การบาดเจ็บของนิ้วมือ

การบาดเจ็บของนิ้วมือ นักกอล์ฟอาชีพวัย 27 ปี มาพบผู้เขียนด้วยเรื่องปวดข้อนิ้วชี้ซ้ายมาก ตีกอล์ฟไม่ได้มา 2 เดือนแล้ว สาเหตุจากซ้อมกอล์ฟมาก แล้วปวดข้อกลางนิ้ว ไปพบแพทย์ 2 ครั้งแล้ว กำเหยียดนิ้วได้ปกติ แต่พอจับไม้กอล์ฟซ้อมไดร์ฟก็ปวดอีก ไม่กล้าซ้อมกลัวจะลงแข่งขันไม่ได้ไปตลอด ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่นักกอล์ฟอาชีพฝีมือดี ศิษย์เก่า คลาส เอ แห่งชาติรุ่นแรกสอบทัวริ่งโปร์ วันแรก ตี 7 เบอร์ดี้ 1 โบกี้ รวม 6 อันเดอร์พา ที่สนามสว่างรีสอร์ท สอบผ่านทัวริ่งโปร์ โดยมีคะแนน 1 อันเดอร์พาร์ สมควรที่จะได้รับการรักษาให้หาย สามารถเข้าไปแข่งขันระดับนานาชาติได้ การบาดเจ็บของนิ้วมือที่เกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเล่นกอล์ฟ ไม่ค่อยรุนแรงมากนัก ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้รับการรักษาให้เต็มที่แต่แรก หรือนักกอล์ฟบางท่าน อาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือ ทำงานได้ปกติ เล่นกอล์ฟก็พอได้บ้าง แต่จะปวดบวมได้ง่าย

 

โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

การบาดเจ็บของนิ้วมือ
           การบาดเจ็บบริเวณนิ้วมือที่ มีกระดูกหัก ข้อเคลื่อนผิดปกติมาก ๆ ไม่ค่อยพบจากการเล่นกอล์ฟ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง การวินิจฉัย และการรักษา เพราะอาการปวดบวม การเคลื่อนไหวผิดปกติ, การตรวจทางเอ็กซเรย์จะทำให้การวินิจฉัยได้ชัดเจน ปัญหาที่มักจะมองข้ามคือการบาดเจ็บที่มองไม่เห็นความผิดปกติจากภายนอก การตรวจทางเอ็กซเรย์ ไม่พบสิ่งผิดปกติทำให้การวินิจฉัยยาก แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ต้องนึกถึงสาเหตุการบาดเจ็บที่อาจจะมองข้ามได้ ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก จะมีผลทำให้การรักษายาก และเล่นกอล์ฟไม่ได้ดี การบาดเจ็บริเวณข้อกลางนิ้ว ( Proxipal interpholangal joint) ข้อนิ้วมือมี 3 ข้อ คือ 
- ข้อโคนนิ้ว
- ข้อกลางนิ้ว
- และข้อปลายนิ้ว


การเคลื่อนไหวของข้อกลางนิ้วจะเคลื่อนไหว

             แบบบานพับ คืองอเหยียดได้อย่างเดียว ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้านข้างหรือหมุนได้ เนื่องจากลักษณะของนิ้วข้อและเอ็นยึดกระดูกด้านข้าง ( collateral ligament )จะเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อหุ้มข้อให้เคลื่อนไหวในการงอเหยียดได้เท่านั้น  ในการเล่นกอล์ฟ นิ้วชี้ซ้ายที่จับด้ามไม้กอล์ฟ ขณะที่ตีกอล์ฟ ถ้ามีแรงกดจากด้ามไม้กอล์ฟมากเกินไป จะทำให้เอ็นยึดด้านข้างนิ้วฉีกขาดได้ อาจจะมีอาการปวดบวม ลักษณะผิดปกติอย่างอื่นเห็นได้ไม่ชัด ตรวจเอกซเรย์ไม่พบสิ่งผิดปกติ พัก 3-4 วัน ก็สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ ทำให้การวินิจฉัยค่อนข้างยาก และไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง ผลตามมาคือ ถ้ามีแรงกดทางด้านนิ้วชี้อีกก็จะทำให้เอ็นฉีกมากขึ้น ข้อนิ้วบวม ตีกอล์ฟไม่ได้

การวินิจฉัย

1. มีอาการปวดบวมบริเวณข้อกลางนิ้ว
2. กดเจ็บบริเวณที่เกาะของเอ็นยึดด้านข้าง (collateral ligament)
3. ตรวจความมั่นคงด้านข้างของข้อกลางนิ้ว ถ้ามีการฉีกขาดจะปวดมากขึ้น ถ้าเอ็นฉีกขาดมากข้อจะอ้าออกได้ 
4. ตรวจเอกซเรย์อาจจะไม่พบความผิดปกติ ถ้าสงสัยต้องตรวจในท่าจับนิ้ว ให้ข้อกลางนิ้วด้านที่สงสัยว่าอาจจะมีเอ็นขาดอ้าออก


การรักษา
1. ระยะเฉียบพลัน ควรจะพัก ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของนิ้วชี้ ถ้าบวมมาก ระยะ 4-6 ชั่วโมง แรกประคบด้วยความเย็น จนไม่มีอาการบวมเพิ่มขึ้น
2. ยึดนิ้วชี้ติดกับนิ้วกลาง ป้องกันการเคลื่อนไหวด้านข้างของข้อ ประมาณ 2 สัปดาห์
3. ถ้ามีการฉีกขาดมาก ข้อหลวม ใส่เครื่องพยุงนิ้วไม่ให้มีการเคลื่อนไหว การป้องกันการเคลื่อนไหวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อนิ้วมือ อาจใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ถ้ากดบริเวณที่ฉีกขาด ไม่เจ็บมาก และความมั่นคงของข้อดี ก็เริ่มเคลื่อนไหวได้ หรือพยุงนิ้วชี้ติดกับนิ้วมือให้เคลื่อนไหวไปด้วยกัน ป้องกันข้อยึดติด
               ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง นิ้วเริ่มเอียง ข้อยังหลวม ไม่ได้รับการรักษาแต่แรกนานเกิน 4-6 สัปดาห์แล้ว เช่นกรณีของนักกอล์ฟอาชีพที่มาหาผู้เขียน การรักษาค่อนข้างจะยาก การรักษาอาจจะไม่ได้ผลดี เหมือนกับการรักษาตั้งแต่แรก
- ให้ใส่ แผ่นดามนิ้ว (finger splint ) ดัดให้ข้อนิ้วอยู่ท่าปกติ เฉพาะเวลากลางคืน
- ในการซ้อมกอล์ฟใช้ปลาสเตอร์ยึดรั้งป้องกันไม่ให้ข้ออ้ามากขึ้น โดยใช้ปลาสเตอร์ยึดด้านข้าง ที่เอ็นฉีกไว้ - หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มีแรงกดนิ้วชี้ทางด้านข้าง
- แนะนำบริหารการงอ-เหยียดนิ้ว ป้องกันข้อยึดและบริหารให้กล้ามเนื้องอนิ้วแข็งแรงเพิ่มขึ้น
- ถ้ารักษาเต็มที่ 4-6 สัปดาห์แล้ว ยังมีอาการปวดบวม และข้อไม่แข็งแรง อาจจะต้องพิจารณาผ่าตัด ซ่อมเอ็นยึดด้านข้างข้อนิ้วมือ


ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ

- การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือ ถ้าพักรักษา 1-2 สัปดาห์ แล้วยังมีอาการปวดบวม มีจุดกดเจ็บ, งอเหยียดนิ้วไม่ปกติ หรือไม่สามารถเล่นกอล์ฟได้ตามปกติ จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาให้ถูกต้อง
- การบาดเจ็บบางอย่าง อาจตรวจพบได้ยาก เช่นกระดูกหัก นักกอล์ฟ (Fracture hook of Hamate)
กระดูกข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือหัก ( Fracture scaphoid) ,เอ็นยึดข้อด้านข้างฉีก, เอ็นข้อปลายนิ้วขาดระยะแรก ๆ อาจไม่พบความผิดปกติ ถ้าท่านนักกอล์ฟยังมีอาการผิดปกติ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ อาจจะต้องนึกถึงภาวะบาดเจ็บที่วินิจฉัยได้ยากเหล่านี้ด้วย

 

 

<