ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

ภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

        อุ้งเชิงกรานเป็นบริเวณหนึ่งของร่างกาย มีลักษณะเป็นรูปถ้วยโอบรอบด้วยกระดูกเชิงกราน กล้ามเนื้อ รวมถึงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีความแข็งแรง อวัยวะทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณนี้เรียกว่าอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในสตรีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่มีความสำคัญ ได้แก่ กระเพราะปัสสาวะ มดลูก ช่องคลอด รวมถึงลำไส้ตรงของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอวัยวะทั้งหมดสามารถเกิดการเคลื่อนจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็นได้หรือเรียกสั้นๆว่า “หย่อน” ได้ เนื่องจากอวัยวะทั้งหมดนี้ถูกยึดไว้ด้วยโครงสร้างของร่างกายซึ่งก็คือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ เมื่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเหล่านี้เสื่อมสภาพลงหรือมีการบาดเจ็บ สามารถที่จะทำให้เกิดการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้ ซึ่งการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเหล่านี้ เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุ กรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร โดยเฉพาะการคลอดบุตรหลายๆ คนด้วยวิธีธรรมชาติหรือใช้คีมช่วยคลอด ความอ้วน ภาวะอื่นที่มีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม ท้องผูกแบบเรื้อรัง

 

         อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนชนิดที่พบได้บ่อยคืออวัยวะระบบสืบพันธุ์ของสตรี ได้แก่ มดลูกและช่องคลอด เนื่องจากสตรีมีช่องคลอดและปากช่องคลอดซึ่งเป็นโครงสร้างที่แตกต่างจากบุรุษ อวัยวะต่างๆจึงสามารถหย่อนเข้ามาในช่องคลอดได้ โดยนิยามของคำว่า “อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน” คือ การที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานยื่นมาในช่องคลอด เช่น มดลูกที่อยู่จุดบนสุดของช่องคลอดเคลื่อนตัวลงมา ผนังช่องคลอดด้านหน้าหรือด้านหลังยื่นเข้ามาในช่องคลอด ภาวะนี้มีความรุนแรงหลายระดับ มีวิธีการแบ่งความรุนแรงได้หลายวิธี วิธีที่นิยมมากที่สุดชื่อว่า POP-Q (ซึ่งไม่ขอลงในรายละเอียดในที่นี้) แบ่งความรุนแรงได้เป็น 4 ระดับ ผู้ป่วยที่มีภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนไม่มาก ได้แก่ ระดับที่ 1-2 อวัยวะต่างๆ มีการหย่อนแต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ภายในช่องคลอด ไม่พ้นปากช่องคลอดออกมาภายนอก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ในบางรายอาจมีอาการเกี่ยวกับระบบปัสสาวะหรืออุจจาระที่เปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ในทางกลับกันผู้ป่วยที่มีอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนระดับสูง ได้แก่ ระดับที่ 3-4 จะมีก้อนยื่นโผล่พ้นปากช่องคลอดซึ่งก้อนนี้อาจเป็นปากมดลูก ผนังช่องคลอดด้านใดด้านหนึ่ง หรืออวัยวะอุ้งเชิงกรานทั้งหมดก็ได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ปัสสาวะคั่ง ไตบวมน้ำ และอุจจาระผิดปกติได้ อวัยวะในอุ้งเชิงกรานอีกส่วนหนึ่งที่สามารถหย่อนได้ แต่ถูกพูดถึงน้อยเพราะพบไม่บ่อยคือลำไส้ตรง (ส่วนสุดท้ายของลำไส้ใหญ่ก่อนที่จะถึงรูทวารหนักสามารถหย่อนได้ทั้งในบุรุษและสตรี จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาโดยศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งจะมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างจากการหย่อนของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี

 

การดูแลรักษาสตรีที่มีภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนจะขึ้นกับระดับความรุนแรงและอาการเป็นหลัก
1.การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การลดน้ำหนักในรายที่น้ำหนักเกิน การยกของหนักบ่อยๆ ภาวะไอจามเรื้อรัง ภาวะท้องผูก เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีการเพิ่มแรงดันในช่องท้องซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนรักษาไม่ได้ผล
 

2.ผู้ป่วยที่มีภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนในระยะเริ่มต้น การรักษาจะเน้นในเรื่องของการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานซึ่งเป็น first-line treatment มีจุดประสงค์เพื่อทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้น มีผลช่วยลดขนาดของปากช่องคลอด การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต้องอาศัยวินัยในการฝึก เพราะคล้ายคลึงกับการฝึกกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกาย ที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและมีความถี่มากเพียงพอ แนะนำว่าควรฝึกอย่างน้อยๆ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ในแต่ละวันฝึกประมาณ 30-40 ครั้ง ซึ่งถ้าผู้ป่วยทำได้มักจะได้ผลดี แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนระดับสูง การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ประโยชน์มาก และไม่สามารถจะแก้ไขอาการทั้งหมดได้
 

3.อุปกรณ์พยุงช่องคลอด (Pessary) เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อค้ำบางส่วนของช่องคลอดไม่ให้เคลื่อนตำแหน่งจนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ การใส่อุปกรณ์ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่มีแผลผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และสามารถแก้ปัญหาอาการของผู้ป่วยได้เลยทันที ผู้ป่วยแต่ละรายจะเหมาะสมกับชนิดและขนาดของอุปกรณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจำเป็นต้องมีการ fitting อุปกรณ์ก่อนใช้จริง นอกจากประโยชน์ในแง่ความสะดวกแล้ว อุปกรณ์นี้มีข้อดีที่สำคัญคือสามารถทำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการผ่าตัดได้ และยังสามารถแก้ไขอาการได้เทียบเท่ากับการผ่าตัดอีกด้วย อย่างไรก็ตามการใส่อุปกรณ์ไม่ได้เป็นการแก้ไขโครงสร้างของร่างกายที่แท้จริง ทำให้ต้องใส่อุปกรณ์อยู่ตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการ
 

4.การผ่าตัดแก้ไขอาจทำได้หลายลักษณะ เช่น การทำให้ส่วนของช่องคลอดกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม การเย็บปิดช่องคลอดไปเลย ผู้ป่วยหลายรายที่มีภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนระดับสูงมักเข้าใจว่าสามารถผ่าตัดทั้งส่วนของมดลูกและช่องคลอดออกทั้งหมดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ส่วนที่สามารถผ่าตัดออกได้จะเป็นมดลูกเท่านั้น ส่วนช่องคลอดต้องคงอยู่ เพราะเป็นส่วนที่ติดกับกระเพาะปัสสาวะและไส้ตรง และยังทำหน้าที่กั้นระหว่างอวัยวะภายในกับอากาศภายนอก
 

        ภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยหลักเกิดจากความเสื่อมของโครงสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้นวิธีป้องกันหลักคือการลดปัจจัยเสี่ยงเท่าที่ทำได้ เช่น การควบคุมน้ำหนัก การแก้ไขภาวะไอเรื้อรังท้องผูกเรื้อรัง ฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้ตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ทั่วไป นอกจากนั้นแล้วสำหรับสตรีทั่วไปที่ไม่มีอาการ แนะนำเรื่องของการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งรวมถึงการตรวจภายใน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และอัลตราซาวด์ ในกรณีที่มีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น รูปแบบการปัสสาวะ หรืออุจจาระเปลี่ยนไป แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อที่จะทำการรักษา หรือหาสาเหตุต่อไป

 

นพ.พริษฐ์ วาจาสิทธิศิลป์  สูติ นรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์