ซอยจุ๊ เนื้อดิบ กับพยาธิตัวตืด

ซอยจุ๊ เนื้อดิบกับพยาธิตัวตืด พยาธิตัวตืด             มีลักษณะตัวแบน สีขาวขุ่น ลำตัวเป็นปล้อง ยาวหลายเมตร มีอายุนานถึง 30 ปี มักจะพบ 2 ชนิด คือ พยาธิตืดวัว (Taenia Saginata) และพยาธิตืดหมู (Taenia Solium) อาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อหมู วัว และควาย เข้าสู่ร่างกายผ่านน้ำดื่มหรือที่เจือปนไข่หรือตัวอ่อน รวมทั้งอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ จากนั้นตัวอ่อนจะฝังตัวเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในลำไส้จนทำให้เกิดโรคได้ โดยมันสามารถเคลื่อนออกจากลำไส้ แล้วสร้างถุงน้ำหุ้มกลายเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ตา หัวใจ ปอด กล้ามเนื้อ   อาการเมื่อได้รับพยาธิ          • หากอยู่ใน "สมอง/ไขสันหลัง" อาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก รุนแรงถึงตาย          • หากอยู่ใน “ตา” อาจตาบอดได้          • บางรายมีไข้ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเสีย ขาดสารอาหาร น้ำหนักลดลง เกิดอาการแพ้ ติดเชื้อแบคทีเรีย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว   ประเภทยาถ่ายพยาธิ           อัลเบนดาโซล (Albendazole) มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลมและตัวตืด รวมทั้งพยาธิใบไม้ในตับหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือแพ้ยา ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร   การป้องกัน ล้างมือก่อนหรือหลังรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือหรือสุกๆดิบๆ รวมถึงการล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค  เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด  งดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อน ไม่กินของที่ตกบนพื้นแล้ว 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

8 วิธี กินทุเรียนให้ปลอดภัย ไม่ทำร้ายสุขภาพ

8 วิธี กินทุเรียนให้ปลอดภัย ไม่ทำร้ายสุขภาพ ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดขนาดกลาง (หนักประมาณ 80 กรัม) ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง 1 ทัพพี และของหวานในมื้อที่กินทุเรียน แต่ถ้าใครชอบกินทุเรียนมาก หากกินครั้งละประมาณ 2-3 พู หรือ 4-6 เม็ด ร่างกายจะรับพลังงานสูงถึง 520 – 780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินอาหารมื้อหลัก 2 มื้อ ทุเรียนแต่ละพันธุ์เมื่อเปรียบเทียบต่อปริมาณเนื้อทุเรียนหนัก 100 กรัมหรือ 1 ขีด จะให้พลังงานต่างกัน เช่น ทุเรียนก้านยาวให้พลังงาน 181 กิโลแคลอรี ทุเรียนรวง ให้พลังงาน 157 กิโลแคลอรี ทุเรียนหมอนทอง ให้พลังงาน 156 กิโลแคลอรี ทุเรียนชะนี ให้พลังงาน 139 กิโลแคลอรี ทุเรียนกระดุมให้พลังงาน  129 กิโลแคลอรี หรือหากเป็นทุเรียนกวนจะให้พลังงานมากขึ้นไปอีก คือ 340 กิโลแคลอรี นอกจากนี้ จึงควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน                 8 วิธี กินทุเรียนให้ปลอดภัย มีดังนี้ 1. รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรเกินวันละ 1 พู หรือ 2 เม็ด เพราะอาจส่งผลให้เกิดร้อนใน เจ็บคอ น้ำหนักขึ้นได้ 2. รับประทานทุเรียนสด ควรเลือกทุเรียนที่ไม่สุกงอมจนเกินไป เพราะยิ่งสุกมากจะหวานจัด แป้งและน้ำตาลจะเยอะ 3. ควรรับประทานทุเรียนในตอนเช้าหรือกลางวัน เลี่ยงการกินทุเรียนก่อนนอน ใกล้จะนอนแล้วร่างกายของเราก็จะไม่ได้ใช้พลังงานมากเท่าไหร่ หากเรากินทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่สูงก็จะยิ่งเป็นการทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายได้ เนื่องจากร่างกายเผาผลาญพลังงานไม่หมด ดังนั้นเพื่อเป็นการเลี่ยงไม่ให้ร่างกายต้องรับพลังงานมากเกินไปในช่วงเย็น ก็ให้เรากินทุเรียนในช่วงเช้าและกลางวันแทน เพื่อที่ร่างกายจะได้เบิร์นพลังงานออกไปทัน และหากรับประทานทุเรียน ควรลดปริมาณอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลในมื้ออื่น ๆ 4. ไม่รับประทานคู่กับอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวเหนียวราดน้ำกะทิ เพราะจะยิ่งเพิ่มแคลอรี่ 5. ไม่รับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลม เนื่องจากทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะได้รับพลังงานที่มากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดกระบวนการ เผาผลาญเพื่อกำจัดของเสียเพิ่มมากขึ้น 6. ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ จะช่วยแก้ร้อนในหลังจากกินทุเรียนได้ หรือรับประทานทุเรียนคู่กับมังคุดช่วยลดความร้อนได้ 7. ออกกำลังกาย เมื่อเรารู้ว่าการกินทุเรียนนั้นจะทำให้เราอ้วนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อกินเสร็จแล้วก็ควรจะต้องหาเวลาออกกำลังกาย เพื่อเป็นการช่วยให้ร่างกายได้เบิร์นพลังงานออกมา ไม่เหลือเก็บไว้เป็นไขมันสะสม ซึ่งหากทำร่วมกับการกินแบบจำกัดปริมาณ ก็จะช่วยให้เรายังสามารถควบคุมน้ำหนักอยู่ได้ในช่วงหน้าทุเรียนแบบนี้ 8. หากมีโรคประจำตัวควรกินให้น้อยที่สุด คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังในการกิน แนะนำให้กินไม่เกิน 1 เม็ดเล็กต่อวัน หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อน   “สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อยเกินไป เพราะการกินทุเรียนปริมาณมากหรือกินทุเรียนบ่อยเกินไป จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ นอกจากนี้ กรดกำมะถันในทุเรียนจะทำให้เอนไซม์ที่กำจัดสารพิษจากกระบวนการเผาผลาญลดลง หากมีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียนและอาเจียน หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจเสียชีวิตได้”   ข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1.น้ำนมแม่        - เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบ สร้างมาโดยเฉพาะสำหรับลูกของคุณ        - ย่อยและดูดซึมง่าย        - ช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรค        - ช่วยสร้างเสริมความผูกพันธ์ระหว่างแม่-ลูก 2.ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่        - ลดปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ และโรคอ้วน        - ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับ การขับถ่าย หรือการย่อย เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด        - มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่สมบูรณ์ 3.ควรจะให้ลูกดูดนมให้เร็วที่สุดครั้งแรก       - น้ำนมช่วงแรกจะเป็นสีเหลือง มีประโยชน์มากในการป้องกันการติดเชื้อ      - ให้ลูกดูดนมบ่อยๆเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วและปริมาณเพิ่มขึ้น พอกับความต้องการ ควรให้ลูกดูดนมทั้ง 2 เต้า ในการให้นมแต่ละครั้ง การอุ้มลูกให้ถูกท่า และการให้ลูกอมหัวนมได้ถูกต้องเป้นสิ่งสำคัญมาก ให้ลูกดูดนมแม่นานที่สุดเท่าที่ลูกต้องการ ให้ลูกดูดนมจากเต้าที่ยังค้างอยู่เสมอ อย่ากังวลถ้ารู้สึกเจ็บหัวนมใน 2-3 วันแรก ในไม่ช้าก็จะหายไปเอง ควรไล่ลมให้ลูกระหว่างการให้นม และหลังให้นมลูกทุกครั้ง     4.ท่าในการให้ลูกดูดนมแม่       - อุ้มลูกให้หันเข้าหาเต้านม       - ให้หัวนมแตะที่ริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เด็กจะอ้าปากกว้างให้ปากเด็กอมทุกส่วนของหัวนม และส่วนที่มีสีน้ำตาลรอบๆหัวนม       - ประคองศีรษะลูกให้ชิดหน้าอกแม่       - ดึงเอาก้นลูกชิดกับแม่ ลูกจะสามารถหายใจได้สะดวกเพราะจมูกของลูกแหงนขึ้น       - ควรจะให้ลูกหยุดดูดนมก่อน แล้วจึงเอาหัวนมออกจากปากลูก       - สอดนิ้วก้อยเข้าไปที่มุมปากลูก จะอ้าปากกว้างก็ดึงหัวนมออก เพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมแตก 5.อาหาร      - อาหารหลัก 5 หมู่ อาหารที่ควรงด งดอาหารหมักดอง ยาดองเหล้า ยาขับน้ำคาวปลา งดอาหารที่มีกลิ่นฉุน พวกผักกระถิน ผักกระเฉด ชะอม น้ำพริกต่างๆ 6.ประโยชน์ต่อแม่       - ลดอัตราเสี่ยงต่อการตกเลือด       - ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว       - รูปร่างของแม่กลับสู่สภาพเดิมได้เร็ว       - ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเต้านม   ประโยชน์ต่อลูก ได้สารอาหารครบถ้วน ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย มีภูมิคุ้มกันโรค ลดปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ โรคอ้วน ทำอย่างไรจึงจะมีน้ำนมเพียงพอ แม่พร้อมและเต็มใจให้ลูกดูดนมทันที ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ถ้าลูกหลับนานเกิน 3 ชั่วโมง ควรปลุกให้ลูกดูดทั้ง 2 เต้า และดูดอย่างถูกวิธี ควรให้ลูกดูดนมจากเต้านมแม่โดยตรง ให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียว ไม่ให้น้ำนมผสมถึงอายุ 4-6 เดือน คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่   ดื่มน้ำมากๆ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และไม่น้อยกว่าตอนตั้งครรภ์ ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ในระยะแรก ลูกยิ่งดูดบ่อยน้ำนมจะมามาก ให้ลูกดูดนมทั้ง 2 ข้าง ในแต่ละครั้ง ให้นมผสมแก่ลูกเท่าที่จำเป็น เพราะจะทำให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง จำไว้ว่า ถ้าเปลี่ยนผ้าอ้อม 6-8 ครั้งต่อวัน แสดงว่าลูกได้น้ำนมแม่เพียงพอ   7.การบีบน้ำนมด้วยมือ      - วางนิ้วมือและหัวแม่มือ ดังรูป      - นิ้วมือควรจะวางหลังลานหัวนม ส่วนที่เป็นสีน้ำตาล      - กดลงบนเต้านมเบาๆ รีดไปข้างหน้า แล้วปล่อยมือ ทำอย่างนี้หลายๆครั้ง จนกว่าน้ำนมจะไหล      - บีบน้ำนมใส่ในภาชนะที่สะอาด     - เปลี่ยนบริเวณที่บีบเต้านมไปเรื่อยๆ จนรอบเต้านม     - เก็บน้ำนมลงในขวดที่สะอาด และเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 24 ชั่วโมง ถ้าเก็บไว้ในห้องทำน้ำแข็ง เก็บได้นาน 2 สัปดาห์   8.ควรจะให้ลูกดูดนมจากขวดหรือไม่ เวลาออกนอกบ้าน      ในระยะแรกควรจะหลีกเลี่ยงการให้นมผสม ถ้าจำเป็นต้องให้รอจนกว่าลูกจะรู้วิธีการดูดนมจากแม่ก่อน อาจต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ ถ้าคุณจำเป็นต้องห่างจากลูก ให้บีบน้ำนมไว้ให้ลูก วิธีนี้จะทำให้เด็กได้มีน้ำนมทาน ควรป้อนด้วยช้อนหรือถ้วยป้อนนม มากกว่าการใช้ขวดนมเพราะลูกอาจสับสนระหว่างนมแม่และจุกนมยาง และไม่ยอมดูดนมแม่อีกได้   หลักสำคัญในการกระตุ้นให้มีน้ำนม ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดอย่างถูกวิธี สาเหตุที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทารกเกิดความสับสนระหว่างการดูดนมแม่ และการดูดนมจากขวด ป้อนนมผงมากเกินไป (กลัวลูกไม่อิ่ม) ไม่เข้าใจธรรมชาติของทารก และการสร้างนม   ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลวิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอด

คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอด การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด หน้าท้อง หลังคลอดใหม่ๆ หน้าท้องจะยังไม่ยุบลงทันที และมีริ้วรอยการแตก เนื่องจากกล้ามเนื้อยืดขยายขณะตั้งครรภ์ การบริหารร่างกายหลังคลอดจะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องที่หย่อนยานกระชับขึ้น และช่วยละลายไขมันส่วนเกินออกไป สำหรับมารดาที่คลอดธรรมชาติสามารถเริ่มการบริหารตามท่าที่แนะนำได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 หลังคลอด ส่วนมารดาที่คลอดโดยการผ่าตัด สามารถเริ่มการบริหารได้ในสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 หลังผ่าตัด เมื่ออาการเจ็บแผลทุเลาลงแล้ว เต้านม จะรู้สึกคัดตึงประมาณวันที่ 3-4 หลังคลอดในครรภ์แรก ส่วนครรภ์หลังจะรู้สึกคัดเต้านมเร็วกว่า ประมาณวันที่ 2-3 หลังคลอด มารดาบางรายอาจปวดคัดเต้านมมากจนมีไข้ต่ำๆ หนาวสั่นได้ สามารถให้ลูกดูดนมได้ตามปกติ และรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลบรรเทาอาการปวดได้ อาการปวดมดลูก มารดาหลังคลอดจะมีอาการปวดมดลูกในระยะ 2-3 วันแรก เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก เพื่อขับน้ำคาวปลา มักมีอาการปวดเป็นพักๆ โดยเฉพาะในขณะที่ลูกดูดนม ในครรภ์หลังจะพบว่ามีอาการปวดมากกว่าครรภ์แรก น้ำคาวปลา ตามปกติจะมีประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ระยะ 3-4 วันแรก จะมีสีแดงคล้ายเลือดประจำเดือน ปริมาณจะค่อยๆลดลง และมีสีจางเป็นสีเหลืองขุ่นและจะค่อยๆหมดไป ระยะหลังคลอดและให้นมบุตร อาจมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ บางรายอาจขาดประจำเดือนไปหลายเดือนตลอดระยะเวลาที่ให้นมบุตร การดูแลสุขภาพทั่วไป อาหาร มารดาหลังคลอดควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและช่วยให้น้ำนมมีคุณภาพดี อาหารจำพวกนม ไข่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควรรับประทานปริมาณเท่ากับขณะตั้งครรภ์ ส่วนข้าว แป้ง น้ำตาล ไขมัน ควรรับประทานพอสมควรไม่มากจนเกินไป อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ของหมักดอง อาหารรสจัด เพราะอาหารเหล่านี้จะขับออกมากับน้ำนม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกได้ การขับถ่าย ระยะหลังคลอดใหม่ๆอาจมีปัญหาท้องผูก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และความรู้สึกกลัวเจ็บแผลบริเวณฝีเย็บ จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยจำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และบริหารร่างกายอย่างถูกต้อง (ตามคำแนะนำเรื่องการบริหารร่างกายหลังคลอด) การทำความสะอาดร่างกาย สามารถอาบน้ำ สระผมได้ตามปกติโดยการตักอาบหรือใช้ฝักบัว ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำแบบแช่ (ในอ่าง อาบน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง) เนื่องจากในระยะนี้ ปากมดลูกปิดไม่สนิท อาจมีการลุกลามของเชื้อโรคภายในช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูกและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ สำหรับมารดาที่คลอดด้วยการผ่าตัด ควรใช้วิธีเช็ดตัว ถ้าแพทย์เปลี่ยนผ้าปิดแผลเป็นแบบพลาสเตอร์กันน้ำ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรสังเกตว่าพลาสเตอร์มีการลอกหรือมีน้ำซึมเข้าแผลผ่าตัดหรือไม่ การใช้ผ้ารัดหน้าท้อง ในเวลากลางวันควรใช้ผ้ารัดหน้าท้องไว้ ขณะเดินแผลจะได้ไม่เคลื่อนไหว เพื่อลดอาการเจ็บแผล ส่วนกลางคืนเวลานอนควรถอดซักทำความสะอาดไม่ต้องใช้ผ้ารัดหน้าท้อง แผลฝีเย็บ จะรู้สึกเจ็บตึงใน 3-4 วันแรก อาการเจ็บจะค่อยๆทุเลาลงแผลจะหายสนิทภายใน 7-10 วัน ไม่ต้องตัดไหม หลังการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระทุกครั้งควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด การทำความสะอาดควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ย้อนจากด้านหลังมาด้านหน้า เพราะจะนำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลบริเวณช่องคลอด การพักผ่อน           มารดาควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันควรได้หลับพักผ่อนบ้างขณะทารกหลับ ถ้าไม่หาโอกาสพักผ่อนมารดาจะอ่อนเพลียมากขึ้น การปฏิบัติตัวของมารดาที่เป็นริดสีดวง          ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก อาจประคบด้วยถุงน้ำแข็งเพื่อลดความเจ็บปวด และป้องกันไม่ให้ท้องผูก โดยดื่มน้ำและรับประทานผัก ผลไม้มากๆ หรืออาจใช้เส้นใยอาหารเสริมจากธรรมชาติในโอกาสที่ต้องเดินทาง เพื่อความสะดวกและสะอาดปลอดภัย ถ้าปวดมากอาจใช้ครีม หรือยาเหน็บตามแพทย์สั่ง การปฏิบัติตัวของมารดาขณะท้องผูก         อาจใช้ยาถ่ายตามแพทย์สั่ง (ควรงดให้นมบุตรระหว่างใช้ยาทุกชนิด) หรืออาจให้ดื่มน้ำ รับประทานผัก และผลไม้มากๆ การมีเพศสัมพันธ์        ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพราะปากมดลูกยังไม่ปิด จะมีโอกาสติเชื้อได้ง่าย การคุมกำเนิด       การคุมกำเนิดมีหลายวิธี เช่น ยาเม็ด ยาฉีด ห่วงอนามัย ถุงยางอนามัย ยาฝังใต้ผิวหนัง การทำหมันหญิงและชาย สามีภรรยาควรจะได้ปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลที่ทำหน้าที่นี้ เพราะยาคุมกำเนิดจะไม่ใช้กับผู้ป่วยโรคตับ หัวใจ ความดันโลหิตสูง และห่วงอนามัยจะไม่ใช้กับสตรีที่มีการอักเสบของช่องคลอด และโพรงมดลูก ถ้าสามีทำหมันต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นหลังทำหมัน 3 เดือน หรือได้รับการตรวจน้ำเชื้อว่าเป็นหมันแน่นอนแล้ว   อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ มีเลือดออกมากผิดปกติ ทางช่องคลอด ปวดท้องมาก ปวดจนบิด มีไข้ หนาวสั่น อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปัสสาวะกะปริบกะปรอย หรือแสบขัด แผลผ่าตัดบวมแดงมีหนอง แผลฝีเย็บบวมแดง มีหนองหรือเลือดไหลออกจากแผลฝีเย็บ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีสีแดงตลอดภายใน 15 วัน หลังคลอด มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง บริหาร 10 ท่วงท่า...รักษารูปร่างสวย       ก่อนเริ่มบริหาร ขอแนะนำให้คุณแม่ที่คลอดเอง เริ่มบริหารร่างกายหลังจากคลอดได้ 2-3 วัน ส่วนคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัดควรรอจนครบ 1 เดือนก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มบริหารจะดีกว่า แต่เริ่มทำช้าก็ได้ผลช้า เพราะฉะนั้นเริ่มเร็วก็สวยเร็วขึ้นด้วย ท่าที่ 1 บริหารหน้าอก ไหล่ หลัง ลำคอ และลดหน้าท้อง      นอนหงายแขนแนบข้างลำตัว ค่อยๆยกศีรษะขึ้นจากพื้นช้าๆจนคางจรดหน้าอก นับหนึ่ง สอง สาม ขณะที่ยกศีรษะขึ้น แขน ขา และลำตัวต้องเหยียดตรงแล้วค่อยๆ วางศีรษะลงช้าๆ ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง หากคุณแม่มีหน้าท้องหย่อนมาก ให้ใช้มือทั้งสองข้างประสานกันไว้ที่หน้าท้องกดกล้ามเนื้อลงเมื่อยกศีรษะขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องจะตึง แล้วพยายามใช้มือกดไว้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งแยกจากกันสองข้างกลับเข้ามาชิดกันได้ดียิ่งขึ้น ท่าที่ 2 บริหารขา ต้นขา  หน้าท้อง และสะโพก      นอนหงายราบแขนแนบข้างลำตัว ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น ทำเป็นมุมฉากให้เข่าทั้งสองชิดกันวางเท้าให้ราบและห่างกันพอสมควร ยกสะโพกขึ้นโดยใช้ไหล่ยันพื้นไว้ ขณะเดียวกันพยายามหนีบกล้ามเนื้อสะโพก จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณฝีเย็บหดตัวดีขึ้น ท่าที่ 3 บริหารหน้าท้อง สะโพก อก และช่วยขับน้ำคาวปลา     นอนคว่ำและยกก้นขึ้นมาให้เข่าใกล้หน้าอกมากที่สุด จนเป็นท่าโก้งโค้ง เข่าทั้งสองห่างกันประมาณ 1 ฟุต หน้าอกจะต้องวางแนบกับพื้น พักอยู่ในท่านี้ประมาณ 2 นาที แล้วใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้อง 1 ใบ เพื่อลดความเมื่อยล้า และนอนพักในท่านี้ประมาณครึ่งชั่วโมง ท่าที่ 4 บริหารกล้ามเนื้อทั่วตัว     คุกเข่า ต้นขา เข่า และเท้าชิดกับข้อศอก เอาฝ่ามือยันพื้นเหมือนท่าคลานแล้วค่อยๆลดข้อศอกลงวางราบกับพื้น ก้มศีรษะให้คางจรดหน้าอก แขม่วท้อง เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกและขา แล้วค่อยๆลดสะโพกลงแตะกับส้นเท้า ถอยหลังออกเล็กน้อย หน้าผากแตะพื้น ตอนนี้แขนจะเหยียดตรง แล้วยกลำตัวขึ้นกลับไปอยู่ในท่าเดิมมดลูกจะกลับคืนสู่ปกติได้เร็วยิ่งขึ้น ท่าที่ 5 บริหารกล้ามเนื้อช่องคลอด     คือ การขมิบช่องคลอดหรือทวารหนักในขณะที่นอนหรือนั่ง เหมือนกำลังถ่ายปัสสาวะแล้วหดทันที ควรทำครั้งละประมาณ 5-10 นาที หรืออาจขมิบประมาณวันละ 20 ครั้ง ขณะกำลังทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกอยู่ก็ทำได้ทั้งนั้น ท่าที่ 6 บริหารหน้าอก หน้าท้อง และปอด     นอนหงาย เหยียดแขนขา ให้ตรงตามลำตัว สูดลมหายใจให้เต็มที่ช้าๆ นับหนึ่ง สอง สาม และแขม่วท้องไว้สักครู่ พยายามให้บั้นเอวติดพื้นแล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พักสักครู่ก่อนแล้วค่อยทำต่อไปประมาณ 10 ครั้ง ท่าที่ 7 บริหารแขน หน้าอก และปอด     นอนหงายเหยียดตรงแขนแนบข้างลำตัว ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นในท่าเหยียดตรงชูขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัวจนมือทั้งสองจับกันได้ หลังจากนั้นค่อยๆ ปล่อยแขนลงช้าๆ จนกลับมาแนบลำตัวตามเดิม ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง ท่าที่ 8 บริหารขา สะโพก และหน้าท้อง    นอนหงายราบกับพื้น วางแขนแนบข้างลำตัว ยกขาขึ้นให้ตั้งฉากกับลำตัว พร้อมทั้งเหยียดขาให้ตรงสักครู่ แล้วลดขาลงที่เดิมช้าๆ ทำสลับกันทีละข้าง ทำประมาณ 10 ครั้ง เมื่อแข็งแรงดีแล้วค่อยลองยกขาพร้อมกันทั้งสองข้าง ท่าที่ 9 บริหารหน้าท้อง ไหล่ หลัง และลำคอ    นอนหงายลำตัวเหยียดตรง แขนวางแนบข้างลำตัว ยกตัวลุกขึ้นนั่งโดยงอเข่าและไม่ใช้แขนช่วยเลย ยกแขนขึ้นให้ขนานกับพื้นราบด้วย จากนั้นค่อยๆ นอนลงทำวันละ 1-2 ครั้ง ในครั้งแรก เมื่อแข็งแรงขึ้นค่อยๆ เพิ่มอีกวันละ 1 ครั้ง และแขนอาจจะเปลี่ยนที่ได้ 3 ท่า คือ วางแขนแนบข้างลำตัว ประสานมือทั้งสองข้างบนหน้าอกและประสานมือไว้ที่ท้ายทอย ท่าที่ 10 บริหารหน้าท้อง สะโพก และ ขา    นอนหงายราบ แขนเหยียดตรง งอเข่าขึ้นให้ชิดหน้าท้องมากที่สุด ให้ส้นเท้าสัมผัสกับก้น แล้วเหยียดขาให้ตรงค่อยๆ วางขาลงในท่าเดิม นับหนึ่ง สอง สาม โดยไม่งอเข่าเลย ทำสลับกันทีละข้าง โดยเริ่มจากทำทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีก 1-2 ครั้งทุกวัน   วัคซีนสำหรับลูกน้อย คนสำคัญสำหรับคุณ เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับลูกน้อยของคุณ     ในภาวะปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายของคุณพ่อคุณแม่คนใหม่ย่อมมีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีบุตร รพ.วิภาวดี จึงขอมีส่วนช่วยในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเสนอ Package ฉีดวัคซีนสำหรับลูกน้อยคนใหม่ของคุณ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้เลย อายุ การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 1 (Baby 1) การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 2 (Baby 2) การฉีดให้วัคซีนแบบที่ 3 (Baby 3) 1 เดือน ตับอักเสบบี, ยาลดไข้ ตับอักเสบบี, ยาลดไข้ ตับอักเสบบี, ยาลดไข้ 2 เดือน วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ป้องกันไวรัสโรต้า วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ไวรัสโรต้า, ป้องกันโรค ipd 4 เดือน วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ป้องกันไวรัสโรต้า วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB), ไวรัสโรต้า, ป้องกันโรค ipd 6 เดือน วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี วัคซีน 5 โรค (คอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, โปลิโอ, HIB) ตับอักเสบบี, ป้องกันโรค ipd 9 เดือน หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม 1 ปี ไข้สมองอักเสบ (2 does) ไข้สมองอักเสบ (2 does) ไข้สมองอักเสบ (2 does) ป้องกันโรค ipd   สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกกุมารเวช โทร 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 ต่อ 4220-21   ศูนย์หัตถเวช โรงพยาบาลวิภาวดี ขอเสนอบริการ ฟื้นฟูมารดาหลังคลอด 1 คอร์ส/3วัน พร้อมบริการด้านอื่นๆ รายการ -นวดเท้าแช่สมุนไพร -นวดตัว , กดจุด -นวดหน้า -นวดประคบสมุนไพร -นวดน้ำมัน (รีดเส้น) -สุวคนบำบัด (อโรมา) -นวดศีรษะคลายเครียด -อบสมุนไพรสด (ตู้ไม้) -อบสมุนไพรสด (ตู้ผ้า) สอบถามรายละเอียดและนัดหมายได้ที่ : ศูนย์หัตถเวช รพ.วิภาวดี โทร 02-561-1111 ต่อ 2928,2929    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เทคนิคการนวดเต้านม

เทคนิคการนวดเต้านม นวดเพื่อเพิ่มน้ำนม        การนวดเต้านม เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการกระตุ้นท่อน้ำนมในต่อมน้ำนม วิธีเตรียมตัว       ง่ายๆก่อนการนวด คือล้างมือให้สะอาดใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนประมาณ 1-3 นาที แล้วจึงนวดคลึงเต้านมอย่างนุ่มนวลเพื่อเรียกน้ำนมตามท่าต่างๆ น้ำนมแม่เพิ่มได้ใน 6 ขั้นตอน ผีเสื้อขยับปีก (Butterfly stroke) วางมือที่เต้านมด้านในนิ้วชิดกัน นวดจากเต้าด้านในออกไปด้านนอกในลักษณะหมุนวน หมุนวนปลายนิ้ว (Fingertip circles) ใช้อุ้งมือนึงรองเต้านมส่วนปลายนิ้วทั้ง 4 ของอีกมือวางเหนือลานนม แล้วนวดหมุนไปรอบๆทำซ้ำ 5 รอบ ประกายเพชร (Diamond stroke) ใช้ฝ่ามือวางทาบลงเต้านม จากนั้นบีบมือทั้ง 2 เข้าหากันพร้อมๆกับเลื่อนมือลงไปที่ลานนมทำสลับขึ้นลง กระตุ้นท่อน้ำนม (Acupressure point l) ยกมือข้างซ้ายวางไปด้านหลัง แล้วใช้นิ้วชี้วางบริเวณเหนือลานนมหนึ่งข้อนิ้วแล้วกดนิ้วชี้พร้อมกับวนที่ปลายนิ้วในตำแหน่งเดียวกัน เปิดท่อน้ำนม (Acupressure point ll) ยกมือข้างขวาวางไปด้านหลัง โดยใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบเหนือลานนมแล้วใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา จะได้ตำแหน่งการวางของนิ้วขี้ข้างซ้าย แล้วจึงกดและหมุนวนลงในตำแหน่งที่วัดได้คลายและกด ทำซ้ำ 5 ครั้ง พร้อมบีบน้ำนม (Final steps) ในขั้นตอนสุดท้ายต้องทำให้ครบทั้ง 4 ท่า โดยทุกขั้นตอนต้องไม่สัมผัสถูกหัวนม 6.1 ใช้อุ้งมือขวาประคองเต้าแล้วใช้นิ้วชี้ข้างซ้ายกดและหมุนวนไปโดยรอบลานนม 6.2 วางนิ้วมือขวาเต้าขวาแล้วกดนิ้วเข้าหากันพร้อมกับคลึงไปมาอย่างนุ่มนวล 6.3 ใช้เฉพาะนิ้วชี้ วางนาบลงที่ขอบลานนมทั้งสองข้าง กดนิ้วทั้งสองเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน 6.4 วางนิ้วมือขวาเต้าซ้ายแล้วกดนิ้วเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน เพื่อบีบน้ำนมในขั้นสุดท้าย นมแม่ดีที่สุด        “เพราะเป็นสุดยอดอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับทารก ซึ่งคุณแม่บางท่านก็อาจพบปัญหาน้ำนมน้อยจึงต้องใช้วิธี  “นวดเต้านม” เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ถึงแม้ว่าการนวดเต้านมจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ แต่คุณแม่ให้นมบุตรควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำนมด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบถ้วน” ข้อห้ามในการนวดเต้านม ผู้ที่เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ ปวดบวม แดงร้อน จะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น เป็นโรคผิวหนัง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย มีบาดแผลบริเวณเต้านม คำแนะนำสำหรับมารดา         นมแม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุดและยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆได้อีกด้วย นมแม่มีความจำเป็นต่อทารกในช่วง 6 เดือนแรก มีมารดาจำนวนมากที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อไปหลังจากพ้น 6 เดือนแรก ควบคู่กับการให้อาหารตามวัย มารดาสามารถขอคำปรึกษาเรื่องการให้นมแม่ได้จากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนๆหรือญาติที่เคยมีประสบการณ์ การให้นมแม่บ่อยๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้น้ำนมมีปริมาณเพียงพอและสม่ำเสมอ นอกจากนี้การบริโภคอาหารอย่างสมดุลทั้งระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดยังช่วยให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอเช่นเดียวกัน      

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ข้อไหล่ติด

ข้อไหล่ติด อาการ        มีอาการเจ็บ ปวด ตึง  บริเวณบ่า และไหล่ร่วมกับมีอาการไหล่ยึดติด ทำให้ยกแขนข้างนั้นได้ไม่สุดช่วงการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในท่าหวีผมและปลดตะขอเสื้อด้านหลังหรือท่ามือไขว้หลัง สาเหตุ จากการอักเสบ ฉีดขาดของเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ จากอุบัติเหตุ กระดูกหัก หรือข้อไหล่หลุด จากการกดทับของรากประสาทบริเวณต้นคอหรือจากหินปูนเกาะ จากการไม่ได้ใช้งานในผู้สูงอายุ จากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรครูมาตอยด์ ข้อควรปฏิบัติ พักการใช้งานแขนข้างที่ปวด ประคบถุงน้ำแข็งบริเวณที่ปวดนาน 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ใน 2 วันแรกของการบาดเจ็บ หลีกเลี่ยงการบีบนวดบริเวณที่ปวด เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการนอนทับแขนข้างที่ปวด ค่อยเริ่มขยับแขน  ยืดกล้ามเนื้อเมื่ออาการปวดทุเลาลง ถ้าอาการไม่ดีขึ้น รีบพบแพทย์ และนักกายภาพบำบัด เพื่อตรวจประเมิน และรับการรักษาต่อไป การบริหารไหล่       ก่อนบริหารไหล่ ควรประคบร้อนก่อนประมาณ 15-20 นาที การบริหารควรเริ่มจากท่าเบาๆก่อน และค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อยๆ ท่าทางการบริหารไหล่ 1.ท่าแกว่งแขน      ยืนก้มตัวไปข้างหน้า แขนข้างดีเท้าบนโต๊ะ ห้อยแขนข้างเจ็บให้ผ่อนคลาย ค่อยๆแกว่งแขน เป็นวงกลมตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา ทำ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 2.ท่าไต่ฝาผนัง      ยืนหันหน้าเข้าฝาผนัง หลังตรง แขนเหยียดตรง ค่อยๆไต่นิ้วตามผนัง เพิ่มความสูงไปเรื่อยๆจนรู้สึกตึงบริเวณไหล่ค้างไว้นับ 1-10 ทำ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ เสร็จแล้วเปลี่ยนท่าเป็นหันข้างแขนด้านเจ็บเข้าฝาผนังค่อยๆกางแขนไล่ขึ้นไปตามฝาผนัง 3.ท่าไขว้หลัง      ยืนตรง ใช้ผ้าเช็ดตัวพาดบ่า มือจับปลายผ้าทั้ง 2 ข้าง โดยแขนดีอยู่ข้างหน้า แขนเจ็บอยู่ด้านหลังค่อยๆใช้แขนข้างดี ดึงผ้าขึ้น-ลง ให้รู้สึกตึงเบาๆบริเวณไหล่ค้างไว้ นับ 1-10 วินาที ทำ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 4.การบริหารด้วยกระบอง       1.ท่ายกแขน ขึ้น-ลง เหนือศีรษะ       2.ท่ายกขึ้นเหนือศีรษะด้านหน้า แล้ววางพาดบนบ่าด้านหลัง       3.ท่ายกไม้เอียงไปทางซ้าย-ขวา       4.ท่าไขว้หลัง ยกไม้ขึ้นลงสลับกันทุกท่า ทำให้รู้สึกตึงเบาๆบริเวณหัวไหล่ ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 5.ท่าชักรอก       ใช้เชือกคล้องลูกรอก หรือราวโลหะ ที่แขวนเหนือศีรษะโดยที่ปลายเชือกทั้ง 2 ข้าง ผูกติดกับห่วงใช้แขนดี ดึงเชือกขึ้น-ลงช้าๆจนรู้สึกตึงเบาๆบริเวณหัวไหล่ ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 6.ท่าโหนราว       ทำราวสูงในระดับ ที่ยกแขนเหยียดสุดในท่ายืน ใช้มือเกาะราวผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่แล้วค่อยๆย่อตัวลง ให้รู้สึกตึงเบาๆบริเวณไหล่ค้างไว้ นับ 1-10 ทำวันละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดท้อง

  ปวดท้อง   เป็นอาการนำที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งมีสาเหตุได้หลากหลาย ความสำคัญอยู่ที่อาการปวดท้องเป็นเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เพราะหากเป็นเฉียบพลัน บางโรคอาจเป็นสาเหตุที่อันตรายถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องรีบมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรคทางศัลยกรรมและทางสูตินรี สาเหตุของอาการปวดท้องเฉียบพลัน ตามตำแหน่งการปวดที่หน้าท้อง โดยหากปวดบริเวณท้องด้านขวาบน  อาจเป็นจากโรคถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วถุงน้ำดี ตับอักเสบ กรวยไตอักเสบ งูสวัด ปอดอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น หากปวดบริเวณท้องด้านขวาล่าง อาจเป็นจาก ไส้ติ่งอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ ท้องนอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ นิ่วในท่อไตและไต กรวยไตอักเสบ ไส้เลื่อน กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง มีการรั่วซึม ถ้าปวดบริเวณท้องด้านซ้ายบน อาจมีสาเหตุจาก กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามโต / แตก กรวยไตอักเสบ นิ่วไต งูสวัด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ถ้าปวดบริเวณท้องด้านซ้ายล่าง เป็นได้จาก กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้องมีการรั่วซึม ท้องนอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ กรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไตและไต ปวดบริเวณลิ้นปี่ อาจเป็นเพราะแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบระยะแรก เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ถุงน้ำดีอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปวดรอบสะดือ อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบระยะแรก กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน เส้นเลือดในช่องท้องอุดตัน เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ปวดบริเวณท้องน้อย สาเหตุที่พบได้แก่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ โรคของต่อมลูกหมาก ปีกมดลูกอักเสบ ไส้เลื่อน ช่องเชิงกรานอักเสบ (PID) ท้องนอกมดลูก ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน           อาการปวดท้องอาจมีสาเหตุจากโรคนอกช่องท้องก็ได้ เช่น โรคของกระดูกสันหลัง ปอดอักเสบ งูสวัด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็น DKA ไตวายที่มีของเสียในเลือดคั่งมาก (uremia) โรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ไข้ไทฟอยด์ โรคพอร์ฟัยเรีย พิษจากตะกั่ว ต่อมหมวกไตบกพร่อง โรคทางจิตเวช         สาเหตุของอาการปวดท้องเรื้อรัง  ถ้าเป็นโรคที่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ ลำไส้อักเสบชนิด Inflammatory bowel disease ลำไส้ขาดเลือด เบาหวานลงเส้นประสาท (Diabetic neuropathy) แผลในกระเพาะอาหาร พังผืดในช่องท้อง เนื้องอกในช่องท้อง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อน ลำไส้อุดตัน กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ช่องเชิงกรานอักเสบถ้าเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน การตรวจหาสาเหตุ           แพทย์จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยในการพิจารณาเลือกวิธีการตรวจเพิ่มเติมหรือในรายที่อาการปวดท้องไม่ชัดเจนหรือเป็นเรื้อรัง โดยอาการไม่เปลี่ยนแปลงอาจให้การวินิจฉัย โดยให้การรักษาและติดตามอาการ หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี อาจให้การวินิจฉัยในขั้นต้นได้ แต่หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรืออาการมีการเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดท้องที่แพทย์สันนิษฐาน ได้แก่ การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ การตรวจทางรังสี การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น การรักษา           แพทย์จะให้การรักษาครอบคลุมสาเหตุที่สงสัยและรักษาตามอาการระหว่างรอผลตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน   ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์ระบบทางเดินอาหาร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม             การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการรักษาโดยวิธีผ่าตัดสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นกับสภาพข้อที่เสื่อมและอายุคนไข้ วิธีการผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ขาโก่งไม่มากและอายุยังไม่มากนัก จุดประสงค์ คือ การเปลี่ยนแนวแรง ทำให้กระจายการรับน้ำหนักในข้อให้สม่ำเสมอขึ้น การเปลี่ยนข้อเข่าบางส่วน (Unicompartmental Knee Replacement) เหมาะสำหรับข้อเข่าที่เสื่อมด้านเดียว การเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ (Total Knee Replacement ) คือ การเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ มักทำในคนอายุมากและรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล ในคนที่มีข้อเสื่อมมาก มักต้องใช้วิธีนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบใหม่           การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบใหม่นี้จะมีขนาดแผลผ่าตัดเพียง 8-14 ซม. ตัดกล้ามเนื้อเหนือลูกสะบ้าเพียงเล็กน้อยเท่าที่จะสามารถใส่ข้อเข่าเทียมได้ ใช้ผลิตภัณฑ์ข้อเทียม ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพจากอเมริกาและยุโรป เป็นวิธีที่ปัจจุบันยอมรับว่ามีมาตรฐานดที่สุด ข้อดี ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อเข่าฟื้นตัวได้เร็ว และเจ็บปวดน้อยกว่า แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้น วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า         ก่อนการผ่าตัด อายุรแพทย์โรคหัวใจจะตรวจเช็คสภาพร่างกายของคนไข้อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการดมยาสลบ หรือฉีดยาเข้าไขสันหลังและการผ่าตัด การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังผ่าตัด 1-2 วัน จะเริ่มหัดเดินโดยใช้ไม้เท้า และคนไข้จะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 5 วัน       การพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ได้ข้อเทียมที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้อเข่าธรรมชาติ รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ดี ทำให้ข้อเทียมสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานมากกว่า 10-15 ปี ดังนั้นคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มันสมองอัจฉริยะ “ไอน์สไตน์” …แค่คิดก็ไม่ธรรมดาแล้ว

ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ใช้ชีวิตโลดแล่นในหลายประเทศ สร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์แสนอัศจรรย์ และมีสีสันโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ.. แม้ไอน์สไตน์จะจากโลกนี้ไปนานนับครึ่งศตวรรษ แต่เรื่องราวชีวิต แนวคิด ผลงานของเขาก็ยังดำเนินไปอย่างไม่จบสิ้น และแปลกประหลาดเกินกว่าที่หลายคนจะคาดเดาได้ ไอน์สไตน์เสียชีวิต ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1955 ขณะมีอายุได้ 76 ปี ร่างของเขาถูกเผาตามพิธีการทางศาสนาโดยที่ไม่มีคนในครอบครัวตระหนักเลยว่า มันสมองอัจฉริยะได้สูญหายไป โทมัส เอส.ฮาร์วี แพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพได้ลักลอบผ่าสมองของนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่เก็บไว้เพื่อการศึกษา หลังจากแยกสมองออกจากศพแล้ว หมอฮาร์วีได้ทำการแบ่งสมองของไอน์สไตน์ออกเป็น 240 ชิ้น ดองด้วยตัวยาพิเศษและเก็บรักษาไว้ในขวดแก้ว 2 ขวด บางชิ้นส่วนของสมองถูกส่งไปให้นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญตามสาขาต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่นั้นหมอฮาร์วีเก็บเอาไว้เอง สิ่งที่หมอฮาร์วีปฏิบัติต่อศพของไอน์สไตน์นั้นก่อให้เกิดการวิจารณ์กันอย่างอื้อฉาว จนทำให้หมอฮาร์วีต้องอพยพโยกย้ายไปตามที่ต่าง ๆ และหอบหิ้วมันสมองของไอน์สไตน์ติดตัวตามไปด้วย จนกระทั่งปี 1996 หมอฮาร์วีได้ย้ายกลับมาที่พรินสตันอีกครั้งหนึ่ง และตัดสินใจมอบชิ้นส่วนสมองที่เขารวบรวมไว้แก่ นพ.เอเลียต คลอส หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา ที่โรงพยาบาลพรินสตัน การวิจัยค้นคว้าศึกษาความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยการนำชิ้นส่วนสมองทั้งหมดที่ถูกเก็บ ณ โรงพยาบาลพรินสตัน มาถ่ายภาพและประกอบขึ้นเป็นรูปสามมิติ จำลองรูปแบบเหมือนจริงดังกับว่ามันเพิ่งถูกผ่าแยกออกมาจากศพ สิ่งที่ค้นพบก็คือ สมองของไอน์สไตน์มีน้ำหนักเพียง 1,230 กรัมเท่านั้นน้อยกว่าน้ำหนักสมองของมนุษย์โดยเฉลี่ยที่หนักถึง 1,400 กรัม แต่สิ่งที่ไอน์สไตน์ต่างจากมนุษย์ทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คือ “ความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมอง” ที่มีมากกว่าปกติหลายเท่า ยิ่งไปกว่านั้น “สมองของไอน์สไตน์มีเพียงเส้นแบ่งตื้น ๆ ระหว่างสมองข้างซ้ายและข้างขวา” ในขณะที่คนธรรมดาจะมีรอยแยกชัดเจนระหว่างสมองทั้งสองข้าง เผยให้เห็นถึงการรวมกันอย่างกลมกลืนของสมองทั้งสองซีก นักวิจัยชี้ว่าลักษณะที่พิเศษของสมองแบบนี้อาจอธิบายได้ว่า ทำไมไอน์สไตน์ถึงคิดอย่างที่เขาคิด บางทีวิธีคิดของไอน์สไตน์อาจไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้คำบรรยาย แต่อาจผ่านจิตนาการต่าง ๆ ที่เขานึกถึง เสมือนว่ามองเห็นมันด้วยตาเปล่าก็ได้ ทำให้นึงถึงคำพูดของไอน์สไตน์ เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” และ “ความรู้มีขอบเขตจำกัด แต่จินตนาการไร้ขีดจำกัด” นั่นเอง ปัจจุบันนี้สมองของไอน์สไตน์ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่โรงพยาบาลพรินสตัน ที่เดียวกับที่มันถูกขโมยไปเมื่อห้าสิบปีก่อน จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2548

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ธนบัตรแบคทีเรีย

เงิน คือ วัตถุที่คนเราอยากจับต้องมากที่สุดและเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคมากที่สุด  ประเทศจีนใช้เงินหยวน ( Yuan) เม็กซิโกใช้เงินเปโซ ( Pesos ) สหราชอาณาจักรใช้เงินปอนด์ ( Pounds )  ไนจีเรียใช้เงินยูโร ( Euros) ประเทศอเมริกา  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ใช้เงินดอลลาร์ ( Dollars ) แม้อีกหลายประเทศจะใช้ธนบัตรชนิดอื่นแตกต่างกันไปแต่สิ่งหนึ่งที่ธนบัตรเหล่านั้นมีแหมือนกันคือ “เชื้อโรคบนธนบัต” เชื้อแบคทีเรีย บนธบัตรจะคงอยู่กับคุณไปตราบนานเท่านานที่คุณยังใช้ธนบัตรอยู่ เรื่องราวของจุลินทรีย์บนธนบัตรนี้มีการศึกษากันมานานแล้วพบว่าจุลินทรีย์เหล่านั้นสามารถก่อโรคได้ ส่วนใหญ่แล้วแบคทีเรียไม่ก่อโรค แต่พบธนบัตรที่มีแบคทีเรีย E.coli ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์และสัตว์ คนที่ทานอาหารที่มีแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไปอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียอาหารเป็นพิษ  หรือเจ็บป่วยได้ง่าย สิ่งที่เรียกว่า “เงินกระดาษ” นั้นไม่ได้ทำมาจากกระดาษจริง ๆ เกิดจากการพิมพ์ลงบนผ้าซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคอตตอน แต่ละประเทศก็ใช้วัสดุที่เกิดจากโมเลกุลหลายโมเลกุลต่อกันเป็นสาย อยู่ได้ทั้งในรูปของเหลว ของแข็งหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว เงินจาก 3 ประเทศที่พบแบคทีเรียน้อย ล้วนผลิตจากโพลิเมอร์ เงิน 3  ประเทศนั้น คือ ดอลลาร์ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ และเปโซแม็กซิโก แสดงให้เห็นว่า เชื้อโรคมีความสามารถอาศัยอยู่บนโพลิเมอร์ได้น้อยกว่า หากดูจากกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าพื้นผิวธนบัตรจากโพลิเมอร์จะเรียบกว่าผ้าคอตตอนความเรียบนี้เองทำให้เชื้อโรคเกาะได้ยาก ธนบัตร 1 ใบ มีแบคทีเรียสะสมมากกว่า 2.6 หมื่นตัวเสี่ยงทำให้คนป่วยได้ โดยเฉพาะโรคท้องร่วงและปอดบวมการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี  7  ขั้นตอน ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ 50% ปอดบวม 25% พญ.แสงโสม  สีนะวัฒน์  ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่าจากผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุว่า บนธนบัตร 1 ใบ จะมีเชื้อแบคทีเรียสะสมโดยเฉลี่ย 26,000 ตัว เนื่องจากการใช้ธนบัตรผ่านมอืไปหลายต่อ โดยแบคทีเรียเหล่านี้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ จากข้อมูลองค์การยูนิเซฟยังพบว่า ในแต่ละปีมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง 3.5 ล้านคนและโรคปอดบวมอีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึงร้อยละ 50 และจากโรคปอดบวมได้ร้อยละ 25 สำหรับประเทศไทย ผลการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือของประชาชนในปี 2552 พบว่า มีเพียง 61% ที่มีการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร  และถึงแม่จะมีการล้างมือหรือหลังจากใช้ห้องส้วมถึงร้อยละ 87 แต่ยังเป็นการล้างมือด้วยน้ำเปล่าถึงร้อยละ 41 แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการล้างมือด้วยน้ำและสบู่เท่าที่ควร  จำเป็นจะต้องกระตุ้นให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคโดยเฉพาะโรคท้องร่วง ปลอดภัย ปลอดเชื้อ อย่าเบื่อล้างมือ ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<