ความประทับใจของผู้ป่วย

คิดว่า (แค่) บาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ

    คิดว่า (แค่) บาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ        อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เหมือนอย่างกับ คุณแจ็ค หรือ คุณภาวัต วราเมธพาสุข อายุ 46 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ที่ชอบเล่นกีฬากอล์ฟ และมีอาการปวดหลังมาก แต่คิดว่าอาการดังกล่าวนั้น เป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ สุดท้ายคุณแจ็ค ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่รพ.วิภาวดี คุณแจ็คเป็นอะไร ทำไมต้องผ่าตัด เราไปถามคุณแจ็คกันดีกว่าค่ะ ช่วยเล่าอาการก่อนมารักษาตัวที่รพ.วิภาวดี ให้ฟังหน่อยค่ะ ? “ผมมีอาการปวดหลังมาเป็นปีแล้วครับ และปกติผมก็ชอบตีกอล์ฟมาก ตีเกือบทุกอาทิตย์ ผมจึงคิดว่าอาการปวดหลังที่ผมเป็นน่าจะมาจากอาการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ จนกระทั่งวันนั้นผมเดินสะดุดบันได โดยไม่รู้ตัว เพราะผมรู้สึกชาตั้งแต่เอวไปจนถึงฝ่าเท้าและผมก็เดินไม่ได้ เลยมารักษาตัวที่รพ.วิภาวดี” เป็นคนไข้ของ รพ.วิภาวดีหรือเปล่าคะ ? “ผมเคยมาใช้บริการของศูนย์พัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟ ของรพ.วิภาวดี ก็เลยหาข้อมูลของรพ.วิภาวดีทาง website ก่อน ทั้งๆที่ผมอยู่ใกล้รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แล้วผมก็เจอ Case หลายๆ Case ที่มีสัญญาณเตือนคล้ายๆกับผม ซึ่งทำการผ่าตัดกับ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทวิทยารพ.วิภาวดี ผมจึงเช็คเวลาออกตรวจของคุณหมอเมธี และมาพบท่านในเวลาออกตรวจของรพ.วิภาวดี” จากการตรวจรักษา คุณหมอเมธี บอกว่าคุณแจ็คเป็นอะไรคะ ? ตอนแรกท่านให้ผมทำ MRI ( MRI = เครื่อง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่มีความเร็วสูง ทำให้ภาพที่มองเห็นชัดเจนมาก และสะดวกต่อการวินิจฉัยของแพทย์) จากผล MRI พบว่ามีเนื้อปลิ้นออกมาจากหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งมันกดทับเส้นประสาทอยู่ คุณหมอแนะนำการรักษาให้ผม 2 วิธี ครับ คือ การทานยา และการผ่าตัด และจากการพูดคุยกับคุณหมออย่างละเอียดทำให้ผมตัดสินใจรักษาที่ต้นเหตุด้วยการผ่าตัดครับ คุณแจ็คกล่าว (ตอนนี้) หลังจากผ่าตัดแล้ว เป็นอย่างไรบ้างคะ ? “ ตอนนี้อาการชาน้อยลงมาก อาการเจ็บแผลก็ยังมีอยู่บ้าง คุณหมอบอกว่าอาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ แผลจากการผ่าตัดก็ไม่ใหญ่ครับ ผมรู้สึกว่าตัวเองฟื้นตัวเร็วมาก อาจจะเป็นเพราะผมชอบออกกำลังกายด้วยนะครับ และคุณหมอเมธีก็อนุญาตให้ผมกลับบ้านได้ แต่ต้องงดออกกำลังกาย งดตีกอล์ฟก่อน และนัดมาพบคุณหมอเมธีเป็นระยะๆ ครับ” อยากบอกอะไรกับผู้ที่มีอาการปวดหลังบ่อยๆบ้างคะ ? “ อาการปวดหลังนี้ อาจเป็นได้หลายสาเหตุครับ บางทีอาจจะคิดว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ก็เลยไม่ค่อยใส่ใจดูแลรักษา อย่างกับตัวผมก็ทนปวดหลังมาเป็นปี รอจนชา จนเดินไม่ได้ จึงค่อยมาตรวจรักษา จนผมแอบคิดในใจว่า ผมอาจจะไม่ได้ตีกอล์ฟอีกแล้วก็ได้ ผมอยากบอกว่า การผ่าตัดในปัจจุบันนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ เพราะฉะนั้นการผ่าตัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแล้วครับ” รพ.วิภาวดี ขอเอาใจช่วยให้คุณแจ็คหายไวๆ แล้วก็สามารถกลับมาตีกอล์ฟได้เหมือนเดิมนะคะ อย่างกับที่คุณแจ็คบอกนั่นแหละค่ะว่า ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีอาการปวดหลังเป็นประจำ อย่านิ่งนอนใจนะคะ ควรที่จะมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติและเพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง และ รพ.วิภาวดี เราก็พร้อมให้บริการคุณ

เมื่อหมอออร์โธ เป็นอัมพฤกษ์

              นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี ขอถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ตรง เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่ได้อ่านบทความนี้ ในการดูแลสุขภาพตัวเอง และป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมทั้งอยากให้กำลังใจสำหรับผู้ป่วยและญาติ ที่จะต่อสู้กับโรคอัมพฤกษ์อัมพาตที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด เช้าวันที่ 27 ม.ค. 2557 ผมตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะลงจากเตียงรู้สึกมึนศีรษะ เดินเซ แขนและขาซ้ายขวาอ่อนแรง แต่ยังพอเดินเกาะฝาผนังไปเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ  แปรงฟันได้ รู้สึกตัวเองแล้วว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดสมองตีบตัน จึงรีบแต่งตัวให้ภรรยาขับรถพาไปโรงพยาบาล เมื่อถึงห้องฉุกเฉิน พยาบาลได้วัดสัญญาณชีพ ความดันสูง 190/100 มม. ปรอท มีไข้สูง 38.5 c  แพทย์ห้องฉุกเฉินสั่งตรวจคลื่นแม่เหล็กสมอง และติดต่ออายุรแพทย์สมองทันที ผมได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วนอนพักในห้องไอซียู ผมได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์และพยาบาลอย่างดีที่สุด ผมมั่นใจว่าคงจะดีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน เพราะยังเคลื่อนไหวมือแขนได้ดี ในวันต่อมาผมรู้สึกปวดชา แขน ขา ซีกขวามากขึ้นเหมือนมีอะไรมาทับ เริ่มอ่อนแรงมากขึ้นข้อเท้า นิ้วเท้าข้างขวาขยับไม่ได้ ผมเป็นอัมพฤกษ์ไปแล้ว! ผมเกิดคำถามกับตัวเอง ? ทำไมโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นกับผม / ผมจะใช้ความรู้มารักษาตัวเองร่วมกับแพทย์ที่ดูแลใกล้ชิดได้อย่างไร เพื่อที่จะกลับมาทำงานได้คือ การเป็นแพทย์ผ่าตัดจุลศัลยกรรม และที่สำคัญคือกลับมาเล่นกอล์ฟได้อีกครั้ง จากวันที่ป่วยระยะเวลาผ่านไป 3 ปี ปัญหาที่ใหญ่มากในชีวิตก็กลายเป็นบทเรียน บททดสอบ อันทรงคุณค่า ผมสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ ผ่าตัดจุลศัลยกรรมต่อนิ้วได้เป็นผลสำเร็จ และเริ่มกลับมาแข่งกอล์ฟได้ร่วมกับการแข่งขันเดินวิ่ง 3 – 5 กม. ซึ่งได้ลงแข่งขันมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง          ผมขอสรุปเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมให้เป็นความรู้ดังนี้          ปัจจัยเสียงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง         1.ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ -อายุมากกว่า 45 ปี -พันธุกรรม -มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผมมีปัจจัยเสี่ยงทั้งข้อ 1 และข้อ 2        2.ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงควบคุมได้            2.1น้ำหนักตัวมากเกิน คำนวณได้จากค่า Body mass Index (BMI) ค่า BMI ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 21 – 25 โดยใช้ นน.ตัว (กก.) เช่น 80 = 28.34 ความสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 1.68 x 1.68          2.2อาหาร แต่เดิมชอบอาหารหวาน มัน เค็ม ปัจจุบันไม่ทานอาหารประเภทของทอดและงดอาหาร หวาน มัน เค็ม กินผัก ผลไม้ ปลา เป็นส่วนใหญ่ ไม่ทานอาหารเย็น กินผลไม้ เช่น ฝรั่ง แตงโม กล้วย แทน          2.3การออกกำลังกาย ก่อนที่จะป่วยผมเล่นกอล์ฟสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ปัจจุบันผมออกกำลังกายแบบแอโรปิค คือ ต่อเนื่อง 20 – 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง ในปีแรกที่ยังเดินและทรงตัวไม่ได้ ก็ได้หัดเดินในน้ำออกกำลังกายแขนขาในน้ำ 1 ชม. 360 วันใน 1 ปี หลังจากที่เริ่มเดินได้ ว่ายน้ำได้ ฝึกเดินสายพาน 20 นาที ว่ายน้ำเฉลี่ย 20 รอบ (ประมาณ 400 เมตร) และได้เริ่มฝึกใช้มือหัดคัดลายมือทั้งภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม จนสามารถเขียนหนังสือได้แบบเดิม ฝึกทำกิจกรรม ทำงานบ้าน ล้างจาน เช็ดโต๊ะ ช่วยทำครัว จนทำได้คล่อง ภรรยาชอบมากให้ฝึกต่อเนื่องจนทุกวันนี้ หลังจากที่ป่วย 1 ปี

โรคปวดหน้า โรคไม่ร้ายแต่ทำลายความสุข

           โรคปวดหน้า โรคไม่ร้ายแต่ทำลายความสุข ช่วงชีวิตของทุกคน ย่อมคาดหวังเพียงว่า ขอให้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ เพื่อชีวิตที่สุขสบายไม่ต้องดิ้นรนทำงานประจำ แต่ใครจะคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง คือ สุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บที่มาบันทอนการใช้ชีวิตประจำวัน  ได้สัมภาษณ์คุณอำพล วรรณี ซึ่งทรมานจากอาการปวดหน้ามาเป็นเวลา 7 ปี เป็นอีกท่านหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น            คุณอำพล วรรณี ปัจจุบันอายุ 56 ปี ประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ มีอาการปวดใบหน้ามายาวนานกว่า7ปี อาการปวด เป็น ๆ หาย ๆ บางเดือนก็ไม่มีอาการเลย สามารถออกกำลังกายไดร์กอล์ฟได้ แต่ก็ไม่สามารถวางแผนชีวิตไปท่องเที่ยวนาน ๆ ได้เพราะไม่รู้ว่าจะปวดเมื่อไร คุณอำพล เป็นคนจังหวัดชลบุรีประกอบอาชีพธุรกิจเป็นของตัวเองด้านอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 7 ปีนี้ได้ไปพบแพทย์ที่ชลบุรีอย่างต่อเนื่อง รับยามารับประทานอยู่ แต่ยาที่ทานทำให้เกิดอาการมึน ๆ เมา ๆ ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดของใบหน้าเลย เมื่อมีอาการจะ ปวดทรมานมาก แม้กระทั่งแค่โดนลมพัดผ่าน จะรู้สึกแปลบ ๆ เหมือนไฟช็อตที่บริเวณใบหน้าด้านซีกขวา หน้าผาก ตาจะเจ็บมากจนน้ำตาไหล และก็ลืมตาไม่ขึ้นปวดบริเวณเบ้าตา จนกระทั่งริมฝีปาก ทานอะไรไม่ได้ขนาดดื่มน้ำยังไม่ได้เลย ปวดมาก การใช้ชีวิตประจำวันมีปัญหามากจนลูก ๆ ต่างก็ช่วยกันหาทางรักษาโรคดังกล่าว           จนได้ข้อมูลจาก google คือ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาท รพ.วิภาวดี ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำผ่าตัดคนไข้อาการแบบนี้มาเป็นจำนวนมาก ลูกจึงได้นัดตรวจ นพ.เมธี ให้คุณพ่อทันที นพ.เมธี ได้อธิบายเกี่ยวกับโรค ว่าโรคนี้ คือโรคปวดหน้าเกิดจากเส้นประสาทคู่ที่ 5 โรคนี้ไม่ถึงกับชีวิต แต่จะรู้สึกทรมานด้วยอาการปวดแปลบ ๆ เหมือนไฟช็อตที่บริเวณใบหน้า หน้าผาก ตา ไม่มียารักษาต้องทำการผ่าตัดอย่างเดียว จึงทำให้คุณอำพลตัดสินใจผ่าตัด ทั้งที่คุณหมอได้อธิบายว่าหลังผ่าตัดจะไม่หายขาด100% อาจจะมีบางอาการคงเหลืออยู่และจะค่อยๆ ดีขึ้น           ก่อนผ่าตัดได้สอบถามคุณอำพลว่า “กลัวหรือไหม” คุณอำพลตอบ ด้วยอาการปวดที่ทรมานและใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้เลยนั้น ทำให้ตัดสินใจอยากผ่าตัดให้เร็วที่สุด จนไม่ได้กลัวและกังวลอะไรเลย ประกอบกับประสบการณ์ที่คุณหมอได้เล่าให้ฟังถึงคนไข้อื่น ๆ ที่ผ่าตัดไปแล้วถึงแม้ไม่หายขาด 100% ก็ตาม และเมื่อผ่าตัดแล้วความรู้สึกหลังการผ่าตัดนั้น คุณอำพลบอกว่าจากอาการปวดของผมตอนผมออกมาจากห้องผ่าตัดวันแรกผมหายขาดเลยครับ ไม่ปวดเลย จากความเจ็บปวดก่อนผ่าตัดตั้งScore ความเจ็บปวดของโรคนี้ ไว้ที่ Score10 นั้น ออกมาจากห้องผ่าตัดอาการปวดเหล่านั้นหายหมด คงเหลือ Score เป็น 0 ไม่พบปัญหาเรื่องปวดเลย พอวันที่ 2 จะมีก็ขณะทานข้าวหรือหันหน้ามองเอียงจะรู้สึกสะกิดแป๊บ ๆ นิดหนึ่ง สุดท้ายนี้ คุณอำพล ได้ฝากข้อคิดให้กับทุกท่านที่กำลังเจอปัญหาโรคนี้ว่าในปัจจุบันหมอเก่งและมีฝีมือด้านการผ่าตัด รวมถึงเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงไม่ควรรอช้า ทนทรมานอยู่ แนะนำให้รับการผ่าตัดดีที่สุด เพราะโรคนี้ไม่สามารถทานยารักษาได้ แล้วชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนผมแน่นอน

อีก 1 ประสบการณ์ตรง เรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

             อีก 1 ประสบการณ์ตรง เรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน คุณปิยะวาท เกษมสุวรรณ อายุ 58 ปี ผู้บริหาร ระดับกลางของบริษัท ฯ แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้ทำการผ่าตัด By Pass หัวใจมาแล้ว เมื่อช่วงต้นปี 2560 จากคนทำงานปกติและดูแลสุขภาพตัวเองมาโดยตลอด รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะชอบทานผักใบเขียว และตรวจสุขภาพประจำปีๆ ละ 2 ครั้ง ไม่เคยพบความผิดปกติอะไรเลยไม่ว่าจะเป็น ระดับไขมัน / น้ำตาล ในเลือด ความดันโลหิต ก็เป็นปกติทุกอย่าง แล้วอะไรคือความเสี่ยงของคุณปิยะวาท ??           คุณปิยะวาทเล่าว่า “ ผมแต่งงานช้าสมัยโสดก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืนเป็นประจำ ใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวังเลยครับ เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี เริ่มกินเหล้าตั้งแต่อายุ 18 ปี สูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน แต่วันไหน ไปสังสรรค์ เที่ยวดึก จะสูบถึง 20 มวนต่อวัน กว่าผมจะแต่งงานมีครอบครัวอายุก็ปาไป 50 กว่าแล้ว แต่ก็ทำให้ผม ลดสิ่งอบายมุขเหล่านี้ แล้วสาเหตุ ... คืออะไร ?           ประมาณเดือนสิงหาคม 2559 ผมมีอาการเหมือนมีเข็มมาจิ้มบริเวณใต้ท้องแขนด้านซ้าย การจิ้มจะเป็นจังหวะทำให้เกิดความรำคาญ ผมก็ ใช้มือขยี้บริเวณที่เป็น อาการก็จะหายไป แล้ว 3 – 4 ชั่วโมงก็กลับมาอีก เป็นอย่างนี้อยู่ 2 เดือน ก็มีอาการเพิ่มขึ้นอีกคือ อาการกล้ามเนื้อกระตุก(คล้ายเปลือกตากระตุก)บริเวณใต้ราวนมด้านซ้าย ผมก็ทำเหมือนเดิม คือขยี้บริเวณนั้น บางครั้งเกิด 2 ที่พร้อมกันหรือบางครั้งก็เกิดสลับกัน แต่บริเวณใต้ราวนมด้านซ้ายจะมีอาการมากกว่า  ผมคิดว่าไม่ปกติแล้ว จึงไปปรึกษาคุณหมอที่ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี ท่านก็ซักประวัติเบื้องต้น เช่น รู้สึกเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับที่หน้าอกหรือไม่? เดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยผิดปกติไหมเช่น ปกติเดินขึ้น 2 ชั้นไม่รู้สึกเหนื่อย แต่ปัจจุบันกลับรู้สึกเหนื่อย? คุณหมอให้ผมตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจก็ปกติ แต่เมื่อตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) เป็นการให้ออกกำลังกายโดยการเดินเร็วบนสายพานตามโปรแกรมที่กำหนด ให้ได้ประมาณ 85% แต่ผมเดินไปได้เกือบ70% ก็เกิดตะคริวที่น่องทั้ง 2 ข้าง เดินต่อไม่ไหว แต่ก็ไม่พบอาการผิดปกติอื่นๆ คุณหมออธิบายว่า หลอดเลือดของคนปกติจะมีลักษณะเหมือนสายยาง หรือท่อประปา ถ้ามีไขมันในเลือดหรือแคลเซียมเข้าไปเกาะผนังเส้นเลือด 50% ลักษณะก็เหมือนจะมีอะไรมากั้นทางเดินของเลือดไว้ครึ่งหนึ่ง ถ้า 75% ลักษณะการปิดกั้นก็เพิ่มขึ้น และ ถ้ามากถึง 95% ก็จะเหลือพื้นที่ในการผ่านของเลือดน้อยลงมากๆ แต่เลือดก็ยังสามารถผ่านได้และใช้ชีวิตได้ตามปกติโดย ผมไม่สามารถรู้ตัวได้ว่า อาการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ยกตัวอย่าง คนที่ออกกำลังกาย แล้วอยู่ๆ ก็เกิดหัวใจวายขึ้นมา ช่วยไม่ทันก็เสียชีวิต อย่างนี้เป็นต้น               เมื่อผลการตรวจเป็นปกติ ผมก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่โชคดีที่ในอีก 2 เดือนต่อมา ผมได้มีโอกาสทำการตรวจหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่อง CT SCAN 128 Slide ผลที่ออกมา เส้นเลือดใหญ่ 3 เส้นที่ไปเลี้ยงหัวใจ ตัน มีแคลเซียมขาว ๆ ไปเกาะอยู่นักรังสีเทคนิค ที่ดูแลขณะตรวจนั้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจทันที ความที่วางใจว่าได้ตรวจไปแล้ว ผมก็กลับบ้าน ใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ฝากให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านผล CT Scan ดูผลตรวจให้ เมื่อคุณหมอเห็นภาพ CT คุณหมอ (ที่ดูผลให้) ก็รีบโทรมาบอกผมให้รีบไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคหัวใจให้เร็วที่สุด เพราะ “มีระเบิดเวลาอยู่ที่ตัว พร้อมที่จะระเบิดได้ทันที” ผมตกใจมากเลยรีบไปพบนพ.เสมชัย เพาะบุญ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.วิภาวดี คุณหมอเห็นผล CT Scan แล้วคุณหมอเลยนัดทำการฉีดสี และขยายหลอดเลือดหัวใจ (บอลลูน) ด่วน ขณะที่ทำมีการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ( Coronary Angiogram) พบว่าไม่สามารถทำต่อได้ เพราะสิ่งที่พบ เป็นแคลเซียมไปเกาะข้างในเส้นเลือด ไม่สามารถใสขดลวด ขยายหลอดเลือด ให้ทะลุแคลเซี่ยมนี้ไปได้ คุณหมอได้อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นไขมันไปเกาะที่เส้นเลือดนั้นสามารถทำใส่ขดลวด ขยายหลอดเลือดได้ แต่เป็นแคลเซียมจะทำไม่ได้ ถ้าฝืนทำ ต้องทำ 4-5 ครั้ง แต่ละครั้งเว้นห่าง 2-3 สัปดาห์ สิ่งที่ตามมา อาจจะทำให้ไตวาย เพราะต้องฉีดสีบ่อยมากอาจต้องฟอกเลือดตลอดชีวิต คุณหมอบอกว่า มีอีก 1 วิธี คือ ต้องทำ By Pass คือ การผ่าตัดเบี่ยงเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ และเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตัน เพื่อทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตันได้ดีขึ้น ให้ออกซิเจนผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี ผมตัดสินใจ เลือกวิธีนี้ทันที ต่อจากนั้นมาอีก 4 วัน นพ.เสมชัย เพาะบุญ ได้เชิญทีมแพทย์โดยมี นพ.ชัยวุฒิ ยศถาสโรดม ศัลยแพทย์ทรวงอก และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัด By Pass โดยผมต้องผ่าตัด เส้นเลือดจากหลอดเลือดดำที่ขาข้างขวามาทำ ใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัด 4-5 ชั่วโมง จึงออกจากห้องผ่าตัดมาพักฟื้นต่อที่แผนกผู้ป่วยวิกฤต ICU และขึ้นไปพักฟื้นต่อที่ห้องพักผู้ป่วยใน รวมเวลาอยู่ใน รพ.ทั้งหมด 13 วัน              คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจของผมตัน 3 เส้น เปอร์เซ็นการตันแต่ละเส้น คือ 75% 85% และ 95% และเปลี่ยนเส้นเลือดแดงหลังหัวใจให้อีก 1 เส้น รวมเป็น 4 เส้น ผมถามสาเหตุว่า การที่หลอดเลือดหัวใจ ผมตันขนาดนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ?? คุณหมออธิบายว่า มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ 2 ข้อ คือ              1. คนที่เป็นโรคเบาหวานได้รับอินซูลินสูงแคลเซียมจะไปเกาะผนังด้านในเส้นเลือด              2. การสูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งผมสูบมาตั้งแต่อายุ 15 ปี วันละ 10 – 20 มวน คุณหมอค่อนข้างมั่นใจว่า ความเสี่ยงของผมคือ บุหรี่แน่นอน ผมตัดสินใจเลิกบุหรี่ ตั้งแต่หลังผ่าตัดถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 เดือน หลังผ่าตัดผมชีวิตปกติ ออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเดิน ผมจึงเดินในหมู่บ้านวันละ 5 กิโลเมตร หลังภาวะเฉียดความตาย คุณปิยะวาทให้ข้อคิดว่า            นอกเหนือจาก บุหรี่ ที่เป็นสาเหตุหลัก ที่ทุกคนไม่ควรสูบ ให้บุหรี่ไปทำร้ายหลอดเลือด สะสมมาเป็นเวลานานแล้ว ให้ระวังความประมาทด้วย ความประมาท ที่คิดว่าตัวเอง คงไม่เป็นอะไร จะทำให้ชีวิตเสี่ยงยิ่งขึ้น ทุกคนควรให้เวลากับตัวเองสำรวจความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดโรคโดยการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่านิ่งเฉยเพราะโชคชะตาอาจไม่ช่วย เหมือนกับคุณปิยะวาท ที่มีโอกาสได้ตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจ ตีบเกือบสนิท ถึง 3 เส้น และทำการรักษาได้ทัน

(แชร์ประสบการณ์จริง) ก็คิดว่า.... แค่ปวดท้อง

"แม่คะ เป็นไร ? ดิฉันมักจะได้รับคำตอบจากแม่เสมอว่าปวดท้อง พอถามว่าปวดท้องแบบไหน จะได้รับคำตอบว่า มันจุกๆ ธรรมดานี่แหละ ไปหาหมอประจำมักจะได้รับแค่ยารักษาโรคกรดไหลย้อน นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี และทุกครั้งที่ปวดท้อง แม่จะต้องไปหาหมอ คือไม่เคยละเลยในอาการป่วยของตัวเองเลย และเมื่อ 2 ปีก่อนคุณแม่ก็ไปตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่พบอะไรผิดปกติ" จนวันหนึ่งดิฉัน จำได้ว่าเป็นวันศุกร์ตอนบ่าย แม่เริ่มปวดท้องอีกครั้งซึ่งมีอาการมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จึงไปพบแพทย์คลินิกที่รักษาอยู่ประจำ แพทย์บอกว่าน่าจะเป็นเรื่องลำไส้และได้ยามาทานเหมือนเดิม แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นจนเวลา 02.00 น. แม่เริ่มปวดท้องมากขึ้นจนต้องไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์ได้ฉีดยาให้ 2 เข็ม พร้อมกับบอกว่าอาจจะเป็นเกี่ยวกับลำไส้ นัดให้แม่มาส่องกล้องสัปดาห์หน้า แต่แม่ก็ทนปวดท้องอีกจนเวลา 10.00 น. แม่ทนไม่ไหว จึงตัดสินใจเปลี่ยนมารักษาที่ รพ.วิภาวดี โดยพบ นพ.ภูษิต วชิรกิติกุล ท่านเห็นอาการแม่มีไข้ ซีด ร่วมกับปวดท้อง เลยคาดว่าอาจมาจากอาการอักเสบ ท่านเลยสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบ ต้องทำ CT Scan (128 Slices) เพื่อยืนยันและ ผลเป็นไปตามคาด จากภาพ CT Scan ทำให้เห็นนิ่วเป็นจำนวนมาก แม่จึงต้องทำการผ่าตัดโดยมี นพ.ชัยสิทธิ์ คุปต์วิวัตน์ ศัลยแพทย์เป็นผู้ผ่า แต่ต้องรออาการอักเสบ หายก่อน แม่ใช้ Package ผ่าตัดผ่านกล้อง นอนรพ. 3 วัน จึงสะดวกสบายและทราบค่าใช้จ่ายแน่นอน แต่แม่อายุ 68 ปี และมีโรคหัวใจ ทำให้ท่านกลัวและ กังวลไปหมด เพราะยังไม่เคยนอน รพ. ทีมแพทย์ พยาบาลของรพ.วิภาวดี ก็พยายามพูดคุยทำให้คลายความกังวลจนการผ่าตัดผ่านไปเรียบร้อย พบนิ่วเป็นจำนวนมาก ซึ่งนพ.ชัยสิทธิ์บอกว่า โชคดีที่ตัดสินใจผ่าตัดได้ทัน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายและต้องรักษาอีกนาน ทุกคนที่คุ้นเคยกับแม่ต่างก็ตกใจกันมาก เพราะคิดว่าแค่ปวดท้องเท่านั้น แต่คราวนี้เป็นการปวดท้องที่จะเข้าใจแบบเดิมไม่ได้ นพ.ชัยสิทธิ์อธิบายว่า เพราะอาการจะปวดท้องต่างๆใกล้เคียงกัน ต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมจึงจะทราบสาเหตุของอาการปวดท้องนั้นๆ หลังการผ่าตัดแม่นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแค่ 3 วัน เพราะได้รับการรักษาแบบผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้แผลเล็กและหายอย่างรวดเร็ว แม่รู้สึกมีความสุขมากหลังจากรักษา เพราะไม่มีอาการปวดท้องให้รำคาญอีกต่อไป และไปเที่ยวได้แบบไม่ต้องพกยาแก้ปวดท้องอีกแล้ว ดิฉันต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลวิภาวดีและ ทีมแพทย์ที่วางแผนการรักษาคุณแม่อย่างรวดเร็วและทันท่วงที รวมทั้งบุคลากรทุกท่านของรพ.ที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี ครอบครัวแสงสว่างรู้สึกประทับใจมากค่ะม ณสุมาลี แสงสว่าง บุตรสาวของคุณรอเปี๊ยะ แสงสว่าง

คนไข้หมดสติบนรถแอร์พอร์ตบัสนำส่ง รพ.วิภาวดีช่วยชีวิตไว้ได้

เหตุเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 เวลา 10.30 น.บนรถโดยสารปรับอากาศของสนามบินดอนเมือง(Airport Bus)สาย A3 คุณเหยากุ่ย  แซ่ม้า อายุ 53 ปี อาชีพเป็นมัคคุเทศก์ ได้ใช้บริการรถโดยสารปรับอากาศดังกล่าวเพื่อไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง โดยขึ้นจากดินแดง คุณเหยากุ่ย รู้สึกตัวเองไม่ค่อยสบาย แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เลยบอกคุณนทีน้องชาย คุณนทีจึงขอสลับที่นั่งจากที่ คุณเหยากุ่ยนั่งเบาะนอก สลับให้มานั่งเบาะด้านในเพราะกลัวว่าคุณเหยากุ่ยล้มจะได้รับไว้ได้ทันศีรษะจะได้ไม่กระแทกพื้น พอแลกที่นั่งได้สักครู่ คุณเหยากุ่ย ก็หน้ามืด ไม่รู้สึกตัวอะไรเลย คุณนทีก็ทำการจับชีพจร และปั๊มหัวใจ  ปั๊มไปได้ 120 ครั้ง (ซึ่งการเป็นมัคคุเทศก์จะผ่านการเรียนหลักสูตร CPR มาแล้ว) ก็ตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้โดยสาร ซึ่งในรถนั้นมีผู้โดยสารด้วยกัน แค่ 6 คน ผู้โดยสารอีก 2 คน ยินดีเข้ามาช่วยเหลือ โดยถามว่าถ้ามีอะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ คุณนทีรีบตอบทันทีว่า ผมรับผิดชอบเอง หลังจากนั้น ผู้โดยสารเป็นผู้ชายอีก 2 คนก็มาช่วยปั๊มหัวใจสลับกัน ขณะเดียวกันก็มีคนโทร 1669 สรุปว่าช่วยสลับกันปั๊มหัวใจด้วยกัน 3 คน ซึ่งเป็นการทำที่ถูกต้องตามหลักการ CPR (Check (จับชีพจร) Call (เรียก 1669) Care (ปั๊มหัวใจ)) คุณเหยากุ่ย เล่าว่า ในขณะนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก ไม่เกิน 10 นาที ตอนแรก ตัวเองรู้สึกหน้ามืดไปเลย เหมือนตกลงไปในหลุมดำ เรียกใคร ก็ไม่มีใครได้ยิน อึดอัดไปหมด หาทางออกไม่ได้ หายใจก็ไม่ออก คิดว่าตัวเองต้องเสียชีวิตแล้วแน่ ๆ นึกถึงครอบครัว และลูก cอีก 2 คน แล้วก็มารู้สึกหายใจออกอีกครั้ง เริ่มมีแสงสว่างเข้ามา  แต่ยังลืมตาไม่ขึ้นยังไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นรู้สึกเหมือนมีใครมาทำอะไรบริเวณต้นขาตัวเองทั้ง 2 ข้าง และมาฟื้นอีกครั้งก็อยู่บนเตียงในห้องพักผู้ป่วยวิกฤตหัวใจแล้ว สรุป คือ คุณเหยากุ่ย มีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงเฉียบพลัน ทางโรงพยาบาลวิภาวดีโดยศูนย์หัวใจทำการสวนหัวใจ พบว่ามีหลอดเลือดหัวใจด้านหน้าซ้ายอุดตัน จึงได้ทำการขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน(Stant)ไว้ ช่วยชีวิตไว้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นความโชคดี และบุญวาสนาของตัวเขา ที่วันนั้น ตัดสินใจเดินทางกับน้องชาย(ปกติจะแยกกันเดินทาง) โดยขึ้น รถไฟฟ้า BTS มาลงหมอชิตและต่อรถแอร์พอร์ตบัสมาสนามบินดอนเมือง และโชคดีอีกต่อคือ มาเจอผู้โดยสารที่มีความสามารถในการทำ CPR สลับกันปั๊มหัวใจกับน้องชายของตัวเองได้ และโชคดีอีก ที่ผู้โดยสารบนรถทั้งหมด พร้อมใจกันให้มาส่งคุณเหยากุ่ยที่ รพ.ที่ใกล้ที่สุดก่อน โดยไม่มีผู้โดยสารคนไหนกลัวไม่ทันขึ้นเครื่องบิน และก็เป็นความโชคดีที่สุดอีกอย่าง คือ ได้ทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ รพ.วิภาวดี ดูแลอย่างใกล้ชิด และช่วยกันอย่างเต็มที่ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ ได้พบหน้าครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง เหมือนตายแล้วเกิดใหม่จริง ๆ            คุณเหยากุ่ย เล่าอีกว่า ชีวิตประจำวันปกติ เป็นคนรักสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา แต่ก็ไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปีเลยที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ไม่มีอาการอะไรที่จะแสดงความผิดปกติให้เห็นที่จะต้องมาปรึกษาแพทย์ เลยคิดว่าตัวเองแข็งแรงดี          อยากจะฝากข้อคิดไว้ให้ทุกคนว่า เงินทองไม่สำคัญเท่าสุขภาพ ต้องรักษาร่างกายให้ดี แข็งแรงอยู่เสมออย่าประมาท ยิ่งถ้าทำงานที่ต้องเดินทางตลอดเวลา แนะนำให้ตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงทางด้านไหน จะได้รักษาได้ทัน และอยากให้ทำบุญเยอะ ๆ เพราะความตายน่ากลัวมาก มันมืดไปหมดจริง ๆ   คุณเหยากุ่ย ขอบคุณ รพ.วิภาวดีมากๆ ที่ให้ชีวิตใหม่ในวันนี้ อยากขอบคุณคนขับในวันนั้น ผู้โดยสารบนรถโดยสารแอร์พอร์ตบัสที่ช่วยกันปั๊มหัวใจ และเสียสละเวลามาส่งให้ถึง รพ.ก่อนไปขึ้นเครื่องบิน อยากขอบคุณมาก ๆ    ข้อความข้างต้นเป็นบทสัมภาษณ์ จากคุณเหยากุ่ย  แซ่ม้า คนไข้  และ คุณนที  อภิปฏิภาน น้องชาย ที่แผนกวิกฤตโรคหัวใจ รพ.วิภาวดี