การจัดฟัน คืออะไร มีกี่แบบ ข้อดี/เสีย ขั้นตอนต้องรู้ก่อนเสียตังค์

การจัดฟันคืออะไร?

การจัดฟัน (Orthodontic treatment) เป็นการเคลี่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านความสวยงามและการทำหน้าที่

โดยอาศัยเครื่องมือบางชนิด ซึ่งมีทั้งแบบถอดได้และแบบที่ยึดติดอยู่กับตัวฟันแบบที่อยู่ในช่องปากและแบบที่อยู่นอกช่องปากแบบที่มีสีจากโลหะและแบบที่มีสีเดียวกับฟันธรรมชาติ 

การจัดฟันยังรวมไปถึงการแก้ไขลักษณะนิสัยที่ผิดปกติในการบดเคี้ยว การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของขากรรไกรอีกด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านความสวยงาม และการทำหน้าที่

ทำไมต้องจัดฟัน?

การจัดฟันเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาฟันเก ฟันซ้อน ฟันห่าง ฟันเหยินได้ และปัจจุบันก็เป็นที่นิยมทำกันมาก

การมีฟันเก ฟันห่าง ฟันที่เรียงซ้อนกัน หรือฟันที่สบกันไม่พอดี อาจจะส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรที่ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร ทำให้ประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหารลดลง และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำความสะอาด ส่งผลต่อสุขภาพของเหงือกและฟันตามมา ซึ่งสาเหตุของฟันที่สบกันไม่พอดีนี้อาจมาจากนิสัยบางอย่าง เช่น การชอบดูดนิ้วตอนเด็ก การถอนฟันแท้ในช่วงก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเกิดจากพันธุกรรม

ดังนั้น การจัดฟันจึงมีผลดีต่อสุขภาพช่องปากและฟัน เพราะเมื่อฟันเรียงตัวกันอย่างมีระเบียบ การทำความสะอาดจะง่ายขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก

นอกจากนี้ ฟันที่สบกันสนิทจะทำให้เคี้ยวอาหารได้อย่างละเอียด ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการพูดที่เกิดจากการสบของฟัน

การจัดฟันทำโดยการติดเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดลงไปที่ฟัน ทำให้ฟันเกิดการเคลื่อนย้ายไปในทิศทางที่ต้องการและค่อยๆ ขยับเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการสบกันระหว่างฟันบนกับฟันล่างด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและสุขภาพของช่องปากและฟัน

นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยเพิ่มความสวยงามของฟัน ทำให้พูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

ประเภทของการจัดฟัน

ประเภทของการจัดฟัน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ  

  1. การจัดฟันแบบใช้เหล็กดัด
  2. กับการจัดฟันโดยไม่ใช้เหล็กดัด แต่จะใช้เป็นพลาสติกใสๆ ครอบไปที่ตัวฟันแทน 

โดยที่เราจะเปลี่ยนชิ้นพลาสติกนี้ไปเรื่อยๆ ฟันก็จะขยับไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องมีเหล็กดัดติดอยู่ที่ฟันของเรา การจัดฟันแบบนี้เรียกว่า การจัดฟันแบบใส Invisalign

ข้อดี

  1. การบดเคี้ยวอาหาร การจัดฟันจะทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ดียิ่งขึ้น และย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้น กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป เนื่องจากการบดเคี้ยวเป็นขั้นแรกในการย่อยอาหาร
  2. ทำให้ปัญหาต่างๆ ทางทันตกรรมลดลง
    1. ฟันซ้อนเกจะทำให้เราทำความสะอาดหรือแปรงฟันได้ยาก และไม่ทั่วถึง ส่งผลให้มีคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์รวมทั้งหินปูนมาเกาะจับที่ตัวฟันอยู่เยอะ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุและโรคเหงือกได้

    2. ฟันซ้อนเกจะทำให้เมื่อเราใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารประจำวัน จะเกิดการสึกของฟันในตำแหน่งที่ไม่ควรจะเกิด ทำให้การสบฟันผิดจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น จึงส่งผลให้ยิ่งนานไป ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อตัวฟัน เหงือกและข้อต่อขากรรไกร

  3. ความสวยงาม การจัดฟันจะทำให้ฟันเรียงตัวสวยงาม เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพและเพิ่มความมั่นใจแก่ตัวเองอีกด้วย

ข้อเสีย                                 

1. ฟันผุ เหงือกอักเสบ เนื่องจากการที่เรามีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในช่องปาก จะทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย ผู้ที่จัดฟันจึงควรแปรงฟันอย่างสะอาดทั่วถึงหลังจากมื้ออาหารทุกมื้อ

2. อาการแพ้สาร ที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือจัดฟัน บางคนแพ้สารนิเกิลที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือจัดฟัน แต่พบได้น้อยมาก

3. อาการเจ็บ พบได้เกือบทุกคนที่จัดฟัน อาการเจ็บนี้มักเกิดจากการเคลื่อนตัวของฟัน หรือเกิดจากเครื่องมือจัดฟันไปทิ่มกับเนื้อเยื่อภายในช่องปาก อาการเจ็บจะเป็นในบางช่วงของการจัดฟันเท่านั้น

4. อาการปวดข้อต่อขากรรไกร อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการจัดฟัน เนื่องจากฟันเคลื่อนตัวไปในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมต่อการบดเคี้ยว

5. ฟันตายหรือรากฟันมีการละลายตัว พบได้ไม่บ่อยนักในผู้ที่มีการจัดฟัน อย่างไรก็ตามเราพบว่าในระหว่างการจัดฟันนั้น ฟันที่ตายไปแล้ว อาจจะย้อนกลับมามีชีวิตดังเดิมได้ และในคนปกติที่ไม่ได้จัดฟันรากฟันก็จะมีการละลายตัวได้เองอยู่แล้ว

เมื่อไหร่จึงเริ่มจัดได้

การจัดฟันสามารถกระทำได้ทั้งในเด็กที่ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบและในผู้ใหญ่ที่ฟันแท้ขึ้นครบทุกซี่แล้ว ทั้งนี้อาจจะมีจุดมุ่งหมายและข้อจำกัดแตกต่างกันออกไปบ้าง 

การจัดฟันในเด็กอาจจะมีผลทำให้รูปหน้าและรูปร่างของกระดูกขากรรไกรเปลี่ยนแปลงไปได้ 

ในขณะที่ในผู้ใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะการเรียงตัวของฟันเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของใบหน้าได้มากนักและมีข้อจำกัดต่างๆมากกว่าในเด็ก 

ในบางครั้งการจัดฟันเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขการสบฟันและรูปร่างใบหน้าให้สมบูรณ์ได้  จึงต้องมีการถอนฟันออกไปบางซี่ หรือในรายที่มีความผิดปกติรุนแรง อาจจะต้องทำการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกร (Orthognathic surgery)

ขั้นตอนทั่วไปในการจัดฟัน

  1. X-Ray โครงสร้างฟัน
  2. พิมพ์ปาก แยกฟัน
  3. ติดเครื่องมือในสัปดาห์ต่อมา จากนั้นจะนัดพบทันตแพทย์จัดฟัน ทุก 3 - 4 สัปดาห์ ต่อครั้ง จนกระทั่งสภาพฟัน เป็นที่น่าพอใจ ใช้เวลาประมาณ ปีครึ่ง - 2 ปี จึงถอดเครื่องมือ
  4. ใส่ Retainer 9 ต่อจนฟันคงสภาพในตำแหน่งที่จัดอีก 1-2 ปี ซึ่งจะนัดตรวจเป็นระยะ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี 

ระยะเวลาที่ต้องใช้

ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันนั้น จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉลี่ยการจัดฟันแบบติดแน่นนั้นใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2.5 ปี แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันแตกต่างกันไป ดังนี้

  1. ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า มักจะใช้ระยะเวลาในการจัดฟันมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า
  2. การจัดฟันที่มีการถอนฟันร่วมด้วย มักจะใช้เวลาในการจัดฟันมากกว่าการจัดฟันที่ไม่มีการถอนฟันร่วมด้วย
  3. การจัดฟันที่มีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย มักจะใช้เวลามากกว่าการจัดฟันที่ไม่มีการผ่าตัดขากรรไกร
  4. การผิดนัดบ่อยๆ ย่อมทำให้เวลาในการจัดฟันนานขึ้น        
  5. การไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง เช่น การใส่ยางหรือการใส่เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ ย่อมทำให้เวลาในการจัดฟันมากขึ้น
  6. การรับประทานอาหารโดยการไม่ระมัดระวัง จะทำให้เหล็ก ยางหรือลวดจัดฟันหลุด หรือเสียหาย ย่อมทำให้ระยะเวลาในการจัดฟันมากขึ้น

ความสำเร็จในการจัดฟัน

การใส่เครื่องมือบางชนิดในช่องปากด้วยตัวเองจนถึงการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainer) หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ถ้าปราศจากการร่วมมือที่ดีจากผู้ป่วยแล้ว การจัดฟันอาจจะใช้เวลานานกว่าปกติและไม่ประสบผลสำเร็จ หรือผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ 

  • จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างสูงจากผู้ป่วยตั้งแต่การมาให้ตรงเวลานัดโดยทั่วไป 
  • จะต้องมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 3-4 สัปดาห์เพื่อทำการปรับเครื่องมือ 
  • การรักษาความสะอาดในช่องปาก 

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

  1. แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และรักษาความสะอาดฟันและช่องปากให้ดี
  2. ปฏิบัติตัวตามที่ทันตแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด เช่น การใส่ยาง การใส่ retainer การมาตามนัดที่กำหนด
  3. งดอาหารบางประเภท
    1. อาหารที่แข็งมาก เช่น อ้อย น้ำแข็ง
    2. อาหารเหนียว เช่น หมากฝรั่ง ตังเม เนื้อที่เหนียวมากๆ
    3. อาหารหวานจัด เช่น ลูกอม ช็อคโกแลต

แพทย์

ทพ. ณพงษ์ พัวพรพงษ์
ศูนย์ทันตกรรมและทันตกรรมเฉพาะทาง