โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ Body Dysmorphic Disorder (BDD)

โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ Body Dysmorphic Disorder (BDD)

          เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นหรือไม่พอใจในรูปร่างหรือรูปลักษณ์ของตนเอง ทั้งที่ตามจริง แล้วก็ดูปกติหรือใกล้เคียงปกติ ผู้ป่วยจะมีความกังวลเป็นอย่างมาก ไม่สมเหตุสมผลและเชื่อว่าเขามีความผิดปกติจริง ความคิดหมกมุ่นเช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลานาน ๆ ในการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น ส่องกระจก,เสาะหาคำยืนยัน  แต่งหน้าทำผมนาน ๆ  ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  การทำงาน ครอบครัว  สังคม  มักหาทางแก้ไขโดยไปพบแพทย์ เพื่อขอรับการผ่าตัด และถ้าเป็นมาก จนมีโรคซึมเศร้าแทรกซ้อน อาจถึงกับฆ่าตัวตายได้

 

           ในปัจจุบันคนบนโลกเราส่วนใหญ่มีแนวโน้มเอียงไปข้างการหลงตัวเองหรือเข้าข้างตัวเอง ทว่ามีคนกลุ่มน้อยในโลกที่เป็นโรค “ชอบดูถูกตัวเอง” ซึ่งชื่อโรคก็พอจะบอกได้แล้วว่าอาการของผู้ป่วยมักจะชอบมองภาพตัวเองไปในทางลบเสมอ  คิดว่าตัวเองไม่สวย  ไม่หล่อ ฯลฯ และมีอาการย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับความบกพร่องของตัวเอง

 

สาเหตุของโรค BDD

สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่ปัจจัยที่คิดว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดโรคนี้มีดังนี้

  1. กรรมพันธุ์หรือมีประวัติครอบครัวเป็น  โรคอารมณ์แปรปรวน ( Mood Disorder)
  2. มีความผิดปกติของระบบ Serotonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง
  3. มีประวัติเป็นโรคย้ำคิด-ย้ำทำ ( Obsessive-Compulsive Disorder )
  4. มีวัฒนธรรมและสังคมที่มีการเน้นย้ำถึงเรื่องความสวยงาม
  5. มีความทุกข์ยากในวัยเด็ก เช่น  ถูกล้อเลียน  ถูกรังแก  ถูกด่าว่า
  6. มีประวัติของโรคผิวหนังหรือโรคทางกายอื่น ๆ  ที่ทำให้เกิดความอาย   เช่น เป็นสิวตอนวัยรุ่น ทำให้เกิดบาดแผลในใจ
  7. พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นโสด หรือหย่าร้าง ไม่มีงานทำ
  8. การตรวจด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก( MRI ) พบว่า มีการใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าคน    ทั่วไป  ซึ่งคนที่ใช้งานสมองซีกซ้ายส่วนใหญ่มักจะเป็นคนจริงจัง  เครียดง่าย  เถรตรง    ขาดความยืดหยุ่น

 

          ผู้ป่วยมักจะไปพบแพทย์แผนกอื่นมากกว่าจิตแพทย์  ทำให้ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยมักไปพบศัลยกรรมความงาม ( Cosmetic Surgery ) 

 

          การที่ผู้ป่วยตัดสินรูปลักษณ์ของตัวเองในทางลบ ไม่ชอบตัวตนภายในของตนเอง  และกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคม  เป็นแรงขับดันให้ผู้ป่วยมีความต้องการเปลี่ยนรูปลักษณ์โดยการแต่งหน้า  คลินิกเสริมความงามและทำศัลยกรรม  แต่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้ว่ารูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่ช่วยลดความคิดกังวลหมกมุ่น ตัวอย่างที่เห็น เช่น บางคนไปผ่าตัดจมูกมา  5  ครั้ง  บางคนเสริมเต้านม  เสริมแก้ม ฉีดคางจนแหลมแล้ว แหลมอีก บางคนผ่าตัดเสียจนดูแปลกประหลาดไป

 

          ดังนั้นการผ่าตัดเสริมความงามจึงมีข้อควรระวังอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เนื่องจากอาการจะยังคงเดิมหรือแย่ลงหลังผ่าตัดพบว่า 50% หลังจากทำผ่าตัดแล้วหากผู้ป่วยพอใจกับผลการผ่าตัดก็จะเปลี่ยนไปกังวลกับร่างกายส่วนอื่นแทน

 

          การพบแพทย์ผิวหนัง ( Dermatology Clinic ) ส่วนของร่างกายผู้ป่วยกังวลมากที่สุด คือ ใบหน้า โดยเฉพาะผิวพรรณหรือผิวหนังของตนเอง เช่น เป็นสิว  ในบางคนหมกมุ่นกับผิวหน้าโดยใช้กระดาษทรายมาขัดผิวหน้าเพื่อให้แผลเป็นหาย และเพื่อให้หน้าสว่างขึ้น หรือในวัยรุ่นผู้ป่วยมักเชื่อว่ามีคนสังเกตเห็นในส่วนที่มีตำหนิและมองผู้ป่วยในแง่ไม่ดี หรือตลกขบขัน ส่งผลให้ทำให้รู้สึกอาย โดยแสดงออกโดยไม่ยอมไปโรงเรียนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
 

        จากผลกระทบของโรคดังกล่าว ผู้ปกครองและแพทย์จึงควรรู้จักกลุ่มอาการเหล่านี้ โดยแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการเสริมความงามให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากการเสริมความงามไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน  คือ เรื่องจิตใจ และการรักษาที่ดีที่สุด คือ การปรึกษาจิตแพทย์ร่วมในการรักษา 
 

        ในกรณีที่ผล MRI  ออกมาว่า มีการใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าสมองซีกขวานั้น คือ รูปแบบของการทำงานสมองซีกซ้าย มักจะเป็นการใช้เหตุผล , ระบบตรรกะ , คิดคำนวณวิเคราะห์อะไรออกมาเป็นส่วนๆ  ซึ่งถ้าสมองซีกซ้ายทำงานเด่นมาก จะเป็นคนจริงจัง เครียดง่าย เถรตรง ขาดความยืดหยุ่น เปรียบได้กับ “ไม้บรรทัดนั้นแข็ง”  ซึ่งตรงและแข็ง ทว่าเปราะและหักง่าย อยู่ในกลุ่ม “ยอมหักไม่ยอมงอ”  สมองซีกขวาจะเป็นกลุ่มชอบสังเคราะห์ หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ถ้าสมองซีกขวาเด่นมาก จะเป็นคนช่างฝัน เรื่อยๆ เปื่อยๆ ทำอะไร ไม่ค่อยสำเร็จ หนักในทางเพ้อ  อยู่ในโลกความฝันมากกว่า  อยู่ในโลกของความจริงอยู่ในกลุ่ม “ไม้หลักปักขี้เลน” คนที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์จึงควรมีความสมดุลสมองทั้ง 2 ซีก 

 

วิธีที่จะช่วยให้คนเรา ใช้สมองทั้ง 2 ซีก ได้อย่างสมดุล ได้แก่

 

  1. ฝึกดนตรี ซึ่งมีส่วนฝึกมือและแขนข้างที่ไม่ถนัดสูง เนื่องจากทักษะด้านนี้ มักจะใช้ 1 สมอง 2 มือ
  2. ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ โดยเน้นทำอะไรที่ไม่ซ้ำซากบ่อยๆ 
  3. ปลูกต้นไม้หรือดอกไม้ 
  4. เลี้ยงสัตว์แบบไม่กักขังหรือให้อาหารสัตว์ 
  5. ฝึกกิจกรรมสมาธิ เช่น  ฝึกกำหนดลมหายใจ ฝึกไทเกก โยคะ ชี่กง
  6. ยอมรับความจริงที่ว่า คนเราเกิดมาไม่สมบูรณ์ เรียนรู้อยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบของเราให้ได้
  7. ฝึกสมองหาข้อดี หรือการกระทำดีของเราให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 อย่างก่อนนอน
  8. ชมข้อดี หรือการกระทำดีของคนอื่นออกมาเป็นคำพูดให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 

 

การวินิจฉัยโรคในกลุ่มนี้

         ควรมีคำถามช่วยคัดกรองสำหรับช่วยวินิจฉัย BDD ดังนี้

  1. คุณเคยคิดมากเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของคุณหรือไม่ ส่วนไหนของร่างกายที่คุณไม่ชอบ คุณรู้สึกว่าส่วนนั้นทำให้ดูน่าเกลียด ไม่มีใครคบหรือไม่
  2. คุณคิดว่าส่วนนั้นที่ไม่ชอบสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าคนอื่น ๆ อย่างไร
  3. ในแต่ละวันคุณใช้เวลากี่ชั่วโมงในการคิดเกี่ยวกับส่วนนั้น
  4. ส่วนนั้นเป็นสาเหตุทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่
  5. คุณตรวจสอบส่วนนั้นวันละกี่ครั้ง(รวมการส่องกระจกหรืออะไรก็ได้ที่สะท้อนภาพ หรือการสัมผัสด้วยนิ้วมือ)
  6. คุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับส่วนนั้นในการเข้าสังคมบ่อยแค่ไหน  มันส่งผลให้คุณต้องคอยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือไม่
  7. ส่วนนั้นมีผลต่อการนัดเดทหรือมีผลต่อการสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทหรือไม่
  8. ส่วนนั้นขัดขวางความสามารถในการทำงาน การเรียน หรือหน้าที่หรือไม่

 

การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้

           ควรปรึกษาจิตแพทย์ อาจมีการใช้ยาร่วมกับการทำ  พฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy )

แพทย์

นายแพทย์ เอนกวิช   เต็มบุญเกียรติ   

Dr. Anekvich  Temboonkiat

จิตแพทย์  ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

<