ข้อดีของการจัดฟัน แบบ Invisalign

ข้อดีของการจัดฟัน แบบใส  Invisalign                              ทุก ๆ อาชีพ ทุก ๆ ช่วงอายุ สามารถจัดฟันแบบใส ได้ ไม่มีขีดจำกัดในการจัดฟันแบบใส Invisalign    ข้อดีการจัดฟันแบบใส Invisalign                    ข้อดีอย่างแรกเลย  คือ ใส่อุปกรณ์แบบใส invisalign แล้วรู้สึกสบายเหมือนไม่ได้ใส่แผ่นใสครอบฟันอยู่ จนบางครั้งลืมไปเลยว่านี่เราดัดฟันอยู่ และไม่ต้องทนเจ็บที่จะต้องมาดึงเหล็กดัดทุกเดือน จนต้องทานแต่โจ๊กไป 2-3 วัน ในขณะที่ดัดฟันแบบใส invisalign สามารถทานอาหารทุกอย่างได้ตามปกติโดยที่ไม่ปวดฟันเลย            ข้อดีต่อมาคือ ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ต่างจากการแปรงฟันทั่วไป แปรงสีฟันก็ใช้แปรงธรรมดา ไม่ต้องเป็นแบบพิเศษเหมือนคนที่จัดฟันแบบใส่เหล็กดัด และยังไม่ต้องกังวลว่าจะมีเศษอาหารอะไรมาติดที่เหล็กดัดฟันจนทำให้ขาดความมั่นใจ แถมยังสามารถใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติอีกด้วย           นอกจากนี้เคยสังเกตตัวเองมั๊ยคะ  เวลาที่เราคุยกับคนที่ใส่เหล็กดัดฟันเราก็มักจะมองไปที่ฟันที่ใส่เหล็กอยู่ของคนที่เราสนทนาด้วย ทำให้ความสนใจ ของเราส่วนหนึ่งไปดูที่การมองเหล็กดัดฟัน ส่วนการดัดฟันแบบใส invisalign นั้น คนที่สนทนากับเรานั้นส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเราดัดฟันแบบใสอยู่ อันนี้จึงเป็นข้อดีที่สำคัญของการดัดฟันแบบใส invisalign เพราะผู้ที่สนทนากับเราก็จะได้ให้ความสนใจในสิ่งที่เราพูด โดยที่ไม่ถูกเหล็กดัดฟันดึงความสนใจไป  และที่สำคัญเลยคือ...เรื่องอายุ เพราะโดยทั่วไปอายุของคนที่เราเห็นใส่เหล็กดัดฟัน ก็จะเป็นเด็กหรือวัยรุ่นส่วนมาก อย่างเราก็อยู่ในวัยทำงาน ถ้ามีใส่เหล็กดัดฟัน ก็อาจจะมีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้นในใจของคนที่ได้พบเห็น คนวัยทำงานจึงให้ความสนใจกับการจัดฟันแบบใส กันมากขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คนสูงอายุว่ายน้ำ … ได้ประโยชน์อย่างไร !

ปัญหาคนสูงอายุ  คือ  สุขภาพไม่ดี   โรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ คือ  โรคหัวใจ  โรคมะเร็ง  เส้นเลือดในสมองแตก  โรคเบาหวาน การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร  และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ  จะลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรค  หรือควบคุมโรคได้และทำให้มีสุขภาพดีขึ้น ปัญหาของคนสูงอายุอีกประการ   คือ  ข้อเสื่อม  กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง  การออกกำลังกาย  การยกน้ำหนัก  วิ่ง  อาจเป็นอันตรายได้ การว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น  กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น   และไม่ทำให้มีการบาดเจ็บต่อข้อที่รับน้ำหนัก  เช่น  หลัง  ข้อสะโพก  และข้อเข่า ก่อนการลงสระว่ายน้ำเป็นครั้งแรก  ควรได้รับการตรวจร่างกายและคำแนะนำจากแพทย์ว่า  ไม่มีโรคผิวหนัง  ไม่มีบาดแผล  ไม่มีโรคหัวใจระยะอันตราย  ไม่มีปัญหาเรื่องแพ้คลอรีน  ไม่มีโรคเกี่ยวกับตา  แก้วหูทะลุ  หรือการติดเชื้อในช่องหู ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้สระว่ายน้ำ  เช่น  ทำความสะอาดร่างกายก่อนใช้สระว่ายน้ำ  แต่งชุดว่ายน้ำที่สุภาพ  สวมหมวกว่ายน้ำ  มีแว่นตากันน้ำ  มีที่อุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู  ควรว่ายน้ำในช่วงเวลาที่มีผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย การออกกำลังว่ายน้ำได้ประโยชน์หลายอย่าง เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค  ช่วยให้ระบบไหลเวียน  หัวใจทำงานดีขึ้น  ช่วยเผาผลาญไขมัน  ลดน้ำหนัก  ผู้ที่ยังว่ายน้ำไม่เก่ง  สามารถเกาะแผ่นช่วยว่ายน้ำ  แต่ต้องว่ายน้ำต่อเนื่อง  15 – 20  นาที ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง  โดยไม่มีอันตรายต่อข้อ  เช่น  การบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า  กล้ามเนื้อหลัง  กล้ามเนื้อหน้าท้อง ช่วยบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น ช่วยบริหารให้ข้อเคลื่อนไหวได้มากขึ้น  ช่วยป้องกันรักษาสภาวะข้อยึดติด การออกกำลังเป็นหมู่คณะร่วมกับบุคคลอื่น  หรือในครอบครัว  ช่วยให้มีความสนุกสนาน  เพลิดเพลิน  และก่อให้เกิดสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน การว่ายน้ำสม่ำเสมอ  สัปดาห์ละ  3 – 5  ครั้ง  ช่วยทำให้สุขภาพร่างกายทั่วไปดีขึ้น  แข็งแรงขึ้น  รวมทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ดีขึ้นด้วย  เป็นการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด  ถ้าท่านออกกำลังว่ายน้ำสม่ำเสมอ  รวมทั้งปรับพฤติกรรมการกิน  หลีกเลี่ยงอาหารมัน  หวาน  อาหารทอด  เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์  เช่น  ผัก  ผลไม้หลาย ๆ ชนิด  เนื้อปลา  ธัญพืช  ท่านจะห่างไกลจากโรค  มีสุขภาพที่ดีขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

10 โรคแทรกซ้อนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร          บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic Cigarette) เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดควันและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป และด้วยการสูบควันของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา   ควันจากบุหรี่ไฟฟ้า           ควันจากบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกันกับบุหรี่มวน สารนิโคตินนี้ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง ในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารมีพิษอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบของร่างกาย ทำให้เกิดอาการไอ ระคายเคืองปอด เพิ่มความเสี่ยงอาการหอบหืด ควันระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่าบุหรี่มวน  สามารถเข้าไปในปอดส่วนลึกมากกว่า ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว อีกทั้งขดลวดโลหะในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถปล่อยโลหะหนักออกมาได้ การสูบควันในระยะยาวอาจทำให้เกิดความผิดปกติของประสาทสัมผัสรับกลิ่น เมื่อการรับรู้กลิ่นลดลง ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงต้องเลือกน้ำยาที่มีรสชาติเข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจยิ่งสร้างความระคายเคือง ทำลายจมูก ปอด และทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น   ภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า            แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ถูกกฎหมายในปัจจุบัน แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยนักสูบหันมาใช้แทนบุหรี่แบบดั้งเดิม ด้วยความเชื่อเรื่องความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง นอกจากนี้ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และเยาวชน ดังนั้นเพื่อหยุดผลกระทบในมิติต่าง ๆ จากบุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องมีการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไข ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันการบุกโจมตีของอุปกรณ์สูบยาประเภทนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัย พบรายงานโรคแทรกซ้อนจากบุหรี่ไฟฟ้าในระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 49, ระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 13, ช่องปากและฟัน ร้อยละ 18, สมอง ร้อยละ 7,  ตับ ร้อยละ 2.9,  ผิวหนัง ร้อยละ 2.9 และระบบอื่น ๆ ร้อยละ 19            การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดถึง 1.8 เท่า และทำให้ปอดอักเสบ มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 49 โรคหอบหืดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 แถมยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองในเด็กและเยาวชนลดลงและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขจำนวนของผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2562              ทุกวันนี้ ยังคงมีการถกเถียงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่า แท้จริงแล้วเป็นตัวช่วยหรือตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนอยากเลิกสูบบุหรี่ได้จริงไหม?   บุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชน           บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่ายขึ้นโดยผ่านทางโซเชียลมีเดีย “บุหรี่ไฟฟ้า” ในโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผู้จำหน่ายดึงดูดใจเยาวชนให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นด้วยภาพลักษณ์แปลกใหม่ทันสมัย รูปทรงสวย ขนาดเล็ก สามารถพกซ่อนติดตัวได้ง่าย และแตกต่างจากบุหรี่ทั่วไป มีการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ทั้งยังหาซื้อได้ง่าย จึงเข้าถึงเด็ก และเยาวชนมากขึ้นเรื่อยๆ ในเด็กและเยาวชนที่สมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า   กลิ่นและรสชาติ            บุหรี่ไฟฟ้าบุกจู่โจมกลุ่มนักสูบหน้าใหม่จากกลิ่นและรสชาติถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถยั่วใจลูกค้าได้ โดยในตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามีของเหลวปรุงแต่งรสประมาณ 20,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีซึ่งระเหยง่าย อาจเป็นสารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่อาจจะไม่ปลอดภัยเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นควันที่สูบหรือสูดเข้าไป การผสมสารปรุงแต่งรสชาติยังเป็นการอำพรางความไม่พึงประสงค์ของควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน โลหะหนัก ฟอร์มาลดีไฮด์ ฯลฯ ซึ่งทั้งฉุนและเป็นอันตราย สารปรุงแต่งรสทำให้สัญญาณเตือนภัยทางประสาทสัมผัส และปฏิกิริยาป้องกันของผู้ใช้ลดลง มีผลการวิจัยเผยให้เห็นว่า สารแต่งกลิ่นรสทำปฏิกิริยาผลิตสารระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสเป็นเวลานานอาจทำให้ไอเรื้อรัง มีการอักเสบในทางเดินหายใจ และปอดถูกทำลายอย่างเฉียบพลัน   การใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่คนหนุ่มสาว เด็ก และเยาวชน ทำให้ต้องมีการจับตาเฝ้าระวัง รวมทั้งมีวิธีการแก้ไขและป้องกัน เพื่อลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ปกป้องเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาวจากการติดนิโคตินไปตลอดชีวิต รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา ทั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน บุคลากรทางด้านสาธารณสุข องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และรัฐบาล รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะกรดไหลย้อนเข้าหลอดอาหารอย่างไรผิดปกติ ?

ภาวะกรดไหลย้อนเข้าหลอดอาหารอย่างไรผิดปกติ ?  โรคกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ คืออะไร (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD)              ภาวะที่กรดในกระเพาะอาหาร  จะถูกหลั่งออกมาเพื่อการย่อยอาหาร  กรดในกระเพาะนั้นไม่มีการไหลย้อนขึ้นสู่หลอดอาหารส่วนบน  แต่ในภาวะผิดปกติ  กรกนี้อาจไหลย้อนผ่านกล้ามเนื้อหูรูดส่วนบนของหลอดอาหาร  ซึ่งอาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ  และมีแผล (erosive esophagitis) หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล (non-erosive esophagitis)            นอกจากนี้  กรดนี้อาจไหลย้อนผ่านหลอดอาหารเข้าสู่หลอดคอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux : LPR)  เกิดพยาธิสภาพต่าง ๆ เพราะเยื่อบุกล่องเสียง  และหลอดคอบอบบางทนสภาวะกรดได้ไม่ดี  รวมทั้งอาจก่อปัญหาด้านระบบการหายใจและปอด  ปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่าง  เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการไหลย้อนกลับ  ของกรดหรือน้ำย่อยจากหลอดอาหารภาวะนี้เกิดได้ตลอดเวลา  และไม่ว่ากำลังรับประทานอาหารหรือไม่ก็ตามพบอาการนี้ได้ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้ใหญ่   อาการทางคอและหลอดอาหาร ·       รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ ·       กลืนลำบาก  ติดขัด  คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ  หรือกลืนแล้วเจ็บ ·       เจ็บคอ  หรือแสบปาก  หรือเจ็บเรื้อรัง  โดยเฉพาะในตอนเช้า ·       รู้สึกมีเสมหะอยู่ในลำคอ  หรือระคายคอตลอดเวลา ·       เรอบ่อย  คลื่นไส้  คล้ายมีอาหาร  หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก  หรือคอ ·       อาการปวดแสบปวดร้อน  บริเวณหน้าอก  และลิ้นปี่ (Heartburn) บางครั้งร้าวไปถึงบริเวณคอ  และไหล่ ·       รู้สึกจุดแน่นในคอ  หรือหน้าอก  คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia) ·       มีกลิ่นปาก  เสียวฟัน  หรือมีฟันผุ อาการทางกล่องเสียงและปอด ·       เสียงแหบเรื้อรัง  หรือแหบเฉพาะตอนเช้า  มีเสียงผิดไปจากเดิม ·       ไอเรื้อรัง,  ไอ หรือรู้สึกสำลักน้ำลาย  หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน  จนอาจทำให้ต้องตื่นกลางดึก ·       กระแอม  ไอบ่อย ๆ ·       อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่(ถ้ามี)  แย่ลง  หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา ·       เจ็บหน้าอก (non-cardiac chest pain) ·       เป็นโรคปอดอักเสบ  เป็น ๆ หาย ๆ           อาการที่กล่าวข้างต้น  อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นตลอดให้ปรึกษาแพทย์  หู คอ จมูก  ซึ่งแพทย์จะตรวจทาง  หู  คอ  จมูก  เพื่อดูว่ามีความผิดปกติบริเวณกล่องเสียง  และคอหรือไม่  เพื่อแนะนำการรักษาและปฏิบัติตัวต่อไป ภาวะกรดไหลย้อนรักษาอย่างไร  ขึ้นอยู่กับอาการ  และสุขภาพของแต่ละคน  โดยทั่วไปหลักการรักษามี 3 ประการ 1.      ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย  และงดเว้นอาหารบางอย่างเพื่อลดภาวะกรดไหลย้อน 2.      การใช้ยาลดกรดที่ถูกต้อง  มักจำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ร่วมกับปฏิบัติในข้อ 1. 3.      การผ่าตัดรัดหูรูดกระเพาะอาหาร  จำทำให้รายที่เป็นรุนแรง  และไม่ตอบสนองต่อยา   เทคนิคในการลดภาวะกรดไหลย้อน            การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นเป้าหมายสำคัญของการรักษา  เพื่อให้อาการหายขาด  และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค  โดยปฏิบัติดังนี้              หลีกเลี่ยงอาหาร  และเครื่องดื่ม  ได้แก่  ชา  กาแฟ  น้ำอัดลม  อาหารทอด  อาหารรสจัด  อาหารมัน ๆ ช็อคโกแลต  ผักผลไม้บางชนิด  เช่น  ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว  สะระแหน่  หอมหัวใหญ่  ถั่ว  นม  (ดื่มนมพร่องมันเนยได้) ·       ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป ·       หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา  สูบบุหรี่  โดยเฉพาะช่วงเย็น ·       อย่านอนราบหลังจากเพิ่มรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 3 ชั่วโมงแรก ·       อย่าใส่เสื้อผ้าคับโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว ·       หมุนหัวเตียงให้สูง  อย่างน้อย 6 นิ้ว ·       ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  อย่าเครียด ·       ทำจิตใจให้สบาย  แจ่มใส   ช่วงระยะเวลาของการรักษา              ส่วนใหญ่ผู้ป่วยต้องรักษาค่อนข้างต่อเนื่อง  ตั้งแต่ 6 อาทิตย์  ถึง  6 เดือน   บางคนอาการจะหายไปอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งอาจหยุดยาได้หลายเดือน  หรือหลายปี   ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนนิสัยหรือสภาพแวดล้อม  พยาธิสภาพของแต่ละบุคคล  และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า  โรคนี้อาจหายขาดไปเลย  หรืออาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก   ***ถ้าท่านมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นภาวะกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ  โปรดปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer)           เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ปี พ.ศ.2542 พบมะเร็งลำไส้ใหญ่บ่อยเป็นอันดับสามในชายไทย (8.8 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน) รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด เป็นอันดับที่ 5 ในหญิงไทย (7.6 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน) โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และพบว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็งนี้จะมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ปัจจุบันมีการศึกษาด้านชีวภาพของโรคนี้มากขึ้น ทำให้เข้าใจถึงพยาธิกำเนิดนำไปสู่แนวทางการป้องกันโดยการตรวจคัดกรอง (Screening) ทำให้วินิจฉัยมะเร็งนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่มะเร็งลำไส้ใหญ่จะลุกลาม ส่งผลให้เพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น มีการตรวจหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ได้แก่ การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test : FOBT)           เป็นวิธีที่ใช้แพร่หลาย จากข้อมูลทางยุโรปและสหรัฐ พบว่าร้อยละ 1-2.6 ของผู้ที่ให้ผลบวกของ FOBT มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ความไวต่ำและมีผลบวกลวงสูง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบบริโภคเนื้อแดง หรือผักจำพวกหัวผักกาด กระหล่ำดอก บล็อกโคลี หัวไชเท้า แคนตาลูป ฯลฯ ซึ่งผู้ตรวจควรงดรับประทานอาหารดังกล่าว 3 วัน ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ มาตรวจ และอาจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระมาตรวจซ้ำ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ซึ่งผู้คัดกรอง หลายท่านไม่สะดวกและรู้สึกยากลำบากในการเก็บตัวอย่างมาตรวจนั่นเอง การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งและเอกซเรย์ (Double (air) Contrast Barium Enema : DCBE)           เป็นทางเลือกหนึ่งในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอดีต โดยใช้แป้งแบเรียมสวนเข้าทางทวารหนัก ประสิทธิภาพในการตรวจนี้ไม่ชัดเจน ความไวในการตรวจน้อยกว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ถ้าติ่งเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ข้อจำกัดอีกอย่างคือ ผู้รับการตรวจอาจไม่สามารถทนการตรวจได้ เพราะต้องอัดแป้งเข้าไปประกอบกับต้องกลั้นทวารหนัก พลิกตะแคงไปมาและยังต้องการรังสีแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ความชำนาญในการอ่านผลเป็นอย่างดี การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscope)           เป็นวิธีที่มี Cost Effective สูงสุดในปัจจุบัน สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงเป็นที่แนะนำของสมาคมแพทย์ต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากจะเห็นเนื้องอกชัดเจนแล้วยังสามารถนำติ่งเนื้องอกออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตามวิธีนี้จัดว่ามีภาวะแทรกซ้อนได้ร้อยละ 0.03-0.72 มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้รับการตรวจต้องอดอาหารและเตรียมลำไส้ใหญ่ให้โล่งว่าง ทั้งยังต้องการแพทย์ผู้ชำนาญในการส่องกล้องตรวจเพื่อความแม่นยำและลดภาวะแทรกซ้อนในการตรวจ การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography)           เป็นการนำ Helical CT ซึ่งมีความละเอียดสูง มาประกอบภาพ 3 มิติของลำไส้ใหญ่ ข้อดีคือ ทำให้เร็วและปลอดภัย เห็นภาพได้ตลอดความยาวลำไส้ใหญ่และมองเห็นผิวนอก ต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ ลำไส้ใหญ่ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างคือ ความไวและความจำเพาะไม่มาก ทั้งยังต้องเตรียมและต้องเป่าลมเข้าลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือชนิดนี้ยังมีไม่มากและไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตรวจจากระบบประกันสุขภาพได้ การรวจหาดีเอนเอ (Fecal DNA Testing)           มีความไวในการคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าการตรวจ FOBT ถึง 4 เท่า แต่มีความไว ครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การตรวจนี้อาจเป็นที่ยอมรับให้ใช้เป็น เครื่องมือในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต                                         ด้วยความปรารถนาดีจาก                                 ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ซอยจุ๊ เนื้อดิบ กับพยาธิตัวตืด

ซอยจุ๊ เนื้อดิบกับพยาธิตัวตืด พยาธิตัวตืด             มีลักษณะตัวแบน สีขาวขุ่น ลำตัวเป็นปล้อง ยาวหลายเมตร มีอายุนานถึง 30 ปี มักจะพบ 2 ชนิด คือ พยาธิตืดวัว (Taenia Saginata) และพยาธิตืดหมู (Taenia Solium) อาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อหมู วัว และควาย เข้าสู่ร่างกายผ่านน้ำดื่มหรือที่เจือปนไข่หรือตัวอ่อน รวมทั้งอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ จากนั้นตัวอ่อนจะฝังตัวเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในลำไส้จนทำให้เกิดโรคได้ โดยมันสามารถเคลื่อนออกจากลำไส้ แล้วสร้างถุงน้ำหุ้มกลายเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ตา หัวใจ ปอด กล้ามเนื้อ   อาการเมื่อได้รับพยาธิ          • หากอยู่ใน "สมอง/ไขสันหลัง" อาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก รุนแรงถึงตาย          • หากอยู่ใน “ตา” อาจตาบอดได้          • บางรายมีไข้ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเสีย ขาดสารอาหาร น้ำหนักลดลง เกิดอาการแพ้ ติดเชื้อแบคทีเรีย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว   ประเภทยาถ่ายพยาธิ           อัลเบนดาโซล (Albendazole) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลมและตัวตืด รวมทั้งพยาธิใบไม้ในตับหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือแพ้ยา ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร   การป้องกัน ล้างมือก่อนหรือหลังรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือหรือสุกๆดิบๆ รวมถึงการล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค  เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด  งดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อน ไม่กินของที่ตกบนพื้นแล้ว 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

8 วิธี กินทุเรียนให้ปลอดภัย ไม่ทำร้ายสุขภาพ

8 วิธี กินทุเรียนให้ปลอดภัย ไม่ทำร้ายสุขภาพ ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดขนาดกลาง (หนักประมาณ 80 กรัม) ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง 1 ทัพพี และของหวานในมื้อที่กินทุเรียน แต่ถ้าใครชอบกินทุเรียนมาก หากกินครั้งละประมาณ 2-3 พู หรือ 4-6 เม็ด ร่างกายจะรับพลังงานสูงถึง 520 – 780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินอาหารมื้อหลัก 2 มื้อ ทุเรียนแต่ละพันธุ์เมื่อเปรียบเทียบต่อปริมาณเนื้อทุเรียนหนัก 100 กรัมหรือ 1 ขีด จะให้พลังงานต่างกัน เช่น ทุเรียนก้านยาวให้พลังงาน 181 กิโลแคลอรี ทุเรียนรวง ให้พลังงาน 157 กิโลแคลอรี ทุเรียนหมอนทอง ให้พลังงาน 156 กิโลแคลอรี ทุเรียนชะนี ให้พลังงาน 139 กิโลแคลอรี ทุเรียนกระดุมให้พลังงาน  129 กิโลแคลอรี หรือหากเป็นทุเรียนกวนจะให้พลังงานมากขึ้นไปอีก คือ 340 กิโลแคลอรี นอกจากนี้ จึงควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน                 8 วิธี กินทุเรียนให้ปลอดภัย มีดังนี้ 1. รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรเกินวันละ 1 พู หรือ 2 เม็ด เพราะอาจส่งผลให้เกิดร้อนใน เจ็บคอ น้ำหนักขึ้นได้ 2. รับประทานทุเรียนสด ควรเลือกทุเรียนที่ไม่สุกงอมจนเกินไป เพราะยิ่งสุกมากจะหวานจัด แป้งและน้ำตาลจะเยอะ 3. ควรรับประทานทุเรียนในตอนเช้าหรือกลางวัน เลี่ยงการกินทุเรียนก่อนนอน ใกล้จะนอนแล้วร่างกายของเราก็จะไม่ได้ใช้พลังงานมากเท่าไหร่ หากเรากินทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่สูงก็จะยิ่งเป็นการทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายได้ เนื่องจากร่างกายเผาผลาญพลังงานไม่หมด ดังนั้นเพื่อเป็นการเลี่ยงไม่ให้ร่างกายต้องรับพลังงานมากเกินไปในช่วงเย็น ก็ให้เรากินทุเรียนในช่วงเช้าและกลางวันแทน เพื่อที่ร่างกายจะได้เบิร์นพลังงานออกไปทัน และหากรับประทานทุเรียน ควรลดปริมาณอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลในมื้ออื่น ๆ 4. ไม่รับประทานคู่กับอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวเหนียวราดน้ำกะทิ เพราะจะยิ่งเพิ่มแคลอรี่ 5. ไม่รับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลม เนื่องจากทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะได้รับพลังงานที่มากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดกระบวนการ เผาผลาญเพื่อกำจัดของเสียเพิ่มมากขึ้น 6. ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ จะช่วยแก้ร้อนในหลังจากกินทุเรียนได้ หรือรับประทานทุเรียนคู่กับมังคุดช่วยลดความร้อนได้ 7. ออกกำลังกาย เมื่อเรารู้ว่าการกินทุเรียนนั้นจะทำให้เราอ้วนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อกินเสร็จแล้วก็ควรจะต้องหาเวลาออกกำลังกาย เพื่อเป็นการช่วยให้ร่างกายได้เบิร์นพลังงานออกมา ไม่เหลือเก็บไว้เป็นไขมันสะสม ซึ่งหากทำร่วมกับการกินแบบจำกัดปริมาณ ก็จะช่วยให้เรายังสามารถควบคุมน้ำหนักอยู่ได้ในช่วงหน้าทุเรียนแบบนี้ 8. หากมีโรคประจำตัวควรกินให้น้อยที่สุด คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังในการกิน แนะนำให้กินไม่เกิน 1 เม็ดเล็กต่อวัน หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อน   “สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อยเกินไป เพราะการกินทุเรียนปริมาณมากหรือกินทุเรียนบ่อยเกินไป จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ นอกจากนี้ กรดกำมะถันในทุเรียนจะทำให้เอนไซม์ที่กำจัดสารพิษจากกระบวนการเผาผลาญลดลง หากมีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียนและอาเจียน หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจเสียชีวิตได้”   ข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1.น้ำนมแม่        - เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบ สร้างมาโดยเฉพาะสำหรับลูกของคุณ        - ย่อยและดูดซึมง่าย        - ช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรค        - ช่วยสร้างเสริมความผูกพันธ์ระหว่างแม่-ลูก 2.ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่        - ลดปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ และโรคอ้วน        - ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับ การขับถ่าย หรือการย่อย เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด        - มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่สมบูรณ์ 3.ควรจะให้ลูกดูดนมให้เร็วที่สุดครั้งแรก       - น้ำนมช่วงแรกจะเป็นสีเหลือง มีประโยชน์มากในการป้องกันการติดเชื้อ      - ให้ลูกดูดนมบ่อยๆเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วและปริมาณเพิ่มขึ้น พอกับความต้องการ ควรให้ลูกดูดนมทั้ง 2 เต้า ในการให้นมแต่ละครั้ง การอุ้มลูกให้ถูกท่า และการให้ลูกอมหัวนมได้ถูกต้องเป้นสิ่งสำคัญมาก ให้ลูกดูดนมแม่นานที่สุดเท่าที่ลูกต้องการ ให้ลูกดูดนมจากเต้าที่ยังค้างอยู่เสมอ อย่ากังวลถ้ารู้สึกเจ็บหัวนมใน 2-3 วันแรก ในไม่ช้าก็จะหายไปเอง ควรไล่ลมให้ลูกระหว่างการให้นม และหลังให้นมลูกทุกครั้ง     4.ท่าในการให้ลูกดูดนมแม่       - อุ้มลูกให้หันเข้าหาเต้านม       - ให้หัวนมแตะที่ริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เด็กจะอ้าปากกว้างให้ปากเด็กอมทุกส่วนของหัวนม และส่วนที่มีสีน้ำตาลรอบๆหัวนม       - ประคองศีรษะลูกให้ชิดหน้าอกแม่       - ดึงเอาก้นลูกชิดกับแม่ ลูกจะสามารถหายใจได้สะดวกเพราะจมูกของลูกแหงนขึ้น       - ควรจะให้ลูกหยุดดูดนมก่อน แล้วจึงเอาหัวนมออกจากปากลูก       - สอดนิ้วก้อยเข้าไปที่มุมปากลูก จะอ้าปากกว้างก็ดึงหัวนมออก เพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมแตก 5.อาหาร      - อาหารหลัก 5 หมู่ อาหารที่ควรงด งดอาหารหมักดอง ยาดองเหล้า ยาขับน้ำคาวปลา งดอาหารที่มีกลิ่นฉุน พวกผักกระถิน ผักกระเฉด ชะอม น้ำพริกต่างๆ 6.ประโยชน์ต่อแม่       - ลดอัตราเสี่ยงต่อการตกเลือด       - ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว       - รูปร่างของแม่กลับสู่สภาพเดิมได้เร็ว       - ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเต้านม   ประโยชน์ต่อลูก ได้สารอาหารครบถ้วน ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย มีภูมิคุ้มกันโรค ลดปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ โรคอ้วน ทำอย่างไรจึงจะมีน้ำนมเพียงพอ แม่พร้อมและเต็มใจให้ลูกดูดนมทันที ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ถ้าลูกหลับนานเกิน 3 ชั่วโมง ควรปลุกให้ลูกดูดทั้ง 2 เต้า และดูดอย่างถูกวิธี ควรให้ลูกดูดนมจากเต้านมแม่โดยตรง ให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียว ไม่ให้น้ำนมผสมถึงอายุ 4-6 เดือน คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่   ดื่มน้ำมากๆ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และไม่น้อยกว่าตอนตั้งครรภ์ ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ในระยะแรก ลูกยิ่งดูดบ่อยน้ำนมจะมามาก ให้ลูกดูดนมทั้ง 2 ข้าง ในแต่ละครั้ง ให้นมผสมแก่ลูกเท่าที่จำเป็น เพราะจะทำให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง จำไว้ว่า ถ้าเปลี่ยนผ้าอ้อม 6-8 ครั้งต่อวัน แสดงว่าลูกได้น้ำนมแม่เพียงพอ   7.การบีบน้ำนมด้วยมือ      - วางนิ้วมือและหัวแม่มือ ดังรูป      - นิ้วมือควรจะวางหลังลานหัวนม ส่วนที่เป็นสีน้ำตาล      - กดลงบนเต้านมเบาๆ รีดไปข้างหน้า แล้วปล่อยมือ ทำอย่างนี้หลายๆครั้ง จนกว่าน้ำนมจะไหล      - บีบน้ำนมใส่ในภาชนะที่สะอาด     - เปลี่ยนบริเวณที่บีบเต้านมไปเรื่อยๆ จนรอบเต้านม     - เก็บน้ำนมลงในขวดที่สะอาด และเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 24 ชั่วโมง ถ้าเก็บไว้ในห้องทำน้ำแข็ง เก็บได้นาน 2 สัปดาห์   8.ควรจะให้ลูกดูดนมจากขวดหรือไม่ เวลาออกนอกบ้าน      ในระยะแรกควรจะหลีกเลี่ยงการให้นมผสม ถ้าจำเป็นต้องให้รอจนกว่าลูกจะรู้วิธีการดูดนมจากแม่ก่อน อาจต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ ถ้าคุณจำเป็นต้องห่างจากลูก ให้บีบน้ำนมไว้ให้ลูก วิธีนี้จะทำให้เด็กได้มีน้ำนมทาน ควรป้อนด้วยช้อนหรือถ้วยป้อนนม มากกว่าการใช้ขวดนมเพราะลูกอาจสับสนระหว่างนมแม่และจุกนมยาง และไม่ยอมดูดนมแม่อีกได้   หลักสำคัญในการกระตุ้นให้มีน้ำนม ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดอย่างถูกวิธี สาเหตุที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทารกเกิดความสับสนระหว่างการดูดนมแม่ และการดูดนมจากขวด ป้อนนมผงมากเกินไป (กลัวลูกไม่อิ่ม) ไม่เข้าใจธรรมชาติของทารก และการสร้างนม   ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลวิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอด

คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอด การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด หน้าท้อง หลังคลอดใหม่ๆ หน้าท้องจะยังไม่ยุบลงทันที และมีริ้วรอยการแตก เนื่องจากกล้ามเนื้อยืดขยายขณะตั้งครรภ์ การบริหารร่างกายหลังคลอดจะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องที่หย่อนยานกระชับขึ้น และช่วยละลายไขมันส่วนเกินออกไป สำหรับมารดาที่คลอดธรรมชาติสามารถเริ่มการบริหารตามท่าที่แนะนำได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 หลังคลอด ส่วนมารดาที่คลอดโดยการผ่าตัด สามารถเริ่มการบริหารได้ในสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 หลังผ่าตัด เมื่ออาการเจ็บแผลทุเลาลงแล้ว เต้านม จะรู้สึกคัดตึงประมาณวันที่ 3-4 หลังคลอดในครรภ์แรก ส่วนครรภ์หลังจะรู้สึกคัดเต้านมเร็วกว่า ประมาณวันที่ 2-3 หลังคลอด มารดาบางรายอาจปวดคัดเต้านมมากจนมีไข้ต่ำๆ หนาวสั่นได้ สามารถให้ลูกดูดนมได้ตามปกติ และรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลบรรเทาอาการปวดได้ อาการปวดมดลูก มารดาหลังคลอดจะมีอาการปวดมดลูกในระยะ 2-3 วันแรก เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก เพื่อขับน้ำคาวปลา มักมีอาการปวดเป็นพักๆ โดยเฉพาะในขณะที่ลูกดูดนม ในครรภ์หลังจะพบว่ามีอาการปวดมากกว่าครรภ์แรก น้ำคาวปลา ตามปกติจะมีประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ระยะ 3-4 วันแรก จะมีสีแดงคล้ายเลือดประจำเดือน ปริมาณจะค่อยๆลดลง และมีสีจางเป็นสีเหลืองขุ่นและจะค่อยๆหมดไป ระยะหลังคลอดและให้นมบุตร อาจมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ บางรายอาจขาดประจำเดือนไปหลายเดือนตลอดระยะเวลาที่ให้นมบุตร การดูแลสุขภาพทั่วไป อาหาร มารดาหลังคลอดควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและช่วยให้น้ำนมมีคุณภาพดี อาหารจำพวกนม ไข่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควรรับประทานปริมาณเท่ากับขณะตั้งครรภ์ ส่วนข้าว แป้ง น้ำตาล ไขมัน ควรรับประทานพอสมควรไม่มากจนเกินไป อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ของหมักดอง อาหารรสจัด เพราะอาหารเหล่านี้จะขับออกมากับน้ำนม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกได้ การขับถ่าย ระยะหลังคลอดใหม่ๆอาจมีปัญหาท้องผูก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และความรู้สึกกลัวเจ็บแผลบริเวณฝีเย็บ จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยจำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และบริหารร่างกายอย่างถูกต้อง (ตามคำแนะนำเรื่องการบริหารร่างกายหลังคลอด) การทำความสะอาดร่างกาย สามารถอาบน้ำ สระผมได้ตามปกติโดยการตักอาบหรือใช้ฝักบัว ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำแบบแช่ (ในอ่าง อาบน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง) เนื่องจากในระยะนี้ ปากมดลูกปิดไม่สนิท อาจมีการลุกลามของเชื้อโรคภายในช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูกและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ สำหรับมารดาที่คลอดด้วยการผ่าตัด ควรใช้วิธีเช็ดตัว ถ้าแพทย์เปลี่ยนผ้าปิดแผลเป็นแบบพลาสเตอร์กันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรสังเกตว่าพลาสเตอร์มีการลอกหรือมีน้ำซึมเข้าแผลผ่าตัดหรือไม่ การใช้ผ้ารัดหน้าท้อง ในเวลากลางวันควรใช้ผ้ารัดหน้าท้องไว้ ขณะเดินแผลจะได้ไม่เคลื่อนไหว เพื่อลดอาการเจ็บแผล ส่วนกลางคืนเวลานอนควรถอดซักทำความสะอาดไม่ต้องใช้ผ้ารัดหน้าท้อง แผลฝีเย็บ จะรู้สึกเจ็บตึงใน 3-4 วันแรก อาการเจ็บจะค่อยๆทุเลาลงแผลจะหายสนิทภายใน 7-10 วัน ไม่ต้องตัดไหม หลังการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระทุกครั้งควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด การทำความสะอาดควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ย้อนจากด้านหลังมาด้านหน้า เพราะจะนำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลบริเวณช่องคลอด การพักผ่อน           มารดาควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันควรได้หลับพักผ่อนบ้างขณะทารกหลับ ถ้าไม่หาโอกาสพักผ่อนมารดาจะอ่อนเพลียมากขึ้น การปฏิบัติตัวของมารดาที่เป็นริดสีดวง          ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก อาจประคบด้วยถุงน้ำแข็งเพื่อลดความเจ็บปวด และป้องกันไม่ให้ท้องผูก โดยดื่มน้ำและรับประทานผัก ผลไม้มากๆ หรืออาจใช้เส้นใยอาหารเสริมจากธรรมชาติในโอกาสที่ต้องเดินทาง เพื่อความสะดวกและสะอาดปลอดภัย ถ้าปวดมากอาจใช้ครีม หรือยาเหน็บตามแพทย์สั่ง การปฏิบัติตัวของมารดาขณะท้องผูก         อาจใช้ยาถ่ายตามแพทย์สั่ง (ควรงดให้นมบุตรระหว่างใช้ยาทุกชนิด) หรืออาจให้ดื่มน้ำ รับประทานผัก และผลไม้มากๆ การมีเพศสัมพันธ์        ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพราะปากมดลูกยังไม่ปิด จะมีโอกาสติเชื้อได้ง่าย การคุมกำเนิด       การคุมกำเนิดมีหลายวิธี เช่น ยาเม็ด ยาฉีด ห่วงอนามัย ถุงยางอนามัย ยาฝังใต้ผิวหนัง การทำหมันหญิงและชาย สามีภรรยาควรจะได้ปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลที่ทำหน้าที่นี้ เพราะยาคุมกำเนิดจะไม่ใช้กับผู้ป่วยโรคตับ หัวใจ ความดันโลหิตสูง และห่วงอนามัยจะไม่ใช้กับสตรีที่มีการอักเสบของช่องคลอด และโพรงมดลูก ถ้าสามีทำหมันต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นหลังทำหมัน 3 เดือน หรือได้รับการตรวจน้ำเชื้อว่าเป็นหมันแน่นอนแล้ว   อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ มีเลือดออกมากผิดปกติ ทางช่องคลอด ปวดท้องมาก ปวดจนบิด มีไข้ หนาวสั่น อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปัสสาวะกะปริบกะปรอย หรือแสบขัด แผลผ่าตัดบวมแดงมีหนอง แผลฝีเย็บบวมแดง มีหนองหรือเลือดไหลออกจากแผลฝีเย็บ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีสีแดงตลอดภายใน 15 วัน หลังคลอด มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง บริหาร 10 ท่วงท่า...รักษารูปร่างสวย       ก่อนเริ่มบริหาร ขอแนะนำให้คุณแม่ที่คลอดเอง เริ่มบริหารร่างกายหลังจากคลอดได้ 2-3 วัน ส่วนคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัดควรรอจนครบ 1 เดือนก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มบริหารจะดีกว่า แต่เริ่มทำช้าก็ได้ผลช้า เพราะฉะนั้นเริ่มเร็วก็สวยเร็วขึ้นด้วย ท่าที่ 1 บริหารหน้าอก ไหล่ หลัง ลำคอ และลดหน้าท้อง      นอนหงายแขนแนบข้างลำตัว ค่อยๆยกศีรษะขึ้นจากพื้นช้าๆจนคางจรดหน้าอก นับหนึ่ง สอง สาม ขณะที่ยกศีรษะขึ้น แขน ขา และลำตัวต้องเหยียดตรงแล้วค่อยๆ วางศีรษะลงช้าๆ ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง หากคุณแม่มีหน้าท้องหย่อนมาก ให้ใช้มือทั้งสองข้างประสานกันไว้ที่หน้าท้องกดกล้ามเนื้อลงเมื่อยกศีรษะขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องจะตึง แล้วพยายามใช้มือกดไว้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งแยกจากกันสองข้างกลับเข้ามาชิดกันได้ดียิ่งขึ้น ท่าที่ 2 บริหารขา ต้นขา  หน้าท้อง และสะโพก      นอนหงายราบแขนแนบข้างลำตัว ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น ทำเป็นมุมฉากให้เข่าทั้งสองชิดกันวางเท้าให้ราบและห่างกันพอสมควร ยกสะโพกขึ้นโดยใช้ไหล่ยันพื้นไว้ ขณะเดียวกันพยายามหนีบกล้ามเนื้อสะโพก จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณฝีเย็บหดตัวดีขึ้น ท่าที่ 3 บริหารหน้าท้อง สะโพก อก และช่วยขับน้ำคาวปลา     นอนคว่ำและยกก้นขึ้นมาให้เข่าใกล้หน้าอกมากที่สุด จนเป็นท่าโก้งโค้ง เข่าทั้งสองห่างกันประมาณ 1 ฟุต หน้าอกจะต้องวางแนบกับพื้น พักอยู่ในท่านี้ประมาณ 2 นาที แล้วใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้อง 1 ใบ เพื่อลดความเมื่อยล้า และนอนพักในท่านี้ประมาณครึ่งชั่วโมง ท่าที่ 4 บริหารกล้ามเนื้อทั่วตัว     คุกเข่า ต้นขา เข่า และเท้าชิดกับข้อศอก เอาฝ่ามือยันพื้นเหมือนท่าคลานแล้วค่อยๆลดข้อศอกลงวางราบกับพื้น ก้มศีรษะให้คางจรดหน้าอก แขม่วท้อง เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกและขา แล้วค่อยๆลดสะโพกลงแตะกับส้นเท้า ถอยหลังออกเล็กน้อย หน้าผากแตะพื้น ตอนนี้แขนจะเหยียดตรง แล้วยกลำตัวขึ้นกลับไปอยู่ในท่าเดิมมดลูกจะกลับคืนสู่ปกติได้เร็วยิ่งขึ้น ท่าที่ 5 บริหารกล้ามเนื้อช่องคลอด     คือ การขมิบช่องคลอดหรือทวารหนักในขณะที่นอนหรือนั่ง เหมือนกำลังถ่ายปัสสาวะแล้วหดทันที ควรทำครั้งละประมาณ 5-10 นาที หรืออาจขมิบประมาณวันละ 20 ครั้ง ขณะกำลังทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกอยู่ก็ทำได้ทั้งนั้น ท่าที่ 6 บริหารหน้าอก หน้าท้อง และปอด     นอนหงาย เหยียดแขนขา ให้ตรงตามลำตัว สูดลมหายใจให้เต็มที่ช้าๆ นับหนึ่ง สอง สาม และแขม่วท้องไว้สักครู่ พยายามให้บั้นเอวติดพื้นแล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พักสักครู่ก่อนแล้วค่อยทำต่อไปประมาณ 10 ครั้ง ท่าที่ 7 บริหารแขน หน้าอก และปอด     นอนหงายเหยียดตรงแขนแนบข้างลำตัว ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นในท่าเหยียดตรงชูขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัวจนมือทั้งสองจับกันได้ หลังจากนั้นค่อยๆ ปล่อยแขนลงช้าๆ จนกลับมาแนบลำตัวตามเดิม ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง ท่าที่ 8 บริหารขา สะโพก และหน้าท้อง    นอนหงายราบกับพื้น วางแขนแนบข้างลำตัว ยกขาขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัว พร้อมทั้งเหยียดขาให้ตรงสักครู่ แล้วลดขาลงที่เดิมช้าๆ ทำสลับกันทีละข้าง ทำประมาณ 10 ครั้ง เมื่อแข็งแรงดีแล้วค่อยลองยกขาพร้อมกันทั้งสองข้าง ท่าที่ 9 บริหารหน้าท้อง ไหล่ หลัง และลำคอ    นอนหงายลำตัวเหยียดตรง แขนวางแนบข้างลำตัว ยกตัวลุกขึ้นนั่งโดยงอเข่าและไม่ใช้แขนช่วยเลย ยกแขนขึ้นให้ขนานกับพื้นราบด้วย จากนั้นค่อยๆ นอนลงทำวันละ 1-2 ครั้ง ในครั้งแรก เมื่อแข็งแรงขึ้นค่อยๆ เพิ่มอีกวันละ 1 ครั้ง และแขนอาจจะเปลี่ยนที่ได้ 3 ท่า คือ วางแขนแนบข้างลำตัว ประสานมือทั้งสองข้างบนหน้าอกและประสานมือไว้ที่ท้ายทอย ท่าที่ 10 บริหารหน้าท้อง สะโพก และ ขา    นอนหงายราบ แขนเหยียดตรง งอเข่าขึ้นให้ชิดหน้าท้องมากที่สุด ให้ส้นเท้าสัมผัสกับก้น แล้วเหยียดขาให้ตรงค่อยๆ วางขาลงในท่าเดิม นับหนึ่ง สอง สาม โดยไม่งอเข่าเลย ทำสลับกันทีละข้าง โดยเริ่มจากทำทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีก 1-2 ครั้งทุกวัน   วัคซีนสำหรับลูกน้อย คนสำคัญสำหรับคุณ เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับลูกน้อยของคุณ     ในภาวะปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายของคุณพ่อคุณแม่คนใหม่ย่อมมีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีบุตร รพ.วิภาวดี จึงขอมีส่วนช่วยในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเสนอ Package ฉีดวัคซีนสำหรับลูกน้อยคนใหม่ของคุณ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้เลย อายุ การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 1 (Baby 1) การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 2 (Baby 2) การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 3 (Baby 3) 1 เดือน ตับอักเสบบี, ยาลดไข้ ตับอักเสบบี, ยาลดไข้ ตับอักเสบบี, ยาลดไข้ 2 เดือน วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ป้องกันไวรัสโรต้า วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ไวรัสโรต้า, ป้องกันโรค ipd 4 เดือน วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ป้องกันไวรัสโรต้า วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ไวรัสโรต้า, ป้องกันโรค ipd 6 เดือน วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี, ป้องกันโรค ipd 9 เดือน หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม 1 ปี ไข้สมองอักเสบ (2 does) ไข้สมองอักเสบ (2 does) ไข้สมองอักเสบ (2 does) ป้องกันโรค ipd   สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกกุมารเวช โทร 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 ต่อ 4220-21   ศูนย์หัตถเวช โรงพยาบาลวิภาวดี ขอเสนอบริการ ฟื้นฟูมารดาหลังคลอด 1 คอร์ส/3วัน พร้อมบริการด้านอื่นๆ รายการ -นวดเท้าแช่สมุนไพร -นวดตัว , กดจุด -นวดหน้า -นวดประคบสมุนไพร -นวดน้ำมัน (รีดเส้น) -สุวคนบำบัด (อโรมา) -นวดศีรษะคลายเครียด -อบสมุนไพรสด (ตู้ไม้) -อบสมุนไพรสด (ตู้ผ้า) สอบถามรายละเอียดและนัดหมายได้ที่ : ศูนย์หัตถเวช รพ.วิภาวดี โทร 02-561-1111 ต่อ 2928,2929    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เทคนิคการนวดเต้านม

เทคนิคการนวดเต้านม นวดเพื่อเพิ่มน้ำนม        การนวดเต้านม เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการกระตุ้นท่อน้ำนมในต่อมน้ำนม วิธีเตรียมตัว       ง่ายๆก่อนการนวด คือล้างมือให้สะอาดใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนประมาณ 1-3 นาที แล้วจึงนวดคลึงเต้านมอย่างนุ่มนวลเพื่อเรียกน้ำนมตามท่าต่างๆ น้ำนมแม่เพิ่มได้ใน 6 ขั้นตอน ผีเสื้อขยับปีก (Butterfly stroke) วางมือที่เต้านมด้านในนิ้วชิดกัน นวดจากเต้าด้านในออกไปด้านนอกในลักษณะหมุนวน หมุนวนปลายนิ้ว (Fingertip circles) ใช้อุ้งมือนึงรองเต้านมส่วนปลายนิ้วทั้ง 4 ของอีกมือวางเหนือลานนม แล้วนวดหมุนไปรอบๆทำซ้ำ 5 รอบ ประกายเพชร (Diamond stroke) ใช้ฝ่ามือวางทาบลงเต้านม จากนั้นบีบมือทั้ง 2 เข้าหากันพร้อมๆกับเลื่อนมือลงไปที่ลานนมทำสลับขึ้นลง กระตุ้นท่อน้ำนม (Acupressure point l) ยกมือข้างซ้ายวางไปด้านหลัง แล้วใช้นิ้วชี้วางบริเวณเหนือลานนมหนึ่งข้อนิ้วแล้วกดนิ้วชี้พร้อมกับวนที่ปลายนิ้วในตำแหน่งเดียวกัน เปิดท่อน้ำนม (Acupressure point ll) ยกมือข้างขวาวางไปด้านหลัง โดยใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบเหนือลานนมแล้วใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา จะได้ตำแหน่งการวางของนิ้วขี้ข้างซ้าย แล้วจึงกดและหมุนวนลงในตำแหน่งที่วัดได้คลายและกด ทำซ้ำ 5 ครั้ง พร้อมบีบน้ำนม (Final steps) ในขั้นตอนสุดท้ายต้องทำให้ครบทั้ง 4 ท่า โดยทุกขั้นตอนต้องไม่สัมผัสถูกหัวนม 6.1 ใช้อุ้งมือขวาประคองเต้าแล้วใช้นิ้วชี้ข้างซ้ายกดและหมุนวนไปโดยรอบลานนม 6.2 วางนิ้วมือขวาเต้าขวาแล้วกดนิ้วเข้าหากันพร้อมกับคลึงไปมาอย่างนุ่มนวล 6.3 ใช้เฉพาะนิ้วชี้ วางนาบลงที่ขอบลานนมทั้งสองข้าง กดนิ้วทั้งสองเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน 6.4 วางนิ้วมือขวาเต้าซ้ายแล้วกดนิ้วเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน เพื่อบีบน้ำนมในขั้นสุดท้าย นมแม่ดีที่สุด        “เพราะเป็นสุดยอดอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับทารก ซึ่งคุณแม่บางท่านก็อาจพบปัญหาน้ำนมน้อยจึงต้องใช้วิธี  “นวดเต้านม” เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ถึงแม้ว่าการนวดเต้านมจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ แต่คุณแม่ให้นมบุตรควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำนมด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบถ้วน” ข้อห้ามในการนวดเต้านม ผู้ที่เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ ปวดบวม แดงร้อน จะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น เป็นโรคผิวหนัง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย มีบาดแผลบริเวณเต้านม คำแนะนำสำหรับมารดา         นมแม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุดและยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆได้อีกด้วย นมแม่มีความจำเป็นต่อทารกในช่วง 6 เดือนแรก มีมารดาจำนวนมากที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อไปหลังจากพ้น 6 เดือนแรก ควบคู่กับการให้อาหารตามวัย มารดาสามารถขอคำปรึกษาเรื่องการให้นมแม่ได้จากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนๆหรือญาติที่เคยมีประสบการณ์ การให้นมแม่บ่อยๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้น้ำนมมีปริมาณเพียงพอและสม่ำเสมอ นอกจากนี้การบริโภคอาหารอย่างสมดุลทั้งระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดยังช่วยให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอเช่นเดียวกัน      

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม