สารทึบรังสี (Contrast Media) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

สารทึบรังสี (Contrast Media) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

สารทึบรังสี (Contrast Media) 

       หมายถึง สารที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา เพื่อให้เกิดความแตกต่างในการดูดกลืนรังสีระหว่างอวัยวะที่ต้องการตรวจกับอวัยวะหรือโครงสร้างอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เป็นผลให้เห็นอวัยวะที่ต้องการตรวจได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การรับประทาน , การสวนเข้าทางทวารหนัก และฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้าช่องโพรงของร่างกาย (จามรี, 2538 : ชรินทร์, 2542 : สมเกียรติ, 2538) 

 

        สารทึบรังสีชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด เป็นสารที่มีความจำเป็นในการแยกความแตกต่างของอวัยวะที่ต้องการตรวจกับอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ภาพจากการตรวจทางรังสีมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นสารทึบรังสีจึงเข้ามามีบทบาทในการตรวจทางรังสีหลายชนิด ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT ), การตรวจดูการทำงานของไต (Intravenous pyelography ), การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือด ( Angiography / Venography ), การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI ) แต่เนื่องจากสารทึบรังสีอาจทำให้เกิดการแพ้หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งนับว่าเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงสูง และจากการศึกษาของ Katayama และคณะซึ่งได้รายงานไว้ใน Radiology 1990 พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารทึบรังสีชนิดแตกตัว ทั้งหมด 169,284 ราย มีปฏิกิริยาแพ้ 12.66 % และผู้ป่วยที่ได้รับสารทึบรังสีชนิดไม่แตกตัว ทั้งหมด 168,363 ราย มีปฏิกิริยาแพ้ 3.13 % สำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากการใช้สารทึบรังสีนั้นสามารถทำได้ทุกระยะ คือ ตั้งแต่ก่อน ขณะ และหลังการฉีดสารทึบรังสี หากพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารทึบรังสีเป็นอย่างดีแล้วผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย 

ประเภทของสารทึบรังสี

         แบ่งได้หลายแบบตามสมบัติของสาร ได้แก่ 

 

  1. แบ่งตามความทึบรังสี ( จามรี, 2538 : ชรินทร์, 2542) 

    1.1 สารทึบรังสีที่ทึบรังสีน้อยกว่าเนื้อเยื่อ ( Negative contrast media ) เป็นสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ จึงมีความทึบรังสีหรือทึบแสงน้อยกว่าเนื้อเยื่อของร่างกาย สารเหล่านี้จะทำให้เกิดเป็นเงาทึบในภาพรังสี ได้แก่ อากาศ , ออกซิเจน , คาร์บอนไดออกไซด์ , ไนตรัสออกไซด์ ซึ่งปัจจุบันอากาศ ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ยังมีใช้กันอยู่ เนื่องจากหาได้ง่าย การดูด ซึมไม่เร็วจนเกินไป หากทำให้บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซนต์ได้ และมีอันตรายน้อย ส่วนไนตรัสออกไซด์นั้น ราคาแพง ดูดซึมเร็วมาก จึงยังใช้กันไม่มาก 
     

    1.2 .สารทึบรังสีที่ทึบรังสีมากกว่าเนื้อเยื่อ ( Positive contrast media ) สารเหล่านี้เป็นสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลมากกว่าเนื้อเยื่อของร่างกายทำให้เกิดเป็นเงาจางหรือขาวบนภาพรังสี ซึ่งในปัจจุบันสารทึบรังสีแทบทั้งหมดเป็นชนิดนี้ 
     

  2. แบ่งตามสมบัติการละลาย (สมเกียรติ, 2538) 

    2.1 สารทึบรังสีที่ละลายน้ำ ได้แก่ สารทึบรังสีแทบทุกชนิดในปัจจุบัน 

    2.2 สารทึบรังสีที่ละลายในไขมัน ได้แก่ ริพิโอดอล (Lipiodol ®)

    2.3 สารทึบรังสีที่แขวนลอยในน้ำ ได้แก่ แบเรี่ยมซัลเฟต (Barium sulphate) 
     

  3. แบ่งตามการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย 

    3.1 สารทึบรังสีที่ดูดซึมได้ ได้แก่ สารทึบรังสีแทบทุกชนิดในปัจจุบัน 

    3.2 สารทึบรังสีที่ไม่ดูดซึม ได้แก่ แบเรี่ยมซัลเฟต (Barium sulphate) 
     

  4. แบ่งตามลักษณะการขับถ่าย เมื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว 

    4.1 ขับถ่ายออกทางไต สารทึบรังสีแทบทุกชนิดที่ดูดซึมได้ จะขับถ่ายออกทางไต มากกว่าร้อยละ 90 

    4.2 ขับถ่ายออกทางตับ ออกมาในรูปของอุจจาระ ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้แล้ว 

<