โรคเอสแอลอี (SLE)

โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า "ลูปัส" ซึ่งในภาษาลาตินแปลว่าหมาป่า ชื่อนี้มีที่มาจากรอยโรคที่หน้าของผู้ป่วยบางรายมีลักษณะคล้ายรอยถูกหมาป่ากัด โดยโรคลูปัสนั้นมีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ โรคที่ผิวหนังเท่านั้น (Cutaneous Lupus Erythematosus) และ โรคที่เกิดในระบบต่างๆนอกจากเฉพาะทางผิวหนัง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรคเอสแอลอี เป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune Rheumatic Disease)     โรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของตนเองโจมตีเนื้อเยื่อของตนเอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆซึ่งถูกภูมิคุ้มกันโจมตีนั้นมีการอักเสบ เกิดขึ้นโดยโรคต่างๆในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองจะถูกจำแนกชนิดตามลักษณะอาการที่ปรากฏในอวัยวะต่างๆและชนิดของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เกี่ยวข้อง โรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองมีหลายโรค เช่น โรคเอสแอลอี โรคหนังแข็ง โรครูมาตอยด์ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม โรคโจเกร็น เป็นต้น โดยอาจพบโรคในกลุ่มนี้พร้อมกัน 2 โรคในผู้ป่วยคนเดียวกันได้ ด้วยในโรคเอสแอลอีแม้อาจปรากฏอาการได้ในหลายระบบ เช่น ข้อ เลือด ไต สมอง หรือผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการแค่บางระบบเท่านั้น โดยในแต่ละช่วงเวลาอาจมีการกำเริบในอวัยวะที่แตกต่างกันได้ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีปัญหา ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบเป็นปกติ โรคเอสแอลอีเกิดจากอะไร?     การเกิดโรคเอสแอลอีโดยมีปัจจัยหลัก 2 ส่วน ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมโดยมียีนบางชนิดที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและเมื่อถูกกระตุ้นโดยปัจจัย สิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเอสแอลอีขึ้น ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นเหตุกระตุ้น เช่น ยาบางชนิด หรือ แสงแดด เป็นต้น การวินิจฉัย     ต้องอาศัยหลักฐานลักษณะอาการร่วมกันกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค การวินิจฉัยโรคเอสแอลอีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หลักฐานทางคลินิค และ หลักฐานที่ตรวจพบในระบบภูมิคุ้มกัน หลักฐานทางคลินิคประกอบด้วยลักษณะของอาการและอาการแสดงรวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีลักษณะเข้ากันได้กับโรคเอสแอลอี เช่น ข้ออักเสบ ไตอักเสบ เยื่อบุปอดหรือช่องท้องอักเสบ ลมชัก ผื่นผิวหนังอักเสบ ลูปัส เม็ดเลือดแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น หลักฐานที่ตรวจพบในระบบภูมิคุ้มกันที่เข้าได้กับโรคเอสแอลอี เช่น  ANA, anti-dsDNA, anti-Sm, anti-SSA เป็นต้น อาการของโรค        อาการทั่วไปที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้พบได้ในหลายโรค แต่หากผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าเกิดจากโรคกำเริบหรือไม่   อาการที่พบบ่อยเกิดใน 4 ระบบ ได้แก่ ผิวหนัง ข้อ ไต และเลือด ผิวหนัง เช่น ผื่นแดงลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อที่หน้า ผื่นแพ้แสง ผื่นเป็นวงที่หู ผมร่วง เป็นตัน ข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น ไต เช่น ปัสสาวะมีฟองมาก ขาบวม เป็นต้น เลือด เช่น โลหิตจางมีอาการซีดเพลีย เกร็ดเลือดต่ำมีอาการจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง เม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบอาการในอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อบุปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาการชัก อาการชา ประสาทหลอน ความคิดสับสน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีหลายอาการกำเริบและสงบสลับกันไป ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนึ่งก่อนจะมีอาการอื่นๆค่อยๆทยอยมา อาจมีอาการจากความผิดปกติของอวัยวะเดียวหรือหลายอวัยวะร่วมกันได้ การรักษาด้วยยา ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อควบคุมอาการปวดอักเสบข้อ เยื่อบุปอดอักเสบ หรือไข้ ผลข้างเคียงยาที่สำคัญคืออาจทำให้ปวดท้องหรือเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีโรคไตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนรับประทานยาในกลุ่มนี้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาชิน นาโพรเซน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น ยากลุ่มใหม่ เช่น โมบิค อาร์ค็อกเซีย ซิลิเบร็ค ยาในกลุ่มใหม่มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ากลุ่มเดิมแต่ยังคงต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีโรคไตหรือโรคหัวใจเช่นกันกับกลุ่มเดิม หากผู้ป่วยวางแผนที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดขอให้แจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อ พิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัด หากรับประทานยาในกลุ่มนี้ต่อเนื่องควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อประเมินผลข้างเคียงเป็นระยะ กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาในกลุ่มนี้ เช่น เพร็ดนิโซโลน เด็กซ่าเมทาโซน ไฮโดรคอร์ติโซน เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้รู้จักกันในชื่อยาสเตียรอยด์ ยานี้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ปกติถูกสร้างจากต่อมหมวกไต ยาสเตียรอยด์ช่วยควบคุมการกำเริบโรคเอสแอลอีในอวัยวะต่างๆ เช่น ไตอักเสบ เม็ดเลือดแดงแตก ข้ออักเสบที่ไม่ตอบสนองต่อยาควบคุมโรคเบื้องต้น เป็นต้น ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ในระยะยาวที่สำคัญ เช่น กดการทำงานของต่อมหมวกไต กระดูกพรุน อ้วนขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นต้น ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับขนาดและระยะเวลาที่ใช้ยา ดังนั้นการติดตามการรักษาและปรับยาโดยแพทย์ผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคว ดังนั้นการเข้ารับ การตรวจรักษาหรือวางแผนการผ่าตัดต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลให้ทราบ ว่ามีโรคประจำตัวเป็นโรคเอสแอลอีซึ่งกำลังรับประทานยาสเตียรอยด์ด้วยทุกครั้ง กลุ่มยาต้านมาลาเรีย ยาในกลุ่มนี้ช่วยควบคุมอาการปวดอักเสบข้อ อาการผื่นผิวหนังอักเสบ เยื่อบุปอดอักเสบ ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีเมื่อรับประทานร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันยังช่วยให้สามารถลดขนาดยากดภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้โรคสงบได้ นอกจากนี้เมื่อโรคเอสแอลอีเข้าสู่ระยะสงบแล้วยายังช่วยลดโอกาสโรคกลับมากำเริบ ผลข้างเคียงยาที่สำคัญ คือ ผลข้างเคียงต่อจอประสาทตาโดยความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของยา ขนาดของยา ระยะเวลาการรับประทาน เป็นต้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มนี้อยู่จึงควรเข้ารับการตรวจตาเป็นระยะตามคำแนะนำของแพทย์ หากตรวจพบความผิดปกติของจอประสาทตาการหยุดรับประทานยาจะช่วยให้ผลข้างเคียงดังกล่าวกลับคืนเป็นปกติได้ กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน        ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีในหลายลักษณะ เช่น ในกรณีการกำเริบโรคที่รุนแรง กรณีไม่ตอบสนองต่อยา ควบคุมโรคเบื้องต้น หรือเพื่อลดขนาดยาสเตียรอยด์ ตัวอย่างชนิดยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน เช่น เมทโทเทร็กเซ็ต อาชาไทโอปริน (อิมมูแรน) ไมโคฟีโนเลตโมเฟติล (เซลเซ็ป) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (เอ็นด็อกแซนด์) เป็นต้น การรับประทานยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษาและปรับยาจากแพทย์ผู้ดูแลเป็นประจำ โดยจำเป็นต้องรับการตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อติดตามผลข้างเคียงของยาตามแต่ชนิดของยานั้น ควรปฏิบัติตัวดูแลตนเองอย่างไรเพื่อลดโอกาสโรคกำเริบ มีสุขนิสัยที่ดี ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ล้างมือให้สะอาด กินอาหารสุกสะอาด งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทําจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนอย่างเดียวไม่ออกกำลังกายก็ทำให้กล้ามเนื้อลีบไม่มีแรง   ป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากทั้งโรคเอสแอลอีและยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้ติดเชื้อ ได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน จึงมีอาหารบางชนิดที่ต้องงด เช่น ปลาดิบ ส้มตำ ไข่ลวก เป็นต้น หากไปในสถานที่มีคนอยู่มากให้ระวังการติดเชื้อ ควรล้างมือบ่อย และอาจต้อง ไส่หน้ากากอนามัย รวมถึงควรดูแลสุขภาพของช่องปากอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบ   เลี่ยงแดด เพราะรังสีอุลตราไวโอเลตในแสงแดดอาจกระตุ้นให้โรคกำเริบ ควรทาครีมกันแดด SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกัน UVB และเลือกครีมกันแดดที่ป้องกัน UVA ในระดับ ++ ขึ้นไป โดยควรทาอย่างถูกวิธี ได้แก่ ทาหนาเพียงพอ ทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที   ห้ามตั้งครรภ์โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคกำเริบมากขึ้นได้ ยาที่ควบคุมโรคบางชนิดจำเป็นต้องหยุดยาก่อนการตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ในทางกลับกันยาบางชนิดก็ไม่ควรหยุดเพราะอาจทำให้โรคกำเริบในช่วงตั้งครรภ์ซึ่งกลับเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติบางอย่างในโรคเอสแอลอีเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง หรือการเกิดโรคหัวใจของทารกในครรภ์ได้   ห้ามขาดยา ปรับยาหรือหยุดยาเอง ยกเว้นกรณีแพ้ยา หากกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล รับยาเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่นหรือรับประทานยาสมุนไพรควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลรับทราบ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม

การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม               การตรวจอัลตราซาวด์คือการตรวจโดยใช้ประโยชน์จากคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพโครงสร้างที่ทำการตรวจ โดยหลักการคือ หัวตรวจปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงส่งผ่านเข้าสู่โครงสร้างที่กำลังตรวจ และคลื่นเสียงที่ตกกระทบเนื้อเยื่อต่างๆก็จะสะท้อนกลับมายังหัวตรวจซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นเสียงด้วย แล้วแปลงคลื่นเสียงกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้าแสดงเป็นภาพขึ้นที่หน้าจอแสดงภาพ ด้วยคุณสมบัติการสะท้อนคลื่นเสียงที่แตกต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดทำให้ได้ภาพซึ่งสามารถแยกแยะเนื้อเยื่อแต่ละอย่างได้ นอกจากสามารถดูเนื้อเยื่อต่างๆแล้วยังสามารถดูเลือดที่มาเลี้ยงที่เนื้อเยื่อต่างๆได้ด้วย การอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจข้อและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal ultrasound) เป็นหนึ่งในแขนงของการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการประเมินความผิดปกติ ตัวอย่างการตรวจอัลตราซาวด์ เช่น อัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายในช่องท้อง อัลตราซาวด์หลอดเลือดเพื่อดูภาวะหลอดเลือดอุดตัน อัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram) เพื่อประเมินหัวใจและหลอดเลือดบริเวณหัวใจ เป็นต้น             มีแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาที่ใช้การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจข้อและกล้ามเนื้อ เช่น รังสีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ความนิยมในการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องมาจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์มีให้รายละเอียดของภาพที่สูงมาก เครื่องอัลตราซาวด์ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถนำมาใช้ในการตรวจในสถานที่ที่ดูแลรักษา เช่น ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ที่หอผู้ป่วยใน หรือที่ห้องฉุกเฉิน การตรวจสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ที่เหนือกว่าการตรวจด้วยภาพในวิธีอื่นๆ เช่น มีความปลอดภัยไม่ต้องสัมผัสรังสีอย่างการถ่ายเอ็กซเรย์ (X-ray) หรือถ่ายเอ็กซเรย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CT scan) สามารถประเมินหลอดเลือดหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อด้วยภาพดอปเพลอร์ (Doppler imaging) โดยไม่ต้องฉีดสี สามารถตรวจในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ตรวจได้ และค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูงเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ในการติดตามผลการรักษา และใช้ช่วยในการทำหัตถการให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้นโดยการนำด้วยอัลตราซาวด์ (ultrasound-guided) เช่น การเจาะข้อเพื่อตรวจนำ้ไขข้อ การฉีดยาเข้าข้อ การฉีดยาเข้าปลอกหุ้มเอ็น การฉีดยาเฉพาะจุด การตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มข้อ อย่างไรก็ตามอัลตราซาวด์ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถตรวจโครงสร้างที่อยู่ใต้กระดูกได้ ให้ภาพรายละเอียดสูงเฉพาะโครงสร้างที่ค่อนข้างตื้น หากตรวจหลายบริเวณจะใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์คือเป็นการตรวจที่อาศัยความชำนาญของผู้ตรวจสูง             การนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจโรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือรูมาโตโลยี (ultrasound in rheumatology) มีการต่อยอดไปมากกว่าการตรวจในระบบข้อและกล้ามเนื้อ โดยนำไปตรวจเพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินความผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรครูมาติสซั่มอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำลายในโรคโจเกร็น หลอดเลือดในโรคหลอดเลือดอักเสบ และปอดในโรคปอดที่เกี่ยวข้องกับแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น             แม้ว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวด์จะยังมีการใช้ในเวชปฏิบัติเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคข้อและรูมาติสซั่มไม่มากนักเนื่องจากข้อจำกัดบางประการ แต่เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ราคาเครื่องอัลตราซาวด์ถูกลงแต่มีคุณภาพสูงขึ้น พกพาสะดวกมากขึ้น และเป็นประโยชน์ในการช่วยดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ในผู้ป่วยโรครูมาติสซั่มจะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต #การตรวจอัลตราซาวด์ในโรคข้อและรูมาติสซั่ม #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ (spondyloarthritis)

กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ                         กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบหรือข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส (spondyloarthritis) เป็นกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของข้อชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งแยกย่อยได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis) และกลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis) โรคต่างๆในกลุ่มโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส ได้แก่ โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (ankylosing spondylitis) โรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบรีแอ็กทีฟ (reactive arthritis) โรคข้ออักเสบที่สัมพันธ์กับโรคลำไส้อักเสบ   กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis)             กลุ่มโรคนี้มีปัญหาสำคัญคือมีอาการปวดหลังส่วนเอวหรือปวดที่ก้น แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อระยางค์อักเสบร่วมด้วยแต่ต้องมีอาการหลักคือข้อกระดูกสันหลังอักเสบ กลุ่มโรคนี้แบ่งได้เป็น โรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์และโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (โรคข้อสันหลังอักเสบที่เห็นได้ด้วยเอ็กซ์เรย์) ความผิดปกติที่แยกสองโรคนี้ออกจากกันคือ ความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บที่มีการอักเสบซึ่งเห็นได้ด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์หรือไม่ ในโรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ก็จะไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บได้ด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ แต่จะสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้เมื่อติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบที่ไม่เห็นด้วยเอ็กซ์เรย์ไประยะหนึ่ง ก็จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่พัฒนาต่อกลายเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด             ประวัติและอาการที่ชี้นำว่าอาจเป็นโรคในกลุ่มนี้คือ อาการปวดหลังที่น่าจะเกิดจากการอักเสบไม่ใช่อาการปวดหลังที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือจากความเสื่อม ลักษณะที่ชี้นำว่าอาการปวดหลังนั้นน่าจะเกิดจากการอักเสบ เช่น เริ่มมีอาการปวดในผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี เริ่มมีอาการปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่เริ่มปวดอย่างฉับพลันทันที ระยะเวลาที่ปวดเรื้อรังอย่างน้อย 3 เดือน ปวดในเวลากลางคืน มีอาการฝืดตึงหลังจากตื่นนอนนานอย่างน้อย 30 นาที อาการดีขึ้นเมื่อได้ลุกขยับหลัง อาการปวดดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกายหรือรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาการไม่ดีขึ้นด้วยการพัก นอกจากอาการที่หลังโดยตรงแล้วอาจมีประวัติและอาการอื่นๆที่ช่วยชี้นำว่าอาจเป็นโรคกลุ่มนี้ เช่น มีประวัติเคยเป็นม่านตาอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ข้อระยางค์อักเสบ นิ้วมือหรือนิ้วเท้าบวมอักเสบคล้ายไส้กรอก เอ็นร้อยหวายอักเสบหรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดหรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น หากมีประวัติและอาการหลายข้อที่ชี้ว่าสาเหตุอาจมาจากกลุ่มโรคข้อสันหลังอักเสบควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แต่หากมีอาการปวดหลังที่ไม่มีลักษณะชี้นำว่าเป็นอาการปวดหลังจากการอักเสบควรปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อ   กลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis)             ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบในกลุ่มนี้อาจมีอาการข้ออักเสบ จุดเกาะเอ็นอักเสบ หรือนิ้วอักเสบบวมมีลักษณะคล้ายไส้กรอก ข้ออักเสบ ข้อที่อาจมีการอักเสบ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า จำนวนข้อที่มีการอักเสบมักจะไม่มาก อักเสบครั้งละหนึ่งถึงสี่ข้อ หรือหากมีข้ออักเสบหลายข้อก็มักจะมีแนวโน้มเป็นแบบไม่สมมาตร เช่น ข้อมือขวาอักเสบข้อมือข้างซ้ายก็จะไม่อักเสบ ข้อเท้าซ้ายอักเสบข้อเท้าข้างขวาก็จะไม่อักเสบ ข้อนิ้วชี้มือขวาอักเสบข้อนิ้วชี้มือซ้ายก็จะไม่อักเสบ เป็นต้น จุดเกาะเอ็นอักเสบ จุดเกาะเอ็นคือบริเวณที่เส้นเอ็นมาเกาะกับกระดูก ตัวอย่างจุดเกาะเส้นเอ็นที่มักจะมีการอักเสบ เช่น จุดเกาะของเอ็นร้อยหวายที่กระดูกส้นเท้า จุดเกาะของเอ็นฝ่าเท้าที่กระดูกส้นเท้า จุดเกาะเอ็นที่บริเวณข้อศอก และจุดเกาะเอ็นที่บริเวณข้อเข่า เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มโรคข้อสันหลังและข้อระยางค์อักเสบมักจะมีปัญหาจุดเกาะเอ็นอักเสบร่วมด้วย นิ้วอักเสบบวมคล้ายไส้กรอก ลักษณะดังกล่าวเกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบเส้นเอ็น เกิดได้กับนิ้วมือหรือนิ้วเท้า อาจเกิดกับนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้             ทั้งนี้ในผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลักนี้อาจมีอาการปวดหลังเช่นเดียวกับผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักได้เช่นกัน แต่อาการปวดหลังไม่ใช่อาการหลักของผู้ป่วยในกลุ่มนี้   อาการนอกหลังและนอกข้อของข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส             ผู้ป่วยที่เป็นโรคในกลุ่มนี้อาจมีอาการอื่นๆนอกจากปัญหาข้อสันหลังและข้อระยางค์อักเสบซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคกลุ่มนี้โดยตรง ได้แก่ โรคม่านตาอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆร่วม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไฟโบรไมอาลเจีย โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น             โรคม่านตาอักเสบเป็นอาการนอกข้อที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีผื่นสะเก็ดหนาสีเงินหรือสีขาว พื้นหนาสีแดง และอาจมีความผิดปกติที่เล็บร่วมด้วย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองที่ลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด   การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส             โรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยโดยอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มเพราะต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับโรคสปอนไดโลอาร์ไทรติสและโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งหมด แพทย์จะใช้ข้อมูลทั้งจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือด และผลการตรวจภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอ แล้วประมวลว่าอาการต่างๆน่าจะอธิบายจากโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสหรือไม่ การวินิจฉัยไม่สามารถทำได้ด้วยการให้คะแนนว่าครบตามเกณฑ์หรือไม่             ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดที่จะสามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสแน่นอน แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเลือดที่อาจช่วยสนับสนุน (หรือคัดค้าน) การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส  เช่น ยีน HLA-B27 และ ค่าการอักเสบ CRP และ ESR แพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคอื่น เช่น rheumatoid factor, anti-CCP หรือ ANA เป็นต้น             ผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักจะพบความผิดปกติของข้อกระเบนเหน็บ (ข้อต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับกระดูกปีกสะโพก) จากการตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้การแปลผลความผิดปกติที่พบในภาพเอ็กซ์เรย์หรือเอ็มอาร์ไอค่อนข้างยาก แพทย์แต่ละท่านอาจให้ความเห็นที่แตกต่างกันได้ ความผิดปกติในเอ็มอาร์ไอบางอย่างที่ชี้นำว่าอาจจะเป็นโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสอาจพบได้แม้ในคนปกติ ดังนั้นการแปลผลจึงจำเป็นต้องประเมินร่วมกับประวัติ การตรวจร่างกายและผลการตรวจเลือดร่วมด้วยเสมอ   การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส             การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่คล้ายกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยของการรักษาที่แตกต่างกันตามลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค   การออกกำลังกาย             การออกกำลังกายมีความสำคัญมากในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส ชนิดการออกกำลังกายที่แนะนำในผู้ป่วยได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อลำตัว การออกกำลังกายชนิดแอโรบิกเพื่อพัฒนาศักยภาพของปอดและหัวใจ การออกกำลังกายที่มีการขยายทรวงอกเพื่อพัฒนาการหายใจ การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาพิสัยข้อสันหลังและข้อระยางค์ การออกกำลังกายชนิดยืดเหยียด รายละเอียดวิธีการออกกำลังกายสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล             ท่าทางในกิจวัตรประจำวันมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดเนื่องจากผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเกิดข้อสันหลังติดในท่าก้ม ข้อสะโพกติดในท่างอ คอติดในท่าก้ม ซึ่งท่าดังกล่าวเป็นท่าที่ผู้ป่วยซึ่งทำงานสำนักงานต้องนั่งใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะส่งผลให้หลังและข้อสะโพกติดยึดได้โดยง่าย จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องจัดท่าและอุปกรณ์สำนักงานให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และควรมีการขยับยืดเหยียดร่างกายเป็นระยะ ท่าทางการนอนก็มีความสำคัญ หมอนที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดใช้ควรเป็นหมอนที่ค่อนข้างแบนเพราะการนอนหมอนสูงจะทำให้คอของผู้ป่วยมีโอกาสติดในท่าก้มได้             กีฬาที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดควรหลีกเลี่ยงคือกีฬาที่มีการกระทบกระแทกรุนแรง เช่น ต่อยมวย เตะฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการนวดแผนไทยในท่าที่มีการดัดกระดูกสันหลังหรือกระดูกคอ  รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีไคโรแพรคติก เพราะกิจกรรมต่างๆดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกระดูกสันหลังหักและกดทับไขสันหลังได้   การรักษาด้วยยา ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่มักจะใช้เป็นอันดับแรกในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติสเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่ายาจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่จึงจะตัดสินได้ว่าตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เช่น การฉีดยาเข้าข้อ หรือรอบเส้นเอ็น อาจได้ประโยชน์เพื่อลดการอักเสบเฉพาะจุด จึงเป็นประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีตำแหน่งที่มีการอักเสบไม่กี่จุด ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) และเมโธเทรกเซท (methotrexate) อาจได้ประโยชน์ในการควบคุมการอักเสบของข้อระยางค์ ยาในกลุ่มยาชีววัตถุต้านรูมาติกและยาสังเคราะห์มุ่งเป้าต้านรูมาติก เช่น infliximab, etanercept, adalimumab, golimumab, secukinumab, ixekizumab, และ tofacitinib ยาในกลุ่มนี้อาจพิจารณาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาในลำดับต้นๆ #กลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อระยางค์อักเสบ #กลุ่มโรคที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลัก (axial spondyloarthritis) #กลุ่มโรคที่มีข้อระยางค์อักเสบเป็นหลัก (peripheral spondyloarthritis) #การรักษาโรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดข้อ

            อาการปวดบริเวณข้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากอาการปวดแล้วอาจมีอาการอย่างอื่นด้วย เช่น อาการบวม แดง ร้อน อาจมีอาการฝืดข้อหลังตื่นนอนหรือหลังจากอยู่ในอิริยาบทท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ข้ออาจขยับได้ลดลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ผื่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลด เจ็บคอ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด ตาอักเสบ แผลร้อนในที่ปาก ผมร่วง เป็นต้น ประวัติต่างๆเหล่านี้ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยต้นเหตุของข้ออักเสบได้ สาเหตุของอาการปวดข้อ             สาเหตุของอาการปวดข้อเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติที่โครงสร้างในข้อหรือรอบข้อก็ได้ หรืออาจเป็นการปวดร้าวมาจากที่อื่น โครงสร้างบริเวณข้อ ได้แก่ เยื่อหุ้มข้อ กระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และนวมไขมัน อาการปวดข้ออาจมีสาเหตุจากปัญหาที่โครงสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างบริเวณข้อนั้น แพทย์ผู้ดูแลจะพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุว่าอาการปวดข้อนั้นเกิดจากปัญหาที่โครงสร้างใดและเกิดจากโรคอะไร การรู้สาเหตุของอาการปวดข้อมีความสำคัญมากเพราะแต่ละโรคมีพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน บางโรคสามารถหายได้เอง บางโรคไม่อันตรายและตอบสนองต่อการรักษาได้ดี บางโรคเรื้อรังแต่ไม่อันตราย บางโรคต้องเริ่มรักษาเร็วเพราะมีผลต่อความผิดปกติในระยะยาว บางโรคต้องรีบรักษาทันทีเพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ตัวอย่างสาเหตุอาการปวดข้อ เช่น สาเหตุจากนอกข้อ เช่น เส้นเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อบริเวณข้อปวดตึง โรคไฟโบรไมอาลเจีย ความผิดปกติของระบบประสาท อาการปวดร้าวมาจากนอกข้อ เป็นต้น สาเหตุจากในข้อ แบ่งเป็น ข้อไม่มีการอักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม การบาดเจ็บของโครงสร้างข้อ เป็นต้น ข้อมีการอักเสบ เช่น โรคเกาต์ โรคซีพีพีดี (โรคเกาต์เทียม) โรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบสปอนไดโลอาร์ไทรติส โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น การวินิจฉัยโรค             แพทย์จะอาศัยการซักประวัติ ได้แก่ ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาเดิม ประวัติอาการนำก่อนอาการปวดข้อ ระยะเวลาการปวดข้อ ลักษณะการดำเนินโรคของอาการปวดข้อ ปัจจัยที่ทำให้มีอาการมากขึ้นหรืออาการทุเลาลง และประวัติอาการที่อวัยวะอื่นๆนอกจากที่ข้อ เป็นต้น ร่วมกับการตรวจร่างกายบริเวณข้อที่ปวดเพื่อแยกแยะว่าเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างใดในข้อ ผู้ป่วยอาจไม่ได้ปวดเพียงข้อเดียวแต่อาจปวดหลายข้อ โดยพิจารณาลักษณะรูปแบบของอาการปวดข้อ เช่น ปวดข้อเดียว ปวดสองถึงสามข้อ ปวดหลายข้อแบบไม่สมมาตร ปวดหลายข้อแบบสมมาตร รวมถึงการตรวจร่างกายในอวัยวะอื่นๆนอกข้อ เช่น วัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจผิวหนังที่ต่างๆเพื่อหาผื่น ดูเล็บ ดูหนังศีรษะ ดูในช่องปาก คลำหาก้อน คลำต่อมน้ำเหลือง ตรวจปอด ตรวจหัวใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ร่องรอยความผิดปกตินอกเหนือจากบริเวณข้อสามารถบ่งชี้ต้นเหตุของโรคได้ ข้อมูลการซักประวัติและการตรวจร่างกายมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยให้แพทย์จะสามารถตีกรอบโรคที่สงสัยได้ แพทย์อาจสามารถให้การวินิจฉัยสาเหตุได้เลย หรืออาจจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานสนับสนุน (หรือคัดค้าน) ในโรคที่สงสัย เช่น ทำการตรวจเลือด ตรวจนำ้ไขข้อ หรือตรวจด้วยภาพ             ตัวอย่างการตรวจเลือดที่ช่วยในการวินิจฉัยโดยตรง เช่น หากสงสัยโรครูมาตอยด์ แพทย์จะส่งตรวจรูมาตอยด์แฟกเตอร์และแอนติซีซีพี หากสงสัยโรคเอสแอลอี แพทย์จะส่งตรวจเอเอ็นเอและอาจพิจารณาส่งตรวจแอนติบอดีจำเพาะ และแพทย์อาจส่งตรวจเลือดบางอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและการรักษา เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เอ็นไซม์ตับ การทำงานของไต ค่าการอักเสบ เป็นต้น             การเจาะข้อเพื่อตรวจนำ้ไขข้อมีความสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัยบางโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการข้ออักเสบเฉียบพลันจำนวนหนึ่งถึงสองข้อ เพราะช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ โรคเกาต์และโรคซีพีพีดี เป็นต้น             การตรวจด้วยภาพ ได้แก่ การตรวจเอ็กซ์เรย์ การตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจเอ็มอาร์ไอ และการตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอ็กซ์เรย์เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อยแต่สามารถเห็นได้ดีเฉพาะส่วนที่เป็นกระดูก ช่วยในการประเมินการกร่อนทำลายของข้อ ความแคบของช่องข้อ การงอกขึ้นของเนื้อกระดูกบริเวณข้อ แคลเซี่ยมที่พอกอยู่ที่บริเวณข้อ หรือความเสียหายในเนื้อกระดูก ซึ่งความผิดปกติต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงช้า ใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีจึงจะพบความผิดปกติในภาพเอ็กซ์เรย์ แต่ก็มีความสำคัญในการติดตามความเปลี่ยนแปลง การตรวจด้วยอัลตราซาวด์เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถประเมินความผิดปกติได้ดีทั้งเนื้อเยื่อรอบโครงสร้างข้อ ข้อ และผิวกระดูก แต่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติในส่วนที่ลึกกว่าผิวกระดูกได้จึงมักจะจำเป็นต้องประเมินคู่กับภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ และข้อจำกัดที่สำคัญของการทำอัลตราซาวด์คือเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ผู้ตรวจสูง การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอมีประโยชน์มากเพราะพบความผิดปกติได้รวดเร็ว ประเมินโครงสร้างทั้งส่วนตื้นและส่วนลึกได้ดี เห็นภาพรวมทั่วทั้งบริเวณที่ส่งตรวจ แต่มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน และไม่เหมาะกับผู้ที่กลัวที่แคบ การตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์มีข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่าเอ็มอาร์ไอ ใช้เวลาในการตรวจไม่นาน แต่ประเมินได้ดีเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นกระดูกหรือบริเวณที่มีแคลเซี่ยมพอกอยู่ ทั้งนี้การตรวจด้วยภาพทุกวิธีมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องประเมินคู่กับอาการทางคลินิกเพราะอาจตรวจพบความผิดปกติที่ไม่มีความสำคัญหรือไม่ได้เป็นต้นเหตุของอาการปวดข้อนั้นได้ แนวทางการรักษา             แนวทางการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดข้อ ตัวอย่างแนวทางในการรักษา เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด ยาทรามาดอลเพื่อบรรเทาอาการปวดที่ค่อนข้างมาก ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน อีโทริค็อกซิบ) เพื่อบรรเทาปวดและลดการอักเสบ การทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวด แก้ปัญหาการติดยึดของข้อและเส้นเอ็น และฟื้นฟูพัฒนากล้ามเนื้อ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบในข้อที่มีการอักเสบ ยาปฏิชีวนะในโรคข้ออักเสบติดเชื้อ ยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไฮดร็อกซีคลอโรควิน สเตียรอยด์ เม็ทโทเทร็กเซท) เพื่อรักษาโรคในกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น #ปวดข้อ #สาเหตุของอาการปวดข้อ #การวินิจฉัยโรค #แนวทางการรักษา #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihotpital  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์คืออะไร?                 สาเหตุที่ทำให้ข้อมีการอักเสบมีมากมายหลายโรค โรครูมาตอยด์เป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เกิดข้ออักเสบได้ ข้อที่มีการอักเสบจะมีอาการปวด บวม หรือฝืดตึง โดยโรครูมาตอยด์เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไปทำร้ายข้อของตนเอง โรครูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมโรคให้สงบ และต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมากำเริบอีก   อาการของโรครูมาตอยด์                 อาการสำคัญของโรครูมาตอยด์คืออาการปวด บวม ฝืดตึงของข้อ โดยมักจะเกิดกับข้อเล็กเป็นหลัก เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า อาจมีข้อใหญ่อักเสบร่วมด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อไหล่ ทั้งนี้ข้อส่วนใหญ่ของร่างกายอาจมีการอักเสบที่เกิดจากโรครูมาตอยด์ได้ยกเว้นข้อสันหลังส่วนเอวและส่วนอก โรครูมาตอยด์มักจะเกิดอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการดำเนินโรคที่เรื้อรัง ข้อที่อักเสบมักจะอักเสบพร้อมๆกันจำนวนหลายข้อ และส่วนใหญ่เกิดในข้อที่ตรงกันในด้านตรงข้ามด้วย เช่น มีการอักเสบของข้อมือทั้ง 2 ข้าง ข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการฝืดตึงของข้อหลังตื่นนอนโดยอาการฝืดตึงของข้อจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง                 เมื่อโรคมีการดำเนินต่อ ข้อที่มีการอักเสบจะถูกทำลายตามระยะเวลาที่ผ่านไป ส่งผลให้ข้อค่อยๆเคลื่อนและผิดรูป ส่วนของข้อที่ถูกทำลายและผิดรูปไปแล้วจะเป็นอย่างถาวร ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรครูมาตอยด์และแนะนำให้เริ่มการรักษาเพื่อควบคุมโรคแล้ว ผู้ป่วยควรเริ่มรับการรักษาเลย                 อาการอื่นนอกจากปัญหาที่ข้อซึ่งสัมพันธ์กับการกำเริบของโรครูมาตอยด์โดยตรง เช่น ก้อนรูมาตอยด์ที่ผิวหนัง ผื่นหลอดเลือดอักเสบ ตาขาวอักเสบ และการเป็นโรครูมาตอยด์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคพังผืดในปอด โรคกระดูกพรุน ไขมันในเลือดสูง และโรคซึมเศร้าอีกด้วย   การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์                 การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์อาศัยผลของการซักประวัติและการตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรครูมาตอยด์ ร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรครูมาตอยด์และคัดค้านโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกับโรครูมาตอยด์ ผลการตรวจเลือดที่สนับสนุนการวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ได้แก่ การตรวจพบปัจจัยรูมาตอยด์ (rheumatoid factor) หรือ anti-CCP แต่การตรวจพบก็ไม่ได้ยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นรูมาตอยด์อย่างแน่นอนเพราะแม้จะพบได้น้อยแต่ก็อาจพบในโรคอื่นได้เช่นกัน ทางกลับกันในผู้ป่วยรูมาตอยด์บางรายอาจตรวจไม่พบปัจจัยรูมาตอยด์ และ anti-CCP ได้ การตรวจลำดับถัดไปที่แพทย์มักจะส่งตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยคือการตรวจเอ็กซ์เรย์ แต่หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว การตรวจด้วยภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์อาจไม่พบความผิดปกติของกระดูกและข้อได้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดและฝืดตึงข้อแต่ไม่มีอาการข้อบวมชัดเจนและภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ปกติ กรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีการอักเสบของข้อหรือไม่ แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจอัลตราซาวด์ข้อหรือเอ็มอาร์ไอข้อเพิ่มเติม   การรักษาโรครูมาตอยด์                 ในปัจจุบันมียาเป็นจำนวนมากที่ใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์ อาจแบ่งเป็นกลุ่มของยาที่ช่วยบรรเทาการอักเสบ และกลุ่มของยาที่ช่วยปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (ทำให้โรคสงบ ป้องกันการทำลายข้อและข้อผิดรูป) กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen, indomethacin, meloxicam, celecoxib, etoricoxib เป็นต้น เป็นยาที่บรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของข้อแต่ไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone, dexamethasone ยาสเตียรอยด์อาจใช้ในช่วงแรกของการรักษาร่วมกับยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคเพื่อควบคุมการอักเสบของข้อระหว่างรอการออกฤทธิ์ของยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค กลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน ได้แก่ hydroxychloroquine, chloroquine, methotrexate, sulfasalazine, leflunomide, azathioprine, cyclosporine ยาในกลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ช่วยควบคุมโรคในระยะยาว แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดเพื่อช่วยควบคุมโรค ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับชนิดของยา ยาบางชนิดต้องติดตามผลข้างเคียงด้วยการเจาะเลือดตรวจ บางชนิดต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ บางชนิดต้องตรวจปัสสาวะ ยาชีววัตถุต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ infliximab, etanercept, adalimumab, golimumab, rituximab, tocilizumab, abatacept ยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีมากแต่ราคาสูง บริหารยาโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้าหลอดเลือด มีผลกดภูมิคุ้มกันมากกว่ายาในกลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มจึงอาจเลือกใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน ยาสังเคราะห์มุ่งเป้าต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ tofacitinib และ baricitinib ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีมากแต่ราคาสูง บริหารยาด้วยการรับประทาน กดภูมิคุ้มกันมากกว่ายาในกลุ่มยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน จึงอาจถูกเลือกใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติกที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคมาตรฐาน                   ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรครูมาตอยด์ (อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม หรือ รูมาโตโลจิสต์) ทั้งนี้การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาใดและปริมาณยาเท่าใดในการช่วยควบคุมโรคจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของโรค อายุและโรคร่วมของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของยา วิธีการบริหารยา และราคายา เป็นต้น ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์จึงอาจได้รับยาควบคุมโรคที่แตกต่างกันห้ามนำยาของตนเองให้ผู้อื่นรับประทานโดยเด็ดขาด แพทย์จะทำการติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลการรักษาและผลข้างเคียงของยาเป็นระยะ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่ติดตามการรักษาเพราะอาจเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะการขาดยามีผลต่อการกำเริบโรคและหากโรคกลับมากำเริบมากอาจควบคุมโรคได้ยากขึ้น   การดูแลตนเอง                 ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ควรมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้นและมีการบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าการเริ่มขยับร่างกายจะมีอาการปวดฝืดตึงอยู่บ้างแต่หากไม่ขยับเคลื่อนไหว ข้อก็จะยิ่งฝืดตึงมากขึ้น อีกทั้งหากไม่ได้บริหารร่างกายเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อและศักยภาพการทำงานของข้อก็จะลดน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีความกังวลว่าการออกกําลังกายจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบ แต่จากหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความกระตือรือร้นในการทํากิจกรรมต่างๆและออกกําลังกายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพร่างกายและฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับการใช้ข้ออย่างเหมาะสมเพื่อลดโอกาสบาดเจ็บของข้อและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทําให้ข้อผิดรูป  เช่น งานหัตถการ การตัดแต่งกิ่งไม้ การถอนหญ้า การบิดผ้า การเปิดฝาขวดแบบเกลียว และการหิ้วของหนักๆด้วยนิ้วมือ แต่ยังคงสามารถมีกิจกรรมด้วยการปรับการใช้ข้อ เช่น การบีบผ้าให้หมาดและตากให้แห้งแทนการบิดผ้า ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเปิดฝาขวด การหิ้วของหนักด้วยการคล้องที่แขนหรือใช้วิธีอุ้มของแทน เป็นต้น คําแนะนําสําหรับการออกกําลังกายคล้ายกับคําแนะนําสําหรับประชากรทั่วไป คือมีการออกกำลังกายเบาๆเพื่ออบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายและการยืดเหยียดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้งและอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ควรเริ่มอย่างเบาๆก่อน หากไม่มีอาการปวดข้อหรือกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายจึงค่อยๆปรับเพิ่มความหนักของการออกกำลังกายตามลำดับ มีข้อควรพิจารณาเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์คือ ควรมีการปรับความหนักเบาของแผนการออกกําลังกายตามการกําเริบของโรคอย่างเหมาะสม ในช่วงที่ข้ออักเสบมาก การออกกําลังกายที่เหมาะสมคือ การออกกําลังกายชนิดคงพิสัยข้อ และชนิดการเพิ่มความแข็งแรงเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เมื่ออาการอักเสบของข้อทุเลาลงแล้วจึงเริ่มออกกำลังกายชนิดแอโรบิก การออกกําลังชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกําลังชนิดเพิ่ม/คงพิสัยข้อ การออกกำลังกายของมือ และผู้ป่วยควรวางแผนความหนักของการออกกําลังกายอย่างเหมาะสมในผู้ที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย ควรระมัดระวังการเกิดกระดูกหักในผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนร่วม และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมควรระมัดระวังแรงกระทําต่อข้อเทียมที่มากเกินไป หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติหลังการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหรือนักกายภาพบำบัด                 การดูแลตนเองอย่างอื่นที่มีผลต่อการกำเริบโรค ได้แก่ ควรงดสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่มีผลต่อการควบคุมโรครูมาตอยด์ ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเนื่องจากในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีผลให้มีข้ออักเสบมากกว่าผู้ที่นำ้หนักปกติ ควรดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องจากฟันผุและเหงือกอักเสบมีผลต่อโรครูมาตอยด์ #การรักษาโรคซีพีพีดี #อาการของโรครูมาตอยด์ #การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์ #การรักษาโรครูมาตอยด์ #การดูแลตนเอง #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihospital  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคซีพีพีดี (CPPD disease)

โรคซีพีพีดี (CPPD disease)                 โรคซีพีพีดี (calcium pyrophosphate deposition; CPPD) หรือโรคเกาต์เทียม คือ โรคที่เกิดจากผลึกซีพีพี (calcium pyrophosphate; CPP crystal) กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ผลึกซีพีพีเป็นผลึกที่มีแคลเซียมและไพโรฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบ เกาะฝังอยู่ในบริเวณข้อ เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยรองจากโรคเกาต์ ในบางคนอาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่บางคนก็อาจทำให้เกิดข้ออักเสบอย่างเฉียบพลัน และในบางคนก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อเรื้อรังได้ รูปแบบอาการแสดงของโรคซีพีพีดี                 การที่โรคซีพีพีดีแสดงลักษณะอาการได้หลากหลาย อีกทั้งโรคซีพีพีดียังเกิดกับข้อได้ในหลายตำแหน่ง โรคซีพีพีดีจึงเป็นโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายอาการของโรคข้ออื่นๆอีกหลายโรค อาการแสดงต่างๆของโรคซีพีพีดี ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลันลักษณะคล้ายโรคเกาต์ รูปแบบนี้เป็นลักษณะที่แพทย์ส่วนใหญ่รู้จักเพราะเป็นลักษณะที่มีการรายงานเป็นแบบแรกๆและเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อย ทำให้โรคซีพีพีดี เคยถูกรู้จักในชื่อโรคเกาต์เทียม (pseudogout) การอักเสบของข้อจะเกิดอย่างเฉียบพลัน มีอาการปวด บวม แดง ร้อน ที่บริเวณข้อ และมีการอักเสบต่อเนื่องเป็นวันถึงสัปดาห์ ข้อเข่าคือข้อที่มีการอักเสบได้บ่อยที่สุด ข้ออื่นๆที่อาจมีการอักเสบ เช่น ข้อเท้า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อสะโพก เป็นต้น แต่ข้อที่พบการอักเสบได้น้อย คือ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ซึ่งข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าเป็นตำแหน่งของข้ออักเสบที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ ตำแหน่งของข้ออักเสบนี้จึงเป็นหนึ่งในลักษณะที่ช่วยแยกโรคทั้งสองออกจากกันได้ ทั้งนี้เมื่อข้อนั้นหายอักเสบแล้วก็อาจมีการอักเสบขึ้นอีกในข้อเดิมที่เคยอักเสบหรือข้ออื่นที่ยังไม่เคยอักเสบก็ได้ จึงมีลักษณะข้ออักเสบเป็นๆหายๆคล้ายโรคเกาต์ แต่เนื่องจากโรคซีพีพีดียังมีรูปแบบการแสดงของโรคในแบบอื่นอีกซึ่งไม่ได้คล้ายกับโรคเกาต์ ชื่อโรคเกาต์เทียมจึงไม่ครอบคลุมลักษณะอาการในแบบอื่นๆ ในผู้ที่ไม่มีอาการใดแต่ตรวจพบความผิดปกติที่เข้ากับโรคซีพีพีดีในภาพถ่ายรังสี ข้ออักเสบเรื้อรังในหลายข้อ รูปแบบนี้มีลักษณะคล้ายอาการแสดงของโรครูมาตอยด์ จึงอาจถูกเรียกว่าโรครูมาตอยด์เทียม ทำให้เกิดข้ออักเสบเป็นๆหายๆในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม (ซึ่งโรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่จะไม่มีการอักเสบร่วมด้วย) หรือทำให้เกิดข้อเสื่อมในตำแหน่งของข้อที่ไม่ได้เสื่อมตามธรรมชาติ เช่น ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ หรือข้อไหล่ เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอ ทำให้มีอาการคล้ายลักษณะของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และยังมีลักษณะคล้ายโรคอื่นๆอีกมากมาย เช่น ลักษณะคล้ายอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด คล้ายการติดเชื้อในข้อ คล้ายโรคข้อที่เกิดจากโรคระบบประสาท เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซีพีพีดี                 ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคซีพีพีดีจะอยู่ในวัยสูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ประวัติการบาดเจ็บที่ข้อ พันธุกรรม โรคพาราไทรอยด์สูง โรคฮีโมโครมาโตซิส ภาวะแมกนีเซียมต่ำ เป็นต้น การวินิจฉัยโรคซีพีพีดี                 แพทย์จะสามารถวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกโรคซีพีพีดีจากประวัติและการตรวจร่างกายที่มีลักษณะเข้ากันกับโรค ประกอบกับผลการตรวจน้ำไขข้อและภาพถ่ายรังสีหรือผลการอัลตราซาวด์ข้อ                 การตรวจพบผลึกซีพีพีในน้ำไขข้อ แพทย์จะทำการเจาะข้อแล้วนำน้ำไขข้อที่ได้มาตรวจวิเคราะห์เพื่อหาผลึกซีพีพีด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือกล้องจุลทรรศน์แสงโพลาไรซ์ การตรวจน้ำไขข้อนอกจากเพื่อหาหลักฐานการวินิจฉัยโรคซีพีพีดีโดยตรงแล้วยังเป็นการตัดข้อสงสัยในโรคอื่น เช่น โรคเกาต์หรือโรคข้ออักเสบติดเชื้อด้วย                 การตรวจพบลักษณะของการฝังตัวของผลึกซีพีพีในกระดูกอ่อนด้วยภาพถ่ายรังสีเรียกว่าคอนโดรแคลซิโนซิส (chondrocalcinosis) นอกจากการตรวจด้วยการภาพถ่ายรังสีแล้วมีการตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวด์ข้อซึ่งมีความไวในการตรวจหาคอนโดรแคลซิโนซิสมากกว่าการตรวจจากภาพถ่ายรังสี และสามารถชี้นำการเจาะข้อในข้อที่เจาะได้ยากเพื่อนำน้ำไขข้อมาตรวจได้ การรักษาโรคซีพีพีดี                 ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่สามารถขจัดผลึกซีพีพีที่ฝังอยู่ในกระดูกอ่อนได้ แต่การปวดอักเสบของข้อซึ่งเกิดจากผลึกซีพีพีสามารถดีขึ้นได้ด้วยการรักษาต่างๆ ได้แก่ การเจาะข้อและการฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ ในกรณีที่มีข้ออักเสบหนึ่งถึงสองข้อ แพทย์อาจพิจารณาเลือกวิธีการเจาะข้อเพื่อลดปริมาณน้ำไขข้อและจำนวนผลึกในข้อที่มีการอักเสบเพื่อลดแรงดันในช่องข้อและบรรเทาอาการปวดข้อ นอกจากนั้นยังอาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในข้อซึ่งเป็นการช่วยลดการอักเสบของข้อที่มีประสิทธิภาพดี การรับประทานยาต้านการอักเสบ มักจะเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อที่มีการอักเสบเป็นข้อที่เจาะได้ยาก หรือมีการอักเสบจำนวนหลายข้อ กลุ่มยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โคลชิซิน (colchicine) หรือสเตียรอยด์ นอกจากใช้เพื่อระงับข้ออักเสบเฉียบพลันแล้วอาจใช้ในขนาดต่ำเพื่อป้องกันข้ออักเสบกำเริบในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้ออักเสบกำเริบบ่อยหรือเรื้อรัง การรับประทานยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน หากแพทย์ไม่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยวิธีการต่างๆข้างต้น แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับภูมิคุ้มกันหรือกดภูมิคุ้มกัน เช่น ไฮดรอกซีโคลโรควิน (hydroxychloroquine) หรือเมโธเทรกเซท (methotrexate เป็นต้น เพื่อช่วยควบคุมโรค     #โรคซีพีพีดี (CPPD disease) #รูปแบบอาการแสดงของโรคซีพีพีดี  #ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซีพีพีดี #การวินิจฉัยโรคซีพีพีดี #การรักษาโรคซีพีพีดี #โรงพยาบาลวิภาวดี #vibhavadihotpital

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเกาต์

โรคเกาต์                   โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งซึ่งมีต้นเหตุจากผลึกกรดยูริก ส่วนใหญ่โรคเกาต์จะเกิดขึ้นหลังจากมีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ (มากกว่า 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงจะต้องพัฒนาเป็นโรคเกาต์เสมอไป ทั้งนี้กรดยูริกในเลือดที่สูงจะส่งผลให้เกิดการสะสมของผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายและนำไปสู่อาการต่างๆ เช่น ข้ออักเสบ ก้อนเกาต์หรือก้อนโทฟัส นิ่วที่ไต และประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ลดลง                 ระดับกรดยูริกในเลือดและการเกิดโรคเกาต์สัมพันธ์กับยีน (gene) การรับประทานอาหาร และโรคร่วม ยีนจะมีผลต่อการสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับกรดยูริกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งขับกรดยูริกออกทางไตซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมระดับกรดยูริกในร่างกายที่สำคัญที่สุด การรับประทานอาหารมีผลต่อระดับกรดยูริกในเลือดเพียงบางส่วนเท่านั้น   ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเกาต์                 โรคเกาต์มักจะเริ่มเกิดในผู้ใหญ่ พบในเด็กได้น้อยมาก โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่จะพบได้ในผู้หญิงในสัดส่วนมากขึ้นหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเกาต์ ได้แก่ ความอ้วน โรคไตเรื้อรัง กรรมพันธุ์ การรับประทานยาบางอย่างที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ ยาไพราซินาไมด์ เป็นต้น การรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน เช่น เหล้าเบียร์ เนื้อแดง และน้ำหวาน ก็ส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงได้เช่นกัน   ลักษณะอาการของโรคเกาต์                 อาการข้ออักเสบกำเริบเป็นอาการปวดอักเสบของข้ออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ข้อมีลักษณะบวมแดงและกดเจ็บ โดยอาการปวดอักเสบมักจะมากขึ้นอย่างฉับพลันจากที่เป็นปกติถึงจุดที่ปวดอักเสบมากที่สุดภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และมักจะหายอักเสบภายในไม่กี่วันจนถึง 2 สัปดาห์แม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษา หลังจากนั้นโรคเกาต์ก็จะเข้าสู่ช่วงระยะหายอักเสบ แล้วก็มักจะกลับมาอักเสบอีกเป็นช่วงๆ โดยในช่วงแรกมักจะมีข้ออักเสบครั้งละหนึ่งข้อ เช่น ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อกลางเท้า ในช่วงแรกการอักเสบกำเริบแต่ละครั้งอาจทิ้งช่วงห่างเป็นปีได้ หากโรคไม่ได้รับการรักษาระยะห่างของช่วงที่ไม่มีการอักเสบจะหดสั้นเข้า ข้ออักเสบจะถี่ขึ้น กลายเป็นกำเริบปีละหลายครั้ง จำนวนข้อที่อักเสบในแต่ละครั้งก็อาจเพิ่มจำนวนจากกำเริบครั้งละหนึ่งข้อเป็นกำเริบครั้งละหลายข้อ ข้อที่ไม่เคยมีการอักเสบก็จะมีการอักเสบ ข้อที่มักจะไม่มีการอักเสบในช่วงแรก เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ หรือ ข้อศอก เป็นต้น ก็อาจจะมีการอักเสบขึ้นได้ ระยะเวลาช่วงที่ข้อมีการอักเสบจนหายอักเสบก็จะนานขึ้น หายยากขึ้น อีกทั้งพัฒนาต่อจนมีก้อนโทฟัสเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น โคนนิ้วหัวแม่เท้า ตาตุ่ม ศอก หรือใบหู เป็นต้น ก้อนโทฟัสอาจโตขึ้นจนมีการทำลายกระดูก ทำให้เกิดข้อผิดรูปได้ โดยทั่วไปก้อนโทฟัสมักจะไม่มีอาการปวดอักเสบ แต่ทั้งนี้ก้อนโทฟัสก็อาจมีการอักเสบได้เช่นกัน   การวินิจฉัยโรคเกาต์                 สาเหตุของข้ออักเสบนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายโรค แพทย์จะสงสัยว่าผู้ที่มีข้ออักเสบนั้นมีสาเหตุจากโรคเกาต์เมื่อมีประวัติและผลการตรวจร่างกายที่เข้าได้กับลักษณะของโรคเกาต์ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยแพทย์จะหาหลักฐานเพื่อสนับสนุน (หรือคัดค้าน) ข้อสงสัยดังกล่าว ด้วยการตรวจหาผลึกกรดยูริกจากน้ำไขข้อ ซึ่งการตรวจพบผลึกกรดยูริกโดยกล้องจุลทรรศน์หรือกล้องจุลทรรศน์แสงโพลาไรซ์ถือเป็นการยืนยันการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด ทั้งนี้หากไม่สามารถทำได้ อาจใช้หลักฐานอื่นประกอบ เช่น จากการตรวจพบลักษณะภาพที่เข้าได้กับการตกตะกอนของกรดยูริกในเนื่อเยื่อต่างๆด้วยอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด dual energy หรืออาจใช้ประวัติและการตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรคเกาต์เป็นอย่างมากโดยไม่มีโรคอื่นที่อธิบายอาการของผู้ป่วยได้ดีกว่าโรคเกาต์ ร่วมกับการตรวจพบระดับกรดยูริกในเลือดที่สูง ทั้งนี้การตรวจประเมินระดับกรดยูริกอาจจำเป็นต้องตรวจห่างจากช่วงเวลาที่มีการอักเสบของข้อ เนื่องจากช่วงที่มีข้ออักเสบนั้นกรดยูริกอาจอยู่ในระดับค่าปกติได้   การรักษาโรคเกาต์ช่วงที่มีการอักเสบ                 ช่วงที่ผู้ป่วยมีข้ออักเสบนั้นการรักษาหลักคือการระงับการอักเสบ ลดอาการปวดบวม และทำให้หายอักเสบเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ยาที่ใช้ในการรักษาช่วงนี้จึงใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ยาที่แพทย์เลือกจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น โรคร่วมของผู้ป่วย ความรุนแรงของการอักเสบ เคล็ดลับคือควรได้รับยาระงับการอักเสบเร็วที่สุดจะทำให้ข้ออักเสบที่กำเริบนั้นหายได้เร็ว ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคเกาต์อยู่แล้ว แพทย์อาจให้ยาระงับการอักเสบไว้กับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้เร็วหากมีอาการกำเริบ นอกจากยาแล้วการดูแลอื่นๆก็อาจช่วยทุเลาการอักเสบและลดโอกาสการอักเสบที่มากขึ้นได้ เช่น การประคบเย็น และข้อที่กำลังมีการอักเสบควรหลีกเลี่ยงการนวดหรือการใช้ข้อมาก   ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์                 ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น naproxen, ibuprofen, indomethacin, celecoxib และ etoricoxib เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้เมื่อใช้ในขนาดสูงจะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้ดีมาก แต่ถ้าใช้ยาในขนาดกลางจะมีฤทธิ์เฉพาะบรรเทาปวด การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มีข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ มีแผลในกระเพาะอาหาร มีความเสี่ยงในการเลือดออก เช่น กำลังรับประทานยา warfarin   โคลชิซิน                 โคลชิซิน (colchicine) เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบในช่วงที่มีข้ออักเสบเกาต์โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงของแผลในกระเพาะอาหาร ไม่มีผลต่อไต แต่พิจารณาลดขนาดยาในผู้ป่วยโรคไต ข้อจำกัดคือโคลชิซินมีประสิทธิภาพในการระงับการอักเสบได้สูงเฉพาะเมื่อรับประทานยาภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการกำเริบครั้งนั้นๆ และมีผลข้างเคียงขึ้นกับขนาดของยาในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้อง ทั้งนี้วิธีการรับประทานยาในปัจจุบันมีขนาดตำ่กว่าในอดีตเพื่อลดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารซึ่งเกิดได้บ่อยในการรับประทานยาขนาดสูง   สเตียรอยด์                 สเตียรอยด์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการระงับการอักเสบของข้อ ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ prednisolone, methylprednisolone, dexamethasone และ triamcinolone อาจให้ได้ในรูปแบบรับประทาน ฉีดยาเข้ากล้าม หรือหลอดเลือดดำ ยากลุ่มนี้ไม่มีผลต่อไตหรือการเกิดเลือดออกง่ายแต่มีผลกดภูมิคุ้มกันและระดับนำ้ตาลในเลือดขึ้นชั่วคราว แพทย์จึงมักจะพิจารณาใช้เฉพาะบางกรณี เช่น ข้ออักเสบรุนแรง ข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองหรือไม่สามารถรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือโคลชิซินได้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต หรือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเลือดออก แต่ก็จะหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้หรือกรณีผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี นอกจากนั้นแพทย์อาจเลือกวิธีการฉีดยาเข้าข้อเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีและลดผลข้างเคียงของสเตียรอยด์ต่อร่างกายในระบบอื่นๆ แต่มีข้อจำกัดที่จะได้ผลเฉพาะข้อที่ฉีดจึงมักจะพิจารณาใช้เฉพาะกรณีข้ออักเสบไม่กี่ข้อ   การรักษาโรคเกาต์เพื่อป้องกันการกำเริบ                 ยาที่นิยมใช้เพื่อป้องกันโรคกำเริบหรือลดโอกาสกำเริบคือโคลชิซินในขนาดต่ำ เช่น รับประทาน 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง โดยมีการปรับยาตามประสิทธิภาพการทำงานของไต ทั้งนี้ผู้ป่วยควรได้รับยาป้องกันข้ออักเสบกำเริบในช่วงแรกของการได้รับยาลดกรดยูริกเนื่องจากข้ออักเสบอาจยังเกิดบ่อยในช่วง 3 - 6 เดือนแรกของการปรับยาลดกรดยูริกแม้ว่าระดับกรดยูริกจะอยู่ในระดับเป้าหมายแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยา โคลชิซินป้องกันข้ออักเสบเกาต์ต่อเนื่องในระยะยาวโดยไม่ได้รับประทานยาลดกรดยูริกร่วมด้วยเนื่องจากจะส่งผลให้ผู้ป่วยสะสมกรดยูริกในเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นมากจนเป็นก้อนโทฟัสโดยไม่มีอาการข้ออักเสบเตือนได้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยาสเตียรอยด์ในขนาดต่ำอาจถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการกำเริบได้เช่นเดียวกันแต่สงวนไว้เฉพาะกรณีผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือใช้โคลชิซินไม่ได้ผล   การรักษาโรคเกาต์ด้วยยาลดกรดยูริกในระยะยาว                 การลดระดับกรดยูริกจะช่วยป้องกันข้ออักเสบกำเริบของโรคเกาต์ ป้องกันการเกิดโทฟัส ลดขนาดก้อนโทฟัสที่เกิดขึ้นแล้ว ป้องกันการทำลายข้อและความผิดรูปของข้ออันเนื่องมาจากโรคเกาต์ และอาจชะลอความเสื่อมของไตหรือการเกิดนิ่วที่ไตจากระดับกรดยูริกในเลือดที่สูงในผู้ป่วยโรคเกาต์ โดยเป้าหมายของระดับกรดยูริกในเลือดคือ น้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรืออาจปรับเป้าหมายให้เข้มงวดขึ้นอีกเป็น น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่รุนแรงหรือมีก้อนโทฟัสแล้ว ทั้งนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเกาต์ทุกคนจะต้องรับประทานยาลดกรดยูริก หากข้ออักเสบแต่ละครั้งห่างกันมาก เช่น ช่วงเวลาไม่กำเริบหลายปีต่อการกำเริบ 1 ครั้ง ผู้ป่วยก็อาจเลือกยังไม่รับประทานยาลดกรดยูริกแต่ใช้วิธีการรักษาด้วยการระงับการอักเสบข้อเป็นครั้งๆไปได้ แต่หากมีข้ออักเสบบ่อย การกำเริบแต่ละครั้งรุนแรงและต่อเนื่อง มีก้อนโทฟัสแล้ว หรือมีโรคไตร่วมด้วย แพทย์มักจะแนะนำให้รับประทานยาลดกรดยูริกในระยะยาว                 ยาลดกรดยูริกในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลดการสร้างกรดยูริก กลุ่มเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และกลุ่มสลายกรดยูริก การรับประทานยาลดกรดยูริกจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน ไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือตลอดชีวิต โดยเมื่อผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเป้าหมายอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่าความถี่ในการกำเริบลดน้อยลงอย่างชัดเจน และจะลดน้อยลงจนไม่มีการอักเสบอีกเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคเกาต์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในระยะยาวก็ตาม   กลุ่มยาลดการสร้างกรดยูริก                 ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ อัลโลพิวรินอล (allopurinol) และ เฟบูโซสแตต (febuxostat) ยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่สร้างกรดยูริก มีประสิทธิภาพลดกรดยูริกได้ดีมากทั้งคู่ อัลโลพิวรินอลมักจะเป็นยาตัวแรกที่แพทย์พิจารณาสั่งจ่ายเพื่อลดระดับกรดยูริกในผู้ป่วยโรคเกาต์ แต่ด้วยปัญหาผลข้างเคียง คือ ผื่นแพ้ยา ซึ่งในคนเชื้อชาติไทยหรือจีนมียีนแพ้ยาอัลโลพิวรินอล (HLA-B*5801) ได้บ่อย ในผู้ป่วยที่มีศักยภาพการทำงานของไตลดลงระดับปานกลางขึ้นไปก็มีความเสี่ยงแพ้ยาอัลโลพิวรินอลเพิ่มขึ้น แพทย์จึงจะเริ่มยาอัลโลพิวลินอลในขนาดต่ำก่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการแพ้ยาที่รุนแรงแล้วค่อยๆเพิ่มยาขึ้นตามลำดับจนกว่าจะควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้แพทย์อาจส่งตรวจหายีนแพ้ยานี้ในผู้ป่วยเชื้อชาติไทยหรือจีนที่มีการทำงานของไตลดลงเพื่อประเมินความเสี่ยงของการแพ้ยาก่อนการเริ่มยา ส่วนเฟบูโซสแตตมีความเสี่ยงในการเกิดผื่นแพ้ยาน้อยกว่าอัลโลพิวรินอลแต่มีราคาที่สูงกว่าและระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย นอกจากนี้ระหว่างการรับประทานอัลโลพิวรินอลหรือเฟบูโซสแตต แพทย์จะมีการส่งตรวจเลือดเพื่อติดตามเอนไซม์ตับเป็นระยะ   กลุ่มยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ                 ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ โพรเบเนซิด (probenecid), ซัลฟินไพราโซน (sulfinpyrazone) และ เบนซ์โบรมาโรน (benzbromarone) ยากลุ่มนี้เพิ่มการขับกรดยูริกจากไตออกมากับน้ำปัสสาวะ การรับประทานยาในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องดื่มน้ำให้มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะจากการตกตะกอนของกรดยูริก โพรเบเนซิดและซัลฟินไพราโซนมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีศักยภาพการทำงานของไตลดลงเพราะประสิทธิภาพของยาในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวจะลดลง ในขณะที่เบนซ์โบรมาโรนแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าโพรเบเนซิดและซัลฟินไพราโซนอีกทั้งยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีศักยถาพการทำงานของไตลดลงระดับปานกลางได้ แต่เบนซ์โบรมาโรนมีรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อตับ ถึงแม้ว่าจะพบได้น้อยมากแต่ก็จำเป็นต้องตรวจติดตามเอนไซม์ตับเป็นระยะๆ                                 นอกจากยาลดกรดยูริกโดยตรงแล้วยังมียาอีกหลายชนิดที่ส่งผลต่อการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ เช่น โลซาร์ทาน และ ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ ซึ่งเป็นยาลดความดันทั้งคู่ แต่โลซาร์ทานมีผลข้างเคียงเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะจึงช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้เล็กน้อย ขณะที่ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์มีผลข้างเคียงลดการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะจึงส่งผลเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือด ผู้ป่วยจึงควรแจ้งยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดให้แพทย์ผู้ดูแลทราบด้วย   การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร                 ชนิดของอาหารอาจมีผลต่อการอักเสบกำเริบในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดยูริกอยู่บ้าง โดยชนิดของอาหารที่แนะนำให้จำกัดปริมาณการรับประทาน ได้แก่ เหล้าเบียร์ เนื้อแดง และน้ำหวาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นชนิดอาหารที่แตกต่างจากความเข้าใจเดิมอยู่บ้าง ในผู้ป่วยโรคเกาต์ส่วนใหญ่การควบคุมอาหารแค่บางชนิดไม่เพียงพอต่อการลดระดับกรดยูริกให้ถึงระดับเป้าหมายเพราะช่วยลดระดับกรดยูริกได้ไม่มาก ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินการปรับพฤติกรรมการรับประทานมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากลดน้ำหนักได้ดีจะทำให้ลดระดับกรดยูริกได้มากและยังมีผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่นๆอีกด้วย #โรคเกาต์  #โรงพยาบาลวิภาวดี #Vibhavadihospital #การรักษาโรคเกาต์ด้วยยาลดกรดยูริกในระยะยาว #การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร #กลุ่มยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ                    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือภาวะโลกร้อน

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือภาวะโลกร้อน   ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพภูมิศาสตร์คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสโลกร้อนนี้มาแรงจริงๆ เพราะชีวิตประจำวันของเรานั้น เราเป็นผู้ที่บริโภคทรัพยากรบนโลกมากที่สุด           เรื่องสุขภาพในช่วงระยะที่ผ่านมา ผมสังเกตว่า จะมีคนไข้ที่มีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ ภายใน 1-2 วัน และเพิ่มปริมาณมากขึ้น แทบจะเรียกได้ว่า 60-70 % ของคนไข้ที่มาตรวจเลยทีเดียวครับ ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนด้วยหรือเปล่า โดยทั่วไปคนไข้ที่มีอาการ ไข้สูงมาภายใน 1-2 วันแรก ก็จะมีได้หลายสาเหตุ แล้วแต่ว่าจะมีอาการร่วมไปทางใด เช่น บางคนปัสสาวะแสบขัด ก็อาจจะเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือกรวยไตอักเสบ ก็เป็นได้ บางคน ไอ เจ็บคอ ตรวจพบต่อมทอลซินบวมแดงเป็นหนอง ก็วินิจฉัยว่าต่อมทอลซินอักเสบ หรือบางคนเพิ่งเข้าป่ามาเมื่อ 2-3 สัปดาห์มาก่อน ก็อาจเป็นไข้มาลาเรียก็เป็นได้ ในหลายๆกรณี คนไข้มาด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดเอว เบื่ออาหารและคลื่นไส้ แบบนี้ก็ยากที่จะวินิจฉัยโรคเฉพาะเจาะจงครับ ก็ต้องอาศัยข้อมูลระบาดวิทยาว่า ช่วงนี้มีโรคใดที่ระบาดกันบ้าง อย่างช่วงนี้ก็สงสัย ไข้หวัดใหญ่ มากที่สุด ซึ่งอาการก็เป็นได้ดังที่กล่าวมาแล้ว สังเกตว่าคนไข้ที่มาหาส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยทำงาน ไม่ค่อยได้พักผ่อน นอนดึก ตื่นเช้า หลายคนมีโอกาสออกกำลังกายน้อยมาก ในเมื่อร่างกายกำลังอ่อนเพลีย ประกอบกับเชื้อโรคกำลังเจริญเติบโตดีในสภาพอากาศแบบนี้ ก็ทำให้ผู้ที่รับเชื้อเข้าไปมีโอกาส เป็นโรคได้มากหรือบ่อยขึ้น          ครั้นถ้าเราเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร?  สิ่งสำคัญที่สุด คือ การพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นภูมิคุ้มกันโรค เพื่อต่อสู้กับโรค เป็นเพราะว่า เชื้อไข้หวัดนี้เป็นเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ต้องอาศัยภูมิคุ้มกันของเราและรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ การดื่มน้ำสะอาด ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก แนะนำให้มารักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป เพราะฉะนั้นหากเราไม่ต้องการให้เป็นไข้หวัด ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้ที่มีอาการ ใส่หน้ากากปิดจมูกไว้ ล้างมือสม่ำเสมอ อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่อยู่ในที่ๆมีผู้คนแออัดมากเกินไป รวมถึงการทำให้ร่างกายเรามีสุขภาพดีอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะอนามัยครับ          ไม่ว่าจะเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือภาวะโลกร้อน เราก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ที่สำคัญอย่าลืม ช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนกันด้วยนะครับ   นพ. ภาคิน โลวะสถาพร แผนกอายุรกรรมทั่วไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกาย-กินผักผลไม้ ป้องกันหวัด!

ออกกำลังกาย-กินผักผลไม้ ป้องกันหวัด! นพ.ชิดเวทย์ วรเพียรกุล อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี           ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ ทำให้หลายท่านสุขภาพแย่ ทุกท่านควรออกกำลังกายควบคู่กับกินผักผลไม้ วิตามินซีสูง และรับประทานอาหารร้อนๆ ช่วยสร้างความอบอุ่นร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัด           ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบนี้ คงทำให้เราควรที่จะหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอ่อน เด็กเล็ก และกลุ่มผู้สูงอายุ นับเป็นกลุ่มที่มักได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ง่าย พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุจึงต้องมีความเข้าใจ และรู้จักการดูแลสุขภาพตนเองและลูกหลานอย่างปลอดภัยในช่วงหน้าฝน เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัด เพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดและไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดี อาจส่งผลให้กลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม ได้ในที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุจึงต้องสร้างความอบอุ่นร่างกายให้กับตนเอง และควรมีการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี           การออกกำลังกาย สามารถช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ และที่สำคัญยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดได้ด้วย ซึ่งการออกกำลังกาย ควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะ การขี่จักรยาน การเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องการรำมวยจีน เป็นต้น การออกกำลังกายดังกล่าว จะช่วยทำให้รู้สึกหายใจเร็วขึ้น ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เป็นเวลาอย่างน้อยก็เพียงพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันในบริเวณทางเดินหายใจ เพราะการออกกำลังกายหนักมากเกินไป กลับไม่ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน ในการเริ่มต้นของการออกกำลังกาย ควรเริ่มจากเบาๆ ระยะเวลาน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว จากนั้นจึงเพิ่มความแรง หรือความหนัก แต่ขอย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเหนื่อยมากๆ           สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากการออกกำลังกายเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย คือ การกินอาหาร เน้นกินผักหลากหลาย ทั้งผักสดหรือลวก ต้ม ผัด และผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะกอก องุ่น สับปะรด เป็นต้น เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับร่างกาย ดังนั้น หากคุณดูแลสุขภาพตนเองได้ตามข้อปฏิบัติดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีสุขภาพดีในช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อการมีสุขภาพดีในระยะยาวอีก  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไข้หวัด โรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด

ไข้หวัด โรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด            โรคไข้หวัด เป็นการติดเชื้อของจมูก และคอ ส่วนใหญ่ 75-80 % เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งรวมเรียกว่า Coryza viruses ประกอบด้วย Rhino-viruses เป็นสำคัญ เชื้อชนิดอื่นๆมี Adenoviruses, Respiratory syncytial virus เมื่อเชื้อเข้าสู่จมูก และคอจะทำให้เยื่อจมูกบวม และแดง มีการหลังของเมือกออกมาแม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก คนสูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง อาการ           ผู้ใหญ่ มีอาการจาม และน้ำมูกไหลจะนำมาก่อน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย แต่มักไม่ค่อยมีไข้ เชื้อจะออกจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย 2-3 ชั่วโมงและหมดใน 2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดหู เยื่อแก้วหูมีเลือดคั่ง บางรายเยื่อบุตาอักเสบ เจ็บคอกลืนลำบาก โรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนานถึง 2 สัปดาห์ ในเด็กอาจจะรุนแรง และมักมีการแพร่ไปเป็นหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น    การติดต่อ            โรคนี้มักจะระบาดฤดูหนาวเนื่องจากความชื้นต่ำและอากาศเย็น เราสามารถติดต่อจากน้ำลาย และเสมหะผู้ป่วย นอกจากนั้นมือที่เปื้อนเชื้อโรคก็สามารถทำให้เกิดโรคได้โดยผ่านทางจมูกและตา ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ ผู้ที่มีโอกาสเป็นไข้หวัดง่ายคือ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีเด็กที่ขาดอาหาร เด็กที่เลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็ก   วิธีการติดต่อ มือของเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่สัมผัสเชื้อจากเสมหะของผู้ป่วย หรือสิ่งแวดล้อม แล้วขยี้ตา หรือเอาเข้าปากหรือจมูก  หายใจเอาเชื้อ ที่ผู้ป่วยที่ไอออกมา  หายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ    การรักษา ไม่มียารักษาเฉพาะ ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ Paracetamol ห้ามให้ Aspirin  ให้ยาช่วยรักษาตามอาการ เช่น ยาลดคัดจมูก ลดน้ำมูก ยาแก้ไออ่อนๆ ให้พัก และดื่มน้ำมากๆ โดยทั่วไปจะเป็นมาก 2-4 วัน หลังจากนั้นจะดีขึ้น ในเด็กโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือหูชั้นกลางอักเสบ ต้องได้รับยาปฏิชีวนะรักษา การป้องกัน หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนต์ ภัตราคาร ในช่วงที่ไข้หวัดกำลังระบาด  ไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือ ทิสชูปิดปาก  ให้ล้างมือบ่อยๆ  ไม่เอามือเข้าปากหรือขยี้ตาเพราะอาจนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้  อย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหวัดเป็นเวลานาน               เป็นการยาก ที่จะป้องกันการติดเชื้อไข้หวัด และยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันไข้หวัด ดังนั้นการดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด   นพ.ชิดเวทย์ วรเพียรกุล อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับหน้าหนาว

การดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับหน้าหนาว  นพ.ชิดเวทย์ วรเพียรกุล อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี           เข้าสู่ฤดูหนาวแล้วนะครับ ในช่วงฤดูหนาวอาจทำให้หลายท่านป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แต่สำหรับบางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อเจออากาศเย็นๆ คงทำให้มีอาการมีแพ้มากขึ้น เช่น จาม น้ำมูกไหล หรือบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจมีอาการหอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าติด ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย คงแย่แน่เลยครับ เพราะฉะนั้น การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดี จะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง ลองปฏิบัติตาม 8 วิธี ในการดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับช่วงหน้าหนาวกันดูนะครับ      1. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่            ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ      2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และไม่ควรใช้ของ           ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เป็นต้น      3. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัด      4. หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม และไม่คลุกคลี กับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ      5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกาย           เสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย      6. ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากเราอาจไปสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น ราวบันได            ลูกบิด ประตู แก้วน้ำ เป็นต้น โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15-20 วินาที หรือใช้น้ำยา ล้างมืออื่น ๆ       7. รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมาก           ควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย      8. ดูแลเรื่องผิวหนัง โดยการทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ถ้าอากาศ           หนาวมาก ไม่อาบน้ำนาน ๆ ในที่ที่หนาวมาก หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว            ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมันและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ          เราควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพตลอดเวลา เพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ การที่เราสุขภาพที่ดี อาจทำให้เราเจ็บป่วยน้อยลง          อย่าลืมนะครับว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) นพ. อนวรรถ ซื่อสุวรรณ  อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร?      โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบพร้อมกันหลายๆ ข้อ เมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานานข้อจะถูกทำลาย ทำให้ข้อผิดรูป และเกิดความพิการตามมาได้ นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงในอวัยวะอื่นๆ นอกจากข้อได้ด้วย  สาเหตุการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร?      สาเหตุของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยัง ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางการติดเชื้อ ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนเพศ และปัจจัยทางระบบภูมิต้านทาน ปัจจุบันเชื่อว่า การเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ คือ ผู้ป่วยมีปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งเอื้อต่อการเกิดโรค และได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ อาการที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอะไรบ้าง?      อาการที่สำคัญ ได้แก่ ข้ออักเสบจำนวนหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อมือและข้อนิ้วมือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อตลอดเวลาไม่ว่าจะใช้ข้อทำงานหรือไม่ก็ตาม และมีอาการข้อฝืดขัดหลังการตื่นนอนตอนเช้า นอกจากอาการที่ข้อแล้ว อาการในระบบอื่นที่อาจพบได้ เช่น ไข้ต่ำๆ อาการอ่อนเพลีย ปุ่มรูมาตอยด์ อาการปากแห้งตาแห้ง เป็นต้น เมื่อมีข้ออักเสบ ข้อจะสูญเสียหน้าที่การทำงาน ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อลดลง เมื่อข้อมีการอักเสบเป็นระยะเวลานานข้อจะถูกทำลาย และผิดรูป ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เมื่อมีอาการเต็มที่แล้วการให้การวินิจฉัยทำได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบหลายข้อ ส่วนใหญ่ในข้อเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มือและเท้า มีการกระจายของข้อที่อักเสบแบบเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับพบลักษณะข้อผิดรูป แต่ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการนำได้หลายแบบซึ่งในบางครั้งทำให้ยากในการวินิจฉัย  โรคที่มีอาการเลียนแบบหรือคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอะไรบ้าง?      โรคข้ออักเสบที่คล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้แก่ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคข้ออักเสบ SNSA โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบติดเชื้อ โรคข้ออักเสบที่พบร่วมกับโรคมะเร็ง เป็นต้น  ทำไมจึงต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์บ่อยๆ?        การตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีความจำเป็น เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค ใช้ประเมินความรุนแรงของโรค ใช้ในการประเมินผู้ป่วยก่อนพิจารณาเลือกใช้ยา ใช้ในการติดตามการตอบสนองต่อการรักษา และการติดตามผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อย่างไร?        การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด  1. การรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ยา        ผู้ป่วยควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตัว และการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ข้อทำงานหนักมากเกินไป ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมีส่วนสนับสนุนสำคัญ ในการช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาพ ทำให้ผู้ป่วยปวดข้อน้อยลงและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านอาจมีความจำเป็น เช่น การปรับก๊อกน้ำเป็นชนิดใช้มือปัดแทนชนิดใช้มือหมุน การอาบน้ำด้วยฝักบัวแทนการใช้ขัน เป็นต้น 2. การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา        ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้น มีการพัฒนาวิธีการรักษาโดยการใช้ยาหลายขนานร่วมกัน ทำให้ควบคุมข้ออักเสบได้ดีขึ้น ลดการทำลายข้อ โอกาสที่จะเกิดความพิการเมื่อเทียบกับในอดีตพบว่าลดลงอย่างชัดเจน ยาที่ใช้ในการรักษาประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังนี้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen, indomethacin และ diclofenac เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติบรรเทาปวดและลดการอักเสบ แต่มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การระคายเคืองกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ อาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง และเลือดออกแล้วหยุดยาก เป็นต้น การรับประทานยาในกลุ่มนี้ควรรับประทานหลังอาหารทันที ในปัจจุบันมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ายาต้านการอักเสบเดิม แต่ประสิทธิภาพบรรเทาปวดและลดการอักเสบเท่าเดิม ยากลุ่มนี้ เช่น meloxicam, celecoxib และ etoricoxib เป็นต้น        ยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดโดยตรง แต่จะออกฤทธิ์ทำให้เซลล์ก่อการอักเสบหลั่งสารก่อการอักเสบลดลง ทำให้ข้ออักเสบลดลง ควบคุมโรคได้ดีขึ้น เนื่องจากยาไม่ได้ออกฤทธิ์บรรเทาปวดโดยตรงจึงต้องรอเวลายาออกฤทธิ์หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้วแต่ชนิดของยา ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น chloroquine, sulfasalazine, methotrexate, gold salt, และ leflunomide เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของยา เช่น ผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา ตับอักเสบ กดไขกระดูก และพังผืดปอด เป็นต้น ดังนั้นการใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด        ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่ระงับการอักเสบได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดี แต่ผลข้างเคียงมาก เช่น ผิวหนังบาง น้ำหนักขึ้น ภาวะกระดูกบาง ต้อกระจก กระดูกขาดเลือด เป็นต้น ปัจจุบันแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ อาจใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเพื่อควบคุมโรคในการรักษาช่วงแรกซึ่งยาในกลุ่มต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคยังไม่ออกฤทธิ์ เมื่อควบคุมโรคได้ดีแล้วก็จะลดขนาดยาและหยุดยาให้ได้เร็วที่สุด        ยาต้านสารซัยโตไคน์ ในปัจจุบันพบว่าสารก่อการอักเสบที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คือสารซัยโตไคน์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นกระบวนการอักเสบต่างๆ จึงมีการพัฒนายาต้านสารซัยโตไคน์ขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น infliximab, etanercept และ adalimumab เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ดีมาก ลดการอักเสบได้รวดเร็ว และยับยั้งการทำลายข้อได้ สามารถใช้ในผู้ป่วยซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อวัณโรคแทรกซ้อนได้ การรักษาด้วยยาในกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายสูง 3. การรักษาด้วยการผ่าตัด         การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาที่สำคัญอีกวิธีหนี่งในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีส่วนช่วยแพทย์ให้ดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขี้น การผ่าตัดในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น การผ่าตัดลอกเยื่อบุข้อ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดซ่อมแซมกรณีข้อผิดรูป เป็นต้น         ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น ทำให้ผลการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดความทุกข์ทรมาน ลดความพิการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยการ วินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค ความเข้าใจโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การดูแลสุขภาพและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน

การดูแลสุขภาพและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน   นพ. ภาคิน โลวะสถาพร อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี            สวัสดีครับ วารสารฉบับเดือนนี้เป็นฉบับพิเศษที่มาพร้อมกับการฉลองครบรอบวันเกิดการก่อตั้งโรงพยาบาลมาครบ 25 ปี ผมในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำของรพ.วิภาวดี  ได้มีโอกาสเขียนบทความในวารสารฉบับนี้ ซึ่งได้เข้าถึงผู้อ่านโดยตรงและแม้แต่บุคคลากรทางการแพทย์เอง  บทความนี้จึงมุ่งเน้นถึงปัญหาสุขภาพในทางเวชปฏิบัติที่พบได้บ่อยจากกการทำงาน  และมักจะถูกมองข้ามไป   ในขณะที่เขียนนี้ผมก็ได้นั่งตรวจคนไข้ไปด้วย และบังเอิญที่มีผู้ป่วยเป็นสุภาพสตรีวัยทำงานท่านหนึ่งมารับการตรวจพอดี ผมจึงขออนุญาตยกมาเป็นกรณีศึกษาเลยนะครับ            คนไข้มาด้วยอาการปวดศีรษะ 2 วัน มักจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับ  ร้าวมาต้นคอและมีอาการคลื่นไส้ เป็นบางครั้ง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นในช่วงบ่ายและเย็น ในบางครั้งหลังจากตื่นนอน  ก็จะมีอาการมึนศีรษะรู้สึกเหมือนกับไม่ได้นอนหลับ  เป็นอย่างไรบ้างครับ มีใครเคยมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ครับ จากการซักประวัติต่อไปของคนไข้ ทราบว่าทำงานอ๊อฟฟิตในตำแหน่งวิเคราะห์การเงิน ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวันและอยู่กับตัวเลขทางบัญชี ต้องมีการประชุมกับผู้บริหารอาวุโสทุกสัปดาห์  ทุกวันต้องนำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน นอนดึกตื่นแต่เช้าเพื่อส่งลูกไปโรงเรียน ถึงแม้คนไข้จะบอกว่าเป็นคนอารมณ์ดี ไม่มีความเครียดเรื่องงาน แต่หลายคืน ต้องตื่นกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากทำการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเลยแม้แต่น้อย แต่ที่ตรวจพบนั่นก็คือ คนไข้มีรูปร่างท้วม ดัชนีมวลกายมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีภาวะความดันโลหิตสูง และมีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ เมื่อกดถูกกล้ามเนื้อจะมีอาการเจ็บ คราวนี้พอจะทราบแล้วใช่มั้ยครับว่า คนไข้รายนี้น่าจะมีอาการปวดศีรษะจากสาเหตุการนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมๆเป็นระยะเวลานาน มีการใช้สายตาโดยต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน  จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขมับ หนังศีรษะและต้นคอรวมถึงบ่าและไหล่ มีการหดเกร็งสะสมเป็นระยะเวลานานจึงมีอาการปวดเรื้อรังขึ้น นอกจากนั้นการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารจานด่วน จึงทำให้น้ำหนักของคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน ความดันโลหิตเริ่มอยู่ในเกณฑ์สูง ความเครียดจากการทำงานส่งผลให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท              เห็นหรือไม่ครับว่า  อาการปวดศีรษะของคนไข้รายนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวที่พบ ยังมีปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นโดยคนไข้ไม่รู้ตัว ดังนั้นการรักษาคนไข้ในรายนี้ นอกจากจะรักษาโดยการใช้ยารับประทานยา การส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด หรือแม้กระทั่งการฝังเข็มบริเวณจุดที่กล้ามเนื้อยึดเกร็งแล้ว จึงต้องกลับมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของสาเหตุ การปรับตัวการทำงานเช่นการพักสายตา หลังจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หลังจากใช้งานไปสักระยะ ท่าการบริหารกล้ามเนื้อต้นคอ หัวไหล่ และเอว การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกายซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และยังทำให้การควบคุมน้ำหนัก ระดับไขมันในร่างกายดีขึ้นด้วย  ยังมีข้อดีของการออกกำลังกายอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้นะครับ  สำหรับการเลือกรับประทานอาหารก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะชีวิตคนเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบ อย่างที่เคยได้ยินมาว่า You are what you eat.  คือคุณรับประทานอาหารอย่างไร มันก็จะแสดงออกให้เห็นในร่างกายของคุณนั่นแหล่ะครับ              การรับประทานอาหารที่ไขมันสูง ก็ก่อให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งก็จะเป็นตัวเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน การรับประทานอาหารหวานมากเกินไปก็ก่อให้เกิดภาวะเบาหวาน โรคอ้วนได้เหมือนกัน มาถึงตรงนี้สงสัยคนไข้จะปวดศีรษะมากขึ้นหลังจากที่ผมได้แนะนำไปซักพักใหญ่ คนไข้ก็ถามมาว่า   “คุณหมอคะ  ตอนนี้ปวดศีรษะมากเลย ฉีดยาแก้ปวดก่อนได้มั้ยคะ”   เท่านั้นแหล่ะครับ ผมจึงฉุกคิดได้ว่าผมพูดมากเกินไปแล้ว จึงต้องหยุดการสนทนาแล้วจึงพาคนไข้รายนี้ไปรอฉีดยา  อย่างไรก็ตามผมก็ได้นัดคนไข้มาเพื่อติดตามอาการปวดศีรษะ   ตรวจวัดความดัน และนัดตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดในครั้งต่อไป ผมจึงอยากเตือนทุกท่านว่าให้หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น  เพราะสุขภาพดีนั้น  สามารถสร้างขึ้นได้จากตัวของคุณเองครับ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคที่มาพร้อม ปลายฝน ต้นหนาว

โรคที่มาพร้อม ปลายฝน ต้นหนาว           ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลง  อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน  และทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย โรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่  ปอดบวม   หัด   หัด-เยอรมัน  สุกใส  และอุจจาระร่วง   สาเหตุและอาการ             ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่  เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย  เชื้อเข้าสู้ร่างกายทางจมูก ปากและตา  เชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จาม นอกจากนี้ เชื้อยังอาจติดอยู่กับภาชนะ ของใช้  หรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โรคนี้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก    อาการแสดงออก             คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ  จาม  เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นด้วย และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ  มีไข้สูง   ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย  ถ้าพักผ่อนเพียงพอ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี  ผู้ป่วยจะหายจากโรคได้ในเวลา 5-7 วัน  บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรัง  เช่น หอบหืด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน ฯลฯ  รวมทั้งเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ   การป้องกัน และรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย  รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม  แก้วน้ำ  ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ  ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรให้ปิดปากด้วยหน้ากากอนามัย  เวลาไอหรือจาม  ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอยู่สม่ำเสมอ    กินอาหารที่มีประโยชน์    ออกกำลังกายสม่ำเสมอ   พักผ่อนให้เพียงพอ    รักษาร่างกายให้อบอุ่น     และไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้ และผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก  มีไข้นานเกิน 2 วัน   ควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ทันที เช่นกัน    นพ.มนตรี  วงศ์นิราศภัย   อายุรแพทย์รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<