มาฝึกดูวันไข่ตกกันเถอะ

หลังจากแต่งงานแล้ว ฮันนีมูนกันเรียบร้อย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระยะหนึ่งก็พร้อมแล้วที่จะมีโซ่ทองคล้องใจ เตรียมร่างกายพร้อมแล้ว ออกกำลังกายแล้ว รับประทานวิตามินเตรียมการตั้งครรภ์เรียบร้อย อยากจะปล่อยปุ๊บติดปั๊บจังเลย

เค้าว่ากันว่าถ้าเราทำการบ้านตรงวันไข่ตก โอกาสตั้งครรภ์ก็จะสูงที่สุด ทำยังไงดีนะเราถึงจะรู้วันไข่ตก เคยได้ยินว่าถ้านับหน้า 7 หลัง 7 จะไม่ท้อง แล้วถ้าอยากท้องล่ะจะต้องหน้าหลังยังไง เคยได้ยินว่าไข่ตกกลางรอบ เอ..แล้วกลางรอบนี่เหมือนกลางเดือนมั๊ยนะ มันหมายถึงวันที่15 ของปฏิทินรึเปล่านะ อูยยยย...ยากจัง

หมอคะ..ช่วยหนูทีค่ะ ช่วยสอนดูวันไข่ตกหน่อยนะคะ

วิธีดูวันไข่ตกมีหลายวิธีค่ะ วิธีที่ง่ายที่สุด และเป็นวิธีเริ่มแรกเลย คือ นับวันจากรอบประจำเดือน แต่ก่อนอื่นเลย ต้องได้ประวัติย้อนหลังรอบเดือนอย่างน้อย 3-6 เดือนค่ะ ยิ่งได้ประวัติย้อนหลังนานเท่าไหร่ก็จะคำนวนได้ใกล้เคียงความจริงที่สุดค่ะ

โดยนับวันที่เริ่มมีเลือดออกไม่ว่าจะเป็นเลือดสด เลือดคล้ำ มูกเลือด วันแรกนับเป็นวันที่ 1 และนับต่อไปจนถึงก่อนวันแรกของรอบต่อไป 1 วัน จำนวนวันที่นับได้นำมาเป็นความยาวของ 1 รอบเดือน ตัวอย่างเช่น ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 12 กค เท่ากับรอบนั้น 28 วัน ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 4 กค เท่ากับรอบนั้น 20 วัน ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 31 กค เท่ากับรอบนั้น 47 วัน

เมื่อคำนวนได้ในรอบ 3-6 เดือน เราก็จะทราบรอบเดือนว่าอยู่ประมาณกี่วัน โดยทั่วไปรอบที่ปกติคือ 28-30 วัน ถ้าคนที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ ไข่จะตกวันที่ 14-16 ของรอบเดือน เราก็ปฏิบัติภารกิจสำคัญ นัดเดตให้ไข่กับสเปริมเจอกันได้เลยค่ะ โดยปฏิบัติวันเว้นวันในช่วงวันไข่ตก

แล้วถ้ารอบเดือนไม่เท่ากัน จะทำยังไงดีนะ กรณีแบบนี้ก็จะยากขึ้นเล็กน้อยค่ะ จะต้องเอารอบที่สั้นที่สุดและยาวที่สุดลบ 14 ยกตัวอย่างเช่น รอบที่สั้นที่สุด 24 วัน ยาวที่สุด 40 วัน คำนวณแล้วได้เป็นตัวเลข 10และ 24 นั่นหมายความว่า ไข่จะตกอยู่ในช่วงวันที่ 10-24 ของรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้างนะคะ บอกไม่ได้เลยว่า ใน 15 วันนี้(10-24) ไข่จะตกวันไหน แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวัน อาจนับทุกวันคู่ 10,12,14,16,18,20,22,24 หรือนับเลขคี่ 13,15,17,19,21,23,25 ก็ได้ค่ะ

ถ้าในคนที่รอบเดือนห่างมากและแตกต่างกันมากในแต่ละเดือนก็ยิ่งลำบากค่ะ บางคนบอก ไม่สามารถปฏิบัติตามที่หมอบอกได้หรอกนะคะ วันเว้นวันเดือนละตั้ง7-8 รอบ บางคนนับตามที่แนะนำแล้วต้องทำการบ้านตั้งสิบกว่ารอบต่อเดือน แล้วถ้าไม่ท้องต้องทำแบบนี้อีกตั้งกี่เดือนกันนะ อืม..น่าเห็นใจจริงๆค่ะ

ดังนั้นถ้าอยากให้การนับวันมีความคลาดเคลื่อนน้อยลงก็ต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มค่ะ ตัวช่วยที่ง่ายที่สุดคือ ชุดตรวจไข่ตก ชุดตรวจไข่ตก (LH ovulation test) ในปัจจุบันมีชุดตรวจการตกไข่ โดยจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งปกติแล้วแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย จนถึงระยะ “ก่อนเวลาตกไข่” ฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการตกไข่จะเกิดภายในเวลา 12-48 ชั่วโมง
การใช้ชุดตรวจไข่ตก ง่ายมากค่ะ แค่ตรวจด้วยปัสสาวะ โดยเริ่มตรวจที่วันที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ เช่นตัวอย่างข้างต้นสำหรับคนที่รอบไม่สม่ำเสมอ ระยะวันไข่ตกน่าจะอยู่ประมาณวันที่ 10-24 เราก็จะเริ่มตรวจวันที่ 10 ของรอบ

โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจคือ บ่าย 2 โมงไม่ใช่ตอนเช้าเหมือนการตรวจตั้งครรภ์ ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงช่วงบ่ายโมง และควรทำการเก็บปัสสาวะในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน จำกัดปริมาณการบริโภคของเหลวก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

เพราะปัสสาวะที่เข้มข้นจะทำให้ได้ผลที่ชัดเจนมากที่สุด ถ้าเทสขึ้นบวกหรือขึ้น 2 ขีด หมายความว่าไข่น่าจะตกแน่ใน 12-24 ชม ก็ปฏิบัติคืนนั้นได้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่ขึ้นก็ตรวจทุกวันไปเรื่อยๆจนกว่าเทสจะบวกแล้วค่อยปฏิบัติค่ะ

ชุดทดสอบที่ขายกันทั่วไปนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้

แบบจุ่ม (Strip)

เมื่อนำชุดทดสอบออกจากซอง ให้จุ่มแถบทดสอบด้านที่มีหัวลูกศรลงในถ้วยปัสสาวะนานประมาณ 5 วินาที นำแถบทดสอบวางในแนวราบที่แห้งและสะอาด รอประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผล

ชุดทดสอบแบบธรรมดาทั่วไป จำนวน 20 แผ่น ราคาประมาณ 300-370 บาท ส่วนแผ่นยี่ห้อ iBabi ใน 1 กล่องมี 5 ชุดราคาประมาณ 170-190 บาท

แบบตลับหยด (Cassette)

เมื่อนำชุดทดสอบออกจากซอง วางตลับในแนวราบ ใช้หลอดดูดปัสสาวะหยดลงในหลุมทดสอบประมาณ 3-4 หยด รอประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผล (ยี่ห้อ Check One ราคาประมาณ 600-800 บาท)

แบบปัสสาวะผ่าน (Midstream)

เมื่อนำชุดทดสอบออกจากซอง ถอดฝาครอบออกจากแท่งทดสอบ ให้ปัสสาวะผ่านตรงส่วนปลายของแท่งทดสอบประมาณ 7-10 วินาที รอประมาณ 5 นาทีจึงอ่านผล
(ยี่ห้อ Check One ราคาประมาณ 340-380 บาท ยี่ห้อ Clearblue ราคาประมาณ 1,500-2,000 บาทโดยเพิ่มการแสดงผลแบบดิจิตัล)

วิธีอื่นๆที่ช่วยดูวันไข่ตก

ได้แก่ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT) 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่ อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง หลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณเล็กน้อยเมื่อเกิดการตกไข่ ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เราต้องทำการตรวจวัดอุณหภูมิของตัวเองทุกเช้าหลังจากนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง โดยหลังจากตื่นนอน ห้ามทำกิจกรรมใดๆไม่ว่าจะเป็นการลุกไปดื่มน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ ต้องวัดอุณหภูมิให้เสร็จก่อน แล้วทำการจดบันทึกเอาไว้

การวัดปรอทสามารถวัดได้ทุกทางตามสะดวก ทั้งทางรักแร้ ปาก ทวารหนัก หรือช่องคลอด ขึ้นกับปรอทที่ใช้วัด ควรจะวัดในเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน ถ้าสามารถวัดล่วงหน้าติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน จะประมาณวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ตัวอย่าง :

จากกราฟอุณหภูมิร่างกายด้านล่าง จะเห็นว่าวันที่ 1-13 อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำและคงที่ ซึ่งเป็นช่วงก่อนตกไข่ และวันที่ 14 ที่เป็นช่วงตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงมาต่ำสุด และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวัดถัดไป ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตกไข่ไปแล้ว และพอถึงวันที่ 29 เมื่อเริ่มมีประจำเดือนในรอบถัดไป อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงอีกครั้ง

การสังเกตมูกปากมดลูก (Cervical mucus) ฮอร์โมนเอสโตรเจนในแต่ละรอบเดือนจะมีผลทำให้มูกปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามแต่ละวันของรอบเดือน โดยช่วงที่ไข่ใกล้ตกคือช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นมากที่สุด

ดังนั้นมูกจะมีความเหนียวและยืดหยุ่นได้มากที่สุด มูกที่ปากมดลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 5-6 ระยะตามการแบ่งทางการแพทย์ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ก่อนไข่ตก : หลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ ช่วงแรกจะไม่มีมูก ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองอ่อนๆจำนวนไม่มากนัก ระยะตกไข่ : มูกจะมีปริมาณมาก มีลักษณะใสและลื่น คล้ายไข่ขาวดิบ สามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ตัวอสุจิสามารถผ่านมูกนี้เข้าไปสู่โพรงมดลูกได้สะดวก ช่วยให้สเปิร์มแหวกว่ายเข้าไปได้ง่า
  • หลังตกไข่ : มูกจะมีจำนวนน้อยลง มีลักษณะขุ่นข้นและดึงยืดไม่ได้มาก แล้วถ้าจะต้องตรวจเอง จะต้องตรวจยังไงกันนะ การตรวจมูกที่ปากมดลูกทำได้โดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด และสังเกตมูกที่ติดนิ้วออกมา

แต่วิธีการสังเกตมูกนี้ก็นับว่าค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และหลาย ๆ คนอาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ยิ่งถ้ามีอาการอักเสบในช่องคลอดหรือมีการร่วมเพศด้วยแล้ว มูกที่ปากมดลูกก็อาจเปลี่ยน ทำให้ตรวจได้ยากขึ้นด้วย

การตรวจสอบน้ำลาย (Ferning test) เป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่า ในการตรวจสอบรูปร่างของน้ำลายเพื่อหาช่วงเวลาตกไข่ เชื่อว่าระดับความเข้มข้นของ electrolytes ในน้ำลาย มีความผันตรงกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะสูงสุดระยะก่อนตกไข่ ระดับอิเลคโตรไลท์ในน้ำลายจะทำให้เกิดผลึกที่มีรูปร่างคล้ายใบเฟิร์นขึ้นมา จึงทำให้เราสามารถตรวจสอบหาวันตกไข่ได้ เพียงแค่แตะน้ำลายลงบนเลนส์ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วส่องดูรูปร่างของผลึกบนเลนส์ แต่อาจจะสังเกตรูปร่างได้ยาก หากไม่มีความชำนาญเพียงพอ

  • ช่วงไม่มีการตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นจุด ๆ หรือเส้น ๆ
  • ช่วงใกล้วันตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะคล้ายใบเฟิร์นเล็กน้อยบางส่วน ผสมกับจุด ๆ และเส้น ๆ แสดงว่าอยู่ในช่วงที่กำลังจะเกิดการตกไข่ภายใน 3-4 วัน
  • ช่วงวันตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นรูปใบเฟิร์นปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แสดงว่าในช่วงนี้กำลังมีการตกไข่เกิดขึ้น

เป็นยังไงบ้างคะ อ่านมาครบแล้ว ยากมั๊ยคะที่จะฝึกดูวันไข่ตกของตัวเอง ลองดูนะคะ ถ้าลองนับวัน ดูวัน ตรวจวันด้วยวิธีต่างๆอย่างจริงจังแล้วไม่ท้องใน 6-12 เดือน แนะนำว่าคงต้องหาเวลาว่างพบแพทย์ผุ้เชี่ยวชาญการรักษามีบุตรยากโดยตรงแล้วล่ะค่ะ เพราะหมายถึงว่าอาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมค่ะ

หมอขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านประสบความสำเร็จได้โดยง่ายนะคะ หมอคอยเป็นกำลังใจให้ค่ะ ถ้าไม่สำเร็จเราค่อยมาเจอกันนะคะ เอ..หรือถ้าสำเร็จแล้ว เราก็ยังมาเจอกันได้อยู่ดี เพราะหมอก็ดูแลทั้งกลุ่มที่มีลูกยากให้มีง่าย และกลุ่มที่มีลูกแล้วก็ยังต้องมาฝากครรภ์กันอยู่ดีเนอะ ไม่ว่าจะมียากง่ายยังไง ก็ขอให้ทุกครอบครัวมีความสุข สมหวัง เป็นครอบครัวที่อบอุ่นนะคะ

เรียบเรียงโดย พญ. อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี