ภาวะหัวใจโตเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัยและการรักษามีแนวทางใดบ้าง

ภาวะหัวใจโตเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัยและการรักษามีแนวทางใดบ้าง
 

ภาวะหัวใจโต

น.พ.เสมชัย เพาะบุญ 
อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี

 

ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกตินั้น อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  • โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น เพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือ ลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนา ขึ้นได้
  • อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้ขนาดโตขึ้น 

      มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจที่เป็นดาราประจำก็ คือ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย
 

      ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการ ก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ และอาการจาก หัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น การตรวจร่างกายจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโต มากกว่าที่จะบอกขนาดของหัวใจ การตรวจที่จำเป็นคือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ เอกซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก หรือ เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน จะแสดง ให้เห็น จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ หมายความว่า แม้คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือ ไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโต แต่จริงๆแล้วไม่โตก็ได้ เอกซเรย์ ทรวงอกบอกขนาดหัวใจได้ดีพอสมควร แต่ก็ผิดพลาดได้ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับเทคนิค ระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริงๆแล้วขนาดหัวใจปกติ ไม่โตเลย ในทางกลับกัน เอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก ก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่า การตรวจเหล่านี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจพิเศษเหล่านี้หลายๆอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการให้ความเห็นและรักษา 

 

การตรวจวินิจฉัย

       ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดในการตรวจเลย วิธีดูขนาดหัวใจที่ยอมรับกันว่าดีมากในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ Echocardiography เครื่องมือจะส่งคลื่นเสียง ความถี่สูง ทะลุผ่านอวัยวะต่างๆที่จะตรวจเมื่อผ่านส่วนต่างๆคลื่นเสียงเหล่านี้จะสะท้อนกลับ ความสามารถในการสะท้อนกลับขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อเยื่อที่มันผ่าน เช่น เลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เหล่านี้ให้สัญญาณการสะท้อนกลับแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์จะบันทึกสัญญาณสะท้อนกลับเหล่านี้ นำมาสร้างภาพขึ้นเห็นเป็นอวัยวะที่แพทย์กำลังตรวจอยู่ ดังนั้นหากตรวจที่หัวใจ ก็จะเห็นห้องหัวใจ ซึ่งวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่ เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจ เห็นกล้ามเนื้อหัวใจ และ ความสามารถในการบีบตัวว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงให้รายละเอียดได้มากกว่าการตรวจอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่เห็น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และเห็นภาพไม่ชัดนักในผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคปอด (ยกเว้นการตรวจโดยผ่านหลอดอาหาร) ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ 

 

       ผู้ที่มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือตรวจร่างกายพบระบบการทำงานหัวใจผิดปกติ ควรได้รับการตรวจนี้ เพื่อดูความสามารถ ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เอกซเรย์พบว่า หัวใจโตกว่าปกติบางราย ควรดูให้แน่ใจว่า โตจริงไหม ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์โรคหัวใจ จะพิจารณาเป็นรายๆ ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน หากพบว่า หัวใจโตจากเอกซเรย์ก็ควรตรวจละเอียดเช่นกัน เนื่องจาก ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการ การรักษา

 

       การรักษาภาวะหัวใจโต คือการรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น แม้ว่าการรักษาอาจ ไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจนจากเอกซเรย์ในบางราย แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โตขึ้นเรื่อยๆได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

 

ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร.0-2561-1111 กด 1

แพทย์

เสมชัย เพาะบุญ

อายุรกรรมโรคหัวใจ

ดูโปรไฟล์

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<