อีก 1 ประสบการณ์ตรง เรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

             อีก 1 ประสบการณ์ตรง เรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน คุณปิยะวาท เกษมสุวรรณ อายุ 58 ปี ผู้บริหาร ระดับกลางของบริษัท ฯ แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้ทำการผ่าตัด By Pass หัวใจมาแล้ว เมื่อช่วงต้นปี 2560 จากคนทำงานปกติและดูแลสุขภาพตัวเองมาโดยตลอด รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะชอบทานผักใบเขียว และตรวจสุขภาพประจำปีๆ ละ 2 ครั้ง ไม่เคยพบความผิดปกติอะไรเลยไม่ว่าจะเป็น ระดับไขมัน / น้ำตาล ในเลือด ความดันโลหิต ก็เป็นปกติทุกอย่าง

แล้วอะไรคือความเสี่ยงของคุณปิยะวาท ??

          คุณปิยะวาทเล่าว่า “ ผมแต่งงานช้าสมัยโสดก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืนเป็นประจำ ใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวังเลยครับ เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี เริ่มกินเหล้าตั้งแต่อายุ 18 ปี สูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน แต่วันไหน ไปสังสรรค์ เที่ยวดึก จะสูบถึง 20 มวนต่อวัน กว่าผมจะแต่งงานมีครอบครัวอายุก็ปาไป 50 กว่าแล้ว แต่ก็ทำให้ผม ลดสิ่งอบายมุขเหล่านี้

แล้วสาเหตุ ... คืออะไร ? 

         ประมาณเดือนสิงหาคม 2559 ผมมีอาการเหมือนมีเข็มมาจิ้มบริเวณใต้ท้องแขนด้านซ้าย การจิ้มจะเป็นจังหวะทำให้เกิดความรำคาญ ผมก็ ใช้มือขยี้บริเวณที่เป็น อาการก็จะหายไป แล้ว 3 – 4 ชั่วโมงก็กลับมาอีก เป็นอย่างนี้อยู่ 2 เดือน ก็มีอาการเพิ่มขึ้นอีกคือ อาการกล้ามเนื้อกระตุก(คล้ายเปลือกตากระตุก)บริเวณใต้ราวนมด้านซ้าย ผมก็ทำเหมือนเดิม คือขยี้บริเวณนั้น บางครั้งเกิด 2 ที่พร้อมกันหรือบางครั้งก็เกิดสลับกัน แต่บริเวณใต้ราวนมด้านซ้ายจะมีอาการมากกว่า  ผมคิดว่าไม่ปกติแล้ว จึงไปปรึกษาคุณหมอที่ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี ท่านก็ซักประวัติเบื้องต้น เช่น รู้สึกเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับที่หน้าอกหรือไม่? เดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยผิดปกติไหมเช่น ปกติเดินขึ้น 2 ชั้นไม่รู้สึกเหนื่อย แต่ปัจจุบันกลับรู้สึกเหนื่อย? คุณหมอให้ผมตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจก็ปกติ แต่เมื่อตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) เป็นการให้ออกกำลังกายโดยการเดินเร็วบนสายพานตามโปรแกรมที่กำหนด ให้ได้ประมาณ 85% แต่ผมเดินไปได้เกือบ70% ก็เกิดตะคริวที่น่องทั้ง 2 ข้าง เดินต่อไม่ไหว แต่ก็ไม่พบอาการผิดปกติอื่นๆ คุณหมออธิบายว่า หลอดเลือดของคนปกติจะมีลักษณะเหมือนสายยาง หรือท่อประปา ถ้ามีไขมันในเลือดหรือแคลเซียมเข้าไปเกาะผนังเส้นเลือด 50% ลักษณะก็เหมือนจะมีอะไรมากั้นทางเดินของเลือดไว้ครึ่งหนึ่ง ถ้า 75% ลักษณะการปิดกั้นก็เพิ่มขึ้น และ ถ้ามากถึง 95% ก็จะเหลือพื้นที่ในการผ่านของเลือดน้อยลงมากๆ แต่เลือดก็ยังสามารถผ่านได้และใช้ชีวิตได้ตามปกติโดย ผมไม่สามารถรู้ตัวได้ว่า อาการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ยกตัวอย่าง คนที่ออกกำลังกาย แล้วอยู่ๆ ก็เกิดหัวใจวายขึ้นมา ช่วยไม่ทันก็เสียชีวิต อย่างนี้เป็นต้น

              เมื่อผลการตรวจเป็นปกติ ผมก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่โชคดีที่ในอีก 2 เดือนต่อมา ผมได้มีโอกาสทำการตรวจหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่อง CT SCAN 128 Slide ผลที่ออกมา เส้นเลือดใหญ่ 3 เส้นที่ไปเลี้ยงหัวใจ ตัน มีแคลเซียมขาว ๆ ไปเกาะอยู่นักรังสีเทคนิค ที่ดูแลขณะตรวจนั้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจทันที ความที่วางใจว่าได้ตรวจไปแล้ว ผมก็กลับบ้าน ใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ฝากให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านผล CT Scan ดูผลตรวจให้ เมื่อคุณหมอเห็นภาพ CT คุณหมอ (ที่ดูผลให้) ก็รีบโทรมาบอกผมให้รีบไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคหัวใจให้เร็วที่สุด เพราะ “มีระเบิดเวลาอยู่ที่ตัว พร้อมที่จะระเบิดได้ทันที” ผมตกใจมากเลยรีบไปพบนพ.เสมชัย เพาะบุญ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.วิภาวดี คุณหมอเห็นผล CT Scan แล้วคุณหมอเลยนัดทำการฉีดสี และขยายหลอดเลือดหัวใจ (บอลลูน) ด่วน ขณะที่ทำมีการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ( Coronary Angiogram) พบว่าไม่สามารถทำต่อได้ เพราะสิ่งที่พบ เป็นแคลเซียมไปเกาะข้างในเส้นเลือด ไม่สามารถใสขดลวด ขยายหลอดเลือด ให้ทะลุแคลเซี่ยมนี้ไปได้ คุณหมอได้อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นไขมันไปเกาะที่เส้นเลือดนั้นสามารถทำใส่ขดลวด ขยายหลอดเลือดได้ แต่เป็นแคลเซียมจะทำไม่ได้ ถ้าฝืนทำ ต้องทำ 4-5 ครั้ง แต่ละครั้งเว้นห่าง 2-3 สัปดาห์ สิ่งที่ตามมา อาจจะทำให้ไตวาย เพราะต้องฉีดสีบ่อยมากอาจต้องฟอกเลือดตลอดชีวิต คุณหมอบอกว่า มีอีก 1 วิธี คือ ต้องทำ By Pass คือ การผ่าตัดเบี่ยงเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ และเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตัน เพื่อทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตันได้ดีขึ้น ให้ออกซิเจนผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี ผมตัดสินใจ เลือกวิธีนี้ทันที ต่อจากนั้นมาอีก 4 วัน นพ.เสมชัย เพาะบุญ ได้เชิญทีมแพทย์โดยมี นพ.ชัยวุฒิ ยศถาสโรดม ศัลยแพทย์ทรวงอก และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัด By Pass โดยผมต้องผ่าตัด เส้นเลือดจากหลอดเลือดดำที่ขาข้างขวามาทำ ใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัด 4-5 ชั่วโมง จึงออกจากห้องผ่าตัดมาพักฟื้นต่อที่แผนกผู้ป่วยวิกฤต ICU และขึ้นไปพักฟื้นต่อที่ห้องพักผู้ป่วยใน รวมเวลาอยู่ใน รพ.ทั้งหมด 13 วัน

             คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจของผมตัน 3 เส้น เปอร์เซ็นการตันแต่ละเส้น คือ 75% 85% และ 95% และเปลี่ยนเส้นเลือดแดงหลังหัวใจให้อีก 1 เส้น รวมเป็น 4 เส้น ผมถามสาเหตุว่า การที่หลอดเลือดหัวใจ ผมตันขนาดนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ?? คุณหมออธิบายว่า มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ 2 ข้อ คือ

             1. คนที่เป็นโรคเบาหวานได้รับอินซูลินสูงแคลเซียมจะไปเกาะผนังด้านในเส้นเลือด

             2. การสูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งผมสูบมาตั้งแต่อายุ 15 ปี วันละ 10 – 20 มวน คุณหมอค่อนข้างมั่นใจว่า ความเสี่ยงของผมคือ บุหรี่แน่นอน ผมตัดสินใจเลิกบุหรี่ ตั้งแต่หลังผ่าตัดถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 เดือน หลังผ่าตัดผมชีวิตปกติ ออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเดิน ผมจึงเดินในหมู่บ้านวันละ 5 กิโลเมตร

หลังภาวะเฉียดความตาย คุณปิยะวาทให้ข้อคิดว่า

           นอกเหนือจาก บุหรี่ ที่เป็นสาเหตุหลัก ที่ทุกคนไม่ควรสูบ ให้บุหรี่ไปทำร้ายหลอดเลือด สะสมมาเป็นเวลานานแล้ว ให้ระวังความประมาทด้วย ความประมาท ที่คิดว่าตัวเอง คงไม่เป็นอะไร จะทำให้ชีวิตเสี่ยงยิ่งขึ้น ทุกคนควรให้เวลากับตัวเองสำรวจความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดโรคโดยการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่านิ่งเฉยเพราะโชคชะตาอาจไม่ช่วย เหมือนกับคุณปิยะวาท ที่มีโอกาสได้ตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจ ตีบเกือบสนิท ถึง 3 เส้น และทำการรักษาได้ทัน

<