โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ Body Dysmorphic Disorder (BDD)

โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ Body Dysmorphic Disorder (BDD)           เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นหรือไม่พอใจในรูปร่างหรือรูปลักษณ์ของตนเอง ทั้งที่ตามจริง แล้วก็ดูปกติหรือใกล้เคียงปกติ ผู้ป่วยจะมีความกังวลเป็นอย่างมาก ไม่สมเหตุสมผลและเชื่อว่าเขามีความผิดปกติจริง ความคิดหมกมุ่นเช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลานาน ๆ ในการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น ส่องกระจก,เสาะหาคำยืนยัน  แต่งหน้าทำผมนาน ๆ  ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  การทำงาน ครอบครัว  สังคม  มักหาทางแก้ไขโดยไปพบแพทย์ เพื่อขอรับการผ่าตัด และถ้าเป็นมาก จนมีโรคซึมเศร้าแทรกซ้อน อาจถึงกับฆ่าตัวตายได้              ในปัจจุบันคนบนโลกเราส่วนใหญ่มีแนวโน้มเอียงไปข้างการหลงตัวเองหรือเข้าข้างตัวเอง ทว่ามีคนกลุ่มน้อยในโลกที่เป็นโรค “ชอบดูถูกตัวเอง” ซึ่งชื่อโรคก็พอจะบอกได้แล้วว่าอาการของผู้ป่วยมักจะชอบมองภาพตัวเองไปในทางลบเสมอ  คิดว่าตัวเองไม่สวย  ไม่หล่อ ฯลฯ และมีอาการย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับความบกพร่องของตัวเอง   สาเหตุของโรค BDD สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่ปัจจัยที่คิดว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดโรคนี้มีดังนี้ กรรมพันธุ์หรือมีประวัติครอบครัวเป็น  โรคอารมณ์แปรปรวน ( Mood Disorder) มีความผิดปกติของระบบ Serotonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง มีประวัติเป็นโรคย้ำคิด-ย้ำทำ ( Obsessive-Compulsive Disorder ) มีวัฒนธรรมและสังคมที่มีการเน้นย้ำถึงเรื่องความสวยงาม มีความทุกข์ยากในวัยเด็ก เช่น  ถูกล้อเลียน  ถูกรังแก  ถูกด่าว่า มีประวัติของโรคผิวหนังหรือโรคทางกายอื่น ๆ  ที่ทำให้เกิดความอาย   เช่น เป็นสิวตอนวัยรุ่น ทำให้เกิดบาดแผลในใจ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นโสด หรือหย่าร้าง ไม่มีงานทำ การตรวจด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก( MRI ) พบว่า มีการใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าคน    ทั่วไป  ซึ่งคนที่ใช้งานสมองซีกซ้ายส่วนใหญ่มักจะเป็นคนจริงจัง  เครียดง่าย  เถรตรง    ขาดความยืดหยุ่น             ผู้ป่วยมักจะไปพบแพทย์แผนกอื่นมากกว่าจิตแพทย์  ทำให้ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยมักไปพบศัลยกรรมความงาม ( Cosmetic Surgery )              การที่ผู้ป่วยตัดสินรูปลักษณ์ของตัวเองในทางลบ ไม่ชอบตัวตนภายในของตนเอง  และกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคม  เป็นแรงขับดันให้ผู้ป่วยมีความต้องการเปลี่ยนรูปลักษณ์โดยการแต่งหน้า  คลินิกเสริมความงามและทำศัลยกรรม  แต่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้ว่ารูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่ช่วยลดความคิดกังวลหมกมุ่น ตัวอย่างที่เห็น เช่น บางคนไปผ่าตัดจมูกมา  5  ครั้ง  บางคนเสริมเต้านม  เสริมแก้ม ฉีดคางจนแหลมแล้ว แหลมอีก บางคนผ่าตัดเสียจนดูแปลกประหลาดไป             ดังนั้นการผ่าตัดเสริมความงามจึงมีข้อควรระวังอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เนื่องจากอาการจะยังคงเดิมหรือแย่ลงหลังผ่าตัดพบว่า 50% หลังจากทำผ่าตัดแล้วหากผู้ป่วยพอใจกับผลการผ่าตัดก็จะเปลี่ยนไปกังวลกับร่างกายส่วนอื่นแทน             การพบแพทย์ผิวหนัง ( Dermatology Clinic ) ส่วนของร่างกายผู้ป่วยกังวลมากที่สุด คือ ใบหน้า โดยเฉพาะผิวพรรณหรือผิวหนังของตนเอง เช่น เป็นสิว  ในบางคนหมกมุ่นกับผิวหน้าโดยใช้กระดาษทรายมาขัดผิวหน้าเพื่อให้แผลเป็นหาย และเพื่อให้หน้าสว่างขึ้น หรือในวัยรุ่นผู้ป่วยมักเชื่อว่ามีคนสังเกตเห็นในส่วนที่มีตำหนิและมองผู้ป่วยในแง่ไม่ดี หรือตลกขบขัน ส่งผลให้ทำให้รู้สึกอาย โดยแสดงออกโดยไม่ยอมไปโรงเรียนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม           จากผลกระทบของโรคดังกล่าว ผู้ปกครองและแพทย์จึงควรรู้จักกลุ่มอาการเหล่านี้ โดยแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการเสริมความงามให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากการเสริมความงามไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน  คือ เรื่องจิตใจ และการรักษาที่ดีที่สุด คือ การปรึกษาจิตแพทย์ร่วมในการรักษา            ในกรณีที่ผล MRI  ออกมาว่า มีการใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าสมองซีกขวานั้น คือ รูปแบบของการทำงานสมองซีกซ้าย มักจะเป็นการใช้เหตุผล , ระบบตรรกะ , คิดคำนวณวิเคราะห์อะไรออกมาเป็นส่วนๆ  ซึ่งถ้าสมองซีกซ้ายทำงานเด่นมาก จะเป็นคนจริงจัง เครียดง่าย เถรตรง ขาดความยืดหยุ่น เปรียบได้กับ “ไม้บรรทัดนั้นแข็ง”  ซึ่งตรงและแข็ง ทว่าเปราะและหักง่าย อยู่ในกลุ่ม “ยอมหักไม่ยอมงอ”  สมองซีกขวาจะเป็นกลุ่มชอบสังเคราะห์ หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ถ้าสมองซีกขวาเด่นมาก จะเป็นคนช่างฝัน เรื่อยๆ เปื่อยๆ ทำอะไร ไม่ค่อยสำเร็จ หนักในทางเพ้อ  อยู่ในโลกความฝันมากกว่า  อยู่ในโลกของความจริงอยู่ในกลุ่ม “ไม้หลักปักขี้เลน” คนที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์จึงควรมีความสมดุลสมองทั้ง 2 ซีก    วิธีที่จะช่วยให้คนเรา ใช้สมองทั้ง 2 ซีก ได้อย่างสมดุล ได้แก่   ฝึกดนตรี ซึ่งมีส่วนฝึกมือและแขนข้างที่ไม่ถนัดสูง เนื่องจากทักษะด้านนี้ มักจะใช้ 1 สมอง 2 มือ ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ โดยเน้นทำอะไรที่ไม่ซ้ำซากบ่อยๆ  ปลูกต้นไม้หรือดอกไม้  เลี้ยงสัตว์แบบไม่กักขังหรือให้อาหารสัตว์  ฝึกกิจกรรมสมาธิ เช่น  ฝึกกำหนดลมหายใจ ฝึกไทเกก โยคะ ชี่กง ยอมรับความจริงที่ว่า คนเราเกิดมาไม่สมบูรณ์ เรียนรู้อยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบของเราให้ได้ ฝึกสมองหาข้อดี หรือการกระทำดีของเราให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 อย่างก่อนนอน ชมข้อดี หรือการกระทำดีของคนอื่นออกมาเป็นคำพูดให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง    การวินิจฉัยโรคในกลุ่มนี้          ควรมีคำถามช่วยคัดกรองสำหรับช่วยวินิจฉัย BDD ดังนี้ คุณเคยคิดมากเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของคุณหรือไม่ ส่วนไหนของร่างกายที่คุณไม่ชอบ คุณรู้สึกว่าส่วนนั้นทำให้ดูน่าเกลียด ไม่มีใครคบหรือไม่ คุณคิดว่าส่วนนั้นที่ไม่ชอบสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าคนอื่น ๆ อย่างไร ในแต่ละวันคุณใช้เวลากี่ชั่วโมงในการคิดเกี่ยวกับส่วนนั้น ส่วนนั้นเป็นสาเหตุทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่ คุณตรวจสอบส่วนนั้นวันละกี่ครั้ง(รวมการส่องกระจกหรืออะไรก็ได้ที่สะท้อนภาพ หรือการสัมผัสด้วยนิ้วมือ) คุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับส่วนนั้นในการเข้าสังคมบ่อยแค่ไหน  มันส่งผลให้คุณต้องคอยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือไม่ ส่วนนั้นมีผลต่อการนัดเดทหรือมีผลต่อการสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทหรือไม่ ส่วนนั้นขัดขวางความสามารถในการทำงาน การเรียน หรือหน้าที่หรือไม่   การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้            ควรปรึกษาจิตแพทย์ อาจมีการใช้ยาร่วมกับการทำ  พฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy ) แพทย์ นายแพทย์ เอนกวิช   เต็มบุญเกียรติ    Dr. Anekvich  Temboonkiat จิตแพทย์  ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน

โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน           โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ปรารถนา คือ อยากให้ลูกเป็นเด็กที่ฉลาด เรียนหนังสือเก่ง  ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่ส่วนใหญ่จึงมักให้ความสำคัญเรื่องพัฒนาการด้านสติปัญญาและความฉลาด จนบางครั้งอาจทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพของลูกน้อยได้  ในวัยเด็กมักเจ็บป่วยด้วยโรคนานาชนิด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังทำงานไม่สมบูรณ์เหมือนในผู้ใหญ่   การไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้เจ็บป่วยได้ง่ายและบางครั้งเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคมือเท้าปาก  ยิ่งสร้างความกังวลใจให้แก่พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ  เพราะโรงเรียนก็ถือเป็นแหล่งรวมโรคภัยไข้เจ็บด้วย แม้บางครั้งจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพและการเติบโตของเด็กด้วยปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บในเด็กยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติพบการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก กว่าครึ่งของจำนวนเด็กทั้งหมดมีสาเหตุการตายมาจากโรคติดเชื้อ อาทิ โรคปอดบวม โรคท้องร่วง ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นภัยร้ายที่คุกคามเด็กเล็กทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาหากพ่อแม่ไม่ดูแลเอาใจใส่ อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้            ดังนั้นหลักการเลี้ยงดูลูกน้อย 7 ข้อนี้ จะช่วยให้ลูกน้อยแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อยๆ ช่วยให้เด็กๆ ไปโรงเรียนได้อย่างสนุกสนาน และปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ 1. สร้างภูมิคุ้มกันเบื้องต้นให้ลูกตั้งแต่แรกคลอดด้วยการให้กินนมแม่ โดยให้ได้นานที่สุดเท่าที่คุณทำได้ (อย่างน้อย6 เดือน) ส่วนประกอบของน้ำนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 2สัปดาห์แรก จะมีน้ำนมเข้มข้นสีเหลืองๆที่เรียกว่า "โคลอสตรุม" ซึ่งประกอบด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนและยังมีแอนติบอดีซึ่งเป็นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเล็กนั้นเจ็บป่วยได้ง่าย  แม้นมโคลอสตรุมจะหมดไปแต่ในน้ำนมแม่ก็ยังมีสารอาหารครบถ้วน เมื่อเด็กโตขึ้นในมื้อหนึ่ง ๆ ควรมีอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันเกลือแร่ วิตามิน และน้ำอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนอกจากนี้ยังต้องดูถึงความสะอาดปราศจากเชื้อและปลอดสารพิษอีกด้วย 2. เลิกสูบบุหรี่ไม่ควรมีควันบุหรี่ในบริเวณที่ลูกอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่หรือคนใกล้ชิด เพราะควันบุหรี่จะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมและปอดของลูกได้มากเท่าๆกับของผู้ที่สูบ ซึ่งทำให้ลูกมีโอกาสเกิดโรคทางเดินหายใจต่างๆได้ง่าย เช่นปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ 3. สร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังการสั่งน้ำมูก หรือการเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือออกไปเล่นนอกบ้านปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามสอนลูกให้ไม่เอามือเข้าปาก หรืออมสิ่งของต่างๆที่ไม่สะอาด การดูแลสุขภาพของช่องปากด้วยการแปรงฟันให้สะอาดถืออีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม 4. พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกหรือมีคนหมู่มาก 5. ให้เด็กพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นการซ่อมบำรุงร่างกายและทำให้การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายได้เตรียมตัวสะสมพลังในช่วงนอน เพื่อจะออกมารับมือกับสิ่งต่างๆต่อไปในแต่ละวัน การอดนอน นอกจากจะทำให้คนเราอ่อนเพลียแล้วยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง 6. พยายามพาลูกไปรับวัคซีนต่างๆตามเกณฑ์อายุเพื่อให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ได้ ในปัจจุบันวัคซีนมีหลากหลายชนิด คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษากุมารแพทย์ประจำตัวของลูกเกี่ยวกับวัคซีนต่างๆ ได้ 7. ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ในบางครั้งถ้าดูแลไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาการเจ็บป่วยที่ลุกลามได้ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองและโรคต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงอาการ อาการแสดง และแนวทางการรักษา อาจโดยการสอบถามจากแพทย์ผู้ดูแลและหาอ่านเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณและลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีและไม่ค่อยเจ็บป่วยได้เช่นกัน ด้วยความปรารถนาดี  แพทย์หญิงปราณี   สิตะโปสะ            กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ  โรงพยาบาลวิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคลมชัก (epilepsy)

โรคลมชัก (epilepsy) นพ.พงศกร    ตนายะพงศ์  อายุรแพทย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลวิภาวดี           โรคลมชัก (epilepsy) เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางที่พบบ่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์สมองพร้อมๆ กันแล้ววิ่งผ่านผิวสมองส่วนต่างๆ ทำให้มีอาการชัก (seizure) ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาการเกร็งกระตุก หรือ เหม่อ เป็นต้น ถ้าอาการชักมีมากกว่าหนึ่งครั้งโดยที่ไม่มีเหตุกระตุ้น (unprovoked seizure) จะเรียกผู้ป่วยรายนั้นว่าเป็นโรคลมชัก (epilepsy)          อาการชักมีหลายประเภท ได้แก่ การชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมองที่เรียกว่า “Generalized Seizures” และการชักที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า “Partial Seizures”           การชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures)หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ลมบ้าหมู” อาการของลมชักประเภทนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือน อาการแสดงที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคลมชักประเภทนี้ คือ “อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว” (generalized tonic clonic seizure) โดยช่วงแรกของการชัก ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็ง หลังจากนั้นจะตามด้วยอาการกระตุก หรือกล้ามเนื้อมีการหดและคลายเป็นจังหวะ หลังจากการชักผู้ป่วยจะมีอาการหลังชัก (postictal symptoms) ได้แก่ อาการสับสน ปวดศีรษะ เป็นต้น จากนั้นจะกลับสู่สภาวะปกติ นอกจากอาการชักเกร็งทั้งตัวหรือลมบ้าหมูแล้ว ยังมีอาการชักแบบอื่น ๆ อีก ที่จัดเป็นอาการชักที่เกิดจากการทำงานผิดปกติที่ทุกส่วนของสมอง เช่น อาการเหม่อลอย หรือเรียกว่า Absence Seizures           การชักที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง (Partial Seizures)อาการชักประเภทนี้ สมองจะถูกรบกวนเพียงบางส่วนเท่านั้น อาการแสดงของผู้ป่วยจะขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่มีคลื่นกะแสไฟฟ้าประสาทผ่าน การชักชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท ตามการรู้ตัวของผู้ป่วยคือ “Simple Partial Seizures” และ “Complex Partial Seizures”    ถ้าผู้ป่วยมีสติขณะชักจัดเป็น “Simple Partial Seizures” ถ้าขณะชักไฟฟ้าสมองรบกวนสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (primary motor cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชักแบบเกร็งกระตุก ถ้ารบกวนส่วนที่ควบคุมการมองเห็น (visual cortex) ผู้ป่วยอาจเห็นแสง (flashing light) ถ้ารบกวนต่อสมองส่วนควบคุมความรู้สึกสัมผัส (primary somatosensory cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชาตัวหรือหน้า เป็นต้น              ถ้าการชักของผู้ป่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบต่อการรู้ตัวจัดเป็น “Complex Partial Seizures” ผู้ป่วยอาจจำเหตุการณ์ขณะชักได้เล็กน้อยหรือจำไม่ได้เลย การชักอาจแสดงอาการโดยการเปลี่ยนแปลงการรับรู้พร้อมกับการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ (automatism) เช่น การจับเสื้อผ้าหรือสิ่งของ การพูดพึมพำ หรือการเคี้ยวซ้ำๆ อย่างไร้จุดหมาย และสับสนบางครั้ง สำหรับผู้ป่วยบางราย การชักที่มีผลต่อส่วนหนึ่งของสมอง หรือ Partial Seizures ทั้ง 2 ประเภทนี้ อาจลุกลามไปมีผลต่อทุกส่วนของสมองได้ซึ่งหากเกิดขึ้นเราจะเรียกภาวะนี้ว่า “Secondarily Generalized Seizure” ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวขณะชัก และถ้าอาการลุกลามอย่างรวดเร็วจนทำให้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการชักแบบ Partial นั้นมาก่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อผู้ป่วยมีการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะการชักแบบ Generalized หรือ Complex Partial Seizures ผู้ป่วยอาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น ข้อมูลการชักของผู้ป่วยจากบุคคลใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สาเหตุของโรคลมชัก (Epilepsy) โดยทั่วไปสาเหตุของโรคลมชักสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.Symptomatic Epilepsy เป็นโรคลมชักที่มีสาเหตุชัดเจน เช่นการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อในสมอง หรือ การที่สมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง (Stroke) หรือมีรอยแผลเป็นในสมอง โดยทั่ว ๆ ไป การตรวจสแกนสมองมักจะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น 2.Idiopathic Epilepsy เป็นโรคลมชักที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนมาจากกรรมพันธุ์ โดยที่คนในครอบครัว จะมีความต้านทานต่อการชักในระดับต่ำกว่าปกติ  3.Cryptogenic Epilepsy เป็นสาเหตุที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน 2 กลุ่มแรกได้ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของการชัก จะจัดผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มนี้ถึงแม้ว่าจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีความผิดปกติทางร่างกาย เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วแพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักจากประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด จากนั้นจะใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย โดยการตรวจอาจมีมากกว่า 1 ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวมาก่อนตรวจคลื่นสมองทั้งเรื่องการงดดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง, สระผมให้เรียบร้อย และแห้งก่อนตรวจ ไม่ควรใส่ครีมนวด หรือสารเคมีใส่ผม ส่วนกรณีถ้าเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องเตรียมขวดนมน้ำ รวมทั้งของเล่นที่เขาชอบ ที่สำคัญควรไม่ให้เด็กนอนหลับมาก่อน เพราะเวลาตรวจจะได้ง่วงหลับไปเองโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับช่วย  แม้ว่าโรคลมชักจะอันตรายก็ตาม แต่ปัจจุบันในผู้ป่วยประมาณ 70%สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักเช่น การอดนอน การดื่มสุรา เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักมาตรฐานตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ควรได้รับการตรวจประเมินว่าสามารถผ่าตัดนำจุดกำเนิดชักออกได้หรือไม่   เช่นการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่สิบด้านซ้าย (Vagus nerve stimulation) การรักษาด้วยการควบคุมอาหารแบบ Ketogenic diet วิธีนี้มักใช้ในเด็กถ้าพบคนกำลังมีอาการชัก ให้รีบจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ไห้สำลักเศษอาหารเข้าปอด ปลดเสื้อผ้าไม่ไห้แน่นเกินไป จัดการสถานที่ให้โปร่งโล่ง หายใจได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งของใดๆใส่ปากเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้น เพราะทำอันตรายให้กับผู้ป่วยมากกว่า อาจจะไปงัดฟันหักหลุดเข้าหลอดลม หรือมือผู้ช่วยเหลืออาจจะถูกกัดได้ และโดยธรรมชาติของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไปจะชักเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 นาทีก็จะหยุด แต่ถ้ารายไหนที่ชักนานมากเกิน 5 นาทีขึ้นไป หรือชักซ้ำอีก กรณีนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล                                            ด้วยความปรารถนาดี  จากโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการไส้ติ่งอักเสบ ปวดท้องข้างไหน แบบไหน? ต้องรู้ 【ก่อนแตก】

ปวดท้องแบบไหนเป็นไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ? อาการปวดของไส้ติ่งแบบมาตรฐาน เบื้องต้นจะเริ่มปวดทั่วๆ บอกตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ครับมักเป็น รอบๆ สะดือ อาจเป็นพักๆหรือตลอดเวลาก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักเป็นแบบตลอดเวลา หลังจากนั้นประมาณ 6-10 ชม.อาการปวดจะย้ายมาที่ .. บริเวณท้องน้อยข้างขวา ต่ำกว่าสะดือ ปวดตลอดเวลา อาจมีไข้ขึ้น มีเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย  อาการปวดแบบมาตรฐาน(classical symptom) จะพบประมาณ 25% เท่านั้นครับ ส่วนที่เหลืออาจไม่เป็นแบบนี้ เช่น อาจไม่มีย้ายจุดปวด อาจปวดเป็นพักๆได้ (กรณีระยะเริ่มแรก หรือเป็นชนิดที่อยู่หน้าหรือหลังลำไส้เล็ก pre-ileal or post-ileal type)  แต่ประเด็นสำคัญคือปวดด้านขวาล่างๆ ครับ กดเจ็บ เดินตัวงอ มีเบื่ออาหาร มักปวดตลอดเวลา อาการเบื่ออาหารเป็นอาการที่สำคัญมากครับ พบเกือบ 100%  ฉะนั้น ถ้าปวดท้องแต่ไม่เบื่ออาหารกินข้าวได้ดี โอกาสเป็น ไส้ติ่งอักเสบแทบจะไม่มีครับ  ไส้ติ่งแตก ถ้าไส้ติ่งแตก ไข้จะสูงลอยครับ 40 ํ C ปวดทั่วท้องทั้งซ้ายและ ขวา ท้องจะแข็งเกร็งไปหมด เดินไม่ไหว ต้องนอนนิ่งๆ  การรักษา ไม่ว่าจะแตกหรือไม่ ผ่าตัดอย่างเดียวครับ ลักษณะการปวดแยกจากโรคอื่นยังไง? ปวดท้องทั่วไปจากโรคอื่นๆ โดยทั่วไป มักปวดเป็นพักๆ โรคแผลในกระเพาะ ถ้าเป็นจากโรคแผลในกระเพาะมักปวดใต้ลิ่นปี่ สัมพันธ์กับ อาหาร โดยจะท้องอืด เหมือนอาหารไม่ย่อย หรือ ปวดจุกเสียดก็ได้ มักเป็น หลังอาหาร (คือทานอาหารแล้วแย่ลง) แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น แต่ถ้าเป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น อาจเป็นที่ใต้ลิ่นปี่หรือชายโครงขวา มักปวดจุกเสียดก่อนอาหาร พอทานอาหารแล้วจะดีขึ้น ปวดจากถุงน้ำดี อาการปวดจากถุงน้ำดี มักเป็นที่ชายโครงขวาครับ อาจมีร้าวไป บริเวณมุมล่างของสะบักขวาหรือบริเวณระหว่างสะบัก จะมีลักษณะที่สำคัญ คือ จะมีอาการแน่นหรืออืด หลังทานอาหารมันๆ(Fat Intolerance) หรือมีปวดท้องหลังอาหารเย็น เป็นพักๆ ที่ชายโครงขวา (Biliary Colic) ปวดจากนิ่วในท่อไต ปวดจากนิ่วในท่อไต อาการปวดจะเป็นพักๆ มากบริเวณเอวด้านหลังอาจร้าวมาขาหนีบ หรือ บริเวณอัณฑะ ร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ปวดจาก ปีกมดลูก หรือรังไข่ ปวดจาก ปีกมดลูก หรือรังไข่ จะปวดบริเวณ ท้องน้อย ไม่สัมพันธ์กับอาหาร มักมีเลือดหรือตกขาวผิดปกติทางช่องคลอดร่วมด้วย จะสังเกตว่าอาการปวดท้อง ในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นไส้ติ่ง หรือโรคอื่นๆก็ตาม จะแยกกันยาก ต้องใช้การสังเกตอาการ  ดังนั้น ในกรณีที่เริ่มปวดท้องที่ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร อย่าเพิ่งกินยาแก้ปวด ควรไปพบแพทย์  เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยก่อน เพราะการกินยาแก้ปวดจะทำให้ แพทย์วินิจฉัยแยกโรคลำบาก เนื่องจาก ยาจะบดบังอาการปวดครับ แพทย์ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์  พบ., วว.ศัลยศาสตร์ , บธ.ม. แพทย์ศัลยกรรมประจำ รพ.วิภาวดี 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคมะเร็ง (Cancer) เผย 3 สาเหตุหลัก พร้อมวิธีป้องกัน

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็ง พบว่า ปี 2541 ที่ผ่านมามีคนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งถึง 90,000 คน จำนวนนี้ไม่นับคนที่เป็นรายเริ่มแรกไม่มีอาการ ไม่มาตรวจหรือไปรักษากับหมอแผนโบราณอีกเท่าไร และถ้านับสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย มะเร็งดูจะเป็นอันสอง เป็นรองก็แต่โรคหัวใจเท่านั้น แม้ว่าวิทยาการทางแพทย์จะก้าวหน้าไปมากทำให้เราสามารถที่จะวินิจฉัยโรคมะเร็งได้รวดเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการรักษาให้หายขาดด้วยการฉายแสงหรือเคมีบำบัด ก็ยังถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สาเหตุของโรคมะเร็ง ชนิดของมะเร็งในคนเรามีแตกต่างกันไปมากกว่า 100 ชนิดเลยทีเดียว ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ผลการรักษาแตกต่างกันออกไป ถ้าทำได้คงไม่มีใครอยากพบเจอกับโรคมะเร็งแน่นอน ก็ต้องมาพิจารณากันให้เข้าใจว่า แล้วอะไรกันที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งกันแน่ นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมามากกว่า 20 ปี แล้วว่า มะเร็งนั้นเป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรมภายในเซลล์ที่เรียกว่า ยีน (gene) ที่มีสภาวะบางอย่างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแบ่งตัวที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดมีการเพิ่มปริมาณมากจนเป็นเซลล์มะเร็ง ยีนที่ควบคุมการเกิดมะเร็งนี้เราเรียกว่า ยีนก่อมะเร็ง (oncogene) ซึ่งอาจมีการส่งผ่านทางกรรมพันธุ์ หรือเกิดขึ้นภายหลังอันเนื่องมาจากผลกระทบของสารเคมี เช่น อนุมูลอิสระ ดังที่กล่าวข้างต้น ตามหลักการของการเกิดโรคมีปัจจัยใหญ่ๆ อยู่ 3 อย่างที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือ  Host (ตัวผู้ป่วย) Agent (สารก่อมะเร็ง, เชื้อโรค) Environment (สภาพแวดล้อม) 1. ตัวผู้ป่วย ตัวผู้ป่วยเองเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะเซลล์ในร่างกายคนเราซึ่งมีถึงเกือบห้าหมื่นล้านเซลล์นี้ ถ้าเซลตัวใดตัวหนึ่งเกิดแปลกปลอมขึ้นมาก ก็จะถูกระบบภูมิคุ้มกันเล่นงาน ถ้าหากระบบนี้ทำงานแย่ก็จะเปิดโอกาสให้มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเกิด ขึ้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า คนที่ประสบกับภาวะเครียดจัดสูญเสียอย่างรุนแรง ไม่ช้าไม่นานก็จะป่วยด้วยโรคมะเร็ง เพราะภูมิต้านทานลดลงนั่นเอง 2. สารกัมมันตรังสี, เชื้อโรค สารกัมมันตรังสี เช่น กรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู หรือสงครามนิวเคลียร์จะพบอุบัติการณ์มะเร็งของเม็ดโลหิตขาว และมะเร็งผิวหนัง เพิ่มขึ้น มะเร็งตับมีสาเหตุที่ทราบแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสารที่ชื่อว่า อะฟลาทอคซิน ซึ่งอยู่ในอาหารประเภทถั่วที่ขึ้นรา ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญเพราะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้นถึง 200 เท่าเลยทีเดียว คนไข้ประเภทนี้จะไม่มีอาการผิดปกติเรียกว่าเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี (HBV carrier) จำเป็นต้องรับการตรวจค้นหามะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ด้วยการทำอัลตราซาวน์ทุก 6 เดือน -1 ปี มะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่เกิดกับท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งพบบ่อยทางภาคอีสาน มีสาเหตุเกิดมาจากการรับประทานปลาดิบร่วมกับสารประเภทไนโตรซามีน ซึ่งได้มาจากการหมักโปรตีนกับสารพวกดินประสิว มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับคนที่ชอบทานเนื้อสัตว์ แต่ไม่ชอบทานอาหารที่มีกากใย คือ พวกพืชผัก และธัญพืชต่างๆ ทำให้มีปัญหาเรื่องท้องผูกเป็นประจำ สารพิษ สารก่อมะเร็ง มีโอกาสเล่นงานเซลล์ลำไส้ได้มากขึ้น  ดังที่ยกตัวอย่างมา เป็นเพียงส่วนน้อยในจำนวนสาเหตุการเกิดมะเร็งทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่เราก็ยังไม่สามารถหาคำตอบไดว่า สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเหล่านั้น คืออะไรแน่ แต่จะเห็นไดว่ามีจำนวนไม่น้อยเกี่ยวข้องอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งก็เป็นดังภาษิตฝรั่งที่ว่า “You are what you eat “ คงไม่ผิด 3. สภาพแวดล้อม สารก่อมะเร็งและการติดเชื้อ เป็นปัจจัยสำคัญดังที่กล่าวแล้ว เรื่องของ มลพิษ ควันบุหรี่ อาหารที่ไหม้เกรียม เป็นต้นกำเนิดของอนุมูลอิสระซึ่งจะเข้าทำลายเซลล์ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งของลำคอ คือ หรือกากมดลูก พบว่าหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วัยรุ่นมีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่ม ขึ้นอย่างมาก วิธีป้องกัน ถ้าจะให้พูดถึงหลังการป้องกันมะเร็งโดยสรุป ก็พอจะแยกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทราบแน่ชัด เช่น สารพิษ ควันบุหรี่ อาหารปรุงแต่งรส สีเนื้อที่ไหม้เกรียม ทานอาหารธรรมชาติ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ที่สดสะอาดให้มากๆ เข้าไว้ โดยไม่พยายามให้ให้ซ้ำซาก เพื่อจะได้รับสารอาหารหลากหลายชนิด หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างถูกวิธี ให้พอเหมาะพอดี ดื่มน้ำให้มาก ขับถ่ายให้เป็นเวลา พยายามอย่างให้ท้องผูก ทำจิตใจให้เบิกบาน มองโลกในแง่ดี รู้จักแก้ปัญหาชีวิตในทางที่ถูกต้อง การตรวจมะเร็งประจำปี โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และปากมดลูก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า มะเร็งรักษาหายได้เป็นในระยะเริ่มแรก ความเชื่อที่ผิด 4 ประเด็นหลัก กับ โรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวย ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์เรื่องการทำลายความเชื่อที่ผิด 4 ประเด็นหลัก ในปี 2557 ไว้น่าสนใจดังนี้ ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 1: เราไม่ควรพูดคุยกันเรื่องโรคมะเร็ง เพราะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหรือเป็นเรื่องที่น่าอาย ที่ต้องการปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ความจริงคือการที่ได้พูดคุยกันเรื่องโรคมะเร็ง รวมไปถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งในสังคม จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในการดูแลตนเองตั้งแต่การป้องกัน การตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลการรักษาที่ดี และการที่ผู้ป่วยมีโอกาสพูดคุย จะสามารถระบายและสามารถปรึกษาผู้อื่นรวมถึงญาติพี่น้อง ซึ่งจะช่วยให้ความวิตกกังวลลดลง รวมถึงผู้ที่ดูแลผู้ป่วยก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 2: มะเร็งเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ซึ่งความจริงก็คือมะเร็งหลายชนิดมีอาการและอาการแสดงนำมาก่อน ที่ทั่วโลกต่างรณรงค์กันเรื่อง 7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งอันประกอบด้วย ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกลืนกินอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดที่เปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้ แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่พึ่งเริ่มมีอาการ โอกาสที่จะรักษาหายขาดก็มีมาก ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 3: เราไม่สามารถทำอะไรได้กับมะเร็ง เรียกว่ามะเร็งเป็นสิ่งที่เราจัดการอะไรไม่ได้เลย เป็นมะเร็งเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิตเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่แท้จริงแล้วเราสามารถป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นมะเร็งหลายชนิดได้ ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง การปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง โดยต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ในระดับบุคคล ระดับสังคมและนโยบายระดับประเทศ รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมและดำเนินการอย่างจริงจัง ก็จะสามารถลดการเกิดมะเร็งในภาพรวมได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 4: เราไม่มีสิทธิ์ได้รับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถได้รับการรักษาโรคมะเร็งได้ทุกคน ทั้ง 3 กองทุนคือ สิทธิ์ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์กรมบัญชีกลาง เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเสียเงินรักษาเอง หรือไปรักษาในแนวทางที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ  เนื้องอกกับมะเร็งต่างกันอย่างไร? เนื้องอก - เป็นก้อนเนื้อที่งอกขึ้นในอวัยวะต่างๆ เนื้องอกอาจทำให้เกิดปัญหาการกดทับได้ แต่ไม่สามารถลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆได้ ถ้าต้องรักษาส่วนมากผ่าออกก็จะหาย  มะเร็งหรือเนื้อร้าย - เป็นเนื้องอกที่สามารถลุกลามเข้าไปโตในเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ ได้ ทั้งที่อยู่ในบริเวณรอบๆ ใกล้เคียง หรือไกลออกไป การรักษาจะยากกว่าเนื้องอกเพราะมะเร็งชอบทิ้งเซลล์เล็กๆไว้ในร่างกายถึงแม้จะผ่าเอาก้อนออกไปได้ ดังนั้นการรักษามะเร็งจึงต้องพยายามทำลายเซลล์เล็กๆเหล่านั้นด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้คีโม รังสีรักษา สารกลุ่มที่เรียกกันว่าไบโอลอจิกชนิดต่างๆ ฯลฯ แพทย์ นพ.วรงค์ ลาภานันต์ แผนกอายุรกรรมโรคหัวใจ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน คือภาวะที่มีระดับน้ำตาลกลูโคสสูงในเลือด ซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องในการหลั่ง Insulin จากตับอ่อน หรือ การออกฤทธิ์ของ Insulin ผิดปกติ หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน เป็นโรคที่พบบ่อย 10.2% ของประชากรอายุ >35 ปี   เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน นพ.พงษ์สันติ์ ลี้สัมพันธ์ อายุรแพทย์โรคเบาหวาน ต่อมไร่ท่อ และเมแทบอลิซึม           โรคเบาหวาน คือภาวะที่มีระดับน้ำตาลกลูโคสสูงในเลือด ซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องในการหลั่ง Insulin จากตับอ่อน หรือ การออกฤทธิ์ของ Insulin ผิดปกติ หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน เป็นโรคที่พบบ่อย 10.2% ของประชากรอายุ >35 ปี อาการของโรคเบาหวาน           ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย ตัวมัว เพลีย น้ำหนักตัวลดลงดดยอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุอื่น           ข้อบ่งชี้ในการตรวจหาโรคเบาหวานในบุคคลที่ไม่ทราบว่าเป็นโรคเบาหวานมาก่อนและไม่มีอาการผิดปกติ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ 1. อายุ _> 45 ปีถ้าหากผลตรวจปกติ ควรตรวจซ้ำทุก3ปี 2. ผู้ที่ควรได้รับการตรวจก่อนอายุ 45 ปี หรือต้องมีการตรวจซ้ำเป็นระยะถี่ขึ้น ได้แก่ผู้ที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้ -          ดัชมีมวลกาย_> 25 (คำนวณจาก(น้ำหนัก(kg) / ส่วนสูง (เมตร)) -          ประวัติโรคเบาหวานในญาติ เช่น มี พ่อ แม่ พี่ น้องเป็นเบาหวาน -          ประวัติคลอดบุตรน้ำหนัก มากว่า 4 กิโลกรัม หรือประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์ -          ความดันโลหิตสูง มากกว่า 140/90mmHh                 -          ไขมันในเลือดผิดปกติ HDL<35 mg/dl, Triglyceride _> 250mg/dl -          เคยพบน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง_>100 mg/dl -          ออกกำลังกายน้อย -          มีโรคของหลอดเลือด -          เป้นโรคถุงน้ำรังไข่ (Pilycystic Ovarian Syndrome) การวินิจฉัย 1. งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มี แคลอรี่ เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ลัวเจาะระดับน้ำตาลในเลือดได้ _>126mg/dl 2ครั้ง ต่างวันกัน 2. มีอาการของโรคเบาหวาน ร่วมกับ ผลน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ของวัน ดดยไม่คำนึงถึงเวลาที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย ได้ _>200mg/dl HbA คือ ค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือด ในระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป้าหมายในการรักษา คือ ควบคุมให้ระดับ HbA1c _< 6.5 หรือ7(แล้วแต่ประเภทของผู้ป่วย) ค่านี้มีประโยชน์เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ควบคุมอาหารอย่างดีเพียง 1-2 วัน ก่อนวันพบแพทย์ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลที่ตรวจพบดี แต่ความเป็นจริงคือ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มิได้ควบคุมตนเอง ซึ่งค่าHbA จะสูง ฟ้องให้เห็นทำให้แพทย์สามารถเห็นค่าน้ำตาลที่แท้จริงได้และหากค่า HbA ยิ่งสูงจะเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง (หรืออันตรายภัยเงียบจากเบาหวาน) 1. หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย 2. หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดภาวะอัมพาต อัมพฤกษ์ 3. หลอดเลือดส่วนปลายที่ขา ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาไม่เพียงพอ มีอาการปวดน่องเวลาเดิน และอาจทำให้เกิดแผลที่เท้าเนื่องจากการขาดเลือดไปเลี้ยง 4. จอประสาทตา ผู้ป่วยได้รับการตรวจจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากพบความผิดปกติ สามารถรักษาได้โดยการ Laser เพื่อป้องกันระดับสายตาเสื่อมลงและตาบอด 5. ไต ขั้นแรกจะตรวจพบ ไข่ขาว รั่วออกมาในปัสสาวะ และหากไม่ระวังดูแลให้ดีอาจทำให้เกิดภาวะไตวายในอนาคตได้ 6. เส้นประสาท อาการที่พบบ่อยคือ มีอาการชาหรือปวดแสบปวดร้อน หรือปวดรุนแรงหรือรู้สึกชาแบบเหน็บชา หรือเหมือนถูกเข็มแทง โดยมักมีอาการที่ปลายเท้า และปลายมือก่อน หากไม่อยากให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานดังกล่าว ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ตั้งแต่แรกวินิจฉัย รวมทั้งตรวจหาและรักษาปัจจัยเสี่ยงที่พบร่วมอันได้แก่ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 30-60 นาที ต่อครั้ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน                   1.      ควบคุมอาหาร โดยลด ข้าว แป้ง น้ำตาล และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลโดยเฉพาะ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และนมเปรี้ยว 2.      ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 30-60 นาทีต่อครั้ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ 3.      งดสูบบุหรี่ 4.      รับประทานยาหรือฉีดยาตามแพทย์แนะนำ 5.      รักษาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่พบร่วม ได้แก่ ความดัน โลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง 6.      หากมีอาการผิดปกติ เช่นอาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากระดับน้ำตาลจะแกว่งสูงหรือต่ำได้มาก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไอพีดี... ภัยร้ายในเด็ก

ไอพีดี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง ประกอบด้วยโรคสำคัญสองโรคได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงโรคปอดบวมที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคไซนัสอักเสบอีกด้วย ไอพีดี... ภัยร้ายในเด็ก ไอพีดี (IPD, invasive pneumococcal disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง ประกอบด้วยโรคสำคัญสองโรคได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงโรคปอดบวมที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคไซนัสอักเสบอีกด้วย   ความสำคัญของไอพีดี โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสพบได้บ่อยและมีโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรงในผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองได้    ในปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อต่อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ในอดีตเคยใช้ได้ผลดีอย่างยาเพนนิซิลิน ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและไอพีดีมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น   อาการของผู้ป่วยไอพีดี อาการของผู้ป่วยไอพีดีแตกต่างกันตามประเภทของอวัยวะที่ติดเชื้อและอายุของผู้ป่วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง และอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก    โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ซึมลง ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้   โรคปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ไอ และเหนื่อยหอบ อาการของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่   การวินิจฉัยไอพีดี การวินิจฉัยไอพีดีอาศัยอาการของผู้ป่วยและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจนับเม็ดเลือดอาจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือด การเพาะเชื้อในน้ำไขสันหลัง เลือด หรือเสมหะ จะช่วยยืนยันว่าโรคเหล่านี้มีสาเหตุจากเชื้อนิวโมคอคคัสจริง   การรักษาผู้ป่วยไอพีดี หลักการรักษาผู้ป่วยไอพีดีที่สำคัญคือ การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม การเลือกใช้ยาขึ้นกับโรคที่เป็นและโอกาสในการพบเชื้อที่ดื้อยา   ในอดีตแพทย์มักเลือกใช้ยาต้านจุลชีพในกลุ่มเพนนิซิลินในการรักษาผู้ป่วยไอพีดี แต่ปัญหาเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยาทำให้การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพต้องเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพก่อนยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อนิวโมคอคคัสควรครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อแต่ละโรคซึ่งอาจเกิดจากเชื้ออื่นๆ นอกเหนือไปจากเชื้อนิวโมคอคคัส   เมื่อมีการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่ามีการติดเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเปลี่ยนไปใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมตามความไวของยาต่อเชื้อที่ตรวจพบ   การป้องกันไอพีดี การป้องกันไอพีดีในเด็กทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปากและจมูกเวลาไอจาม และล้างมือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หรือมีอาการหวัด อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสมโดยสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 15 ปี ปรึกษาได้ที่คลินิกกุมารเวชชั้น 2 อาคาร 4 โทร. 0-2561-1111 ต่อ 4220-1  สำหรับผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ปรึกษาได้ที่วัคซีนเซ็นเตอร์ โทร. 0-2561-1111 ต่อ 1246   รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ค่า PSA เท่าไรถึงจะถือว่าผิดปกติ

การตรวจ PSA สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก       มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของมะเร็งที่คร่าชีวิตของผู้ชาย รองจากมะเร็งปอด พบว่าผู้ชาย 1 คน ในทุก 10 คน จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า มะเร็งต่อมลูกหมากมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ทั่ว ๆ ไป        ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่า ส่วนมากแล้วมะเร็งทุกชนิด มักไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่มให้เห็น แต่จะมารู้ตัวว่าเป็น ก็แสดงอาการในระยะที่  2 ที่ 3 เข้าไปแล้ว ดังนั้น วิธีการตรวจคัดกรองหรือตรวจหาว่ามีความผิดปกติของการเกิดมะเร็ง จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการระมัดระวังตัวเอง ให้ห่างไกลจากมะเร็ง (Prostate-specific antigen; PSA) ซึ่ง พีเอสเอ เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก พีเอสเอ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของต่อมอสุจิที่ทำให้มีลักษณะเป็นน้ำ ส่วนใหญ่ พีเอสเอ มักจะออกจากร่างกายระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ แต่มีปริมาณน้อยที่จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือด ค่าปกติ ของ PSA      ค่าปกติของ PSA  อยู่ในช่วง 4 ถึง 10 ng/mL ในช่วงอายุที่แตกต่างกันอาจมีระดับของ PSA ที่ไม่เท่ากันได้ แต่จะไม่สูงเกิน10 ng/mLกรณีที่มีการตัดต่อมลูกหมากไปแล้วเพื่อรักษามะเร็งจะมีระดับPSA เป็น 0 ได้ แต่ยังต้องมีการตรวจระดับ PSA เพื่อติดตามอาการต่อไป หากพบว่ามีระดับสูง อาจเกิดเนื่องจากการพบการกระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งไม่สามารถกำจัดออกได้หมด ระดับ PSA ที่ตรวจพบบ่งชี้ถึงโอกาสในการเกิดมะเร็งที่แตกต่างกันได้   ระดับ Standard PSA โอกาสในการเกิดมะเร็ง ระดับ free PSA โอกาสในการเกิดมะเร็ง 0-2 ng/mL 1% 0-10% 56% 2-4 ng/mL 15% 10-15% 28% 4-10 ng/mL 25% 15-20% 20% >10 ng/mL >50% 20-25% 16%     >25% 8%  ผลจากการวัดค่า พีเอสเอ มีความหมายอย่างไร            ถ้าการตรวจทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปกติเป็นที่น่าพอใจ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจโรคเพิ่มเติม แพทย์อาจจะแนะนำให้มาตรวจทั้งทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปีละหนึ่งครั้ง ถ้าค่าพีเอสเอสูงหรือการตรวจทางทวารหนักพบว่าต่อมลูกหมากมีความผิดปกติ แพทย์ก็จะนำชิ้นเนื้อมาทำการตรวจ           ย้ำอีกครั้งว่า การตรวจวัดค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่หนทางที่เพียงพอนัก จึงอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางทวารหนัก และพิจารณาจากอายุ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่อไป อะไรเป็นสาเหตุให้พีเอสเอมีการเปลี่ยนแปลง           บางครั้งค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากเหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือจากมะเร็งก็ได้ เพราะการมีต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ส่งผลต่อระดับ พีเอสเอ ซึ่งรวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก และการรับประทานยาก็อาจทำให้ค่า พีเอสเอ เปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อฮอร์โมน เป็นต้น  ควรได้รับการตรวจค่าพีเอสเอหรือไม่        ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในยุโรป มีการแนะนำให้มีการตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้ง สำหรับผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และคาดหวังว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้อย่างน้อย 10 ปี สำหรับผู้ชายที่มีอัตราเสี่ยงของ มะเร็งต่อมลูกหมาก จากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจเริ่มต้นที่อายุ 45 ปี ส่วนผู้ชายอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหา มะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะเริ่มแรก การตรวจเพื่อหามะเร็งควรทำทันทีเมื่อมีอาการทางระบบปัสสาวะ           สิ่งสำคัญที่ควรมีการตระหนักคือ การตรวจ พีเอสเอ เป็นเครื่องมือในการตรวจโรคของ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายประจำปีสามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงการมีภาวะแทรกซ้อนของโรค มะเร็งต่อมลูกหมากได้  ควรตรวจค่าพีเอสเอบ่อยแค่ไหน           ถ้าค่าพีเอสเอและการตรวจทางทวารหนัก ได้ผลเป็นปกติตั้งแต่เริ่มแรก แพทย์ผู้มีประสบการณ์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มีการตรวจทั้งสองวิธีทุกปี          การตรวจวัดค่าพีเอสเอ ร่วมกับการตรวจทางทวารหนัก เป็นวิธีการที่ใช้กันมากในปัจจุบัน จุดประสงค์เดียวคือเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากสงสัยว่าตัวเองเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ หนทางที่ดีที่สุดก็คือ การตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป                       ฉะนั้น อย่านิ่งนอนใจ หันมาดูแลสุขภาพกันดีกว่าต้องมารักษาโรคร้าย                                                   ด้วยความปรารถนาดี      จาก นพ.ไชยสิทธิ์ มัจฉริยกุล ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ

ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ อายุแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง แถมมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบในผู้ป่วยอายุเพียง 29 ปี    ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ   อายุแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง แถมมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบในผู้ป่วยอายุเพียง 29 ปี            นพ.เสมชัย เพาะบุญ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ  โรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า  โรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการกินดีอยู่ดี และความสะดวกสบายมากขึ้น โดยที่ในอดีตมนุษย์มักเสียชีวิตส่วนใหญ่จากสงคราม และโรคติดเชื้อเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโรคที่เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ โรคมะเร็ง และ โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดจะมีปัจจัยเสี่ยงหลัก  2 ประเภท คือ ปัจจัยที่แก้ไข้ไม่ได้ เช่น เพศ ซึ่งพบในชายมากกว่าหญิง อายุ วัยเสี่ยงคือเผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป และ กรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่และญาติที่เป็นสายตรงเป็นโรคหัวใจ และ ปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น การสูบบุหรี่            “โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง และโรคที่กำลังมีแนวโน้มพบมากขึ้น ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง คือภาวะที่มีรอบเอวเกินมาตรฐาน โดยในผู้ชายมากกว่า  36 นิ้ว และในผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้วและมีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด แนวทางในการป้องกันก็คงต้องเน้นไปที่  ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้เป็นหลัก อันดับแรก คือ ในผู้ที่สูบบุหรี่ต้องหยุดสูบบุหรี่ ซึ่งรวมไปถึงผู้ใกล้ชิดที่มีโอกาสได้รับควันบุหรี่ด้วย ทั้งนี้ พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอายุสั้นกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปีทีเดียว”            แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวต่อว่า เราทุกคนควรหมั่นตรวจร่างกายว่าเรามี ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน หรือมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ในระยะแรกที่ยังเป็นไม่มากควรใช้การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายก่อน แต่ถ้าเป็นมากก็ต้องใช้ยารักษา อันดับสุดท้ายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือการออกกำลังกายให้เหมาะสมและเพียงพอ ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้            “การออกกำลังกายที่ดีควรทำแบบต่อเนื่อง คือมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อตอนเริ่มต้น เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บ มีการเริ่มต้นช้าๆ เพื่ออบอุ่นร่างกายและเตรียมพร้อม จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความเร็วและเวลามากขึ้น และสุดท้ายต้องมีการค่อยๆ ลดความเร็วลงเพื่อให้ร่างกายและหัวใจกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ            ควรออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ  20-30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป แต่กระนั้นผู้มีปัจจัยเสี่ยง อย่าวิตกจริตเกินเหตุ เพราะอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคหัวใจเสมอไป            นอกจากนี้ นพ.เสมชัย ได้ให้คำแนะนำในการสังเกตุอาการของผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การสังเกตุตามกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจะมีเจ็บแน่นหนักหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด ร้าวไปที่คอ, กรามล่าง, ไหล่ และแขนซ้าย นอกจากนี้อาจมีเหงื่อแตก หน้ามืด หรือเหนื่อยหอบร่วมด้วย มักเป็นขณะออกแรงหรือออกกำลังมากไป อย่าปล่อยให้เจ็บเกิน 5 นาที ควรรีบพบแพทย์            กลุ่มโรคของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยจะเหนื่อยง่าย หอบหนักผิดปกติ แม้เวลากลางคืน นอนราบไม่ได้ กลุ่มโรคของระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย บางรายอาจมีวูบเป็นลมหมดสติได้ “ตัวผู้ป่วย ญาติ และผู้ใกล้ชิด ควรตระหนักถึงเรื่อง ‘เวลา’ เป็นสิ่งสำคัญ หากพบผู้ป่วยมีภาวะอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจให้เร็วที่สุด”    นพ. เสมชัย เพาะบุญ กล่าวทิ้งท้าย                     LINETwitterFacebookWhatsApp

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เตรียมผิวสู้แดด

นพ.ธัญธรรศ  โสเจยยะ  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ศูนย์ผิวหนัง รพ.วิภาวดี เตรียมผิวสู้แดด            ในอดีต คนผิวขาวชอบอาบแดด เพราะเชื่อว่าผิวสีน้ำตาลเข้ม หมายถึง ผิวที่มีสุขภาพดี แต่ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า แสงแดดก็มีอันตรายไม่น้อย โดยเฉพาะต่อผิวหนังและดวงตา  เพราะในแสงแดดมีรังสีมากมายแต่จะถูกคัดกรองจากชั้นบรรยากาศ โดยยังมีรังสีอัลตราไวโอเลต เอ และ บี ที่สามารถผ่านลงมาสู่ผิวโลก         ปกติในชั้นบรรยากาศ โอโซน ไอน้ำ เมฆ หมอก จะกรองรังสีไว้บางส่วน ในเมืองจะมีควันฝุ่นมลพิษปริมาณมากที่จะกรองรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ดังนั้นปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตในเมืองจะมีน้อยกว่าในชนบท ชายทะเล ที่ท้องฟ้าโปร่ง และในอดีตปริมาณอัลตราไวโอเลต บนผิวโลกจะมีน้อยกว่าปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้อากาศยานสาร CFC อาวุธปรมาณู  ซึ่งทำลายชั้นโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตลงมาบนพื้นโลกได้มากขึ้น อันตรายของแสงแดดต่อผิวหนังจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น 1.ความแรงของแสงแดด จะแรงมากในช่วงสิบโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น             2.ระยะเวลาที่โดนแดด ยิ่งโดนนานจะได้รับผลกระทบมากกว่าโดนระยะสั้น ๆ 3.การสะสม คือ โดนแสงแดดบ่อย ๆ ตั้งแต่เด็กจะมีผลระยะยาวมาแสดงอาการตอนโตได้ 4.ลักษณะผิวของแต่ละคน คนผิวขาวจะทนแดดได้น้อยกว่าคนผิวสีเข้ม เพราะคนผิวเข้มจะมีเม็ดสีเมลานิน มีหน้าที่ดูดกรองรังสีไว้ไมให้ลงไปทำลายผิวหนังด้านล่าง อัลตราไวโอเลตจะมีผลต่อผิวหนัง ตั้งแต่มีอาการแสบ ผิวหนังแดงจนถึงไหม้ หลังมีการสัมผัสแดด ไอแดด ก็สามารถทำให้ผิวคล้ำได้ โดยจะทำให้เม็ดสีเข้มขึ้น เช่น กระ หรือฝ้า และอัลตราไวโอเลต เอ ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ยาว จะทะลุลงไปในผิวหนังชั้นลึกได้ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ จะไปทำลายเซลผิวหนังเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและเซลภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผิวหนังจะมีลักษณะบาง เกิดริ้วรอย แห้ง หย่อนคล้อยติดเชื้อง่าย และที่น่ากลัวคือ อนุมูลอิสระจะทำให้โปรตีนพันธุกรรมระดับโมเลกุลในเซลผิดปกติ กลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งผิวหนังได้ โดยปกติ ร่างกายคนเราจะมีกระบวนการป้องกันหรือแก้ไข โดยจะทำลายและกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น หรือซ่อมแซมโปรตีนพันธุกรรม แต่บางครั้งเมื่ออายุมากขึ้นหรืออนุมูลอิสระที่มีมากเกินไป จะทำให้กระบวนการป้องกันหรือซ่อมแซมของร่างกายไม่สมบูรณ์ การดูแลทั่ว ๆ ไป เริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดผิว ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่อาบน้ำร้อน ไม่ขัดผิวรุนแรง ทาโลชั่น หรือ ครีมบำรุง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น การสวมเสื้อผ้าปิดคลุมผิวใส่หมวกปีกกว้าง สวมแว่นตากันแดด เมื่อต้องออกไปสัมผัสแดดแรง ๆ เลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ช่วงสิบโมงถึงสี่โมงเย็นทายากันแดด โดยเลือก  ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ ทาซ้ำบ่อย ๆ ถ้ามีกิจกรรมกลางแจ้งหรือเหงื่อออกมาก และทาทุกวันแม้กระทั่งวันที่ไม่มีแดด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายพอเหมาะ ลดการทานอาหารขยะเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ และเน้นประเภทวิตามิน เนื่องจากเชื่อกันว่าวิตามินมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ ตอนนี้ก็คงรู้แล้วนะครับว่า ทำไมคนที่อายุเท่า ๆ กัน บางคนถึงดูหน้าอ่อนกว่าวัย และคงเข้าใจภัยของแสงแดดต่อผิวหนัง เพราฉะนั้น เราควรเริ่มดูแลเอาใจใส่ผิวหนังตั้งแต่วันนี้ ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยดูแล และแก้ไขความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ไอออนโตฯ โฟโนฯ กรอหน้า เลเซอร์ คลื่นวิทยุหรือแสง ซึ่งหาได้มากมาย แต่คงต้องเลือกใช้บริการจากสถานที่ที่หน้าเชื่อถือและไว้ใจได้       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ผิวหนัง 0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อากาศร้อนทำอย่างไร ไม่ให้เครียด

อากาศร้อนทำอย่างไร  ไม่ให้เครียด นพ.วีรวุฒิ  เอกกมลกุล  จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี อากาศร้อนทำให้คนที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เครียดยิ่งขึ้น และอากาศร้อนทำให้คนที่เครียดง่ายอยู่แล้ว เครียดง่ายมากขึ้นอีก ในที่สุดอาจตกเป็นเหงื่อของความเครียด โดยส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ พฤติกรรมและสังคม หน้าร้อนนี้....ไม่เป็นเหยื่อของความเครียด “แม้ว่าเราห้ามฝนไม่ได้ แต่เราห้ามตัวเองไม่ให้เปียกฝนได้”แม้ว่าเราห้ามแดดร้อนไม่ได้  แต่เราห้ามตนเองไม่ให้ร้อนจากแดดได้... เรามีทางเลือกภายใต้สภาวะที่ไม่พึงปรารถนา ดังนั้นเราจึงห้ามตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อของความเครียดได้ แม้ว่าเราจะอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าพอใจโดยเฉพาะอากาศร้อน ๆ ทำอย่างไรไม่ให้เครียด 1.มองโลกในแง่บวก การคิดเชิงบวกอย่างมีทักษะในทุกเรื่องราว เช่น อากาศร้อน ก็คิดว่าอากาศร้อนทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี และช่วยขับเหงื่อได้ดี ไม่ต้องเสียเวลาไปอบซาวน่า อบไอน้ำ หรือประคบสมุนไพร 2.ฝึกสมาธิ เป็นการผ่อนคลายจากความเครียดและปัญหาต่าง ๆ แม้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข แต่การได้สงบจิตใจจะทำให้คิดอ่านแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น มากกว่าจมปลักอยู่กับความหมกมุ่น ครุ่นคิด ปัญหายังไม่เดินทางแก้ไขปัญหา 3.การศึกษาธรรมะตามศาสนาที่นับถือ และปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนา สามารถเป็นภูมิต้านทานความเครียดได้ เป็นอย่างดี ศาสนาช่วยให้ผู้คนในสังคม ทำความดีและละเว้นความชั่ว ส่งผลให้สังคมดีขึ้น บุคคลในสังคมก็เผชิญปัญหาทางสังคมที่ลดลง  ความเครียดของผู้คนก็ลดลงได้ 4. ฝึกยิ้มให้เป็นนิสัย  โอภาปราศัย ทักทายและส่งยิ้มให้คนอื่น นอกจากนี้การหัวเราะบ่อย ๆ ก็ช่วยคลายเครียดและมีความสุขได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันหัวเราะบำบัดเป็นการบำบัดทางจิตที่มีในต่างประเทศ แก้ไขนิสัยบางอย่างที่ทำให้เครียดง่าย โทสะ จริต ชอบพูดแนววจีพิฆาต ทำให้สร้างศัตรู ชีวิตที่มีคนชิงชังก็ทำให้เครียดได้ ควรเปลี่ยนความโกรธมาเป็นความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเราต้องการสิ่งใด แล้วสื่อสารแบบปิยะวาจา เพื่อให้เพิ่มโอกาสสมปรารถนาในสิ่งนั้น แทนที่จะมักโกรธจนก่อปัญหาลูกโซ่ ถึงแม่ไม่มีวจีพิฆาต แต่การเก็บกดความโกรธก็ทำให้มีปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ และพฤติกรรมได้ นอกจากนั้น การสร้างนิสัยตรงข้ามกับโทสจริต คือ เมตตา และอภัยให้ผู้อื่นอย่างจริงใจ ผู้ที่ชอบทำอะไรอย่างเร่งรีบ และชอบการแข่งขันอาจใช้ป้ายเตือนสติ เช่น ป้ายผ่อนคลายความเครียด เพื่อเตือนไว้ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ และลดความเร่งรีบที่เกินจำเป็น 5.พยายามมีเวลากับกิจกรรมที่พักผ่อนคลายความเครียดการพักผ่อนหย่อนใจ การพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง ญาติมิตร งานอดิเรก การออกกำลังกาย และลดความจำเจซ้ำซาก ของชีวิต ประจำวันที่ทำให้เครียดและเบื่อหน่าย  เมื่อไม่เครียดความร้อนก็ไม่มีผลให้เครียดในหน้าร้อนนี้ ความสุขกายสบายใจของมนุษย์เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เพียงแต่เริ่มต้นจากตัวเองก่อน ค่อย ๆ ฝึกให้มีความสามารถผ่อนคลายความเครียดจนมีทักษะ อากาศร้อนหรือสภาวะอื่น ๆ ก็จะส่งผลเครียดต่อเราน้อยลงและมีความสุขในชีวิตมากขึ้นLINETwitterFacebook

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ชายก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ผู้ชายมีเต้านมด้วยหรือ? จริงๆ แล้ว ผู้ชายก็มีเต้านมเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้ใหญ่โตอะไร แบบผู้หญิง (จริงๆก็ไม่แน่นะ หนุ่มๆบางท่านอาจมีเต้านมใหญ่กว่าผู้หญิงเสียอีก) ซึ่งในมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะชายหรือหญิง เกิดมาก็จะมีเนื้อเต้านมทั้งนั้น แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงก็จะมีเต้านมที่โตขึ้น ขณะที่ผู้ชายก็จะมีเต้านมเท่าเดิม นั่นคือ จนโตผู้ชายก็ยังมีเนื้อเต้านม ประมาณเท่าเด็กผู้หญิงนั่นเอง เพราะว่า การมีเต้านมนี่เอง ก็ทำให้อาจเกิดโรคของเต้านมได้เช่นเดียวกับผู้หญิง ซึ่งที่เรากลัวที่สุดก็คือมะเร็งเต้านม ผู้ชายคนไหนที่เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม จริงๆ โอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชาย นั่นน้อยมาก ประมาณ1%ของมะเร็งเต้านมเท่านั้น หรือ ถ้านับจากประชากรทั่วไป ก็ประมาณ1ใน1,000เท่านั้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็จะคล้ายๆ กับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง หลายๆประการ ได้แก่ อายุมาก ส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมในผู้ชาย มักจะเจอในคนอายุมาก ยิ่งอายุมากโอกาสยิ่งเยอะ โดยจะพบมะเร็งเต้านมในผู้ชายมากที่สุดในช่วงอายุ60-70ปี อายุน้อยกว่า35ปี นี่แทบไม่พบ ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวญาติสายตรง ถึงแม้จะในผู้หญิง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ ประวัติการโดนรังสี บริเวณหน้าอกการรักษา ฉายแสง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ การทีมีเต้านมโตในผู้ชาย ที่เรียกว่าGynecomastiaไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ทั้ง ยา,Hormoneหรือ เป็นเองก็ตาม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในคุณผู้ชายได้ การใช้ยา HormoneEstrogen ที่เจอกันบ่อยๆ ก็ ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะในสาวประเภท2หรือหนุ่มประเภทไหนก็ตาม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ทั้งนั้น ทั้งใน ผู้หญิง และ ผู้ชาย โรคตับเช่น ตับแข็ง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีเรื่องของ ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย ที่เรียกว่าGynecomastiaร่วมด้วย โรคของอัณฑะ เช่น อัณฑะอักเสบจากคางทูม ภาวะอัณฑะไม่ลงถุง( Undescend testis) อาจทำให้เกิดความผิดปกติ ของHormoneในผู้ชาย โรคของพันธุกรรมบางชนิด เช่นKlinefelter's Syndromeเป็นโรคที่ผิดปกติเกี่ยวกับโครโมโซม ซึ่งพบน้อย มะเร็งเต้านมในผู้ชายกับผู้หญิง อันไหนรุนแรงกว่ากัน ความรู้สึกเราจะรู้สึกว่ามะเร็งเต้านมในผู้หญิงดูน่ากลัว อันตราย ของผู้ชายน่าจะดูกิ๊กก๊อก ก้อนก็เล็กๆ จริงๆ แล้วมันเหมือนกันครับคือ รุนแรงพอๆ กัน แต่ที่แย่กว่า คือ มะเร็งเต้านมในคุณผู้ชายมักจะเจอช้าเพราะไม่มีใครสนใจไม่เคยคิด ไม่เคยตรวจ ดังนั้นกว่าจะตรวจพบก็มักเป็นระยะที่เยอะแล้ว รักษาช้ากว่าก็เลยจะดูว่ารุนแรงกว่า อาการของของโรค เหมือนมะเร็งเต้านมของผู้หญิงทุกประการครับ คือ มีก้อน ก้อนแข็งมีการดึงรั้งติดผิวหนังได้ ซึ่งมะเร็งเต้านมในผู้ชาย ก็จะเป็นแบบนั้น แต่ที่ไม่ดี เนื่องจากผู้ชายมีขนาดเต้านมที่เล็ก คือ ไม่มีนั่นเอง ประกอบกับการไม่ค่อยจะสนใจ ทำให้กว่าจะพบก้อนมักจะใหญ่ รวมทั้งกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงได้ง่ายเนื่องจากไม่มี เนื้อเต้านมห่อหุ้มก้อนมะเร็ง โตนิดเดียวก็ถึงผิวหนัง หรือ แตกออกมาด้านนอก หรือกระจายไปติดกระดูกซี่โครง การวินิจฉัย เช่นเดียวกับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิงครับ การตรวจด้วยการคลำ การทำUltrasound , Mammogramตลอดจนการตัดชิ้นเนื้อ ก็ยังเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวินัจฉัย มะเร็งเต้านม การรักษา การรักษามะเร็งเต้านมในผู้ชาย ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิง การรักษา ประกอบไปด้วย การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การใช้Hormoneรวมทั้งการรักษาแบบ มุ่งเป้า (Target Therapy) ซึ่งการจะใช้อะไรนั้น คงขึ้นกับ พยาธิสภาพ ระยะ ลักษณะชิ้นเนื้อ ของคนไข้แต่ละคนครับ ผลการรักษา เช่นเดียวกับการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิง ผลการรักษาขึ้นกับระยะของโรค ถ้าเป็นน้อย ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าเป็นมากผลการรักษาก็จะได้ผลดีไม่เท่าระยะแรก ก็ลดหลั่นกันไป แต่ที่ไม่ดีแบบที่กล่าวมาแล้วคือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย มักมาช้า เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็น กว่าจะยอมมาตรวจ นมก็เล็กไม่มีตัวคลุม ก็กระจายง่าย ผลการรักษา เลยอาจไม่ดีเท่าที่ควร สรุปถึงจะเป็นผู้ชาย ก็อย่าลืมตรวจตราส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้างนะครับ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคลินิกเต้านม รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

7 อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม

7 อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม อาการปวดนั้นเกิดขึ้นกับเราได้หลายรูปแบบครับเมื่อวานนี้คุณไปยกของหนักก็ปวด นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปก็ปวด เป็นหวัดก็ปวด หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด    7 อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม      อาการปวดนั้นเกิดขึ้นกับเราได้หลายรูปแบบครับเมื่อวานนี้คุณไปยกของหนักก็ปวด นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปก็ปวด เป็นหวัดก็ปวด หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด     แต่มีอาการปวดบางประเภทครับที่คุณไม่ควรมองข้ามและควรจะปรึกษาแพทย์โดยทันทีเพราะอาการปวดเหล่านั้น มันอาจจะบ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายบางอย่างที่เราคิดไม่ถึง ดังต่อไปนี้ครับ 1.ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือปวดสุดๆเท่าที่เคยปวดมาเลยแบบนี้ ต้องพบแพทย์ครับ หากว่าคุณเป็นหวัดแล้วปวดสุด ๆ มันอาจจะมีสาเหตุมาจากไซนัสก็ได้ หากไม่เป็นหวัด ก็อาจจะมีสาเหตุที่รุนแรง เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองก็เป็นได้ ซึ่งบางครั้งต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายที่ละเอียด หรือ ต้องใช้เครื่องมือ เช่น CT Scan เพื่อช่วยการวินิจฉัยโรค 2.ปวดหน้าอก อาการปวด หรือแน่น อึดอัด บริเวณหน้าอก คอ ขากรรไกร ไหล่ แขน หรือ ท้อง (Pain or Discomfort in the Chest, Throat, Jaw, Shoulder, Arm, or Abdomen) อาการปวดแถวนี้เป็นได้จากหลายสาเหตุครับ โดยอาการปวดบริเวณหน้าอกอาจจะเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจได้ แต่ควรระวังว่า ภาวะที่เกิดจากหัวใจนั้น โดยทั่ว ๆ ๆไปจะแสดงออกมาในรูปของอาการแน่น อึดอัด ไม่สบาย มากกว่าอาการปวดโดยผู้ป่วยโรคหัวใจจะอธิบายไว้ครับว่า เหมือนกับมีช้างมานั่งทับอยู่บนหน้าอกนั่นแหละ       ส่วนตำแหน่งที่รู้สึกไม่สบายนั้น มักจะเป็นส่วนบนของหน้าอก คอ ขากรรไกร ไหล่ซ้าย หรือแขนครับ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกท่วมตัว จะเป็นลม หน้าดูซีด แบบนี้ต้องรีบไปรพ.โดยด่วนเลยครับ บางครั้งอาจมีอาการปวดท้องก็มักจะเกิดขึ้นร่วมกันอาการคลื่นไส้ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นอาการของโรคจากทางเดินอาหาร ( GI Distress) จริงๆแล้วเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผนังด้านล่างขาดเลือด       แต่สำหรับอาการของผู้หญิงนั้น จะดูยากกว่าเพราะผู้ป่วยมักจะคิดว่าเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องอืด แน่น หรือ ความรู้สึกปั่นป่วนในท้อง มักไม่ค่อยคิดว่า ตนเองอาจมีโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเหนื่อยร่วมด้วย อีกทั้งโอกาสในการเป็นโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นมากในผู้หญิงวัยทอง ดังนั้นคุณผู้หญิงทั้งหลายต้องระมัด ระวังและอย่าไปนิ่งนอนใจเพราะคิดว่าอาการดังกล่าวเป็นเพียงแค่อาหารเป็นพิษเท่านั้น 3.ปวดหลัง       อาการปวดหลังส่วนล่างหรือ ระหว่าง สบัก ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะคิดว่าเป็นอาการของข้ออักเสบ (arthritis) กล้ามเนื้ออักเสบ แต่ก็สามารถจะเป็นอย่างอื่นได้อีก รวมทั้งโรคหัวใจ หรือ ปัญหาเกี่ยวกับช่องท้อง (Abdominal problems) ที่เป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งก็คือ Aortic Dissection คือเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจมีการแยกชั้น ซึ่งอาการปวดอาจจะเป็นไปในลักษณะ ค่อยๆ ปวดเพิ่มขึ้น หรือ ปวดทันทีทันใดก็ได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงมาก ก็คือ ผู้ที่มีโรคความดันสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ และเป็นโรคเบาหวานโรคนี้อันตรายมากเช่นเดียวกัน ต้องรีบไปรพ.โดยด่วน 4.ปวดท้อง อาการปวดท้องอย่างรุนแรง (Severe Abdominal Pain) ถ้าหากไส้ติ่งของคุณยังอยู่ นั่นอาจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่สาเหตุของมันอาจจะเป็นอย่างอื่นอีกก็ได้เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ,ตับอ่อนอักเสบ ,กระเพาะทะลุ ,ลำไส้อุุดตัน โดยแต่ละอย่างมีลักษณะที่พอแยกได้ดังนี้ -          ไส้ติ่งอักเสบ จะปวดท้องด้านขวา ล่าง ต่ำกว่าระดับของสะดือ อาจมีหนาว หรือมีไข้ เบื่ออาหาร กินข้าวไม่ลง -          ตับอ่อนอักเสบ จะปวดใต้ลิ่นปี่ ร้าวไปหลัง ปวดมากๆ บางคนมีประวัติ ทานเหล้า เบียร์มาเยอะ แต่บางคนก็เกิดจากนิ่วจากถุงน้ำดีหล่นมาอุด พวกนี้จะไม่มีประวัติกินเครื่องดื่ม Alcohol กระเพาะอาหาร พวกนี้ก็จะปวดใต้ลิ่นปี่ ร้าวไปหลังได้คล้ายๆ ตับอ่อนอักเสบ แต่ถ้าแค่กระเพาะอักเสบ อาการจะไม่รุนแรงมาก ปวดเฉพาะลิ้นปี่ ด้านล่างๆจะไม่ปวด คนไข้จะพอเดินได้ แต่ถ้ากระเพาะอาหารทะลุ พวกนี้จะปวดลิ้นปี่รุนแรง มักปวดด้านล่างร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักล่างขวา แต่บางทีก็ปวดทั่วท้องเลย มักต้องหามมา เดินไม่ไหว ลำไส้อุดตัน ส่วนใหญ่มักปวดเป็นพักๆ บีบๆ เหมือนอะไรวิ่งเป็นลูกๆในท้อง มีอาการ ไม่ถ่าย ไม่ผายลม มักมีประวัติเคยผ่าตัดช่องท้องดังนั้นถ้าปวดท้องรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์เลยครับ 5.ปวดขา       อาการปวดบริเวณน่อง (calf)ที่จัดว่าอาการปวดบริเวณนี้เป็นอันตรายก็เพราะสาเหตุของมันอาจจะมาจากเส้นเลือดดำอุดตัน (deep vein thrombosis) หรือDVT ก็ได้โดยเส้นเลือดที่อุดตันนั้น สามารถเกิดขึ้นที่ deep veins ของขาได้ และโรคนี้เกิดขึ้นกับคนอเมริกันมากถึงปีละ 2 ล้านคน แล้ว ซึ่งที่เราอาจเคยได้ยินว่าคนที่นั่งเครื่องบินชั้น Economy Class แล้วเกิดเส้นเลือดดำอุดตัน ก็คือโรคนี้แหละครับและเมื่อมันเกิดขึ้น มันก็รบกวนการดำเนินชีวิตมากเสียด้วยและสิ่งที่เป็นอันตรายก็คือ ก้อนเลือดเล็ก ๆ ที่อุดตันนั้น สามารถที่จะหลุดออกและไปอุดที่อื่นแทนซึ่งหากเป็นจุดสำคัญ เช่นไปอุดเส้นเลือดในปอดก็เป็นอันตรายถึงชีวิต กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคอ้วน คนท้อง รวมทั้ง ผู้ที่ต้องเดินทางนั่งอยู่ท่าเดียวนานๆ หรือพวกที่หลังผ่าตัด นอนนานๆ ไม่ค่อยได้ขยับตัว ขยับเขยื่อนร่างกาย บางครั้งอาการจะปรากฏออกมาให้เป็นในรูปของการบวม ตึงที่น่องแต่ไม่ปวด หรือทั้งปวดทั้งบวมบริเวณกล้านเนื้อน่องก็ได้ ไม่เพียงแต่เส้นเลือดดำอุดตันที่อุดตันได้ เส้นเลือดแดงก็สามารถอุดตันได้เช่นเดียวกัน โดยจะมีอาการปวดที่ขา ปวดมาก จะมีอาการขาเย็นร่วมด้วย เย็นแบบรู้สึกได้เลย ขาจะดูซีด แบบนี้ก็ต้องรีบไปรพ.ด่วนเลย ไม่งั้นกล้ามเนื้อจะตาย 6.ปวดเท้า      อาการปวดร้อนที่เท้าและขา (Burning Feet or Legs) มีคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจำนวนมากไม่ได้รับการรักษา เพราะบางคนไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคดังกล่าว อาการนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ในเริ่มแรก โดยจะรู้สึก burning or pins-and-needles sensation ที่เท้าและขา นั่นเป็นการบ่งบอกว่า เกิดความเสียหายขึ้นกับเส้นประสาทเข้าแล้ว ในคนไข้ที่เป็นมากๆ โรคเบาหวานจะทำให้เส้นประสาทเสีย เกิดอาการชาที่เท้าแทน ทำให้คนไข้สามารถเดินเหยียบบุหรี่ได้โดยไม่รู้สึก บางครั้งเกิดเป็นแผลจนเน่าถึงรู้ตัวว่ามีแผลเพราะได้กลิ่นก็มี 7.ปวดแปลกๆ อาการปวดแบบแปลก ๆ ที่อธิบายไม่ได้ (Vague, Combined, or Medically Unexplained Pains) จริง ๆ แล้วอาการปวดมีหลายแบบ บางคนอาจจะบอกว่า ปวดศีรษะแปลก ๆ ยังไงก็ไม่รู้ ปวดท้องหรือปวดแขน แปลก ๆ อธิบายไม่ถูกหรืออาจจะมีอาการปวดหลายแบบผสมกัน       อาการปวด อาจะเป็นอาการเรื้อรัง และ ไม่ได้รุนแรง การอธิบายออกมาไม่ชัดเจนอาจทำให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจอาการผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีความเครียดดังนั้น ยิ่งถ้าคุณมีความเครียด หรือวิตกกังวลมากเท่าไหร่ ก็ให้พยายามอธิบายความรู้สึกให้มากเข้าไว้ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีอาการในลักษณะอื่น ๆ ที่แสดงออกมาอีก และเมื่อไหร่ที่ควรจะมาพบแพทย์ ตัวคุณเองต้องลองสังเกตดูว่า อาการที่เกิดกับตัวคุณนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหรือไม่ มันทำให้คุณไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงได้หรือเปล่าหรือมันทำให้คุณอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ค เช็คให้รู้ว่าไม่มีอะไรผิดปกติก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย  ดังนั้น จงอย่านิ่งเงียบและทนปวดอยู่คนเดียวครับ แพทย์ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ แผนกศัลยกรรม  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ลดแผลให้เล็กลงอีกนิด ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

ลดแผลให้เล็กลงอีกนิด ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง    ลดแผลให้เล็กลงอีกนิด ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง             ปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องสามารถนำมาใช้ได้กับหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไทรอยด์ หรือแม้การผ่าตัดเต้านม เป็นต้น การผ่าตัดส่องกล้องช่วยให้คนไข้บาดเจ็บน้อยลง ด้วยขนาดของแผลผ่าตัดที่เล็กลง พักฟื้นเพียงไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น             การผ่าตัดส่องกล้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Open surgery) เป็นการผ่าตัดแบบธรรมดา กับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้เครื่องมือเพื่อเข้าไปช่วยในการผ่าตัด ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง ปกติแล้วหากเป็นการผ่าตัดแบบธรรมแผลผ่าตัดจะค่อนข้างกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร หรือกรณีที่เป็นเคสผ่าตัดที่มีความยาวมากขึ้น แผลผ่าตัดอาจจะกว้างขึ้น เป็น 10 เซนติเมตร ซึ่งเทียบการผ่าตัดส่องกล้องกับการผ่าตัดแบบธรรมดาแล้วให้ความปลอดภัยในเรื่องการบอบซ้ำของอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆน้อยลงในกรณีที่เมื่อกล้องส่องเข้าไปแล้วพบปัญหาอื่นๆ เช่น ซีสต์ที่รังไข่หรือมดลูก ก็สามารถที่จะทำการผ่าตัดได้เลยโดยไม่ต้องขยายแผลให้ใหญ่กว่าเดิม โดยระยะเวลาที่ทำการผ่าตัดรักษาก็แตกต่างกัน การผ่าตัดแบบส่องกล้องอาจจะใช้ระยะเวลานานขึ้นโดยมากใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากการเซตอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการเตรียมตัวในการผ่าตัด อาจจะเพิ่มเวลาเป็น 15-30 นาทีจากการผ่าตัดปกติ แต่มีข้อดีคือ แผลผ่าตัดจะเล็กกว่า ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ระยะเวลาของการพักฟื้นในโรงพยาบาลจะสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเป็นธรรมดา ขึ้นอยู่กับโรคที่ผ่าตัด เช่น หากเป็นการผ้าตัดบริเวณลำไส้ใหญ่ จากเดิมใช้เวลาในโรงพยาบาล 7-14 วันจะลดเวลาลงเหลือเพียง 3-5 วันเท่านั้น ทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น   ข้อห้ามการผ่าแบบส่องกล้อง           ควรเป็นคนไข้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่าย หรือเลือดมีการแข็งตัวไม่ดี จะทำให้คนไข้มีการเสียเลือดมากในระหว่างการผ่าตัด             คนไข้ที่เคยผ่านการฉายแสงหรือเคยผ่าตัดหลายครั้ง จนมีพังผืดค่อนข้างมากเพราะทำให้ยากต่อการส่องกล้องผ่าตัด อีกทั้งจะไม่มีพื้นที่ในการเป่าลมเพื่อขยายภายในช่องท้องทำให้ไม่มีพื้นที่ในการผ่าตัดได้สะดวก นายแพทย์แม็กซ์  ซอร์เจีย  จิรพงศาธร  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทั่วไป  รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม