กินหวานมากไปจะแก่เร็ว

กินหวานมากไปจะแก่เร็ว           คนที่ชอบกินหวานมากๆ โปรดฟังทางนี้ เพราะการชอบกินหวานประจำจะเป็นการทำร้ายร่างกายเป็นการเชื่อมร่างกาย เหมือนกับกุ้งแก้วหรือหมูหวาน เพราะน้ำตาลไปเกาะโปรตีนเป็นตัว “สารทำแก่” จนทำให้เกิดความเสื่อมอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกระบวนการ Cross – Linked คือ การทำให้เกิดความเสียหายในเซลล์และการตายของเซลล์ จนนำมาสู่วัยชราของอวัยวะต่างๆ   หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหวานจะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ดังนี้ 1.      อีลาสตินและคลอลาเจนเกิดภาวะแข็งตัว จนทำให้เกิดจุดด่างดำและความหมองคล้ำ 2.      เส้นเลือดเปราะ เกิดรอยเขียว ฟกช้ำได้ง่าย และเกิดภาวะหน้าแดงจากเส้นเลือดที่เปราะแตก 3.      สำหรับใครที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วจะแย่ลง เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดแดงตีบตัน เส้นเลือดสมองตีบ หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อม 4.      เกิดภาวะไวต่อแสงในเลนส์สายตา ซึ่งอนาคตจะเป็นต้อกระจกได้ 5.      เซลล์สมองในส่วนของความจำตาย จนทำให้เป็นโรคความจำเสื่อม (Alzheimer)   น่ากลัวใช่ไหมค่ะ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนะคะรวมทั้ง          1.      งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ 2.      เลี่ยงอาหารประเภทปิ้ง ย่าง 3.      ลดการบริโภคน้ำตาล อาหารหวานจัด 4.      เลี่ยงอาหารประเภทจังก์ฟู้ด 5.      พักผ่อนให้เพียงพอ 6.      ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต้องไม่หักโหมเกินไป 7.      รับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมถึงทานอาหารเสริมที่เหมาะสม            เพื่อความอ่อนเยาว์ของเราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร จะทำให้ผิวพรรณที่ดี สุขภาพดี พร้อมร่างกายที่แข็งแรง              ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลวิภาวดี  ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคแผลในคอ เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)

โรคแผลในคอ เฮอร์แปงไจนา (Herpangina) โรคเฮอร์แปงไจนา มักระบาดในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในเด็กอายุ 3 ถึง 10 ปี เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงพบเท่าๆ กัน ·       อะไรเป็นสาเหตุของโรคเฮอร์แปงไจนา ?            โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มคอกแซกกีไวรัสกรุ๊ปเอ (Coxsackie viruses A sero type 1 – 10, 16 และ 22) กรุ๊ปบี 1 – 5 ·       โรคเฮอร์แปงไจนา ติดต่อได้อย่างไร ?            โรคเฮอร์แปงไจนาเป็นโรคติดต่อได้ง่ายมาก เป็นโรคติดต่อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย จากน้ำลาย ละอองน้ำมุก น้ำลายจากการไอ จาม จากอุจจาระ และจากมือ เข้าสู่ปาก ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 – 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อไปจนกว่าจะหายจากโรค คือ ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์นับจากติดเชื้อ ·       โรคเฮอร์แปงไจนามีอาการอย่างไร ?            ผู้ป่วยโรคเฮอร์แปงไจนา มักมีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา(ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้ ภายใน 24 ชั่วโมง จุดแดงๆ จะกลายเป็นตุ่มแดงขนาดเริ่มต้น 1 – 2 มิลลิเมตร แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร อาจเป็นแผลเล็กๆ ตรงกลางตุ่มน้ำนั้น หรืออาจมีการอักเสบรอบๆ แผลได้ จำนวน 5 – 10 ตุ่ม อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2 – 4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ·       รักษาโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร ?             รักษาตามอาการ ได้แก่ เช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส หรือยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ) ยกเว้นในรายการที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน             การให้ยาชากลั้วปาก อาจช่วยในเด็กโตบางคน แต่ส่วนใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็ก แนะนำให้กินน้ำเย็น นมแช่เย็น เนื่องจากความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บเวลากลืน และจะพบอาการภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารไม่มาก ·       เมื่อไรควรนำเด็กพบแพทย์ ?             ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ เมื่อเด็กมีอาการมาก ได้แก่ 1.      เมื่ออาการไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือไข้สูงไม่ยอดลด แม้เช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้ว 2.      กินอาหารไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง 3.      ซึมลง ·       ป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร ?            ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ล้างมือให้สะอาด ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย หากเด็กป่วยให้งดไปโรงเรียน 1 สัปดาห์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ต้อกระจก คืออะไร รู้ทันสาเหตุ อาการ & วิธีการรักษา

โรคต้อกระจก โรคที่ต้องเป็น... แล้วจะดูแลอย่างไร? ต้อกระจกคือ ภาวะเลนส์แก้วตาเกิดการเปลี่ยนแปลงมีความขุ่น ทำให้เกิดอาการตามัว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เราสามารถแบ่งสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ ต้อกระจกแต่กำเนิด( congenital cataract ) ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง ( acquired cataract ) 1. ต้อกระจกแต่กำเนิด( congenital cataract) มีความขุ่นของเลนส์แก้วตาตั้งแต่หลังคลอดถึงภายใน 3 เดือนแรก ซึ่งถ้ามีความขุ่นพียงเล็กน้อย จะไม่ทำให้การมองเห็นลดลง ความขุ่นนี้อาจคงที่หรือค่อยๆเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นลดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ สาเหตุ: อาจเกิดจากการติดเชื้อในครรภ์มารดาในช่วง3เดือนแรกของการตั้งครรภ์ การได้รับรังสีเอกซเรย์ขณะตั้งครรภ์ ภาวะขาดสารอาหาร มารดาเป็นเบาหวาน รวมถึงพันธุกรรมด้วย 2. ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง( acquired cataract) พบภายหลังในผู้ที่เคยมีเลนส์แก้วตาใสเป็นปกติมาก่อน ที่พบบ่อยๆได้แก่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย(senile cataract) เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ผู้ป่วยจะมีอาการตา ค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ เป็นปี เกิดจากอุบัติเหตุ (traumatic cataract) คือต้อกระจกที่เกิดขึ้น จากการเกิดอุบัติเหตุที่ตา ไม่ว่าจะเป็นการกระแทก มีสิ่งแปลกปลอมเข้าในลูกตา ประวัติเคยทำการผ่าตัดภายในลูกตาอย่างอื่นมาก่อน การได้รับกระแสไฟฟ้าแรงสูง(electric shock) หรือการได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้า และศีรษะ จากโรคทางเมตาบอลิซึม เช่นเบาหวานซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าวัย จากการได้รับยาบ้างชนิด จากการรักษาโรคอื่นๆ เช่นคอร์ติโคสเตียรอยด์ เกิดจากโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตา เช่น เคยมีแผลที่กระจกตา ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาหลุดออก อาการของโรคต้อกระจก ได้แก่ ตามัวลง มักเกิดอย่างช้าๆ ทีละน้อยไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่มีอาการอักเสบของตาร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและสาเหตุของการเกิดต้อกระจกในคนๆนั้น การแยกความแตกต่างของสี (contrast sensitivity) ลดลงเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า ที่มืดหรือเวลากลางคืน บางรายอาจมีการมองเห็นซ้อนได้ในตาข้างเดียว (monocular diplopia) ซึ่งเกิดจากความขุ่นของเลนส์ทำให้ เกิดการกระจายแสงในตา อาการคล้ายสายตาสั้นในช่วงแรก คือ จะมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้พอได้ มักเกิดกับต้อกระจกชนิดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ ปวดตาเนื่องจากต้อหินแทรกซ้อน พบได้ไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดงและปวดตาเฉียบพลัน ตามัวลงกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน การรักษา ช่วงแรกอาการมองไม่ชัดอาจพอแก้ไขได้ โดยการใช้แว่นสายตาช่วย แต่เมื่อถึงระยะหนึ่ง ที่ต้อกระจกเป็นมากขึ้นแว่นสายตาก็ไม่สามารถช่วยได้ การใช้ยาหยอดตา มีรายงานว่ายาหยอดตาบางชนิดสามารถชะลอการเกิดต้อกระจกได้ แต่ไม่สามารถทำให้ต้อกระจกที่มีอยู่เดิมหายไป ทั้งนี้ผลที่ได้ยังไม่มีการรับรองชัดเจน และในบางรายก็ไม่ได้ผล การผ่าตัด ในปัจจุบันนี้มีวิธีการทำผ่าตัดหลักๆ ที่นิยมทำกันอยู่ 2 วิธี คือ 3.1 Extracapsular cataract extraction (ECCE) เป็นการใช้มีดผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เจาะถุงหุ้มเลนส์ เอาต้อกระจก (เลนส์ที่ขุ่น) ออกทั้งอัน เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมอันใหม่เข้าไปแทนที่ จากนั้นแยบปิดแผล นิยมทำกันในรายที่ต้อกระจกสุก หรือเป็นมากๆ 3.2 Phacoemulsification เป็นวิธีที่กำลังนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก ใช้มีดขนาด 3mm.เจาะเข้าในลูกตา เปิดฝาถุงอุ้มเลนส์ออกจากนั้นใช้หัว phoco ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง (คล้ายอัลตราซาวน์) ไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆดูดออก ซึ่งต่างจาก ECCE ที่เอาต้อกระจกออกทั้งอันจึงทำให้แผลค่อนข้างใหญ่กว่า หลังจากเอาต้อกระจกออกแล้ว จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลจากการทำผ่าตัดวิธีนี้มีขนาดเล็ก จึงอาจไม่จำเป็นต้องเย็บแผลได้ถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย ทั้งนี้การผ่าตัดวิธีใด อาจเลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ กระจกตาดำขุ่นหรือจอประสาทตาบวม อาจพบได้ในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงในตัวผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างกัน แพทย์ พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย ศูนย์จักษุและเลสิคสาขาต้อหิน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดหัวแบบต่างๆ  อาการยังไง วิธีเช็คชนิดไหนอันตราย ควรหาเแพทย์!

ปวดหัว เป็นอาการที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่คนไข้จะเดินเข้ามาในแผนกอายุรกรรมสมอง และระบบประสาท สาเหตุอาจจะเกิดจากการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป ทุกคนต่างเร่งรีบ อาจมีความเครียดและอดนอน แต่อาการปวดศีรษะไม่ได้เกิดจากแค่ความเครียดหรืออดนอนก็ได้ อาจจะเป็นอาการนำของโรคอันตราย พิการหรือเสียชีวิตก็ได้ อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนมากจะพบในวัยทำงาน วัยกลางคนจนกระทั่งไปถึงผู้สูงอายุ และแต่ละช่วงอายุสัดส่วนของโอกาสน่าจะเป็นโรคต่างๆ ก็แตกต่างกัน เช่น ในวัยทำงานอาจจะเจอโรคที่ไม่อันตราย วัยสูงอายุขึ้นไปจะเจอโรคอันตรายมากกว่า    โดยทั่วไปเรามักแบ่งโรคปวดศีรษะออกเป็น 2 กลุ่ม  1. กลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือ คอ (Primary Headache)  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ร้ายแรงมักปวดเป็นๆ หายๆ ช่วงหายจะหายสนิท ได้แก่ ไมเกรน , ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension – type Headache ) ,ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache) เป็นต้น 1.1 ไมเกรน (Migraine)  เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยในคนอายุน้อยถึงวัยกลางคน มักปวดศีรษะขมับข้างใดข้างหนึ่ง ร้าวไปกระบอกตา หรือท้ายทอยได้ ปวดลักษณะตุบๆตามจังหวะชีพจรและมักปวดมากขึ้นหลังทำกิจวัตรประจำวัน มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยได้ ไม่ชอบแสงจ้าหรือเสียงดัง ระยะเวลาที่ปวดแต่ละครั้งประมาณ 4 ชั่วโมง ถึง 3 วัน สาเหตุ - เชื่อว่ามีการขยายตัวของหลอดเลือดที่อยู่ชิดกับเยื่อหุ้มสมอง หลังจากที่ได้รับการกระตุ้น ซึ่งได้แก่  ะดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในผู้หญิง เช่น ช่วงใกล้ประจำเดือน อาหาร เช่น กาแฟ ช็อคโกแลต ชีส แอลกอฮอล์ การไม่สบายของร่างกายและจิตใจ เช่น นอนไม่พอ ทานอาหารไม่ตรงเวลา สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน 1.2 ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type Headache)  เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดมักปวดมึนศีรษะเหมือนมีอะไรมารัดรอบศีรษะ บางคนร้าวลงต้น คอ บ่า สะบัก  สาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและความเครียด  1.3 ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)  พบได้บ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ ปวดศีรษะข้างเดียวบริเวณรอบ หรือ หลังเบ้าตาร้าวไปขมับเหมือนมีอะไรแหลมๆแทงเข้าตา ปวดมากจนรู้สึกกระสับกระส่าย ระยะเวลา 15 นาที – 3 ชั่วโมง ใน 1 วัน เป็นได้หลายครั้งและมักปวดเป็นเวลาเดิมของทุกวันติดต่อกันเป็นสัปดาห์ถึงเดือน พอหายปีนี้ ปีหน้าก็อาจปวดในช่วงเดือนใกล้เคียง มีอาการร่วมทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ลืมตาลำบาก ตาบวม ตาแดง น้ำตาหรือน้ำมูกไหล ม่านตาหดเล็กลง ซึ่งเป็นข้างเดียวกับที่ปวด สาเหตุ -  เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ควบคุมเวลาของร่างกายที่ชื่อ Hypothalamus ทำงานผิดปกติ ทำให้เส้นประสาทสมองที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกของใบหน้าพร้อมทั้งระบบประสาทอัตโนมัติและหลอดเลือดข้างคียงเกิดการเปลี่ยนแปลง กลุ่มอาการออฟฟิศ (office syndrome) โรคปวดหัวที่พบบ่อยที่สุด โรคปวดหัวที่พบบ่อยที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นสาเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ที่เรียกว่า กลุ่มอาการออฟฟิศ (office syndrome)  สาเหตุ - เกิดขึ้นจากการใช้สายตาทำงานหนัก ใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คุยกัน  ดูหนัง ฟังเพลง ติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงทำให้เกิดอาการปวดหัว ตั้งแต่น้อยๆ ได้แก่ ปวดตึง ท้ายทอย คอ บ่า ไหล่ ไปจนถึงอาการปวดที่มาก คือชามือ ปวดหลัง ชาขาก็มี ต้องยอมรับว่า คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ไม่มีใครเลยที่นั่งตัวตรง ส่วนใหญ่จะนั่งตัวเอียง พับขา เป็นเวลาหลายชั่วโมงบางคนกลับมาบ้านยังใช้อุปกรณ์เหล่านี้อีก ทำให้นอนดึก แต่ต้องตื่นเช้า พักผ่อนน้อย กล้ามเนื้อเกิดอาการหดเกร็งเป็นเวลานาน หลายคนที่มีอาการปวดหัวหลายเดือนทำให้กังวลว่าจะเป็นเนื้องอกในสมอง ไปพบแพทย์ตรวจคอมพิวเตอร์สมองก็ปกติดี แต่อาการปวดหัวไม่ดีขึ้น รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลก็ไม่หาย วิธีรักษา การรักษาอาการปวดหัวไม่ยาก เพียงแต่ใน 1 ชั่วโมงของการทำงานให้พักสายตาสัก 5 นาที หรือลุกจากเก้าอี้ไปยืดเส้น ยืดสาย ก็จะไม่เกิดอาการปวดนี้ ฟังดูเหมือนง่าย แต่โดยความเป็นจริงมักจะละเลยเพราะทำงานติดพันบ้าง งานด่วนต้องรีบทำให้เสร็จบ้าง 2. กลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือ คอ (Secondary Headache)  เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดสมองโป่งพอง หลอดเลือดอักเสบ เลือดออกในสมอง กระดูกคอเสื่อม ต้อหิน โพรงไซนัสอักเสบ เป็นต้น สำหรับปวดหัวกลุ่มอันตรายสามารถสังเกตได้คือ อาการปวดหัวนั้นค่อนข้างเร็วและแรง เช่น ภายใน 1 นาที จากไม่ปวดเลยกลายเป็นปวดมากเหมือนหัวจะระเบิด แบบนี้มองว่าอันตรายไว้ก่อน เช่น อาจจะมีเลือดออกในสมองได้ สำหรับคนที่ไม่เคยปวดศีรษะเลย อยู่ๆ ก็ปวด หลังอายุ 50 ปี ก็จัดว่าอันตราย เพราะกลุ่มโรคที่ไม่อันตราย อย่างไมเกรน เทนชั่น คลัสเตอร์ ส่วนมากจะมีอาการปวดอยู่บ้างในอายุก่อน 50 ปี สำหรับคนที่เคยปวดอยู่บ้างแล้ว เป็นรูปแบบซ้ำๆ เดิม แล้วอยู่ๆ รูปแบนั้นได้เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี เช่น ความรุนแรงมากขึ้น ตำแหน่งที่ปวดเปลี่ยนไป  หรือระยะเวลานานขึ้น หรือบางทีหลับๆ อยู่แล้วถูกปลุกจากความปวด ให้ต้องตื่นขึ้นมา เหล่านี้เป็นรูปแบบที่เปลี่ยนไปค่อนข้างอันตราย ถ้ามีอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อยู่ดีๆ อ่อนแรง เห็นภาพซ้อน หูอื้อ พูดไม่ชัด เดินเซ หรือคอแข็ง จัดว่าอันตรายไว้ก่อน สำหรับคนผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคประจำตัวประเภทภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจจะต้องสงสัยปวดศีรษะอันตรายไว้ก่อน เช่น บางคนเป็น SLE ทานยากดภูมิอยู่ แล้วปวดหัวขึ้นมา ก็ต้องสงสัยไว้ก่อน ว่าอาจจะมีติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เหล่านี้เป็นวิธีสังเกตของกลุ่มอันตราย โรคก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ก้อน หลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากปวดแล้วนอนไม่ได้ ให้สงสัยว่าอันตรายไว้ก่อน เพราะกลุ่มที่ไม่อันตรายส่วนมากการนอนจัดเป็นปัจจัยปกป้อง ทำให้อาการปวดดีขึ้นด้วยซ้ำ ตำแหน่งของอาการปวด ส่วนมากแพทย์จะถามปวดตรงไหนบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไร การดำเนินโรคเป็นอย่างไร ตำแหน่งที่ปวดช่วยอย่างไร เช่น  เบ้าตา ต้องดูว่าปวดที่เบ้าตาไหน ถ้าปวดที่เบ้าตาอย่างเดียวก็อาจจะเป็นโรคต้อหินก็ได้ หรือบางทีจะเป็นคลัสเตอร์ก็ได้ หรือจะเป็นไมเกรนก็ได้  หน้าผาก ขมับ ท้ายทอย กลางกระหม่อม ก็เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่คนไข้อาจจะต้องสังเกตแล้วบอกแพทย์ให้ได้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย  หลายๆ คน มีอาการปวดบริเวณท้ายทอย ในส่วนนี้สามารถเป็นได้หลายโรค ไมเกรนบางทีก็ปวดท้ายทอยได้ กล้ามเนื้อยึดตึงก็ปวดท้ายทอยได้ โรคของกระดูกคอเสื่อมก็ปวดท้ายทอยได้ หรือแม้แต่โรคของก้อนเนื้องอกในสมอง ก็ปวดท้ายทอยได้ นอกจากตำแหน่งเราก็ใช้อาการร่วมอื่นๆ เช่น ลักษณะการดำเนินโรค ทำอะไรแล้วดีขึ้น แย่ลง แล้วก็ตรวจร่างกาย บางโรคก็ปวดทั้งศีรษะหรือปวดเฉพาะจุด แต่ถ้าคนไข้สังเกตได้ การวินิจฉัยโรคก็จะง่ายขึ้น ถ้ามีอาการบ่งไปทางอันตราย ก็จะสแกนสมอง เพื่อยืนยันว่ามีอะไรผิดปกติในสมองหรือเปล่า  หรือกรณีที่ลักษณะแบบฉบับคล้ายกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดหัวทั่วๆ ไป คลื่นไส้ อาเจียน แล้วก็คอแข็ง อันนี้อาจจะสงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็อาจจะต้องเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อนำ ไปวิเคราะห์อีกที  สมมติว่า สงสัยไปทางเลือดออก อาจจะเลือกเป็น CT สมอง ซึ่งจะเห็นชัดกว่า แต่ถ้าต้องการเก็บรายละเอียด เช่น สงสัยไปทางพวกก้อน เนื่องงอกในสมองหรือสมองขาดเลือด เราก็อาจจะเลือกเป็น MRI เพราะเราสามารถดู MRA คือดูหลอดเลือดแดงได้ด้วย หรือถ้าสงสัยหลอดเลือดดำตีบตัน ก็ทำให้เกิดการปวดหัวได้ เราก็จะตรวจ MRV หรือ magnetic resonance venography พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าสงสัยแค่เลือดออกเราก็ทำแค่ CT สมอง ถ้าต้องการดูรายละเอียดของโรคปวดหัวอื่นๆ ร่วมด้วย ก็จะเลือกเป็น MRI แล้วก็ดู MRA หรือ MRV ไปด้วย ลักษณะของการดำเนินโรค แบ่งออกเป็น 3 แบบ ง่ายๆ ตุบๆ คล้ายๆ ตุบ ตุบ ตุบ เป็นตามจังหวะหัวใจเต้น บ่งไปโรคอะไรบ้าง เช่น โรคหลอดเลือด ไมเกรนก็ได้ แหลมๆ จี๊ดๆ แทงๆ อันนี้อาจมีโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ บีบรัดตึงๆ แบบเอาอะไรมาบีบไว้ที่ศีรษะ อันนี้บอกได้ค่อนข้างยาก เป็นได้ตั้งแต่กล้ามเนื้อยึดตึงธรรมดา ไปจนถึงก้อนเนื้อในสมองก็ปวดแบบนี้   ส่วนระยะเวลาดำเนินโรค ส่วนระยะเวลาดำเนินโรค ก็สำคัญเหมือนกัน กลุ่มโรคที่ไม่อันตรายส่วนมาก การดำเนินโรคก็จะเป็นๆ หายๆ และมีช่วงหายสนิทเกิดขึ้น ระยะเวลาของแต่ละโรคก็จะไม่เหมือนกัน เช่น ไมเกรน อาจจะปวดไม่เกิน 3 วันต่อครั้ง แล้วก็หาย แล้วก็ปวดใหม่ คลัสเตอร์ก็อาจจะไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่วันหนึ่งเป็นได้หลายรอบ ส่วนเทนชั่นก็อาจจะเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์กว่าจะหาย ส่วนโรคกลุ่มอันตรายส่วนมาก ปวดแล้วจะไม่ค่อยหาย อาจจะทานยาพาราเซตามอลแล้วอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่หายสนิท แล้วถ้าอาการพวกที่เป็นก้อน จะค่อยๆ ปวดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเป็นพวกเลือดออกก็อย่างที่บอกไว้ จะมีลักษณะพิเศษ คือ เร็วแรง แล้วก็คงที่ หรือมากขึ้นแต่อาจจะไม่หาย หลังจากกินยาลดปวด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยในการวินิจฉัย คนไข้อาจจะต้องสังเกตว่า ทำอะไรแล้วดีขึ้น หรือทำอะไรแล้วแย่ลง เช่น สำหรับไมเกรน ถ้านอนพักแล้วอาจจะดีขึ้น บางคนอาเจียนแล้วก็ดีขึ้น อันนี้ก็มีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่า เพราะว่ามันเป็นกระบวนการดำเนินของโรค พออาเจียนมันค่อนข้างจะใกล้จบรอบไมเกรนแล้ว หรือถ้านอนพัก การนอนที่ดี จะช่วยให้ไมเกรนหมดรอบเร็วขึ้น การดูแลตัวเองเบื้องต้น การดูแลตัวเองเบื้องต้นสิ่งที่อยากจะเน้น คือ ทบทวนอาการปวดหัวของตัวเองว่า เข้ากับโรคอันตรายหรือไม่ เพราะว่าอาจจะเป็นอาการนำก่อนที่จะเป็นโรคทางสมองก็ได้ ถ้าเรารีบรักษาเร็วก็มีโอกาสที่จะหายได้ การให้หมอนวด นวดตรงคอ ต้องระวังดีๆ จริงๆ เวลาเราปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูกคอ การนวดโดยเฉพาะการยืดกล้ามเนื้อช่วยได้ ช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่บางวิธีไม่ถูกต้อง เช่น มีการบิดคอ อันนี้จะทำให้เกิดหลอดเลือดฉีกขาด ซึ่งค่อนข้างอันตราย อาการปวดหัวแบบไหนควรพบแพทย์ทันที ปวดหัวเหมือนจะระเบิด ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อนในชีวิต บ่งบอกว่ามีความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พบในภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองร่วมกับความดันโลหิตสูง ปวดหัวรุนแรง ร่วมกับมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกทันที บ่งบอกว่าเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ที่เกิดจากเลือดออกในเนื้อสมอง ปวดหัวรุนแรง ร่วมกับมีไข้ คอแข็ง ก้มคอไม่ได้ อาจจะมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ บ่งบอกว่า มีการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ปวดหัวรุนแรง มีไข้ ร่วมกับมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว และซึมลง บ่งบอกว่ามีสมองอักเสบ หากท่านหรือญาติมีอาการปวดหัวดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อตรวจหาสาเหตุของการปวดหัวและให้การรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์ นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

“ยาดม” ใช้ผิดชีวิตเปลี่ยน ➥ เสี่ยงอันตรายต่อระบบประสาท

ในยุคนี้เชื่อว่าหลายๆ คนต้องมีสิ่งของที่พกติดตัวเป็นประจำอย่างแน่นอน และเนื่องด้วยภูมิอากาศของประเทศไทยบ้านเรา ไม่ว่าจะฤดูใดก็จะมีความร้อนแฝงตัวอยู่ตลอดเวลา ไอเท็มที่ขาดไม่ได้ก็เห็นจะเป็น “ยาดม” นี่เอง  เตือน! ใช้ยาดมผิดวิธี อันตรายต่อระบบประสาท เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ เมื่อสูดดมจะทำให้โล่งจมูกและทำให้เกิดความรู้สึกเย็น สดชื่น อีกทั้งยังมีประโยชน์ในขณะที่เป็นลม วิงเวียนศีรษะได้อีกด้วย สรรพคุณมากเหลือขนาดนี้ ขาดไม่ได้อย่างแน่นอน ข้อเสียของการติดยาดม แต่ทุกอย่างเมื่อมีข้อดีก็มักจะมีข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะการดมยาดมบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดอาการติดได้ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ผลิตบางชนิด เช่น เมนทอล การบูร เป็นสารที่มีผลต่อระบบประสาท  แต่ไม่ใช่ว่าจะอันตรายรุนแรงเสียทีเดียว เพียงแต่การติดยาดมนั้น จะเป็นรูปแบบที่ใช้จนติดเป็นนิสัยหรือขาดไม่ได้เท่านั้นเอง วิธีการใช้ยาดมที่ถูกต้องมีดังนี้ ยาดมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีประโยชน์ หากรู้จักใช้อย่างถูกวิธี ก็จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ควรสูดดมใกล้ ๆ แต่ไม่สัมผัสโดยตรง ไม่ควรให้หลอดยาเข้าไปค้างในจมูก เพราะสารทุกตัวอาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสัมผัส ควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดยาดมที่สัมผัสกับจมูกผู้อื่น เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ยาดมมีฤทธิ์บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย เพียงชั่วคราว หากอาการหนักควรพบแพทย์ ยาดมที่มีลักษณะเป็นยาน้ำ หรือขี้ผึ้ง ให้ใช้สำลีหรือผ้าเช็ดหน้าป้าย หรือนำมาทาบาง ๆ ที่หน้าอก แล้วสูดไอระเหย หากมีโรคที่เกี่ยวกับโพรงจมูกควรหลีกเลี่ยง เพราะหากสูดยาดมที่มีเข้มข้นมาก ๆ อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ขอขอบคุณข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไวรัสโรต้า (Rotavirus infection) - โรคอุจจาระล่วงในเด็ก

ไวรัสโรต้า คืออะไร? (Rota virus) โรต้าเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ติดต่อได้ง่าย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยพบได้มากสุดในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี มีรายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แทบทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสโรต้าอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ถ้าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ติดเชื้อนี้ อาจจะมีอาการรุนแรงหรือมีอาการน้อยกว่าที่พบในเด็กเล็กก็ได้ ไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กเล็กมีอาการท้องเสียรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากการขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นไวรัสที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางได้มากทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ ประมาณว่าในแต่ละปีมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน จากการติดเชื้อไวรัสโรต้า เด็กๆ ติดเชื้อได้อย่างไร? การติดเชื้อไวรัสโรต้าเกิดจากการรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้เข้าทางปาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหารและสิ่งของ เช่น ของเล่นเด็ก หรือมือที่เปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้จากนั้นเชื้อไวรัสเดินทางไปตามระบบทางเดินอาหาร คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติ อาการของโรคเป็นอย่างไร?  หลังได้รับเชื้อไวรัสโรต้า 1 – 3 วัน จะมีอาการ ดังนี้ คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ (ไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส) บางรายอาจเกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ คือ น้ำมูกไหล ไอ คอแดง ร่วมด้วย ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ อาจมากถึง 10 – 20 ครั้งต่อวัน ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 3 – 5 วัน ส่วนน้อยจะมีอาการท้องเสียยืดเยื้อเรื้อรังนาน 9 วันถึง 3 สัปดาห์ได้ หากอาการท้องเสียเกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมีอาการรุนแรงจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ที่สำคัญ ซึ่งจะขาดได้ในปริมาณที่มากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อีกหลายชนิด เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการรุนแรงควรรีบพาพบแพทย์ การรักษาที่ดีที่สุด คือ ให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอและให้ทันเวลา ทราบได้อย่างไรว่าอาการท้องเสียเกิดจากไวรัสโรต้า? แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ได้จากประวัติอาการของเด็กและฤดูกาลที่เป็น (พบได้ทั้งปีแต่มักเป็นช่วงหน้าหนาว เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) ร่วมกับการตรวจพบเชื้อไวรัสโรต้าในอุจจาระ (Rotavirus Ag in Stool = positive) ถ้าลูกติดเชื้อแล้วควรได้รับการรักษาอย่างไร ? เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยตรง การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ คือ ถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถรับประทานยาที่บ้านได้ โดยดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการถ่ายอุจจาระและอาเจียนรับประทานยาแก้อาเจียนถ้ามีอาเจียนบ่อย หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน เด็กมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง ตาโหล ซึมลง ตัวเย็นหรือมีไข้สูง (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) ชัก หายใจหอบเหนื่อย ปัสสาวะออกน้อย สีเข้มหรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6 ชั่วโมง อาเจียนมากไม่สามารถรับประทานได้ เราจะสามารถปกป้องลูกจากเชื้อได้อย่างไร? สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะ ของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วยต้องรีบป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น แนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงเบื้องต้น คือ การรักษาสุขอนามัย การดูแลความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ของเล่นลูกและสอนให้ล้างมืออย่างถูกต้อง วิธีป้องกันนี้เป็นเพียงการป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียโดยทั่วไป แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าได้เต็มที่ เนื่องจากโรต้าเป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายกว่า ในอุจจาระของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรต้า 1 ซีซี มีเชื้อขับออกมา 1,000,000 ล้านตัว แต่เชื้อไวรัสโรต้าเพียง 10 ตัว ทำให้เราติดเชื้อและเกิดอาการเจ็บป่วยได้แล้ว วิธีที่ดีที่สุด คือ วัคซีนโรต้า (Rotavirus infection) การเสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยวัคซีนชนิดรับประทาน เป็นวิธีที่สะดวกและได้ผลดี ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันพอที่จะป้องกันโรคได้ จะช่วยให้อาการป่วยรุนแรงน้อยลง ช่วงที่ให้วัคซีนโรต้าครั้งแรกจะอยู่ในช่วงอายุ 6 สัปดาห์ถึง 4 เดือนและต้องให้ครบภายในอายุ 8 เดือน จากการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าที่รุนแรง พบว่าวัคซีนโรต้าสามารถป้องกันได้ประมาณ 80 – 90 % ในเด็กที่เคยได้รับวัคซีนครบ หากมีการติดเชื้อตัวนี้ในครั้งต่อๆ ไป (เนื่องจากโรต้ามีหลายสายพันธุ์) อาการจะรุนแรงน้อยลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วบางส่วน ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสที่มีความทนทานต่อภาวะแวดล้อมได้ดี ติดต่อได้ง่ายการรักษายังไม่มีวิธีที่รักษาจำเพาะ เป็นการรักษาทั่วไปตามอาการการป้องกันด้วยการให้วัคซีนชนิดรับประทานยังคงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด   นพ. ภูษิต วชิรกิติกุล ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์วินิจฉัยก่อนคลอด Prenatal Diagnostic Center

ศูนย์วินิจฉัยก่อนคลอด Prenatal Diagnostic Center            คุณพ่อคุณแม่ย่อมปรารถนาให้ลูกน้อยที่เกิดมา มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความพิการทั้งทางร่างกายและสมอง มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด ในอดีตการที่จะทราบว่าทารกมีความผิดปกติ หรือไม่ก็ต้องรอจนทารกคลอดแล้ว  ศูนย์วินิจฉัยก่อนคลอด Prenatal Diagnostic Center             คุณพ่อคุณแม่ย่อมปรารถนาให้ลูกน้อยที่เกิดมา มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความพิการทั้งทางร่างกายและสมอง มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด ในอดีตการที่จะทราบว่าทารกมีความผิดปกติ หรือไม่ก็ต้องรอจนทารกคลอดแล้ว ซึ่งทำให้สูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจของคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งครอบครัว แต่ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้การวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ตั้งแต่ก่อนคลอดทั้งทางด้านโครงสร้าง คืออวัยวะต่างๆซึ่งมองเห็นได้โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง หรือความผิดปกติที่มองไม่เห็นเช่น โรคต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความพิการทางด้านร่างกายหรือสติปัญญา ทำให้ทารกเกิดมามีพัฒนาการที่ล่าช้าหรือปัญญาอ่อน ในบางรายโรครุนแรงมากจนทำให้ทารกเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน การวินิจฉัยก่อนคลอด จะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความมั่นใจว่าลูกของท่านจะมีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรงหรือในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ ท่านจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือก และการเตรียมพร้อมเพื่อการดูแลรักษาทั้งขณะที่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด เพื่อให้ลูกของท่านได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ศูนย์วินิจฉัยก่อนคลอด              บริการให้คำปรึกษา แนะนำ วินิจฉัยดูแลมารดาและทารกในครรภ์เกี่ยวกับความผิดปกติและโรคต่างๆ ที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ ด้วยความก้าวหน้าทางอนุพันธ์ศาสตร์เซลพันธุศาสตร์ และการตรวจทางคลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้เกือบทุกชนิด ทั้งความพิการแต่กำเนิด โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย นอกจากนี้ยังให้บริการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ในกรณีที่มารดามีภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรม เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ SLEเป็นต้น ศูนย์วินิจฉัยก่อนคลอด รพ.วิภาวดีให้บริการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด ครอบคลุมปัญหาต่างๆ โดยบแบ่งระยะของการให้บริการตรวจดังนี้ 1.ตรวจในระยะแรกของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์10-13สัปดาห์) ด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อการตรวจหาจำนวนทารก การมีชีวิตของตัวอ่อน การคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม 2.ระยะที่สองของการตั้งครรภ์(16-18สัปดาห์) บริการเจาะน้ำคร่ำและเลือดจากสายสะดือทารก เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซม โรคทางพันธุกรรมเช่น ธาลัสซีเมีย 3.ระยะที่สองของการตั้งครรภ์(20-24สัปดาห์) ตรวจทางคลื่นเสียงความถี่ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆของทารกในครรภ์(anomaly scan) เช่น ระบบหัวใจ ทางเดินอาหาร ปากแหว่ง เพดานโหว่ ระบบสมอง แขน ขา 4.ตรวจคลื่นเสียง 4 มิติ เพื่อดูใบหน้า ขา แขน กระดูกสันหลัง นิ้วมือ นิ้วเท้าของทารก 5.ระยะที่สามของการตั้งครรภ์ (มากกว่า28สัปดาห์) ตรวจหาการเจริญเติบโตช้าของทารก สุขภาพของทารก เช่นbiophysical profile ปริมาณน้ำคร่ำ การไหลเวียนโลหิตในเส้นเลือดที่สายสะดือทารก (Doppler Blood Flow) 6.การตรวจหัวใจเด็กเพื่อดูความผิดปกติ และดูระบบการทำงานของหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพื้นฐาน เพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ (Baseline Fetal anomaly scan)อีกด้วย  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สารพัดต้อที่ควรรู้

โรคต้อ แบ่งหลักๆออกเป็น 3 ประเภท 1.ต้อลม, ต้อเนื้อ : เป็นความเสื่อมของเยื่อบุตา 2.ต้อกระจก : เป็นความเสื่อมของเลนส์แก้วตา 3.ต้อหิน : เป็นความเสื่อมของเส้นประสาทตา   สารพัดต้อที่ควรรู้ โรคต้อ แบ่งหลักๆออกเป็น3ประเภท 1.ต้อลม, ต้อเนื้อ: เป็นความเสื่อมของเยื่อบุตา 2.ต้อกระจก      : เป็นความเสื่อมของเลนส์แก้วตา 3.ต้อหิน          : เป็นความเสื่อมของเส้นประสาทตา   1.ต้อลม , ต้อเนื้อ ต้อลม จะเป็นลักษณะก้อนขาวเหลือง นูนเล็กน้อยคล้ายวุ้นใสๆ ติดอยู่ที่เยื่อบุตาใกล้ตาดำ พบมากบริเวณด้านหัวตา แต่ทางหางตาก็พบได้ สาเหตุเกิดจากภาวะที่มีการระคายเคืองตาอย่างเรื้อรัง จากฝุ่น แดด ลม ควัน ต้อเนื้อ ก็เป็นความเสื่อมของเยื้อบุตาเช่นเดียวกันพัฒนาเพิ่มมาจากต้อลม จะพบเป็นเส้นเลือดและเนื้อเยื่อหนาตัวขึ้นเป็นแผ่น แผ่จากบริเวณเยื่อบุตาเข้าสู่กระจกตาหรือตาดำ พบมากบริเวณหัวตา 2.ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น ปกติแล้วเลนส์แก้วตาจะมีความใส ทำหน้าที่ในการหักเหแสงในการมองเห็น เมื่อเกิดต้อกระจกขึ้นก็จะทำให้การมองเห็นลดลง เกิดอาการตามัว สาเหตุที่ทำให้เลนส์ตาขุ่นหรือเกิดต้อกระจก แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ หลักๆคือ 2.1.ต้อกระจกแต่กำเนิด( congenital cataract ) 2.2ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง ( acquired cataract ) ทำความรู้จักกับต้อกระจกเชิงลึกอ่านต่อได้ที่บทความนี้ 3.ต้อหิน                                                                                               เป็นโรคของเส้นประสาทตาที่เสื่อมลงอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆสูญเสียลานสายตาและการมองเห็นลง หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ตาบอดได้ สาเหตุที่แท้จริง ยังไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่า 3.1 เกิดขึ้นเอง เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการระบายน้ำในลูกตา 3.2 กรรมพันธุ์            3.3 การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ 3.4 อุบัติเหตุต่อลูกตา 3.5 การอักเสบของลูกตาที่เป็นเรื้อรัง   ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อหิน ได้แก่ 1.ระดับความดันลูกตาสูงเกินระดับปกติ (20-21 mmHg) 2.อายุตั้งแต่60ปีขึ้นไป 3.ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทตาได้ไม่ดี 4.เบาหวาน 5.ภาวะสายตาสั้น   วิธีการดูแลรักษา 1.สำหรับต้อลม , ต้อเนื้อ แนะนำให้ใส่แว่นกันแดด หลีกเลี่ยง ฝุ่น แดด ลม ควัน หรือสาเหตุใดๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองตา หยอดตาลดการอักเสบระคายเคือง สลับกับการใช้น้ำตาเทียม กรณีที่เป็นมาก สำหรับต้อเนื้อที่ยื่นล้ำเข้าไปในกระจกตาหรือตาดำมาก อาจมีผลทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง หรือต้อเนื้อไปบดบังการมองเห็นก็แนะนำให้ทำผ่าตัดลอกออก 2.ต้อกระจก หลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เป็นต้อกระจกเพิ่มเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะแสงแดดจ้า ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาต่างๆ กรณีเป็นต้อกระจกระยะเริ่มต้น จะส่งผลให้สายตาเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ซึ่งระยะนี้การใช้แว่นสายตาจะยังพอแก้ไขให้การมองเห็นดีขึ้นได้ มีการอ้างถึงยาหยอดตาบางชนิดที่จะช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่พิสูจน์ชัดเจนว่าได้ผลจริง กรณีที่ต้อกระจกเป็นมากถึงระดับหนึ่ง ก็จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษาในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการสลายต้อกระจกที่มีอยู่เดิมออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ก็จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดเจนดีดังเดิม 3.ต้อหิน การดูแลรักษาขึ้นกับชนิดของต้อหินที่เป็นสาเหตุ บางชนิดไม่แสดงอาการเลย จะทราบได้ก็จากการตรวจพบ ซึ่งผู้ป่วยหลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรค ก็ตามัวมากเสียแล้ว ดังนั้นผู้ที่สงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน มีโรคประจำตัวหรือต้องใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เคยมีอุบัติเหตุตามาก่อน เคยมีภาวะตาอักเสบเรื้อรัง หรือตาติดเชื้อ เคยทำผ่าตัดตา ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจเช็คเป็นระยะอย่างถูกต้องเหมาะสม มาตรฐานการรักษาต้อหินโดยทั่วไป ได้แก่ -การใช้ยาหยอดตา เพื่อลดความดันลูกตาลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค และความผิดปกติของเส้นประสาทตาที่เริ่มเสียไป -การทำผ่าตัด จะพิจารณาในกรณีที่ผู้ป่วย ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ด้วยการใช้ยาหยอดตา -การเลเซอร์ จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อหินมุมปิด(ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย) ทั้งนี้การรักษาต้อหินไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม หรืออาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันก็ไม่สามารถรักษาให้โรคหายขาดได้ หากแต่เป็นการควบคุมโรคให้คงที่ไว้ไม่ให้เกิดการเสื่อมเสียหายของเส้นประสาทตาเพิ่มเติมต่อไป ผู้ป่วยควรต้องทำความเข้าใจ ให้ความร่วมมือในการใช้ยา และตรวจเช็คตามนัด และมีความคาดหวังที่ถูกต้องว่าวัตถุประสงค์ของการรักษาโรคต้อหิน เพื่อเก็บการมองเห็นที่มีอยู่ไว้ไม่ให้สูญเสียระดับการมองเห็น และไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เป็นอยู่ดีขึ้น   สัญญาณที่บอกว่าเป็นต้อ ต้อบางชนิดมีอาการ มีการเปลี่ยนแปลงภายนอกให้สังเกตได้ แต่บางชนิดไม่แสดงอาการในเบื้อต้น ฉะนั้นการหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ของตาที่ปรากฏ อาการผิดปกติทั้งในแง่การระคายเคือง อักเสบปวดตา หรือตามัว ก็จะช่วยเตือนเราได้บ้างในเบื้องต้น ควรรีบไปตรวจเช็คและรับการรักษาโดยเร็ว และไม่แนะนำให้ซื้อยาหยอดตาใช้เอง กรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในวัยสูงอายุ การตรวจตาประจำปีน่าจะได้ประโยชน์   การป้องกัน+รักษาความเสี่ยง 1.ต้องทราบก่อนว่าใครคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเรามีความเสี่ยงเหล่านั้นหรือไม่ 2.ก่อนใช้ยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์ ร่วมกับรับทราบถึงผลข้างคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ 3.สวมแว่นกันแดดให้เป็นนิสัย เมื่ออยู่กลางแจ้ง 4.หาโอกาสตรวจเช็คตาสม่ำเสมอตามเกณฑ์อายุ เพื่อตรวจหาโรคต่างๆ ที่อาจมีได้แต่ยังไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น 5.หมั่นสังเกตตัวเอง หากพบความผิดปกติใดไม่ควรนิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์ ไม่ซื้อยาหยอดตาใดใช้เอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจวิภาวดี

ศูนย์หัวใจวิภาวดี  หัวใจ...มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาหัวใจ            โรคหัวใจ มีสาเหตุการเกิดทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น การดำเนินชีวิต การบริโภคอาหาร เราสามารถป้องกันโรคหัวใจได้โดย การดูแลตนเองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆที่จะทำลายสุขภาพ เช่น การเลือกรับประทานอาหาร การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หากเกิด       “ โรคหัวใจ ”  ขึ้นมาแล้วคุณต้องทำการรักษา ปัจจุบัน โรคหัวใจเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง แต่ผู้ที่เป็น “โรคหัวใจ” สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ได้ “ การดูแลรักษา ” มีส่วนสำคัญอยู่มาก         ศูนย์หัวใจวิภาวดี พร้อมให้บริการด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมทั้งทีมแพทย์โรคหัวใจที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทุกสาขา อาทิ · แพทย์มัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจ · ช่างไฟฟ้าหัวใจ · แพทย์ฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ · ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก · อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ซึ่งมีประสบการณ์สูงและปฏิบัติงานเป็นทีม ศูนย์หัวใจวิภาวดีจึงพร้อมบริการตลอด 24 ชั่วโมง · กุมารแพทย์โรคหัวใจ เพราะรู้ว่า “ โรคหัวใจ ” เกิดขึ้นได้ทุกเวลาจึงควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ และ เมื่อมีอาการ ควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ศูนย์หัวใจวิภาวดี พร้อมบริการด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทางงการแพทย์ที่ทันสมัย 64 – Slice Multidetector Computed Tomography Angiography (MDCTA)การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง            เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รุ่น Somatom Sensation Cardiac64 เป็นเครื่องที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า สามารถทำการตรวจผู้ป่วยที่มีแนวโน้มในการเป็นโรคทางด้านหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน ซึ่งช่วยในการตรวจผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจหลอดเลือดให้เห็นทำให้สามารถป้องกันและทำการรักษาต่อไปได้ทันเวลาและยังเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถสร้างภาพได้ครั้งเดียว 64 ภาพต่อการหมุน 1 รอบ ( 360  องศา ) สามารถหมุนด้วยความเร็วเพียง 0.33 วินาที ซึ่งเป็นความเร็วที่ทำให้ทำการตรวจหัวใจได้ดีที่สุด เนื่องจากหัวใจมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา Cardiac catheterization (การตรวจสวนหัวใจ)             เป็นการตรวจและรักษาโดยการใช้สายสวนขนาดเล็ก (ประมาณ 2 มม.) เข้าไปตามหลอดเลือดแดงหรือดำ จากบริเวณขาหนีบ หรือแขนจนถึงหัวใจ แล้วทำการฉีดสารทึบแสงเพื่อ · ตรวจหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (Coronary  Angiography) · ประเมินพยาธิสภาพของห้องหัวใจซ้ายหรือขวา · ค้นหาพยาธิสภาพที่ผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ · รักษาภาวะลิ้นหัวใจตีบโดยใช้ Balloon เช่น การทำบอลลูนขยายลิ้นไมทรัล · ปิดผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว หรือรูรั่วในหลอดเลือดด้วยเครื่องมือพิเศษโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดหัวใจ   Coronary  Angiography (การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่)             คือการฉีดสารทึบแสงเพื่อตรวจเส้นเลือดหัวใจ โดยแพทย์จะใช้สายสวนขนาดเล็ก (ประมาณ 2 มม.) ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบหรือแขน จนถึงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Coronary artery) แล้วฉีดสารทึบแสงเข้าทางสายสวนนั้น เพื่อตรวจดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดโคโรนารี่บริเวณใดหรือไม่ ซึ่งภาพจะปรากฎให้เห็นในจอมอนิเตอร์อย่างชัดเจน เมื่อพบว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจก็สามารถให้การรักษาได้ทันที Percutaneous Transluminal Coronary  Angioplasty and Stenting (การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ที่ตีบแคบ)             คือการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ที่ตีบแคบ โดยการใช้สายสวนที่มี Balloon เล็กๆอยู่ส่วนปลาย ใส่เข้าไปให้ถึงบริเวณที่มีหลอดเลือดตีบแคบ แล้วเป่าลมเข้าไปทำให้พองออกตรงตำแหน่งที่ตีบแคบพอดีแรงกดจะทำให้หลอดเลือดที่ตีบแคบขยายออกบ่อยครั้งมีการใส่ขดลวดสปริงเล็กๆ (stent) เคลือบด้วยน้ำยา DES เพื่อป้องกันการตีบซ้ำภายหลัง ในกรณีที่หลอดเลือดแข็งตีบตัน อาจต้องใช้หัวกรอกากเพชร กรอหินปูนออก Echocardiography (การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง)           ใช้ในการวินิจฉัย และพยากรณ์โรค รวมทั้งตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาในโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถวัดขนาดและดูความสามารถในการทำงานของหัวใจรวมถึงโครงสร้างต่างๆได้ดี ศูนย์โรคหัวใจมีเครื่อง Echocardiography 4 มิติ และสามารถตรวจรักษาโรคหัวใจได้   Exercise Stress Test (การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย)             คือการให้ผู้ป่วยออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานตามโปรแกรมที่กำหนด เพื่อมุ่งเน้นการตรวจหาภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือขาดเลือดเป็นสำคัญ หรือ อาจใช้ตรวจหาการเต้นผิดจังหวะที่เกิดร่วมกับการออกกำลังกายอีกด้วย การทดสอบชนิดนี้ใช้ในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้เป็นอย่างดี 24 Hours  Ambulatory ECG  Recording (การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมงชนิดพกพา)            คือ การตรวจหัวใจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ไว้กับตัวท่านโดยที่ท่านสามารถกลับไปพักที่บ้าน หรือที่ทำงาน ได้ตามปกติโดยที่ไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมงแล้ว ท่านจึงกลับมาถอดเครื่อง และรองรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ได้ การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราวหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำ Tilt Table Test (การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติโดยการปรับระดับเตียง)            เป็นการตรวจพิเศษเพื่อที่ใช้ทดสอบผู้ป่วย ที่มีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องต่อไป เนื่องจากอาการเป็นลมหมดสติเกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งอาจจะมาจากปัญหาทางด้านสมอง หัวใจ ความดันโลหิตต่ำหรือความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous systems) การเป็นลมที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติเป็นสาเหตุของการเป็นลมที่พบบ่อยที่สุด   EKG การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ           ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจโต ความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในเลือด ฯลฯ Cardiac Rehabilitation (การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพของหัวใจ)            เป็นการผสมผสานกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การออกกำลังกายและการให้ความรู้ สร้างแรงเสริมในการปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ให้ผู้ป่วยกลับไปมีสุขภาพทางกายและจิตใจที่ดีต่อเนื่องในระยะยาว ศูนย์หัวใจวิภาวดี พร้อมให้บริการด้วยห้องสวนหัวใจขนาดใหญ่ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์ และเครื่องมือการผ่าตัดหัวใจ และเครื่องมือสวนหัวใจที่ทันสมัยรวมทั้งมีหอผู้ป่วยวิกฤตทางโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ “ โรคหัวใจ ” ที่ต้องได้รับการดูแลรักษา · โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง · โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ / ตัน · ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ · โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด · โรคหัวใจรูห์มาติก · ภาวะกระแสไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ · โรคกล้ามเนื้อหัวใจ · ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ปริแตก ฯลฯ            หากท่านมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักเกิน คอเลสเตอรอลสูง เป็นลม หมดสติบ่อยๆ มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือแม้แต่คุณทราบพฤติกรรมของตนเองว่าอยู่ในภาวะ   “ เสี่ยง ” อย่านิ่งนอนใจปล่อยให้อาการลุกลามกลายเป็น “ โรคหัวใจ ”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หลงลืม เป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง

หลงลืม เป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง? คิดช้า...ลืมง่าย เป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง? ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหานี้หรือไม่? "ทำไม เมื่อก่อน ความจำดีมาก และระยะนี้ เป็นอะไรไม่รู้ ได้หน้า ลืมหลัง สงสัยจะเป็นโรคอัลไซเมอร์" แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง?     เมื่อสมัยยังหนุ่มสาว สามารถทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แต่พออายุมากขึ้น ต้องทำงานทีละอย่างให้เสร็จก่อน และจึงจะเริ่มทำงานต่อไปได้ สมองของเราเสื่อมแล้วหรือยัง? อาการหลงลืม พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในสังคมปัจจุบัน คนมักทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น พิมพ์งาน รับโทรศัพท์ ต้องทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน สมองคนเรามีความสามารถที่จะทำงานได้หลายอย่าง แต่เมื่อมีอาการล้าเพราะต้องทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง เป็นเวลาหลายวันจะส่งผลให้ทำงานได้ไม่ดี หลงลืม ที่เรียกว่า สมาธิไม่ดี หากสมองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ      สำหรับผู้สูงอายุ สมองที่ใช้งานมานานหลายปี จะมีความเสื่อมซึ่งเกิดขึ้นตามวัย ดังนั้นการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำได้ยากขึ้นต้องใช้ความพยายามมาก จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเสียใหม่โดยทำงานให้เสร็จทีละอย่าง ก็จะทำงานได้ดีขึ้น สังคมโลกและสังคมไทยกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมของคนสูงวัยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 85 ปี ขณะที่ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 83 ปี      เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญหาเรื่องความจำจึงเป็นอีกอาการหนึ่งของคนสูงวัย หลายคนพยายามจะฝึกสมาธิ ความจำด้วยการเล่นเกมส์ หรือกิจกรรมเสริมความจำ ซึ่งจะพบได้มากขึ้น สุภาษิตไทยที่กล่าวว่า "ได้หน้า ลืมหลัง" น่าจะเหมาะกับวัยนี้หากต้องทำกิจกรรมหลายอย่าง แม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ก็อาจจะทำได้สำเร็จเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะความสามารถของสมองลดลง ภาษาอังกฤษเรียกว่า mild cognitive impairment ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าเรียกว่า อาการขี้หลง ขี้ลืม ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ยิ่งอายุมาก อาการก็พบมาก จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีอาการขี้หลง ขี้ลืม 100 คน จะมี 20-25 คน ที่จะกลายเป็นโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว จะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง? หากลูก หรือสามี หรือภรรยา สังเกตเห็นว่ามีอาการหลงลืมบ่อยขึ้น ถามซ้ำๆ ขับรถหลงทาง หรือเฉี่ยวชนบ่อย อารมณ์แปรปรวน จากคนอารมณ์เย็นกลายเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดง่าย ใจร้อน พฤติกรรมเปลี่ยน กลางคืนไม่ยอมนอน ชอบค้น ชอบรื้อของ อาการประสาทหลอน หลงผิด ควรปรึกษาประสาทแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เพราะต้องทำการทดสอบความจำ ตรวจเลือด ตรวจสมองเพื่อหาสาเหตุ โรคความจำเสื่อมที่พบได้บ่อย จะขอกล่าวถึงเพียง 4 โรค คือ โรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งพบบ่อยที่สุด ระยะแรกจะมีอาการหลงลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานแต่ความจำระยะยาวยังคงปกติ ชอบถามซ้ำ เริ่มมีปัญหากับการคิดคำนวณ ทอนเงินผิด นับเลขผิด ส่วนใหญ่ญาติจะไม่ทันสังเกต เพราะคิดว่าเป็นสิ่งปกติของคนสูงวัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการเป็นมากขึ้นนอกจากหลงลืมมากขึ้น ลืมปิดน้ำ ปิดไฟ มรอารมณืแปรปรวน พฤติกรรมเปลี่ยน นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน มีเรื่องทะเลาะกับคนข้างบ้าน หรือหวาดระแวงว่าจะมีขโมยขึ้นบ้าน หากพบแพทย์จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งในปัจจุบันต้องรับประทานยาควบคุมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากอาการเป็นมากขึ้นจนมีผลต่อชีวิตประจำวัน ต้องหาผู้ดูแลใกล้ชิดเพราะการช่วยเหลือตัวเองจะทำได้ยากขึ้น โรคความจำเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง คนที่มีโรคประจำตัวเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นเวลาหลายปี ต่อมาญาติสังเกตว่าเฉยเมย พูดน้อยลง เดินลำบาก ปัสสาวะ อุจจาระราด จึงมาพบแพทย์ หลังจากตรวจคอมพิวเตอร์สมองพบว่ามีหลอดเลือดในสมองตีบหลายแห่งแพทย์จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองต้องมียาต้านเกล็ดเลือด ยาช่วยความจำและบางรายต้องมียารักษาอาการจิตประสาทร่วมด้วย พร้อมกับการควบคุมโรคประจำตัวอย่างเข้มงวด ก็จะทำให้ความจำนั้นดีขึ้นได้ โรคความจำเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน อาการของโรคพาร์กินสันที่จำง่ายๆคือ สั่น ชา เฉย ได้แก่ มือสั่น เดินช้า หน้าเฉยไม่แสดงสีหน้า เหมือนคนใส่หน้ากาก หากเป็นโรคนี้มาหลายปี ก็พบว่าเกิดอาการความจำเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งต้องทำการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคความจำเสื่อมจากโรคพาร์กินสันก็จะแนะนำให้รับประทานยารักษาความจำร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสัน โรคความจำเสื่อมที่เกิดจากโพรงน้ำในสมองโต อาการที่พบได้คือ เดินก้าวขาไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต่อมาเกิดความจำเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง หากพบว่าโพรงน้ำในสมองโตผิดปกติจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดใส่ท่อเพื่อระบายน้ำในสมองก็จะทำให้อาการดีขึ้น                  ดังนั้นหากคนใกล้ชิดเริ่มมีอาการหลงลืม และไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคความจำเสื่อมหรือไม่ควรมาพบประสาทแพทย์เพื่อทำการทดสอบความจำ ตรวจเลือดและตรวจสมอง แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ และกลัวว่าตนเองหรือพี่น้องจะเป็นโรคชนิดพันธุกรรมก็สามารถทำการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ รวมทั้งการตรวจสมองด้วยวิธีพิเศษที่เรียกว่า PET scan การฝึกความจำทำได้หลายรูปแบบ แต่ถ้าเป็นแนวพุทธก็ให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน หรือการฟังเพลงบรรเลงเพื่อผ่อนคลายบรรยากา  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม