การผ่าตัดไขมันหน้าท้อง (Abdominal Lipectomy and Abdominoplasty;Tummy Tuck Surgery)

เป็นการผ่าตัดเพื่อกำจัดไขมัน ผิวหนังส่วนเกิน และแก้ไขผนังหน้าท้องที่หย่อนยาน ซึ่งเกิดหลังจากการตั้งครรภ์หรือการลดน้ำหนัก การผ่าตัดจะทำให้หน้าท้องดูเรียบและตึงขึ้นและยังสามารถกำจัดผิวหนังที่แตกลายบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าสะดือได้อีกด้วย การผ่าตัดนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่อ้วนมากๆซึ่งควรจะลดน้ำหนักจนคงที่ก่อนที่จะทำการผ่าตัด การผ่าตัด การผ่าตัดจะทำในโรงพยาบาลโดยการวางยาสลบ แผลผ่าตัดจะอยู่เหนือหัวเหน่าและยาวไปทางด้านข้างถึงสะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งแผลจะซ่อนอยู่ในขอบกางเกงชั้นใน การผ่าตัดใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงโดยอาจจะมีการย้ายสะดือด้วยถ้ามีผิวหนังและไขมันส่วนเกินมาก หลังการผ่าตัดจะมีสายระบายเลือดและน้ำเหลืองออกบริเวณหัวเหน่าซึ่งจะทิ้งเอาไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์เพื่อป้องกันน้ำเหลืองคั่งใต้แผลหลังผ่าตัด หลังผ่าตัดอาจจะต้องนอนหรือยืนตัวงอเนื่องจากมีความตึงบริเวณแผลผ่าตัดซึ่งจะค่อยๆดีขึ้นในเจ็ดถึงสิบวัน  ความรู้สึกชาบริเวณหน้าท้องก็จะค่อยๆดีขึ้นเช่นกันในเวลาประมาณสามถึงหกเดือน หลังผ่าตัดไม่ควรทำงานหนักหรือยกของหนักหรือออกกำลังกายหนักๆ ประมาณหกสัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ค่อยเป็นอันตราย สามารถแก้ไขได้โดยการรักษาแผลหรือการผ่าตัดเล็กเท่านั้น เลือดหรือน้ำเหลืองคั่ง แผลผ่าตัดติดเชื้อ แผลแยก ผิวหนังตายบางส่วน แผลเป็นนูน ข้อเขียนโดย นพ.นราธิป ทรงทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การดูดไขมัน (Liposuction)

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายท่อขนาดห 3-6 มิลลิเมตร สอดผ่านแผลขนาดเล็กเข้าใต้ผิวหนังเพื่อดูดไขมันส่วนที่ไม่ต้องการออก การดูดไขมันไม่ใช่วิธีลดความอ้วนแต่สามารถกำจัดไขมันเฉพาะส่วนได้ดี ผู้ที่จะรับการผ่าตัดดูดไขมันควรจะมีสุขภาพแข็งแรงดี มีผิวหนังที่มีความยืดยุ่นดี และมีความคาดหวังที่เป็นปกติ (realistic expectation) การผ่าตัด การดูดไขมันในปัจจุบันมีเทคนิคที่ทำให้มีการเสียเลือดน้อยมากโดยที่ถ้าไขมันและน้ำที่ถูกดูดออกมามีปริมาณไม่เกิน 6,000 มิลลิลิตร ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด การผ่าตัดอาจจะทำโดยการดมยาสลบหรือการฉีดยาชาเฉพาะที่ก็ได้ขึ้นอย่กับปริมาณและบริเวณที่จะที่การดูดไขมัน ก่อนที่การผ่าตัดแพทย์จะทำการวาดตำแหน่งที่มีความต้องการดูดไขมันเสียก่อนที่จะวางยาสลบหรือฉีดยาชา หลังจากนั้นจะทำการเจาะแผลขนาดเล็กที่ผิวหนังขนาดเท่ากับขนาดของท่อที่จะทำการดูดไขมันอย่างน้อยตำแหน่งละสองรูเพื่อให้การดูดไขมันเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกันอาจจะใช้รูแผลร่วมกันได้ หลังผ่าตัดแพทย์จะสวมผ้ายืดหรือพันผ้าไว้ประมาณสองเดือน บริเวณที่ทำการดูดไขมันอาจจะมีรอยเขียวช้ำได้ซึ่งจะหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อน เลือดออก การติดเชื้อ สีผิวเข้มผิดปกติ (hyperpigmentation) บริเวณที่ดูดไขมัน ผิวขรุขระ ไขมันถูกดูดออกมากเกินไป (overcorrection) ไขมันถูกดูดออกน้อยเกินไป (undercorrection) แผลเป็นบริเวณตำแหน่งที่เป็นทางเข้าของท่อดูดไขมัน ข้อเขียนโดย นพ.นราธิป ทรงทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<