คลายข้อเข้าใจผิด! ยาคุมฉุกเฉินใช้อย่างไรให้ปลอดภัย มีประสิทธ
- ยาคุมฉุกเฉินคือยาที่ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยออกฤทธิ์ชะลอการตกไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของไข่
- วิธีใช้ยาคุมฉุกเฉิน ควรรับประทานโดยเร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ควรใช้บ่อยหรือใช้แทนยาคุมแบบปกติ
- ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือเลือดออกกะปริดกะปรอย ซึ่งมักหายได้เองในไม่กี่วัน
- ห้ามใช้ยาคุมฉุกเฉินกับผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรือแพ้ตัวยานี้ และมีโรคตับ โรคหลอดเลือด หรือใช้ยาบางชนิดที่อาจลดประสิทธิภาพของยา ควรหลีกเลี่ยงการใช้และปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งของการคุมกำเนิดที่หลายคนมักใช้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ถุงยางรั่ว ลืมกินยาคุมชนิดปกติ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับวิธีใช้ ผลข้างเคียง และประสิทธิภาพที่แท้จริงของยา
บทความนี้จะพาไปเจาะลึกตั้งแต่กลไกการทำงานของยาคุมฉุกเฉิน เวลาที่เหมาะสมในการใช้ ไปจนถึงความเสี่ยงและข้อควรระวัง พร้อมแนะนำวิธีกินยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด และวิธีคุมกำเนิดทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Mar%20Article%208%20(%E0%B8%A2%E0%B8%B2%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%20%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99)_Article1.jpg)
ไขข้อสงสัย ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร?
ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills) คือยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดที่ใช้หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเมื่อวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยรั่ว หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่หรือขัดขวางการปฏิสนธิ เพื่อลดโอกาสในการตั้งครรภ์
โดยทั่วไป ควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์จึงจะได้ผลดีที่สุด และยิ่งกินยาคุมฉุกเฉินเร็วเท่าไร ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
ยาคุมฉุกเฉินมีกลไกการทำงานอย่างไร
ยาคุมฉุกเฉินทำงานโดยการปรับระดับฮอร์โมนภายในร่างกายเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ โดยกลไกการออกฤทธิ์หลักมี 3 อย่าง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของรอบเดือนและช่วงเวลาที่รับประทานยา ได้แก่
- ยับยั้งการตกไข่ ยาจะช่วยชะลอหรือยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่มีไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ
- ขัดขวางการปฏิสนธิ หากมีการตกไข่ไปแล้ว ยาจะช่วยเปลี่ยนแปลงมูกปากมดลูกและการเคลื่อนตัวของท่อนำไข่ เพื่อขัดขวางไม่ให้สเปิร์มเข้าถึงไข่
- ขัดขวางการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว หากเกิดการปฏิสนธิ ยาจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะต่อการฝังตัว ส่งผลให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Mar%20Article%208%20(%E0%B8%A2%E0%B8%B2%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%20%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99)_Article2.jpg)
ประเภทของยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินมีหลายชนิด ซึ่งแตกต่างกันทั้งในด้านส่วนประกอบ วิธีการออกฤทธิ์ และช่วงเวลาที่ใช้ได้ผลดีที่สุด การเลือกใช้ให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
ยาแบบฮอร์โมนเดี่ยว (Levonorgestrel)
ยาแบบฮอร์โมนเดี่ยว (Levonorgestrel) เป็นยาคุมฉุกเฉินที่พบได้บ่อยที่สุด อยู่ในรูปแบบ 1 เม็ด หรือ 2 เม็ด โดยมีตัวยา “เลโวนอร์เจสเทรล” (Levonorgestrel) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดสังเคราะห์ ออกฤทธิ์หลักในการยับยั้งการตกไข่ และควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์จึงจะได้ผลดีที่สุด ยิ่งทานเร็ว ประสิทธิภาพยิ่งสูง
ยาแบบฮอร์โมนผสม
ยาแบบฮอร์โมนผสมเป็นยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบปกติ ที่มีฮอร์โมนทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสติน แต่ถูกนำมาใช้ในรูปแบบของยาคุมฉุกเฉิน โดยการกินในขนาดสูงในเวลาสั้นๆ ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเนื่องจากมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียนมากกว่ายาแบบฮอร์โมนเดี่ยว และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่า
ยาแบบใช้ในกรณีฉุกเฉินที่แพทย์สั่ง (Ulipristal Acetate)
ยาแบบใช้ในกรณีฉุกเฉินที่แพทย์สั่ง (Ulipristal Acetate) เป็นยาคุมฉุกเฉินที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ มีชื่อทางการค้าว่า “Ella” หรือชื่ออื่นๆ มีประสิทธิภาพสูงกว่า Levonorgestrel โดยสามารถรับประทานได้ภายใน 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ตัวยาจะทำหน้าที่ยับยั้งหรือชะลอการตกไข่แม้ในช่วงที่มีโอกาสตกไข่สูงแล้ว เหมาะสำหรับกรณีฉุกเฉินที่เสี่ยงมากหรืออยู่ในช่วงใกล้ตกไข่
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Mar%20Article%208%20(%E0%B8%A2%E0%B8%B2%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%20%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99)_Article3.jpg)
วิธีใช้ยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกต้องและปลอดภัย
การกินยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ พร้อมลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
- รีบรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เพราะการกินยาคุมฉุกเฉินจะได้ผลดีที่สุดหากรับประทานภายใน 12 ชั่วโมง และควรไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งรับประทานเร็วยิ่งให้ประสิทธิภาพสูง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำจากเภสัชกร เช่น วิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ต้องรับประทานเม็ดเดียวภายในเวลาที่กำหนด แบบสองเม็ดรับประทานเม็ดแรกทันที และเม็ดที่สองหลังจากนั้น 12 ชั่วโมง
- ห้ามใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนยาคุมแบบรายเดือน เพราะปริมาณฮอร์โมนในยาคุมฉุกเฉินสูงกว่ายาคุมปกติ การใช้เป็นประจำอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนและเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียง
- หากอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ควรรับประทานซ้ำ เพราะตัวยาอาจยังดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไม่สมบูรณ์ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนรับประทานซ้ำ
- หากมีประจำเดือนล่าช้ากว่าปกติ ควรตรวจการตั้งครรภ์เพื่อยืนยันว่าตัวยาได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะหากประจำเดือนขาดเกิน 1 สัปดาห์จากกำหนดปกติ
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Mar%20Article%208%20(%E0%B8%A2%E0%B8%B2%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%20%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99)_Article4.jpg)
ข้อควรระวังในการกินยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ แต่การใช้อย่างไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรระมัดระวังในประเด็นต่อไปนี้
- ไม่ควรใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดหลัก เพราะยาคุมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูงกว่ายาคุมรายเดือน การใช้บ่อยครั้งอาจทำให้ระบบฮอร์โมนแปรปรวนและเสี่ยงต่อผลข้างเคียง
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เพราะยาคุมฉุกเฉินมีไว้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรค เช่น HIV หนองใน หรือซิฟิลิสได้
- ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับหรือหลอดเลือด เพราะยาคุมฉุกเฉินมีผลต่อระบบฮอร์โมน และอาจเพิ่มความเสี่ยงในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ ลิ่มเลือดอุดตัน หรือความดันโลหิตสูง
- อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือเลือดออกกะปริดกะปรอย อาการเหล่านี้มักเกิดชั่วคราว แต่หากอาการรุนแรงหรือเป็นนานควรปรึกษาแพทย์
- ควรปรึกษาแพทย์หากต้องใช้ยาซ้ำบ่อยครั้ง การกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 ครั้งในหนึ่งรอบเดือนอาจส่งผลต่อร่างกาย และควรได้รับคำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและเหมาะสมมากกว่า
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
แม้ยาคุมฉุกเฉินจะปลอดภัยสำหรับการใช้ในกรณีจำเป็น แต่เนื่องจากเป็นยาที่มีปริมาณฮอร์โมนในระดับสูง จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่
- คลื่นไส้ หรืออาเจียน เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้ที่ไวต่อฮอร์โมน หากอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา อาจจำเป็นต้องรับประทานซ้ำ
- เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะ อาการเหล่านี้มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และจะหายไปเองภายใน 1 - 2 วัน
- เลือดออกกะปริดกะปรอย หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือประจำเดือนมาช้าหรือเร็วกว่าเดิม หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มาหรือประจำเดือนขาดนานเกิน 1 สัปดาห์ ควรตรวจการตั้งครรภ์
- เจ็บคัดเต้านม หรือปวดท้องน้อยเล็กน้อย อาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมน ไม่ถือว่าอันตรายหากอาการไม่รุนแรง
- อารมณ์แปรปรวน บางรายอาจรู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าเล็กน้อยชั่วคราว
คนกลุ่มไหนห้ามใช้ยาคุมฉุกเฉิน?
ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ที่มีภาวะตั้งครรภ์แล้ว ยาคุมฉุกเฉินไม่มีผลต่อการยุติการตั้งครรภ์ และไม่ควรใช้ในกรณีที่สงสัยว่าตั้งครรภ์แล้ว เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ผู้ที่แพ้ตัวยา Levonorgestrel หรือ Ulipristal Acetate หากเคยมีประวัติแพ้ส่วนประกอบของยาคุมฉุกเฉินควรหลีกเลี่ยงการใช้ และแจ้งแพทย์ก่อนเลือกวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น
- ผู้ที่มีโรคตับรุนแรง เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินต้องผ่านการเผาผลาญที่ตับ ผู้ที่มีโรคตับควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจส่งผลให้ตับทำงานหนักและเกิดอันตรายได้
- ผู้ที่มีประวัติโรคหลอดเลือดอุดตัน หรือเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด เช่น เคยมีเส้นเลือดอุดตันที่ขา ปอด หรือสมอง การใช้ยาที่มีฮอร์โมนสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือด
- ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาวัณโรค ยาต้านไวรัส HIV หรือสมุนไพรบางชนิด อย่างชนิด St. John’s Wort อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉิน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ร่วมกัน
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Mar%20Article%208%20(%E0%B8%A2%E0%B8%B2%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%20%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99)_Article5.jpg)
รวมวิธีอื่นที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
ยาคุมฉุกเฉินเหมาะสำหรับกรณีเร่งด่วน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ และส่งผลต่อสุขภาพในภาพรวม ซึ่งยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถป้องกันได้ดีไม่แพ้กัน ดังนี้
- ยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน สามารถรับประทานต่อเนื่องทุกวันในเวลาที่ใกล้เคียงกัน มีทั้งแบบฮอร์โมนผสมและแบบโปรเจสตินเดี่ยว ช่วยยับยั้งการตกไข่และควบคุมรอบเดือน
- ถุงยางอนามัย ใช้งานง่าย ราคาไม่แพง ช่วยป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยาที่ส่งผลต่อฮอร์โมน
- ยาฉีดคุมกำเนิด แนะนำให้ฉีดทุก 1 หรือ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ซึ่งฮอร์โมนจะช่วยยับยั้งการตกไข่และเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการฝังตัว
- ยาฝังคุมกำเนิด เป็นแท่งเล็กๆ ฝังใต้ผิวหนัง ทำหน้าที่ปล่อยฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ สามารถใช้งานได้นาน 3 - 5 ปี โดยไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน
- ห่วงอนามัย (IUD) มีทั้งชนิดที่ปล่อยฮอร์โมนและแบบทองแดง ป้องกันการปฏิสนธิและฝังตัวในโพรงมดลูก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะยาวโดยไม่ต้องดูแลบ่อย
ปรึกษาวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลวิภาวดี
โรงพยาบาลวิภาวดีให้บริการปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างครบวงจร โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช พร้อมให้บริการและคำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร โรงพยาบาลมีบริการฝังยาคุมกำเนิดและห่วงอนามัย ซึ่งเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว
- การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน สำหรับกรณีฉุกเฉิน โรงพยาบาลมีข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอย่างถูกต้องและปลอดภัยโดยเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ
- การผ่าตัดทำหมันหญิง สำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดแบบถาวร โรงพยาบาลมีบริการผ่าตัดส่องกล้องทำหมันหญิง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย เจ็บน้อย และฟื้นตัวไว
สรุป
ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกในการป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ควรใช้ภายในเวลาที่กำหนดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่ไม่ควรใช้เป็นวิธีหลักในการคุมกำเนิด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงและส่งผลต่อระบบฮอร์โมนได้ การเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม เช่น ยาคุมรายเดือน ถุงยางอนามัย หรือห่วงอนามัย จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่าในระยะยาว
หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าควรกินยาคุมฉุกเฉินแบบไหน โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการให้คำปรึกษาโดยสูตินรีแพทย์ พร้อมบริการครบวงจร เช่น ยาคุมชนิดต่างๆ ยาฝัง ห่วงอนามัย และผ่าตัดทำหมันหญิง เพื่อให้คุณวางแผนครอบครัวได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยในระยะยาว
FAQ
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและการใช้งานอย่างปลอดภัย เรามีตัวอย่างคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน พร้อมคำตอบและคำอธิบายดังนี้
ยาคุมฉุกเฉินใช้แทนยาคุมกำเนิดแบบปกติได้ไหม?
ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินแทนยาคุมกำเนิดแบบปกติ เพราะมีไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เช่น เมื่อการคุมกำเนิดปกติล้มเหลว หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อยครั้งอาจทำให้รอบเดือนผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก ควรเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในระยะยาว เช่น ยาคุมกำเนิดรายเดือน หรือถุงยางอนามัย เป็นต้น
กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา ควรทำอย่างไร?
หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มาตามกำหนดควรตรวจการตั้งครรภ์ เพราะการกินยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้รอบเดือนคลาดเคลื่อน หากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติเกิน 1 สัปดาห์ ควรใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์เพื่อตรวจสอบ หรือหากผลเป็นบวกหรือยังไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม
ยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด ป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์?
ยาคุมฉุกเฉินชนิด 1 เม็ดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 85% หากรับประทานภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ จึงควรรับประทานยาโดยเร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
กินยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ดจะท้องไหม?
ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้แม้กินยาคุมฉุกเฉิน เพราะยาไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่หากใช้ยาอย่างถูกต้องและภายในเวลาที่กำหนด โอกาสตั้งครรภ์จะลดลงอย่างมาก และควรเฝ้าสังเกตอาการกับตรวจการตั้งครรภ์หากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ
กินยาคุมฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมงท้องไหม?
โอกาสตั้งครรภ์จะลดลงอย่างมากหากรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมงแรกจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ไม่มีวิธีไหนที่ป้องกันได้ 100% จึงควรสังเกตอาการและตรวจการตั้งครรภ์หากมีข้อสงสัย
กินยาคุมฉุกเฉินหลัง 72 ชั่วโมงจะท้องไหม?
ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะลดลงอย่างมากหากรับประทานหลัง 72 ชั่วโมง และโอกาสตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น จึงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด และควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางเลือกอื่นๆ ในการป้องกันการตั้งครรภ์