ต้อกระจก คืออะไร รู้ทันสาเหตุ อาการ & วิธีการรักษา

โรคต้อกระจก โรคที่ต้องเป็น... แล้วจะดูแลอย่างไร?

ต้อกระจกคือ ภาวะเลนส์แก้วตาเกิดการเปลี่ยนแปลงมีความขุ่น ทำให้เกิดอาการตามัว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เราสามารถแบ่งสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ

  1. ต้อกระจกแต่กำเนิด( congenital cataract )
  2. ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง ( acquired cataract )

1. ต้อกระจกแต่กำเนิด( congenital cataract)

มีความขุ่นของเลนส์แก้วตาตั้งแต่หลังคลอดถึงภายใน 3 เดือนแรก ซึ่งถ้ามีความขุ่นพียงเล็กน้อย จะไม่ทำให้การมองเห็นลดลง ความขุ่นนี้อาจคงที่หรือค่อยๆเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นลดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่

สาเหตุ: อาจเกิดจากการติดเชื้อในครรภ์มารดาในช่วง3เดือนแรกของการตั้งครรภ์ การได้รับรังสีเอกซเรย์ขณะตั้งครรภ์ ภาวะขาดสารอาหาร มารดาเป็นเบาหวาน รวมถึงพันธุกรรมด้วย

2. ต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง( acquired cataract)

พบภายหลังในผู้ที่เคยมีเลนส์แก้วตาใสเป็นปกติมาก่อน ที่พบบ่อยๆได้แก่

  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย(senile cataract) เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ผู้ป่วยจะมีอาการตา ค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ เป็นปี
  • เกิดจากอุบัติเหตุ (traumatic cataract) คือต้อกระจกที่เกิดขึ้น จากการเกิดอุบัติเหตุที่ตา ไม่ว่าจะเป็นการกระแทก มีสิ่งแปลกปลอมเข้าในลูกตา ประวัติเคยทำการผ่าตัดภายในลูกตาอย่างอื่นมาก่อน การได้รับกระแสไฟฟ้าแรงสูง(electric shock) หรือการได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้า และศีรษะ
  • จากโรคทางเมตาบอลิซึม เช่นเบาหวานซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าวัย
  • จากการได้รับยาบ้างชนิด จากการรักษาโรคอื่นๆ เช่นคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • เกิดจากโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตา เช่น เคยมีแผลที่กระจกตา ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาหลุดออก

อาการของโรคต้อกระจก ได้แก่

  1. ตามัวลง มักเกิดอย่างช้าๆ ทีละน้อยไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่มีอาการอักเสบของตาร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและสาเหตุของการเกิดต้อกระจกในคนๆนั้น
  2. การแยกความแตกต่างของสี (contrast sensitivity) ลดลงเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า ที่มืดหรือเวลากลางคืน
  3. บางรายอาจมีการมองเห็นซ้อนได้ในตาข้างเดียว (monocular diplopia) ซึ่งเกิดจากความขุ่นของเลนส์ทำให้ เกิดการกระจายแสงในตา
  4. อาการคล้ายสายตาสั้นในช่วงแรก คือ จะมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้พอได้ มักเกิดกับต้อกระจกชนิดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ
  5. ปวดตาเนื่องจากต้อหินแทรกซ้อน พบได้ไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดงและปวดตาเฉียบพลัน ตามัวลงกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

การรักษา

  1. ช่วงแรกอาการมองไม่ชัดอาจพอแก้ไขได้ โดยการใช้แว่นสายตาช่วย แต่เมื่อถึงระยะหนึ่ง ที่ต้อกระจกเป็นมากขึ้นแว่นสายตาก็ไม่สามารถช่วยได้
  2. การใช้ยาหยอดตา มีรายงานว่ายาหยอดตาบางชนิดสามารถชะลอการเกิดต้อกระจกได้ แต่ไม่สามารถทำให้ต้อกระจกที่มีอยู่เดิมหายไป ทั้งนี้ผลที่ได้ยังไม่มีการรับรองชัดเจน และในบางรายก็ไม่ได้ผล
  3. การผ่าตัด ในปัจจุบันนี้มีวิธีการทำผ่าตัดหลักๆ ที่นิยมทำกันอยู่ 2 วิธี คือ
    1. 3.1 Extracapsular cataract extraction (ECCE) เป็นการใช้มีดผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เจาะถุงหุ้มเลนส์ เอาต้อกระจก (เลนส์ที่ขุ่น) ออกทั้งอัน เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมอันใหม่เข้าไปแทนที่ จากนั้นแยบปิดแผล นิยมทำกันในรายที่ต้อกระจกสุก หรือเป็นมากๆ
    2. 3.2 Phacoemulsification เป็นวิธีที่กำลังนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก ใช้มีดขนาด 3mm.เจาะเข้าในลูกตา เปิดฝาถุงอุ้มเลนส์ออกจากนั้นใช้หัว phoco ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง (คล้ายอัลตราซาวน์) ไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆดูดออก ซึ่งต่างจาก ECCE ที่เอาต้อกระจกออกทั้งอันจึงทำให้แผลค่อนข้างใหญ่กว่า หลังจากเอาต้อกระจกออกแล้ว จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลจากการทำผ่าตัดวิธีนี้มีขนาดเล็ก จึงอาจไม่จำเป็นต้องเย็บแผลได้ถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย

ทั้งนี้การผ่าตัดวิธีใด อาจเลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ กระจกตาดำขุ่นหรือจอประสาทตาบวม อาจพบได้ในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงในตัวผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างกัน

แพทย์

พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย
ศูนย์จักษุและเลสิคสาขาต้อหิน

<