"สลักเพชรจม" เป็นชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกภาวะ Piriformis Syndrome ซึ่งเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น Piriformis (เป็นกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณชั้นในสุดของสะโพกทางด้านหลัง อยู่ลึกติดกับข้อสะโพก) กดทับหรือระคายเคือง เส้นประสาทที่มาจากกระดูกสันหลัง โดยทอดตัวลอดใต้กล้ามเนื้อ Piriformis และทอดตัวลงไปที่ขา
อาการที่พบได้บ่อยคือ ปวดบริเวณสะโพกและอาจร้าวลงไปที่บั้นท้าย ต้นขา น่อง หรือเท้า ทำให้เกิดอาการชาหรือรู้สึกเหมือนมีอะไรยุบยิบได้ โดยเฉพาะอยู่ในท่านั่งทับกล้ามเนื้อเส้นเอ็น Piriformis เป็นระยะเวลานาน
ถึงแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น
การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป : การทำกิจกรรมในท่าทางเดียว เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่น ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายที่ไม่ถูกท่าทางเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เพียงพอ
การบาดเจ็บ: การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณสะโพกหรือก้นโดยตรง เช่น การล้ม หรืออุบัติเหตุ การบาดเจ็บทางการกีฬา โครงสร้างร่างกายที่ผิดปกติ: บางคนอาจมีโครงสร้างของกล้ามเนื้อ Piriformis หรือเส้นประสาทที่แตกต่างจากคนอื่น ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกดทับได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยรอง ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเองได้
กล้ามเนื้อ Piriformis หดเกร็งหรือเป็นตะคริว: ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการนั่งที่ไม่ถูกท่า
รวมถึงภาวะการทดทับเส้นประสาทจากตำแหน่งกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการคล้ายกับการกดทับที่กล้ามเนื้อ Piriformis และสามารถพบการกดทับเส้นประสาทจากทั้ง 2 ตำแหน่ง พร้อมกันได้
ปัจจุบัน การรักษาสลักเพชรจม มุ่งเน้นไปที่การลดอาการปวดและการฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจากการศึกษา พบว่ามีวิธีการรักษาหลายอย่างที่ได้ผลดี ดังนี้
การพักผ่อนและการปรับเปลี่ยนกิจกรรม: หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น เป็นการรักษาที่สำคัญและแก้ไขที่ต้นเหตุโดยตรง
กายภาพบำบัด: เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาสลักเพชรจม ได้แก่
การยืดกล้ามเนื้อ: สอนท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อ Piriformis และกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท
การเสริมสร้างความแข็งแรง: ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เพื่อให้การเคลื่อนไหวของสะโพกมีเสถียรภาพมากขึ้น
การนวด: การนวดบริเวณกล้ามเนื้อ Piriformis อาจช่วยคลายการตึงตัวและลดอาการปวดได้
การประคบร้อนหรือเย็น: การประคบอาจช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้
การใช้ยา: ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระยะสั้น
การฉีดยา: ในกรณีที่อาการปวดไม่ดีขึ้นจากการรักษาเบื้องต้น แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาเข้าไปในบริเวณกล้ามเนื้อ Piriformis เพื่อลดการอักเสบและอาการปวด แต่การฉีดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต้องอาศัยประสบการณ์รวมถึงเทคนิคต่างๆร่วมด้วย เช่นการใช้เอกซเรย์ ร่วมกับการฉีดสีเข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อก่อนเพื่อระบุตำแหน่งกล้ามเนื้อ piriformis ให้ชัดเจน
ประเด็นเฝ้าระวัง ในทางปฏิบัติ ใช้วิธีการฉีดยาเข้าเส้นสลักเพชรโดยใช้วิธีคลำตำแหน่ง และประมาณความลึก ซึ่งในคามเป็นจริงมีโอกาสผิดพลาดสูง เนื่องจากความลึก และตำแหน่งเส้นเอ็นสลักเพชร ไม่สามารถคลำได้เลย รวมถึงอาจทำอันตรายต่อเส้นประสาท และเส้นเลือดใกล้เคียงได้
ในปัจจุบัน ได้มีการใช้อัลตราซาวด์นำทางในการฉีดยารักษาการอักเสบที่กล้ามเนื้อ Piriformis ซึ่งมีความแม่นยำ สามารถเห็นเส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด รวมถึงการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นได้ชัดเจน รวมถึงไม่ต้องฉีดสี ทำให้ลดความเสี่ยงการแพ้สารฉีดสี ที่อาจเสี่ยงต่อการทำงานของไต และยังสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสี X-ray รวมถึง ค่าใช้จ่ายโดยรวมน้อยกว่า
การฉีดยาสเตียรอยด์ (corticosteroids) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาสลักเพชรจม โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อ Piriformis จะทำให้การอักเสบลดลง จากฤทธิ์การลดการอักเสบของยา รวมถึง ปริมาณยาที่เข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อสลักเพชรมีการยืดขยายตัวออก เพื่อช่วยคลายตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น และเอื้อต่อการทำกายภาพบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงอย่างไรก็ตาม การฉีดยาสเตียรอยด์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การลดอาการ ไม่ได้แก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ดังนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้งานร่างกาย การออกกำลังกาย ยืดเหยียด และสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการทำกายภาพบำบัดควบคู่กันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในระยะยาว
อาจมีผลข้างเคียง: แม้ว่าผลข้างเคียงจากการฉีดยาสเตียรอยด์มักไม่รุนแรง แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการชาขา อ่อนแรงขาข้างที่ฉีด ซึ่งจะหายเป็นปกติภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังฉีด เนื่องจากยาที่ฉีด มักผสมยาชาเข้าไปด้วยเสมอ เพื่อช่วยลดการปวดหลังฉีด และช่วงลดการหดเกร็งของเกล้ามเนื้อ ทำให้มีโอกาสส่งผลต่อเส้นประสาทข้างใต้กล้ามเนื้อนั้นได้ ซึ่งจำเป็นต้องแนะนำผู้ป่วยด้วยเสมอ รวมถึงอาการเจ็บหรือระคายเคืองบริเวณที่ฉีดชั่วคราว การติดเชื้อ หรือการเปลี่ยนแปลงสีผิวบริเวณที่ฉีด ซึ่งพบได้น้อย
สลักเพชรจมเป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาหลักคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กายภาพบำบัด และการใช้ยา และการฉีดยาสเตียรอยด์ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีอาการปวดมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล รวมถึงเข้าใจถึงประโยชน์และข้อจำกัดของการรักษาแต่ละวิธี
บทความโดย
นายแพทย์พงศา มีมณี
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved