ทำไมลูกจึงไอเรื้อรัง

          ทำไมลูกจึงไอเรื้อรัง โดย ผศ.พญ.อาภัสสร วัฒนาศรมศิริ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ รพ.วิภาวดี การไอเรื้อรังมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่บางท่านคงจะสงสัยว่าทำไมเวลาลูกไม่สบายเป็นหวัด ถึงได้ไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะถือว่าไอเรื้อรัง ถ้านานเกิน 3 สัปดาห์ติดต่อกัน กรณีที่ไอมีเสมหะ เสียงครืดคราดในลำคอ หรือแม้แต่บางรายมีอาการกระแอมเป็นประจำ ส่วนหนึ่งเกิดจากมีน้ำมูกเรื้อรัง และไหลลงจากจมูกสู่ลำคอ


การไอเรื้อรังมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่บางท่านคงจะสงสัยว่าทำไมเวลาลูกไม่สบายเป็นหวัด ถึงได้ไอต่เนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะถือว่าไอเรื้อรัง ถ้านานเกิน สัปดาห์ติดต่อกัน กรณีที่ไอมีเสมหะ เสียงครืดคราดในลำคอ หรือแม้แต่บางรายมีอาการกระแอมเป็นประจำ ส่วนหนึ่งเกิดจากมีน้ำมูกเรื้อรัง และไหลลงจากจมูกสู่ลำคอ เด็กกลุ่มที่พบมีน้ำมูกเรื้อรัง ได้แก่ กลุ่มภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก ซึ่งจะมีน้ำมูกใส ๆ ในเวลาอากาศเย็น ช่วงเช้า และกลางคืน จามและอาจมีอาการคันตา และจมูกร่วมด้วยเด็กที่มีไซนัสอักเสบ นอกจากนี้เด็กที่มี ต่อมอดีนอยด์โต ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่หลังช่องจมูก ต่อมนี้จะอุดกั้นการถ่ายเทของโพรงไซนัส และท่อเปิดหูชั้นกลาง ทำให้มีน้ำมูกเรื้อรัง เป็นไซนัสอักเสบ และหูอักเสบบ่อย ๆ


ไซนัสอักเสบทำให้ไอเรื้อรังได้อย่างไร
ไซนัสเป็นโพรงอากาศ ซึ่งมีช่องทางออกเล็ก ๆ เข้าสู่จมูก เมื่อเป็นหวัดหรือในเด็กที่เป็นภูมิแพ้ทำให้เยื่อจมูกบวม และอุดกั้นทางออกนี้ ทำให้มีการคั่งค้างของสารภายในโพรงไซนัส และเกิดการอักเสบ เด็กจะมีไข้ น้ำมูกข้นเหลือง หรือเขียวเป็นเวลานาน และเนื่องจากด้านหลังของรูจมูกติดต่อกับคอ น้ำมูกจะไหลไปด้านหลังลงคอ โดยที่หลาย ๆ ครั้ง คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยเห็นว่าลูกมีน้ำมูกออกมาเลย น้ำมูกที่ไหลลงคอนี่เองทำให้ระคายและไอ
ทำไมเด็กจึงมักไอกลางคืนหรือเวลาที่อากาศเย็น 
ในท่านอนน้ำมูกจะหยดลงมาที่คอง่าย อากาศที่เย็นจะแห้งทำให้น้ำมูกและเสมหะเหนียว รวมทั้งกลไกการทำงานของเส้นขนเล็ก ๆ ในทางเดินหายใจที่คอยพัดโบกน้ำมูกและเสมหะออกไปทำงานได้ไม่ดี จึงมีน้ำมูกและเสมหะคั่งค้างมาก ทำให้ไอมากในภาวะอากาศแห้ง


ควรทำอย่างไรเมื่อลูกไอ
ควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด ถ้ามีไซนัสอักเสบต้องให้ยาปฏิชีวนะ การให้ยาลดน้ำมูก และยาลดการบวมในจมูก จะใช้ในรายที่มีภูมิแพ้ร่วมด้วย การให้ยาหยอดจมูกเพื่อให้จมูกโล่งจะใช้เมื่อจมูกแน่นมาก ๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 4-5 วัน วิธีที่ดีและปลอดภัย คือ การล้างน้ำมูกในจมูกออกมาด้วยน้ำเกลือเพราะน้ำมูกเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็กไอ


การล้างจมูกทำอย่างไรบ้าง
- ในเด็กเล็กใช้น้ำเกลือ 1-2 หยด หยดลงในจมูกทีละข้างขณะนอนตะแคงหน้า โดยจับหน้าให้นิ่งน้ำเกลือจะไหลทำให้น้ำมูกไม่เหนียวและไหลลงไปได้เอง ถ้ามีน้ำมูกมากอาจใช้ลูกยางแดงเบอร์ 0-1 ช่วยดูดน้ำมูกโดยใส่ในรูจมูกลึกประมาณ 1-1.5 ซม. บางรายอาจต้องใส่ลึกถึง 3-4 ซม. แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
- ในเด็กโตถ้าน้ำมูกไม่มากนัก ให้ทำขณะนั่ง โดยแหงนหน้าเล็กน้อย ใช้น้ำเกลือหยดเข้าจมูกข้างละ 3-4 หยด ทิ้งไว้สักครู่แล้วก้มหน้าสั่งน้ำมูก ทำซ้ำหลายครั้งจนสะอาด แล้วจึงทำอีกข้างที่เหลือแต่ถ้าน้ำมูกมีปริมาณมากแนะนำให้ใช้หลอดฉีดยา ขนาด 10 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) ดูดน้ำเกลือครั้งละ 5-10 ซีซี ค่อย ๆ ฉีดเข้าในรูจมูก ขณะก้มหน้า และมีภาชนะรองรับ ไม่จำเป็นต้องฉีดแรง จะพบน้ำมูกไหลตามออกมา จากนั้นให้สั่งน้ำมูก แล้วทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในแต่ละข้างจนสะอาด ควรทำบ่อย ๆ อย่างน้อยเมื่อตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน ช่วงกลางวันถ้าแน่นจมูกหรือน้ำมูกมากก็ควรทำซ้ำอีก


การล้างจมูกมีอันตรายหรือไม่
ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งตัวเด็ก จะบอกตรงกันว่าสบายขึ้นและโล่งจมูก นอนได้ดีขึ้น ไม่ไอ รับประทานนมและอาหารได้ สำหรับเด็กเล็ก การดูดน้ำมูกต้องทำด้วยความนุ่มนวลและจับหน้าให้นิ่ง เด็กโตไม่จำเป้นต้องสั่งน้ำมูกรุนแรง แต่ให้ทำหลาย ๆ ครั้ง น้ำเกลือที่ใช้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับสารในร่างกาย จึงไม่มีอันตราย ถ้าหยดลงคอไปบ้างก็ไม่มีอันตรายเช่นเดียวกัน


ถ้าปล่อยให้ลูกมีน้ำมูกและไอเรื้อรังจะมีอันตรายอย่างไร
ในรายที่เป็นหอบหืด จะทำให้อาการกำเริบ และไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาเมื่อเป็นนาน ๆ จะมีเสมหะคั่งค้างในปอดได้ การที่น้ำมูกหยดผ่านลำคอนาน ๆ ทำให้เจ็บคอ ร่วมกับการที่เด็กแน่นจมูกจึงต้องอ้าปากหายใจเอาอากาศที่แห้ง ๆ เข้าไป ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง และเจ็บคอมีโอกาสเป็นหูชั้นกลางอักเสบได้ง่าย นอกจากนี้จะรับประทานนมและอาหารได้ลดลง รวมทั้งนอนหลับไม่สนิทจากการตื่นไอบ่อย ๆ


การป้องกัน
ควรตระหนักเสมอว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้อาการน้ำมูก และไอหายไปได้ ควรฝึกให้ลูกรู้จักวิธีการระบายน้ำมูกที่คั้งค้างออก เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาไอเรื้อรังตามมา

 

โดย ผศ.พญ.อาภัสสร  วัฒนาศรมศิริ  
กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ รพ.วิภาวดี

<