: ประมาณ 15-20 นาทีต่อตา 5. เวลาพักฟื้น: TRANS-PRK: อาจใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 3-4 วัน และอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะมีการมองเห็นที่ชัดเจน FEMTO LASIK: ฟื้นตัวรวดเร็ว สามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติได้ในวันถัดไปหลังการผ่าตัด และมีการมองเห็นที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 6. เห็นชัดเจน: TRANS-PRK: อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะมีการมองเห็นที่ชัดเจน FEMTO LASIK: การมองเห็นที่ดีขึ้นอาจเกิดขึ้นได้รวดเร็วหลังการผ่าตัด และสามารถเห็นชัดเจนในวันถัดไป ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อประเมินว่าเทคนิคใดเหมาะสมกับคุณมากที่สุดโดยพิจารณาจากสภาพสายตาและความต้องการของคุณเป็นหลัก.   นัดหมายได้ที่ แผนกจักษุและเลสิค โทร.02-5611111 ต่อ 4312-3 และ 081-988-6784

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Q&A วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่

         ครั้งนี้โรคไข้เลือดออก ระบาดสูงสุดในรอบ 5 ปี ! ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกสะสมย้อนหลัง 15 ปี สูงถึง 1,237,467 ราย และเสียชีวิตกว่า 1,311 ราย ทั้งนี้อัตราการเสียชีวิตจะสูงในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มักเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ   โดยโรคไข้เลือดออกพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ขณะนี้ได้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ ที่สามารถฉีดได้โดยไม่ต้องตรวจภูมิ หรือเคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้วก็สามารถฉีดได้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุระหว่าง 4-60 ปี วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้สูงถึง 80.2%  ป้องกันไข้เลือดออกแบบรุนแรง 85.9% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4% ฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด วัคซีนมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบ แค่มีอาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1-3 วัน   Q1: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เลยไหม จำนวนเข็มในการฉีดเท่ากันหรือไม่ กี่เข็ม ห่างกันกี่เดือน? A1: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ใช้ปริมาณยา เท่ากัน ฉีดได้ตั้งแต่อายุระหว่าง 4-60 ปี   โดยฉีดจำนวน 2 เข็มเท่ากัน  ห่างกัน 3 เดือน   Q2: มาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ก่อน 3 เดือนได้หรือไม่? A2: ไม่แนะนำการฉีดวัคซีนก่อน 3 เดือน เพราะว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะสูงที่สุดเมื่อเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3 เดือน หากจำเป็นต้องเลื่อน ควรเลื่อนออกไปเกิน 3 เดือน ได้แต่ไม่ควรห่างนานเกินไป โดยไม่ต้องเริ่มเข็มแรกใหม่ อย่างไรก็ตามแนะนำให้มาฉีดเข็มที่ 2 ตามเวลาที่แพทย์นัด เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพในการปกป้องโรคไข้เลือดออกจากวัคซีนที่สูงที่สุด   Q3: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Qdenga) ฉีดแล้วป้องกันได้กี่เปอร์เซ็น? A3: ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ 100% หลังจากฉีดครบโดสแล้วก็ติดเชื้อได้ แต่จะลดอัตราการนอนโรงพยาบาลหรือความรุนแรงของโรคได้ เหมือนกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ ป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้สูงถึง 80.2% ป้องกันไข้เลือดออกแบบรุนแรง 85.9% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4% ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพที่สูง   Q4: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ แตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวก่อนอย่างไร? A4: เนื่องจากโครงสร้างของวัคซีน กระบวนการผลิตและหลักการในการผลิตของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงอาจส่งผลต่อ ข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของวัคซีน รวมไปถึงจำนวนเข็มและระยะห่างของการฉีดวัคซีนแต่ละเข็มที่แตกต่างกัน โดยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ 1: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดเดิม ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 - 45 ปี สามารถฉีดได้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น หากไม่มีประวัติการติดเชื้อยืนยัน ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน (ที่เดือน 0, 6 และ 12) ชนิดที่ 2: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ ผลิตที่ประเทศเยอรมนี ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 - 60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน คือ ทุกคนสามารถฉีดได้โดยไม่ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (ที่เดือน 0 และ 3)           Q5: เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกไหม? A5:  ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพราะไวรัสเดงกีที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ การติดสายพันธุ์หนึ่ง ๆ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ และจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่า การติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคแทรกซ้อนได้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจึงเป็นการลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดโอกาสในการนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสการเป็นโรคแทรกซ้อนได้   Q6: หลังจากหายเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ทันทีเลยหรือไม่? A6:  แนะนำให้ผู้ที่หายจากไข้เลือดออกแล้ว เว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนมารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เนื่องจากหลังจากติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไว้แล้ว ซึ่งจะลดน้อยลงตามเวลาผ่านไป การฉีดวัคซีนในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคสูง อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้   Q7: วัคซีนมีความปลอดภัยแค่ไหน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง? A7:  วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ มีความปลอดภัย มีการใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1-3 วัน   Q8: ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก? A8:  เนื่องจากโรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 65 ปี โดยมักระบาดหนักในสังคมเมือง ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น แม้ไข้เลือดออกจะไม่ติดต่อทางการสัมผัสโดยตรงแบบโควิด-19 ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการใส่หน้ากากอนามัยและการฉีดวัคซีน แต่โรคไข้เลือดออกไม่สามารถป้องกันโรคโดยการใส่หน้ากากอนามัยได้ เพราะโรคนั้นติดต่อผ่านยุงลายที่เป็นพาหะที่มีเชื้อไข้เลือดออก หากยุงลายกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออกแม้ไม่แสดงอาการ และมากัดเราต่อก็สามารถส่งต่อเชื้อได้ การป้องกันตนเองจากการโดยยุงกัดตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การป้องกันไข้เลือดออกโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โรคไข้เลือดออกสามาถติดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุ พบว่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรงได้เหมือนกัน ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการระบาด คือ ประเทศไทย จึงควรได้รับวัคซีนในการป้องกันตนเองจากโรคนี้   Q9: คนกลุ่มใดบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และจำเป็นต้องรับวัคซีนอย่างเร่งด่วน A9: เป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น นั้นใกล้เคียงกับกลุ่มเปราะบางของโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ กลุ่มคนอ้วน กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคธาลัสซีเมีย โรคเลือด โรคไต เป็นต้น กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มนี้อาจจะมีภูมิต้นทานต่ำและมีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค         อ้างอิง World Health Organization. Dengue and severe dengue [Internet].. 2023 [cited 2023 Jun 20]. Available at: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dengue-and-severe-dengue.  [Accessed Jul 2023]. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย ปี พ.ศ. 2566 แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 เอกสารกำกับยาภาษาไทย คิวเดนกา Thai Product Information Qdenga ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2566  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคงูสวัด อันตรายที่ซ่อนอยู่ วิธีป้องกัน และวัคซีนงูสวัด

                                                               โรคงูสวัดเป็นการติดเชื้อไวรัส Varicella zoster ชนิดเดียวกับที่ก่อโรคสุกใส โดยการติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรก จะแสดงอาการของโรคสุกใส ซึ่งจะมีตุ่มน้ำใสกระจายทั่วตัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นในวัยเด็ก เพราะโรคสุกใสแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากติดต่อกันทางลมหายใจ หรือสัมผัสตุ่มน้ำ เมื่อโรคหายแล้ว เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายโดยซ่อนอยู่ที่ปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิถดถอยตามวัย เชื้อก็จะถูกกระตุ้นขึ้นมาก่อให้เกิดโรคงูสวัดที่มีความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ                                    ข้อมูลจากการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกพบว่า คนที่อายุ 50 ขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดเพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ยังพบว่าคนวัย(อายุ 50 ปีขึ้นไป) กว่า 90% เคยติดเชื้อไวรัสสุกใสมาแล้ว นั่นหมายความว่า ผู้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคงูสวัด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคไต รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อ Covid-19 มีความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดเพิ่มขึ้น   ความอันตรายของโรคงูสวัด โรคงูสวัดนั้น นอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สบายแล้ว ยังจะทำให้เกิด ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้องูสวัดที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคปวดเส้นประสาท (Post Herpetic Neuralgia – PHN) คือ มีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลา นานหลายเดือนหรือหลายปีหลังจากผื่นหาย ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนเกิดเป็นแผลเป็น, งูสวัดขึ้นตา (HZO), ปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อหุ้มสมองตาย ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก   ใครมีความเสี่ยงของโรคงูสวัดบ้าง • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี, ผู้ที่มีภาวะร่างกายภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น ติดเชื้อ HIV, ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยา steroid ขนาดสูงอย่างต่อเนื่อง • ผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัด มีโอกาสเป็นซ้ำประมาณ ร้อยละ 6.2 โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV คนไข้มะเร็ง   การดูแลรักษาและป้องกันโรคงูสวัด การรักษาโรคงูสวัด • ให้ยาต้านไวรัสได้เร็ว โดยเฉพาะในช่วง 72 ชม.แรกที่เกิดผื่นผิวหนัง จะช่วยย่นระยะเวลาของโรค และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้ • ดูแลผิวหนังในบริเวณนั้นให้สะอาดและหลีกเลี่ยงการเกาจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย • ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การป้องกันโรคงูสวัด • การจัดการความเครียด การรักษาสุขอนามัยจะช่วยลดโอกาสในการกระตุ้นขึ้นมาของเชื้อไวรัสได้ และหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการของโรคงูสวัดสามารถลดความเสี่ยงของการติดต่อได้ • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัด • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ถือเป็นวิธีป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด   รู้จักวัคซีนโรคงูสวัด ในปัจจุบันมีวัคซีนโรคงูสวัดอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนแรง(ZVL) และ วัคซีน Protein Subunit ร่วมกับสารเสริมฤทธิ์ (Recombinant Zoster Vaccine - RZV) ซึ่งไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ผลศึกษาทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าทั้งสองวัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของโรคงูสวัดและโรคปวดเส้นประสาทได้ แต่วัคซีนชนิดที่ไม่ใช่เชื้อเป็น (Protein Subunit with adjuvant system)  แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุที่มากขึ้น วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยที่ดี โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปจะไม่รุนแรงและเป็นชั่วคราว   ข้อบ่งชี้ของวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด วัคซีนถือเป็นวิธีป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคงูสวัดสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มอายุนี้มีความเสี่ยงสูง และเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัวหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งหากเป็นวัคซีนงูสวัดชนิดที่ไม่ใช่เชื้อเป็น สามารถฉีดให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรค หรือยากดภูมิได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดซ้ำ ซึ่งพบได้ราว 6 -10%   รู้จักวัคซีนโรคงูสวัดวัคซีนชนิด Recombinant Zoster Vaccine – RZV 1.เพื่อป้องกันโรคงูสวัด และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคงูสวัด ในผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป (ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 โด๊ส ห่างกัน 2-6 เดือน) และผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดมากกว่าปกติ (ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 โด๊ส ห่างกัน 1-2 เดือน)   2.ประสิทธิภาพของวัคซีนงูสวัด ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 97% และประสิทธิภาพในการป้องกันโรคปวดเส้นประสาท (PHN) 91.2% ในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 89% เมื่อติดตามยาวนาน 10 ปี   3.กรณีที่คนไข้เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน สามารถรับวัคซีนงูสวัดได้ โดยให้ 2 โด๊ส และเว้นห่างหลังจากหายจากโรคงูสวัด อย่างน้อย 6 เดือน   4.กรณีที่คนไข้เคยได้รับวัคซีนงูสวัดชนิดเชื้อเป็นมาก่อน สามารถรับวัคซีนงูสวัดได้ โดยให้ 2 โด๊ส และเว้นห่างหลังจากวัคซีนเดิม อย่างน้อย 2 เดือน   5.การให้วัคซีนงูสวัดร่วมกับวัคซีนตัวอื่น สามารถให้ได้ในวันเดียวกัน แต่คนละตำแหน่ง เช่น แขนคนละข้าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก   การรู้จักโรคงูสวัดเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรับมือกับโรคนี้ เพื่อปกป้องสุขภาพของตัวเราและคนที่เรารักให้ห่างไกลจากโรคงูสวัด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ทำไมถึง...ปวดศีรษะ

 ทำไมถึง...ปวดศีรษะ ปวดศีรษะ เป็นอาการที่ทุกคนรู้จักดี เนื่องจากเกิด ได้กับ ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยอาจเป็นอาการแสดงของโรคต่างๆ หรืออาจเป็นโรคปวดศีรษะโดยตรงก็ได้ มีหลายภาวะ ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น มีไข้ เครียด อดนอน ยาบางชนิดความดันสูง ฯลฯ จนถึงโรครุนแรงในสมอง เช่น เนื้องอก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น                 สำหรับโรคปวดศีรษะที่เป็นโรคของมันเองจริงๆ นั้น มีหลายโรค แต่ที่ยอดฮิต ในกลุ่มผู้ปวดบ่อยๆ ได้แก่ ไมเกรน ซึ่งมักชอบสงสัยกันมาก ว่าจะเป็นหรือไม่ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป               สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องให้ผู้อ่านเข้าใจคือ การวินิจฉัยสาเหตุของการปวดศีรษะนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยการซักอาการโดยละเอียด (ไม่ต่ำกว่า 10 ข้อ) นอกจากในบางรายที่ค่อนข้างชัดเจนมากๆ อาจใช้คำถาม 3-4 ข้อก็พอบอกได้ ดังนั้นการเล่าอาการของคนไข้ทางจดหมาย หรือทางอินเตอร์เน็ตนั้น บ่อยครั้งที่ผู้ถามจะได้คำตอบที่ชวนให้หงุดหงิดว่า ' ควรพบแพทย์' หรือ ' บอกไม่ได้ ข้อมูลไม่พอ' ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ             การตอบโดยอาศัยผ่านสื่อนี้ สิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ที่สุดคือ บอกให้ผู้ถามพอเป็นแนวทางว่า อาจเป็นอะไรได้บ้าง จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่ แต่สำหรับการวินิจฉัยนั้น คงหวังผล 100% คงไม่ได้ ก่อนจะเข้าเรื่อง สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับปวดศีรษะคือ ปวดแบบใดบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งได้แก่ลักษณะต่อไปนี้ - ปวดกะทันหัน ทันทีทันใด - ปวดรุนแรงมาก - ปวดในลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยปวดมาก่อน (ปวดแบบใหม่) - อาการค่อยๆเป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นวัน เป็นเดือน จนถึงเป็นปีก็ได้ - มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ชัก เห็นภาพซ้อน อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรงเป็นซีก เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ขอแบ่งชนิดการปวดศีรษะเป็น 3 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่ ·       ปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว ·       ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือด และ ·       ปวดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง สำหรับการปวดจากเส้นประสาทที่ศีรษะและใบหน้า ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ฯลฯ การปวดมีลักษณะตึงๆตื้อๆ บางคนอาจปวดจี๊ดๆร่วมด้วย ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย (ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้) อาการปวดมักจะเริ่มตอนสายๆ หรือบ่าย (คือเมื่อเริ่มเคร่งเครียดกับงาน)แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน อาจไม่รุนแรงแต่พอรำคาญ (ถ้าเป็นมากๆก็รุนแรง ได้เหมือนกัน) ลักษณะสำคัญ คือ เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง คือจะยังตื้อๆอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะปกติ100% (เป็นปลิดทิ้ง) การป้องกัน  ทำได้โดย 1.เลี่ยงสาเหตุทั้งหลายที่กล่าวไว้ข้างต้น ช่วงที่ปวดสามารถทานยาแก้ปวดทั่วๆไป (เช่น พาราเซตามอล) 2. ถ้ายังไม่ค่อยดี อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาคลายเครียด 3. ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่ศีรษะ มีหลายแบบ แต่ที่พูดถึงบ่อยๆคือ ไมเกรน ซึ่งยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรค อย่างแท้จริง แต่เชื่อว่าเกี่ยวกับทั้งระบบหลอดเลือด และเส้นประสาทในศีรษะ สำหรับต้นเหตุอื่นที่ทำให้ปวดจากหลอดเลือดขยายตัว นอกจากโรคไมเกรนได้แก่ ไข้สูง ยาบางชนิด อากาศร้อน เป็นต้น ลักษณะสำคัญ คือ ปวดตุ้บๆที่บริเวณขมับ ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางคนอาจเริ่มจากตื้อๆจี๊ดๆก่อน แล้วค่อยๆรุนแรงขึ้นจนตุ้บๆในที่สุด เวลาปวดจะรุนแรงมาก มักคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย แต่ช่วงที่ไม่ปวดจะหายเป็นปลิดทิ้งบางคน(10-20%) อาจมีอาการเตือนก่อนปวด โดยจะตาพร่า เห็นแสงแว้บๆ สีเหลืองหรือเป็นเส้นหยักๆลอยไปมา แล้วต่อมาค่อยปวดศีรษะ สิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ มีหลายอย่าง เช่น อากาศร้อน ยาบางชนิด(เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด) แอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแล็ต เนย เบคอน ไส้กรอก แฮม ผงชูรส เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีสารบางอย่างที่กระตุ้นอาการได้ เมื่อเริ่มมีอาการ สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ พยายามอยู่ในที่เงียบๆ สงบๆ ถ้าหลับได้เลยยิ่งดี ยาที่ทานแก้ปวด มีตั้งแต่พาราเซตามอลธรรมดา จนถึงยาที่ใช้เฉพาะโรค (ซึ่งหลายตัวจะมีผลข้างเคียง จึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา) ซึ่งแล้วแต่ แต่ละรายว่าจำเป็นแค่ไหน ในรายที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องใช้ยา ในกลุ่มที่ป้องกันไมเกรน ซึ่งต้องให้แพทย์สั่งให้ เนื่องจากยาแต่ละตัวมีความเหมาะสม ต่อคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไมเกรน มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น หรืออาจเริ่มช่วงอายุ15-30 ปี พบในหญิงมากกว่าชาย โดยบางคนมีอาการมากช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังมีประจำเดือน ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน อาการมักห่างลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการปวดแบบไมเกรน คนที่คิดว่าตัวเองเป็นไมเกรน มักนิยมซื้อยา cafergot มาทานเอง ซึ่งต้องระวัง ให้มากๆ โดยเฉพาะในคนอายุ40ปีขึ้นไป เนื่องจากยาอาจมีโอกาส ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้ และที่สำคัญคือ ไม่แน่ว่า จะเป็นไมเกรนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่เพิ่งจะเริ่มเป็นตอนอายุมากๆ เนื่องจากโอกาสเป็นไมเกรน มีน้อย(ถ้าไม่เคยเป็นมาก่อน) ข้อแนะนำ  คือ ถ้าเป็นไม่มากนัก และยังไม่อยากพบแพทย์ ช่วงที่ปวด อาจลองทานพาราเซตามอลดูก่อน ถ้าหาย อาจเป็นปวดหัวธรรมดา หรืออาจเป็นไมเกรน แบบไม่รุนแรงก็ได้  ถ้าไม่ดีขึ้น หรือเป็นบ่อยๆ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจน และการรักษาที่เหมาะสม ปวดศีรษะจากสิ่งผิดปกติในสมอง                                                                                    ได้แก่ เนื้องอก ฝี พยาธิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดสมองแตก ฯลฯ มีลักษณะการปวดที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค ขนาดของรอยโรค ตำแหน่ง(ในสมอง)ที่เกิดโรค อาการโดยรวมๆคือ  มักปวดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน (ขึ้นกับโรค) ช่วงที่เป็นมักมีอาการอาเจียนมาก หรืออาจมีอาการอื่นๆทางสมองร่วมด้วยเช่น ชัก เห็นภาพซ้อน สับสน  อ่อนแรงครึ่งซีก ซึมลง จนถึงเสียชีวิตได้ ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี ที่มาของข้อมูล Thaiclinic.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดศรีษะไมเกรน

          เชื่อว่าสมองของผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมีการไวในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจจะอยู่นอกร่างกายหรืออยู่ภายในร่างกาย อาการและอาการแสดง • ปวดศีรษะมากจนทำงานไม่ได้ บางคนปวดจนน้ำตาไหล ส่วนใหญ่ปวด 4-72 ชั่วโมง • ปัจจัยที่ทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นคือการเคลื่อนศีรษะ • ปวดศีรษะอาจมีอาการคลื่นไส้ ถ้าเป็นมากจะอาเจียน • โดยมากจะมีสิ่งที่กระตุ้นทำให้ปวดศีรษะได้แก่ แสงจ้า เย็นหรือร้อนจัด เสียงดัง • โดยมากเป็นในอายุน้อย สาเหตุของปวดศีรษะไมเกรน เชื่อว่าสมองของผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมีการไวในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจจะอยู่นอกร่างกายหรืออยู่ภายในร่างกาย อาการและอาการแสดง      • ปวดศีรษะมากจนทำงานไม่ได้ บางคนปวดจนน้ำตาไหล ส่วนใหญ่ปวด 4-72 ชั่วโมง      • ปัจจัยที่ทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นคือการเคลื่อนศีรษะ      • ปวดศีรษะอาจมีอาการคลื่นไส้ ถ้าเป็นมากจะอาเจียน      • โดยมากจะมีสิ่งที่กระตุ้นทำให้ปวดศีรษะได้แก่ แสงจ้า เย็นหรือร้อนจัด เสียงดัง      • โดยมากเป็นในอายุน้อย ชนิดของไมเกรนที่พบบ่อย      1.Classic migrain : อาการมักเกิดในช่วงวัยรุ่น เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดศีรษะจะลดลงจนกระทั่งหายขาด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงแลบ ตามองไม่เห็น ชาซีกใดซีกหนึ่งเราเรียก classic migrain      2.Common migrain : อาการแสดงมักเกิดบริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับและขากรรไกร ปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำเรียก common migrain ไมเกรนเป็นโรครักษาไม่หายขาดแต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถทำให้ควบคุมโรคได้ ชนิดของไมเกรนที่พบไม่บ่อย       • Hemiplegic migraine อ่อนแรงของแขนขาข้างหนึ่งเป็นระยะเวลาช่วงสั้นๆ       • ophthalmoplegic migraine ปวดศีรษะร่วมกับหนังตาตก เห็นภาพซ้อน      • Basilar artery migraine ก่อนปวดศีรษะจะมีอาการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ เห็นภาพซ้อน       • Status migrainosus ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะนานกว่า 72 ชั่วโมงและมีอาการมากกว่าปกติ      การวินิจฉัย อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นส่วนใหญ่ เกณฑ์การวินิจฉัยมี ดังนี้      • จะต้องมีอาการปวดศีรษะ อย่างน้อย 5 ครั้ง      • ปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง      • ลักษณะปวดศีรษะต้องประกอบด้วยลักษณะอย่างน้อย 2 ประการ      • ปวดข้างเดียว และมีอาการปวดตุ๊บๆๆ      • ปวดตุ๊บๆๆ      • ปวดมากจนทำงานประจำไม่ได้      • ขึ้นบันไดหรือเคลื่อนไหวทำให้ปวดมากขึ้น      • ขณะปวดศีรษะจะต้องมีอาการข้างล่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง            o คลื่นไส้หรืออาเจียน            o แสงจ้าหรือเสียงดังทำให้ปวดศีรษะ   การรักษาในผู้ป่วยไมเกรน   1.รักษาด้วยการควบคุมอาการ       การควบคุมปัจจัยชักนำ            • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์โดยเฉพาะไวน์แดง ผงชูรส เนย นม ชอคโกแลต กล้วยหอม ผงชูรส ผลไม้ประเภทส้ม กาแฟและชา            • การนอน ควรนอนให้เป็นเวลา            • งดการใช้ฮอร์โมน เช่นยาคุมกำเนิด            • ควบคุมความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ            • ควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อากาศ แสงไฟกระพริบ กลิ่นที่ฉุนเฉียว       2.การรักษาด้วยการให้ยา ส่วนมากเป็นยาลดและบรรเทาอาการปวด ซึ่งถ้ารับประทานเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบกับร่างกาย เช่น ระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร มีผลทำลายตับ เป็นต้น       3.การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา มีรายงานว่าการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาก็สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะ       • การทำสมาธิ       • การจัดการกับความเครียด       • การฝังเข็ม       • การออกกำลังกาย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โภชนบำบัดผู้ป่วยโรคเก๊าท์

โภชนบำบัดผู้ป่วยโรคเก๊าท์               โรคเก๊าท์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการสะสมกรดยูริก (Uric acid) ในร่างกาย กรดยูริกได้จากการเผาผลาญสารพิวรีน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้และพบได้ทั่วไปในอาหารหลายชนิด โดยปกติพิวรีนที่ร่างกายได้รับจะถูกย่อย และกลายเป็น กรดยูริก ในคนปกติไตจะทำหน้าที่ขับกรดยูริกออกให้ทันต่อการสร้างใหม่ การสะสมของกรดยูริกทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง ในกระดูกและรอบๆ ข้อกระดูก ในผู้ชายกรดยูริกไม่ควรที่จะเกิน 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิงกรดยูริก ไม่ควรเกิน 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรโรคนี้สามารถติดต่อได้ทางกรรมพันธุ์             การควบคุมอาหารผู้ป่วยโรคเก๊าฑ์ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เด็ดขาด เช่น เบียร์ , เหล้า เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ยูริกสูงขึ้น งดอาหารที่มีพิวรีนสูง  กลุ่มอาหารที่มีพิวรีนสูงมากกว่า 150 มิลลิกรัม ได้แก่ หัวใจไก่ ไข่ปลา ตับไก่ มันสมองวัว กึ๋นไก่ หอย เซ่งจี้หมู ห่าน ตับหมู น้ำซุปกระดูก ปลาดุก ยีสต์ เนื้อไก่ เป็ด ซุปก้อน กุ้งซีอิ้ว น้ำสกัดเนื้อ ปลาไส้ตัน ถั่วดำ ปลาตัวเล็ก ถั่วแดง เห็ด ถั่วเขียว กระถิน ถั่วเหลือง ตับอ่อน ชะอม ยอดฟักแม้ว ปลาอินทรีย์ กะปิ ปลาซาดีนกระป๋อง กลุ่มอาหารที่มีพิวรีนปานกลาง พิวรีนอยู่ 50-150 มก. เนื้อหมู เนื้อวัว ปลากะพง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ขี้เหล็ก สะตอ ข้าวโอ๊ต ผักโขม ถั่วลันเตา หน่อไม้ ข้าวที่ไม่ขัดสีจนขาว กลุ่มอาหารที่มีพิวรีนน้อย 0-50 มิลลิกรัม ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่  ผักต่างๆ ผลไม้ น้ำตาล ผลไม้เปลือกแข็ง ไขมัน ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว มันเทศ ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมาก เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะไขมันในร่างกายทำให้การขับกรด ยูริกออกได้น้อยลง ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว มีสารพิวรีนสูง จำกัดปริมาณการรับประทาน นมถั่วเหลืองไม่ควรดื่มเกินวันละ2แก้ว ควรเว้นการรับประทานผักส่วนยอด เช่น ต้นอ่อนของผัก เช่น ยอดคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีน หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ สะตอ กระถิน ชะอม ผักขม งดอาหารหมักที่ใช้ยีสต์เป็นตัวเร่งหรือส่วนประกอบเช่น เต้าเจี้ยว เมล็ดพืชทุกชนิดที่งอกได้ จะมียูริกค่อนข้างมาก แม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม ควรงดโดยเฉพาะขณะปวด               ข้อควรปฏิบัติอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ 1. รับประทานผลไม้และผักให้มาก โดยเฉพาะผักโตเต็มวัย 2. รับประทานอาหารให้ครบ5หมู่ 3. ดื่มน้ำสะอาด มากๆ วันละ3ลิตร เพื่อช่วยขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ 4. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ ตามเกณฑ์มาตรฐาน 5.ไม่รับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง         หนังตาตก แขนขาอ่อนแรง... อาการแสดงของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ (Myasthenia Gravis : MG) ภัยแฝงที่เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายทำงานอย่างผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นโรคที่พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว เฉลี่ยอยู่ที่ 3 คนต่อประชากร 100,000 คน ทำให้โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงถูกนับให้เป็นภัยแฝงใกล้ตัว เพราะแม้ภายนอกจะยังคงดูสดใส แต่สภาวะกล้ามเนื้อข้างในอาจกำลังค่อยๆ อ่อนแรงลง     โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ (Myasthenia Gravis : MG) คือหนึ่งในกลุ่มโรคทางด้านระบบประสาทสั่งการ (Motor Neuron Disease : MND) โดยมีประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) คอยทำหน้าที่ส่งสารสื่อประสาท (Receptor) ที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ให้ตอบสนองโดยการเคลื่อนไหว เช่น การบีบมือ และคลายมือ ซึ่งในผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นจะมีจำนวนตัวรับสารสื่อประสาท (Receptor) ที่น้อยกว่าคนทั่วไป รวมถึงปัญหาที่เกิดจากต่อมไทมัสที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้เข้าไปทำลายตัวรับสารสื่อประสาทเอง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ โดยมักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อมัดที่ใช้เป็นประจำ เช่น กล้ามเนื้อดวงตา  กล้ามเนื้อรอบปากและลำคอ กล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา   เราจึงมักเห็นผู้ที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอาการตาตก เห็นภาพซ้อน การพูด-เคี้ยว-กลืนค่อยๆ ผิดปกติไป และการเดิน หรือเคลื่อนไหวที่อ่อนแรงลงไปแบบเฉียบพลัน  "กล้ามเนื้ออ่อนแรง" รู้เร็ว รักษาทัน 1. อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขน หรือ ขา หรือมีอาการกลืนลำบาก 2.เสียงเปลี่ยน ร่วมกับอาการกล้ามเนื้อลีบและกล้ามเนื้อเต้นกระตุก 3.พูดลำบาก หายใจติดขัดและหอบเหนื่อยจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง 4.กระบังลมอ่อนแรง จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เพราะมีอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลานอนราบ 5.มีอาการต้องตื่นกลางดึก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต้องให้อาหารทางสายยางผ่านจมูกหรือทางหน้าท้องและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ   กล้ามเนื้ออ่อนแรง (อันตราย) ปล่อยทิ้งไว้อาจได้ภาวะแทรกซ้อน !          ความร้ายกาจของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คือ ผู้ป่วยจะยังคงทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตต่างๆ ได้เป็นปกติในช่วงแรกๆ ของวัน แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยได้หยุดพักหรือหยุดใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นไปชั่วขณะ ก็สามารถฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานตามปกติได้อีกเช่นเดียวกัน แต่คงดีกว่าหากผู้ป่วยไม่ปล่อยให้อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นซ้ำๆ แบบเรื้อรัง เพราะความรุนแรงของโรคยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว จากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์  ความเสี่ยงต่อการสำลัก จากความผิดปกติของกล้ามเนื้อลำคอ ความเสี่ยงต่อโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง (SLE)          หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แนะนำให้หยุดพักสักครู่ หากรู้สึกดีขึ้นควรเข้ารับการวินิจฉัยอาการโดยแพทย์เพื่อเข้าสู่การรักษา และปิดโอกาสการมาของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น   ข้อมูลอ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=j3iiPoiJBOY https://siamrath.co.th/n/180731 https://absolute-health.org/th/blog/post/autoimmune-disease1.html

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. โรคมะเร็งตับ

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. โรคมะเร็งตับ มะเร็งตับ คืออะไร และ เป็นมากในผู้หญิงหรือผู้ชาย ในส่วนของมะเร็งตับจะแบ่งได้ 2 แบบ คือ 1.      มะเร็งแบบปฐมภูมิ เป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้อตับหรือท่อน้ำดีในตับ 2.      มะเร็งแบบทุติยภูมิ เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายจากบริเวณอื่นๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ที่มีการแพร่กระจายมาที่ตับ มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิจะพบบ่อยเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งทั่วโลกถ้าในประเทศไทยปัจจุบันจากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะพบว่าเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในเพศชาย และ เป็นอันดับ 2 ในเพศหญิง ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นในแบบปฐมภูมิมากกว่า แต่แบบแพร่กระจายจะเป็นได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆในระยะไหน ถ้าเป็นในระยะที่ 4 ส่วนใหญ่จะพบแพร่กระจายมาที่ตับค่อนข้างเยอะเช่น มะเร็งตับทุติยภูมิ   สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ           สาเหตุจะขึ้นอยู่กับภูมิภาค ของทางเอเชีย หรือ ประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการติดเชื้อจะเป็นเรื้อรัง และ สาเหตุสำคัญจะเป็นการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยพบว่าเป็นสาเหตุ 60 % ของมะเร็งตับในคนไทย ซึ่งสถิติคนไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณถึง 6,000,000 ราย ผลของการติดเชื้อจากไวรัสตับอักเสบบี จะทำให้มีการอักเสบของเนื้อตับเรื้อรังเกิดพังผืดเป็นตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด  พาหะในความหมายของทางการแพทย์ คือ มีไวรัสอยู่ในระดับต่ำอยู่ แต่ไม่มีอาการแสดงของตัวโรค แต่มีโอกาสที่จะติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ แต่พาหะของไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทย คนที่เป็นพาหะส่วนใหญ่จะมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่เป็นระยะสงบของตัวโรคก็เลยทำให้เข้าใจว่าพาหะไม่เกิดโรค แต่ถ้าวันหนึ่งมีอาการร่างกายอ่อนแอลง ไวรัสที่ซ่อนอยู่ในเซลล์ตับก็มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวน ทำให้เกิดโรคตามมาได้ ซึ่งหลักๆวิธีที่จะป้องกันได้ คือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง และท้ายสุดถ้าตรวจเจอว่ามีโรค การให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี สามารถที่จะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีต้องฉีดกระตุ้นทุกกี่ปี              ถ้าเป็นเด็กยุคใหม่เด็กแรกเกิดในประเทศไทย จะมีการฉีดวัคซีนให้ตั้งแต่แรกเกิด จะเป็นการฉีดแบบครอบคลุม 100 % ถ้ากรณีไปตรวจแล้วภูมิไม่ขึ้น แต่ฉีดผ่านไปแล้วหลายปีแต่ไม่มีภูมิขึ้น จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ จะมีวิธีการฉีดกระตุ้นที่สามารถช่วยกระตุ้นภูมิได้ ไม่จำเป็นต้องฉีดทุกปี ฉีดกระตุ้นแค่ครั้งเดียวพอ แต่จะมีข้อยกเว้นกรณีเดียว คือ วัคซีนที่เคยฉีดกระตุ้นได้ผลแล้วอาจจะไม่ได้ผล คือ ในกลุ่มผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ได้ยาสเตียรอยด์  กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ที่มีเม็ดเลือดขาวในตัวต่ำ (CD4) มากๆ จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่เคยมีลดลงได้ นอกจากไวรัสตับอักเสบบี อีกหนึ่งตัวก็คือ ไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งจะเจอบ่อยในแถบฝั่งตะวันตก แต่ในประเทศไทยจะมีอยู่ประมาณ 10-20% คนที่มีความเสี่ยงจะเป็นผู้ที่ใช้ยาเสพติดที่ฉีดเข้าเส้น กลุ่มพวกสักลายที่มีการใช้เข็มไม่สะอาด และปัจจุบันที่พบบ่อยจะเป็นกลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันก็สามารถติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน แต่ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีรับประทานแค่ 3 เดือนก็หายขาด 95-98% แต่ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบบี ส่วนใหญ่ที่ทำได้จะเป็นการกดที่ไม่ให้ไวรัสขึ้นในปริมาณที่เยอะ แต่จะให้กำจัดเชื้อออกจากร่างกายค่อนข้างยาก เพราะเชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ใน DNA ทำให้การกำจัดเชื้อให้หายได้ยากอยู่ และอีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ การดื่มสุราเป็นประจำ ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ทำให้เป็นตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับได้ 2 สาเหตุสุดท้ายจะเป็นในเรื่องของไขมันเกาะตับ ปัจจุบันจะมีคนที่น้ำหนักตัวมากมีปัญหาโรคอ้วนตามมา ทำให้เป็นไขมันเกาะตับได้ และเกิดมะเร็งตับได้ในที่สุด อีกสาเหตุจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน เช่น การทานก๋วยเตี๋ยวที่มีพริกแห้งพริกป่นหรือถั่ว ถ้าไม่สะอาดก็จะมีโอกาสปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราได้ ซึ่งสามารถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ มะเร็งตับมีกี่ระยะและสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งตับ            มะเร็งตับจะคล้ายๆ มะเร็งทั่วไป คือ ระยะแรกหรือระยะที่รักษาได้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ และในผู้ป่วยที่มีอาการ ส่วนใหญ่ที่มาถึงก็จะเลยระยะเวลาที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว จะแนะนำให้ตรวจคัดกรองโดยใช้ตัวอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการตรวจเลือด เช่น ผู้ป่วยตับแข็งไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ควรตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก 6-12 เดือน ถ้ากรณีผู้ชายอายุ 40 ปี ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรที่จะต้องทำการตรวจคัดกรองมะเร็งตับทุก 6 เดือน ส่วนกรณีผู้หญิงจะตรวจที่อายุ 50 ปี แต่จะต้องทำการดูประวัติของครอบครัวร่วมด้วย ถ้าครอบครัวมีประวัติจะต้องมาตรวจเร็วกว่าปกติทั่วไป ถ้าเป็นระยะหลังจะมีอาการปวดท้องด้านขวา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม ระยะของมะเร็งตับจะมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (แรก) : ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก และมีเพียงก้อนเนื้อเดียว ระยะที่ 2 (ปานกลาง) : มีการลุกลามของก้อนเนื้อเข้าหลอดเลือดในตับ และ/หรือ มีก้อนเนื้อหลายก้อน แต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ ระยะที่ 3 (ลุกลาม): ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ และ/หรือ เข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ ระยะที่ 4 (ระยะสุดท้าย): โรคมะเร็งแพร่กระจายตามกระแสโลหิต(เลือด) มักเข้าสู่ตับกลีบอื่นๆ และปอด แต่อาจเข้าสู่อวัยวะอื่นๆได้ เช่น สมอง และ/หรือ กระดูก หรือ แพร่กระจายยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากตับ เช่น ในช่องท้อง หรือ บริเวณไหปลาร้า ระยะแรก ระยะปานกลาง ซึ่ง 2 ระยะนี้ จะอยู่ในช่วงที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเป็นระยะลุกลาม หรือ ระยะท้าย ส่วนใหญ่การรักษาจะมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นให้อยู่ได้นานขึ้น แต่โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้จะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเพื่อการป้องกันควรมาตรวจทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ส่วนใหญ่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลทั่วไปจะมีการตรวจอยู่แล้ว แต่กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจจะไม่ได้ตรวจ หลักๆที่ต้องตรวจจะเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติตับแข็ง มีไวรัสตับอักเสบบีผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องตรวจเป็นพิเศษ                                              ถ้ากรณีเป็นไขมันเกาะตับจะมีวิธีการรักษาก่อนที่จะลุกลามอย่างไร           การรักษาในปัจจุบันไม่ได้เน้นการรักษาด้วยยา ถ้ากลุ่มที่เป็นไขมันเกาะตับจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการลดน้ำหนักประมาณ 7-10% จะสามารถช่วยลดการอักเสบของตับและพังผืดได้ แต่หลักๆ ที่สมาคมโรคตับทั่วโลกแนะนำ คือ ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ความเสี่ยงที่มีไขมันเกาะตับและกลายไปเป็นมะเร็งตับ หรือ ตับแข็ง จะมีความเสี่ยงสูงหรือไม่         ปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง แต่จะมีการตรวจไขมันเกาะตับอยู่ 2 วิธี ถ้ากรณีไขมันเกาะตับอยู่ 30% ตัวอัลตร้าซาวด์ตับจะสามารถตรวจพบได้ ถ้าต้องการตรวจอย่างละเอียดจะเป็นการตรวจ Fibro Scan เป็นการตรวจที่สามารถวัดไขมันในตับได้ รวมถึงดูค่าการมีพังผืดในตับได้เช่นเดียวกัน วิธีการรักษาระยะแรกของไขมันเกาะตับเป็นอย่างไร              วิธีการรักษา จะเป็นการดูแลคนไข้ร่วมกันระหว่างอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และแพทย์รังสี จะดูว่าทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่เหมาะกับคนไข้ที่สุด ถ้าก้อนมีขนาดเล็กจะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นทางเลือกแรก จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ แต่เงื่อนไขจะดูว่าขนาดหรือก้อนต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายของมะเร็ง ไปยังบริเวณเส้นเลือดใกล้เคียงอื่นๆ และการทำงานของตับยังดีอยู่ ถ้าการทำงานของตับไม่ดีบางทีตับที่เหลืออยู่อาจไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดชีวิตได้ หรือ การทำงานของตับได้ ซึ่งปกติทางศัลยแพทย์จะมีการประเมินว่าตัดได้หรือเปล่า ถ้ากรณีผู้ป่วยมีตับแข็งจะมีอาการเข้าได้ กับโรคตับระยะท้ายๆ และมีมะเร็งตับร่วมด้วย กรณีนี้วิธีการรักษาที่ดีที่สุด ถ้าก้อนไม่ใหญ่มากและยังอยู่ในระยะที่ยังไม่แพร่กระจาย และอยู่ในเกณฑ์กำหนด คือ การปลูกถ่ายตับ คือ การเอาตับเก่าที่มีมะเร็งออก และ เอาตับใหม่ที่ไม่มีมะเร็งใส่กลับเข้าไป แต่ปัจจุบันค่อนข้างทำได้น้อยอยู่จะทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ ปัญหาในปัจจุบัน คือ การขาดแคลนผู้ป่วยที่บริจาคอวัยวะ จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการกับจำนวนของตับที่มีให้ยังมีจำกัด ค่าใช้จ่ายในการเฉลี่ยปลูกถ่ายตับประมาณ 1,000,000 บาท ในการผ่าตัดจะเป็นรัฐบาลออกให้จะครอบคลุมเฉพาะข้าราชการและผู้ที่มีประกันสังคม ยังไม่ครบคลุมผู้ป่วยบัตรทองขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาให้ได้วงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้ปีละ 100 - 200 ราย เพราะมีทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด และอีกวิธีหนึ่งถ้าเป็นก้อนขนาดเล็กยังอยู่ในระยะไม่เกิน 2 เซนติเมตร ที่ใช้ค่อนข้างเยอะ คือ การใช้เป็นคลื่นไฟฟ้าความถี่สูง ซึ่งความถี่สูงจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน ไปทำลายตัวมะเร็งตับ ซึ่งมีผลการศึกษาที่รับรองว่าหายขาดได้ ไม่แตกต่างกับการผ่าตัดตับ ในก้อนมะเร็งก็ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร ซึ่งต่างประเทศจะนิยมมาก เพราะค่านอนโรงพยาบาลกับการผ่าตัดค่อนข้างแพง และผู้ป่วยหลายรายที่ไม่อยากผ่าตัด หรือ มีความเสี่ยงในการผ่าตัดที่ค่อนข้างสูงก็จะเลือกใช้วิธีนี้ แต่เรื่องการเลือกใช้วิธีการรักษาจะต้องประเมินเป็นรายๆไป เนื่องจากตำแหน่งของก้อนจะมีผลกับการรักษา และอีกระยะหนึ่งที่เป็นระยะลุกลามแล้ว ไม่สามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ หรือ จี้ไฟฟ้า จะมีการรักษาอีกวิธีหนึ่งเป็นการรักษาที่เรียกว่า “TACE” คือการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง ร่วมกับฉีด Gelfoam ไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง แต่การรักษาไม่ได้ทำให้มะเร็งหายขาด แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น   คำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลตัวเองก่อนที่จะเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ            ฝากเรื่องการป้องกันเพราะการป้องกันก็ดีกว่าการรักษา ในบุคคลทั่วไปถ้าพยายามลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี ต้องระวังพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น การสักลาย และ พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปหรือไม่เหมาะสม สุดท้ายจะเป็นเรื่องการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะไขมันเกาะตับก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตับที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง และในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะป้องกันที่จะทำให้เกิดโรคได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<