นอนกรน... ต้นเหตุของโรคร้าย อาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

       การนอนกรนก่อปัญหาให้ทั้งผู้ที่มีอาการและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด คนที่มีอาการนอนกรนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลาย ๆ โรค เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น โรคนอนกรนเกิดจาก การที่ลมผ่านทางท่อหายใจที่แคบลงและเกิดการสั่นไหวรอบ ๆ ของเนื้อเยื่อคอ เช่น เพดานอ่อนลิ้นไก่ ก็เลยเกิดเป็นเสียงกรน การนอนกรนเด็กก็สามารถเป็นได้ แต่สาเหตุจะแตกต่างกับผู้ใหญ่  ส่วนในเด็กจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เป็นโรคนอนกรนก็คือเนื้อเยื่อในคอมีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสาเหตุของโรคนอนกรนก็เกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลงนั่นเอง
 

สาเหตุของโรคนอนกรน

     1.เนื้อเยื่อในคอหอยมีปริมาณมาก เช่น ทอนซิลโต

      2.คนที่มีน้ำหนักตัวมาก นอกจากไขมันจะไปสะสมอยู่ที่พุงแล้วก็ไปสะสมอยู่บริเวณเนื้อเยื่อรอบคอหอยเช่นกัน

     3.โครงหน้าเล็ก ทำให้ท่อทางเดินหายใจเปิดแคบลง ซึ่งจะพบค่อนข้างมากในคนแทบทวีปเอเชีย

     4.กล้ามเนื้อหย่อนตัว เช่น เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อจะหย่อนตัวได้ง่ายขึ้นหรือเป็นโรคระบบประสาท โรคทางสมอง อีกอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัวก็คือยา เช่น ยานอนหลับบางชนิด แอลกอฮอล์

     5.เพศ เพศชายจะพบมากกว่าเพศหญิงซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว
 

ลักษณะอาการนอนกรน

     การนอนกรนคือการนอนที่มีเสียงเกิดขึ้นโดยทั่วไปการนอนปกติจะต้องไม่มีเสียงหรือมีเสียงดังได้แค่เล็กน้อย เพราะฉะนั้นแล้วกรนธรรมดาจะกรนได้แค่เสียงเบา ๆ เท่านั้น แต่ถ้าหากการนอนกรนมีเสียงดังนั่นถือว่าเป็นการนอนกรนที่อันตราย โดยจะแบ่งความรุนแรงออกเป็นทั้งหมด 3  ระดับ คือ
 

     1.ความรุนแรงระดับ 1 คือ การนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ 

     2.ความรุนแรงระดับ 2 คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางในขณะนอนหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน

     3.ความรุนแรงระดับ 3 คือการนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ  10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
 

ขั้นตอนการรักษา

     1.รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศหรือที่เรียกว่า เครื่องซีแพพ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) เป็นเครื่องผลิตแรงดันอากาศให้เพียงพอในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหายใจทั้งเข้าและออก โดยส่งอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านทางหน้ากากครอบจมูกหรือปาก

     2.การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral Appliance) การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกันและเลื่อนขากรรไกรล่างมาหาทางด้านหน้า ป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดาหรือภาวะก่ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดาและกรนอันตราย

      3.การผ่าตัด การผ่าตัดในกรณีที่การปฏิบัติตัวหรือการรักษาวิธีธรรมดาไม่ได้ผล โดยจะช่วยขยายทางเดินหายใจผ่านแสงเลเซอร์ตกแต่งบริเวณเพดานอ่อนลิ้นไก่โคนลิ้น เยื่อบุจมูกให้มีขนาดพอเหมาะทำให้ลมหายใจเข้าออกดีขึ้นเพื่อลดการนอนกรน เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่อาจมีอาการเจ็บแผล  1 สัปดาห์ 
 

ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนกรน

      โรคแทรกซ้อนขณะนอนกรนมีค่อนข้างมาก เนื่องจากเวลาที่หยุดหายใจหรือท่อทางเดินหายใจปิดตัวลงระดับออกซิเจนในร่างกายจะตกลงและร่างกายจะไม่ยอมขาดออกซิเจนต่ออาจทำให้เกิดการตื่นตัวของสมองให้กลับมาหายใจใหม่ ในการตื่นตัวบ่อย ๆ จะส่งผลให้นอนไม่พอทำให้เกิดโรคตามมาหลาย ๆ อย่าง เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคสมองเสื่อม อีกอย่างเมื่อระดับออกซิเจนลดลงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกายเป็นการชดเชยทำให้หัวใจทำงานหนักเป็นช่วง ๆ ยิ่งทำงานหนักบ่อย ๆ ก็เกิดโรคซึ่งโรคที่ตามมา ในกรณีนี้คือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น


โดย นพ.พงศกร  ตนายะพงศ์

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท