ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ฝุ่นพิษ กทม.

 ฝุ่นพิษ กทม. ฝุ่นพิษที่เพิ่มสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องอันตรายจากมลพิษในอากาศมากขึ้น และต่างพากันกังวลถึงผลกระทบของมลพิษต่อสุขภาพทั้งของตนเองและลูกหลาน โดยฉพาะในหลายๆ พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้ต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัยไว้เสมอเพื่อป้องกันฝุ่น                 โดยปกติในกรุงเทพฯ และทุกพื้นที่จะมีฝุ่นละอองพิษอยู่แล้วทุกวัน แต่ขณะที่เราเห็น ณ ปัจจุบันนี้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่มีสภาวะอากาศนิ่ง พร้อมกับมีภาวะของลมสงบ หรือที่เรียกว่าอากาศปิด เมื่ออากาศปิด ทำให้เราสามารถมองเห็นฝุ่นได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจที่มีการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก จริงๆ ฝุ่นที่เราเผชิญอยู่นี้ ไม่ใช่แค่ฝุ่นอันตราย PM 2.5 เท่านั้น ยังมีฝุ่นขนาด PM 10 ที่เกิดจากงานก่อสร้างต่างๆ มารวมตัวกัน เมื่ออากาศปิด ฝุ่นก็ลอยต่ำลงมา ทำให้เราหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายได้ง่ายขึ้น และทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเหมือนหมอกและควัน แต่หากเป็นช่วงที่อากาศเปิด ฝุ่นเหล่านี้ก็จะถูกพัดพาไป               ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับคำว่า PM ก่อน PM ย่อมาจาก Particulate Matter เรียกกันว่าเป็นละอองฝุ่น 2.5 คือขนาดของฝุ่นที่มีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดอย่างเป็นทางการว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในกลุ่มหนึ่งของสารก่อมะเร็ง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า PM 2.5 มีสารพิษที่รวมอยู่ ตั้งแต่ก๊าซโอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อาร์ซินิก (Arsenic) สารหนู Lead ตะกั่ว ที่อยู่ในมลพิษของอากาศที่เราสูดดมเข้าไปได้ ก๊าซเหล่านี้เกิดจาก การขับขี่ยวดยานพาหนะ โดยเฉพาะยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่เผาไหม้ไม่หมด ฝุ่นที่เกิดจากยางรถยนต์ที่บดลงบนถนนลาดยางมะตอย การเผาต่างๆ เช่น การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า ที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกมา และโรงงานต่างๆ เช่น ในเขตระยอง เขตอุตสาหกรรม จะมีพวกสารปรอท สารหนู ปนออกมาอากาศได้เช่นกัน              และเมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก ถ้าขนจมูกของเราดักจับฝุ่นละอองที่ใหญ่กว่า PM 2.5 ได้ จะแสดงปฏิกิริยาออกมาคือมีเยื่อเมือก หรือเป็นลักษณะของขี้มูก แต่ถ้าฝุ่นมีขนาดเล็กกว่าขนจมูกของเรา จนไม่สามารถป้องกันได้ก็จะเข้าสู่โพรงจมูก ลงกล่องเสียง ลงคอ ลงหลอดลมใหญ่ แล้วตรงหลอดลมของเราก็จะมีขนอ่อน (Cilia) ที่สามารถโบกพัดขับออกมาเป็นเสลดได้ หรือบางทีเป็นหวัดเจ็บคอ แล้วคุณหมอบอกมีเชื้อโรค ก็มีการขับมูกเสลดตัวนี้ออกมาได้เช่นกัน แต่ฝุ่นขนาดเล็กสามารถลงไปได้ถึงหลอดลมฝอย ลงไปในหลอดลมขนาดย่อย และตกลงไปในถุงลมของเราได้ ตรงนี้คือจุดที่อันตราย เพราะถุงลมของเรามีเส้นเลือดที่ล้อมอยู่ ตัวฝุ่นก็เข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงของเราได้ (ถุงลมที่อยู่ที่ปอด) คราวนี้มันก็ล่องลอยไปตามอวัยวะต่างๆ ของเรา ร่างกายเราก็จะเกิดปฏิกิริยาการอักเสบเกิดขึ้นได้ ถ้าไปหัวใจ สมอง หลอดเลือดตามอวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิดโรคเฉียบพลันหรือเกิดโรคเรื้อรังได้ทันที แต่ถ้าคนที่ร่างกายแข็งแรงดี ก็จะไม่ก่อโรคใดๆ ทั้งสิ้น               ถึงแม้ว่าการได้รับฝุ่นจะไม่ทำให้เกิดโรคในทันที แต่ในระยะสั้น หากเราเกิดอาการแพ้ เมื่อฝุ่นเข้าจมูกไปเรียบร้อยแล้ว ก็เกิดเป็นโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ หอบหืด ไอระคายเคือง เยื่อบุตาอักเสบได้ อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ ในระยะต้นๆ หรือในระยะสั้น แต่ถ้าระยะยาว ที่เราต้องรับไปทุกวัน ฝุ่นเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกาย และถ้ามันสะสมในคนปกติ ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้ามันไปสะสมในเด็กเล็กที่กำลังมีพัฒนาการ ในคนแก่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือคนที่ไม่แข็งแรง ก็อาจจะมีปัญหาที่ทำให้เกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น                หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงบรรยากาศที่มีฝุ่นได้ ต้องหาวิธีป้องกัน เช่น ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง เดินทางให้เร็วขึ้น แล้วรีบเข้าไปในอาคาร งดการออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน คนที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร พ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าหน้าที่กทม. แนะนำให้ใส่หน้ากาก N95 ถึงจะปลอดภัย เพราะ N95 สามารถป้องกันฝุ่นได้ถึงขนาด 0.3 ไมครอน เพราะหน้ากากตัวนี้สามารถปิดได้ตั้งแต่จมูก ครอบปาก ไปจนถึงใต้คาง และรัดแน่น จนกลายเป็นครึ่งวงกลมบนหน้าเรา N95 ต้องใส่อย่างถูกต้อง คือ การหายใจจะหายใจผ่านจมูก หายใจออกทางปาก หากใช้หน้ากากทั่วๆ ไป ที่เป็นสีเขียวตัวนี้อาจจะใช้ได้ไม่ดี แนะนำก็คือหน้ากากที่มีคำว่า Extra จะช่วยกรองได้อีกหนึ่งชั้น (หน้ากากสีเขียวกรองได้ 10 ไมครอน กรองฝุ่นก่อสร้างได้ ฝุ่นธรรมดาได้ แต่ไม่สามารถกรอง PM 2.5 ได้)              เมื่อเราเริ่มตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละออง PM 2.5 การใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ไม่อยู่ในพื้นที่ๆ มีมลพิษเป็นเวลานานๆ จะทำให้เราห่างไกลจากโรคได้ โดยสามารถติดตามและตรวจเช็คดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) โดยแบ่งดังชีคุณภาพอากาศเป็น5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีฟ้า เขียว เหลือง ส้ม แดง เป็นตัวเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อยากให้ตระหนัก ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สวมหน้ากากป้องกัน ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ ได้   โดย พญ. กานดา กู้เมือง แพทย์แผนกตรวจสุขภาพ ผ่านการอบรมอาชีวเวชศาสตร์ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS)

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS)         ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หลายรายต้องใช้ชีวิตอยู่กับความพิการ มีปัญหาการพูด การกลืน การช่วยเหลือตัวเองซึ่งที่ผ่านมาการรักษาทำได้เพียงกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แม้จะไม่ดีเท่าเดิม โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทีมแพทย์และนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเทคนิค Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation (rTMS) เพื่อรักษาความผิดปกติของสมอง ด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เพื่อปรับการทำงานของสมองจากที่ผิดเพี้ยนให้คงที่ โดยเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสประสาทการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย          จากความพยายามรักษาความผิดปกติของสมองด้วยการใช้สนามแม่เหล็กถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นานมานี้คนอาจจะคุ้นเคยกับการฝังแบตเตอรี่ไฟฟ้ากระตุ้นสมองเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรักษาความผิดปกติของสมองโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Non Invasive Brain Stimulation (NIBS) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก           การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กเป็นการรักษาที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นคลื่นแม่เหล็ก ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Transcranial Magnetic Stimulation หรือชื่อย่อว่า TMS จะมีการรักษาได้หลายโรคด้วยกัน โดยเฉพาะโรคระบบทางสมอง เช่น โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น  โรคพาร์กินสัน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรคทางด้านจิตแพทย์ ซึ่งเราดูแลอยู่ร่วมกัน ก็คือโรคซึมเศร้า            อย่างที่กล่าวข้างต้นไปแล้วว่า การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งจะไม่มีไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ความปลอดภัยจึงสูง ผลข้างเคียงก็จะน้อยกว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กล้วนๆ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีความแม่นยำสูง ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยขั้นตอนการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กนั้น หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบประวัติการรักษาของผู้ป่วย โดยจะหลีกเลี่ยงการใช้การรักษานี้กับผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะในสมอง ผู้ป่วยที่มีการฝั่งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในร่างกาย รวมทั้งผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก            การเตรียมตัวก่อนการรักษา แพทย์อาจจะทำในวันที่มาตรวจเลยก็ได้ หรือนัดมาภายหลังก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร เพียงแค่นอนหลับให้เพียงพอ การเตรียมตัวของญาติและคนติดตาม ให้ทราบว่า โรคของเขาเป็นแบบนี้ ญาติจะต้องดูแลอย่างไรบ้าง ระยะเวลาที่ทำประมาณ 20 นาที/ครั้ง เมื่อทำเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำหรือซักถามเรื่องของอาการที่เกิดขึ้น อาจมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แก่ อาการมึนศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อนั่งพักสักครู่ก็มักจะหาย และกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนค้างโรงพยาบาล            ขั้นตอนการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เริ่มจากสวมหมวกก่อนการรักษา กำหนดตำแหน่งการกระตุ้นด้วยแม่เหล็ก ทดสอบการทำงานของเครื่องบริเวณแขนและขา จากนั้นจะเริ่มกระบวนการรักษาโดยการนำเครื่องไปแตะที่บริเวณศีรษะ และเริ่มปล่อยคลื่นแม่เหล็กๆ จำนวนครั้งและความถี่ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่คนไข้เป็น ผู้ป่วยสามารถทำได้ทุกวัน แต่ถ้าไม่สะดวกก็สามารถเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็ได้ แต่โดยระยะเวลารวมๆ ก็คือ 10 ครั้ง          การรักษาสมองด้วยการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็ก (TMS) เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง การทำไม่ยุ่งยาก ผลข้างเคียงน้อย การรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการช่วยการรักษาหลัก ให้ได้ผลดีขึ้น เพราะฉะนั้นหากผู้ป่วย หรือญาติมีความกังวลอย่างไรก็สามารถมาคุยกับแพทย์ในรายละเอียดได้เพิ่มเติม ซึ่งแพทย์ก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ถ้ามาทำแล้วมีความปลอดภัย แล้วก็สามารถจะช่วยให้โรคนั้นดีขึ้นได้    โดย นพ.สามารถ  นิธินันทน์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. วุ้นในตาเสื่อม

 วุ้นในตาเสื่อม          หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่นกีฬา และเคยเล่นกีฬาจนรู้สึกว่าดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน เป็นผู้ที่มีสายตาสั้น นอนในที่ที่มีแสงไฟสว่างจ้าจนกระทั่งหลับ หรือมีอายุเริ่มเข้าเลขสี่นำหน้า เลขห้า เลขหกกันแล้ว ถ้าคุณเข้าข่ายที่กล่าวมาแล้ว รู้ไว้เลยว่า คุณคือกลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นโรควุ้นในตาเสื่อม จากสถิติในประเทศไทยพบว่า คนเป็นโรควุ้นในตาเสื่อมมากถึง 14 ล้านคน ภาวะวุ้นในตาเสื่อมเป็นอย่างไร เรามาเริ่มทำความรู้จักกัน            ถ้าดูจากภาพตัดขวาง จะมีกระจกตากับเลนส์ตา รวมแสงไปโฟกัสที่จอประสาทตา เหมือนเลนส์กล้องกับฟิล์มกล้อง ข้างในตาก็ไม่ใช่อากาศ แต่เป็นเหมือนเจลลี่ ภาษาไทยเราก็เลยเรียกว่าวุ้นในตา ตอนเราเกิดมา ตอนเป็นเด็กก็จะเป็นวุ้นใสๆ เนียนๆ แต่พอเราอายุมากขึ้นหรือว่ามีความเสี่ยงบางอย่าง วุ้นตาบางส่วนก็จะเหลวขึ้น จะเป็นน้ำขึ้นมา บางส่วนก็เลยจะจับกันเป็นจุดๆ เป็นตะกอน เป็นเส้น เป็นวงให้เห็นขึ้นได้ เวลาเริ่มมีความเสื่อมในวุ้นตาเกิดขึ้น ถ้าสังเกตหน่อยก็จะเห็น เวลามองท้องฟ้า หรือวัสดุที่เป็นขาวๆ สว่างๆ จะเห็นเป็นจุดดำๆ หรือเป็นเส้น มองไปทางไหนก็จะลอยตามไปด้วยหรือเห็นแสงไฟคล้ายฟ้าแลบหรือถ่ายรูป คนไข้ก็รู้สึกว่ารำคาญ ที่สำคัญบางคนพอเสื่อมไประดับหนึ่งแล้ว วุ้นตาจะล่อนออกมาจากจอตา พอแยกออกจากกันบ้างครั้งเกิดการดึงรั้งที่จอตา ทำให้จอตาฉีกขาด ต้องได้รับการรักษาก่อนที่จะมีจอประสาทตาลอก             สาเหตุที่ทำให้เสื่อม จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นความเสื่อมจากอายุ คนที่อายุ 60-70 ปี ประมาณ 50-60% ก็จะมีวุ้นในตาเสื่อม ถ้าไปตรวจตาก็จะมี คนที่อายุน้อยๆ ก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่มีสายตาสั้น วุ้นตาก็จะเสื่อมเร็วกว่าคนอื่นเขาหน่อย ได้รับอุบัติเหตุทางตา มีอะไรมากระแทกตา ก็จะเสื่อมเร็วขึ้น อันที่สาม คือการได้รับการผ่าตัดข้างในตา อย่างเช่น การผ่าตัดต้อกระจก ก็อาจจะมีความเสื่อมเร็วกว่าคนอื่นได้ หรือภูมิแพ้ที่ชอบขยี้ตาบ่อยๆ            สำหรับคนที่สายตาสั้น แล้วมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นคือ เวลาลูกตาที่สร้างมาความโค้งของกระจกตากับความยาวของลูกตาไม่พอดีกัน พูดง่ายๆ คือ ด้านหลังเหมือนยาวกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นจอประสาทตาก็จะบางกว่าคนอื่นเขาหน่อย วุ้นตาก็เสื่อมง่ายกว่า คือมีโอกาสที่จอประสาทตาจะมีการฉีกขาด หลุดลอกได้ง่ายกว่าคนที่สายตาปกติ แนะนำว่าถ้ามีอาการ หรือถ้าไม่มีอาการ แต่สายตาสั้นเกิน 400 ขึ้นไป อาจจะต้องเช็คจอตาดูเป็นระยะ ขยายม่านตาดู อาจจะทุก 2-3 ปี ถ้ามีปัญหาอะไรก็จะได้ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ส่วนในเรื่องของการใช้สายตาทั่วไป เช่น นอนดูทีวี นอนอ่านหนังสือ แสงเข้าไม่ถูกทาง ใกล้เกินไป ไกลเกินไป นานเกินไป สว่างไป มืดไป กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหากับวุ้นในตาหรือจอตาโดยตรง แต่ถ้ารักษาไม่เหมาะสมก็จะล้าตาได้ง่าย ตาก็อาจจะต้องเพ่งเยอะหน่อย อาจจะมีปัญหาเรื่องตาแห้ง แต่ไม่เกี่ยวกับวุ้นตาเสื่อม สาเหตุหลักไม่ค่อยเกี่ยวกับพฤติกรรม ยกเว้น อุบัติเหตุ กิจกรรมที่เราทำ บางทีเล่นกีฬา กีฬาที่มีวัตถุลูกเล็กๆ วิ่งเร็วๆ แบดมินตัน เทนนิส สค็วอช ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุทางตาเยอะขึ้น             ภาวะของคนที่วุ้นในตาเสื่อม แรกๆ ก็จะเห็นเป็นจุดๆ ลอยๆ ก่อนสักพักหนึ่ง พอส่วนที่เหลวเป็นน้ำเข้าไปเซาะแยกระหว่างตัวมันกับผนังจอตา ก็จะมีการแยกระหว่างวุ้นตา กับจอตา จังหวะนี้แหละ ที่เคยอยู่ติดกันมาตลอด พอถึงวันหนึ่งที่ต้องพรากออกจากกัน บางจุดมันไม่ยอม ก็จะมีการดึงรั้ง โดยเฉพาะตรงขั้วประสาทตา ตรงเส้นเลือด หรือว่าตรงขอบๆ ของจอตา พอมีอะไรไปดึงจอตา เขาไม่เจ็บ เพราะเป็นเซลล์รับแสง แต่คนไข้จะเห็นแสงแวบเหมือนฟ้าแลบ แต่ไม่เจ็บ จะเห็นชัดตอนที่หลับตา หรืออยู่ในห้องมืด อยู่ดีๆ มีไฟแวบขึ้นมาเอง แสดงว่าจอตามีอาการดึงรั้งแล้ว แต่จะไม่ได้เป็นตลอดเวลา จะเป็นบางจังหวะ โดยเฉพาะที่มีการเคลื่อนไหว พอมันดึงรั้งในบางคน ซึ่งมันไม่ยอมพรากจากกันจริงๆ มันก็ดึงแรงมาก ก็จะดึงจอตาฉีกขาดได้ ซึ่งอันตราย เพราะถ้าปล่อยจอตาที่มีรูฉีดขาดไว้ น้ำในจอตาก็จะเข้าไปเซาะ ทำให้มีจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งก็ต้องผ่าตัดใหญ่ ไม่เช่นนั้นการมองเห็นก็จะแย่ลง แต่ถ้าเรามาตรวจตั้งแต่เริ่มเห็นว่ามีรอยฉีกขาด เราก็จะเลเซอร์ล้อมๆ เขาไว้ น้ำก็จะเข้าไปเซาะไม่ได้ ก็จะสามารถป้องกันจอประสาทตาหลุดลอกได้ หลายคนที่ไม่สังเกตตัวเองเลย มาพบอาจจะเป็นในระยะที่เป็นจอตาหลุดลอกแล้ว ซึ่งการรักษาก็จะยากขึ้น อาจจะต้องใช้การผ่าตัด แต่ถ้าเราเห็นจุดดำๆ ลอยไปมา เห็นแสงแวบๆ เหมือนฟ้าแลบ แนะนำให้มาตรวจ จะดูแลรักษาได้ง่ายกว่า          ขั้นตอนในการรักษา วันที่มาตรวจตา หมอก็จะหยอดยาขยายม่านตา ด้วยความที่มันอยู่ข้างหลัง ม่านตาเราเล็กๆ ก็จะเห็นไม่ทั่ว ก็ต้องหยอดตาเพื่อขยายม่านตาก่อน หลังหยอดก็จะพร่าๆ หน่อย มองใกล้ไม่ชัด ขับรถอาจจะไม่สะดวก สักช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีคนมาด้วย หลังจากหยอดยาขยายม่านตาประมาณครึ่งชั่วโมง ม่านตาขยายดี หมอก็จะตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด ว่ามีปัญหา ฉีกขาดอะไรบ้างไหม ส่วนใหญ่ก็จะไม่มี แต่ว่าคนที่วุ้นตาเสื่อมและล่อนใหม่ๆ เกือบ 5% จะมีรอยฉีกขาดที่จอตาได้          ถ้าเห็นจอประสาทตาฉีกขาดก็จะแนะนำให้เลเซอร์ ป้องกันไม่ให้จอตาหลุดลอก ก็จะป้องกันได้ 95% ส่วนใหญ่กินยาอะไรก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น หลักๆ ก็คือสังเกตว่า ต้องเฝ้าดูเรื่องจอตาว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้าจอตาไม่มีปัญหาอะไร คนไข้ก็จะรู้สึกว่ารำคาญ ซึ่งพักหนึ่งก็จะค่อยๆ ชินไป ในอนาคตก็จะมีการใช้ยาซึ่งไปย่อยวุ้นตา ทำให้ตะกอนตกลงมาข้างล่าง แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ในต่างประเทศบางทีมีการผ่าตัดวุ้นตา เพื่อให้จุดดำหรือเส้นบางๆ ที่ลอย หายไป เพื่อให้คนไข้ไม่รำคาญ แต่เมื่อเทียบประโยชน์กับความเสี่ยงแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่าไม่คุ้ม ถ้าเห็นจุดลอยเฉยๆ คงไม่แนะนำให้ผ่าตัด ยกเว้นถ้าจอตาหลุดลอก           สำหรับวุ้นในตาเสื่อม ถ้าทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงกับตา แนะนำให้ใส่แว่นป้องกัน สมัยนี้เลนส์ที่ดีก็จะเป็นเลนส์     โพลีคาร์บอเนต เป็นเลนส์เหนียวหน่อย กิจกรรมที่เสี่ยง ตอกตะปู เสื่อมเหล็ก หรือเล่นกีฬา นักกีฬาก็เห็นใส่กันเยอะขึ้น อันนี้ก็ป้องกันอุบัติเหตุทางตาได้ในส่วนหนึ่ง อย่างที่ 2 เวลาออกไปข้างนอกก็ใส่แว่นกันแดดนิดหนึ่ง เพราะแสงยูวีก็ทำให้ความเสื่อมเกิดได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตรงผิวกระจกตา เป็นต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก รวมทั้งข้างหลังที่อาจจะเสื่อมได้ด้วย ถ้ามีอาการจุดดำๆ ลอยไปมา เวลามองท้องฟ้า หรือมีแสงแวบๆ เหมือนฟ้าแลบเวลาอยู่ในห้องมืด  แนะนำให้มาพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสม เพราะถ้าเราเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เราป้องกันไว้ไม่ให้ลุกลามบานปลายก็จะได้ผลดีกว่า    โดย นายแพทย์ธีรวีร์  หงษ์หยก จักษุแพทย์ สาขากระจกตาต้อกระจก และการผ่าตัดแก้ไขสายตา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. โรคกรดไหลย้อน

 โรคกรดไหลย้อน         กรดไหลย้อน เป็นภาวะกรดในกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาที่บริเวณหน้าอก ซึ่งหน้าอกก็จะมีอวัยวะ คือ หลอดอาหาร ซึ่งตัวหลอดอาหารเองไม่ทนกับกรด จึงเกิดอาการต่างๆ อาการที่ชัดเจน เช่น แสบร้อนหน้าอก หรือกรดจะมีรสขม รสเปรี้ยว จริงๆ กรดสามารถออกไปนอกหลอดอาหารได้ เช่น ไปโดนกล่องเสียงที่อยู่ในคอ หรือพวกหลอดลม บางทีจะเกิดอาการเสียงแหบ หรือไอเรื้อรังได้ จริงๆ ในคนปกติ สามารถมีกรดย้อนขึ้นมาได้ เช่น ถ้าทานเยอะเกินไป หรือทานแล้วนอน ก็เกิดได้ แต่ที่เราเรียกเป็นโรค คือ คนที่อาการนี้เกิดบ่อยมาก จนเกิดการรบกวนชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นโรคประจำตัวได้ ถ้าเกิดอาการบ่อยๆ อย่างที่บอกว่าเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน ใช้ชีวิตลำบาก   พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้ที่ดื่มสุรา ผู้ที่สูบบุหรี่ สตรีที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน อาทิ ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า สำหรับในเด็กนั้นสามารถพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้   อาการหลักของโรคกรดไหลย้อนคือ อาการแสบร้อนหน้าอก รู้สึกขมคอ เรอเปรี้ยว เป็นบ่อยๆ แบบนี้เราวินิจฉัยได้เลย ไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมอะไร แต่ส่วนใหญ่ถ้าอาการไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งมีอาการกลืนติด กลืนลำบาก หรือรู้สึกจุกๆ มีก้อนที่คอ หรือมีอาการทานอาหารไม่ค่อยลง หรือน้ำหนักลด แบบนี้เราจะกลัวว่าเป็นอย่างอื่นมากกว่า เช่น ถ้าในผู้สูงอายุ อาจต้องระวังโรคมะเร็งหลอดอาหาร แบบนี้อาจจะต้องตรวจเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องเข้าไปดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ฉะนั้น ถ้าเป็นบ่อยจริงๆ คงต้องรักษา 2 แนวทาง คือ ด้วยยา กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม   ยาที่ใช้เป็นหลัก ก็คือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อทำให้กรดในกระเพาะจำนวนน้อยลง บรรเทาอาการอักเสบในหลอดอาหารได้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญพอๆ กับยา คือ เรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งสำคัญและง่ายที่สุด คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มและอาหารที่มีรสจัด ระวังน้ำหนักร่างกายไม่ให้เกินมาตรฐาน โดยหมั่นออกกำลังกาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วนอนทันที ควรเดินหรือขยับร่างกายอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารย่อย    โรคกรดไหลย้อน แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลร้ายทางร่างกายและคุณภาพชีวิต รวมถึงการทำงาน งานอดิเรกและการใช้ชีวิตประจำวัน ใครที่มีอาการดังกล่าว ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและเรื้อรังต่อไป   นพ.ธราดล ธาราศักดิ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ต้อหิน ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

 ต้อหิน ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม โรคต้อหิน เกิดจากความเสื่อมของขั้วประสาทตา ซึ่งขั้วประสาทตา เป็นศูนย์รวมของใยประสาทตาที่เชื่อมระหว่างตาไปยังสมอง เมื่อมีความเสื่อมเกิดขึ้น ทำให้คนไข้ตามัวลงเรื่อยๆ จนตาบอดในที่สุด สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมของขั้วประสาทตา มาจากมีความดันในลูกตาที่สูงมากขึ้นเกินปกติ โดยปกติคนทั่วไปจะมีค่าความดันลูกตาที่ไม่เกิน 21 มิลลิเมตรปรอท สำหรับคนไข้ต้อหินมีจะความดันในลูกตาที่สูงมากกว่าปกติ ทำให้เกิดแรงดันในลูกตาไปกดทับเส้นประสาทตา เส้นประสาทตาก็จะค่อยๆ เสื่อมมากขึ้นและตาบอดในที่สุด   สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่คนไข้จะมีโอกาสเป็นต้อหิน ได้แก่ คนที่มีประวัติครอบครัว เป็นต้อหิน หรือญาติสายตรงเป็นโรคต้อหิน กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงกว่าคนปกติถึง 9 เท่า คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไมเกรน นอกจากนั้น คนไข้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากกว่าปกติ ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ,คนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุทางตามาก่อน ทำให้เกิดเลนส์ตาเคลื่อน หรือมีกายวิภาคของตาผิดปกติไปจากเดิม  คนไข้ที่ใช้ยาบางตัวอยู่เป็นประจำ เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ทั้งในรูปแบบของการยาหยอดตา ยารับประทาน หรือแม้แต่ยาพ่นก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินมากกว่าคนปกติ   สัญญาณเบื้องต้นของโรคต้อหินนั้น จริงๆ แล้ว คนไข้โรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก เพราะคนไข้ 70-80% เป็นประเภทต้อหินเรื้อรัง คนไข้กลุ่มนี้จะมีความดันลูกตาเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้เกิดความเคยชินกับความดันลูกตาที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่เกิดอาการปวดรุนแรง แต่ว่าคนไข้มีอาการจะเริ่มตามัวลงอย่างช้าๆ โดยที่การสูญเสียการมองเห็นจะเริ่มมาจากด้านข้าง ทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลง จนกระทั่งมัวบริเวณตรงกลางที่มอง คนไข้ถึงจะรู้สึกตัวว่าการมองเห็นลดลง จึงมาหาหมอ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว    ดังนั้น โรคต้อหินมุมเปิดเรื้อรังจึงไม่มีอาการในระยะแรกของโรค ยกเว้นถ้าเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จึงจะมีอาการปวดตารุนแรง ดังนั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ควรมาตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนไข้กลุ่มเสี่ยง ระยะเวลาสำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มผู้สูงมากกว่า 40 ปี อายุควรตรวจเป็นประจำทุกปี และไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรใช้ยาในความดูแลของแพทย์ ได้เพียงแค่ให้การมองเห็นที่มีอยู่ทรงตัวไม่ให้แย่ลง เพราะฉะนั้นควรตรวจพบในระยะแรกมีความสำคัญ เพื่อการรักษาที่ดี และป้องกันตาบอดให้ได้มากที่สุด   โดย พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย จักษุแพทย์ สาขาต้อหิน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

รากฟันเทียม คืออะไร

รากเทียม(Implant) คือ วัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันทำจากไทเทเนียม (Titanium) ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดภัยต่อร่างกาย โดยจะใช้สำหรับฝังเข้าไปในขากรรไกรเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป จากนั้นทันตแพทย์จะยึดติดครอบฟันเข้ากับรากเทียม    ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อฟันถูกถอนไป   1.ฟันที่อยู่ข้างเคียงกับช่องว่างฟันจะล้มเข้าหาช่องว่าง ทำให้การเรียงตัวของฟันและตำแหน่งฟันผิดปกติไป 2.เศษอาหารติดซอกฟันมากขึ้น เมื่อมีช่องว่างฟันเกิดขึ้นฟันข้างเคียงจะขยับเข้ามาในช่องว่าง ทำให้ฟันที่เหลืออยู่ที่เคยชิดกันจะห่างมากขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาเศษอาหารติดตามระหว่างซี่ฟันหรือซอกฟันมากขึ้น 3.การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพลดลง เพราะเหลือฟันที่ใช้บดเคี้ยวน้อยลง 4.ในกรณีที่ฟันที่เป็นคู่สบกับฟันที่ถูกถอนเป็นฟันบนก็จะงอกย้อยลงข้างล่างมากขึ้น แต่ถ้าคู่สบเป็นฟันล่างก็จะค่อยๆเคลื่อนที่ไปข้างบนมากขึ้น เนื่องจากฟันที่ถูกถอนไปเคยสบกัน ค้ำยันเอาไว้ พอถูกถอนไปทำให้ไม่มีฟันสบค้ำยัน ในกรณีที่ทิ้งช่องว่างไว้หลายๆปี อาจทำให้คู่สบเคลื่อนออกมาจนรากฟันโผล่และต้องถอนฟันไปในที่สุด 5.กระดูกบริเวณที่ฟันถูกถอนไปมีการละลายมากขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติเมื่อกระดูกไม่มีฟันอยู่ ทำให้กระดูกบริเวณนั้นไม่ได้ใช้งาน ก็จะเกิดการละลายไปเรื่อยๆทำให้กระดูกแคบและเตี้ยลง 6.ในกรณีที่สูญเสียฟันหน้าบนและล่างหลายซี่เป็นระยะเวลานาน ทำให้กระดูกขากรรไกรละลาย มีการยุบตัว ส่งผลให้ใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลง คือใบหน้าดูสั้นขึ้นและคางยุบเข้าไป ทำให้ใบหน้าดูสูงอายุมากกว่าปกติ 7.เพิ่มโอกาสเป็นโรคปริทันต์หรือเหงือกอักเสบเพราะเมื่อฟันถูกถอนไปทำให้การดูแลทำความ สะอาดยากขึ้นส่งผลให้เหงือกอักเสบและเกิดฟันผุได้ 8.สูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม กลัวว่าคนอื่นจะมองเห็นช่องว่างฟันที่ถูกถอนไป   ข้อดีของการทำรากฟันเทียม   1.เป็นการใส่ฟันติดแน่นถาวร ที่ช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไป 2.ทำให้มีฟันในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น 3.มีความสะดวกสบายเพราะรากเทียมเป็นฟันติดแน่นถาวร ทำให้ไม่รู้สึกรำคาญ หรือกดเจ็บจากฟันปลอมถอดได้ 4.ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดีและมีความมั่นใจในรอยยิ้ม เพราะรากเทียมดูคล้ายกับฟันธรรมชาติ 5.ช่วยทดแทนการทำสะพานฟัน โดยปกติการทำสะพานฟันต้องมีการกรอแต่งฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างหน้า และข้างหลังของช่องว่างฟัน แต่การทำรากเทียม ไม่ต้องไปรบกวนฟันที่อยู่ข้างเคียงของช่องว่างฟัน ทำให้ไม่ต้องกรอฟันธรรมชาติโดยไม่มีความจำเป็น   ขั้นตอนในการทำรากเทียม แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ คือ   1.การตรวจประเมินสภาพในช่องปากเพื่อวางแผนการรักษา ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมินช่องปากก่อนว่าตำแหน่งที่ฟันถูกถอนไปมีความพร้อมและเหมาะสมที่จะฝังรากเทียมหรือไม่ มีการถ่ายภาพรังสีทั้งแบบธรรมดา และแบบ3มิติ (3D Cone Beam CT) เพื่อดูความกว้างและความสูงของกระดูกบริเวณที่จะฝังว่าเพียงพอหรือไม่ จากนั้นทันตแพทย์จะวิเคราะห์และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม 2.การผ่าตัดฝังรากเทียม หลังจากวางแผนการรักษาเรียบร้อยแล้วทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดฝังรากเทียมเข้าไปในกระดูกขา กรรไกรโดยใช้ยาชาฉีดก่อนทำการผ่าตัด จากนั้นนัดตัดไหมและดูแผล 7-14 วันหลังการผ่าตัด และทิ้งช่วงรอเวลาให้รากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรประมาณ 3-6 เดือน  3.การต่อส่วนแกนและครอบฟัน เมื่อรากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปาก และเลือกแกนหลัก(Abutment)ที่เหมาะสมกับตำแหน่งฟันซี่นั้น โดยแกนหลักจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรากเทียมกับครอบฟันด้านบน และทำครอบฟันเพื่อมาสวมใส่ทับบนแกนหลักอีกที โดยจะนัดมาลองครอบฟันหลังจากพิมพ์ปากไปแล้ว 1-2สัปดาห์ คำแนะนำการดูแลรักษารากฟันเทียม               การดูแลรักษารากเทียมเหมือนกับการดูแลฟันธรรมชาติ ถึงแม้ว่ารากเทียมไม่สามารถผุได้ เนื่องจากเป็นโลหะทั้งซี่ แต่รากเทียมสามารถเป็นโรคปริทันต์หรือว่าโรคเหงือกอักเสบเหมือนกับฟันธรรมชาติได้ ซึ่งถ้าเป็นโรคเหงือกอักเสบจะทำให้กระดูกรอบๆรากเทียมมีการละลาย และในที่สุดกระดูกรอบรากเทียมไม่เพียงพอที่จะรองรับ จะทำให้รากเทียมโยกและหลุดออกมาได้ ดังนั้นการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน การทำความสะอาดอย่างถูกต้องรวมถึงการตรวจสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอมีความสำคัญทั้งรากเทียมและฟันธรรมชาติ ซึ่งข้อปฏิบัติการดูแลมีดังนี้   •ควรแปรงฟันหลังรับประทานอาหารและก่อนเข้านอน อย่างน้อยวันละ2ครั้ง •ควรใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ1-2ครั้ง หรือใช้แปรงซอกฟันในการทำความสะอาดซอกฟัน •ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและรากเทียมตามที่ทันตแพทย์นัด หรืออย่างน้อยทุก6เดือน   ด้วยความปรารถนาดี  ทพญ.กัญธนัช  ฉัตรวรัทธนา  ศูนย์ทันตกรรม รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

จัดฟันแบบใส Invisalign คืออะไร ข้อดี-ข้อเสีย ราคาเท่าไร? ทำไมดาราชอบทำ

การจัดฟันแบบใส  Invisalign เป็นระบบจัดฟันแบบดิจิทัลที่ทันสมัย Invisalign จะค่อย ๆ เคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง คาดการณ์ผลลัพธ์ของการจัดฟันได้ ทันตแพทย์จะวางแผนการเคลื่อนฟันด้วยซอฟต์แวร์ที่สามารถจำลองการเคลื่อนตัวของฟันได้แม้ขยับเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องรอจนจัดฟันเสร็จ ก็ทราบผลลัพธ์ได้ เป็นการจำลองภาพ 3 มิติ ช่วยให้ทันตแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะเฉพาะแต่ละคน มีการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมจะคำนวณหาแรงที่เหมาะสมสำหรับทุกการเคลื่อนที่ของฟัน โดยใช้ซอฟต์แวร์ และการวางแผนโดยทันตแพทย์ ฟันทุกซี่จะเคลื่อนตัวตามแผน ที่วางไว้และในเวลาที่เหมาะสม การใส่อุปกรณ์จัดฟันแบบใส อุปกรณ์จัดฟันแบบใสจะต้องสวมอุปกรณ์จัดฟันแต่ละชุดประมาณหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับคำสั่งของทันตแพทย์ อาจมีการนัดทุก  6-8 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของการจัดฟัน และตอนสวมอุปกรณ์จัดฟันชุดใหม่จะรู้สึกว่ามีแรงกดมากเป็นพิเศษหรือเจ็บในช่วงสองสามวันแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และต้องใส่อุปกรณ์จัดฟันแบบใส Invisalign 20-22 ชั่วโมงต่อวันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อุปกรณ์จัดฟันแบบใสของเด็กจะมีตัวตรวจสอบสีน้ำเงินสำหรับตรวจดูระยะเวลาการใส่อุปกรณ์จัดฟัน จึงตรวจสอบได้ว่ามีการสวมอุปกรณ์จัดฟันนานเพียงพอหรือเปล่า  การใส่ Invisalign ปกติต้องใส่ตลอดเวลา ยกเว้นเวลารับประทานอาหาร กับเวลาแปรงฟัน ตอนนอนเราก็ใส่ แต่ช่วงเวลาไหนที่ไม่สามารถใส่ได้เราก็ถอดได้ เช่น เล่นกีฬาก็ไม่ควรใส่ หรือดาราออกกล้องถ่ายอยู่ ช่วงนั้นก็ถอดออกได้ แต่ถ้าเวลาปกติใส่ให้มากที่สุด การทำความสะอาดอุปกรณ์จัดฟันแบบใส ล้างอุปกรณ์จัดฟันทุกคืนและแปรงเบา ๆ ด้วยแปรงสีฟัน เพื่อให้อุปกรณ์จัดฟันสะอาดและสดชื่น ใช้ชุดล้างทำความสะอาด Invisalign โดยตรง เพื่อให้อุปกรณ์จัดฟันสะอาดอยู่เสมอ รับประทานอาหารจานโปรดได้เหมือนเดิม เพียงก่อนรับประทานอาหาร แค่ถอดอุปกรณ์จัดฟันแบบใสออก และแปรงฟันก่อนสวมอุปกรณ์จัดฟันอีกครั้ง เล่นกีฬาและทำกิจกรรมสุดโปรดได้ทุกอย่าง หมดกังวลเรื่องเหล็กจัดฟันหลุดหรือลวดหัก อุปกรณ์จัดฟันแบบใส Invisalign แทบมองไม่เห็น จนมองไม่ออกว่าใช้อุปกรณ์จัดฟันอยู่ การจัดฟันแบบใส (Invisalign) เริ่มจัดฟันได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบขึ้นไป ข้อดี การดูแลและทำความสะอาดฟันทำได้ง่าย  ไม่ต่างจากการแปรงฟันทั่วไป แปรงสีฟันก็ใช้แปรงธรรมดา ไม่ต้องเป็นแบบพิเศษเหมือนคนที่จัดฟันแบบใส่เหล็กดัด และยังไม่ต้องกังวลว่าจะมีเศษอาหารอะไรมาติดที่เหล็กดัดฟันจนทำให้ขาดความมั่นใจ แถมยังสามารถใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติอีกด้วย อุปกรณ์จัดฟันแบใสสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ เพราะทำจาก SmartTrack® ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ต่อการถอดและใส่เป็นอย่างมาก จนสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ แทบจะมองไม่เห็น คนที่สนทนากับเรานั้นส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเราดัดฟันแบบใสอยู่ อันนี้จึงเป็นข้อดีที่สำคัญของการดัดฟันแบบใส invisalign เพราะผู้ที่สนทนากับเราก็จะได้ให้ความสนใจในสิ่งที่เราพูด โดยที่ไม่ถูกเหล็กดัดฟันดึงความสนใจไป ระหว่างการรักษาจะเห็นภาพทุกขั้นตอนของการรักษา ใส่อุปกรณ์แบบใส invisalign แล้วรู้สึกสบายเหมือนไม่ได้ใส่แผ่นใสครอบฟันอยู่ จนบางครั้งลืมไปเลยว่านี่เราดัดฟันอยู่ ไม่ต้องทนเจ็บที่จะต้องมาดึงเหล็กดัดทุกเดือน จนต้องทานแต่โจ๊กไป 2-3 วัน ในขณะที่ดัดฟันแบบใส invisalign สามารถทานอาหารทุกอย่างได้ตามปกติโดยที่ไม่ปวดฟันเลย  ข้อเสีย การจัดฟันแบบนี้มีราคาจะค่อนข้างสูงกว่าธรรมดาประมาณ 1 เท่าตัว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์นี้ต้องสิ่งผลิตมาเฉพาะบุคคลจากต่างประเทศ โดยผลิตตามการออกแบบของทันตแพทย์แต่ละท่าน เปรียบเทียบกับการจจัดฟันแบบธรรมดา (แบบใช้เหล็กดัด) คนที่ใช้ Invisalign ไม่ต้องมีเหล็กติดอยู่ที่ตัวฟัน เพราะฉะนั้นจะไม่รู้สึกรำคาญ เวลาจะทานอาหารก็ถอดออกมาเก็บ แล้วก็ใช้ฟันปกติเคี้ยวอาหาร เวลาจะแปรงฟันก็ถอดเครื่องมือออกมา แล้วก็แปรงฟันตามปกติ ดูแลง่ายกว่าการดัดฟันแบบเหล็ก เหมาะกับคนทั่วไปและคนที่กลัวเจ็บ รำคาญ ระคายเคือง บางอาชีพห้ามใส่เหล็กดัดฟัน เช่น พิธีกร แอร์โฮสเตสในบางสายการบินใส่ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าดาราปัจจุบันจำนวนมากเลยดัดฟันด้วยวิธีนี้ ระยะเวลาในการจัดมักจะจัดเสร็จเร็วกว่าการจัดฟันแบบธรรมดา  พบทันตแพทย์ไม่บ่อยเท่าการจัดฟันแบบธรรมดา ระยะเวลารักษา ระยะเวลาการรักษาก็แล้วแต่ละคน    โดยทั่วไปประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี การเลือกสถานที่หรือแพทย์ที่จะรับบริการ เนื่องจากการจัดฟันแบบใส (Invisalign) เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นตามคำสั่งของแพทย์ การรักษาด้วยอุปกรณ์แบบใส อินวิสไลน์ (Invisalign) โดยแพทย์แต่ละท่านจะให้ผลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่ รพ.วิภาวดี เราให้บริการพร้อมวางแผนและรักษาด้วยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อินวิสไลน์ (Invisalign) ระดับ Diamond Provider จึงทำให้มั่นใจได้ถึงผลการรักษาที่สมบูรณ์แบบ แพทย์ ทพ. ณพงษ์ พัวพรพงษ์ ศูนย์ทันตกรรมและทันตกรรมเฉพาะทาง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. เสียงในหู และหูดับ

เสียงในหู และหูดับ       หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical  Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่หูข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น มีอาการหูอื้อ เวียนศีรษะ หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หูจึงมีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง        การได้ยินเสียงดังอยู่ข้างใน โดยทั่วไปจะหมายถึงโรคที่หูเราได้ยินเสียงดังผิดปกติ ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เสียงนั้นอาจจะมีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริงก็ได้ สาเหตุมีทั้งโรคที่เกิดจากหูโดยตรง และโรคที่ไม่ได้เกิดจากหู ยกตัวอย่างเช่น ยาบางชนิด หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษก็ทำให้ได้ยินเสียง เหมือนมีเสียงดังในหูได้ หรืออาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับหูโดยตรง เช่น มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับหู มีความผิดปกติของเส้นเลือดในบริเวณที่อยู่ใกล้ๆ กับหู หรือในสมอง หรืออาจจะเกี่ยวกับเรื่องเนื้องอกที่ช่องหูหรือในสมอง โรคเวียนศีรษะ น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือที่เราพบบ่อยที่สุดก็คือ โรคประสาทหูเสื่อม ทำให้เราได้ยินเสียงดังผิดปกติในหูเหมือนกัน          เสียงดังในหูที่ดังผิดปกติที่อาจจะได้ยินเป็นเสียงลักษณะเสียงลม เสียงเครื่องจักร เสียงจิ้งหรีดร้องหรือว่าคล้ายๆ เสียงกลอง เป็นจังหวะ หรือเสียงฟู่ๆ เหมือนจังหวะหัวใจเต้น ก็เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติว่าคือตรงไหน หากไม่แน่ใจ แนะนำให้มาตรวจ พบแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านคอ หู จมูก ทุกราย เพื่อจะได้แยกหาสาเหตุที่สามารถรักษาได้ โรคบางอย่างทิ้งไว้ก็อันตราย   สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือมักจะมาจากประสาทหูเสื่อม สาเหตุจากประสาทหูเสื่อมจะมาได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเสื่อมตามวัย อายุที่มากขึ้น หรือว่าได้รับเสียงที่ดังมาเป็นเวลานาน ทำให้ประสาทหูเสื่อม หรือเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าเกิดจากประสาทหูเสื่อม ก็จะรักษาไม่ได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดตามหลังประสาทหูเสื่อม ก็อาจจะดังอยู่แบบนั้น รักษาไม่หาย แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก ความผิดปกติของเส้นเลือด ถ้าเรารักษาที่สาเหตุ ก็จะทำให้เสียงดังจากหูหายไปได้   ส่วนโรคหูดับ หมายถึงการสูญเสียการได้ยินแบบทันทีทันใด หรือ เฉียบพลัน โดยทั่วไปไม่เกิน 3 วัน จากที่หูได้ยินชัดเจน อยู่ๆ ก็ได้ยินน้อยลงไปทันที หรือแทบไม่ได้ยินเลย อย่างนี้เรียกกว่ากลุ่มอาการของโรคหูดับ ซึ่งโรคหูดับก็มีสาเหตุหลายอย่างเช่นกัน อาจจะเกี่ยวกับโรคของหูโดยตรง หรืออาจจะไม่เกี่ยวกับโรคของหูก็ได้ หรือโรคของหูก็มีทั้งการติดเชื้อไวรัส ความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนของหูชั้นใน หรือในสมอง หรือเนื้องอก ก็จะเป็นประสาทหูเสื่อมอย่างเฉียบพลัน การรักษานั้นต้องดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยทั่วไปแนะนำผู้มีปัญหาเรื่องหูดับให้รีบพบแพทย์ เพราะยิ่งพบแพทย์เร็วก็ยิ่งมีโอกาสที่จะหายมากขึ้น โรคบางอย่างที่มีการอักเสบแล้ว ถ้ามาพบแพทย์ช้า ได้รับการรักษาช้า โอกาสฟื้นก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ            อาการที่ทำให้เรารู้ว่าประสาทหูใกล้จะเสื่อมคือ โดยทั่วไปหลังจากที่เราได้ยินเสียงดังๆ มา หูเราจะอื้อไปสักพักหนึ่ง อย่างเวลาไปคอนเสิร์ต หรืออยู่ในที่เสียงดังๆ นั่นแหละคืออาการเตือนว่าเราเริ่มประสาทหูเสื่อมแล้ว  โดยทั่วไปเมื่อเราอายุมากขึ้น ประสาทหูก็จะเสื่อมตามวัย แต่ประสาทหูเสื่อมมีทั้งกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมก็คืออยู่ในที่เสียงดังๆ อย่างเสียงระเบิดเป็นต้น เสียงดังมากๆ เพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เลย หรือเสียงดังไม่มากเท่าไหร่ แต่อยู่เป็นเวลานานๆ ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เหมือนกัน เช่น อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีเครื่องจักรที่เสียงดัง ที่สนามบิน มีเสียงดัง ทำงานอยู่หลายชั่วโมง ก็สามารถประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน และในปัจจุบันที่พบเจอได้บ่อยๆ เลยคือ ใส่หูฟัง ฟังเพลงเสียงดังๆ และดังนานๆ ฟังไปแล้วก็นอนหลับไปด้วย ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน            เสียงในหู ส่วนใหญ่จะเกิดจากประสาทหูเสื่อม ซึ่งเสียงดังในหูเป็นผลลัพธ์ของประสาทหูเสื่อม ทำให้เราได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู ซึ่งเสียงไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และก็ไม่ได้แปลว่าจะมีโรคอะไรซ่อนอยู่ ไม่ต้องกังวล ก่อให้เกิดความรำคาญอย่างเดียว            น้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเสียงดังในหู เนื่องจากในหูชั้นในของเราประกอบไปด้วยน้ำ เป็นน้ำอยู่ข้างใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากันก็คือ มีความผิดปกติของสมดุลของน้ำในหู มากเกินไป อาการส่วนใหญ่ก็จะมาด้วยอาการเวียนศีรษะเป็นหลัก การได้ยินลดลง รวมถึงมีเสียงดังในหูด้วย ซึ่งต้องมีอาการเวียนศีรษะ ถ้าเกิดคนทั่วไปที่มีเสียงดังในหูอาจจะไม่ใช่โรคนี้ โรคน้ำในหูมักจะเป็นซ้ำ เป็นๆ หายๆ มีช่วงสงบ มีช่วงเป็นเยอะ แต่จริงๆ แล้วโรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นโรคที่เจอไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับโรคเวียนหัวอื่นๆ แต่ก็เจอบ้าง โดยทั่วไปพวกนี้สัมพันธ์กับความเครียดก็กระตุ้นให้มีอาการนี้ได้ การกินอาหารที่เค็ม ก็จะทำให้คนไข้ที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันกำเริบขึ้นมาได้ ต้องกินยา และดูแลตัวเองในเรื่องของการกินอาหาร            คนไข้ที่มารักษา ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหูชั้นนอก เช่น ขี้หู หูอักเสบบ้าง แคะหู ว่ายน้ำ ดังนั้น เพื่อสุขภาพหูที่ดีที่สุดก็คือป้องกันไม่ให้มีโรค อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าประสาทหูเสื่อมเกี่ยวเนื่องมาจากการได้ยินเสียงดัง และบางทีเราไม่ทราบว่ามันดังแค่ไหน ยิ่งดังมากก็ยิ่งเสื่อมเร็ว หรือดังไม่มากแต่ต้องอยู่เป็นเวลานาน ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ เพราะฉะนั้นควรจะหลีกเลี่ยงในการอยู่ในที่เสียงดัง โดยเฉพาะเป็นเวลานานๆ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องอยู่จริงๆ เพราะต้องทำงานหรืออะไรต่างๆ ควรหาวิธีป้องกัน เช่น ใส่ที่ครอบหู Earplug เพื่อลดเสียง ส่วนการฟังเพลงจากหูฟังก็ฟังได้ ถ้าไม่ฟังดังจนเกินไป อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีปัญหา ถ้าดังเกินไปก็จะทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้    โดย นพ.ดาวิน เยาวพลกุล   แพทย์ด้าน หู คอ จมูก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นอนกรน... ต้นเหตุของโรคร้าย อาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

       การนอนกรนก่อปัญหาให้ทั้งผู้ที่มีอาการและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด คนที่มีอาการนอนกรนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลาย ๆ โรค เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น โรคนอนกรนเกิดจาก การที่ลมผ่านทางท่อหายใจที่แคบลงและเกิดการสั่นไหวรอบ ๆ ของเนื้อเยื่อคอ เช่น เพดานอ่อนลิ้นไก่ ก็เลยเกิดเป็นเสียงกรน การนอนกรนเด็กก็สามารถเป็นได้ แต่สาเหตุจะแตกต่างกับผู้ใหญ่  ส่วนในเด็กจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เป็นโรคนอนกรนก็คือเนื้อเยื่อในคอมีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสาเหตุของโรคนอนกรนก็เกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลงนั่นเอง   สาเหตุของโรคนอนกรน      1.เนื้อเยื่อในคอหอยมีปริมาณมาก เช่น ทอนซิลโต       2.คนที่มีน้ำหนักตัวมาก นอกจากไขมันจะไปสะสมอยู่ที่พุงแล้วก็ไปสะสมอยู่บริเวณเนื้อเยื่อรอบคอหอยเช่นกัน      3.โครงหน้าเล็ก ทำให้ท่อทางเดินหายใจเปิดแคบลง ซึ่งจะพบค่อนข้างมากในคนแทบทวีปเอเชีย      4.กล้ามเนื้อหย่อนตัว เช่น เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อจะหย่อนตัวได้ง่ายขึ้นหรือเป็นโรคระบบประสาท โรคทางสมอง อีกอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัวก็คือยา เช่น ยานอนหลับบางชนิด แอลกอฮอล์      5.เพศ เพศชายจะพบมากกว่าเพศหญิงซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว   ลักษณะอาการนอนกรน      การนอนกรนคือการนอนที่มีเสียงเกิดขึ้นโดยทั่วไปการนอนปกติจะต้องไม่มีเสียงหรือมีเสียงดังได้แค่เล็กน้อย เพราะฉะนั้นแล้วกรนธรรมดาจะกรนได้แค่เสียงเบา ๆ เท่านั้น แต่ถ้าหากการนอนกรนมีเสียงดังนั่นถือว่าเป็นการนอนกรนที่อันตราย โดยจะแบ่งความรุนแรงออกเป็นทั้งหมด 3  ระดับ คือ        1.ความรุนแรงระดับ 1 คือ การนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ       2.ความรุนแรงระดับ 2 คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางในขณะนอนหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน      3.ความรุนแรงระดับ 3 คือการนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ  10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน   ขั้นตอนการรักษา      1.รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศหรือที่เรียกว่า เครื่องซีแพพ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) เป็นเครื่องผลิตแรงดันอากาศให้เพียงพอในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหายใจทั้งเข้าและออก โดยส่งอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านทางหน้ากากครอบจมูกหรือปาก      2.การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral Appliance) การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกันและเลื่อนขากรรไกรล่างมาหาทางด้านหน้า ป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดาหรือภาวะก่ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดาและกรนอันตราย       3.การผ่าตัด การผ่าตัดในกรณีที่การปฏิบัติตัวหรือการรักษาวิธีธรรมดาไม่ได้ผล โดยจะช่วยขยายทางเดินหายใจผ่านแสงเลเซอร์ตกแต่งบริเวณเพดานอ่อนลิ้นไก่โคนลิ้น เยื่อบุจมูกให้มีขนาดพอเหมาะทำให้ลมหายใจเข้าออกดีขึ้นเพื่อลดการนอนกรน เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่อาจมีอาการเจ็บแผล  1 สัปดาห์    ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนกรน       โรคแทรกซ้อนขณะนอนกรนมีค่อนข้างมาก เนื่องจากเวลาที่หยุดหายใจหรือท่อทางเดินหายใจปิดตัวลงระดับออกซิเจนในร่างกายจะตกลงและร่างกายจะไม่ยอมขาดออกซิเจนต่ออาจทำให้เกิดการตื่นตัวของสมองให้กลับมาหายใจใหม่ ในการตื่นตัวบ่อย ๆ จะส่งผลให้นอนไม่พอทำให้เกิดโรคตามมาหลาย ๆ อย่าง เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคสมองเสื่อม อีกอย่างเมื่อระดับออกซิเจนลดลงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกายเป็นการชดเชยทำให้หัวใจทำงานหนักเป็นช่วง ๆ ยิ่งทำงานหนักบ่อย ๆ ก็เกิดโรคซึ่งโรคที่ตามมา ในกรณีนี้คือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น โดย นพ.พงศกร  ตนายะพงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในสตรี อาจเกิดจากโรคประจำตัว หรือยาที่ใช้เป็นประจำ

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้  คือ ภาวะที่มีปัสสาวะซึมหรือไหลออกมาโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาวะนี้มีอุบัติการณ์สูงและจะเพิ่มมากขึ้นในสตรีสูงอายุ นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในหลาย ๆ ด้านรวมถึงความอับอายทั้งต่อครอบครัวของตนเองและสังคม ผู้ป่วยส่วนมากพยายามปกปิดภาวะดังกล่าวไว้ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในสตรีมีหลายชนิดอาจมีความซับซ้อนในผู้ป่วยบางราย ที่สำคัญภาวะนี้อาจพบร่วมกับภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน (Pelvic Organ Prolapse) ได้บ่อย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและการรักษาที่ถูกต้อง   ชนิดของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (Types of Urinary Incontinence) ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้มี 3 ชนิดหลักที่พบได้บ่อย ได้แก่ 1. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง(Stress Urinary Incontinence) หรือภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด ในภาวะปกติสตรีจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะให้อยู่นิ่งและช่วยทำหน้าที่อุดกั้นท่อปัสสาวะเมื่อเกิดการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การไอหรือจาม การหัวเราะ การออกกำลังกาย แต่หากเกิดการบาดเจ็บหรือความเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันดังกล่าวย่อมทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดตามหลังการเพิ่มแรงดันในท้องได้ 2. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน (Urgency Incontinence) หรือภาวะปัสสาวะราด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน โดยมักมีอาการตามหลังอาการปวดปัสสาวะฉับพลันซึ่งอาจมีอาการเกิดขึ้นเองหรือมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น การถอดกางเกงชั้นใน การเปิดประตูห้องน้ำ การล้างมือด้วยน้ำเย็น หรือแม้กระทั่งการไขกุญแจบ้าน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย (มากกว่า 7 ครั้ง) และปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน (ตื่นขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้ง) ร่วมด้วย 3. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบผสม (Mixed Incontinence) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีทั้งภาวะไอจามปัสสาวะเล็ดและภาวะปัสสาวะราดรวมกัน นอกจากนี้แล้วยังมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้อีกหลายชนิด แต่อาจพบได้น้อยกว่า ได้แก่ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ขณะเปลี่ยนท่าทาง ภาวะปัสสาวะรดที่นอน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ตลอดเวลา ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบไม่รู้สึกตัว และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ขณะมีเพศสัมพันธ์   การประเมินผู้ป่วยเมื่อมาพบแพทย์             การประเมินผู้ป่วยจะนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จะสอบถามอาการเกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้โดยละเอียด ประวัติทั่วไปรวมถึงเครื่องดื่มที่ดื่มประจำ โรคประจำตัวและยาที่ใช้ประจำ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจภายในโดยละเอียดรวมถึงประเมินภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน นอกจากนั้นแพทย์อาจแนะนำการตรวจพิเศษหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ 1. การจดบันทึกการปัสสาวะ (Bladder Diary) คือ การจดบันทึกปริมาณปัสสาวะ เวลาที่ปัสสาวะ ปริมาณน้ำดื่ม และกิจกรรมที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การจดบันทึกปัสสาวะเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญมากต่อการประเมินผู้ป่วยเนื่องจากอาจบ่งถึงสาเหตุและเป็นแนวทางในการรักษาได้อีกด้วย 2. การตรวจพื้นฐานอื่น ๆ (Simple Tests) ได้แก่ การวัดปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การจำลองภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้โดยการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง(Cough Stress Test) การวัดปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะหลังจากปัสสาวะแล้วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง 3. การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เช่น การอักเสบ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ 4. การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์ (Urodynamic Study) คือ การตรวจเพื่อจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในกระเพาะปัสสาวะโดยเริ่มตั้งแต่ปัสสาวะเติมในกระเพาะปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะสามารถรับได้ จำลองภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ไปจนถึงสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะปัสสาวะ การตรวจนี้มักจะทำในผู้ป่วยที่การวินิจฉัยปัญหามีความซับซ้อนหรือผู้ป่วยที่มีแผนจะเข้ารับการผ่าตัด   การรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับ 1. การรักษาทั่วไปของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ 1.1 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle Modification) ได้แก่ -การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น -การรักษาอาการท้องผูกในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำอาจช่วยลดอาการได้ -การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ในผู้ป่วยที่ดื่มน้ำปริมาณมากเกินไป (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) และมีภาวะปัสสาวะบ่อยหรือภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ (1.5-2 ลิตรต่อวัน) จะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามควรระวังในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะปัสสาวะบ่อยและดื่มน้ำน้อยอยู่แล้วเป็นประจำ (น้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน) ไม่ควรจะจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มอีกเนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ -การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้ สุรา รวมถึงอาหารบางชนิดที่มีรสชาติเปรี้ยวจัดหรือเผ็ดจัด 1.2 การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Training) กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรงจะช่วยบำบัดภาวะปัสสาวะเล็ดหรือราดได้ดี การบริหารจะได้ผลดีที่สุดเมื่อฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและมีวินัยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรเริ่มฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานภายใต้คำแนะนำของแพทย์เนื่องจากผู้ป่วยประมาณกึ่งหนึ่งบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผิดวิธี 2. การรักษาที่จำเพาะต่อภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด 3. การรักษาที่จำเพาะต่อภาวะปัสสาวะราด 3.1 การฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Training) มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น วิธีการฝึกคือการค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาระหว่างการไปเข้าห้องนํ้ากับการพยายามกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นทีละน้อยเมื่อมีความรู้สึกต้องการถ่ายปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะควรฝึกภายใต้การดูแลของแพทย์ 3.2 การใช้ยา ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้นและช่วยลดภาวะปัสสาวะราด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาการปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ยากลุ่มนี้มีหลายชนิดบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องเปลี่ยนชนิดยา 1-2 ครั้งจึงจะพบยาที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีที่สุด โดยทั่วไปการใช้ยาถือเป็นการรักษาที่มาเสริมกับการรักษาหลักที่ได้กล่าวไปข้างต้นและมักจะใช้ยาเป็นระยะเวลาเพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น 3.3 การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) คือ การส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและฉีดท็อกซินเข้าไปในผนังของกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวเพื่อลดการปวดปัสสาวะแบบฉับพลันและช่วยให้กระเพาะปัสสาวะเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามท็อกซินจะออกฤทธิ์อยู่นานประมาณ 6-9 เดือน หลังจากนั้นอาจต้องมีการฉีดซํ้า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีอาการปัสสาวะยากหรือปัสสาวะคั่งตามมาและจำเป็นต้องใช้การสวนปัสสาวะช่วงระยะเวลาหนึ่ง  3.4 วิธีการรักษาอื่น ๆ ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการรุนแรงแม้จะได้รับการรักษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว เช่น การกระตุ้นเส้นประสาททิเบียล (Tibial Nerve Stimulation)การกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณกระดูกกระเบนเหน็บ (Sacral Nerve Stimulation) อย่างไรก็ตามการรักษาทั้งสองวิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมทำในประเทศไทย เนื่องจากมีความยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก            ด้วยความปราถนาดีจาก นายแพทย์พริษฐ์ วาจาสิทธิศิลป์ สูตินรีแพทย์ประจำ รพ.วิภาวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม   

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะของไฝ

ไฝ คือ          ภาวะหนึ่งของร่างกายที่บริเวณนั้นๆมีการรวมกลุ่มกันของเซลล์สร้างเม็ดสีหรือเซลล์ไฝ (Nevus cell) ทำให้เห็นไฝเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล อาจเป็นจุดเรียบหรือตุ่มนูน ไฝแบ่งตามชนิดที่เป็นได้ 2 ประเภท 1. ไฝตั้งแต่แรกเกิด มักมีขนาดโตตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นก้อนนูน อาจมีขนขึ้นบริเวณไฝด้วย 2.  ไฝที่เกิดขึ้นภายหลัง มักเป็นบริเวณที่โดนแสงแดด มักมีขนาดเล็ก เรียบ ถ้าเป็นไฝที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ผิวเรียบและไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่า ขี้แมลงวัน ถ้าไฝมีลักษณะนูน โตเร็ว แตกเป็นแผล ควรมาพบแพทย์  ไฝบางประเภทอาจกลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้  สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นเป็นเวลานานๆ เช่นถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ถูกถูไถจนเป็นแผลเป็นเวลานาน หรือ ถูกสารเคมี เป็นต้น ลักษณะไฝที่ต้องเฝ้าระวังคือ 1.      Asymmetry       เมื่อแบ่งครึ่งจะไม่สมมาตร ครึ่งหนึ่งของไฝจะแตกต่างจากอีกด้านหนึ่ง 2.      Border             ขอบเขตของไฝไม่สม่ำเสมอ ขอบเขตไม่ชัดเจน 3.      Color                มีหลากหลายสีหรือสีไม่สม่ำเสมอ 4.      Diameter          ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร 5.      Evolving            ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี รูปร่าง ขนาด โตเร็วผิดปกติ หรือ มีเลือดออก วิธีการรักษา 1.  กรณีไฝอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อเก็บตัวอย่างผิวหนัง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา 2.  กรณีไฝธรรมดาหรือขี้แมลงวัน สามารถกำจัดออกได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) เป็นการใช้ความร้อนจี้เซลล์ไฝออกไป หลังการรักษาแผลจะเป็นสเก็ดอยู่ประมาณ 5-7 วัน  การดูแลผิวหลังทำเลเซอร์หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการเกิดรอยคล้ำ   ข้อมูลโดย: พญ.ชนาทิพย์  ญาณอุบล อายุรศาสตร์  สาขา ตจวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

7 เรื่องน่ารู้... กับโรคพิษสุนัขบ้า

สัตว์อะไรบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้า?  ที่พบมากที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมว ม้า ลิงและปศุสัตว์(วัว,ควาย) สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก กระแต มีรายงานว่าพบเชื้อไวรัสในน้ำลายได้ แต่พบน้อย   1)  สัตว์อะไรบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้า?           ที่พบมากที่สุดคือสุนัข  รองลงมาคือแมว ม้า ลิงและปศุสัตว์(วัว,ควาย)  สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก  กระแต มีรายงานว่าพบเชื้อไวรัสในน้ำลายได้ แต่พบน้อย  2)  ถ้าถูกสัตว์กัดจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพียงใด? -ถ้าสัตว์ที่กัดไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะไม่มีโอกาสเป็นโรค  -ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่  ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน  -ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด  ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ  35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด  ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21 %  ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า  โอกาสเป็นโรคประมาณ  88 %  ถ้าแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า   แผลลึกหลายๆแผล   3) เชื้อติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร?        เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย  ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อยคือถูกกัด  โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน   นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก(mucosa) ได้แก่  เยื่อบุตา  เยื่อบุจมูก  ภายในปาก  ทวารหนัก และ อวัยวะสืบพันธุ์   แม้ว่าเยื่อเมือกจะไม่มีบาดแผล สำหรับทางติดต่อที่มีใน   รายงานแต่พบน้อย ได้แก่ ทางการหายใจ, ทางการปลูกถ่ายกระจกตา  4) ถูกสุนัขบ้ากัด นานเท่าใดจึงมีอาการ?        ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกว่าระยะฟักตัว จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วันจนถึง 4 ปี   ผู้ป่วยประมาณ 70% จะเป็นโรคภายใน  3 เดือน  หลังถูกกัด, ประมาณ  96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่  4   5) สุนัขที่เป็นโรคอาการเป็นอย่างไร?       สุนัขที่ป่วยจะเริ่มปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตั้งแต่ 3 วันก่อนมีอาการ ไปจนถึง 2 วันหลังมีอาการ  หลังจากนั้นจะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตลอดเวลาจนกระทั่งตาย -ระยะฟักตัว  พบบ่อยในระยะ 3-8 สัปดาห์ แต่พบได้ตั้งแต่ 10 วันจนถึง 6 เดือน    อาการของโรคแบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบดุร้าย เป็นแบบที่พบบ่อย  แบบซึม จะแสดงอาการไม่ชัดเจน   อาการของโรคแบ่งได้ 3 ระยะ  1. ระยะอาการนำ  สุนัขจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น จากเคยเชื่อง ชอบเล่นกลายเป็นซึม กินข้าวกินน้ำ น้อยลง ระยะนี้กินเวลา 2-3 วันก่อนเข้าระยะที่สอง  2. ระยะตื่นเต้น  เป็นอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง น้ำลายไหล  ลิ้นห้อย ต่อมามีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ระยะพบได้ 1-7 วันก่อนเข้าระยะท้าย  3. ระยะอัมพาต จะเกิดอาการอัมพาตทั่วตัว  ถ้ามีอาการอัมพาตสุนัขจะตายใน 24 ชม. รวมระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ จนถึงตายจะไม่เกิน 10 วัน ส่วนใหญ่ตายใน 4-6 วัน  ในแบบซึมอาจมีระยะอัมพาตนานได้ถึง 2-4 วัน  และ  ในสุนัขที่เป็นโรคที่พิษบ้าจะไม่แสดง อาการกลัวน้ำให้เห็น   6) อาการพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร?          แบ่งได้ 2 แบบคล้ายสัตว์ คือ แบบกระสับกระส่าย,ดุร้าย(เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนอยู่ในสมองมาก)แบบนี้พบได้บ่อย และ แบบอัมพาต (เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนมากในไขสันหลัง) อาการในคนแบ่งได้ 3 ระยะ  1. ระยะอาการนำ  จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน อาการที่แปลกไป  คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลง   กังวล   กระสับกระส่าย      นอนไม่หลับ  อาการนำที่ชัดเจนที่พบบ่อยในคนไทย คือ อาการคันรอบๆบริเวณที่ถูกกัด หรือคันแขนขาข้างที่ถูกกัด  อาจมีอาการชา เจ็บเสียวรอบๆบริเวณที่ถูกกัด  2. ระยะอาการทางระบบประสาท แบ่งย่อยได้เป็น  -อาการกลัวน้ำ จะมีอาการตึง แน่นในลำคอ กลืนอาหารแข็งได้ แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลากินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อในลำคอกระตุกเกร็ง      ภาพที่อธิบายไว้ถึงอาการกลัวน้ำ  คือ ผู้ป่วยหิวน้ำ พยายามเอื้อมมือหยิบถ้วยน้ำมาจิบช้าๆ แต่พอถ้วยยาแตะริมฝีปาก   ผู้ป่วยเริ่มมือสั่น   หายใจสะอึก เห็นกล้ามเนื้อลำคอกระตุกเกร็ง แหงนหน้าขึ้น  พ่นน้ำพ่นน้ำลายกระจายทั่ว   ถ้วยหล่นจากมือพร้อมทั้งเปล่งเสียงร้อง แสดงความเจ็บปวดไม่เป็นภาษาคน    บางคนที่กล้ามเนื้อควบคุมสายเสียงเป็นอัมพาต จะได้ยินคล้ายเสียงหมาเห่าหอน    ผู้ป่วยจะตายใน 2-3 วันหลังจากมีอาการกลัวน้ำ     - อาการกลัวลม  ผู้ป่วยจะสะดุ้งผวาเมื่อถูกลมพัด     -  อาการประสาทไว  ผู้ป่วยจะกลัว สะดุ้งเกร็งต่อสัมผัสต่างๆ ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่อยากให้ใครมาถูกต้องตัว     - อาการคลุ้มคลั่งประสาทหลอน  ผู้ป่วยอาจอาละวาด ดุร้ายน่ากลัว     -  อาการอื่นๆ เช่นมาด้วยอัมพาต  3. ระยะสุดท้าย  ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว  เข้าสู่ระยะโคม่า       ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีชีวิตไม่เกิน 7 วัน หลังจากเริ่มอาการนำและอยู่ไม่เกิน 3 วัน หลังมีอาการทางระบบประสาท    7) ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัขข่วน,กัด ? 1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง  พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้  2. ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่น 70% alcohol  3. ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก  ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก  4. ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์  (กรณีที่มีเจ้าของ หรือทราบตัวเจ้าของ)    ควรกักขังและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน  5. กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย  6. ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ วัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่  โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ควรมา รพ.ทันที  ไม่ควรและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน  (เป็นช่วงที่กว้าง)  คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้    7. ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของสัตว์,สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร อาจช่วยลดโอกาสการเป็นโรคของสัตว์ดังกล่าวลง    แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติ ตามข้อ1-6 เหมือนเดิม  8. กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน  โดย ยังไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเย็บแผล               โดย  นพ.ธเนศ  พัวพรพงษ์   ศัลยแพทย์รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เครื่อง Focus shock wave คืออะไร

เครื่องที่ทำการรักษาอาการปวดด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave)               เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาอาการเรื้อรัง (มากกว่า 3 เดือน) โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการอักเสบบริเวณที่ปวด เครื่อง Shock wave มี 2 ชนิด คือ Radial shock wave และ Focus shock waveแต่เครื่อง Focus shock wave มีประสิทธิสูงกว่า สามารถยิงคลื่นได้ลึกกว่าและเห็นผลได้ดีกว่าเครื่อง Radial shock wave    กระบวนการรักษา   การรักษาจะทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ หลักการทำงานของเครื่อง คือ การส่งผ่านคลื่นกระแทก(Shockwave) เข้าไปในบริเวณที่มีอาการปวด  เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บใหม่ (Re-Injuries)ในบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีปัญหาจากนั้นร่างกายจะเกิดกระบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (Re-Healing)จะช่วยลดปวดได้ โดยลดปริมาณสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณปวดและกระตุ้นให้หลั่งสารลดปวด จึงเห็นผลได้ทันทีหลังรักษา(ในกรณีที่เป็นในระดับความรุนแรงเล็กน้อยหรือเพิ่งเริ่มมีอาการ)   ผลที่ได้จากการรักษาและระยะในเวลาการรักษา   ผู้ป่วยจะมีอาการปวดลดลงเกือบ50%หรือบางรายหายปวดหลังทำการรักษาในครั้งแรก(ในกรณีที่เป็นในระดับความรุนแรงเล็กน้อยหรือเพิ่งเริ่มมีอาการ) จากนั้นควรเว้นระยะห่างการรักษาครั้งถัดไป1- 2สัปดาห์ เพื่อให้เวลาร่างกายซ่อมแซมการอักเสบเรื้อรังที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ โดยจำนวนครั้งในการรักษาทั้งหมดอยู่ที่ 2-5ครั้งแล้วแต่ความรุนแรงของอาการ   -เครื่อง Shock wave ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง             -ปวดบ่า ,ไหล่             -ปวดข้อศอก , ข้อมือ             -ปวดเข่าจากเอ็นรอบเข่าอักเสบ             -ปวดข้อเท้าและฝ่าเท้า   (รองช้ำ)             -ปวดขาและสะโพก             -ปวดหลัง   -เครื่อง Shock wave อันตรายไหม ?               เครื่อง Shock wave เป็นเครื่องมือที่มีความปลอดภัยได้รับการรับรองจาก FDA สหรัฐอเมริกา และองค์การอาหารและยาในประเทศไทย    เครื่องมือ Shock wave ไม่มีการใช้รังสีใดๆ จึงมีปลอดภัยสูง -ความถี่ของการรักษา             ปกติจะใช้เครื่อง Shock wave  1,000-2,000 ช็อต ต่อครั้งและสามารถรักษา 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ -แล้วทำไมต้องเป็น Focus shock wave             เพราะ Focus shock wave สามารถนำพลังคลื่นกระแทก ลงได้ลึกและตรงจุดกว่า โดยไม่กระจายคลื่น กระแทกออกเหมือน Radial shock wave ดังนั้นจะเห็นประสิทธิภาพการรักษาได้ดีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ผู้ใช้เครื่อง Focus Shock wave ด้วย  ไม่ควรใช้ใน             เครื่อง  Focus shock wave ไม่ควรใช้ในเด็ก ,หญิงตั้งครรภ์,บริเวณที่มีการติดเชื้อ,ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ,บริเวณที่มีหลอดเลือดโป่งพอง,บริเวณที่มีการอักเสบของเส้นประสาท   แนะนำนัดหมายแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู  โทร 02-561-1111 ต่อ 1118-1119  โดย นพ.พีระกรณ์  นิธิกรณ์อธิวัฒน์  แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โภชนาการ เพื่อการย้อนวัย

 โปรแกรมการรับประทาน ตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายคนเรา มีการทำงาน และการซ่อมสร้าง  ที่สำคัญ คือ เช้า               1.สมอง                     2.ตับ และถุงน้ำดี กลางวัน        3.กระเพาะอาหาร บ่าย-เย็น       4.ตับอ่อน                      5.ไต เช้า ควรทานแป้งให้น้อยๆ หลีกเลี่ยงน้ำตาล และแป้งฟอกขาว ถ้าจะทานข้าว ก็เป็นข้าวกล้อง กลางวัน ทานโปรตีน ประเภท ปลา (ต้องมาจากธรรมชาติ ไม่ใช่ปลาเลี้ยง)   / พวกเนื้อขาว (ไก่) ประมาณ  1 ฝ่ามือ หรือโปรตีนจากไข่  / ทานไขมัน (ดี) กลุ่มที่มี โอเมก้า 3 หรือ 6  ส่วนแป้งทานได้ 250 กรัม บ่ายๆ อินซูลินทำงาน จึงสามารถทานหวาน หรือน้ำตาลได้ในช่วงนี้ เพราะจะถูกใช้ไป เย็นๆ ตับ และอวัยวะอื่นๆ จะเริ่มทำงานน้อยลง และ ไต จะเริ่มกระบวนการขำระล้างของเสีย ดังนั้นจึงควรรับประทานให้น้อยที่สุดในช่วงนี้ และหลัง 19.00 น. ไม่ควรทานอะไรอีก   สิ่งที่ทานได้ตลอด คือ ผัก (ถ้าเป็นหลายสีได้ ก็จะดี)  และผลไม้ (รสไม่หวาน)   สูตรการคำนวณการดื่มน้ำ ต่อวัน ส่วนสูง เป็นเซนติเมตร บวก น้ำหนัก หารด้วย 100 จะเป็นตัวเลข ของน้ำ ปริมาตรเป็นลิตร ที่ควรดื่ม ต่อวัน เช่น สูง 161 ซม. น้ำหนัก 53 กก. = 161 + 53  หาร 100 =  2.14  ลิตร ( ปริมาณ น้ำที่ควรดื่ม ต่อวัน)   สรุปหลักการโภชนาการ เพื่อย้อนวัย 1.เริ่มต้นมื้อเช้า ด้วยโปรตีน หลีกเลี่ยง ทานของหวาน หรือ น้ำตาลในตอนเช้า 2.ดื่มน้ำให้พอเพียง(ตามที่คำนวณ) และควรดื่มน้ำ ทุกชั่วโมง เครื่องดื่มอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำ ที่แนะนำ คือ น้ำชา 3.อย่าอดอาหาร ให้ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ 4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมากๆ  เพราะน้ำตาล จะไปห่อหุ้มเม็ดเลือด 5.รับประทานปลา  เพราะมี โอเมก้า 3 และ 6 6.ไม่รับประทาน แป้ง และของทอด 7.ทานผัก ผลไม้ ที่ไม่มีน้ำตาลสูง 8.รับประทานอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด 9.รับประทานมื้อเย็นให้น้อยที่สุด   โดย Dr.Claude Chauchard ถ่ายทอดโดย วิทยากร ภญ.โสภิตา ศิริรัตน์  ในรายการ Happy & Healthy FM 102 เสาร์ 9.00-10.00 น.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม