หลงลืม เป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง

หลงลืม เป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง? คิดช้า...ลืมง่าย เป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง? ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหานี้หรือไม่?

"ทำไม เมื่อก่อน ความจำดีมาก และระยะนี้ เป็นอะไรไม่รู้ ได้หน้า ลืมหลัง สงสัยจะเป็นโรคอัลไซเมอร์" แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง?

    เมื่อสมัยยังหนุ่มสาว สามารถทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แต่พออายุมากขึ้น ต้องทำงานทีละอย่างให้เสร็จก่อน และจึงจะเริ่มทำงานต่อไปได้ สมองของเราเสื่อมแล้วหรือยัง? อาการหลงลืม พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในสังคมปัจจุบัน คนมักทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น พิมพ์งาน รับโทรศัพท์ ต้องทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน สมองคนเรามีความสามารถที่จะทำงานได้หลายอย่าง แต่เมื่อมีอาการล้าเพราะต้องทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง เป็นเวลาหลายวันจะส่งผลให้ทำงานได้ไม่ดี หลงลืม ที่เรียกว่า สมาธิไม่ดี หากสมองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ

     สำหรับผู้สูงอายุ สมองที่ใช้งานมานานหลายปี จะมีความเสื่อมซึ่งเกิดขึ้นตามวัย ดังนั้นการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะทำได้ยากขึ้นต้องใช้ความพยายามมาก จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเสียใหม่โดยทำงานให้เสร็จทีละอย่าง ก็จะทำงานได้ดีขึ้น สังคมโลกและสังคมไทยกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมของคนสูงวัยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 85 ปี ขณะที่ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 83 ปี

     เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญหาเรื่องความจำจึงเป็นอีกอาการหนึ่งของคนสูงวัย หลายคนพยายามจะฝึกสมาธิ ความจำด้วยการเล่นเกมส์ หรือกิจกรรมเสริมความจำ ซึ่งจะพบได้มากขึ้น สุภาษิตไทยที่กล่าวว่า "ได้หน้า ลืมหลัง" น่าจะเหมาะกับวัยนี้หากต้องทำกิจกรรมหลายอย่าง แม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ก็อาจจะทำได้สำเร็จเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะความสามารถของสมองลดลง ภาษาอังกฤษเรียกว่า mild cognitive impairment ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าเรียกว่า อาการขี้หลง ขี้ลืม ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ยิ่งอายุมาก อาการก็พบมาก จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีอาการขี้หลง ขี้ลืม 100 คน จะมี 20-25 คน ที่จะกลายเป็นโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว จะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นโรคความจำเสื่อมหรือยัง? หากลูก หรือสามี หรือภรรยา สังเกตเห็นว่ามีอาการหลงลืมบ่อยขึ้น ถามซ้ำๆ ขับรถหลงทาง หรือเฉี่ยวชนบ่อย อารมณ์แปรปรวน จากคนอารมณ์เย็นกลายเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดง่าย ใจร้อน พฤติกรรมเปลี่ยน กลางคืนไม่ยอมนอน ชอบค้น ชอบรื้อของ อาการประสาทหลอน หลงผิด ควรปรึกษาประสาทแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เพราะต้องทำการทดสอบความจำ ตรวจเลือด ตรวจสมองเพื่อหาสาเหตุ โรคความจำเสื่อมที่พบได้บ่อย จะขอกล่าวถึงเพียง 4 โรค คือ

  1. โรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งพบบ่อยที่สุด ระยะแรกจะมีอาการหลงลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานแต่ความจำระยะยาวยังคงปกติ ชอบถามซ้ำ เริ่มมีปัญหากับการคิดคำนวณ ทอนเงินผิด นับเลขผิด ส่วนใหญ่ญาติจะไม่ทันสังเกต เพราะคิดว่าเป็นสิ่งปกติของคนสูงวัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการเป็นมากขึ้นนอกจากหลงลืมมากขึ้น ลืมปิดน้ำ ปิดไฟ มรอารมณืแปรปรวน พฤติกรรมเปลี่ยน นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน มีเรื่องทะเลาะกับคนข้างบ้าน หรือหวาดระแวงว่าจะมีขโมยขึ้นบ้าน หากพบแพทย์จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งในปัจจุบันต้องรับประทานยาควบคุมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากอาการเป็นมากขึ้นจนมีผลต่อชีวิตประจำวัน ต้องหาผู้ดูแลใกล้ชิดเพราะการช่วยเหลือตัวเองจะทำได้ยากขึ้น

  2. โรคความจำเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง คนที่มีโรคประจำตัวเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นเวลาหลายปี ต่อมาญาติสังเกตว่าเฉยเมย พูดน้อยลง เดินลำบาก ปัสสาวะ อุจจาระราด จึงมาพบแพทย์ หลังจากตรวจคอมพิวเตอร์สมองพบว่ามีหลอดเลือดในสมองตีบหลายแห่งแพทย์จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองต้องมียาต้านเกล็ดเลือด ยาช่วยความจำและบางรายต้องมียารักษาอาการจิตประสาทร่วมด้วย พร้อมกับการควบคุมโรคประจำตัวอย่างเข้มงวด ก็จะทำให้ความจำนั้นดีขึ้นได้

  3. โรคความจำเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน อาการของโรคพาร์กินสันที่จำง่ายๆคือ สั่น ชา เฉย ได้แก่ มือสั่น เดินช้า หน้าเฉยไม่แสดงสีหน้า เหมือนคนใส่หน้ากาก หากเป็นโรคนี้มาหลายปี ก็พบว่าเกิดอาการความจำเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งต้องทำการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคความจำเสื่อมจากโรคพาร์กินสันก็จะแนะนำให้รับประทานยารักษาความจำร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสัน

  4. โรคความจำเสื่อมที่เกิดจากโพรงน้ำในสมองโต อาการที่พบได้คือ เดินก้าวขาไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต่อมาเกิดความจำเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง หากพบว่าโพรงน้ำในสมองโตผิดปกติจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดใส่ท่อเพื่อระบายน้ำในสมองก็จะทำให้อาการดีขึ้น

       

         ดังนั้นหากคนใกล้ชิดเริ่มมีอาการหลงลืม และไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคความจำเสื่อมหรือไม่ควรมาพบประสาทแพทย์เพื่อทำการทดสอบความจำ ตรวจเลือดและตรวจสมอง แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ และกลัวว่าตนเองหรือพี่น้องจะเป็นโรคชนิดพันธุกรรมก็สามารถทำการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ รวมทั้งการตรวจสมองด้วยวิธีพิเศษที่เรียกว่า PET scan การฝึกความจำทำได้หลายรูปแบบ แต่ถ้าเป็นแนวพุทธก็ให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน หรือการฟังเพลงบรรเลงเพื่อผ่อนคลายบรรยากา

 

<