ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

 

          การนอนกรน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย และยังเป็นอาการแรกที่ควรตระหนักถึงอันตราย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะตอนเช้า ง่วงมากในเวลากลางวัน หากเป็นมากจะส่งผลไปยังสมองและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 

          โรคภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นสภาวะที่ท่อทางเดินหายใจแคบลง ทำให้หายใจติดๆ ขัดๆ หรือหายใจลดลง จนต้องมีความพยายามหายใจมากขึ้น หรือถึงขั้นหยุดหายใจไปได้เลย ที่สำคัญเมื่อหยุดหายใจแล้วจะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ทั้งยังส่งผลไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายด้วยเช่นกัน

 

          ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้ในผู้ที่มีเนื้อเยื่อในช่องคอมากกว่าปกติหรือมีเนื้อเยื่อหย่อนตัว ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลง หรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น กรามเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคทางสมอง หรือโรคกล้าเนื้ออ่อนแรง กลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮลล์ กลุ่มคนที่ใช้ยานอนหลับประเภท Benzodiazepine (เบนโซไดอะซีปีน) และพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวมากกว่า ฉะนั้นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงกลับมาเท่าผู้ชายอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้กล้ามเนื้อที่คอหอยหย่อนโดยตรง หรือบางคนเป็นโรคหัวใจ ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายมากขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณคอก็จะหนาตัวขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงได้เช่นกัน

 

          อาการที่บ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ได้แก่ 1.กรนเสียงดัง 2.มีผู้อื่นสังเกตเวลานอนจากเสียงกรนที่มีมาก่อนหน้าแล้วเงียบไปเลย หรือบางครั้งมีการสะดุ้งตื่นระหว่างหลับ กระหายอากาศหรือสำลักอากาศ 3.ปวดศีรษะเป็นประจำหลังตื่นนอน 4.ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น เหมือนนอนหลับไม่เต็มอิ่ม 5.รู้สึกเจ็บคอ คอแห้ง 6.ในช่วงกลางวันอาจจะมีอาการง่วงตลอดเวลา เผลอหลับในที่ๆ ไม่ควรหลับ เช่น หลับขณะกำลังขับรถอยู่ 7.บางคนที่มีโรคประจำตัวแล้วควบคุมไม่ดี เช่น มีความดันโลหิตสูง และมีความจำเป็นต้องใช้ยาความดันอย่างน้อย 3 ชนิด

 

          หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจะส่งผลต่อระบบสมองและหัวใจโดยตรง ผลต่อสำหรับสมอง ในช่วงแรกๆ จะง่วงตลอดเวลา ทำให้สมาธิในการทำงานลดลง อารมณ์เปลี่ยน หงุดหงิดง่าย หรือเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าอายุมากจะกลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้ สำหรับผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือดในช่วงที่หยุดหายใจ ร่างกายจะขาดอากาศ หัวใจจะทำงานหนักขึ้น บีบตัวเร็วขึ้น แรงขึ้นเพื่อชดเชยอากาศหรืออกซิเจนลดลงไป  ส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจต่างๆ เช่น    หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หลอดเลือดแดงแข็งตัว ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคทางหลอดเลือดหัวใจเอง อย่าง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคของหลอดเลือดทางสมอง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ด้วย

 

          การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอกจากอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) หรือ Sleep Test เป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัย เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค พิจารณาแนวทางในการรักษา การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test โดยติดอุปกรณ์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างหลับ ได้แก่ คลื่นสมอง ระดับออกซิเจน คลื่นหัวใจ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยก่อนเข้ารับการตรวจ คนไข้ต้องงดดื่มชา กาแฟ โกโก้ หรือสารกระตุ้นให้ตื่นตัวเกินไป และยาบางชนิดที่รบกวนการนอน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้ง

          ระยะของโรค แบ่งตามความรุนแรง โดยนับเป็นจำนวนครั้งต่อชั่วโมงเรียกว่า Apnea Hypopnea Index หรือการหาค่า AHI ถ้าอยู่ในช่วงประมาณ 5-15 ครั้ง ถือว่าอยู่ในระดับน้อย อาจจะต้องดูอาการอื่นร่วมด้วย ช่วงประมาณ 15-30 ครั้ง เรียกว่า ระดับกลาง และเกิน 30 ครั้ง เรียกว่า ระดับรุนแรง โดยระดับกลางและรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาทันที เพราะจะเกิดผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต

 

วิธีการรักษา

1.ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกต่อเนื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ขณะนอนหลับ โดยเครื่องจะทำหน้าที่อัดอากาศเข้าไปผ่านจมูก(และ/หรือปาก) เพื่อเปิดท่อทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น เมื่อท่อทางเดินหายใจเปิดออก การหยุดหายใจ การหายใจแผ่ว และเสียงกรนก็จะหายไปด้วย วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาหลักและได้ผลดีที่สุด

2.อุปกรณ์ทันตกรรม ทันตแพทย์จะเป็นผู้ใส่เครื่องมือในช่องปาก โดยจะตรวจก่อนว่ามีข้อห้ามหรือไม่ เช่น มีโรคข้อต่อกราม หรือมีฟันเพียงพอที่จะใช้อุปกรณ์นี้หรือไม่ เพื่อให้ท่อทางเดินหายใจเปิด ซึ่งจะใช้เฉพาะตอนนอนเท่านั้น

3.วิธีการผ่าตัด เมื่อใช้ 2 วิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล แพทย์หูคอจมูก ที่ชำนาญการด้านการตรวจการนอนหลับ จะเป็นผู้ประเมินว่า สาเหตุหลักอยู่ที่บริเวณไหนของท่อทางเดินหายใจตีบแคบ เช่น บางคนทอนซิลโตก็ไปผ่าออก บางคนเนื้อเยื่อบริเวณหลังลิ้นไก่ เพดานอ่อนค่อนข้างหนาก็ซ่อมลิ้นไก่ ซึ่งวิธีนี้จะดูเป็นรายบุคคล

 

          การป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือ พยายามไม่ให้น้ำหนักเกิน คนที่มีโรคทางจมูก เช่น โรคภูมิแพ้จมูก ริดสีดวงจมูก ผนังจมูกคดต้องรักษา เพื่อไม่ให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบตันในอนาคต หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหย่อน ผู้ที่สูบบุหรี่จะทำให้เยื่อบุจมูกบวม บุคคลที่ใช้ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine เกินความจำเป็นก็ต้องปรึกษาแพทย์ด้านการนอนหลับ เพื่อปรับยา นอกจากนี้การปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป จะเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับแล้ว ยังเกิดโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากท่านหรือคู่สมรส และบุตรหลานของท่านนอนกรนดังมากเป็นประจำ อาจจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
 

โดย นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา