สร้างสุขภาพจิตท่ามกลางข่าวภัยพิบัติ อุทกภัย

สร้างสุขภาพจิตท่ามกลางข่าวภัยพิบัติ อุทกภัย

 นพ.วีรวุฒิ  เอกกมลกุล จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี

        การสร้างสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาภัยพิภัย อุทกภัย ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประสบภัยพิบัติมีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตได้  
       อาการที่พบ  ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล เครียด อาจมีอาการกำเริบของโรคทางกายต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไมเกรน ภูมิแพ้ ฯลฯ สำหรับผู้ที่เครียดมากขึ้นกว่านี้อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า     โรคกังวล โรคหวาดกลัวต่ออุทกภัย กรณีเครียดรุนแรง อาจคิดฆ่าตัวตาย แยกตัว และขาดกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตที่เหมาะสม ในกรณีนี้ จำเป็นต้องพบจิตแพทย์โดยด่วนเพื่อรักษาโรคให้ทุเลาเบาบางลงไป

      วิธีสร้างสุขภาพจิตสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติอุทกภัย เริ่มตั้งแต่พยายามไม่แยกตัวอยู่และอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง ในกลุ่มทุกคนจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน การพูดคุยระบายนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์เราเพื่อจะได้ลดความอัดอั้นตันใจ ผู้ประสบภัยที่ยังเซื่องซึมจมปลักอยู่ในปัญหาเมื่อมีคนคอยรับฟัง เห็นใจ ปลอบใจ จะรู้สึกสบายใจขึ้น และพร้อมลุกขึ้นใหม่เสมือนเป็นตุ๊กตาล้มลุก และเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ อีกครั้ง เมื่อรู้สึกว่าตนเองลุกขึ้นใหม่ได้แล้วควรช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป เพราะการได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบภัยร่วมกัน จะทำให้สบายใจ และภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น การได้ช่วยเหลือดูแลกันเองและเปิดรับความช่วยเหลือจากสังคม ได้ผลที่รวดเร็วทันการกว่าการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ กลุ่มที่ช่วยเหลือกันเองควรมีกิจกรรมที่เสริมสร้างสุขภาพจิตวิธีต่างๆ ได้แก่ การออกกำลังการอย่างเหมาะสม การฝึกผ่อนคลายความเครียด ไม่ลืมกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ฯลฯ
      สำหรับผู้ที่โชคดี ไม่ได้ประสบภัยพิบัติ สามารถเสริมสร้างสุขภาพจิตได้โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ว่าการบริจาคเงิน อาหาร สิ่งของที่จำเป็น หรือเสียสละ แรงกายและเวลา การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นกลไกทางจิตที่ดีของมนุษย์ที่ทำให้สบายใจ ภูมิใจและมีความสุข ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น แม้ไม่ได้เป็นผู้เสี่ยงต่ออุทกภัยในภายภาคหน้าแต่การร่วมแรงร่วมใจ ผลักดันให้รัฐบาลป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือมีความรุนแรงขึ้นต่อไป


     ด้วยความปรารถนาดีจาก รพ.วิภาวดี

<