ลักษณะของ ไฝ อย่างไรที่ควรต้องเฝ้าระวัง

ลักษณะของ ไฝ อย่างไรที่ควรต้องเฝ้าระวัง

 ไฝ คือ 
        ภาวะหนึ่งของร่างกายที่บริเวณนั้นๆมีการรวมกลุ่มกันของเซลล์สร้างเม็ดสีหรือเซลล์ไฝ (Nevus cell) ทำให้เห็นไฝเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล อาจเป็นจุดเรียบหรือตุ่มนูน

ไฝแบ่งตามชนิดที่เป็นได้ 2 ประเภท

1.                   ไฝตั้งแต่แรกเกิด มักมีขนาดโตตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นก้อนนูน อาจมีขนขึ้นบริเวณไฝด้วย

2.                ไฝที่เกิดขึ้นภายหลัง มักเป็นบริเวณที่โดนแสงแดด มักมีขนาดเล็ก เรียบ ถ้าเป็นไฝที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ผิวเรียบและไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่า ขี้แมลงวัน ถ้าไฝมีลักษณะนูน โตเร็ว แตกเป็นแผล ควรมาพบแพทย์

           ไฝบางประเภทอาจกลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้  สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นเป็นเวลานานๆ เช่นถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ถูกถูไถจนเป็นแผลเป็นเวลานาน หรือ ถูกสารเคมี เป็นต้น

ลักษณะไฝที่ต้องเฝ้าระวังคือ

1.      Asymmetry       เมื่อแบ่งครึ่งจะไม่สมมาตร ครึ่งหนึ่งของไฝจะแตกต่างจากอีกด้านหนึ่ง

2.      Border             ขอบเขตของไฝไม่สม่ำเสมอ ขอบเขตไม่ชัดเจน

3.      Color                มีหลากหลายสีหรือสีไม่สม่ำเสมอ

4.      Diameter          ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร

5.      Evolving            ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี รูปร่าง ขนาด โตเร็วผิดปกติ หรือ มีเลือดออก

วิธีการรักษา

1.      กรณีไฝอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อเก็บตัวอย่างผิวหนัง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

2.      กรณีไฝธรรมดาหรือขี้แมลงวัน สามารถกำจัดออกได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) เป็นการใช้ความร้อนจี้เซลล์ไฝออกไป หลังการรักษาแผลจะเป็นสเก็ดอยู่ประมาณ 5-7 วัน

            การดูแลผิวหลังทำเลเซอร์หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการเกิดรอยคล้ำ

 

 

ข้อมูลโดย: พญ.ชนาทิพย์  ญาณอุบล

อายุรศาสตร์  สาขา ตจวิทยา