เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด และการป้องกัน

เอ็นไขว้หน้าเป็นเอ็นยึดข้อเข่าที่สำคัญภายในเข่า  ช่วยให้มีความมั่นคงของเข่า ในการบิดหรือหมุนข้อเข่า (Rotational  stability) คนที่ไม่มีเอ็นไขว้หน้า เมื่อบิดข้อเข่าจะรู้สึกเข่าอ่อนจะล้ม เกิดอาการปวดเข่า และอาจจะมีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อร่วมด้วย  ถ้าเข่าเสียความมั่นคงเกิดอาการบิดเช่นนี้บ่อย ๆ จะทำให้การบาดเจ็บของหมอนรองข้อและผิวข้อมากขึ้น กลายเป็นภาวะข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย

เอ็นไขว้หน้าขาดเพียงอย่างเดียวมักไม่ทำให้เกิดอาการปวด นอกจากมีอาการ 2 – 3 สัปดาห์แรก  หลังเกิดอุบัติเหตุ  ปัญหาของเอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากเข่าไม่มีความมั่นคง เวลารับน้ำหนักแล้วบิดเข่า (เช่น เวลาเดินจะเลี้ยว หรือเปลี่ยนทิศทาง) การวิ่งหรือขี่จักรยานยังสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหามากนักแต่กิจกรรมที่ต้องการความว่องไว และมีการบิดหมุนเข่า มักจะทำไม่ค่อยได้ถ้าไม่มีเอ็นไขว้หน้ายึดเข่าให้มั่นคง

เอ็นไขว้หน้าขาดไม่สามารถต่อเองได้ ถ้าต้องการความมั่นคงของเข่าที่มีการบิดหมุนร่วมด้วย ต้องสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นมาใหม่ มีเอ็นที่นำมาสร้างแทนเอ็นไขว้หน้า มาได้จาก  3  แห่ง

  1. ใช้เอ็นจากกล้ามเนื้อด้านหลังข้อเข่า (Hamstring tendons)
  2. ใช้บางส่วนของเอ็นลูกสะบ้า  (Kneecap or patellar tendon)
  3. ใช้เอ็นจากที่อื่น ที่ไม้ใช่จากตัวผู้ป่วยเอง (Allograft)  

นักกีฬาอาชีพทั้งชายและหญิงจำนวนมากที่สามารถกลับมาเล่นในระดับแนวหน้าได้อีก หลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า  ความพยายามฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นมากแต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่นักกีฬาอาชีพจะไม่สามารถกลับมาเล่นในมาตรฐานเดิมเหมือนก่อนการบาดเจ็บ

การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า มักจะสัมพันธ์กับชนิดกีฬาที่เล่นมากกว่า เช่น พบบ่อยในนักกีฬาประเภท ฟุตบอล , บาสเกตบอล , วอลเลย์บอล ในการเล่นกอล์ฟ เกิดขึ้นได้น้อยกว่า นอกจากจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ที่น่าสนใจ คือมีสถิติ การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าขวาขาด จากการเล่นบาสเกตบอล พบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  2  เท่า   จากการเล่นฟุตบอลพบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  4  เท่า  หรือประมาณร้อยละ  60  ของนักกีฬาหญิงที่เล่นบาสเกตบอล เกิดขึ้นขณะกระโดดลงพื้น

เอ็นไขว้หน้าคืออะไร  มีหน้าที่อะไร

เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament - ACL) เป็นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่า  ช่วยป้องกันกระดูกทีเบีย (Tibia)  เคลื่อนที่ไปข้างหน้าใต้กระดูกฟีเมอร์(Femer)  เอ็นไขว้หน้า จะตึงเวลาเหยียดเข่าแรงบิดหมุนที่รุนแรงทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ และความมั่นคงของเข่า ที่ป้องกันไม่ให้กระดูกทีเบีย(Tibia)  เลื่อนไปข้างหน้าใต้เข่า หรือบิดหมุน ก็จะเสียไปถ้าไม่ได้รับการรักษา หมอนรองข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อ ก็จะได้รับแรงที่ผิดปกติมากเกิน ทำให้ข้อเสียเกิดภาวะข้อเสื่อมได้

จากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บเอ็นไขว้ในนักกีฬาหญิง ผลการศึกษาวิธีการฝึกการบริหาร สามารถช่วยลด อัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าลงได้

  1. การกระโดด พบว่านักกีฬาหญิงเวลากระโดดลงพื้นโดยไม่งอเข่ามากเท่านักกีฬาชาย  แรงกระแทกบนเข่าจะมากกว่าทำให้อัตราการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสูงขึ้น
  2. เวลาหมุนบิดเข่า  นักกีฬาหญิงมักจะหมุนบิดเข่าขณะที่เข่าเหยียดมากกว่านักกีฬาชาย  การงอเข่าและสะโพกจะช่วยลงแรงที่กระทำต่อเอ็นไขว้หน้า ในการเล่นกอล์ฟ ขณะที่หัวไม้กระทบลูก การรักษาเข่าซ้ายให้งอไว้เล็กน้อยจะลดแรง บนเอ็นไขว้หน้าได้มากกว่า  สะบัดเข่า สะโพกให้เหยียดขึ้นทันที  ซึ่ง Tiger  Woods  ชอบใช้มากเวลาต้องการให้ไกลขึ้นอีก 30 – 40  หลา
  3. กล้ามเนื้อที่ควบคุมเข่า  มีกล้ามเนื้อเหยียดเข่าคือ กล้ามเนื้อ Quadriceps  อยู่ด้านหน้าต้นขา และกล้ามเนื้องอเข่าคือ Hamstrings อยู่ด้านหลังต้นขา

นักกีฬาหญิงส่วนใหญ่ใช้กล้ามเนื้อ Quadriceps เวลาเปลี่ยนทิศทางหมุนขา แรงของกล้ามเนื้อ ดึงกระดูกทีเบีย(Tibia)  ไปข้างหน้าและเหยียดเข่าทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าได้การบริหารกล้ามเนื้อ Hamstrings และใช้กล้ามเนื้อ Hamstrings มากขึ้น ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้าได้

การป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า

ทำได้ทั้งนักกีฬาหญิงและชายโดย ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหยียดเข่า และงอเข่า และการบริหารยืดเหยียด รวมทั้งการสร้างสมดุลและการทรงตัวของเข่าสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักกอล์ฟด้วย นอกจากลดการบาดเจ็บแล้ว การมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง การทรงตัวที่ดี จะทำให้ตีลูกกอล์ฟได้แม่นยำขึ้น ตีไกลขึ้น และควบคุมทิศทางได้ดีขึ้น

การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Quadriceps

ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง  เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหน้าให้มากที่สุด  นาน  5 – 7 วินาที  ทำซ้ำ 6 – 10  ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Hamstrings 

ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้มตัวไปข้างหลัง และข้างหน้า รู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด  นาน  5 – 7  วินาที  ทำซ้ำ  6 – 10  ครั้ง   ทำซ้ำทั้ง  2  ข้าง

การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

กล้ามเนื้อ Quadriceps นั่งเก้าอี้สูง  งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย , ยางยืด

กล้ามเนื้อ Hamstrings นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า  หรือแรงต้านจากยางยืด

<