เกลือ เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร

เกลือ เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร

           จากการสัมภาษณ์นพ.บรรหาร  กออนันตกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี ในเรื่อง "เกลือ  เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร" ในรายการ Happy & Healthy ทางสถานีวิทยุ ขสทบ. FM 102 9.30 – 10.00 น.เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 พค.52  เราได้ถอดคำสัมภาษณ์ออกมาเป็นความรู้สุขภาพ ให้ทุกท่านได้อ่านกัน เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากค่ะ อ่านได้เลยค่ะ

 

เกลือเกินกับความดันโลหิตสูง 
พล อ. ต. นพ.บรรหาร  กออนันตกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี
Happy&Healthy เสาร์ 23 พค.52 FM 102 9.00 – 10.00 น.

 

DJ: เกลือมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร ?

            อาจารย์บรรหาร: ก่อนอื่นก็คงจะต้องทราบถึงคุณลักษณะของเกลือว่ามี สีขาว รสเค็ม เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ละลายในน้ำแตกตัวเป็นโลหะโซเดียมสีเงินเป็นประจุบวกกับคลอรีนที่เป็นแก๊สพิษสีเขียวเป็นประจุลบ เกลือก็คือการรวมของธาตุทั้ง  2 นี้ แล้วตกผลึก เกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและมีความสำคัญมากมายกว่าที่คิดในการนำไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ด้วยปริมาณถึง  300  ล้านตันต่อปี  เช่น นำมาทำสบู่  ยาย้อมสี  ฟอกหนังสัตว์หรือฟอกกระดาษ     เก็บรักษาอาหาร  อุปกรณ์ทำความเย็น ละลายหิมะตามถนนเป็นต้น ร่างกายของคนเรานอกจากประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนมาก ถึงประมาณ  60%  ส่วนประกอบที่สำคัญรองจากน้ำก็คือเกลือที่มีปริมาณมากถึง15%ของร่างกายเพราะว่าโซเดียมมีหน้าที่ควบคุมอัตราการถ่ายเทของน้ำในเซลล์แล้วยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาทควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อแล้วยังช่วยเผาผลาญโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในร่างกายด้วย  ดังนั้นเกลือจึงมีความสำคัญในการดำรงชีวิต  และถ้าขาดเกลือก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะเสื่อมลง  คนปกติต้องการเกลือประมาณวันละ  400  มิลลิกรัมหมุนเวียนชดเชยเกลือในร่างกายผ่านทางหลอดเลือด  แต่ถ้าบริโภคเกลือเกินความต้องการก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือถ้ามีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก็ต้องลดปริมาณของเกลือให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ 

 

DJ :  ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

          อาจารย์บรรหาร : ความดันโลหิตหรือแรงดันเลือด เป็นองค์ประกอบทำให้ระบบไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง  การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจทำให้เกิดแรงดันให้ปริมาณเลือดจำนวนหนึ่งที่อยู่ในหัวใจด้านซ้ายล่างให้เคลื่อนไปตามหลอดเลือดแดงใหญ่ต่อจากนั้นก็จะต้องมีแรงดันเลือดให้เคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องด้วยคุณสมบัติพิเศษของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่สามารถยืดหยุ่นหลอดเลือดแดงในช่วงที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว  ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่จะพองออกเพื่อรองรับปริมาณเลือดที่มาจากแรงหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่วนในช่วงกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวกล้ามเนื้อของหลอดเลือดแดงใหญ่ก็หดกลับสู่สภาพเดิมทำให้เกิดแรงดันส่งต่อเลือดให้เคลื่อนไปตามหลอดเลือดแดงที่เล็กลงในทุกส่วนของร่างกายไปเลี้ยงเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายด้วยอ๊อกซิเจนที่มาจากเม็ดเลือดแดง เพราะอ๊อกซิเจนเป็นสิ่งที่เซลล์ต่าง ๆ ขาดไม่ได้ ถ้าเซลล์ต่าง ๆ ขาดอ๊อกซิเจนก็จะทำให้สูญเสียอวัยวะจนถึงชีวิตได้   
ค่าปกติของความดันโลหิตในช่วงที่หัวใจบีบตัว/คลายตัว เหมาะสมที่สุดอยู่ที่  120/80  มิลลิเมตรปรอท การวินิจฉัยความดันโลหิตสูง  ต้องวัดความดันโลหิตถ้าความดันโลหิตเท่ากับหรือสูงกว่า   140/90  มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปก็จะเข้าเกณฑ์ความดันโลหิตสูง   

สาเหตุของความดันโลหิตสูง  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ   ความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ อันเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ  เช่น ไต  ต่อมหมวกไต หรือจากระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น  อีกประเภทหนึ่ง คือความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุอย่างแท้จริง  ซึ่งมีอยู่ประมาณ  90%  และมักจะเกิดร่วมกับปัจจัยเสี่ยงและสิ่งแวดล้อม  ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง  คือ  เกลือ  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสารสีขาวแต่จะรวมไปถึงของที่มีรสเค็มทั้งหมด  ในทุกสภาพ  เช่น  เนื้อเค็ม  ปลาเค็ม  น้ำปลา   ซีอิ้ว และน้ำจิ้มต่าง ๆ ที่มีเกลือผสมอยู่  ปัจจุบันนี้พบโรคอ้วนที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลีน เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้อีกด้วย  และถ้ารวมการสูบบุหรี่และไขมันผิดปกติก็จะ กลุ่ม ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

DJ: โรคความดันโลหิตสูงอันตรายอย่างไร 


           อาจารย์บรรหาร: ความดันโลหิตสูง ซึ่งเมื่อก่อนนี้เราเชื่อกันว่าเป็นเพียงสภาวะของระบบไหลเวียน แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของพันธุกรรมแต่ที่แตกต่างไปจากโรคอื่นก็คือ โรค ความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับทุกอวัยวะในร่างกายที่ต้องการอ๊อกซิเจน จึงเป็นโรคที่เกิดได้ทุกที่ จึงเรียกว่า โรคแทรกซ้อน เช่น  กรณีหลอดเลือดแดงตีบตันหรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายแตกที่สมองก็จะเกิดเป็นอัมพฤตอัมพาต หรือถ้าหลอดเลือดแดงของหัวใจในตีบตันก็จะทำให้เกิดหัวใจวายแบบเฉียบพลัน  เช่นเดียวกัน ถ้าไปเกิดที่หลอดเลือดแดงของไตก็ทำให้ไตวาย หรือถ้าหลอดเลือดแดงส่วนปลายบริเวณขาและเท้าก็จะสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นไป โดยทั่วไปอาการความดันโลหิตสูงมักจะเริ่มต้นจากไม่มีอาการอะไรเลย  หรือค่อย ๆ มีอาการ  มึน  ปวดศีรษะ   สมาธิลดลง  หรือหงุดหงิดง่าย  เครียด  และถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะลุกลามไปจนถึงเกิดโรคแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาแล้ว  นับว่าเป็นการศูนย์เสียชีวิตหรือคุณภาพชีวิตก่อนวัยอันควร  ทั้ง ๆ ที่ความดันโลหิตสูงนั้นรักษาและป้องกันได้  โดยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมงดและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่ได้กล่าวมาแล้ว  เพิ่มการออกกำลังกายและเรื่องการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะด้วยการรู้จักเลือกชนิดของอาหารที่มีโคอเรสเตอรอลต่ำ  และลดอาหารที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว  หรือของทอด ส่วนในปริมาณอาหารที่รับประทาน(แคลลอรี่)ต้องไม่มากเกินไปให้พอเพียงกับพลังงานที่ต้องใช้ต่อวันจะไม่ทำให้อ้วน   ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์  โดยการใช้หลักง่าย ๆ ส่วนสูงเป็นเซ็นติเมตร  ลบด้วยหนึ่งร้อย ก็จะเป็นน้ำหนักที่ไม่ควรจะเกินของเพศชาย    ส่วนของเพศหญิงให้ลดลงอีก 10%   หลักการที่ถูกต้องของการออกกำลังกายคือ 1. ต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพักให้ได้เป็นเวลา  30  นาทีขึ้นไป  2. จะต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันหรืออย่างน้อย สัปดาห์ละ  4  วัน  3. การออกกำลังกายมี  2  รูปแบบ  เรียกว่า แบบแอโรบิก  ที่เน้นการเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วนอย่างต่อเนื่อง  ที่เพิ่มระดับแรงออกกำลังกายไปจนถึงระดับความแรงคงตัว ( Steady state)  ส่วนการออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งซึ่งจะต้องมีการสร้างพลังด้วยเกร็งกล้ามเนื้อให้เกิดพลังมารองรับการออกกำลัง เช่น  การยกน้ำหนัก  มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งประกอบไปด้วยข้อทั้งหมด  34  ข้อ  เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานทุกรูปแบบและได้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหว เกิดความคล่องตัวที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน  ฉะนั้นการดูแลข้อกระดูกทั้งหลายนี้ไม่ให้เกิดโรคข้อเสื่อม ต้องปฏิบัติด้วยการออกกำลังกายเท่านั้น เพื่อหล่อเลี้ยงและฝึกฝนให้ข้อต่อเคลื่อนไหวอย่างไม่มีอุปสรรคจะทำให้ดำรงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตในปั่นปลาย 

สุดท้ายนี้ : ความสำคัญของเกลือ พบว่าถ้าสามารถลดการบริโภคเกลือลงได้ครึ่งหนึ่ง จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอัมพาตและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั่วโลกได้ประมาณ 2.5 ล้านคนต่อปี  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกรับประทานอาหารรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และโปรดอย่าลืมงดสูบบหรี่ก็จะทำให้ท่านปลอดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ยืนยาว

“เกลือคือส่วนหนึ่งของชีวิต ฉะนั้นถ้าท่านดูแลการบริโภคเกลือชีวิตก็จะสดใส”