การรักษาโรคปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาโรคปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด

         อาการปวดหลัง (ปวดเอว ปวดคอ) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือ ลักษณะการใช้งานกระดูกสันหลังที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้นว่า เกิดจากการนั่งทำงานนาน ๆ โดยไม่เหมาะสม เช่น จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับที่ไม่พอดีกับระดับสายตา เก้าอี้ที่ใช้นั่งทำงานไม่ได้ออกแบบมาให้พอดีกับสรีระของผู้ใช้ หรือ อาจเกิดจาดอุบัติเหตุ เช่น ยกของหนัก การบิดคอหรือเอวอย่างรุนแรง เหล่านี้ทำให้ท่านสามารถมีอาการปวดหลังได้ การรักษาโรคปวดหลัง โดยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ มีเพียงบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง 


การรักษาด้วยยา 

         เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุดในผู้ที่มีอาการปวดหลัง มากกว่าครึ่งของผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง ปวดคอ หรือปวดเอว มักเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ หรือ การเจ็บบริเวณเส้นเอ็น ซึ่งสามารถดีขึ้นได้ด้วยการให้ยา ยาที่ใช้กันมากในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ ยาบำรุงระบบประสาท ที่เหลืออาจเป็นยาในกลุ่มคลายเครียด ยาช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เป็นต้น ข้อดีของวิธีการรักษาวิธีนี้คือการที่ไม่ต้องเจ็บตัวจากการถูกผ่าตัด ค่าใช้จ่ายไม่สูงเหมือนกับการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ดีก่อนที่จะให้การรักษาด้วยวิธีนี้แพทย์ต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่มีสาเหตุอื่นที่รุนแรงและอาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขหลบซ่อนอยู่ มิฉะนั้นแล้ว หากเกิดกรณีดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงมากในภายหลังและทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นมาก 

การรักษาด้วยการทำกายภายบำบัด 

         มักใช้เป็นวิธีเสริมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การให้ยาควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด การทำกายภาพบำบัดภายหลังการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ วิธีที่ใช้เช่น การนวดกล้ามเนื้อด้วยความร้อนจากเครื่อง ultrasound การให้ความร้อนด้วยparaffin การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม การฉีดยาเฉพาะจุดในตำแหน่งที่มีอาการปวด การดึงหลัง หรือดึงคอ 

        สิ่งที่ต้องทราบก่อนทำกายภาพบำบัดคือ ต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคอื่นใดที่ต้องผ่าตัดแอบแฝงอยู่ เช่น ผู้ป่วยบางรายมีการเสื่อมของกระดูกคออย่างมากและจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาการกดทับระบบประสาทก่อนการทำกายภาพบำบัด (ดึงคอ) มิฉะนั้นแล้วหากฝืนไปดึงคอหรือดึงหลัง ทั้ง ๆ ที่มีการกดทับของระบบประสาทอยู่ อาจทำให้มีอาการแย่ลงถึงขนาดเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ภายหลักดึงคอหรือดึงเอว ดังนั้นในรายที่อาจมีปัญหาดังกล่าว แพทย์มักจะขอส่งตรวจทางรังสีวินิจฉัย เป็นต้นว่า การ x-ray กระดูกคอ หรือ เอว การทำ MRI (ตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก) เพื่อวินิจฉัยแยกโรคและประเมินความรุนแรงของการกดทับระบบประสาท ก่อนส่งไปทำกายภาพบำบัด 
        อีกประการที่ผู้ป่วยต้องทราบคือ แม้ว่าแพทย์อาจลงความเห็นว่า “ยังไม่ต้องผ่าตัด” แต่ก็มิได้หมายความว่าการทานยาหรืออากรทำกายภาพบำบัดจะรักษาโรคได้หมด เพราะหลายรายอาจมีการเสื่อมของกระดูกหรือหมอนรองกระดูกสันหลังมากขึ้นในอนาคต การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ในอนาคตผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ การเสื่อมที่เป็นมากขึ้นจะทำให้อาการต่าง ๆ กลับมาอีกและอาจต้องพิจารณาการรรักษาด้วยวีธีอื่นต่อไป 

 


การรักษาด้วยการฉีดยาเฉพาะที่ 

          วิธีนี้แพทย์จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อได้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยไปสักระยะแล้วไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นต้นว่าผู้ป่วยกลับมาปวดหลังอีก หรือ อาการปวดไม่ดีขึ้นเลย แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยภาพรังสีก่อนเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวด เช่น การกดทับระบบประสาท การเสื่อมหรือทรุดตัวของหมอนรองกระดูกสันหลัง วิธีการวินิจฉัยที่ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือ การตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) เมื่อแพทย์แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองต่อยาที่ให้ไม่ดีนัก แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาเพื่อระงับอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ฉีดยาที่ข้อต่อ (Facet joint injection) การฉีดยาเข้าที่รอบเส้นประสาท (Median branch block) เป็นต้น ยาที่ใช้มักเป็นยาในกลุ่มยาชา หรือ ยาแก้อักเสบ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาวิธีนี้สามารถรักษาได้แบบผู้ป่วยนอก หรือ อยู่โรงพยาบาลเพียงสองสามวันก็กลับบ้านได้ 

การซ่อมแซมหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยการใช้คลื่นความร้อน 

     วิธีนี้เป็นเหมือนการซ่อมแซมหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหาให้สามารถพอใช้งานได้ไปอีกระยะ โดยแพทย์จะใช้เข็มแทงเข้าไปหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหา ที่ปลายเข็มจะมีขั้วไฟฟ้า(electrode)เล็ก ๆ ที่สามารถส่งผ่านความร้อนไปยังหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังหดตัวลง ยังผลให้เส้นประสาทที่ถูกดทับจากหมอนรองกระดูกสันหลังมีอาการทุเลาลง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในสองสามวัน 
โดยสรุปแล้วการรักษาโรคปวดหลัง (ปวดคอ ปวดเอว) จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนก่อนวางแผนการรักษา การวินิจฉัยที่ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์สนามแม่เหล็ก (MRI) ภายหลังการวินิจฉัย แพทย์จะวางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น หากไม่จำเป็นจะไม่มีการผ่าตัด แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาทางเลือกสุดท้ายคือ การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือแก้ไขความผิดปกติที่รุนแรงนั้น ๆ ซึ่งการผ่าตัดที่ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบันสำหรับศูนย์โรคปวดหลังโรงพยาบาลวิภาวดีคือ การผ่าตัดด้วยกล้อง ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในสองสามวันเช่นกัน 



ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ ศูนย์สมอง
รพ.วิภาวดี โทร.0-2561-1111 , 0-2941-2800 กด 1

<