อัมพาตครึ่งท่อน หรือทั้งตัวคุณกลัวไหม..
กระดูกสันหลังของคนเรา กระดูกแต่ละชิ้นจะวางเรียงกันเป็นแนวยาวลงมาตามลำตัว โดยเชื่อมกันด้วยข้อต่อและหมอนรองกระดูก ช่วงกลางของแนวกระดูกจะมีช่องว่าง ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทใหญ่ไขสันหลัง ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นที่กระดูก ข้อต่อ หรือ หมอนรองกระดูก จึงมีโอกาสที่เส้นประสาทดังกล่าวจะได้รับอันตราย จนถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
อัมพาตครึ่งท่อน หรือทั้งตัวคุณกลัวไหม..
เนื่องจาก กระดูกสันหลังของคนเรา กระดูกแต่ละชิ้นจะวางเรียงกันเป็นแนวยาวลงมาตามลำตัว โดยเชื่อมกันด้วยข้อต่อและหมอนรองกระดูก ช่วงกลางของแนวกระดูกจะมีช่องว่าง ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทใหญ่ไขสันหลัง ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นที่กระดูก ข้อต่อ หรือ หมอนรองกระดูก จึงมีโอกาสที่เส้นประสาทดังกล่าวจะได้รับอันตราย จนถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
อาการที่บ่งบอกว่ามีการกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท มีดังนี้
- ส่วนคอ – ปวดต้นคอ ไหล่ แขน และศีรษะ อ่อนแรงหรือชา แขน มือ นิ้วมือ ถ้ารุนแรงมากทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัวหรือครึ่งตัวได้
- ส่วนอก – ปวดหลัง บริเวณกลางหลัง หรือ ระหว่างสะบักทั้งสองข้าง ชา และอ่อนแรง ตั้งแต่ระดับอกลงไป ถึงปลายเท้า สูญเสียการควบคุม การขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ
- ส่วนเอว – ปวดหลัง ปวดขาร้าวลงไปถึงนิ้วเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นส่วนๆ อาจมีเดินแล้วสะดุด รองเท้าหลุดได้
- ส่วนก้น – ปวดกระดูกส่วนก้น ชารอบก้นและอวัยวะเพศ ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้
สาเหตุ
- ความเสื่อมตามอายุของกระดูก ข้อต่อ และหมอนรองกระดูก
- โรคบางชนิด เช่น โรครูมาตอยด์ โรคภูมิคุ้มกันบางอย่างที่มีต่อกระดูก ภาวะกระดูกพรุน
- ภาวะติดเชื้อ เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังติดเชื้อแบคทีเรีย
- โรคเนื้องอกกระดูกสันหลังเอง หรือมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกสันลัง
- ภาวะกระดูกสันหลังผิดปกติตั้งแต่เกิด
- ภาวะกระดูกสันหลังบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
การรักษา
ทางเลือกในการรักษา เช่น การรับประทานยา เช่น กลุ่มยาระงับปวด ยาบำรุงเส้นประสาทและการทำกายภาพบำบัดซึ่งจะเหมาะกับ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรง หรือรักษาด้วยยาไม่ได้ผล อาจพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัด
การรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการผ่าตัดนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ
- นำสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความพิการมากขึ้น
- สร้างความแข็งแรงกระดูกสันหลังให้อยู่ในภาวะปกติมากที่สุด
- สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายและระบบประสาทได้เร็วขึ้น
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา เช่น ภาวะแผลกดทับ ภาวะปอดติดเชื้อ ภาวะกล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง เป็นต้น
ผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและ ลักษณะของโรคนั้นๆ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดในปัจจุบันแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 2 ประเภท คือ
- การผ่าตัดกระดูกสันหลังทั่วไป
- การผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีบาดแผลขนาดเล็กขนาดประมาณ 2.5 ซม.โดยสอดท่อเข้าช่วยผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยฟื้นตัวเร็วกลับไปทำงานในระยะเวลาอันสั้น