คำแนะนำการปฏิบัติตัว เมื่อแยกตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)

คำแนะนำการปฏิบัติตัว เมื่อแยกตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)
 

      สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยหรือยืนยันป่วยด้วยโควิด-19(ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2563 กรมการแพทย์)

ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง  อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้นๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานพักฟื้น  ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการน้อยนี้ ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายสนิท แต่ในช่วงปลายสัปดาห์แรก ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตอาการ เมื่อไม่แน่ใจ โทรศัพท์ปรึกษา หรือเข้าไปรับการตรวจประเมินที่โรงพยาบาลก่อน ก็จะทำให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมได้

      ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรืออาการดีขึ้นแล้ว แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะยังมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ยาวนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วย ดังนั้น ผู้ที่ป่วยจึงจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย   เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เช่น เริ่มมีไข้วันที่ 1 มีนาคม เข้าโรงพยาบาล วันที่ 3 มีนาคม  ออกจากโรงพยาบาล กลับบ้านวันที่ 9 มีนาคม ควร แยกตัวอยู่บ้าน อย่างน้อยถึง 15 มีนาคม เป็นต้น 

ลักษณะของบ้านพักอาศัยที่เหมาะสม

 

      บ้านพักในช่วงที่ต้องแยกตัว ควรมีลักษณะดังนี้

มิฉะนั้น อาจต้องหาสถานที่อื่นที่เหมาะสม 

-  มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้  ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง

-  อยู่อาศัยตามลำพังหรือร่วมกับผู้อื่น  โดยมีห้องส่วนตัว

-  ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัยและการแยกจากผู้ป่วยได้ 

-  สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้ดีและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก

ผู้ป่วยโควิด-19 ควรปฏิบัติดังนี้ อย่างเคร่งครัดในระหว่างแยกตัว

 

1.  ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัว

 

2.  ถูมือด้วยแอลกอฮอล์เจล  หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำ (หากมือเปรอะเปื้อน) เป็นประจำโดยเฉพาะ

       2.1  ภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ

      2.2  ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับ  ตู้เย็น ฯลฯ เป็นต้น 

 

3.  อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา  หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต่างๆ   ขณะที่อยู่ในห้องส่วนตัวควรสวมหน้ากากอนามัยหากยังมีอาการไอ จาม เป็นระยะๆ 

 

4.  หากจำเป็นต้องเข้าใกล้  ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือ ประมาณหนึ่งช่วงแขน (ยกเว้นในกรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากไม่พบเชื้อในน้ำนม แต่มารดา ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ อย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร)  หากไอจาม ไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร

 

5.  หากไอ จาม ขณะที่สวมหน้ากากอนามัยอยู่ไม่ต้องเอามือมาปิดปาก  เนื่องจากจากมืออาจเปรอะเปื้อน หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้แขนหรือศอกปิดปากจมูก

 

6.  ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝา ชักโครก ก่อนกดน้ำทำความสะอาดโถส้วมสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจเปื้อนเสมหะ น้ำมูก  อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่ง ทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 5,000 ส่วนต่อล้านส่วน(5,000 ppm)หรือ 0.5%  (ผสมน้ำยาฟอกผ้าขาว 1 ส่วน 9 ส่วน)

 

7.  แยกสิ่งของส่วนตัว ไม่ใช้ ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ  ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์   ฯลฯ 

 

8.  ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ถ้ารับอาหารจากนอกบ้านหรือเตรียมอาหารในบ้าน บริเวณที่มีผู้อื่นอยู่ ควรให้ผู้อื่นจัดหามาให้  แล้วแยกรับประทานคนเดียว

 

9.  ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ถ้าทำได้  ซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ  60-90 องศาเซลเซียส

 

10.  แยกถุงขยะของตนต่างหาก  ขยะทั่วไปให้ทิ้งลงถุงได้ทันที ขยะที่อาจปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก สารคัดหลั่งอื่นๆ เช่น  หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ฯลฯ ให้ ทิ้งในถุงพลาสติก เทน้ำยาฟอกผ้าขาว โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เข้มข้น 500 ส่วนต่อล้านส่วนหรือ 0.05% (น้ำยาฟอกผ้าขาว 1 ส่วนต่อน้ำ  99 ส่วน) ลงในถุงเพื่อฆ่าเชื้อก่อนแล้วผูกปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งรวมกับขยะทั่วไปหลังจากนั้นต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง

 

11  นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไปและมีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ งดดื่มน้ำ เย็นจัด พยายามรับประทานอาหาร ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

 

12  หยุดไปสถานศึกษา หรือที่ทำงาน ไม่ไปในที่สาธารณะจนกว่าจะครบกำหนดการแยกตัวข้างต้น 

หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้ สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก  หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้รีบโทรศัพท์ ติดต่อเพื่อมาโรงพยาบาลทันที เพราะโรคนี้อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของความเจ็บป่วยได้  การเดินทางมาโรงพยาบาล ไม่ใช้รถหรือเรือ สาธารณะ ให้ใช้ รถยนต์ส่วนตัวและให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ หรือขอรถพยาบาลมารับระหว่างโทรติดต่อโรงพยาบาล

 

13 ระหว่างการแยกตัว ทำความสะอาดเป็นประจำบริเวณพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักหรือจับต้องและเครื่องเรือนเครื่องใช้ เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ โทรศัพท์บ้าน ฯลฯ ด้วยน้ำและผงซักฟอกอย่างเหมาะสมกับวัสดุอุปกรณ์  ภายหลังครบกำหนดการแยกตัวข้างต้น ให้ทำความสะอาดให้ทั่วถึงที่สุดเท่าทำได้
ด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เข้มข้น 0.05% ข้างต้น  

หากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถโทรสอบถามได้ที่..............โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422...

 

อ้างอิงจาก : ที่มากรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข

<