อาการอาหารเป็นพิษ รู้ทันสัญญาณอันตราย รับมือได้ ไม่ต้องทนทรม

  • อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส สารพิษจากจุลินทรีย์ หรือสารเคมี เช่น ฟอร์มาลินหรือสารกำจัดศัตรูพืช
  • อาการอาหารเป็นพิษที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • หากมีอาการอาหารเป็นพิษควรดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม กล้วยน้ำว้า และหลีกเลี่ยงของมันหรือรสจัด
  • การรักษาอาหารเป็นพิษเบื้องต้น ควรจิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และทานอาหารอ่อนๆ เพื่อลดการทำงานของระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ ไม่ค้างคืน เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสารพิษที่เป็นอาจสาเหตุของอาหารเป็นพิษด้วย

เมื่อร่างกายได้รับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป อาการอาหารเป็นพิษก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่ทันตั้งตัว ซึ่งบางรายอาจเพียงคลื่นไส้ อาเจียน แต่บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นขาดน้ำหรือช็อกได้ ดังนั้น การรู้เท่าทันสาเหตุและสัญญาณเตือนของอาหารเป็นพิษจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปเจาะลึกต้นตอของปัญหา วิธีสังเกตอาการ แนวทางการรักษา รวมถึงอาหารฟื้นฟูร่างกายว่าควรกินอะไร เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงได้โดยไม่ต้องทนทุกข์กับอาการเหล่านี้นานเกินไป ถ้าพร้อมแล้วอย่ารอช้า ตามไปดูกันได้เลย!

สาเหตุของอาหารเป็นพิษ

สาเหตุของอาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย  โดยแต่ละปัจจัยล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ดังนี้ 

การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาหารเป็นพิษคือการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งมักพบในอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกหรือถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเชื้อที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • Salmonella เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบชนิดหนึ่ง มักพบในไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ หรืออาหารทะเลที่ไม่สด
  • Escherichia Coli เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักพบในอาหารที่ไม่สะอาด เช่น เนื้อวัวบดที่ปรุงไม่สุก ผักสดที่ล้างไม่สะอาด น้ำแข็งหรือน้ำดื่มที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารมีการปนเปื้อนของอุจจาระ
  • Norovirus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน สามารถแพร่กระจายผ่านอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อน และมักระบาดในแหล่งชุมชนหรือร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่
  • Clostridium Botulinum เป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างสปอร์และสารพิษที่รุนแรงมาก มักเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจน เช่น อาหารกระป๋องที่ปิดผนึกไม่ดี อาหารหมักดองบางประเภท รวมถึงอาหารที่เก็บไว้นานโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม

สารพิษจากจุลินทรีย์

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของอาหารเป็นพิษคือสารพิษที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ ซึ่งเกิดได้จากแบคทีเรียบางชนิดที่เจริญเติบโตในอาหาร โดยจุลินทรีย์ที่ผลิตสารพิษและก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ มีดังนี้ 

  • Staphylococcus Aureus พบในอาหารที่สัมผัสโดยตรงจากมือคน เช่น ข้าวกล่อง เบเกอรี่ หรือแซนด์วิช เชื้อนี้สามารถผลิตสารพิษที่ทนต่อความร้อนสูงได้และออกฤทธิ์ค่อนข้างรวดเร็วภายใน 1- 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน
  • Bacillus Cereus เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดินและสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว พาสต้า หรืออาหารทอด ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างสารพิษได้ 2 ชนิด คือ Emetic Toxin ทำให้คลื่นไส้อาเจียน และ Diarrheal Toxin ที่ทำให้ท้องเสีย 
  • Clostridium Perfringens เป็นแบคทีเรียที่มักพบในอาหารที่ถูกปรุงไว้ล่วงหน้าแล้วเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารประเภทแกง สตูว์ หรือเนื้อสัตว์ปรุงสุกจำนวนมาก โดยเมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเจริญเติบโตในลำไส้ใหญ่และปล่อยสารพิษออกมาใน 6 - 24 ชั่วโมง

อาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อน

อาหารบางชนิดอาจปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตราย และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปรบกวนระบบการทำงานของอวัยวะภายใน และอาจก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ หรืออาจเกิดพิษสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น

  • สารฟอร์มาลิน (Formalin) มักพบในอาหารทะเล เห็ด และผักบางชนิด เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และหากได้รับเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อตับ ไต และทางเดินหายใจ รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
  • สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง เป็นสารเคมีที่ยังหลงเหลืออยู่บนผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืช อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษเฉียบพลันและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิดได้เช่นกัน
  • โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท หรือแคดเมียม มักพบในอาหารทะเล ปลาใหญ่ ข้าว ผัก หรือธัญพืชที่ปลูกในดินหรือแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก ซึ่งเมื่อสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาวได้

สังเกตอาการอาหารเป็นพิษ

สังเกตอาการอาหารเป็นพิษ 

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนจากอาหารเข้าไป ระบบทางเดินอาหารจะตอบสนองด้วยอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 1 - 48 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร (ขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดเชื้อไวรัส) โดยสามารถสังเกตได้จากอาการ ดังต่อไปนี้ 

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดท้องหรือบิดเกร็งบริเวณช่องท้อง
  • ท้องเสีย อุจจาระเหลว หรือมีมูกเลือด
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปากแห้ง กระหายน้ำ (อาจบ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ)

หากมีอาการอาหารเป็นพิษควรกินอะไร?

เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมากจากการอาเจียนและท้องเสีย การเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสมว่าควรกินอะไรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ลดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้เร็วขึ้น โดยอาการที่ควรรับประทานในช่วงมีอาการอาหารเป็นพิษ ได้แก่

  • น้ำเกลือแร่หรือน้ำต้มสุกผสมน้ำตาลเล็กน้อย เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ลดความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำ
  • ข้าวต้ม โจ๊ก หรืออาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มปลา ข้าวต้มหมู ไม่ใส่เครื่องเทศหรือไขมันมาก จะช่วยให้กระเพาะไม่ทำงานหนักเกินไป 
  • กล้วยน้ำว้า มันฝรั่งต้ม หรือแคร์รอตต้ม เพราะมีใยอาหารชนิดละลายน้ำ จะช่วยดูดซับน้ำส่วนเกินในลำไส้และบรรเทาอาการท้องเสียได้
  • น้ำขิงอุ่น ช่วยลดอาการคลื่นไส้และบรรเทาอาการจุกเสียด
  • น้ำเปล่าหรือน้ำมะพร้าว ช่วยเพิ่มความสดชื่นและช่วยคืนสมดุลให้กับร่างกายอย่างอ่อนโยน

อาหารที่ควรเลี่ยง หากมีอาการอาหารเป็นพิษ

ในช่วงที่ร่างกายกำลังเผชิญกับอาการอาหารเป็นพิษ ระบบทางเดินอาหารจะอยู่ในภาวะอ่อนแอและไวต่อการกระตุ้นมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ 

  • อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด หรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจกระตุ้นให้เยื่อบุลำไส้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ทำให้อาการปวดท้องและท้องเสียแย่ลงได้
  • อาหารมันและทอด เช่น ของทอด น้ำมันเยิ้ม เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยากและเพิ่มภาระให้กระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้มากขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าถามว่าอาหารเป็นพิษแล้วมีอาการพะอืดพะอมแก้ยังไง ก็ต้องแก้ด้วยการงดทานอาหารเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรก 
  • ผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสด ชีส หรือโยเกิร์ต เพราะอาจทำให้ท้องเสียรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายสูญเสียเอนไซม์แลคเตสจากภาวะท้องเสีย
  • อาหารหมักดองและอาหารกระป๋อง เพราะมีโซเดียมสูงและอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์หากเก็บรักษาไม่ดี
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์ขับน้ำ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นได้

การตรวจวินิจฉัยอาการอาหารเป็นพิษ

หากมีอาการที่เข้าข่ายอาหารเป็นพิษและเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล การวินิจฉัยเบื้องต้นมักประกอบไปด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

  1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่บริโภคในช่วง 24 - 48 ชั่วโมงก่อนเริ่มมีอาการ เพื่อตรวจสอบว่าเข้าข่ายการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสารเคมี
  2. การตรวจอุจจาระ ใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน โดยจะส่งตรวจหาเชื้อโรค เช่น Salmonella, E. coli หรือ Norovirus
  3. การตรวจเลือด (ในบางกรณี) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจเลือดเพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเพื่อดูค่าการทำงานของอวัยวะภายใน ไม่ว่าจะไตหรือตับ

การรักษาอาการอาหารเป็นพิษ

การรักษาอาการอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ การรักษาอาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไป หากอาการไม่รุนแรงมากจะสามารถหายเองได้ใน 1 - 3 วัน แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาในทันที ซึ่งอาจมีแนวทางการรักษา ดังนี้ 

  1. การดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อทดแทนของเหลวและแร่ธาตุที่สูญเสียจากอาเจียนและท้องเสีย ช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
  2. การพักผ่อนและรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม กล้วยต้ม หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรืออาหารที่มีไขมันสูง เพื่อลดภาระของระบบย่อยอาหาร
  3. การใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ (เช่น พาราเซตามอล) ยาแก้คลื่นไส้ หรือยาลดการบีบตัวของลำไส้ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ตามความเหมาะสม
  4. การใช้ยาปฏิชีวนะ (ในบางกรณีเท่านั้น) หากพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง เช่น Salmonella หรือ Shigella แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงหรือดื้อยาได้ 
  5. การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในกรณีที่อาการรุนแรง เช่น ท้องเสียรุนแรงติดต่อกันหลายวัน อาเจียนตลอดเวลา หรือมีภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดและดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง

การป้องกันอาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้จากความไม่ระมัดระวังในการเลือกซื้อ การเตรียม และการเก็บรักษาอาหาร การป้องกันที่ต้นเหตุจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยง โดยมีแนวทางในการป้องกันอาหารเป็นพิษ ดังนี้

  • เลือกซื้อวัตถุดิบสดใหม่จากแหล่งที่เชื่อถือได้
  • ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์
  • ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง โดยใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบหรือไข่ดิบ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงและรับประทานอาหาร
  • ใช้ภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหารที่สะอาด ไม่ใช้ร่วมกันระหว่างของดิบและของสุก
  • เก็บอาหารในตู้เย็นหากยังไม่บริโภคทันที และหลีกเลี่ยงการวางอาหารไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง
  • สังเกตวันหมดอายุของอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปก่อนบริโภค
  • หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารจากแหล่งที่ไม่สะอาดหรือไม่มีการควบคุมสุขอนามัย

อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที?

อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที?

แม้อาการอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่จะหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่หากมีอาการรุนแรงต่อเนื่อง ควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันที โดยเฉพาะหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • ถ่ายเหลวติดต่อกันเกิน 2 วัน หรือมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งตลอดทั้งวัน
  • มีอุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ
  • อาเจียนอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถดื่มน้ำหรือกินอาหารได้
  • มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสร่วมกับอาการอื่น
  • ปวดท้องรุนแรงหรือปวดบิดไม่หยุด
  • มีอาการขาดน้ำชัดเจน เช่น ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อย วิงเวียน หน้ามืด
  • มีอาการซึม ไม่ตอบสนอง หรือหมดสติ
  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีแนวโน้มแย่ลง

หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ ช็อก ไตวายเฉียบพลัน และหากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากขึ้น 

การรักษาอาหารเป็นพิษที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอาหารเป็นพิษอย่างครบวงจร โดยมีบริการตรวจวินิจฉัย ให้คำปรึกษา และรักษาอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด ทั้งยังมีโปรโมชันเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย มาดูกันว่ารักษาที่นี่ดียังไงบ้าง 

  • โรงพยาบาลวิภาวดีได้มาตรฐานระดับสากล ISO 9001 : 2008 และ Hospital Accreditation (HA)
  • มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหาร พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง แม่นยำ และตรงจุดมากที่สุด
  • มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน ช่วยให้การวินิจฉัยและรักษาโรคทำได้อย่างแม่นยำ
  • กรณีฉุกเฉินหรือผู้ที่มีอาการอาหารเป็นพิษเฉียบพลัน โรงพยาบาลมีบริการเร่งด่วน พร้อมสิทธิประโยชน์ด้านประกันสุขภาพจากหลายบริษัท
  • ห้องพักผู้ป่วยสะอาด เงียบสงบ เหมาะแก่การฟื้นฟูร่างกายระหว่างพักรักษา

หากมีอาการอาหารเป็นพิษ สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลวิภาวดี ที่อยู่ 51/3 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรงเทพฯ หรือโทรเพื่อนัดหมายก่อนเข้ารับการรักษาได้ที่เบอร์ 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 และสำหรับตัวแทนประกันชีวิต สามารถติดต่อผ่าน LINE: @vibhainsurance

สรุป

อาหารเป็นพิษเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส สารพิษจากจุลินทรีย์ หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหาร มีอาการสำคัญคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง การดูแลเบื้องต้นควรเน้นการชดเชยน้ำและเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อน และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรือย่อยยาก โดยหากอาการไม่รุนแรงมากจะสามารถหายเองได้ใน 1 - 3 วัน

แต่หากถ่ายเป็นเลือด ปวดบิด หรืออาเจียนต่อเนื่อง และไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 3 วัน ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งที่โรงพยาบาลวิภาวดี มีทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม เพื่อให้คุณได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย ทันเวลา และมีประสิทธิภาพสูงสุดจนหายเป็นปกติ 

FAQ

หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟื้นตัว การใช้ยา การดูแลเบื้องต้น รวมถึงช่วงเวลาที่อาการจะเริ่มแสดงออก เราจึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำอธิบายให้หายสงสัย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับโรคอาหารเป็นพิษได้มากยิ่งขึ้น 

อาหารเป็นพิษใช้เวลาหายกี่วัน?

อาหารเป็นพิษกี่วันหาย? เชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายคนต้องการหาคำตอบ โดยทั่วไปแล้ว อาหารเป็นพิษจะดีขึ้นภายใน 1 - 3 วัน หากเป็นกรณีไม่รุนแรง และร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอ ร่วมกับการดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยของเหลวที่สูญเสีย แต่หากอาการยังคงต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียนมาก ถ่ายเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์ทันที

อาหารเป็นพิษควรทานยาอะไร?

ในกรณีที่มีอาการอาหารเป็นพิษเล็กน้อย สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการใช้ยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ทั่วไป โดยเน้นยาที่ช่วยลดอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ยาพาราเซตามอล สำหรับลดไข้หากมีอาการไข้ร่วมด้วย
  • เกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียจากการอาเจียนและท้องเสีย
  • ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้ปวดเกร็งท้อง ซึ่งควรใช้ภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรหรือแพทย์
  • ยาคาร์บอนหรือถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal)  ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ และภาวะอาหารเป็นพิษได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจว่าอาการอาหารเป็นพิษที่กำลังเผชิญควรกินยาอะไร แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาที่มีใบอนุญาต เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง เหมาะสมกับอาการและป้องกันการใช้ยาผิดประเภทหรือเกินขนาด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

อาหารเป็นพิษ หายเองได้ไหม? 

อาหารเป็นพิษสามารถหายเองได้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เองภายใน 1 - 3 วัน ร่วมกับการพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารอ่อน อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์ทันที

อาหารเป็นพิษ เกิดขึ้นภายในกี่ชั่วโมง?

อาการอาหารเป็นพิษสามารถแสดงออกได้ภายใน 1 - 48 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อหรือสารปนเปื้อนที่ได้รับเข้าไป

  • ถ้าเกิดจากสารพิษของจุลินทรีย์ เช่น Staphylococcus Aureus อาการจะเริ่มเร็วภายใน 1 - 6 ชั่วโมง
  • ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสทั่วไป เช่น Salmonella หรือ Norovirus อาการมักแสดงภายใน 6 - 48 ชั่วโมง

บทความที่เกี่ยวข้อง