เทคนิคการนวดเต้านม

เทคนิคการนวดเต้านม นวดเพื่อเพิ่มน้ำนม        การนวดเต้านม เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการกระตุ้นท่อน้ำนมในต่อมน้ำนม วิธีเตรียมตัว       ง่ายๆก่อนการนวด คือล้างมือให้สะอาดใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนประมาณ 1-3 นาที แล้วจึงนวดคลึงเต้านมอย่างนุ่มนวลเพื่อเรียกน้ำนมตามท่าต่างๆ น้ำนมแม่เพิ่มได้ใน 6 ขั้นตอน ผีเสื้อขยับปีก (Butterfly stroke) วางมือที่เต้านมด้านในนิ้วชิดกัน นวดจากเต้าด้านในออกไปด้านนอกในลักษณะหมุนวน หมุนวนปลายนิ้ว (Fingertip circles) ใช้อุ้งมือนึงรองเต้านมส่วนปลายนิ้วทั้ง 4 ของอีกมือวางเหนือลานนม แล้วนวดหมุนไปรอบๆทำซ้ำ 5 รอบ ประกายเพชร (Diamond stroke) ใช้ฝ่ามือวางทาบลงเต้านม จากนั้นบีบมือทั้ง 2 เข้าหากันพร้อมๆกับเลื่อนมือลงไปที่ลานนมทำสลับขึ้นลง กระตุ้นท่อน้ำนม (Acupressure point l) ยกมือข้างซ้ายวางไปด้านหลัง แล้วใช้นิ้วชี้วางบริเวณเหนือลานนมหนึ่งข้อนิ้วแล้วกดนิ้วชี้พร้อมกับวนที่ปลายนิ้วในตำแหน่งเดียวกัน เปิดท่อน้ำนม (Acupressure point ll) ยกมือข้างขวาวางไปด้านหลัง โดยใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบเหนือลานนมแล้วใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา จะได้ตำแหน่งการวางของนิ้วขี้ข้างซ้าย แล้วจึงกดและหมุนวนลงในตำแหน่งที่วัดได้คลายและกด ทำซ้ำ 5 ครั้ง พร้อมบีบน้ำนม (Final steps) ในขั้นตอนสุดท้ายต้องทำให้ครบทั้ง 4 ท่า โดยทุกขั้นตอนต้องไม่สัมผัสถูกหัวนม 6.1 ใช้อุ้งมือขวาประคองเต้าแล้วใช้นิ้วชี้ข้างซ้ายกดและหมุนวนไปโดยรอบลานนม 6.2 วางนิ้วมือขวาเต้าขวาแล้วกดนิ้วเข้าหากันพร้อมกับคลึงไปมาอย่างนุ่มนวล 6.3 ใช้เฉพาะนิ้วชี้ วางนาบลงที่ขอบลานนมทั้งสองข้าง กดนิ้วทั้งสองเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน 6.4 วางนิ้วมือขวาเต้าซ้ายแล้วกดนิ้วเข้าหากันในลักษณะบีบ-คลายสลับกัน เพื่อบีบน้ำนมในขั้นสุดท้าย นมแม่ดีที่สุด        “เพราะเป็นสุดยอดอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับทารก ซึ่งคุณแม่บางท่านก็อาจพบปัญหาน้ำนมน้อยจึงต้องใช้วิธี  “นวดเต้านม” เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ถึงแม้ว่าการนวดเต้านมจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ แต่คุณแม่ให้นมบุตรควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำนมด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบถ้วน” ข้อห้ามในการนวดเต้านม ผู้ที่เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ ปวดบวม แดงร้อน จะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น เป็นโรคผิวหนัง เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย มีบาดแผลบริเวณเต้านม คำแนะนำสำหรับมารดา         นมแม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุดและยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆได้อีกด้วย นมแม่มีความจำเป็นต่อทารกในช่วง 6 เดือนแรก มีมารดาจำนวนมากที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อไปหลังจากพ้น 6 เดือนแรก ควบคู่กับการให้อาหารตามวัย มารดาสามารถขอคำปรึกษาเรื่องการให้นมแม่ได้จากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนๆหรือญาติที่เคยมีประสบการณ์ การให้นมแม่บ่อยๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้น้ำนมมีปริมาณเพียงพอและสม่ำเสมอ นอกจากนี้การบริโภคอาหารอย่างสมดุลทั้งระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดยังช่วยให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอเช่นเดียวกัน      

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus)

เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเป็นในเด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเมื่อติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) ในทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ผู้ติดเชื้อร้อยละ 70 มักเกิดอาการปอดบวม และหลอดลมฝอยอักเสบ การติดต่อของโรค เกิดได้ทั่วโลกมักระบาดในฤดูหนาวของประเทศแถวตะวันตกในประเทศไทยพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ติดต่อได้ง่ายโดย การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก เสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้ผ่านทางตาจมูกและทางการหายใจ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) สามารถกระจายเชื้อให้ลอยปะปนอยู่ในอากาศภายในรัศมี 3 ฟุต ผ่านทางการไอหรือจาม การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นได้หลายครั้ง เนื่องจากไวรัสตัวนี้มีหลายพันธุ์ อาการของโรค ระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน ในช่วง 2-4 วันแรก อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ ไข้ต่ำ ๆ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกใส เด็กบางคนอาจเกิดกล่องเสียงอักเสบ เมื่อการดำเนินโรคของทางเดินหายใจส่วนล่างมีมากขึ้น ก็ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ(ไข้ ไอ หอบ) โดยเด็กจะมีไข้สูง ไอมากขึ้น ร่วมกับมีเสมหะ บางรายไอมากจนอาเจียน หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (wheezing) แบบหลอดลมฝอยอักเสบ ซึมลง ตัวเขียว ดื่มนมหรือรับประทานอาหารได้น้อย แต่ในรายที่อาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว การพยากรณ์โรค ยังไม่ทราบกลไกในการเกิดที่ชัดเจน อาการของโรคเกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดีชนิดไวจีอี ( IgE ) ต่อเชื้ออาร์เอสวี ( RSV ) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเหมือนโรคภูมิแพ้ ในระบบทางเดินหายใจมีการหลั่งสารออกมา ซึ่งมีผลทำให้หายใจเสียงวี้ด (wheezing) ตามมาได้ อาการจากการติดเชื้อเกิดจากการกระตุ้นปฏิกิริยา ไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่พบบ่อยที่สุด อักเสบต่อเนื่องในระบบการหายใจ ผลก็คือ ทำให้มีอาการเหล่านี้ แบบเรื้อรังและต่อเนื่อง เด็กที่ติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี ( RSV ) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เมื่อโตขึ้น เด็กที่เป็นแล้วมีอาการแบบหลอดลมฝอยอักเสบรักษาหายแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีก อาจทำให้เด็กมีภาวะเกิดภูมิไวเกินที่หลอดลม แค่ติดเชื้อหวัดธรรมดาก็อาจกระตุ้นให้อาการหอบ มีเสมหะและไอมากกลับมาได้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่รุนแรง กลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย หรือภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคไม่ดี เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจเรื้อรัง รวมทั้งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV) โดยตรง มีแต่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม บางรายต้องให้ออกซิเจน ถ้าเสมหะมาก อาจต้องทำการเคาะปอด และดูดเสมหะออก ยาต้านการอักเสบลิวโคไตรอีน ในรูปแบบยารับประทานที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและหายใจหอบเหนื่อยลดลง การป้องกันโรค ยังไม่มีวัคซีน หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด ไม่ให้เด็กเล่นคลุกคลีกับเด็กที่เป็นหวัด เด็กที่อยู่ในห้องแอร์ หรือในที่อากาศเย็นให้สวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ การล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้กว่าร้อยละ 80 หากมีเด็กป่วยในบ้านหรือที่ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีกันและแยกเครื่องใช้เด็กที่ป่วยออกต่างหาก การป้องกันเด็กป่วยจากโรคทางเดินหายใจทุกชนิดโดยแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางนม เด็กก็จะไม่ป่วยง่าย โดย พญ.ปราณี  สิตะโปสะ  กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ข้อไหล่ติด

ข้อไหล่ติด อาการ        มีอาการเจ็บ ปวด ตึง  บริเวณบ่า และไหล่ร่วมกับมีอาการไหล่ยึดติด ทำให้ยกแขนข้างนั้นได้ไม่สุดช่วงการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในท่าหวีผมและปลดตะขอเสื้อด้านหลังหรือท่ามือไขว้หลัง สาเหตุ จากการอักเสบ ฉีดขาดของเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ จากอุบัติเหตุ กระดูกหัก หรือข้อไหล่หลุด จากการกดทับของรากประสาทบริเวณต้นคอหรือจากหินปูนเกาะ จากการไม่ได้ใช้งานในผู้สูงอายุ จากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรครูมาตอยด์ ข้อควรปฏิบัติ พักการใช้งานแขนข้างที่ปวด ประคบถุงน้ำแข็งบริเวณที่ปวดนาน 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ใน 2 วันแรกของการบาดเจ็บ หลีกเลี่ยงการบีบนวดบริเวณที่ปวด เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการนอนทับแขนข้างที่ปวด ค่อยเริ่มขยับแขน  ยืดกล้ามเนื้อเมื่ออาการปวดทุเลาลง ถ้าอาการไม่ดีขึ้น รีบพบแพทย์ และนักกายภาพบำบัด เพื่อตรวจประเมิน และรับการรักษาต่อไป การบริหารไหล่       ก่อนบริหารไหล่ ควรประคบร้อนก่อนประมาณ 15-20 นาที การบริหารควรเริ่มจากท่าเบาๆก่อน และค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อยๆ ท่าทางการบริหารไหล่ 1.ท่าแกว่งแขน      ยืนก้มตัวไปข้างหน้า แขนข้างดีเท้าบนโต๊ะ ห้อยแขนข้างเจ็บให้ผ่อนคลาย ค่อยๆแกว่งแขน เป็นวงกลมตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา ทำ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 2.ท่าไต่ฝาผนัง      ยืนหันหน้าเข้าฝาผนัง หลังตรง แขนเหยียดตรง ค่อยๆไต่นิ้วตามผนัง เพิ่มความสูงไปเรื่อยๆจนรู้สึกตึงบริเวณไหล่ค้างไว้นับ 1-10 ทำ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ เสร็จแล้วเปลี่ยนท่าเป็นหันข้างแขนด้านเจ็บเข้าฝาผนังค่อยๆกางแขนไล่ขึ้นไปตามฝาผนัง 3.ท่าไขว้หลัง      ยืนตรง ใช้ผ้าเช็ดตัวพาดบ่า มือจับปลายผ้าทั้ง 2 ข้าง โดยแขนดีอยู่ข้างหน้า แขนเจ็บอยู่ด้านหลังค่อยๆใช้แขนข้างดี ดึงผ้าขึ้น-ลง ให้รู้สึกตึงเบาๆบริเวณไหล่ค้างไว้ นับ 1-10 วินาที ทำ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 4.การบริหารด้วยกระบอง       1.ท่ายกแขน ขึ้น-ลง เหนือศีรษะ       2.ท่ายกขึ้นเหนือศีรษะด้านหน้า แล้ววางพาดบนบ่าด้านหลัง       3.ท่ายกไม้เอียงไปทางซ้าย-ขวา       4.ท่าไขว้หลัง ยกไม้ขึ้นลงสลับกันทุกท่า ทำให้รู้สึกตึงเบาๆบริเวณหัวไหล่ ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 5.ท่าชักรอก       ใช้เชือกคล้องลูกรอก หรือราวโลหะ ที่แขวนเหนือศีรษะโดยที่ปลายเชือกทั้ง 2 ข้าง ผูกติดกับห่วงใช้แขนดี ดึงเชือกขึ้น-ลงช้าๆจนรู้สึกตึงเบาๆบริเวณหัวไหล่ ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ 6.ท่าโหนราว       ทำราวสูงในระดับ ที่ยกแขนเหยียดสุดในท่ายืน ใช้มือเกาะราวผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่แล้วค่อยๆย่อตัวลง ให้รู้สึกตึงเบาๆบริเวณไหล่ค้างไว้ นับ 1-10 ทำวันละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดท้อง

  ปวดท้อง   เป็นอาการนำที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งมีสาเหตุได้หลากหลาย ความสำคัญอยู่ที่อาการปวดท้องเป็นเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เพราะหากเป็นเฉียบพลัน บางโรคอาจเป็นสาเหตุที่อันตรายถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องรีบมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรคทางศัลยกรรมและทางสูตินรี สาเหตุของอาการปวดท้องเฉียบพลัน ตามตำแหน่งการปวดที่หน้าท้อง โดยหากปวดบริเวณท้องด้านขวาบน  อาจเป็นจากโรคถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วถุงน้ำดี ตับอักเสบ กรวยไตอักเสบ งูสวัด ปอดอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น หากปวดบริเวณท้องด้านขวาล่าง อาจเป็นจาก ไส้ติ่งอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ ท้องนอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ นิ่วในท่อไตและไต กรวยไตอักเสบ ไส้เลื่อน กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง มีการรั่วซึม ถ้าปวดบริเวณท้องด้านซ้ายบน อาจมีสาเหตุจาก กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามโต / แตก กรวยไตอักเสบ นิ่วไต งูสวัด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ถ้าปวดบริเวณท้องด้านซ้ายล่าง เป็นได้จาก กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้องมีการรั่วซึม ท้องนอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ กรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไตและไต ปวดบริเวณลิ้นปี่ อาจเป็นเพราะแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบระยะแรก เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ถุงน้ำดีอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปวดรอบสะดือ อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบระยะแรก กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน เส้นเลือดในช่องท้องอุดตัน เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ปวดบริเวณท้องน้อย สาเหตุที่พบได้แก่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ โรคของต่อมลูกหมาก ปีกมดลูกอักเสบ ไส้เลื่อน ช่องเชิงกรานอักเสบ (PID) ท้องนอกมดลูก ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน           อาการปวดท้องอาจมีสาเหตุจากโรคนอกช่องท้องก็ได้ เช่น โรคของกระดูกสันหลัง ปอดอักเสบ งูสวัด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็น DKA ไตวายที่มีของเสียในเลือดคั่งมาก (uremia) โรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ไข้ไทฟอยด์ โรคพอร์ฟัยเรีย พิษจากตะกั่ว ต่อมหมวกไตบกพร่อง โรคทางจิตเวช         สาเหตุของอาการปวดท้องเรื้อรัง  ถ้าเป็นโรคที่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ ลำไส้อักเสบชนิด Inflammatory bowel disease ลำไส้ขาดเลือด เบาหวานลงเส้นประสาท (Diabetic neuropathy) แผลในกระเพาะอาหาร พังผืดในช่องท้อง เนื้องอกในช่องท้อง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อน ลำไส้อุดตัน กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ช่องเชิงกรานอักเสบถ้าเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน การตรวจหาสาเหตุ           แพทย์จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยในการพิจารณาเลือกวิธีการตรวจเพิ่มเติมหรือในรายที่อาการปวดท้องไม่ชัดเจนหรือเป็นเรื้อรัง โดยอาการไม่เปลี่ยนแปลงอาจให้การวินิจฉัย โดยให้การรักษาและติดตามอาการ หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี อาจให้การวินิจฉัยในขั้นต้นได้ แต่หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรืออาการมีการเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดท้องที่แพทย์สันนิษฐาน ได้แก่ การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ การตรวจทางรังสี การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น การรักษา           แพทย์จะให้การรักษาครอบคลุมสาเหตุที่สงสัยและรักษาตามอาการระหว่างรอผลตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน   ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์ระบบทางเดินอาหาร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม             การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการรักษาโดยวิธีผ่าตัดสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นกับสภาพข้อที่เสื่อมและอายุคนไข้ วิธีการผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ขาโก่งไม่มากและอายุยังไม่มากนัก จุดประสงค์ คือ การเปลี่ยนแนวแรง ทำให้กระจายการรับน้ำหนักในข้อให้สม่ำเสมอขึ้น การเปลี่ยนข้อเข่าบางส่วน (Unicompartmental Knee Replacement) เหมาะสำหรับข้อเข่าที่เสื่อมด้านเดียว การเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ (Total Knee Replacement ) คือ การเปลี่ยนข้อเข่าทั้งข้อ มักทำในคนอายุมากและรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล ในคนที่มีข้อเสื่อมมาก มักต้องใช้วิธีนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบใหม่           การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบใหม่นี้จะมีขนาดแผลผ่าตัดเพียง 8-14 ซม. ตัดกล้ามเนื้อเหนือลูกสะบ้าเพียงเล็กน้อยเท่าที่จะสามารถใส่ข้อเข่าเทียมได้ ใช้ผลิตภัณฑ์ข้อเทียม ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพจากอเมริกาและยุโรป เป็นวิธีที่ปัจจุบันยอมรับว่ามีมาตรฐานดที่สุด ข้อดี ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อเข่าฟื้นตัวได้เร็ว และเจ็บปวดน้อยกว่า แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้น วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า         ก่อนการผ่าตัด อายุรแพทย์โรคหัวใจจะตรวจเช็คสภาพร่างกายของคนไข้อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการดมยาสลบ หรือฉีดยาเข้าไขสันหลังและการผ่าตัด การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังผ่าตัด 1-2 วัน จะเริ่มหัดเดินโดยใช้ไม้เท้า และคนไข้จะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 5 วัน       การพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ได้ข้อเทียมที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้อเข่าธรรมชาติ รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ดี ทำให้ข้อเทียมสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานมากกว่า 10-15 ปี ดังนั้นคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มันสมองอัจฉริยะ “ไอน์สไตน์” …แค่คิดก็ไม่ธรรมดาแล้ว

ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ใช้ชีวิตโลดแล่นในหลายประเทศ สร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์แสนอัศจรรย์ และมีสีสันโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ.. แม้ไอน์สไตน์จะจากโลกนี้ไปนานนับครึ่งศตวรรษ แต่เรื่องราวชีวิต แนวคิด ผลงานของเขาก็ยังดำเนินไปอย่างไม่จบสิ้น และแปลกประหลาดเกินกว่าที่หลายคนจะคาดเดาได้ ไอน์สไตน์เสียชีวิต ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1955 ขณะมีอายุได้ 76 ปี ร่างของเขาถูกเผาตามพิธีการทางศาสนาโดยที่ไม่มีคนในครอบครัวตระหนักเลยว่า มันสมองอัจฉริยะได้สูญหายไป โทมัส เอส.ฮาร์วี แพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพได้ลักลอบผ่าสมองของนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่เก็บไว้เพื่อการศึกษา หลังจากแยกสมองออกจากศพแล้ว หมอฮาร์วีได้ทำการแบ่งสมองของไอน์สไตน์ออกเป็น 240 ชิ้น ดองด้วยตัวยาพิเศษและเก็บรักษาไว้ในขวดแก้ว 2 ขวด บางชิ้นส่วนของสมองถูกส่งไปให้นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญตามสาขาต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่นั้นหมอฮาร์วีเก็บเอาไว้เอง สิ่งที่หมอฮาร์วีปฏิบัติต่อศพของไอน์สไตน์นั้นก่อให้เกิดการวิจารณ์กันอย่างอื้อฉาว จนทำให้หมอฮาร์วีต้องอพยพโยกย้ายไปตามที่ต่าง ๆ และหอบหิ้วมันสมองของไอน์สไตน์ติดตัวตามไปด้วย จนกระทั่งปี 1996 หมอฮาร์วีได้ย้ายกลับมาที่พรินสตันอีกครั้งหนึ่ง และตัดสินใจมอบชิ้นส่วนสมองที่เขารวบรวมไว้แก่ นพ.เอเลียต คลอส หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา ที่โรงพยาบาลพรินสตัน การวิจัยค้นคว้าศึกษาความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยการนำชิ้นส่วนสมองทั้งหมดที่ถูกเก็บ ณ โรงพยาบาลพรินสตัน มาถ่ายภาพและประกอบขึ้นเป็นรูปสามมิติ จำลองรูปแบบเหมือนจริงดังกับว่ามันเพิ่งถูกผ่าแยกออกมาจากศพ สิ่งที่ค้นพบก็คือ สมองของไอน์สไตน์มีน้ำหนักเพียง 1,230 กรัมเท่านั้นน้อยกว่าน้ำหนักสมองของมนุษย์โดยเฉลี่ยที่หนักถึง 1,400 กรัม แต่สิ่งที่ไอน์สไตน์ต่างจากมนุษย์ทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คือ “ความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมอง” ที่มีมากกว่าปกติหลายเท่า ยิ่งไปกว่านั้น “สมองของไอน์สไตน์มีเพียงเส้นแบ่งตื้น ๆ ระหว่างสมองข้างซ้ายและข้างขวา” ในขณะที่คนธรรมดาจะมีรอยแยกชัดเจนระหว่างสมองทั้งสองข้าง เผยให้เห็นถึงการรวมกันอย่างกลมกลืนของสมองทั้งสองซีก นักวิจัยชี้ว่าลักษณะที่พิเศษของสมองแบบนี้อาจอธิบายได้ว่า ทำไมไอน์สไตน์ถึงคิดอย่างที่เขาคิด บางทีวิธีคิดของไอน์สไตน์อาจไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้คำบรรยาย แต่อาจผ่านจิตนาการต่าง ๆ ที่เขานึกถึง เสมือนว่ามองเห็นมันด้วยตาเปล่าก็ได้ ทำให้นึงถึงคำพูดของไอน์สไตน์ เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” และ “ความรู้มีขอบเขตจำกัด แต่จินตนาการไร้ขีดจำกัด” นั่นเอง ปัจจุบันนี้สมองของไอน์สไตน์ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่โรงพยาบาลพรินสตัน ที่เดียวกับที่มันถูกขโมยไปเมื่อห้าสิบปีก่อน จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2548

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ธนบัตรแบคทีเรีย

เงิน คือ วัตถุที่คนเราอยากจับต้องมากที่สุดและเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคมากที่สุด  ประเทศจีนใช้เงินหยวน ( Yuan) เม็กซิโกใช้เงินเปโซ ( Pesos ) สหราชอาณาจักรใช้เงินปอนด์ ( Pounds )  ไนจีเรียใช้เงินยูโร ( Euros) ประเทศอเมริกา  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ใช้เงินดอลลาร์ ( Dollars ) แม้อีกหลายประเทศจะใช้ธนบัตรชนิดอื่นแตกต่างกันไปแต่สิ่งหนึ่งที่ธนบัตรเหล่านั้นมีแหมือนกันคือ “เชื้อโรคบนธนบัต” เชื้อแบคทีเรีย บนธบัตรจะคงอยู่กับคุณไปตราบนานเท่านานที่คุณยังใช้ธนบัตรอยู่ เรื่องราวของจุลินทรีย์บนธนบัตรนี้มีการศึกษากันมานานแล้วพบว่าจุลินทรีย์เหล่านั้นสามารถก่อโรคได้ ส่วนใหญ่แล้วแบคทีเรียไม่ก่อโรค แต่พบธนบัตรที่มีแบคทีเรีย E.coli ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์และสัตว์ คนที่ทานอาหารที่มีแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไปอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียอาหารเป็นพิษ  หรือเจ็บป่วยได้ง่าย สิ่งที่เรียกว่า “เงินกระดาษ” นั้นไม่ได้ทำมาจากกระดาษจริง ๆ เกิดจากการพิมพ์ลงบนผ้าซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคอตตอน แต่ละประเทศก็ใช้วัสดุที่เกิดจากโมเลกุลหลายโมเลกุลต่อกันเป็นสาย อยู่ได้ทั้งในรูปของเหลว ของแข็งหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว เงินจาก 3 ประเทศที่พบแบคทีเรียน้อย ล้วนผลิตจากโพลิเมอร์ เงิน 3  ประเทศนั้น คือ ดอลลาร์ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ และเปโซแม็กซิโก แสดงให้เห็นว่า เชื้อโรคมีความสามารถอาศัยอยู่บนโพลิเมอร์ได้น้อยกว่า หากดูจากกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าพื้นผิวธนบัตรจากโพลิเมอร์จะเรียบกว่าผ้าคอตตอนความเรียบนี้เองทำให้เชื้อโรคเกาะได้ยาก ธนบัตร 1 ใบ มีแบคทีเรียสะสมมากกว่า 2.6 หมื่นตัวเสี่ยงทำให้คนป่วยได้ โดยเฉพาะโรคท้องร่วงและปอดบวมการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี  7  ขั้นตอน ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ 50% ปอดบวม 25% พญ.แสงโสม  สีนะวัฒน์  ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่าจากผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุว่า บนธนบัตร 1 ใบ จะมีเชื้อแบคทีเรียสะสมโดยเฉลี่ย 26,000 ตัว เนื่องจากการใช้ธนบัตรผ่านมอืไปหลายต่อ โดยแบคทีเรียเหล่านี้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ จากข้อมูลองค์การยูนิเซฟยังพบว่า ในแต่ละปีมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง 3.5 ล้านคนและโรคปอดบวมอีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึงร้อยละ 50 และจากโรคปอดบวมได้ร้อยละ 25 สำหรับประเทศไทย ผลการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือของประชาชนในปี 2552 พบว่า มีเพียง 61% ที่มีการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร  และถึงแม่จะมีการล้างมือหรือหลังจากใช้ห้องส้วมถึงร้อยละ 87 แต่ยังเป็นการล้างมือด้วยน้ำเปล่าถึงร้อยละ 41 แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการล้างมือด้วยน้ำและสบู่เท่าที่ควร  จำเป็นจะต้องกระตุ้นให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคโดยเฉพาะโรคท้องร่วง ปลอดภัย ปลอดเชื้อ อย่าเบื่อล้างมือ ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome)

ซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง คือ กลุ่มของปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วยโรคอ้วนลงพุง (ไขมันในช่องท้องมากเกิน) ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และระดับไขมันในเลือดสูง ที่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ไขมันในช่องท้องมากเกิน เป็นฆาตกรเงียบที่คุณคาดไม่ถึง คนที่อ้วนลงพุงจะมีไขมันสะสมในช่องท้อง ปริมาณมาก ยิ่งรอบพุงมากเท่าไหร่ ไขมันยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น ไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดเป็น "ภาวะอ้วนลงพุง" ซึ่งเป็นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า  ดังนั้น ยิ่งพุงใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งตายเร็วเท่านั้น" กลุ่มของปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง (เมตะบอลิก ซินโดรม) ผู้ชายวัดรอบเอวได้มากกว่า 90 ซม. และผู้หญิงวัดรอบเอวได้มากกว่า 80 ซม. บวกกับมีปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ใน 4 อย่างต่อไปนี้ ความดันโลหิตสูง 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ระดับไขมันเอชดีแอลคอเลสเตอรอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้หญิง ไขมันในช่องท้องมาก.......อันตรายอย่างไร ไขมันในช่องท้องกระตุ้นให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (ความดื้อต่ออินซูลิน คือ การเปลี่ยนแปลงของ DNA ภายในเซลล์ ทำให้เซลล์สนองต่อฤทธิ์ของอินซูลินน้อยกว่าที่ควร ถ้าเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่ตับ ทำให้ตับไม่สามารถยับยั้งการสร้างกลูโคสได้ (ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง) และถ้าเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เซลล์ไขมันทำให้เซลล์ไขมันไม่สามารถยับยั้งการสลายตัวได้ เกิดกรดไขมันอิสระได้ง่าย (ส่งผลให้มีไขมันไปสะสมยังกล้ามเนื้อและตับเพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินแย่ลง) มีผลทำให้เบต้าเซลล์ของตับอ่อนตาย และนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน ผลเสียของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง การที่น้ำตาลในเลือดสูงจะช่วยเร่งให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเร็วขึ้น เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น 2-3 เท่าตัว ทำให้ผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ หลอดเลือดยืดหยุ่นน้อยลงเป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันโลหิตสูง การอักเสบของหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ลดประสิทธิภาพของร่างกายในการละลายเลือดที่แข็งตัว เป็นที่มาของภาวะหลอดเลือดตีบตัน ทำให้เกิดผลึกไขมัน ( Plaque ) ที่หลอดเลือดเร็วขึ้น นำไปสู่การเกิดหลอดเลือดตีบตันเร็วขึ้น ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดสูง จึงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ คนอ้วนแทบทุกคนมีระดับอินซูลินในเลือดสูง ผลการวิจัยในอเมริกา ปี พ.ศ.2545 พบว่า คนอ้วนได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยให้ออกกำลังกายทุกวันด้วย การเดิน 30 นาทีต่อวัน (5 วันต่อสัปดาห์) และรับประทานอาหารไขมันต่ำ เป็นผลให้น้ำหนักลดลงไปได้ร้อยละ 5 ถึง 7 ของน้ำหนักตัวเมื่อเริ่มต้น และได้ติดตามดูเป็นระยะเวลา 4 ปี พบว่า อัตราการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มบุคคลที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดลงถึง ร้อยละ 5-10 และไขมันในช่องท้องลดได้ร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ดำเนินชีวิตตามปกติ โรคอ้วนลงพุงหรือ Metabolic syndrome เป็นภาวะที่อ้วนโดยเฉพาะส่วนเอวและทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ Metabolic syndrome คำนี้เป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้การอย่างแพร่หลาย ภาวะนี้หมายถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคนี้สมัยก่อนเรียกว่า Syndrome X, insulin resistance syndrome เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง Metabolic syndrome จะต้องเป็นอ้วนชนิดลงพุง กล่าวคือมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 ซม. 80 ซม.ในชายและหญิงตามลำดับ และมีภาวะดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 ,ผู้ที่ได้รับยารักษาความดันโลหิต ระดับ Triglyceride >150 mg% ,หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน ระดับ HDL > 40,50 mg%สำหรับชายและหญิง ,หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน ระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 mg% หรือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 3 ข้อจะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า และพบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่ม 3 เท่า และเกิดโรคเบาหวานเพิ่ม 24 เท่า คนกลุ่มใดที่มักจะเป็น Metabolic syndrome ผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงและมีระดับอินซูลินในเลือดสูง ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ สาเหตุของโรค Metabolic syndrome สาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบแต่น่าจะเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน พันธุกรรม - การเกิดภาวะนี้ขึ้กับพันธุกรรมของแต่ละประเทศ และเชื้อชาติทำให้ระดับอ้วนลงพุ่งไม่เท่ากัน ขึ้นกับการวิจัยของแต่ละประเทศว่าค่าเส้นรอบเอวควรจะเป็นเท่าใด อาหารที่เรารับประทาน พฤติกรรมการดำรงชีวิต ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค อายุ พบว่าอายุมากมีโอกาสเป็นสูง ผู้ที่มีอายุ 20พบภาวะนี้เพียง 10% คนที่อายุ 60 มีอัตราการเกิดร้อยละ 40 เชื้อชาติ คนผิวดำจะมีโอกาสมากกว่าปกติ คนอ้วนจะมีโอกาสมากกว่คนผอม ผู้ที่มีประวัติครอบครัว เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคสูง โรคอื่นๆ เช่นความดันโลหิต ภาวะนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบจึงเกิดโรคหัวใจได้ง่าย ไตจะขับเกลือออกได้น้อยลงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ไขมัน triglycerideที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดตีบ เลือดจะแข็งตัวได้ง่ายทำให้อุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจ เป็นโรคเบาหวานได้ง่าย การรักษา เมื่อผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มโรค Metabolic Syndrome จะต้องได้รับการรักษาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคเบาหวาน และจะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอื่นด้วย การรักษาโดยการปรับพฤติกรรม การออกกำลังกาย วันละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 วันจะลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน การับประทานอาหารสุขภาพ ลดอาหารไขมันลง และรับอาหารพวกแป้งไม่เกินร้อยละ 50 ของอาหารที่รับประทาน ให้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่นอาหารธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ถั่ว ลดอาหารพวกเนื้อสัตว์ ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันปามล์ งดกระทิ ลดน้ำหนัก จากการศึกษาของประเทศฟินแลนด์และอเมริกาพบว่าการลดน้ำหนักลงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนัก จะชลอหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ลดสุรา การรักษาโดยการใช้ยา เมื่อปรับปรุงพฤติกรรมแล้วปรากฎว่ายังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันหรือความดันโลหิตได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาในการควบคุม การรักษาไขมันในเลือด เป้าหมาย ลดระดับไขมัน Triglyceride เพิ่มระดับไขมัน HDL ลดระดับไขมัน LDL ยาที่ใช้รักษา Fibrate (PPAR alpha agonists)จะลดไขมันและความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ Statin ใช้ลดไขมันโดยเฉพาะ ApoB-containing lipoproteins และมีรายงานว่าลดอุบัติการของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การใช้ยา 2 ชนิดร่วมกันอาจจะเกิดผลข้างเคียงจากยา การรักษาความดันโลหิต ควรจะเริ่มรักษาเมื่อความดันโลหิต เท่ากับ 140/90 มม.ปรอท สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรจะเริ่มรักษาเมื่อความดันโลหิต 130/80 มม.ปรอท ยาที่ใช้รักษา เชื่อว่ายาในกลุ่ม Angiotensin converting enzyme inhibitors[เช่น enarapril,perindopril ]and angiotensin receptor blockers[cozaar,valsartane ] จะช่วยลดโรคแทรกซ้อน แต่จากหลักฐานปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากยาลดความดันโลหิตมากกว่า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นับวันตกไข่ นับอย่างไรกันแน่

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ที่คงมีคำถามเช่นนี้อยู่ในใจ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ไข่จะตก?  ต้องมีเพศสัมพันธ์กันช่วงไหน? จึงจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงสุด   แต่ก่อนจะเริ่มนับวันไข่ตกลองมาทำความเข้าใจกับประจำเดือนกันก่อนค่ะ                ประจำเดือน เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยปกติรอบเดือนจะมาทุก 28 ± 7 วัน นั่นคือบางคนอาจมีรอบเดือนสั้นทุก 21 วันหรือรอบเดือนยาวสุด 35 วัน ระยะเวลาหลังจากไข่ตกจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนจะค่อนข้างคงที่ที่ 14 ± 2 วัน ดังนั้นรอบเดือนยาวหรือสั้นจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำให้ไข่เจริญเติบโตพร้อมปฏิสนธิ  คุณควรจดวันแรกที่มีประจำเดือนไว้ทุกครั้ง เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการคาดคะเนวันไข่ตก  วันที่ควรมีเพศสัมพันธ์  หรือช่วยในการคุมกำเนิดได้หากไม่ต้องการมีบุตร                ประจำเดือน ถูกควบคุมโดยฮอร์โมน FSH ( Follicle Stimulating Hormone ) และ LH ( Luteinising Hormone ) ซึ่งหลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ในช่วงแรกๆของการมีประจำเดือน  FSH จะหลั่งออกมามาก เพื่อกระตุ้นให้ไข่ และถุงไข่ (  Follicle ) มีการเจริญเติบโต ครั้งแรกๆจะมีไข่โตขึ้นมาหลายฟอง แต่จะมีไข่เพียง 1 ฟองเท่านั้นที่ถูกคัดเลือกให้มีการเจริญเติบโตต่อไป ส่วนฟองที่เหลือจะฝ่อไม่มีการเจริญต่อ                ในขณะที่ไข่เจริญเติบโต ถุงไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (  Estrogen ) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเยื่อบุผนังโพรงมดลูก  ช่วงกลางรอบเดือนใกล้ไข่ตก ต่อมใต้สมองจะหลั่ง LH ออกมาเป็นจำนวนมาก มีหน้าที่ช่วยให้ไข่เจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะปฏิสนธิ ถุงไข่แตกออก ไข่หลุดออกมาจากถุงไข่ ซึ่งเรียกว่า “ ตกไข่ “ นั่นเอง ไข่จะถูกจับเข้าไปในท่อนำไข่ และถุงไข่ที่ยังคงเหลืออยู่เรียกว่า คอร์ปัสลูเตียม (  Corpus luteum ) จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (  Progesterone ) เพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ไข่ที่ตกมาจะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ หากมีเชื้ออสุจิเข้าไปพบ จะเกิดการปฏิสนธิและแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน  ตัวอ่อนจะเดินทางมายังโพรงมดลูกที่เตรียมไว้แล้ว และฝังตัวเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ใช้เวลาเดินทางเข้าโพรงมดลูก 3 วัน ใช้เวลาฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกอีก 3 วัน  คอร์ปัสลูเตียมจะทำงานต่อไป  แต่หากไม่เกิดการปฏิสนธิ คอร์ปัสลูเตียมจะหยุดสร้างฮอร์โมน เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกหลุดออกมาพร้อมเลือดเป็นประจำเดือน   การนับรอบเดือน จะนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนรอบถัดไป  ในผู้หญิงที่มีรอบระดูสม่ำเสมอจึงสามารถคำนวณวันตกไข่ได้ โดยจดวันแรกที่มีประจำเดือน แล้วนับย้อนหลังไปอีก 14 วัน นั่นคือวันที่ไข่ตกในรอบเดือนนั้น หรือง่ายๆก็คือ เกิดการตกไข่ 14 วันก่อนที่จะมีประจำเดือน   เช่น รอบเดือน 28 วัน จะตกไข่วันที่ 14 ของรอบเดือน, รอบเดือน 30 วัน จะตกไข่วันที่  16 ของรอบเดือน คนที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอมักจะมีปัญหาเรื่องการตกไข่ ปัจจุบันมีชุดทดสอบการตกไข่ โดยตรวจวัดระดับ LH จากปัสสาวะ  ในช่วงใกล้ไข่ตก LH จะเพิ่มมากขึ้น และสูงสุดในวันที่ไข่ตก (  LH surge ) จะเกิดแถบสีขึ้นจางๆ แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าใกล้จะตกไข่ ขอแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งขึ้นในช่วงนี้ และแถบสีจะจางลงอีกครั้งหลังจากตกไข่ไปแล้ว ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ อาจทำเองดูก่อน ถ้ายังไม่ตั้งครรภ์หรือตรวจไม่พบว่ามีแถบขึ้นแบบไข่ตก ก็ต้องใช้วิธีตรวจเลือดแทน ซึ่งจะให้ความแม่นยำและละเอียดกว่าการตรวจปัสสาวะ   โดย ธีวรา  พงษ์นิมิตร  นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการเด็กหลอดแก้ว

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มาฝึกดูวันไข่ตกกันเถอะ

หลังจากแต่งงานแล้ว ฮันนีมูนกันเรียบร้อย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระยะหนึ่งก็พร้อมแล้วที่จะมีโซ่ทองคล้องใจ เตรียมร่างกายพร้อมแล้ว ออกกำลังกายแล้ว รับประทานวิตามินเตรียมการตั้งครรภ์เรียบร้อย อยากจะปล่อยปุ๊บติดปั๊บจังเลย เค้าว่ากันว่าถ้าเราทำการบ้านตรงวันไข่ตก โอกาสตั้งครรภ์ก็จะสูงที่สุด ทำยังไงดีนะเราถึงจะรู้วันไข่ตก เคยได้ยินว่าถ้านับหน้า 7 หลัง 7 จะไม่ท้อง แล้วถ้าอยากท้องล่ะจะต้องหน้าหลังยังไง เคยได้ยินว่าไข่ตกกลางรอบ เอ..แล้วกลางรอบนี่เหมือนกลางเดือนมั๊ยนะ มันหมายถึงวันที่15 ของปฏิทินรึเปล่านะ อูยยยย...ยากจัง หมอคะ..ช่วยหนูทีค่ะ ช่วยสอนดูวันไข่ตกหน่อยนะคะ วิธีดูวันไข่ตกมีหลายวิธีค่ะ วิธีที่ง่ายที่สุด และเป็นวิธีเริ่มแรกเลย คือ นับวันจากรอบประจำเดือน แต่ก่อนอื่นเลย ต้องได้ประวัติย้อนหลังรอบเดือนอย่างน้อย 3-6 เดือนค่ะ ยิ่งได้ประวัติย้อนหลังนานเท่าไหร่ก็จะคำนวนได้ใกล้เคียงความจริงที่สุดค่ะ โดยนับวันที่เริ่มมีเลือดออกไม่ว่าจะเป็นเลือดสด เลือดคล้ำ มูกเลือด วันแรกนับเป็นวันที่ 1 และนับต่อไปจนถึงก่อนวันแรกของรอบต่อไป 1 วัน จำนวนวันที่นับได้นำมาเป็นความยาวของ 1 รอบเดือน ตัวอย่างเช่น ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 12 กค เท่ากับรอบนั้น 28 วัน ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 4 กค เท่ากับรอบนั้น 20 วัน ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 31 กค เท่ากับรอบนั้น 47 วัน เมื่อคำนวนได้ในรอบ 3-6 เดือน เราก็จะทราบรอบเดือนว่าอยู่ประมาณกี่วัน โดยทั่วไปรอบที่ปกติคือ 28-30 วัน ถ้าคนที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ ไข่จะตกวันที่ 14-16 ของรอบเดือน เราก็ปฏิบัติภารกิจสำคัญ นัดเดตให้ไข่กับสเปริมเจอกันได้เลยค่ะ โดยปฏิบัติวันเว้นวันในช่วงวันไข่ตก แล้วถ้ารอบเดือนไม่เท่ากัน จะทำยังไงดีนะ กรณีแบบนี้ก็จะยากขึ้นเล็กน้อยค่ะ จะต้องเอารอบที่สั้นที่สุดและยาวที่สุดลบ 14 ยกตัวอย่างเช่น รอบที่สั้นที่สุด 24 วัน ยาวที่สุด 40 วัน คำนวณแล้วได้เป็นตัวเลข 10และ 24 นั่นหมายความว่า ไข่จะตกอยู่ในช่วงวันที่ 10-24 ของรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้างนะคะ บอกไม่ได้เลยว่า ใน 15 วันนี้(10-24) ไข่จะตกวันไหน แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวัน อาจนับทุกวันคู่ 10,12,14,16,18,20,22,24 หรือนับเลขคี่ 13,15,17,19,21,23,25 ก็ได้ค่ะ ถ้าในคนที่รอบเดือนห่างมากและแตกต่างกันมากในแต่ละเดือนก็ยิ่งลำบากค่ะ บางคนบอก ไม่สามารถปฏิบัติตามที่หมอบอกได้หรอกนะคะ วันเว้นวันเดือนละตั้ง7-8 รอบ บางคนนับตามที่แนะนำแล้วต้องทำการบ้านตั้งสิบกว่ารอบต่อเดือน แล้วถ้าไม่ท้องต้องทำแบบนี้อีกตั้งกี่เดือนกันนะ อืม..น่าเห็นใจจริงๆค่ะ ดังนั้นถ้าอยากให้การนับวันมีความคลาดเคลื่อนน้อยลงก็ต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มค่ะ ตัวช่วยที่ง่ายที่สุดคือ ชุดตรวจไข่ตก ชุดตรวจไข่ตก (LH ovulation test) ในปัจจุบันมีชุดตรวจการตกไข่ โดยจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งปกติแล้วแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย จนถึงระยะ “ก่อนเวลาตกไข่” ฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการตกไข่จะเกิดภายในเวลา 12-48 ชั่วโมง การใช้ชุดตรวจไข่ตก ง่ายมากค่ะ แค่ตรวจด้วยปัสสาวะ โดยเริ่มตรวจที่วันที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ เช่นตัวอย่างข้างต้นสำหรับคนที่รอบไม่สม่ำเสมอ ระยะวันไข่ตกน่าจะอยู่ประมาณวันที่ 10-24 เราก็จะเริ่มตรวจวันที่ 10 ของรอบ โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจคือ บ่าย 2 โมงไม่ใช่ตอนเช้าเหมือนการตรวจตั้งครรภ์ ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงช่วงบ่ายโมง และควรทำการเก็บปัสสาวะในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน จำกัดปริมาณการบริโภคของเหลวก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะปัสสาวะที่เข้มข้นจะทำให้ได้ผลที่ชัดเจนมากที่สุด ถ้าเทสขึ้นบวกหรือขึ้น 2 ขีด หมายความว่าไข่น่าจะตกแน่ใน 12-24 ชม ก็ปฏิบัติคืนนั้นได้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่ขึ้นก็ตรวจทุกวันไปเรื่อยๆจนกว่าเทสจะบวกแล้วค่อยปฏิบัติค่ะ ชุดทดสอบที่ขายกันทั่วไปนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้ แบบจุ่ม (Strip) เมื่อนำชุดทดสอบออกจากซอง ให้จุ่มแถบทดสอบด้านที่มีหัวลูกศรลงในถ้วยปัสสาวะนานประมาณ 5 วินาที นำแถบทดสอบวางในแนวราบที่แห้งและสะอาด รอประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผล ชุดทดสอบแบบธรรมดาทั่วไป จำนวน 20 แผ่น ราคาประมาณ 300-370 บาท ส่วนแผ่นยี่ห้อ iBabi ใน 1 กล่องมี 5 ชุดราคาประมาณ 170-190 บาท แบบตลับหยด (Cassette) เมื่อนำชุดทดสอบออกจากซอง วางตลับในแนวราบ ใช้หลอดดูดปัสสาวะหยดลงในหลุมทดสอบประมาณ 3-4 หยด รอประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผล (ยี่ห้อ Check One ราคาประมาณ 600-800 บาท) แบบปัสสาวะผ่าน (Midstream) เมื่อนำชุดทดสอบออกจากซอง ถอดฝาครอบออกจากแท่งทดสอบ ให้ปัสสาวะผ่านตรงส่วนปลายของแท่งทดสอบประมาณ 7-10 วินาที รอประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผล (ยี่ห้อ Check One ราคาประมาณ 340-380 บาท ยี่ห้อ Clearblue ราคาประมาณ 1,500-2,000 บาทโดยเพิ่มการแสดงผลแบบดิจิตัล) วิธีอื่นๆที่ช่วยดูวันไข่ตก ได้แก่ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT) 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่ อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง หลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณเล็กน้อยเมื่อเกิดการตกไข่ ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เราต้องทำการตรวจวัดอุณหภูมิของตัวเองทุกเช้าหลังจากนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง โดยหลังจากตื่นนอน ห้ามทำกิจกรรมใดๆไม่ว่าจะเป็นการลุกไปดื่มน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ ต้องวัดอุณหภูมิให้เสร็จก่อน แล้วทำการจดบันทึกเอาไว้ การวัดปรอทสามารถวัดได้ทุกทางตามสะดวก ทั้งทางรักแร้ ปาก ทวารหนัก หรือช่องคลอด ขึ้นกับปรอทที่ใช้วัด ควรจะวัดในเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน ถ้าสามารถวัดล่วงหน้าติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน จะประมาณวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่าง : จากกราฟอุณหภูมิร่างกายด้านล่าง จะเห็นว่าวันที่ 1-13 อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำและคงที่ ซึ่งเป็นช่วงก่อนตกไข่ และวันที่ 14 ที่เป็นช่วงตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงมาต่ำสุด และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวัดถัดไป ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตกไข่ไปแล้ว และพอถึงวันที่ 29 เมื่อเริ่มมีประจำเดือนในรอบถัดไป อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงอีกครั้ง การสังเกตมูกปากมดลูก (Cervical mucus) ฮอร์โมนเอสโตรเจนในแต่ละรอบเดือนจะมีผลทำให้มูกปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามแต่ละวันของรอบเดือน โดยช่วงที่ไข่ใกล้ตกคือช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นมากที่สุด ดังนั้นมูกจะมีความเหนียวและยืดหยุ่นได้มากที่สุด มูกที่ปากมดลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 5-6 ระยะตามการแบ่งทางการแพทย์ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ก่อนไข่ตก : หลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ ช่วงแรกจะไม่มีมูก ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองอ่อนๆจำนวนไม่มากนัก ระยะตกไข่ : มูกจะมีปริมาณมาก มีลักษณะใสและลื่น คล้ายไข่ขาวดิบ สามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ตัวอสุจิสามารถผ่านมูกนี้เข้าไปสู่โพรงมดลูกได้สะดวก ช่วยให้สเปิร์มแหวกว่ายเข้าไปได้ง่า หลังตกไข่ : มูกจะมีจำนวนน้อยลง มีลักษณะขุ่นข้นและดึงยืดไม่ได้มาก แล้วถ้าจะต้องตรวจเอง จะต้องตรวจยังไงกันนะ การตรวจมูกที่ปากมดลูกทำได้โดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด และสังเกตมูกที่ติดนิ้วออกมา แต่วิธีการสังเกตมูกนี้ก็นับว่าค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และหลาย ๆ คนอาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ยิ่งถ้ามีอาการอักเสบในช่องคลอดหรือมีการร่วมเพศด้วยแล้ว มูกที่ปากมดลูกก็อาจเปลี่ยน ทำให้ตรวจได้ยากขึ้นด้วย การตรวจสอบน้ำลาย (Ferning test) เป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่า ในการตรวจสอบรูปร่างของน้ำลายเพื่อหาช่วงเวลาตกไข่ เชื่อว่าระดับความเข้มข้นของ electrolytes ในน้ำลาย มีความผันตรงกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะสูงสุดระยะก่อนตกไข่ ระดับอิเลคโตรไลท์ในน้ำลายจะทำให้เกิดผลึกที่มีรูปร่างคล้ายใบเฟิร์นขึ้นมา จึงทำให้เราสามารถตรวจสอบหาวันตกไข่ได้ เพียงแค่แตะน้ำลายลงบนเลนส์ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วส่องดูรูปร่างของผลึกบนเลนส์ แต่อาจจะสังเกตรูปร่างได้ยาก หากไม่มีความชำนาญเพียงพอ ช่วงไม่มีการตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นจุด ๆ หรือเส้น ๆ ช่วงใกล้วันตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะคล้ายใบเฟิร์นเล็กน้อยบางส่วน ผสมกับจุด ๆ และเส้น ๆ แสดงว่าอยู่ในช่วงที่กำลังจะเกิดการตกไข่ภายใน 3-4 วัน ช่วงวันตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นรูปใบเฟิร์นปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แสดงว่าในช่วงนี้กำลังมีการตกไข่เกิดขึ้น เป็นยังไงบ้างคะ อ่านมาครบแล้ว ยากมั๊ยคะที่จะฝึกดูวันไข่ตกของตัวเอง ลองดูนะคะ ถ้าลองนับวัน ดูวัน ตรวจวันด้วยวิธีต่างๆอย่างจริงจังแล้วไม่ท้องใน 6-12 เดือน แนะนำว่าคงต้องหาเวลาว่างพบแพทย์ผุ้เชี่ยวชาญการรักษามีบุตรยากโดยตรงแล้วล่ะค่ะ เพราะหมายถึงว่าอาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมค่ะ หมอขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านประสบความสำเร็จได้โดยง่ายนะคะ หมอคอยเป็นกำลังใจให้ค่ะ ถ้าไม่สำเร็จเราค่อยมาเจอกันนะคะ เอ..หรือถ้าสำเร็จแล้ว เราก็ยังมาเจอกันได้อยู่ดี เพราะหมอก็ดูแลทั้งกลุ่มที่มีลูกยากให้มีง่าย และกลุ่มที่มีลูกแล้วก็ยังต้องมาฝากครรภ์กันอยู่ดีเนอะ ไม่ว่าจะมียากง่ายยังไง ก็ขอให้ทุกครอบครัวมีความสุข สมหวัง เป็นครอบครัวที่อบอุ่นนะคะ เรียบเรียงโดย พญ. อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม