- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือความผิดปกติของกระแสไฟฟ้า หรือการนำไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้การหมุนเวียนเลือดเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หมดสติ รู้สึกหัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ ในบางครั้งอาจไม่แสดงอาการใดๆ
- สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากโรคประจำตัว พันธุกรรม ความดันโลหิตสูง การได้รับสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีความเครียดสูง
- วิธีรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินยา การบำบัดรักษา การผ่าตัด หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต! มาสังเกตอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอะไรบ้าง ป้องกันและดูแลตัวเองได้อย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง สามารถหาคำตอบพร้อมวิธีรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ในบทความนี้
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Nov%204%20(%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B0)%20(1).jpg)
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือความผิดปกติของกระแสไฟฟ้า หรือการนำไฟฟ้าของหัวใจ ส่งผลทำให้การหมุนเวียนเลือดผิดปกติ จึงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น หัวใจเต้นช้าผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือหัวใจเต้นเร็วสลับเต้นช้า จากปกติที่หัวใจเต้นด้วยอัตรา 60 - 100 ครั้งต่อนาที อาจเกิดการเต้นช้าต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที เต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า
โดยสถิติผู้ป่วยในไทยพบว่า ในคนไทย 1,000 คน สามารถพบผู้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมากถึง 40 คน อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Nov%204%20(%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B0)%20(2).jpg)
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีกี่ประเภท?
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่เป็นอันตราย แต่บางประเภทอาจก่อให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะเลือดตกค้าง ภาวะหัวใจห้องบนสั้นพลิ้ว ภาวะหัวใจหยุดเต้น หรืออาจเกิดลิ่มเลือดที่มีโอกาสหลุดไปที่สมองจนเกิดภาวะอัมพาตได้ บางภาวะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยประเภทของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งได้ดังนี้
ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia)
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีลักษณะของอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ สามารถจำแนกเป็นภาวะต่างๆ ดังนี้
- ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะอันเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจกระจัดกระจาย ไม่สม่ำเสมอเป็นจังหวะ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและไม่พร้อมเพรียงกัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดลิ่มเลือดขึ้นจนหลุดออกจากห้องหัวใจ ซึ่งจะนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันได้
- ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Atrial Flutter)ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เกิดจากการเต้นของหัวใจห้องบนเร็วเกินไป แต่มีความเป็นจังหวะมากกว่าภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และอาจเป็นอันตรายได้น้อยกว่า แต่สามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia)ภาวะที่หัวใจห้องบนมีการเต้นที่ผิดปกติ ทำให้รู้สึกใจสั่นๆ แต่ไม่เป็นอันตรายมากนัก
- ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง (Ventricular Tachycardia)ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง เกิดจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจห้องล่างผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็วมากๆ จนกักเก็บเลือดในหัวใจห้องล่างได้ไม่เพียงพอก่อนที่จะส่งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ภาวะนี้ถือเป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และอาจไม่แสดงอาการใดๆ ในผู้ที่หัวใจแข็งแรงดี
- ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (Ventricular Fibrillation)ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อันตรายร้ายแรง เนื่องจากไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ไม่มีการสูบฉีดเลือด ไม่มีการไหลเวียนโลหิต ไม่มีชีพจร ส่งผลทำให้อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและรักษาอย่างทันท่วงที สามารถเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติแล้ว อาการที่หัวใจเต้นช้ากว่าปกติก็สามารถพบเห็นได้เช่นเดียวกัน โดยจำแนกเป็นภาวะต่างๆ ได้ดังนี้
- โรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม (Sick Sinus Syndrome)ความผิดปกติที่เกิดจากรอยแผลบริเวณกลุ่มเซลล์ที่อยู่บนผนังหัวใจห้องบนขวา (Sinus node) ไปรบกวนกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือหยุดเต้นชั่วคราว ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืด หมดสติ หรืออาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วสลับช้า
- การอุดกั้นของการนำไฟฟ้า (Conduction Block)หัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ อันเนื่องมาจากเส้นทางการเดินของกระแสไฟฟ้าในหัวใจถูกปิดกั้น ทำให้สัญญาณกระแสไฟฟ้าจากหัวใจห้องบนส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างไม่ได้ จึงเกิดอาการหัวใจเต้นช้าลง หรือหยุดเต้นได้ในที่สุด
ภาวะหัวใจเต้นสะดุด
ภาวะหัวใจเต้นสะดุด หัวใจจะมีจังหวะการเต้นที่เพิ่มขึ้นจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง ทำให้รู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหนักเกินไป ได้รับสารบางชนิด เช่น นิโคติน หรือคาเฟอีน ตามปกติแล้วภาวะนี้ไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอาการเป็นอย่างไร
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางครั้งอาจไม่แสดงอาการให้รู้สึกถึงความผิดปกติ จึงมักตรวจพบโดยบังเอิญ ทั้งนี้สามารถสังเกตอาการบางอย่างในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยร่างกายอาจส่งสัญญาณเตือนได้ดังนี้
- รู้สึกเจ็บหน้าอก
- รู้สึกใจสั่นๆ
- หายใจไม่ทัน
- หัวใจเต้นรัว
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
- จุกแน่นขึ้นคอ หรือลิ้นปี่
- วิงเวียนศีรษะ
- ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- เหงื่อออก
- รู้สึกหน้ามืด เป็นลม หมดสติ
- นอนราบไม่ได้
- เกิดความรู้สึกกังวล
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Nov%204%20(%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B0)%20(3).jpg)
สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากอะไร
สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้
- พันธุกรรม
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง ไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคไอกรน
- ความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด
- ยาแก้หวัดที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น ซูโดอีเฟดรีน
- ยาเสพติดที่มีแอมเฟตามีนผสม
- ยาลดน้ำหนักที่มีสารไซบูทรามีน
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
- ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
- การหยุดหายใจขณะหลับ
- มีความเครียด วิตกกังวล มากจนเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การติดเชื้อไวรัสโควิด 19
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเกิดขึ้นได้
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- รู้สึกเหนื่อยง่าย
- หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
- หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวาย
- ลิ่มเลือดในหัวใจหลุดไปอุดตันอวัยวะส่วนอื่นๆ ในร่างกาย เช่น อุดตันบริเวณเส้นเลือดที่ขา ทำให้ขาและเท้าขาดเลือดจนนิ้วเท้าปลายเท้าตายได้ หรือ ถ้าลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันเส้นเลือดสมอง จะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Nov%204%20(%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B0)%20(4).jpg)
ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หากต้องการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีโอกาสเข้าข่ายโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ แพทย์จะมีขั้นตอนต่างๆ เพื่อตรวจสอบวินิจฉัย ดังนี้
- ซักประวัติ สอบถามโรคประจำตัว กิจวัตรประจำวัน ยาและอาหารเสริมที่ใช้อยู่
- ตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ
- แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง ทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติด้วยเตียงปรับระดับ ตรวจสมรรถภาพหัวใจ หรืออื่นๆ ตามเห็นสมควร
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Nov%204%20(%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B0)%20(5).jpg)
วิธีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
วิธีรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการ รูปแบบ และความรุนแรงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยวิธีการรักษา มีดังนี้
1. เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- ออกกำลังกายเป็นประจำในระดับปานกลางถึงมาก โดยใช้เวลาออกกำลังกาย 150 - 300 นาทีต่อสัปดาห์
- เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น
- ลดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
- ลดการกินเกลือ หรืออาหารรสเค็ม
- เลิกดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- ควบคุมความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล และน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- พบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
2. กินยา
- กินยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว อาจต้องกินยากันเลือดแข็งตัวร่วมด้วย
- กินยาอื่นๆ ตามแพทย์สั่งเพื่อลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
3. การบำบัดรักษา
- การทำ Vagal Maneuvers เพื่อชะลออัตราการเต้นของหัวใจ ด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส
- การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า โดยการส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงผ่านขั้วไฟฟ้า เข้าไปกระตุกหัวใจให้กลับมาเป็นจังหวะปกติ มักใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่กินยาแล้วไม่ได้ผล
4. การผ่าตัด
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังถาวร (Pacemaker) บริเวณหน้าอกใกล้กระดูกไหปลาร้า มักใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Cardiac Defibrillator) บริเวณหน้าอกใกล้กระดูกไหปลาร้า มักใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้น
- การผ่าตัดเปลี่ยนจังหวะหัวใจ (Maze Procedure)
5. การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
- การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจชนิดพิเศษ โดยสอดสายสวนหัวใจเข้าไปที่เส้นเลือดดำบริเวณต้นขา จากนั้นปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เปลี่ยนเป็นความร้อนอุณหภูมิ 50 - 60 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาบริเวณที่กระแสไฟฟ้าหัวใจมีการลัดวงจร ซึ่งเป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
วิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 - 5 วัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นอาหารหวาน มัน เค็ม
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ความกังวล ไม่ให้มากจนเกินไป
- หากเป็นโรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ควรพบแพทย์ติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Nov%204%20(%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B0)%20(6).jpg)
การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่โรงพยาบาลวิภาวดี
เพื่อสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงโรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการตรวจวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ รวมถึงตรวจหาความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบถึงสุขภาพหัวใจ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจที่พร้อมให้คำแนะนำและคำปรึกษา เพื่อหาวิธีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เหมาะสมที่สุด
โรงพยาบาลวิภาวดีก็ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพหัวใจของผู้ป่วยทุกคน โดยมีการตรวจสุขภาพหัวใจที่รวบรวมการตรวจพิเศษเฉพาะ และตรงกับความต้องการของแต่ละคน
เพื่อให้การรักษาสามารถทำได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ สามารถนัดหมายได้อย่างสะดวกผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาลวิภาวดีและสามารถตรวจสอบรายละเอียดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ที่นี่และสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิ์ประกันผู้ป่วย สามารถสอบถามค่าใช้จ่าย และค่าผ่าตัดประมาณการได้ที่แผนกผู้ป่วยในโทรศัพท์: 02-561-1111 ต่อ 4137,4139นอกจากนี้ยังมีช่องทางสำหรับการติดต่อของตัวแทนประกันชีวิตต่างๆ ทางLine ID: @vibhainsurance
สรุป
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ส่งผลทำให้การหมุนเวียนเลือดผิดปกติ จึงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา ซึ่งแบ่งออกเป็น ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ และภาวะหัวใจเต้นสะดุด สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอยู่หลายสาเหตุ ควรเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ที่โรงพยาบาลวิภาวดีเรามีบริการตรวจสุขภาพหัวใจที่ครบครัน พร้อมดูแลให้ปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหัวใจที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ
สำหรับใครที่สนใจแพ็กเกจตรวจสุขภาพของทางโรงพยาบาลวิภาวดี สามารถเข้าไปเลือกซื้อแพ็กเกจที่เหมาะสม หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-561-1111
FAQ
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีดังนี้
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ทันที?
เมื่อเกิดอาการหายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม หน้ามืด เจ็บหน้าอก ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการให้แน่ใจ
คนมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหายเองได้ไหม?
หากมีอาการไม่มากนัก สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ทั้งนี้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทอาจจำเป็นต้องกินยาหรือทำการรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย
คนมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะห้ามกินอะไรบ้าง?
ห้ามกินอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป อาหารรสเค็มจัดและหวานจัด อาหารที่ปรุงโดยใช้น้ำมันมากๆ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอันตรายมากไหม?
บางประเภทไม่เป็นอันตราย แต่บางประเภทสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
สัญญาณไฟฟ้าหัวใจของเราทํางานอย่างไร?
หัวใจของเราประกอบด้วย 4 ห้อง ได้แก่ ห้องบนขวา ห้องบนซ้าย ห้องล่างขวา และห้องล่างซ้าย โดยกลุ่มเซลล์บริเวณผนังหัวใจห้องบนขวา (Sinus node) ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ สัญญาณไฟฟ้าหัวใจจะเริ่มต้นถูกส่งไปกระตุ้นหัวใจห้องบนขวาและซ้ายก่อน จากนั้นสัญญาณไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านไปยังจุดเชื่อมต่อของหัวใจห้องบนและห้องล่าง (AV node) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณให้จังหวะการสูบฉีดเลือดจากห้องบนมาห้องล่างเป็นไปอย่างเหมาะสม ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นไปตามปกติ และเลือดถูกส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้มีประสิทธิภาพ