ภาวะหัวใจโตเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัยและการรักษามีแนวทางใดบ้าง

ภาวะหัวใจโตเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัยและการรักษามีแนวทางใดบ้าง   ภาวะหัวใจโต น.พ.เสมชัย เพาะบุญ  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี   ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกตินั้น อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น เพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือ ลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนา ขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้ขนาดโตขึ้น        มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจที่เป็นดาราประจำก็ คือ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย         ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการ ก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ และอาการจาก หัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น การตรวจร่างกายจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโต มากกว่าที่จะบอกขนาดของหัวใจ การตรวจที่จำเป็นคือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ เอกซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก หรือ เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน จะแสดง ให้เห็น จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ หมายความว่า แม้คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือ ไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโต แต่จริงๆแล้วไม่โตก็ได้ เอกซเรย์ ทรวงอกบอกขนาดหัวใจได้ดีพอสมควร แต่ก็ผิดพลาดได้ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับเทคนิค ระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริงๆแล้วขนาดหัวใจปกติ ไม่โตเลย ในทางกลับกัน เอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก ก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่า การตรวจเหล่านี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจพิเศษเหล่านี้หลายๆอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการให้ความเห็นและรักษา    การตรวจวินิจฉัย        ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดในการตรวจเลย วิธีดูขนาดหัวใจที่ยอมรับกันว่าดีมากในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ Echocardiography เครื่องมือจะส่งคลื่นเสียง ความถี่สูง ทะลุผ่านอวัยวะต่างๆที่จะตรวจเมื่อผ่านส่วนต่างๆคลื่นเสียงเหล่านี้จะสะท้อนกลับ ความสามารถในการสะท้อนกลับขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อเยื่อที่มันผ่าน เช่น เลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เหล่านี้ให้สัญญาณการสะท้อนกลับแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์จะบันทึกสัญญาณสะท้อนกลับเหล่านี้ นำมาสร้างภาพขึ้นเห็นเป็นอวัยวะที่แพทย์กำลังตรวจอยู่ ดังนั้นหากตรวจที่หัวใจ ก็จะเห็นห้องหัวใจ ซึ่งวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่ เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจ เห็นกล้ามเนื้อหัวใจ และ ความสามารถในการบีบตัวว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงให้รายละเอียดได้มากกว่าการตรวจอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่เห็น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และเห็นภาพไม่ชัดนักในผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคปอด (ยกเว้นการตรวจโดยผ่านหลอดอาหาร) ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ           ผู้ที่มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือตรวจร่างกายพบระบบการทำงานหัวใจผิดปกติ ควรได้รับการตรวจนี้ เพื่อดูความสามารถ ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เอกซเรย์พบว่า หัวใจโตกว่าปกติบางราย ควรดูให้แน่ใจว่า โตจริงไหม ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์โรคหัวใจ จะพิจารณาเป็นรายๆ ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน หากพบว่า หัวใจโตจากเอกซเรย์ก็ควรตรวจละเอียดเช่นกัน เนื่องจาก ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการ การรักษา          การรักษาภาวะหัวใจโต คือการรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น แม้ว่าการรักษาอาจ ไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจนจากเอกซเรย์ในบางราย แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โตขึ้นเรื่อยๆได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร.0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เตือนภัยผิวที่แฝงมากับช่วงฤดูฝน

เตือนภัยผิวที่แฝงมากับช่วงฤดูฝน เตือนภัยผิวที่แฝงมากับช่วงฤดูฝน นพ.มนตรี วงศ์นิราศภัย  อายุรแพทย์โรคผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์รพ.วิภาวดี        ช่วงฤดูฝนตกแบบนี้ มักเจอกับอากาศที่อับชื้น ทำให้บางครั้งอาจเกิดผื่นขึ้นบนผิวหนังได้ ปัญหาที่พบได้เสมอในช่วงหน้าฝนมักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา เนื่องจากลักษณะเฉพาะของเชื้อโรคกลุ่มนี้ที่เจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่ชื้นแฉะ ผื่นจากเชื้อรามีหลากหลาย แต่ผื่นที่มักพบได้บ่อยๆมีดังนี้       โรคเกลื้อน มีลักษณะวงด่างๆ สีขาวหรือสีเนื้อ ในบางคนอาจเป็นวงสีน้ำตาล ร่วมกับมีขุยสีขาวเล็กๆ มักเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณหน้าอกและลำตัว อาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ ผื่นชนิดนี้เป็นลักษณะของโรคเกลื้อน ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่นที่สุขอนามัยไม่ค่อยดี ไม่ชอบอาบน้ำ เชื้อเกลื้อนเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Malassezia Furfur สามารถพบได้บนผิวหนังของคนทั่วไป แต่ปกติแล้วไม่ก่อโรค        ในคนที่น้ำหนักมาก หรือภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน อาจเกิดผื่นสีแดงขึ้นตามบริเวณข้อพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือใต้ราวนม ร่วมกับมีอาการคันมาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา (Candida) สามารถรักษาให้หายได้โดยการทายาฆ่าเชื้อราทั่วไป แต่มักเป็นซ้ำได้บ่อย เพราะยีสต์ชนิดนี้พบได้ในร่างกายของคนเรา เช่น บริเวณช่องปาก ระบบทางเดินอาหาร และช่องคลอด       สำหรับบางพื้นที่ที่ฝนตกมาก ๆ อาจมีน้ำท่วมขัง ทำให้ต้องเดินย่ำน้ำชื้นแฉะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรรีบทำความสะอาดเท้า ไม่อย่างนั้นอาจพบว่าผิวตามซอกนิ้วเท้า ลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล มีน้ำเหลืองแฉะที่ผิว ที่เรียกว่าโรคน้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้า เกิดจากเชื้อกลาก ซึ่งอยู่ตามสิ่งแวดล้อม เช่น หิน ดิน ทราย รวมทั้งในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ผื่นที่เท้าอาจจะลามไปที่ลำตัวส่วนอื่นได้ ที่พบบ่อยคือทำให้เกิดผื่นบริเวณขาหนีบ เรียกว่า สังคัง        โรคเท้าเหม็น มีลักษณะคือฝ่าเท้าจะเห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ หรือเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มักพบในผู้ชายที่ใส่ถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์หนาๆ ซึ่งมักจะแห้งยากในหน้าฝน       ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าสาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากการย่ำน้ำสกปรก หรือปล่อยให้ผิวหนังอับชื้นอยู่เป็นระยะเวลานาน จนทำให้เกิดโรค ดังนั้นการป้องกันอันดับแรกคือ หลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำน้ำ หรือตากฝน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับถึงที่พัก ควรรีบถอดเสื้อผ้า แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย โดยใช้สบู่ หรือสารทำความสะอาดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดพิเศษแต่อย่างใดเพราะอาจแรงเกินไป เสร็จแล้วใช้ผ้าซับ หรือใช้พัดลมเป่าให้แห้ง การโรยแป้งฝุ่นสามารถช่วยลดความชื้นและการเสียดสีได้ นอกจากนี้แล้วการใส่รองเท้าแตะบ้างก็ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การจัดการกับความเครียด (Stress Management)

การจัดการกับความเครียด (Stress Management) การจัดการกับความเครียด (Stress Management)  นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล จิตแพทย์รพ.วิภาวดี 1. การหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ 2. การฝึกนั่งสมาธิ 3. อยู่สิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ซ้ำซากจำเจ 4. ฟังเพลง หรือเล่นดนตรี  5. การหาเวลาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ 6. มีการนัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือญาติ 7. รู้จักระบายหรือพูดคุยถึงปัญหาที่มีให้ผู้อื่นฟัง 8. พึ่งศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำบุญ ไหว้พระ 9. การหายใจแบบโยคะ ซึ่งจะต้องมีสมาธิจดจ่อกับการกำหนดลมหายใจ  10. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ 11. หางานอดิเรกทำ 12. การนวด เป็นการช่วยผ่อนคลายบางจุด 13. การฝังเข็ม 14. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 15. การวางแผนจัดการกับปัญหาที่ทำให้เครียดบ่อยๆ 16. สนุกกับงานที่ทำ 17. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้าเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง 18. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว 19. การฝึกความคิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี 20. ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก (Childhood pneumonia)

โรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก (Childhood pneumonia)           ปี 2552 เป็นปีแรก ที่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ วัน2 พฤศจิกายน  ของทุกปี  เป็นวันปอดอักเสบโลก  (World Pneumonia Day) ทำไมโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวมในเด็ก จึงมีความสำคัญ ลองมาทำความเข้าใจ กับโรคนี้กันค่ะ   โรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก  (Childhood pneumonia)  คืออะไร??      คือ การอักเสบ ติดเชื้อของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมและถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ลดลง • โรคปอดบวมเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เกิดได้กับคนทุกวัย เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการ หรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย  • ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในช่วงปี 2000 ทั่วโลกมีเด็กที่เป็นปอดอักเสบ ประมาณ 156 ล้านคน  ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 95 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา   ผู้ป่วยร้อยละ 8.7 มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล   โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละปีจะมีเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละ 2 ล้านคน  (ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตจากปอดอักเสบ 1 คน ทุก 15 วินาที)   ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (ข้อมูลจาก  WHO 2009)    • ในประเทศกำลังพัฒนา   พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว 12-15 เท่า  • สำหรับประเทศไทย พบว่า โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่พบได้มากและยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ  เพราะอัตราป่วยและอัตราตายสูง  ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2542 – 2548  อัตราการเกิดโรคปอดอักเสบในเด็กไม่ได้ลดลง และอัตราตายในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ก็ไม่ได้ลดลงเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว  (อัตราการป่วยของโรคปอดอักเสบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 6.2 ต่อปี)  นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจจะประสบกับภาวะแทรกซ้อน หากมิได้แก้ไขจะทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กและก่อให้เกิดความพิการขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราตายสูงที่สุด    โรคปอดอักเสบเกิดจากอะไร?? • สาเหตุของโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อรา พยาธิหรืออาจเกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารที่สูดดมเข้าไป  • จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดปอดอักเสบในเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus  pneumoniae) และ เชื้อฮิบ  (Hib)  ส่วนเชื้อไวรัสส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ respiratory syncytial virus (RSV) ซึ่งในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน  • ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส  • มักเกิดจากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อ ส่วนใหญ่แล้วยังไม่มียาต้านไวรัส   ยกเว้นไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสโดยสร้างภูมิต้านทานมาทำลายเชื้อไวรัส   ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาจดีขึ้นได้เอง และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ • ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น  พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด  เพราะเชื้อแบคทีเรียนี้อาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก  ลำคอของคนเรา  เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือเยื่อบุดังกล่าวถูกทำลาย  เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลมส่วนปลายหรือถุงลมปอด ถ้าจำนวนเชื้อที่สูดสำลักเข้าไปที่ถุงลมมมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดออกได้ เชื้อเหล่านี้จะแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมา ทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนได้  • เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น การสูดหายใจเข้าไป การสำลัก การกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด  •  ในภาวะปกติระบบหายใจในร่างกายจะมีกลไกในการป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าสู่หลอดลมหรือถุงลมปอดโดยร่างกายมีจมูกเป็นอวัยวะในการกรองเชื้อโรค และฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ปอดและขับสิ่งต่างๆ ออกจากร่างกายโดยการไอ นอกจากนี้ในถุงลมปอดยังมีกลวิธีในการกำจัดเชื้อหลายอย่าง เช่น เชื้ออาจถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยมีเม็ดเลือดขาวมากินเชื้อโรคหรือมีระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อโรค เมื่อความสมดุลระหว่างเชื้อก่อโรคและกลไกในการป้องกันเชื้อโรคของระบบหายใจเสียไป ผู้ป่วยก็มีโอกาสเกิดโรคปอดอักเสบได้  • ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สมองและกระแสเลือด เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น    โรคปอดอักเสบในเด็กมีลักษณะอาการอย่างไร?? • อาการของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค  • อาการที่สำคัญของโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่ ได้แก่   ไข้ ไอ   หายใจหอบเหนื่อย • ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวนและงอแง ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้  • อาการในเด็กทารกส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ  • ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส มักมีอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นนำมาก่อน เช่น ไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ ต่อมาผู้ป่วยเริ่มมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว จมูกบาน ซี่โครงบาน และตัวเขียวได้ ส่วนมากอาการไม่รุนแรง อาจดีขึ้นได้เองและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ   • ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมักจะมีอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ดูป่วยหนัก ไอมากและมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วยได้    ผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบ   •       เด็กที่อายุน้อย  •       เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กคลอดก่อนกำหนด  •       เด็กที่มีภาวะทุโภชนาการ  •       เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางสมอง •       เด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรืออยู่ในชุมชนแออัด สุขาภิบาลไม่ดี  •       เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง  •       เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กมากๆ    การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบในเด็ก •       จากการซักถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจระบบทางเดินหายใจ  •       องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้อัตราการหายใจเป็นการประเมินผู้ป่วยที่มีประวัติไข้และไอเป็นอาการนำ   อัตราการหายใจเป็นตัวอาการบ่งชี้ที่มีความไวและมีความจำเพาะที่ดีที่สุดในการให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี    อัตราการหายใจที่ผิดปกติในกลุ่มอายุต่างๆ ในเด็กมีดังต่อไปนี้  •       อายุแรกเกิดถึง 2 เดือน      อัตราการหายใจไม่ควรเกิน   60 ครั้ง/นาที  •       อายุ 2 เดือนถึง 12 เดือน   อัตราการหายใจไม่ควรเกิน   50 ครั้ง/นาที  •       อายุ 12 เดือน ถึง 5 ปี        อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 40 ครั้ง/นาที  •       การตรวจหาเชื้อก่อเหตุทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจเสมหะ การเพาะเชื้อ การตรวจน้ำเหลือง และการตรวจแอนติเจน  •       ในปัจจุบัน เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Pandemic influenza) และไวรัสบางชนิด จึงนิยมตรวจแอนติเจนของไวรัสบางชนิด เช่น RSV และ INFLUENZA ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส  •       การตรวจภาพรังสีทรวงอก (เอ็กซเรย์ปอด) •       ในบางรายที่มีปัญหาในการวินิจฉัยอาจพิจารณาส่องกล้องผ่านทางหลอดลม    การรักษาโรคปอดอักเสบในเด็ก •       ขึ้นกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค  •       ผู้ป่วยปอดอักเสบและมีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น มีไข้ ไอ และหายใจเร็วไม่มากนัก แพทย์อาจจะให้การรักษาให้ยาปฏิชีวนะรับประทาน (ในกรณีที่สงสัยว่าปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) และนัดผู้ป่วยมาดูเป็นระยะๆ ได้  •       ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมักได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ ภาวะพร่องออกซิเจน และยังอาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือด •       การให้ออกซิเจน   แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่เขียวหอบมาก ซึมกระวนกระวาย ไม่ยอมกินนมและน้ำ หายใจเร็วมากกว่า 70 ครั้งต่อนาที •       การให้น้ำและอาหาร  ต้องให้พอเพียงกับความต้องการของผู้ป่วย  ช่วยลดความเหนียวของเสมหะ และสามารถขับเสมหะออกจากร่างกายโดยการไอได้ง่ายขึ้น ลดการคั่งค้างของเสมหะที่อุดกั้นทางเดินหายใจในเด็กได้และยังเป็นการทดแทนการสูญเสียน้ำจากร่างกายผู้ป่วยซึ่งเกิดจากภาวะไข้สูง หายใจหอบเร็ว •       ยาปฏิชีวนะ  เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ  การเลือกยาในกลุ่มใดต้องพิจารณาถึงอายุของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสเชื้อ โอกาสที่เชื้อจะดื้อยา และอาศัยข้อมูลจากการซักถามประวัติอาการอื่นๆประกอบ  •       การรักษาอื่น ๆ  คือ ยาลดไข้ การเคาะปอดเพื่อให้เสมหะออกได้ การให้ยาขยายหลอดลม ฯลฯ   ผู้ป่วยปอดอักเสบในเด็กที่มีอาการหนักต้องรับไว้ในโรงพยาบาล  •       ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 6 เดือน •       ผู้ป่วยที่มีอาการหอบมาก  ต้องการออกซิเจน •       ผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน •       ผู้ป่วยที่กินยาแล้วไม่ได้ผล •       ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ •       พ่อแม่ไม่แน่ใจว่าจะดูแลเด็กได้ดีพอหรือไม่   การพยากรณ์โรค •       ผู้ป่วยมีโอกาสหายดีหรือไม่  ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อน และสุขภาพพื้นฐานของตัวผู้ป่วยเอง •       บางรายงานพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบในวัยเด็กจะมีความสัมพันธ์กับสมรรถภาพปอดที่ลดลงกว่าปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบจากเชื้อที่รุนแรง เช่น เชื้อหัด เชื้อไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ หลอดลมบางส่วนเสียแบบถาวร (Bronchiectasis)  เป็นต้น   ทำอย่างไรจึงจะปกป้องลูกน้อยจากโรคปอดอักเสบได้?? •       การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรงและสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยการล้างมือเป็นประจำจะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ หรือใส่หน้ากากอนามัย •       ควรเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ •       หากบุตรหลานของท่านมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที •       ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวม (Hib vaccine, Pneumococcal vaccine) รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)                           เรียบเรียงโดย  พญ.ปราณี  สิตะโปสะ   กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ  ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกายอย่างไร ให้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย

ออกกำลังกายอย่างไร ให้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย            ลองอ่านเรื่อง ที่ลงในวารสาร NYT ต้นเดือนตุลาคม 2009 แปลและเรียบเรียง โดย นพ.กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.วิภาวดีค่ะ แล้วคุณจะมีกำลังใจ ออกกำลังกายมากขึ้น ออกกำลังกายอย่างไร ให้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ลงใน NYT ต้นเดือนตุลาคม 2009   มีงานวิจัยเกิดขึ้น 2 ชิ้นเร็ว ๆ นี้ งานวิจัยชิ้นแรก           ตีพิมพ์เมื่อปีก่อนในวารสารวิชาการ ทำการทดลอง โดยนักวิจัย แบ่งหนู ออกเป็น  2  กลุ่ม หนูกลุ่มแรก                เป็นหนูที่ไม่ต้องให้ออกกำลังกาย หนูกลุ่มที่ 2                 ให้เดินสายพานจนเหนื่อยหมดแรง ใช้เวลา 3 วัน จากนั้น ให้หนู ทั้ง 2 กลุ่ม รับเชื้อไข้หวัด  ภายในเวลา 2-3 วัน  หนูกลุ่มออกกำลังกายเป็นหวัดมากกว่า หนูกลุ่มแรกที่ไม่ได้ออกกำลังกาย    และอาการของหนูกลุ่มออกกำลังกาย  ก็เป็นหนักซะด้วย งานวิจัยชิ้นที่ 2 ตีพิมพ์ลงในวารสารเกี่ยวกับ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย อิลลินอยส์  นำหนูทดลองมารับเชื้อไข้หวัด ที่เป็นเชื้อรุนแรงโดยก่อนรับเชื้อ แบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม   หนูกลุ่มที่ 1                 ให้พัก  หนูกลุ่มที่ 2                 ให้ออกกำลังกายสบาย ๆ วิ่งเบา ๆ 20-30 นาที    หนูกลุ่มที่ 3                 วิ่ง 2 ชม.ครึ่ง ให้เหนื่อยสุด ๆ  หนูทุกกลุ่ม                 ทำแบบเดียวกันทุกวันเป็นเวลา 3 วัน  เมื่อหนูติดไข้หวัด   พบว่า หนูกลุ่มที่ 1                 ตาย มากกว่า ครึ่ง หนูกลุ่มที่ 2                 ตาย 12% หนูกลุ่มที่ 3                 ตาย 70%  และที่รอดก็มีอาการไข้หวัดรุนแรงกว่ากลุ่มแรก             จากงานวิจัยที่ผ่านมา ทั้ง 2 งานวิจัย ดังกล่าว ยิ่งเสริมความรู้ความเข้าใจว่า การออกกำลังกายและภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความสัมพันธ์ เป็น  “ Sharped carve” คือ การออกกำลังกายปานกลางไม่มากเกินไป สามารถเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้  แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าออกกำลังกายมากเกินไป  ภูมิคุ้มกันกลับลดลงติดโรคได้ง่าย และอาการของโรคมักรุนแรงกว่า   อย่างไรจึงเรียกว่า ออกกำลังกายมากเกินไป             แม้ว่าจะยังไม่มีคำนิยามที่ตรงกันในกลุ่มนักวิจัย แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไป มักหมายถึง การออกกำลังกายเป็นเวลานาน > 1 ชม. ชีพจรและอัตราการหายใจเร็วมาก จนคุณรู้สึกว่าคุณเหนื่อยมากจริง ๆ เช่น วิ่งมาราธอน , แข่งขันเตะฟุตบอล 90 นาที เป็นต้น             ทำไมการออกกำลังกายหนัก ๆ ทำให้ติดเชื้อง่ายนั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดี แต่เชื่อว่า หลังการออกกำลังกายหนัก ๆ สิ้นสุดลง ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกยับยั้งไว้ ยิ่งออกกำลังกายหนักมาก ๆ และใช้เวลานานมากเท่าไร  ยิ่งมีผลทำให้ ระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันถูกยับยั้ง  มากขึ้นเท่านั้น  บางครั้งรอนาน 2-3 ชม. หรือถึง 2-3 วัน             มีการวิจัยใหม่ ๆ ชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในเดือน สค. 2009 ในวารสารวิชาการ Journal of strength and conditioning research เพื่อทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน ในน้ำลายของนักบอลอาชีพสเปญ 24 คน โดยเก็บตัวอย่างก่อนและหลัง แข่งขันฟุตบอล 70 นาที    ก่อนเล่น  ระดับภูมิคุ้มกัน ในน้ำลาย อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลังเล่น  ระดับภูมิคุ้มกัน ในน้ำลาย ของผู้เล่นหลายคนลดลงเป็นอย่างมาก             คำอธิบายเรื่อง การออกกำลังกายกับภูมิคุ้มกัน เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น เมื่อศึกษาถึงระดับเซลของหนูทดลอง     เมื่อมีการติดเชื้อไข้หวัดร่างกายของหนู  จะถูกกระตุ้นให้เพิ่ม TH1 -Type helper immune cells ซึ่งไปก่อให้เกิดภาวะอักเสบ inflammation และการเปลี่ยนแปลงอีกหลายประการในร่างกาย ซึ่งเป็นมาตรการด่านแรกในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส แต่ถ้าภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นนี้คงอยู่นานเกินไป ผลดีก็จะกลายเป็นผลเสีย  ภาวะอักเสบจะไปทำลาย cells ของร่างกาย  ธรรมชาติจึงต้องสกัดความสมดุลโดยการค่อย ๆ เพิ่ม cells ภูมิคุ้มกันอีกชุดหนึ่งเรียก TH2 helper cells เพื่อไปต่อต้านการอักเสบที่เกิดขึ้น  เปรียบเสมือนเป็นน้ำไปราดบนกองไฟ TH1 ที่ลุกอยู่     ร่างกายต้องการความสมดุลของ TH1 และ TH2 helper cells เป็นอย่างยิ่ง และความสมดุลนี้ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดบรรจง    ตัวอย่างการทดลองของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์             หนูที่ออกกำลังกายพอควร ร่างกายหนูจะเพิ่ม ภูมิคุ้มกัน TH2 เร็วขึ้น เล็กน้อย หลังจากที่ภูมิคุ้มกัน TH1 เกิดขึ้นแล้ว (เมื่อมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อ) การเพิ่มภูมิคุ้มกันเร็วขึ้นเพียงเล็กน้อย  สามารถเกิดผลดีต่อการต้านเชื้อไข้หวัด   “การออกกำลังกายพอควร ช่วยลด TH1 เล็กน้อย และเพิ่ม TH2 เล็กน้อย เช่นกัน”             ในทางกลับกัน การออกกำลังกายมากเกินไปจะไปกด TH1 มากไป  เปรียบเสมือนร่างกายยังสร้าง ท่อป้องกันแนวแรกยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี จึงทำให้เชื้อไวรัสบุกเข้าร่างกายได้มาก เมื่อเสร็จสิ้นจากการออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ภาวะภูมิคุ้มกันจะถูกยับยั้งไว้ เป็นช่วงเวลาที่คุณไม่มีอะไรป้องกันตัวเอง ฉะนั้น ช่วงนี้ควร หลีกเลี่ยงจากคนใกล้ชิดที่ ไอจาม ล้างมือบ่อย ๆ ฉีดวัคซีนป้องกันหวัด และถ้าระวังทุกอย่างแล้ว แต่คุณก็ยังเริ่มรู้สึกไม่สบาย จงพักร่างกายคุณ และอย่าเสี่ยงไปออกกำลังกายอีก            โดยทั่วไป การออกกำลังกายพอควร เช่น เดิน หรือ Jogging  จะเสริมภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นสามารถลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเป็นไข้ติดเชื้อที่ไม่รุนแรงได้ แต่ควรปฏิบัติด้วยความเที่ยงตรง นั่นคือ ถ้ารู้สึกไม่สบาย โดยเฉพาะ ปวดเมื่อย มีไข้ ควรหยุดออกกำลังกาย จนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้าคุณมีอาการแค่เป็นหวัดมีน้ำมูก เล็กน้อย การออกกำลังกายอาจทำให้อาการคุณดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ (เป็น ชม.ๆ) เนื่องจากจะไปปรับสมดุลของการระบบภูมิคุ้มกัน TH1 และ TH2 ให้ไม่สมดุลย์            เมื่อได้ทราบคำอธิบายทางภาคทฤษฎีแล้วมาดูเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ออกกำลังกายมากๆว่า ก็ไม่เลวร้ายอะไรมากนัก ผลสำรวจล่าสุดพบว่านักวิ่งมาราธอน ปี 2000 ที่กรุง Stockholm (จำนวนนักวิ่ง 694 คน)  ได้รายงานภาวะไข้หวัดหรือไข้ติดเชื้ออื่น ๆ ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ก่อนวิ่งแข่ง และ 3 สัปดาห์ หลังแข่งเสร็จ พบว่า 1 ใน 5 รายงานการเจ็บป่วยในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสูงกว่าในหมู่ประชากรทั่วไป แต่ก็หมายความว่า นักวิ่งส่วนมาก 80% ไม่มีการเจ็บป่วยใด ๆ   แปลโดย นพ.กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การทำงานอย่างมีความสุข

การทำงานอย่างมีความสุข นพ. วิชนาท สีบุญเรือง  แพทย์อาชีวเวชศาสตร์          งานเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของเราทุกคน บางครั้งท่านคงรู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงานมากมาย ทั้งกายและทางใจ ในวันนี้ผมจะมาเสนอแนวคิดที่จะทำให้ทุกท่านมีความเหนื่อยล้าทางกายจากการทำงานน้อยลง โดยที่ผลงานไม่เปลี่ยนจากเดิม หลายท่านคงจะสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร        ภาวะเหนื่อยหล้าจากการทำงานในบางครั้ง ไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักเท่านั้น หากแต่การทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็ยังทำให้เกิดการปวดเมื่อยล้ามากกว่าที่ควรจะเป็น การทำงานที่ถูกสุขลักษณะ หรือ ตรงตามหลัก กายศาสตร์ จะช่วยให้ปวดเมื่อยหล้า หรือเหนื่อยจากการทำงานน้อยลงได้ในระดับหนึ่ง         อย่างเช่น การทำงานกับคอมพิวเตอร์ หลายท่านคงมีอาการ ปวดศีรษะ ปวดข้อมือ และปวดไหล่ ซึ่งอาการเหล่านี้ จะทำให้ท่านรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานมากขึ้น หากท่านลองปรับสภาพการทำ   งานให้ถูกสุขลักษณะ ก็จะช่วยลดอาการเหล่านี้ให้น้อยลง          และสำหรับผู้ที่ขับรถนานๆ ตลอดเวลา เช่น Sale การนั่งขบรถต่อเนื่องเวลานานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก และเกร็งตัว(อยู่ในท่าเดิมตลอด) ก็ควรจอดพักรถทุกชั่วโมงครึ่ง ถึงสองชั่วโมง ในสถานที่ปลอดภัย เช่น ปั๊มน้ำมัน เพื่อทำการเปลี่ยนอิริยาบถ และยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อ เกร็งตัวมากเกินไป และยังมีงานอีกหลายประเภท ที่การปรับท่าทางหรือสภาพการทำงานให้ถูกสุขลักษณะก็ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของทุกคนดีขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ใช้ชีวิตให้ห่างไกล กรดไหลย้อน

ใช้ชีวิตให้ห่างไกล กรดไหลย้อน ใช้ชีวิตให้ห่างไกล “กรดไหลย้อน” พญ. ดวงพร โชคมงคลกิจ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี         ชีวิตประจำวันของคุณเต็มไปด้วยความเร่งรีบ อาจทำให้คุณกินอาหารไม่เป็นเวลาและเข้านอนโดยไม่รอให้ย่อย นิสัยเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้         กรดไหลย้อนทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปาก จุก เสียด แน่น เรอ มักเป็นหลังจาก หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่         อาหารจะผ่านการย่อยทางปากก่อน และผ่านหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร ช่วงที่ปลายหลอดอาหารกล้ามเนื้อหูรูด ปิดทางไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารอีก โรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดทำงานผิดปกติ หย่อนตัว และเปิดทางให้กรดในกระเพาะไหลกลับไปยังหลอดอาหารจนมีอาหารขย้อนไปยังลำคอ ช้าๆ        ถ้าไม่ได้รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลในหลอดอาหาร มีเลือดออก หลอดอาหารตีบ จนกลืนอาหารลำบาก และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ “เรามาฝึกนิสัยเพื่อให้คุณห่างไกลโรคกรดไหลย้อนกันดีกว่าค่ะ”  1. กินอย่างถูกสุขลักษณะ        ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง และอย่าให้แต่ละมื้อผ่านไปอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการลุกเดินหลังมื้ออาหาร นั่งนิ่งๆ หลีกเลี่ยงการนอนราบทันที เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารย่อยช้า        โดยเฉพาะมื้อเย็นและทิ้งเวลาให้ย่อยอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะหากอาหารไม่ย่อยแล้วนอน เป็นผลให้กระเพาะกับหลอดอาหารอยู่ในแนวราบเดียวกัน กรดในกระเพาะจะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้ 2 . ควบคุมน้ำหนัก         ไขมันใต้ผิวหนังรอบหน้าท้องและไขมันในช่องท้องมีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้องให้มากขึ้น จนบีบกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย ยิ่งน้ำหนักมากยิ่งมีโอกาสเลี่ยงสูง ดังนั้นควบคุมน้ำหนักให้มาตรฐาน และบริหารรอบเอวเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมันสะสม 3 . ใส่ใจอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน          หลีกเลี่ยง อาหารรสจัด เปรี้ยว เผ็ดเกินไป ของมัน ของทอด และอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์ ทำให้หูรูดหลอดอาหารทำงานผิดปกติหรือคลายตัว และเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อน เครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม ทำให้ท้องอืด ลมในท้อง เป็นต้น 4 . งดดื่มสุราและสูบบุหรี่        ทั้งสารนิโคตินในบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบของและกระเพาะอาหาร  5. หลีกเลี่ยงความเครียด        ความเครียดอาจไม่ได้มีผลโดยตรงต่อโรคกรดไหลย้อน แต่ถ้ามีอาการอยู่แล้ว ความเครียดจะทำให้อาการกำเริบได้ง่ายขึ้น 6 . สวมใส่เสื้อผ้าให้สบาย        การใส่เสื้อผ้าคับมีผลให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้นและดันให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร ดังนั้นพยายามสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย ป้องกันอาหารแน่นท้องหลังมื้ออาหาร 7 . ออกกำลังกายเป็นประจำ        การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารทันที เพราะกระเพาะอาหารอาจย่อยไม่เป็นปกติ ควรเว้นระยะให้อาหารย่อยอย่างน้อย 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง  ลองนำทั้ง 7 วิธีนี้มาปฏิบัติให้เป็นนิสัยแล้วคุณจะห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อน              พญ. ดวงพร โชคมงคลกิจ  อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Q&A สุขภาพจิตของคนกรุงเทพในตอนนี้

Q&A สุขภาพจิตของคนกรุงเทพในตอนนี้ นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี คำถามที่ 1. คนเราจะมีความเครียดได้จากเรื่องอะไรบ้าง เรื่องอะไรเป็นเรื่องที่คนเครียดที่สุด?       ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องความเครียดของคนไทย พบว่าคนไทยเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 1 มาโดยตลอดตั้งแต่อดีต ส่วนปัญหาการเมืองเป็นเรื่องที่เครียดสูงเป็นอันดับ 2 ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยติด 5 อันดับแรกมาก่อนในอดีต แซงหน้าปัญหาครอบครัว ปัญหาการงาน ปัญหาคู่รัก และปัญหาเรื่องเพื่อน ช่วงหลังจากเหตุการณ์ยุติการการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ปัญหาการเมืองอาจสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 หรือไม่นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ เพราะยังไม่มีรายงานการวิจัยในขณะนี้ คำถามที่ 2. เมื่อคนเราเครียด จะเกิดอาการอะไรได้บ้าง?       อาการมีได้ 3 ทาง โดยอาจพบได้ในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางร่วมกันก็ได้      - อาการทางกาย เริ่มมีได้ตั้งแต่อาการปวดเกร็งคอ บ่า ไหล่ หายใจตื้นๆไม่โล่งโปร่งสบาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือป่วยด้วยโรคระบบต่างๆร่างกาย ได้แก่ โรคไมเกรน โรคเครียดลงกระเพาะอาหาร โรคภูมิแพ้ โรคลำไส้แปรปรวน ความดันโลหิตสูง เครียดมากๆก็เป็นเหตุให้เส้นเลือดที่สมองแตกจนอาจเป็นอัมพาตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะมีหลอดเลือดที่แข็งตัวอยู่เดิมแล้ว      - อาการทางจิตใจและอารมณ์ มีได้ตั้งแต่อาการที่ยังไม่มาก เช่น นอนไม่หลับ ตึงเครียด หงุดหงิด หดหู่ ซึมเศร้า อาการมากก็อาจถึงขั้นป่วยโรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคกังวล โรคจิต เป็นต้น      - อาการทางความคิดและพฤติกรรม ได้แก่ ความคิดเชิงลบต่างๆมากขึ้นจนอาจก่อให้ปัญหาพฤติกรรมต่างๆได้แก่ การดื่มสุราหรือเสพสารเสพติด พฤติกรรมต่อต้านสังคม พฤติกรรมความรุนแรงทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น คำถามที่ 3. สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนกรุงเทพอย่างไรบ้าง?       ความเครียดเพิ่มขึ้น กรณีคนที่เครียดระดับต่ำๆ นับว่าเป็นประโยชน์ในการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน กรณีเครียดมากๆมักพบในประชาชน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความเข้มจัดไม่ว่าแดงเข้ม เหลืองเข้ม กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลอย่างเข้ม กลุ่มสนใจการเมืองอย่างเข้ม เข้มจนขาดกิจกรรมส่วนอื่นๆในชีวิตจนขาดความสมดุล กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่มีความเครียดสะสมไว้มากอยู่แล้ว พอมีเรื่องวิกฤติการเมือง ระดับความเครียดจึงเพิ่มขึ้นไปอีกจนเกินระดับที่จะทนได้จึงปรากฏอาการป่วยจากความเครียด หลายรายเคยรับการรักษาจนอาการเครียดสงบ แต่พอมีเรื่องวิกฤติการเมือง ทำให้อาการป่วยเดิมกำเริบได้ จึงจำเป็นต้องรักษาเพิ่ม กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มผู้ประสบวินาศภัย ได้แก่ ผู้ร่วมชุมนุม ชุมชนในละแวกที่เกิดเหตุ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญเสียไม่ว่าชีวิต ญาติมิตร หรือทรัพย์สิน คำถามที่ 4. มีวิธีรับข่าวสารอย่างไรให้ไม่เครียด?       - ควรเปิดใจกว้าง และพยายามรับฟังข้อมูลทุกด้านทั้งจากแหล่งข่าวภายในประเทศและต่างประเทศซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้สามารถเข้าถึงได้แม้ถูกปิดกั้นก็ตาม ไม่ควรรีบสรุปข้อมูลที่ได้รับทันที และควรเข้าใจคนที่คิดต่างจากเราด้วย      - เปิดรับข่าวสารให้เหมาะกับตนเอง ถ้าสังเกตพบว่ามีอารมณ์ร่วมกับข่าวสารนั้นมากไป ก็ควรหลีกเลี่ยงโดยทำกิจกรรมอื่นๆแทน ได้ ฟังเพลง ทำสวน ทำครัว ออกกำลังกาย เป็นต้น กรณีที่ใช้เวลารับข่าวสารนานไปจนเครียด ก็สมควรจำกัดเวลาลงและคงกิจกรรมอื่นๆในชีวิตเพื่อรักษาสมดุลของวิถีชีวิต      - กรณีเครียดง่ายแต่จำเป็นต้องติดตามข่าว ขณะรับข่าวสารควรฝึกผ่อนคลายความเครียดโดยฝึกหายใจเข้าลึกๆ และหายใจออกยาวๆ หรือฝึกชี่กงซึ่งเป็นกายบริหารที่มุ่งปรับให้ลมหายใจโล่งโปร่งสบาย  คำถามที่ 5. ความคิดเห็นที่แตกต่างที่กระจายสู่ในบ้านเดียวกัน จะมีวิธีจัดการอย่างไรให้สภาพครอบครัวไม่เกิดการทะเลาะ?       ไม่ใช้ทัศนคติของการเอาชนะทางความคิด คิดแต่ว่าเหตุผลของเราถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่สนทนาเพื่อช่วยเหลือให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วยวิถีแห่งความเมตตาและเกื้อกูล กรณีที่เกินความสามารถหรืออีกฝ่ายไม่เปิดใจ ก็ไม่ควรถือโกรธแต่ควรตั้งจิตเป็นอุเบกขา วิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในยุคที่มีการเมืองขัดแย้งมากๆ ผู้ที่มีความฝักใฝ่พรรคการเมืองมากๆ ไม่ว่าพรรคใด ตรวจพบว่าสมองส่วนอารมณ์ที่อยู่ภายในจะทำงานมากกว่าสมองส่วนเหตุผล และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสมองที่มีขนาดใหญ่ห่อหุ้มอยู่เปลือกนอกของสมอง จึงทำให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลได้ ต่างจากช่วงสถานการณ์การเมืองปกติที่พบว่าสมองส่วนนอกจะทำงานมากกว่า จึงมีเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้สามารถรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้  คำถามที่ 6. การปฏิบัติตัวของคนกรุงเทพตอนนี้ควรทำตัวอย่างไรต่อสังคม?       - ควรทำตัวกลางๆหรือลดความเข้มลง เช่น แดงอ่อน เหลืองอ่อน โดยไม่เข้มจัด ทำให้สมองส่วนเหตุผลทำงานดีขึ้น และใช้อารมณ์ลดลง      - ควรใช้หลักศาสนาช่วยให้จิตใจสงบลง และทำให้สามารถทำหน้าที่การงานของตนได้ดีขึ้น  คำถามที่ 7. คำแนะนำต่อคนกรุงเทพในยามนี้ ?       - ควรพยายามทำใจให้เป็นปกติด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด      - ควรพยายามเข้าใจคนที่คิดต่างจากเรา      - การช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับที่ผู้เครียดเรื่องการเมือง เริ่มจากรับฟังอย่างเข้าใจโดยไม่ขัดจังหวะจากนั้นก็แสดงความชื่นชมในความตื่นตัวทางการเมืองของเขา กรณีที่เครียดจากการเมืองก็อาจโน้มน้าวให้เขาลดความเข้มลง ไม่ว่าแดงเข้ม เหลืองเข้ม หรือ อื่นๆที่สุดโต่งเพื่อคืนความเป็นปกติสุขให้กับตนเอง ไม่ควรทะเลาะกันเพื่อเอาชนะทางความคิด ทำให้เสียความสัมพันธ์ที่ดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สร้างสุขภาพจิตท่ามกลางข่าวภัยพิบัติ อุทกภัย

สร้างสุขภาพจิตท่ามกลางข่าวภัยพิบัติ อุทกภัย  นพ.วีรวุฒิ  เอกกมลกุล จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี         การสร้างสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาภัยพิภัย อุทกภัย ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประสบภัยพิบัติมีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตได้          อาการที่พบ  ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล เครียด อาจมีอาการกำเริบของโรคทางกายต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไมเกรน ภูมิแพ้ ฯลฯ สำหรับผู้ที่เครียดมากขึ้นกว่านี้อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า     โรคกังวล โรคหวาดกลัวต่ออุทกภัย กรณีเครียดรุนแรง อาจคิดฆ่าตัวตาย แยกตัว และขาดกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตที่เหมาะสม ในกรณีนี้ จำเป็นต้องพบจิตแพทย์โดยด่วนเพื่อรักษาโรคให้ทุเลาเบาบางลงไป       วิธีสร้างสุขภาพจิตสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติอุทกภัย เริ่มตั้งแต่พยายามไม่แยกตัวอยู่และอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง ในกลุ่มทุกคนจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน การพูดคุยระบายนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์เราเพื่อจะได้ลดความอัดอั้นตันใจ ผู้ประสบภัยที่ยังเซื่องซึมจมปลักอยู่ในปัญหาเมื่อมีคนคอยรับฟัง เห็นใจ ปลอบใจ จะรู้สึกสบายใจขึ้น และพร้อมลุกขึ้นใหม่เสมือนเป็นตุ๊กตาล้มลุก และเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ อีกครั้ง เมื่อรู้สึกว่าตนเองลุกขึ้นใหม่ได้แล้วควรช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป เพราะการได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบภัยร่วมกัน จะทำให้สบายใจ และภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น การได้ช่วยเหลือดูแลกันเองและเปิดรับความช่วยเหลือจากสังคม ได้ผลที่รวดเร็วทันการกว่าการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ กลุ่มที่ช่วยเหลือกันเองควรมีกิจกรรมที่เสริมสร้างสุขภาพจิตวิธีต่างๆ ได้แก่ การออกกำลังการอย่างเหมาะสม การฝึกผ่อนคลายความเครียด ไม่ลืมกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ฯลฯ       สำหรับผู้ที่โชคดี ไม่ได้ประสบภัยพิบัติ สามารถเสริมสร้างสุขภาพจิตได้โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ว่าการบริจาคเงิน อาหาร สิ่งของที่จำเป็น หรือเสียสละ แรงกายและเวลา การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นกลไกทางจิตที่ดีของมนุษย์ที่ทำให้สบายใจ ภูมิใจและมีความสุข ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น แม้ไม่ได้เป็นผู้เสี่ยงต่ออุทกภัยในภายภาคหน้าแต่การร่วมแรงร่วมใจ ผลักดันให้รัฐบาลป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือมีความรุนแรงขึ้นต่อไป      ด้วยความปรารถนาดีจาก รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตัดสินใจหย่าร้าง

การตัดสินใจหย่าร้าง   นพ.วีรวุฒิ  เอกกมลกุล จิตแพทย์รพ.วิภาวดี “ ตอนนี้เครียดมาก หย่าหรือไม่หย่าดีค่ะ ตัดสินใจไม่ถูก ” “สามีมีตบตีหนูบ่อย ๆ อยากหย่าแต่ก็สงสารลูก ตัดสินใจอย่างไรดีค่ะ” “คนรอบข้างคัดค้าน  ไม่ให้หย่าทำให้เคียดมากเลย หนูสับสนมาก ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรดีค่ะ”           มีคำถามมากมายเมื่อคนเราต้องประสบกับการตัดสินใจหย่าร้าง  การหย่าร้างพบมากขึ้นปัจจุบัน      โดยอัตราการหย่าร้างได้สูงขึ้นมากในขณะที่อัตราการแต่งงานกลับลดต่ำลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในประเทศต่างๆ หลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย การหย่าร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเนื่องจากเป็นวิกฤตกาลในชีวิตที่อาจ นำมาซึ่งโศกนาฏกรรม ความเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวหรือบางทีก็อาจแก้วิกฤตเป็นเป็นโอกาสในดารพัฒนาชีวิตลาจิตวิญญาณตามหลักศาสนา ดังนั้นก่อนตัดสินใจหย่าควรพิจารณาตนเองก่อนว่าตนเป็นคนประเภทใดจาก 3 ประเภท ดังต่อไปนี้        กลุ่มดั้งเดิม คนกลุ่มนี้ถูกโปรแกรมหรือได้รับการอบรมเลี้ยงดูเฉกเช่นคนไทยในอดีตที่ภรรยายังต้องพึงพาสามีทางเศรษฐกิจ สังคมไทยในอดีตนั้นชายใดที่มีความสามารถในอาชีพการงานและการเงิน  หรือเป็นผู้มากด้วยบารมีก็อาจมีภรรยาได้หลายคน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปสังคมไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะเรื่องผัวเดียวเมียเดียว แต่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันก็ยังยอมรับสภาพสามีมีภรรยาน้อย  สามีสามารถเลี้ยงดูทุกคนอย่างดีและจัดการให้ผู้หญิงแต่ละคนอยู่ในอาณาจักรของตนโดยไม่ระรานกันผู้หญิงกลุ่มนี้มักจะยอมรับชะตากรรมที่สามีจะหยิบยื่นให้กับตน      กลุ่มสมัยใหม่   คนกลุ่มนี้ถูกโปรแกรมหรือรับค่านิยมสมัยใหม่ที่เป็นสากล ทั้งชายและหญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินชะตาชีวิตของตน ในกรณีที่สามียังเป็นคนกลุ่มดั้งเดิมเลือกที่จะมีภรรยาเพิ่มขึ้นมา ผู้หญิงกลุ่มสมัยใหม่ก็พร้อมที่จะหย่าร้างตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังวิกฤตกาลที่สร้างความเจ็บปวดเกินกว่าที่จะทนต่อไปได้ ผู้หญิงกลุ่มนี้มักมีการงานและรายได้ทีดี     กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่สับสน ไม่แน่ใจว่าตนเป็นแบบกลุ่มใด มีลักษณะปะปนกันของ 2 กลุ่มแรก คนกลุ่มนี้จะสับสนจนทำให้เครียดและอาจก่อให้เกิดปัญหาลูกโซ่อื่นๆ ตามมาเมื่อได้รู้ถึงตัวตนว่าเป็นคนกลุ่มใด ก็จะช่วยให้ตัดสินใจถูกต้องตรงกับความต้องการของตนเองได้มากขึ้น การหย่าร้างไม่ควรตัดสินใจด้วยอารมณ์ ประชดหรือเอาชนะกันแต่ควรตัดสินใจตามหลักเหตุผลที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีหรือผลเสียน้อยที่สุด โดยที่ทั้งสามีและภรรยาได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่าการหย่าจะช่วยให้เขามีความสุขในชีวิตมากกว่าที่จะทนอยู่ด้วยกันต่อไป บางรายอาจแยกกันอยู่ก่อนหย่าร้างเพื่อให้แน่ใจว่าตัดสินใจถูกต้องแล้ว            ไม่ว่าคุณจะตัดสินหย่าหรือไม่หย่า หลักศาสนา จิตวิทยา และนิติศาสตร์เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา เพื่อทำให้สามารถผ่านพ้นสภาพปัญหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์มากกว่าผลเสียต่อทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่น บางรายทะเลาะกันและทำร้ายตบตีกันต่อหน้าลูกเป็นประจำ เมื่อตกลงตัดสินใจหย่าร้างโดยไม่ยึดมั่นในความคิดเดิม ๆ     ที่ฝังใจว่าผู้หญิงคนอื่นต้องออกไปจากชีวิตของสามีและทุกคนต้องได้รับความเจ็บปวดโดยทั่วกัน การคิดตามหลักการปล่อยวางโดยไม่ยึดมั่น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีจากการหย่าทำให้ลูกๆ ต่างโล่งใจเนื่องจากแม่จะได้ปลอดภัยจากการทุบตี    สำหรับตัวอย่างของผู้หญิงหลายๆ รายที่ตัดสินใจไม่หย่า ตั้งใจทำดีกับสามีและครอบครัวเป็นอย่างดีโดยไม่ได้เก็บกดความโกรธแค้นไว้แผดเผาใจตนและเข้าใจสามีที่พ่ายแพ้ต่ออำนาจของกิเลส หลักศาสนาช่วยปรับโลกทัศน์ให้มองโลกในแง่ดีทำให้มีความสุขกับการให้หรือทำความดี และปฏิบัติหน้าที่สำคัญในครอบครัวต่อไปคนที่อยู่ในกลุ่มสับสนมักพบกับความยากลำบากในการหย่าร้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ หลายรายอยากหย่าแต่กลับต้องเผชิญกับความเห็นที่ขัดขว้างอย่างมากมายจากญาติมิตรหรือคนใกล้ชิดบางรายเครียดจนป่วยโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษากับจิตแพทย์เพื่อรับยาที่สามารถปรับระดับสารเคมีในสมองให้ทำงานปกติ ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจฆ่าตัวตายได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรรีบตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องหย่าควรรักษาจนอาการโรคซึมเศร้าทุเลา อีกทั้งควรเข้าใจในความปรารถนาที่ดีของคนรอบตัวที่อยากเห็นสามีภรรยาอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างมีความสุขและควรอดทนต่อกัน ซึ่งเป็นไปตามค่านิยมของเขาเหล่านั้นเอง  ทั้งนี้เขาอาจไม่เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดของคู่สามีภรรยา เรื่องการหย่าจำเป็นต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้านแล้วทั้งคู่จึงตกลงใจร่วมกัน เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนหย่าโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่มีรายได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนและจัดการหายรายได้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนหย่าเพื่อบรรเทาปัญหาการเงิน หลังการหย่าร้าง  นอกจากนั้นทั้งคู่ต้องมีการเตรียมตัวเรื่องลูก เด็กควรรับรู้ว่าหย่าเป็นการตกลงระหว่างพ่อกับแม่เท่านั้นเพื่อไม่ให้เด็กเข้าใจผิดว่าตนเป็นสาเหตุหลังหย่าร้างเขายังคงมีพ่อและแม่ที่รักเขาดังเดิมพ่อแม่            ควรพูดคุยกับลูกเพื่อลดปฏิกิริยาต่อการสูญเสียของเด็ก  ตอบข้อซักถามของเด็กอย่างชัดเจนและเหมาะสมกับอายุและสติปัญญาของเด็กไม่ควรโทษพ่อหรือแม่ของเด็กและควรให้ความรัก ความอบอุ่น อีกทั้งให้มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กน้อยที่สุดที่ทำได้           ด้วยความปรารถนาดี จากรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ความคิดเชิงบวกและความคิดเชิงลบ

ความคิดเชิงบวกและความคิดเชิงลบ นายแพทย์วีรวุฒิ เอกกมลกุล จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี              ผู้คนมากมายเคยชินกับการดำรงชีวิตอย่างเป็นทุกข์รูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสาเหตุจากความคิดเชิงลบ ความคิดที่นำมาซึ่งอารมณ์เชิงลบต่างๆ อันได้แก่ ความวิตกกังวล ความเหงา เบื่อ ซึมเศร้า โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ ผิวหวัง ขุ่นมัวและอารมณ์ไม่สบายใจอื่นๆ ขณะที่คิดเรื่องทุกข์ใจ คลื่นสมองก็จะมีความถี่สูง ยุ่งเหยิง พร้อมกันกับที่สมองหลั่งสารแห่งความทุกข์และความเครียดออกมาทำให้สุขภาพกาย และจิตใจยิ่งทรุดโทรมลง ในทางตรงกันข้าม ความคิดเชิงบวกจะทำให้มีความสุข  เบิกบาน และสงบใจ ไม่ว้าวุ่นใจ อันเกิดจากความคิดที่เป็นระบบ ระเบียบและถูกต้อง ถูกทาง คนเราอาจไม่คุ้นเคยหรือมีทักษะมากนักในเรื่องความคิดเชิงบวก  แต่การฝึกความคิดเชิงบวก นับได้ว่ามีคุณอนันต์ต่อสุขภาพและผลงานที่สร้างสรรค์ ดังเช่น  ศาสดาเอกต่างๆ และอัจฉริยะบุคคลทั้งหลายล้วนมีความมั่นใจในความคิดเชิงบวก นอกจากนั้นหลักฐานทางวิทยศาสตร์พบว่า คลื่นสมองก็มีลักษณะความถี่ต่ำลงไม่ยุ่งเหยิง และสมองก็หลั่งสารแห่งความสุขและสงบ มีผลที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจอย่างมาก             ความคิดเชิงลบมักเกิดอย่างอัตโนมัติ เพราะเป็นความคิดที่คุ้นเคยมาก่อนอาจเลียนแบบวิธีคิดจากบุคคลสำคัญในวัยเด็ก เช่น  พ่อแม่ ครู ญาติและเพื่อน หรือเลียนแบบจากละครทีวี บางครั้งอาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย  เช่น รู้สึกว่าไม่มีใครรักตนเอง ตนเองขี้เหร่ พิการ ฯลฯ วิธีคิดได้เกิดขึ้นซ้ำๆ จนสลัดออกได้ยาก ความคิดเชิงลบมีได้หลายรูปแบบ ทั้งสังเกตุเห็นได้ชัดเจน และแบบที่แยบยล จนบางครั้งเราอาจไม่ทันก็ได้ แต่สุดท้ายจะลงเอยด้วยความว้าวุ่นใจ และทุกข์ใจนั่นเอง            ความคิดเชิงลบ อาจเป็นลักษณะเพ่งโทษผู้อื่น โดยตั้งคำถามในใจกับตนเองว่า ทำไมเขาจึงไม่ดีกับเรา ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น คิดแบบนี้จะเป็นการเพ่งโทษผู้อื่น ก็เพราะเราจะคิดไปเองว่าเราถูกต้อง ผู้อื่นผิด ขณะคิดไปกลับไม่โปร่งสบาย แต่อาจโกรธ เคียดแค้น ไม่พอใจ ผู้อื่นได้ บางครั้งความคิดเชิงลบ เป็นลักษณะโทษตนเอง ตำหนิตนเอง โดยตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นเรา เราไม่ดีต่างๆ นานา โชคชะตาไม่ปราณีเรา เราเป็นคนมีเวรมีกรรม เราเป็นคนโชคร้ายเสมอ ฯลฯ การคิดลัษณะนี้ถึงได้ว่าเป็นการทรมาน และเบียดเบียนจิตใจของตนเองให้เป็นทุกข์ ให้เศร้าหมอง ขมขื่น เจ็บปวดและกระวนกระวาย สำหรับผู้ที่วิตกกังวลจนเป็นนิสัยก็จะมีความคิดเชิงลบ แบบหวาดกลัวไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่กลัวกันมากนัก เช่น กลัวคนปฎิเสธ  เป็นห่วงญาติจะเกิดเหตุจนเป็นทุกข์ ฯลฯ           ความกลัวเหล่านี้ ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง และขาดความมั่นใจในตนเองได้ ตรงกันข้ามผู้ที่อยู่ในกระแสความคิดเชิงบวก ก็จะมองข้ามปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ไปได้ ปัญหาสำคัญก็จะหาทางแก้ไขได้ แทนที่จะนั่งกลุ้มโดยไม่คิดแก้ไข  หรือหาข้อสรุปที่เหมาะสมกับปัญหาที่เผชิญอยู่ มองเห็นส่วนดีๆ ของชีวิตอย่างมีทักษะ ดึงเอาสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตของตนเอง หรือดึงตนเองไปอยู่ในสิ่งดีๆ แนวทางแก้ไขความคิดเชิงลบ จงตั้งสติให้มั่นเมื่อใดที่ความคิดเชิงลบปรากฏออกมาไม่ว่าในความคิดคำพูด หรือการกระทำของเรา สังเกตุให้ได้แล้วดึงกลับเข้ากระแสความคิดเชิงบวก ฝึกจนเกิดทักษะ ยิ่งฝึกยิ่งใช้ความคิเชิงบวกมากเท่่าไร ความสามารถและทักษะจะปรากฏเด่นชัดขึ้นในแนวทางที่ถูกต้อง จนสามารถรักษาจิตใจให้มั่นคงได้ดีกว่าเดิม ความคิดเชิงบวกจะทำให้เราเลือกสิ่งดีๆ ให้แก่ชีวิตเริ่มตั้งแต่อิริยาบถที่เหมาะสมในชีวิตประจำวัน ไม่นั่งๆ นอนๆ จนสุขภาพทรุดโทรม มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากนั้น เลือกทำกิจกรรมที่เสริมสร้างสุขภาพ และความภาคภูมิใจของตนเอง   ได้แก่ กีฬา ดนตรี ศิลปะ งานฝีมือ เรียนภาษาต่างประเทศ กิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยเหลือผู้อื่น และมีกลุ่มญาติมิตรที่คอยให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การดูแลสุขภาพและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน

การดูแลสุขภาพและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน   นพ. ภาคิน โลวะสถาพร อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี            สวัสดีครับ วารสารฉบับเดือนนี้เป็นฉบับพิเศษที่มาพร้อมกับการฉลองครบรอบวันเกิดการก่อตั้งโรงพยาบาลมาครบ 25 ปี ผมในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำของรพ.วิภาวดี  ได้มีโอกาสเขียนบทความในวารสารฉบับนี้ ซึ่งได้เข้าถึงผู้อ่านโดยตรงและแม้แต่บุคคลากรทางการแพทย์เอง  บทความนี้จึงมุ่งเน้นถึงปัญหาสุขภาพในทางเวชปฏิบัติที่พบได้บ่อยจากกการทำงาน  และมักจะถูกมองข้ามไป   ในขณะที่เขียนนี้ผมก็ได้นั่งตรวจคนไข้ไปด้วย และบังเอิญที่มีผู้ป่วยเป็นสุภาพสตรีวัยทำงานท่านหนึ่งมารับการตรวจพอดี ผมจึงขออนุญาตยกมาเป็นกรณีศึกษาเลยนะครับ            คนไข้มาด้วยอาการปวดศีรษะ 2 วัน มักจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับ  ร้าวมาต้นคอและมีอาการคลื่นไส้ เป็นบางครั้ง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นในช่วงบ่ายและเย็น ในบางครั้งหลังจากตื่นนอน  ก็จะมีอาการมึนศีรษะรู้สึกเหมือนกับไม่ได้นอนหลับ  เป็นอย่างไรบ้างครับ มีใครเคยมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ครับ จากการซักประวัติต่อไปของคนไข้ ทราบว่าทำงานอ๊อฟฟิตในตำแหน่งวิเคราะห์การเงิน ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวันและอยู่กับตัวเลขทางบัญชี ต้องมีการประชุมกับผู้บริหารอาวุโสทุกสัปดาห์  ทุกวันต้องนำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน นอนดึกตื่นแต่เช้าเพื่อส่งลูกไปโรงเรียน ถึงแม้คนไข้จะบอกว่าเป็นคนอารมณ์ดี ไม่มีความเครียดเรื่องงาน แต่หลายคืน ต้องตื่นกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากทำการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเลยแม้แต่น้อย แต่ที่ตรวจพบนั่นก็คือ คนไข้มีรูปร่างท้วม ดัชนีมวลกายมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีภาวะความดันโลหิตสูง และมีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ เมื่อกดถูกกล้ามเนื้อจะมีอาการเจ็บ คราวนี้พอจะทราบแล้วใช่มั้ยครับว่า คนไข้รายนี้น่าจะมีอาการปวดศีรษะจากสาเหตุการนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมๆเป็นระยะเวลานาน มีการใช้สายตาโดยต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน  จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขมับ หนังศีรษะและต้นคอรวมถึงบ่าและไหล่ มีการหดเกร็งสะสมเป็นระยะเวลานานจึงมีอาการปวดเรื้อรังขึ้น นอกจากนั้นการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารจานด่วน จึงทำให้น้ำหนักของคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน ความดันโลหิตเริ่มอยู่ในเกณฑ์สูง ความเครียดจากการทำงานส่งผลให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท              เห็นหรือไม่ครับว่า  อาการปวดศีรษะของคนไข้รายนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวที่พบ ยังมีปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นโดยคนไข้ไม่รู้ตัว ดังนั้นการรักษาคนไข้ในรายนี้ นอกจากจะรักษาโดยการใช้ยารับประทานยา การส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด หรือแม้กระทั่งการฝังเข็มบริเวณจุดที่กล้ามเนื้อยึดเกร็งแล้ว จึงต้องกลับมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของสาเหตุ การปรับตัวการทำงานเช่นการพักสายตา หลังจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หลังจากใช้งานไปสักระยะ ท่าการบริหารกล้ามเนื้อต้นคอ หัวไหล่ และเอว การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกายซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และยังทำให้การควบคุมน้ำหนัก ระดับไขมันในร่างกายดีขึ้นด้วย  ยังมีข้อดีของการออกกำลังกายอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้นะครับ  สำหรับการเลือกรับประทานอาหารก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะชีวิตคนเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบ อย่างที่เคยได้ยินมาว่า You are what you eat.  คือคุณรับประทานอาหารอย่างไร มันก็จะแสดงออกให้เห็นในร่างกายของคุณนั่นแหล่ะครับ              การรับประทานอาหารที่ไขมันสูง ก็ก่อให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งก็จะเป็นตัวเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน การรับประทานอาหารหวานมากเกินไปก็ก่อให้เกิดภาวะเบาหวาน โรคอ้วนได้เหมือนกัน มาถึงตรงนี้สงสัยคนไข้จะปวดศีรษะมากขึ้นหลังจากที่ผมได้แนะนำไปซักพักใหญ่ คนไข้ก็ถามมาว่า   “คุณหมอคะ  ตอนนี้ปวดศีรษะมากเลย ฉีดยาแก้ปวดก่อนได้มั้ยคะ”   เท่านั้นแหล่ะครับ ผมจึงฉุกคิดได้ว่าผมพูดมากเกินไปแล้ว จึงต้องหยุดการสนทนาแล้วจึงพาคนไข้รายนี้ไปรอฉีดยา  อย่างไรก็ตามผมก็ได้นัดคนไข้มาเพื่อติดตามอาการปวดศีรษะ   ตรวจวัดความดัน และนัดตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดในครั้งต่อไป ผมจึงอยากเตือนทุกท่านว่าให้หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น  เพราะสุขภาพดีนั้น  สามารถสร้างขึ้นได้จากตัวของคุณเองครับ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจพิเศษสำหรับโรคทางเดินอาหาร

การตรวจพิเศษสำหรับโรคทางเดินอาหาร ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้นในด้านการรักษา 1. เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น 2. สำหรับการใส่ esophageal or duodenal stent เพื่อการรักษาแบบประคับประคองในภาวะหลอดอาหารหรือลำไส้เล็กตีบ 3. สำหรับทำผ่าตัดเย็บหูรูดผ่านกล้อง ( Endoscopic fundoplication) เพื่อรักษาภาวะกรดไหลย้อนในผู้ป่วยบางราย 4. สำหรับการใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องแก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับอาหารทางปากได้( Percutaneous endoscopic gastrostomy and jejunostomy) 5. เพื่อทำการขยายส่วนตีบของทางเดินอาหารส่วนบน เช่น หลอดอาหาร, ช่วงรอยต่อของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก( Pylorus) การตรวจพิเศษสำหรับโรคทางเดินอาหาร,ตับและทางเดินน้ำดีที่พบบ่อย                                                                               การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น  ( Esophagogastroduodenoscopy) ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้นในด้านการวินิจฉัย 1. อาการปวดท้องด้านบนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตามอาการ  2. ผู้ที่มีอาการปวดท้องด้านบน( โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี) ร่วมกับมีสัญญานอันตราย ( alarm symptoms) ได้แก่ กลืนลำบาก, ถ่ายดำ, โลหิตจาง, น้ำหนักลดโดยไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้, อาเจียนต่อเนื่อง 3. มีอาการกลืนลำบากหรือกลืนเจ็บ 4. กลุ่มอาการกรดไหลย้อนที่เป็นอยู่นานและไม่ตอบสนองต่อการรักษา 5. เพื่อตรวจยืนยันกรณีพบความผิดปกติจากการตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสีที่สงสัยว่าเป็นเนื้องอก, แผล,มีการตีบหรือตัน ในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร 6. เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน 7. เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุภาวะโลหิตจางที่มีหลักฐานว่ามีการเสียเลือดจากทางเดินอาหาร เช่นการตรวจพบเลือดแฝงในอุจจาระ 8. เพื่อดูดเอาน้ำย่อยในลำไส้เล็กหรือนำชิ้นเนื้อจากผิวลำไส้เล็ก มาตรวจหาสาเหตุโดยเฉพาะในผู้ป่วยท้องเสียเรื้อรังบางราย 9. เป็นการตรวจคัดกรองหาเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร สำหรับผู้ป่วยตับแข็ง 10. ตรวจติดตามการหายของแผลในกระเพาะอาหารหลังการรักษา ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้นในด้านการรักษา 1. เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น 2. สำหรับการใส่ esophageal or duodenal stent เพื่อการรักษาแบบประคับประคองในภาวะหลอดอาหารหรือลำไส้เล็กตีบ 3. สำหรับทำผ่าตัดเย็บหูรูดผ่านกล้อง ( Endoscopic fundoplication) เพื่อรักษาภาวะกรดไหลย้อนในผู้ป่วยบางราย 4. สำหรับการใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องแก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับอาหารทางปากได้( Percutaneous endoscopic gastrostomy and jejunostomy) 5. เพื่อทำการขยายส่วนตีบของทางเดินอาหารส่วนบน เช่น หลอดอาหาร, ช่วงรอยต่อของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก( Pylorus) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่( Colonoscopy)            ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในด้านการวินิจฉัย 1. เพื่อตรวจยืนยันกรณีพบความผิดปกติจากการตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสีที่สงสัยว่าเป็นเนื้องอก, แผล, มีการตีบในลำไส้ใหญ่ 2. เพื่อตรวจหาสาเหตุของเลือดออกในทางเดินอาหารในกรณีต่อไปนี้     - ถ่ายเป็นเลือดสด ที่ไม่มีสาเหตุชัดเจนจากบริเวณทวารและไส้ตรง     - ถ่ายดำ ในกรณีที่ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นไม่พบความผิดปกติ     - พบเลือดแฝงในอุจจาระในกลุ่มเสี่ยง 3. ตรวจหาสาเหตุของโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก 4. ตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในกรณีต่างๆ เช่น     - ในกรณีพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ตำแหน่งอื่นแล้วต้องทำการตรวจหาในบริเวณที่ยังตรวจไปไม่ถึง    - ใช้ตรวจติดตามหลังผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว เพื่อดูการกลับเป็นช้ำ    -  ในกลุ่มเสี่ยง    - ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบชนิด Ulcerative colitis หรือ Crohn's   5. ผู้ป่วยท้องเสียเรื้อรัง ที่การตรวจเบื้องต้นยังไม่พบสาเหตุ ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในด้านการรักษา 1. รักษาภาวะเลือดออกจากลำไส้ใหญ่บางสาเหตุ 2. สำหรับการใส่ colonic stent ในกรณีลำไส้ใหญ่ตีบจากมะเร็ง 3. เพื่อทำการขยายส่วนตีบของลำไส้ใหญ่ 4. สำหรับตัดติ่งเนื้อที่ผนังลำไส้ใหญ่( Polypectomy) หรือตัดผิวลำไส้ใหญ่ในกรณีที่เป็นมะเร็งระยะต้น( endoscopic mucosal resection) 5. สำหรับแก้ไขภาวะลำไส้อุดตันในบางกรณี เช่น colonic volvulus อัลตราซาวด์( Ultrasonography)           เป็นการตรวจด้วยการใช้คลื่นเสียง สามารถใช้ตรวจอวัยวะในช่องท้องเพื่อหาความผิดปกติต่างๆ เช่น  ตรวจตับ เพื่อหาเนื้องอก, ฝี, ซีสต์, ไขมันพอกตับ, ตับแข็ง, ตับโต ตรวจถุงน้ำดีและท่อน้ำดี เพื่อหานิ่ว, เนื้องอก, การบวมของถุงน้ำดี, การอุดตัน ตรวจตับอ่อน( มักเห็นได้ชัดเฉพาะในคนผอม) เพื่อหา เนื้องอก, ตับอ่อนอักเสบ, การโป่งของท่อตับอ่อน ตรวจม้าม เพื่อหา ม้ามโต, ใช้ตรวจหาความผิดปกติของม้ามเมื่อมีอุบัติเหตุช่องท้อง ตรวจต่อมหมวกไต( เห็นได้ไม่ดีนัก) เพื่อหาก้อนที่ต่อมหมวกไต ตรวจในช่องท้อง เพื่อดู ท้องมานน้ำ ตรวจท้องน้อย เพื่อดู ลำไส้กลืนกัน, ไส้ติ่งอักเสบ( ในผู้ป่วยบางราย), ฝี, ต่อมลูกหมาก( ในผู้ชาย), มดลูกและรังไข่( ในผู้หญิง), กระเพาะปัสสาวะ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์( CT Scan)           เป็นการตรวจด้วยรังสีเอ็กซ์ มักต้องกลืนสารทึบรังสีหากต้องการดูภายในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร ใช้ตรวจหาอวัยวะต่างๆในช่องท้องเหมือนในอัลตราซาวด์แต่ให้รายละเอียดมากกว่า และมีข้อห้ามและข้อควรระวังมากกว่า, ราคาแพงกว่า เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( M.R.I.)             เป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีข้อด้อยและข้อดีกว่าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ในบางโรคเท่านั้น                                                                              นพ.สมบัติ วงศ์วิเศษกาญจน์                                                                 อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคออทิสติก (Autistic)

โรคออทิสติก (Autistic) โรคออทิสติกคืออะไร           โรคออทิสติก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้านได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร ด้านการเข้าสังคม และด้านการเล่น อาการสามารถจำแนกตามพัฒนาการแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้   พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ ไม่ส่งเสียงเรียก บอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้ พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ พัฒนาการด้านการเล่น เช่น เล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์  นอกจากนี้โรคออทิสติกสามารถแสดงด้วยอาการอย่างอื่น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่งหรือขาดสมาธิ ร้องกรี้ดเสียงสูง โขกศีรษะ เป็นต้น              ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคออทิสติกที่แน่นอน เชื่อกันว่าภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคทำได้ยาก แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อผลการรักษาที่ดี              โรคกลุ่มออทิสติกพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1  อาการสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ในเด็กที่เริ่มมีอาการเบื้องต้นผู้ปกครองมักคิดว่าเป็นเด็กขี้อาย รักสงบ หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นเด็กสมาธิดี จดจ่อของเล่นได้นาน เด็กออทิสติกมักมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี   การวินิจฉัยทำได้อย่างไร            เมื่อดูจากลักษณะภายนอกเด็กออทิสติกจะดูไม่แตกต่างจากเด็กปกติทำให้การวินิจฉัยโรคออทิสติกทำได้ยาก การวินิจฉัยโรคออทิสติกทำโดยการประเมินอาการทางคลินิกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ การประเมินอาการประกอบด้วยการซักประวัติจากพ่อแม่และการประเมินเด็กผ่านทางการเล่น แพทย์อาจขอข้อมูลพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูเพิ่มเติม นอกจากนี้แพทย์จำเป็นต้องส่งประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) โดยนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง การส่งตรวจทางคลินิกที่อย่างอื่น เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จำเป็นในกรณีที่มีอาการชักร่วมด้วยเท่านั้น   ออทิสติกต่างกับปัญญาอ่อนอย่างไร            หลายคนมักเข้าใจว่าออทิสติกกับปัญญาอ่อนเป็นภาวะเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วออทิสติกเป็นคนละภาวะกับปัญญาอ่อนสามารถแยกจากกันโดยการส่งประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) อย่างไรก็ตามโรคออทิสติกสามารถพบร่วมกับภาวะปัญญาอ่อนได้ร้อยละ 50 ในบางกรณีโรคออทิสติกสามารถมีระดับสติปัญญามากกว่าคนปกติและมีความสามารถพิเศษในระดับอัจฉริยะ (Autistic Savant) เช่น ความสามารถในการวาดรูป หรือความสามารถในการจำปฏิทิน   การรักษาโรคออทิสติก             ทุกวันนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นในการรักษาออทิสติกแตกต่างกันไป ผู้เชียวชาญบางท่านให้ความเห็นว่าโรคออทิสติกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันโรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้   การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุดในโรคออทิสติก การกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี ได้แก่ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Integration) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) และการฝึกพูด (Speech Therapy) การรักษาทั้งหมดนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง การปรับพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย เช่น โขกศีรษะหรือก้าวร้าว ซึ่งในเด็กออทิสติกจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมต้องกระชับเข้าใจง่ายและทำได้จริง ทั้งนี้พ่อแม่ทุกรายควรได้รับการฝึกทักษะในการปรับพฤติกรรมโดยแพทย์ การใช้ยา เนื่องจากโรคออทิสติกเป็นโรคทางพัฒนาการของสมอง ดังนั้นยาจึงจำเป็นที่จะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการสำคัญในเด็กออทิสติก เช่น ยา Risperidone ช่วยควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว ยา Methylphenidate ช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง ทั้งนี้การรักษาด้วยยาจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลและประเมินผลข้างเคียงโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด               โรคออทิสติกเป็นโรคทางสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการ การรักษาจำเป็นต้องใช้ความทุ่มเททั้งกายและใจอย่างมาก ผลการรักษาขึ้นกับความเข้าใจในตัวโรค ความเชื่อมั่นศักยภาพในตัวเด็ก และความรักจากผู้ปกครอง ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงผลักดันให้สามารถเอาชนะโรคออทิสติกได้                  นพ.ทรงภูมิ  เบญญากร       กุมารแพทย์สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น คลินิกสุขภาพจิตและพัฒนาการเด็ก รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม