การตัดมดลูก

โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

มดลูกและรังไข่ เป็นอย่างไร

มดลูก คือ อวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีซึ่งมีหน้าที่รับและเลี้ยงตัวอ่อน และทารกในครรภ์ โดยเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอบ ๆ ถ้ารอบประจำเดือนใดไม่มีการตั้งครรภ์จะหลุดลอกออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด เรียกว่า เลือดประจำเดือนออกมาทางช่องคลอด

ผนังของมดลูก มีหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้เด็กในครรภ์ และบีบตัวเมื่อถึงเวลาคลอดให้เด็กคลอดออกมา มดลูกตั้งอยู่ปลายช่องคลอด โดยมีเส้นเอ็นยึดไว้บริเวณปากมดลูก ไม่ให้เลื่อนหลุดออกมา

ปีกมดลูก มี 2 ข้าง ประกอบด้วย ท่อนำไข่ และ รังไข่ ท่อนำไข่ ทำหน้าที่ จับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเป็นทางผ่านให้เชื้ออสุจิจากช่องคลอดที่เข้ามายังมดลูก ผ่านท่อนำไข่นี้ไปผสมกับไข่ที่ปลายท่อ กลายเป็นตัวอ่อน แล้วเป็นทางให้ตัวอ่อนเดินทางมาที่มดลูกเพื่อฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก  รังไข่ ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ทำหน้าที่สร้างไข่ออกมาและสร้างฮอร์โมนให้สตรี คือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน  ปีกมดลูก ติดยึดอยู่กับมดลูกและอุ้งเชิงกรานด้วยแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่ขึงระหว่างมดลูกกับผนังเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง

การตัดมดลูกคืออะไร

การตัดมดลูก คือ การผ่าตัดชนิดหนึ่งมีจุดประสงค์ในการเอามดลูกที่มีพยาธิสภาพออก บางครั้งก็มีการตัดเอาท่อนำไข่และรังไข่ออกไปด้วย

การผ่าตัดมดลูก  มีอยู่ 4 แบบ คือ

  1. ตัดมดลูกทั้งหมดออก (Total) หมายถึง ตัดมดลูกและปากมดลูกออกไปทั้ง 2อย่าง เหลือรังไข่อย่างน้อยหนึ่งข้าง(เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด)
  2. ตัดมดลูกออกเหลือแต่ปากมดลูกไว้ (Partial subtotal) คือ การตัดมดลูกที่อยู่เหนือปากมดลูกออก ยังคงปากมดลูกไว้ กรณีที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
  3. ตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
  4. ผ่าแบบถอนรากถอนโคน (Radieal)ผ่าแบบนี้คือ ตัดทั้งมดลูก ปากมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ส่วนบนของช่องคลอดและเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกไปด้วย (วิธีนี้มักทำในรายที่เป็นมะเร็ง)

โดยปกติถ้ายังไม่หมดประจำเดือนก็จะไม่ตัดรังไข่ออก ถ้ารังไข่ไม่มีความผิดปกติ เพราะจะทำให้หมดฮอร์โมนของรังไข่ เข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนเร็วเกินไป

มีการตัดมดลูกบ่อยแค่ไหน

ว่ากันว่าการตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดมากที่สุดของนรีเวชกรรม รองจากการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องของสูติกรรม ในอเมริกามีตัวเลขทำการผ่าตัดมดลูก 600,000 รายต่อปี

การตัดมดลูกทำอย่างไรและมีวิธีใดบ้าง ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ

  1. ผ่าตัดทางหน้าท้อง คือ ทำแผลยาวตามแนวตั้งหรือแนวนอน ประมาณ 10 – 15 ซ.ม. เปิดหน้าท้อง แล้วตัดมดลูก
  2. ผ่าตัดทางช่องคลอด หมายถึง ผ่าเข้าไปตัดมดลูกผ่านทางปลายของช่องคลอด แล้วเอามดลูกออกทางช่องคลอด แล้วเย็บปิดปลายชองคลอด
  3. การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง โ ดยเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้องแล้วใช้เครื่องมือสอดเข้าไปตัดมดลูก เอามดลูกที่ถูกตัดออกทางช่องคลอดหรือย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ออกทางหน้าท้อง วิธีนี้ทำให้เจ็บแผลน้อย โรคแทรกน้อย ฟื้นตัวเร็ว

โรคที่จะต้องรักษาด้วยการตัดมดลูก

  1. เนื้องอกมดลูก (Fibroid) เป็นโรคที่มีการตัดมดลูกมากกว่าโรคอื่น ๆ มักเป็นเนื้องอกมดลูกที่โตมาก หรือทำให้ปวดหรือทำให้ประจำเดือนมามาก เนื้องอกมดลูกถ้าไม่มีอาการอะไรหรือใกล้จะหมดประจำเดือนแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องตัดมดลูก (เพราะเมื่อหมดประจำเดือนเนื้องอมดลูกจะเล็กลง)
  2. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) คือ ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดไปเจริญอยู่นอกโพรงมดลูก ได้แก่ ในเนื้อของมดลูก หรือข้าง ๆ มดลูก ในอุ้งเชิงกราน ถ้ามีอาการปวดมาก หรือเลือดประจำเดือนมาก หรือหลังจากเมื่อรักษาทางยาไม่ได้ผล หรือ ผ่าตัดวิธีอื่นไม่ได้ผล
  3. มดลูกหย่อน เกิดจากมดลูกหย่อนออกมาทางช่องคลอดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แล้วมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวด ถ่ายปัสสาวะ- อุจจาระผิดปกติ หรือเกิดแผลกดทับที่ปากมดลูก
  4. มะเร็ง ไม่ว่าเป็นมะเร็งที่ปากมดลูก มดลูกหรือรังไข่ ถ้าอยู่ในช่วงที่ผ่าตัดได้ มักตัดมดลูกออกไปด้วย
  5. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่แก้ไขทางยาแล้วไม่ได้ผล (ส่วนใหญ่มักเกิดจาก Adeuomyosis, Fibroid)
  6. อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยมีต้นเหตุมาจากพยาธิสภาพในมดลูก หรือเส้นเอ็นที่ยึดมดลูก ถ้าไม่ได้เกิดจากมดลูกหรือรังไข่ ก็อาจไม่ได้ผล

จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากตัดมดลูก

เมื่อมดลูกถูกตัดออกไปแล้ว แน่นอนที่สุด จะไม่มีประจำเดือนและจะมีลูกไม่ได้ ถ้าไม่ได้ตัดรังไข่ออก ขณะที่รังไข่ยังทำงาน คุณจะยังคงความรู้สึกเป็นปกติ เช่น คัดหน้าอกใกล้เวลาที่จะมีประจำเดือน แต่ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด

ถ้าถูกตัดรังไข่ออกไปด้วย ก็จะมีภาวะเหมือนคนหมดประจำเดือน คือ อาจมีอาการร้อนวูบวาบเนื้อตัว ใจสั่น และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดนานเท่าไร

การฟื้นตัวหลังผ่าตัด

ใช้เวลาพอสมควร แต่แตกต่างกันไปในชนิดและวิธีการผ่าตัด

  • ถ้าผ่าตัดทำแผลหน้าท้องธรรมดา อยู่ในโรงพยาบาล 2-4 วัน ระยะพักฟื้น 4-8 สัปดาห์
  • ถ้าตัดมดลูกทางช่องคลอด หรือ โดยการส่องกล้อง อยู่ในโรงพยาบาล 1-3 วัน ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์

ทั้ง 2 วิธีนี้ การอาบน้ำในอ่างน้ำ หรือ ว่ายน้ำ ควรให้เวลา 6 สัปดาห์ไปแล้ว รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

  • ถ้าตัดมดลูกแบบเหลือปากมดลูกไว้ (Subtotal Hysterectomy) จะอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ใช้เวลาพักฟื้นได้เร็ว 1-2 สัปดาห์ อาบนำในอ่างหรือว่ายน้ำ และมีเพศสัมพันธ์ได้หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

การผ่าตัดมดลูกเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก ได้แก่

  • การเสียเลือดจนต้องให้เลือดทดแทน
  • การบาดเจ็บที่ลำไส้
  • การบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะและหลอดไต
  • การอักเสบติดเชื้อ แผลหน้าท้องแยก
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เช่น ปอดบวม, ระบบหัวใจ

แต่เนื่องจากเครื่องมือ และปัจจัยการผ่าตัดพัฒนาขึ้นมาก ปัจจุบันจึงพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวน้อยมาก

หลังผ่าตัดจะทำให้ความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
สตรีเมื่อถูกตัดมดลูกโดยรังไข่ยังอยู่ 1หรือ ทั้ง 2ข้าง จะยังมีความรู้สึกทางเพศเป็นปกติ และถ้าก่อนผ่าตัดเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการร่วมเพศ มักจะดีขึ้นหลังการผ่าตัด แต่ถ้าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง อาจจะมีปัญหาภาวะหมดประจำเดือนได้ ควรปรึกษาแพทย์ของท่าน

มีทางเลือกอื่นนอกจากการตัดมดลูกหรือไม่

ถ้าสาเหตุการตัดมดลูกเกิดจากมะเร็ง ก็ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ถ้าเป็นเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ มดลูกหย่อน อาจมีทางเลือกอื่นที่จะทดลองก่อนได้ คือ

  • การให้ยา เช่น ให้ยาเพื่อระงับเลือดประจำเดือนมามาก หรือ การปรับฮอร์โมนของรังไข่ ในกรณีเลือดออกมาก หรือผิดปกติ การให้ยาบางอย่าง หรือยาคุมกำเนิด สำหรับการปวดประจำเดือนจากโรคเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ เป็นต้น
  • การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก ในกรณีนี้มีปัญหาเรื่องประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือมามากผิดปกติ การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือบางอย่างอาจช่วยได้
  • การใส่วัตถุเล็กๆ ผ่านสายสอดไปในเส้นเลือด เพื่ออุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกเพื่อให้ปัญหาเลือดออกมากลดลง
  • การตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออก มักจะทำในกรณีที่ต้องการมีบุตรอีก วิธีนี้เสี่ยงต่อการมีเนื้องอกมดลูกขึ้นมาใหม่บ้าง
  • การใช้ห่วงยางเล็กๆ ดันช่องคลอด(กรณีย์ มดลูกหย่อน) กันไม่ให้มดลูกลงมาต่ำ อาจใช้ได้เป็นแบบชั่วคราว หรือใช้ตลอดไปก็ได้ มักใช้กับคนอายุมากแล้ว

วิธีต่างๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัดนี้ ควรได้ปรึกษากับแพทย์ที่รักษา ในด้านข้อดีและข้อเสียของคนไข้แต่ละคนเป็นรายๆ ไป

คนไข้ควรจะเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องตัดมดลูก

  • ควรคุยกับแพทย์ ถึงทางเลือกอื่นและข้อดีข้อเสีย โดยเฉพาะในกรณีของคุณเอง 
  • ถามถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในกรณีของคุณ
  • คนไข้แต่ละคนแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ดังนั้นการผ่าตัดที่ดีกับคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องดีสำหรับอีกคนหนึ่ง
  • ลองปรึกษาแพทย์คนอื่นดู เป็นการให้ความเห็นที่ 2 ถ้ายังไม่แน่ใจ (ไม่ควรคิดว่าเป็นการเสียมารยาท/ไม่ควรตำหนิผู้ใดเนื่องจากความเห็นและประสบการณ์แตกต่างกันได้)

เมื่อตัดมดลูกแล้ว ควรจะทำ Pap test หรือไม่

ควรถามแพทย์ของท่านว่า สำหรับท่านควรจะทำ Pap test อีกหรือไม่ บ่อยแค่ไหน โดยทั่วไปมีคำแนะนำดังนี้

สำหรับผู้ที่ทำการตัดมดลูก แบบตัดปากมดลูกด้วยหรือเหลือปากมดลูกอยู่ก็ควรทำการตรวจ Pap smearเหมือนคนไม่ได้ตัดมดลูก (ถ้าประวัติตรวจ Pap ปกติมาตลอด โอกาสเป็นมะเร็ง 0.1 % ในเวลา 30 ปี)

คนที่ถูกตัดมดลูก เพราะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือกำลังจะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือ ผล Pap ผิดปกติ ควรจะตรวจ Pap ไปตลอดชีวิต เพราะถึงแม้โอกาสเป็นมะเร็งจะน้อยแต่ก็อาจเกิดขึ้นที่รอยเย็บช่องคลอด

ไม่ว่าคุณจะมีความจำเป็นหรือควรทำ Pap หลังผ่าตัดมดลูกแล้วหรือไม่ก็ตามก็ควรตรวจภายในเป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีรังไข่เหลืออยู่

โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช