ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์

ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์

โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี
 

ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์

          นักกอล์ฟอาชีพหลายท่านก็ประสบความสำเร็จในการแข่งขันทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ นักกอล์ฟสมัครเล่นหลาย ๆ ท่านก็รับถ้วยอย่างต่อเนื่อง ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ท่านด้วยครับ ผู้ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ก็ขอให้พัฒนาต่อครับ “เราจะไม่ล้มเหลว ถ้าเราไม่ล้มเลิก” ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจ และสนับสนุนท่านนักกอล์ฟทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างต่อเนื่อง  2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟที่พบได้บ่อย ๆ มีท่านผู้อ่าน และท่านนักกอล์ฟให้ความสนใจมาก หลาย ๆ ท่านได้มาจากต่างจังหวัดมาพบผู้เขียน ได้รับคำแนะนำ รักษาหายกลับมาเล่นกอล์ฟได้ดีแล้ว มีอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดจากการเล่นกอล์ฟ ในประเทศที่มีแดดจัด อากาศร้อน พบได้บ่อย ๆ คือ ปัญหาเรื่อง ผิวหนังแต่ยังไม่มีนักกอล์ฟท่านใดมาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง ผิวหนังเลย ส่วนใหญ่จะไปหาหมอผิวหนังซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องดีที่สุด ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผิวหนัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านนักกอล์ฟ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผิวหนัง เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย พื้นที่ของผิวหนังประมาณ 2 ตารางเมตร หนักประมาณ 4.5 – 5 กิโลกรัม ความหนาโดยเฉลี่ย 1- 2 มิลลิเมตร ผิวหนังบางที่สุด คือที่หนังตา หนาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หนาที่สุดที่ส้นเท้าประมาณ 4 มิลลิเมตร

ผิวหนังประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น

1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นที่อยู่บนสุด
2. ชั้นหนังแท้ (Dermis) อยู่ใต้หนังกำพร้า
ชั้นที่อยู่ใต้หนังแท้ (Hypodermis) ไม่ถือว่าเป็นส่วนของผิวหนัง เป็นชั้นไขมันซึ่งในชั้นนี้ ผู้หญิงจะมีความหนามากกว่าผู้ชายประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้หญิงมีผิวหนังที่นุ่มกว่าผู้ชาย และบางส่วนจะมีไขมันเกาะมากเพิ่มขึ้น เช่น บริเวณหน้าท้อง, สะโพก ต้นขา ชั้นของหนังกำพร้า 4 -5 ชั้น

ในชั้นล่างสุดของผิวหนัง กำพร้าจะมีการแบ่งตัวอย่างบางต่อเนื่อง และดันเซลล์เก่าขึ้นไปด้านบนเรื่อยๆ เซลล์ผิวหนังจะสร้างเคอราตินซึ่งเป็นโปรตีนภายในเซลล์ช่วยให้เซลล์มีความเหนียวและกันน้ำได้ขณะเดียวกันเซลล์จะขาดเลือดมาเลี้ยงเป็นเซลล์ที่ตายและลอกหลุดออกไปทุกวัน

ชั้นหนังกำพร้ามีเซลล์ 4 ชนิด
1. เซลล์ผิวหนัง (Keratinocyte) พบส่วนใหญ่ 90%
2. เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) พบได้ 8 %
3. เซลล์ช่วยป้องกันเชื้อโรค (Langerhans cells)
4. เซลล์ที่ส่งความรู้สึกไปยังเซลล์ประสาท (Merkel cells)

หนังแท้ Dermis
          ประกอบด้วย เส้นใยคอลลาเจน และเส้นใยอิลาสติค นอกจากนั้นยังมี หลอดเลือด กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ปุ่มประสาทพิเศษต่าง ๆ ที่รับความรู้สึกสัมผัส แรงกดดัน ความร้อน ความเย็นรับรู้ อาการเจ็บปวด

หน้าที่ของผิวหนัง
1. ห่อหุ้มร่างกายให้คงรูปอยู่ได้ป้องกันเชื้อโรค , ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต (UV.light) จากแสงแดด
2. ควบคุมการเสียน้ำ เนื่องจากเซลล์ของผิวหนังชั้นบน ๆ เป็นเซลล์ที่ตายแล้ว และมีสาร ที่เคลือบบนผิวหนังป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่าน
3. ร่างกายควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียส โดยผ่านการทำงานของต่อมเหงื่อ
4. รับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกร้อน หนาว สัมผัส ความเจ็บปวด
5. สังเคราะห์สารเมลานิน ทำให้ผิวสีคล้ำขึ้นหลังได้รับแสงแดด 
6. สังเคราะห์เดอราตินในเซลล์ปกคลุมผิวหนังส่วนบน เป็นเซลล์ที่ลอกหลุดออกไปทุกวัน
7. สังเคราะห์วิตามิน D จากการได้รับ UV light ขนาดน้อย ๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ ตับ และไต และช่วยในการควบคุมระดับแคลเซี่ยม มีความจำเป็นสำหรับเด็ก ป้องกันเป็นโรคกระดูกอ่อน ในผู้ใหญ่ช่วยในการสร้าง และควบคุมให้กระดูกแข็งแรง
8. มีหน้าที่ในการสื่อความหมาย เวลามีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ จะทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น เวลากลัวตกใจ จะมีอาการหน้าซีด มือเย็น เวลาโกรธมีหลอดเลือดขยายตัวมีอาการหน้าแดง
           การหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าที่มายึดบริเวณผิวหนัง จะบ่งบอกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น การยิ้ม, อาการหน้านิ่วคิ้วขมวด, อาการโกรธ, ดีใจ , เสียใจ เนื่องจากผิวหนังมีหน้าที่หลายอย่างดังข้างต้น เมื่อทำงานร่วมกับส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากผิวหนัง เช่น ผม ขน เล็บ ต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยควบคุมให้ร่างกายคงสภาพปกติ จึงนับว่าผิวหนังเป็นระบบหนึ่งของร่างกาย เรียกระบบห่อหุ้มร่างกาย (Integumentary System) การดูแลสุขภาพของผิวหนัง เป็นส่วนสำคัญมากสำหรับการมีสุขภาพที่ดี และเป็นส่วนสำคัญด้านธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล ในเรื่องการรักษาความงาม การดูแลรักษาผิวพรรณให้สวยงาม หรือดูอ่อนกว่าวัย รวมทั้งการรักษา กระ สิว ไฝ ฝ้า จุดด่างดำต่าง ๆ อันตรายที่เกิดจากแสงแดด และการป้องกัน
           การถูกแสงแดดมากเกินไป พบว่าเป็นมะเร็งของผิวหนังได้ มีรายงาน คนไข้มะเร็งผิวหนัง ปีละ 1 ล้านคนในประเทศอเมริกา
78% เป็น Basal cell Carcinoma มะเร็งจากเซลล์ชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า มักไม่แพร่กระจาย
20% เป็น Squamous cell carcinoma มะเร็งจากเซลล์แบนบางของหนังกำพร้า อาจแพร่กระจายได้
2% เป็น Malignant Melanomaมะเร็งจาก cell Melanocyte เป็นเซลล์ที่สร้างเม็ดสี (Melanin pigment ) อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแพร่กระจายได้รวดเร็ว การรักษาที่ได้ผลดี คือการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก และผ่าตัดเอาออกให้หมด
ลักษณะสำคัญของ Malignant Melanoma คือ A - Asymmetry รูปร่างไม่สมมาตร , ไม่กลม
   B - Border ขอบไม่ชัดเจน เว้าๆ แหว่ง
   C - Color มีสีแตกๆ ต่าง ๆ กันหลายสี ในก้อนเดียวกัน
   D - Diameter เส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร ลักษณะของไฝปกติ (Normal Nevus) และ Malignant Melanoma
ไฝธรรมดามีขนาดกลม สีเดียวกัน ขอบชัด ก้อนเล็กกว่า
           นอกจากนั้น ยังมีรายงานในวารสารต่างประเทศ พบมะเร็งของผิวหนังทั้งในนักกอล์ฟสมัคร เล่น และนักกอล์ฟอาชีพ

ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ 

1. หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตมาก ๆ คือ เวลา 10.00 - 15.00 น. หากจำเป็นควรใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม ใส่หมวกปีกกว้าง
2. ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำ SPF 15-28 ในการเล่นกอล์ฟกลางแดดช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเล่นกอล์ฟมากกว่า 2 ชั่วโมง ควรใช้ SPFขนาดสูงๆ SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการป้องกันรังสี UV เป็นจำนวนเท่าของปกติที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด โดยวัดเป็นค่าพลังงานรังสี UV ที่ทำให้ผิวเริ่มแดง (MED – Minimum Erythema Dose)
   SPF = MED ที่ทายากันแดด
   MED ที่ไม่ได้ทายากันแดด
3 ถ้ามีอาการผิดปกติของผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก้อนที่มีลักษณะคล้ายไฝ โตเร็ว ขนาดใหญ่ ควรรีบพบแพทย์
4. เรื่องการเสียน้ำ ควรดื่มน้ำก่อน ระหว่าง หรือหลังการเล่นกอล์ฟ เพื่อป้องกันการขาด น้ำ ถ้าท่านรอให้เกิดการกระหายน้ำ แสดงว่าร่างกายขาดน้ำแล้ว
5. การทำความสะอาดของผิวหนังบริเวณอับชื้น นิ้วเท้า ป้องกันเชื้อรา
6. มือเป็นบริเวณที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่เสมอ จะเป็นอันตรายมากถ้าเชื้อโรคไปอยู่บริเวณอื่น เช่น แคะตา อาจทำให้ตาอักเสบ หรือจับของกิน ระหว่างเล่นกอล์ฟอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินอาหารได้