โรคมะเร็งปากมดลูก โรคที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิต 7 คน/วัน

มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งอื่นๆ ในผู้หญิงไทย ช่วงอายุ 35-50 ปี มีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 6,000 คนต่อปี เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คน/วัน และทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2

อาการ

ระยะเริ่มต้น จะไม่ปรากฏอาการใด ๆ แต่สามารถตรวจพบมะเร็งปากมดลูกได้จากการตรวจ แปปสเมียร์ (Pap Smear) 

ระยะลุกลาม จะมีอาการตกขาว มีกลิ่น มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือตกขาวลักษณะคล้ายน้ำคาวปลา ถ้าเป็นมากอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระได้

นอกจากนี้มะเร็งอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ปอด ตับ และกระดูก เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

  1. การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี) และมีคู่นอนหลายคน
  2. มีการอักเสบของปากมดลูกเนื่องจากการติดเชื้อ Human Papiloma Virus เริม หูดหงอนไก่
  3. สตรีที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  4. สตรีที่มีภูมิต้านทานต่ำ
  5. ขาดสารอาหาร เช่น โฟเลท วิตามินเอ วิตามินซี

วิธีลดความเสี่ยง… เลี่ยงโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

แนวทางหลักที่จะช่วยให้ห่างจากมะเร็งปากมดลูกก็คือ การลดโอกาสในการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ 

  1. หลีกเลี่ยงการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน และการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย 
  2. ตรวจ “แปปสเมียร์” (Pap smear Test) โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วหรืออายุ 30 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อจะได้พบการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งจะสมารถรักษาให้หายได้
  3. รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ประมาณ 70% ควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ 

การรักษา

ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะแรก ๆ การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่ถ้าเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว จะใช้รังสีรักษา โดยการฉายแสงร่วมกับการใส่แร่ หรือการผสมผสานระหว่างการผ่าตัดรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด

การป้องกัน

มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่ป้องกันได้ แพทย์สามารถตรวจหา “ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก” ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งวิธีการที่ใช้ตรวจหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก เรียกว่า การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) โดยการเก็บเอาเซลเยื่อบุบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเซลมะเร็ง

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าไม่แน่ใจควรใช้ถุงยางอนามัย
  • เมื่อมีอาการตกขาวผิดปกติ หรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์
  • สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน ควรได้รับการตรวจ Pap Smear เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง

รู้จักเชื้อเอชพีวี… ไวรัสที่อาจทำร้ายผู้หญิงในหลายรูปแบบ

เชื้อเอชพีวีเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อได้ง่ายและมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยทั่วไปการติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่จะหายไปได้เอง แต่ในบางคนหากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปก็อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เชื้อเอชพีวี แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. เอชพีวีชนิดที่ก่อมะเร็ง เช่น เอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์อันตรายและเป็นสาเหตุถึง 70 % ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งในช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด
  2. เอชพีวีชนิดที่ไม่ก่อมะเร็ง แต่เป็นสาเหตุกการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น เอชพีวีสายพันธ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นๆไวรัสที่มีความรุนแรงน้อย ถึงแม้ไม่ได้ทำให้เกิดโรคมะเร็งแต่ก็เป็นสาเหตุของโรคติดต่อบางชนิด เช่นโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ (หูดหงอนไก่) ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้แต่โดยทั่วไปมักจะพบการกลับมาเป็นซ้ำ ๆ อีก

เชื้อเอชพีวีจะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยสามารถติดต่อได้ง่ายแม้เพียงแค่การ สัมผัสของอวัยวะเพศภายนอกก็ตาม การติดเชื้อเอชพีวีสมารถเกิดได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง ชาย – หญิง , ชาย – ชาย หรือ หญิง – หญิง สำหรับผู้ชายถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสนี้ ก็อาจจะทำให้เป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศ เช่น ที่องคชาติหรือทวารหนัก แต่โดยทั่วไปผู้ชายจะเป็นพาหะของเชื้อไวรัสและแพร่ไปสู่ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ 

การฉีด HPV Vaccine (HPV Vaccination)

เนื่องจากสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ oncogenic HPV ที่ปากมดลูก เชื้อ HPV สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดคือ เชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 การฉีด HPV vaccine เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้

แพทย์

นพ. มนัส สุรทานต์นนท์
แผนกสูติ-นรีเวช

แพทย์

<