ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ฝุ่นพิษ กทม.

 ฝุ่นพิษ กทม.

ฝุ่นพิษที่เพิ่มสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องอันตรายจากมลพิษในอากาศมากขึ้น และต่างพากันกังวลถึงผลกระทบของมลพิษต่อสุขภาพทั้งของตนเองและลูกหลาน โดยฉพาะในหลายๆ พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้ต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัยไว้เสมอเพื่อป้องกันฝุ่น

 

              โดยปกติในกรุงเทพฯ และทุกพื้นที่จะมีฝุ่นละอองพิษอยู่แล้วทุกวัน แต่ขณะที่เราเห็น ณ ปัจจุบันนี้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่มีสภาวะอากาศนิ่ง พร้อมกับมีภาวะของลมสงบ หรือที่เรียกว่าอากาศปิด เมื่ออากาศปิด ทำให้เราสามารถมองเห็นฝุ่นได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจที่มีการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก จริงๆ ฝุ่นที่เราเผชิญอยู่นี้ ไม่ใช่แค่ฝุ่นอันตราย PM 2.5 เท่านั้น ยังมีฝุ่นขนาด PM 10 ที่เกิดจากงานก่อสร้างต่างๆ มารวมตัวกัน เมื่ออากาศปิด ฝุ่นก็ลอยต่ำลงมา ทำให้เราหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายได้ง่ายขึ้น และทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเหมือนหมอกและควัน แต่หากเป็นช่วงที่อากาศเปิด ฝุ่นเหล่านี้ก็จะถูกพัดพาไป

 

            ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับคำว่า PM ก่อน PM ย่อมาจาก Particulate Matter เรียกกันว่าเป็นละอองฝุ่น 2.5 คือขนาดของฝุ่นที่มีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดอย่างเป็นทางการว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในกลุ่มหนึ่งของสารก่อมะเร็ง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า PM 2.5 มีสารพิษที่รวมอยู่ ตั้งแต่ก๊าซโอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อาร์ซินิก (Arsenic) สารหนู Lead ตะกั่ว ที่อยู่ในมลพิษของอากาศที่เราสูดดมเข้าไปได้ ก๊าซเหล่านี้เกิดจาก การขับขี่ยวดยานพาหนะ โดยเฉพาะยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่เผาไหม้ไม่หมด ฝุ่นที่เกิดจากยางรถยนต์ที่บดลงบนถนนลาดยางมะตอย การเผาต่างๆ เช่น การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า ที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกมา และโรงงานต่างๆ เช่น ในเขตระยอง เขตอุตสาหกรรม จะมีพวกสารปรอท สารหนู ปนออกมาอากาศได้เช่นกัน

 

           และเมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก ถ้าขนจมูกของเราดักจับฝุ่นละอองที่ใหญ่กว่า PM 2.5 ได้ จะแสดงปฏิกิริยาออกมาคือมีเยื่อเมือก หรือเป็นลักษณะของขี้มูก แต่ถ้าฝุ่นมีขนาดเล็กกว่าขนจมูกของเรา จนไม่สามารถป้องกันได้ก็จะเข้าสู่โพรงจมูก ลงกล่องเสียง ลงคอ ลงหลอดลมใหญ่ แล้วตรงหลอดลมของเราก็จะมีขนอ่อน (Cilia) ที่สามารถโบกพัดขับออกมาเป็นเสลดได้ หรือบางทีเป็นหวัดเจ็บคอ แล้วคุณหมอบอกมีเชื้อโรค ก็มีการขับมูกเสลดตัวนี้ออกมาได้เช่นกัน แต่ฝุ่นขนาดเล็กสามารถลงไปได้ถึงหลอดลมฝอย ลงไปในหลอดลมขนาดย่อย และตกลงไปในถุงลมของเราได้ ตรงนี้คือจุดที่อันตราย เพราะถุงลมของเรามีเส้นเลือดที่ล้อมอยู่ ตัวฝุ่นก็เข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงของเราได้ (ถุงลมที่อยู่ที่ปอด) คราวนี้มันก็ล่องลอยไปตามอวัยวะต่างๆ ของเรา ร่างกายเราก็จะเกิดปฏิกิริยาการอักเสบเกิดขึ้นได้ ถ้าไปหัวใจ สมอง หลอดเลือดตามอวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิดโรคเฉียบพลันหรือเกิดโรคเรื้อรังได้ทันที แต่ถ้าคนที่ร่างกายแข็งแรงดี ก็จะไม่ก่อโรคใดๆ ทั้งสิ้น

 

            ถึงแม้ว่าการได้รับฝุ่นจะไม่ทำให้เกิดโรคในทันที แต่ในระยะสั้น หากเราเกิดอาการแพ้ เมื่อฝุ่นเข้าจมูกไปเรียบร้อยแล้ว ก็เกิดเป็นโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ หอบหืด ไอระคายเคือง เยื่อบุตาอักเสบได้ อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ ในระยะต้นๆ หรือในระยะสั้น แต่ถ้าระยะยาว ที่เราต้องรับไปทุกวัน ฝุ่นเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกาย และถ้ามันสะสมในคนปกติ ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้ามันไปสะสมในเด็กเล็กที่กำลังมีพัฒนาการ ในคนแก่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือคนที่ไม่แข็งแรง ก็อาจจะมีปัญหาที่ทำให้เกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น

 

             หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงบรรยากาศที่มีฝุ่นได้ ต้องหาวิธีป้องกัน เช่น ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง เดินทางให้เร็วขึ้น แล้วรีบเข้าไปในอาคาร งดการออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน คนที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร พ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าหน้าที่กทม. แนะนำให้ใส่หน้ากาก N95 ถึงจะปลอดภัย เพราะ N95 สามารถป้องกันฝุ่นได้ถึงขนาด 0.3 ไมครอน เพราะหน้ากากตัวนี้สามารถปิดได้ตั้งแต่จมูก ครอบปาก ไปจนถึงใต้คาง และรัดแน่น จนกลายเป็นครึ่งวงกลมบนหน้าเรา N95 ต้องใส่อย่างถูกต้อง คือ การหายใจจะหายใจผ่านจมูก หายใจออกทางปาก หากใช้หน้ากากทั่วๆ ไป ที่เป็นสีเขียวตัวนี้อาจจะใช้ได้ไม่ดี แนะนำก็คือหน้ากากที่มีคำว่า Extra จะช่วยกรองได้อีกหนึ่งชั้น (หน้ากากสีเขียวกรองได้ 10 ไมครอน กรองฝุ่นก่อสร้างได้ ฝุ่นธรรมดาได้ แต่ไม่สามารถกรอง PM 2.5 ได้)

 

           เมื่อเราเริ่มตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละออง PM 2.5 การใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ไม่อยู่ในพื้นที่ๆ มีมลพิษเป็นเวลานานๆ จะทำให้เราห่างไกลจากโรคได้ โดยสามารถติดตามและตรวจเช็คดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) โดยแบ่งดังชีคุณภาพอากาศเป็น5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีฟ้า เขียว เหลือง ส้ม แดง เป็นตัวเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อยากให้ตระหนัก ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สวมหน้ากากป้องกัน ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ ได้

 

โดย พญ. กานดา กู้เมือง

แพทย์แผนกตรวจสุขภาพ ผ่านการอบรมอาชีวเวชศาสตร์ 

<