'โรคลมพิษ' อันตรายหรือไม่? ชี้ชัดสาเหตุ

โรคลมพิษ

นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ 
- อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี

ถ้าพูดถึงโรคลมพิษ ทุกคนมักรู้จักกันดี เพราะเป็นโรคที่พบได้เสมอและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ก็เคยเป็นลมพิษบ้างแล้ว

มีคนเคยกล่าวว่า คนทุกคนที่เกิดมามักจะต้องเคยเป็นลมพิษในช่วงชีวิตหนึ่ง

ลมพิษเป็นปฏิกิริยาของเส้นเลือดในผิวหนังนั่นเอง ที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุทำให้มีลักษณะเฉพาะคือ มีผื่นแดงนูนขอบเขตชัดเจน ขอบอาจจะหยักนูนและมีอาการคันมาก บางคนขึ้นแค่เพียงบางแห่งของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักขึ้นทั้งตัว บางคนเป็นช่วงระยะเวลาเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นวันๆ แต่บางคนก็อาจจะขึ้นทุกวันเป็นเวลานานปีๆ ก็ได้ซึ่งเรียกว่า”ลมพิษเรื้อรัง” 

ลมพิษมิได้แต่แม้จะเกิดในผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็อาจจะเกิดลมพิษได้เช่นเดียวกัน

สาเหตุของโรคลมพิษมีมากมายอาจเกิดการแพ้สารบางชนิด เช่น

  • จากการรับประทาน
  • จากการสัมผัส
  • จากการสูดดม
  • หรือจากการถูกฉีดเข้าไปก็ได้

ลมพิษบางชนิดไม่ได้เกิดจากการแพ้ แต่อาจเกิดร่วมกับโรคบางชนิดได้เป็นต้น

สาเหตุที่สำคัญของลมพิษแบ่งได้ คือ 

อาหาร

การแพ้อาหารเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยที่สุด อาหารที่เป็นสาเหตุมักเป็นพวกโปรตีน โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา นอกจากนั้น ไข่, ถั่ว หรือแม้ผลไม้ก็อาจก่อให้เกิดลมพิษได้

ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตพบสาเหตุได้ง่าย เช่น การรับประทานกุ้งแล้วเกิดลมพิษ แต่ในบางครั้งผู้ป่วยไม่ได้สังเกตรายละเอียดของอาหาร เป็นต้น ทราบแน่ว่าแพ้กุ้ง แต่วันนั้นไม่ได้รับประทานกุ้ง แต่ลมพิษยังขึ้น ซึ่งตนเองได้รับประทานน้ำพริกหรือแกงที่มีกะปิ หรือใช้กุ้งแห้งเป็นส่วนประกอบ

ดังนั้นจึงควรสังเกตโดยละเอียด หรือในเด็กที่แพ้นมแล้วเกิดลมพิษ อาจเกิดอาการเมื่อเด็กรับประทาน ไอศกรีม หรือ ขนม เป็นต้น

นอกจากอาหารต่างๆ ดังได้กล่าวแล้ว สารปรุงแต่งอาหารหรือขนม เช่น สีต่างๆโดยเฉพาะสีเหลืองหรือสีเขียวมักใช้สีประเภท Tartrazine ซึ่งพบในพวก สลิ่ม ขนมด้วง ข้าวพอง อมยิ้ม ฟักเชื่อมขาจีน ขนมชั้น วุ้นหวานกรอบ ครองแครง ฝอยทองกรอบ สารที่เป็นสีตัวนี้คนแพ้ได้ง่าย และอาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้ จึงควรให้ความสนใจ และสังเกตให้ละเอียด

ยา

เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของลมพิษ ลมพิษอาจเกิดทันทีทันใด ภายหลังที่รับประทานยาชนิดนั้น เช่น การฉีดหรือรับประทาน ซึ่งสังเกตได้ง่าย

แต่บางรายอาจกินเวลานานเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งอาจทำให้สังเกตได้ยาก ยาที่สำคัญได้แก่ยาประเภท ปฏิชีวนะ โดยเฉพาะเพนนิซิลิน ซัลฟา นอกจากนั้นยาแก้ปวด ยานอนหลับ สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจทางเอกซเรย์หรือแม้กระทั่งวิตามิน ก็อาจก่อให้เกิดลมพิษได้ 

โรคติดเชื้อ

สามารถก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกันโดยเฉพาะในวัยเด็ก พบพยาธิในลำไส้เป็นสาเหตุได้บ่อยเช่น พยาธิตัวแบน เชื้อบิด

นอกจากนั้นจากการติดเชื้อในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เชื้อราในช่องคลอดสตรี พยาธิไส้เดือน พบเป็นสาเหตุลมพิษวัยผู้ใหญ่ได้เสมอ ฟันผุก็เป็นสาเหตุลมพิษได้ การรักษาหรือการถอนฟันผุ ออกก็ทำให้เกิดลมพิษหายไปในผู้ป่วยบางราย

แมลงอาจก่อให้เกิดลมพิษได้ทั้งการสัมผัส การกัด เช่น ไรแมว ไรสุนัข ไรนกริ้น ตัวผึ้ง บุ้งจากการต่อย เช่น แตน ต่อ หมารา มดแดงไฟ มดตะนอย ผึ้ง ซึ่งบางครั้งอาการรุนแรงมาก มีการบวมทั้งตัว หรือผู้ป่วยช็อค บางรายอาจเสียชีวิตในเวลาอันสั้นภายหลังถูกต่อย

แพทย์

นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ

ศูนย์ผิวหนัง รพ. วิภาวดี

<