โรคสะเก็ดเงิน

  • โรคสะเก็ดเงินคือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนมีการสะสมของเซลล์ในชั้นผิวหนังมากเกินไป ส่งผลให้เกิดผื่นแดง หนา และลอกเป็นขุย
  • โรคสะเก็ดเงินจะมีอาการผื่นแดงนูน ลอกขุยสีขาวหรือสีเงิน มีอาการคัน หรือแสบ มักพบที่ข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ และอาจมีเล็บหรือข้ออักเสบร่วมด้วย
  • โรคสะเก็ดเงินเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและภูมิคุ้มกัน รวมถึงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด การติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิด และพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน สามารถทำได้หลายวิธีทั้งใช้ยาทา ยารับประทาน ยาฉีด หรือการฉายแสง ร่วมกับการดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น และติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

“สะเก็ดเงิน” เป็นโรคใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด! หลายคนอาจเคยมีผื่นแดงลอกเป็นขุยตามข้อศอก เข่า หนังศีรษะ หรือมีผิวหนังหนาแห้งเป็นแผ่นโดยไม่เคยรู้มาก่อนว่าอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังอย่างสะเก็ดเงิน ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง อาการอาจลุกลามและส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้

บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคสะเก็ดเงินว่าเกิดจากอะไร มีอาการและระยะของโรคอย่างไรบ้าง พร้อมบอกกลุ่มเสี่ยงและแนวทางการรักษาจากทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลวิภาวดี รวมถึงสิทธิการรักษา ค่าใช้จ่าย และช่องทางการนัดหมาย

ทำความรู้จัก โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร

ทำความรู้จัก โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติไปด้วย ทำให้เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังชั้นนอกในปริมาณมากจนกลายเป็นผื่นหนาและผิวลอกเป็นขุย ซึ่งสะเก็ดเงินแบ่งออกได้หลายชนิด ดังนี้

1. ชนิดผื่นหนา (Plaque Psoriasis)

ชนิดผื่นหนาเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะเฉพาะคือผื่นแดงนูนขึ้นจากผิวหนัง ปกคลุมด้วยขุยสีขาวหรือสีเงิน โดยผื่นเหล่านี้มักปรากฏบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย เช่น ข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ หลัง และบริเวณลำตัว อาการอาจมาพร้อมกับความรู้สึกคัน ระคายเคือง หรือแสบร้อน ในบางรายหากมีการเกาแรงๆ หรือเกิดการอักเสบ อาจทำให้แผลลุกลามหรือมีเลือดออกได้

2. ชนิดตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis)

ชนิดตุ่มหนองเป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดผื่นหนาแต่มีความรุนแรงมากกว่า มักพบบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าเป็นส่วนใหญ่ โดยมีลักษณะเด่นคือตุ่มหนองขนาดเล็กสีขาวหรือเหลืองกระจายอยู่บนผิวหนังที่แดงอักเสบ ซึ่งตุ่มหนองนี้ไม่ใช่การติดเชื้อแต่เกิดจากการอักเสบของผิวหนังล้วนๆ และอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ แสบ หรือแห้งตึงบริเวณผื่นได้ ทั้งนี้หากผื่นแดงและตุ่มหนองกระจายทั่วร่างกายอาจทำให้มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น ขาดน้ำหรือการติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

3. ชนิดหยดน้ำ (Guttate Psoriasis)

หลายคนอาจสงสัยว่าโรคสะเก็ดเงินชนิดหยดน้ำเกิดจากอะไร ต้องบอกเลยว่าเป็นชนิดที่มักเกิดขึ้นในเด็กหรือวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ มีลักษณะเด่นคือผื่นแดงหรือชมพูขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายหยดน้ำกระจายอยู่ทั่วลำตัว แขน และขา โดยผื่นจะมีขุยบางๆ ปกคลุม และมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) หลังการติดเชื้อประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ผื่นอาจเริ่มปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายทั่วร่างกาย

4. ชนิดผื่นแดงทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis)

ชนิดผื่นแดงทั่วตัวเป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุดแต่มีความรุนแรงสูงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีลักษณะเด่นคือผิวหนังทั่วร่างกายมีอาการแดง ลอก ขุย และอักเสบอย่างรุนแรง มักครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 90% ของร่างกาย อาจมีอาการแสบ คัน แห้ง แตก เจ็บ หรือมีไข้ร่วมด้วย โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนาวสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย และมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อน จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางผิวหนังที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ในโรงพยาบาล

5. ชนิดเกิดบริเวณซอกพับ (Inverse Psoriasis)

ชนิดเกิดบริเวณซอกพับเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคสะเก็ดเงินที่พบในบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสีหรืออับชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ร่องก้น หรือบริเวณรอบอวัยวะเพศ ลักษณะของผื่นจะแตกต่างจากสะเก็ดเงินชนิดอื่นคือผื่นจะมีสีแดง เรียบ ลื่น ไม่มีขุยหรือสะเก็ดหนา เนื่องจากบริเวณซอกพับมีความชื้นสูง ทำให้ขุยผิวหนังไม่สามารถสะสมได้เหมือนบริเวณอื่น อาจมีอาการแสบ คัน ระคายเคือง โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อหรือการเสียดสีจากการเคลื่อนไหว

6. ชนิดเกิดบริเวณมือเท้า (Palmoplantar Psoriasis)

ชนิดเกิดบริเวณมือเท้าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใช้มือหรือเท้าทำงานเป็นประจำ เนื่องจากมีผื่นแดง หนา ลอกเป็นขุย หรือมีรอยแตกที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าชัดเจน ซึ่งจะเจ็บหรือแสบมาก โดยเฉพาะเวลาสัมผัสหรือเดิน ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงต้องได้รับการรักษาทันที

7. ชนิดเกิดบริเวณเล็บ (Psoriatic Nails)

ชนิดเกิดบริเวณเล็บเป็นอาการแสดงของโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นกับเล็บมือหรือเล็บเท้า โดยพบในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณ 30 - 50% และอาจพบร่วมกับโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) ได้ ซึ่งมักมีลักษณะเล็บบุ๋มเป็นหลุมเล็กๆ เล็บหนา ขรุขระ ปลายเล็บยกตัว มีสีเหลือง น้ำตาล หรือรอยเลือดใต้เล็บ อาการที่เกิดกับเล็บอาจทำให้การใช้มือหรือเท้าเป็นไปด้วยความลำบากและส่งผลต่อความมั่นใจในชีวิตประจำวันได้

8. สะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม (Sebopsoriasis)

สะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์มเป็นภาวะสะเก็ดเงินที่มีลักษณะอาการคาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า หลังหู และกลางหน้าอก ลักษณะอาการคือมีผื่นแดง ลอกขุยเล็กๆ สีขาวหรือสีเหลือง ผิวหนังมัน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรังแคหรือเซ็บเดิร์มทั่วไป ทำให้การวินิจฉัยต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เป็นอย่างมากในการแยกอาการ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

อาการของโรคสะเก็ดเงินแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งในด้านลักษณะ ตำแหน่ง และความรุนแรงของผื่นผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางรายอาจเกิดผื่นครอบคลุมทั่วร่างกาย แต่อาการหลักๆ ที่พบบ่อยและเป็นจุดสังเกตของโรคได้ มีดังนี้

  • ผื่นแดงนูนขึ้นจากผิวหนังและมีขอบผื่นที่ชัดเจน
  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมีลักษณะหนา ลอกเป็นขุยสีขาวหรือสีเงิน
  • แผ่นผิวหนังลอกในบริเวณที่เป็นผื่นเล็ก ผื่นใหญ่ไม่เท่ากัน
  • คัน แสบ หรือมีความรู้สึกระคายเคืองบริเวณที่เป็นผื่นตลอดเวลา
  • ผื่นมักพบบริเวณข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ หลัง หรือสะโพก
  • ในบางรายอาจมีตุ่มหนองบริเวณผื่นร่วมด้วย
  • หากเป็นชนิดรุนแรงอาจมีไข้ หนาวสั่น หรือผิวหนังลอกทั่วตัว

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร

โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดโรค ตามไปดูกันเลยว่าเกิดจากอะไรบ้าง!

  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Autoimmune Reaction)ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและเข้าใจผิดว่าเซลล์ผิวหนังเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงโจมตีเซลล์ผิวหนังโดยไม่จำเป็น ทำให้เซลล์ผิวแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนเกิดการสะสมเป็นผื่นหนาและลอกเป็นขุย
  • พันธุกรรมผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหากพ่อหรือแม่เป็นทั้งคู่
  • การติดเชื้อบางชนิดโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus ในลำคอ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดหยดน้ำในเด็กและวัยรุ่นได้
  • ความเครียดและปัจจัยทางอารมณ์ความเครียดและภาวะอารมณ์ที่ไม่สมดุลกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน โดยเฉพาะคนนที่ไวต่อระบบภูมิคุ้มกัน ความเครียดเรื้อรังอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนผิวหนังอักเสบและเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติได้
  • การใช้ยาบางชนิดการใช้ยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบหรือแสดงอาการขึ้นมาได้ เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ยาต้านมาลาเรียบางชนิด ยาลดความดันโลหิตในกลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ หรือยาสเตียรอยด์ หากต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตพฤติกรรมบางอย่างส่งต่อระบบภูมิคุ้มกันและการอักเสบในร่างกายจนทำให้เกิดอาการของโรคสะเก็ดเงินบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นได้ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนไม่พอ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และการรับประทานกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง

การแบ่งระยะของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินสามารถแบ่งระยะตามความรุนแรงของอาการและพื้นที่ผื่นที่ปรากฏบนร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระยะหลัก ดังนี้

  • ระยะเล็กน้อย (Mild Psoriasis)เป็นระยะเริ่มต้น จะมีผื่นสะเก็ดเงินครอบคลุมน้อยกว่า 3% ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมด อาการจะไม่รุนแรงมากและมักพบเฉพาะบริเวณข้อศอก หัวเข่า หรือหนังศีรษะ โดยการรักษามักใช้ยาทาภายนอกเป็นหลัก เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือคาลซิโพไทรออล
  • ระยะปานกลาง (Moderate Psoriasis)ระยะนี้ผื่นจะเริ่มครอบคลุมประมาณ 3 - 10% ของพื้นที่ผิวหนัง อาการเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผู้ป่วยจะมีอาการคันหรือระคายเคืองชัดเจน การรักษาจึงต้องใช้ทั้งยาทาภายนอก ยากินหรือการฉายแสงร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
  • ระยะรุนแรง (Severe Psoriasis)ผื่นสะเก็ดเงินจะครอบคลุมมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวหนัง หรือแม้จะมีพื้นที่ไม่มากแต่ส่งผลกระทบรุนแรง เช่น บริเวณใบหน้า อวัยวะเพศ หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า การรักษาต้องใช้ยากินกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน ยาชีวภาพ (Biologics) หรือการฉายแสงร่วมด้วย

กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคสะเก็ดเงิน

กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มเกิดโรคสะเก็ดเงินได้สูงมักมีลักษณะหรือปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน เช่น พ่อ แม่ หรือพี่น้องแท้ๆ
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือทำงานผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune) หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือไม่ออกกำลังกาย
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจกระตุ้นอาการ เช่น ยาลิเทียม หรือยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม

การตรวจวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน

การตรวจวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน

การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินจำเป็นต้องใช้ความชำนาญและทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  1. การซักประวัติอาการและสุขภาพทั่วไปแพทย์จะสอบถามถึงลักษณะผื่น ระยะเวลาที่เป็น อาการคันหรือระคายเคือง รวมถึงประวัติครอบครัวและปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เช่น ความเครียด การใช้ยา หรือการติดเชื้อ
  2. การตรวจลักษณะผื่นทางคลินิกโดยแพทย์จะดูผื่นโดยตรงเพื่อประเมินรูปแบบ ลักษณะผิว ลำดับการลอกขุย และตำแหน่งที่พบผื่น ซึ่งมีความจำเพาะต่อโรคสะเก็ดเงิน
  3. การขูดผิวหนังตรวจ (Auspitz Sign)ในบางกรณีอาจใช้วิธีขูดผิวหนังเบาๆ เพื่อตรวจหาขุยและสังเกตการมีเลือดออกจุดเล็กๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค โดยวิธีนี้จะช่วยให้มั่นใจได้มากขึ้นในการวินิจฉัยโรค
  4. การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังตรวจทางพยาธิวิทยา (Skin Biopsy)หากอาการไม่ชัดเจนหรือสงสัยว่าเป็นโรคอื่นที่คล้ายกัน เช่น เซ็บเดิร์มหรือเชื้อราผิวหนัง แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้แยกอาการได้ชัดเจนมากขึ้น

วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

การรักษาโรคสะเก็ดเงินจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค พื้นที่ที่เกิดผื่น และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมในแต่ละราย โดยการรักษาอาจมีหลายรูปแบบ ดังนี้

1. ยาทาภายนอก (Topical medications)

การใช้ยาทาภายนอกเป็นวิธีรักษาพื้นฐานที่มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือมีผื่นในบริเวณจำกัด ซึ่งยาทาภายนอกจะช่วยลดการอักเสบ ชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิว และบรรเทาอาการคัน โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ช่วยลดการอักเสบและอาการแดงของผื่น
  • คาลซิโพไทรออล (อนุพันธ์วิตามินดี) ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว
  • น้ำมันดิน (Coal tar) และกรดซาลิไซลิก ช่วยลดขุยและทำให้ผิวเรียบขึ้น

2. การฉายแสงอาทิตย์เทียม (UV Phototherapy)

การฉายแสง UV เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง หรือเมื่อการใช้ยาทาภายนอกไม่ได้ผล โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตชนิด B (Narrowband UVB) หรือ PUVA ในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดอาการอักเสบ ลดจำนวนผื่น และยืดระยะห่างของการกำเริบของโรคได้ดี ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉายแสงอย่างสม่ำเสมอที่โรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันผลข้างเคียง เช่น ผิวไหม้ หรือผิวคล้ำ เป็นต้น

3. รักษาด้วยยาชนิดรับประทานและยาฉีด (Oral and injected medications)

การรักษาด้วยยาชนิดรับประทานและยาฉีดใช้ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น โดยยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ภายในร่างกายเพื่อควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และชะลอกระบวนการที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วเกินไป

  • ยารับประทานเช่น เมโธเทรกเซต (Methotrexate) อะซิเทรติน (Acitretin) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
  • ยาฉีดชีวภาพ (Biologics)ซึ่งออกฤทธิ์เจาะจงต่อสารในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น TNF-alpha inhibitors หรือ IL-17/IL-23 inhibitors

ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค แต่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงหรือข้อห้ามในผู้ป่วยบางราย

วิธีป้องกันเป็นโรคสะเก็ดเงิน

แม้โรคสะเก็ดเงินจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญและไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การดูแลสุขภาพ รู้ว่าสะเก็ดเงินเกิดจากสาเหตุอะไร และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หรือชะลอการแสดงอาการในผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคได้ แนวทางการป้องกันที่แนะนำ มีดังนี้

  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสมเช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ โยคะ หรือหากมีภาวะเครียดสะสมควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนความเครียดในร่างกายที่มีบทบาทกระตุ้นภูมิคุ้มกันและส่งผลให้สะเก็ดเงินแสดงอาการได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคและทำให้อาการกำเริบได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง น้ำตาล และอาหารแปรรูป เพราะอาจกระตุ้นการอักเสบในร่างกายได้
  • ป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะทางเดินหายใจเช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดและดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อการเกิดสะเก็ดเงินได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่กระตุ้นโรคโดยไม่จำเป็นเช่น ยาลิเทียม หรือยาบางชนิดที่แพทย์ไม่ได้สั่ง
  • ดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการระคายเคืองและทำให้ผิวหนังมีเกราะป้องกันที่แข็งแรงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ และเข้าพบแพทย์เมื่อสงสัย เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพระยะยาว

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการดูแลรักษาโรคสะเก็ดเงินแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยมีแนวทางการดูแลตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา และการติดตามผลอย่างเป็นระบบ ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านผิวหนัง พร้อมทีมสหวิชาชีพที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สะดวก และมีคุณภาพสูงสุดตลอดการรักษา โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

การตรวจวินิจฉัย

ที่โรงพยาบาลวิภาวดี การตรวจวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินดำเนินการโดยแพทย์ผิวหนังผู้มีประสบการณ์ ดังนี้

  • การซักประวัติอย่างละเอียดทั้งอาการ ประวัติครอบครัว การใช้ยา และปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ จะทำให้ทราบได้ว่าสะเก็ดเงินเกิดจากอะไรในผู้ป่วยรายนั้นๆ
  • การตรวจสภาพผิวหนังโดยตรง เพื่อประเมินลักษณะของผื่นสะเก็ดเงิน ตำแหน่งที่พบ และระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  • การตรวจพิเศษในกรณีที่ลักษณะผื่นไม่ชัดเจน หรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคผิวหนังอื่น แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การขูดผื่นเพื่อดูลักษณะของขุย หรือการตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin Biopsy) ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยให้แม่นยำยิ่งขึ้น

การรักษา

โรงพยาบาลวิภาวดีมีแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินแบบครบวงจร โดยแพทย์ผิวหนังจะประเมินระดับความรุนแรงของโรคเป็นรายบุคคล เพื่อกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการรักษาที่ให้บริการ มีดังนี้

  • การใช้ยาทาภายนอกเช่น ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เพื่อช่วยลดการอักเสบและชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง
  • การฉายแสง UV (Phototherapy)โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตชนิด B (Narrowband UVB) หรือ PUVA ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดอาการอักเสบและช่วยควบคุมการกำเริบของโรคได้
  • การใช้ยารับประทานและยาฉีดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีพื้นฐาน เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน (Methotrexate, Cyclosporine) และยาชีวภาพ (Biologics) ซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะจุดในการยับยั้งกระบวนการอักเสบ

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ต้องรักษาในระยะยาว บางกรณีอาจต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เช่น ยาทาควบคู่กับยารับประทาน หรือปรับเปลี่ยนยาสลับกันเป็นระยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดีจะได้รับคำแนะนำเฉพาะบุคคลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมคุณภาพชีวิตในระยะยาว

ทีมแพทย์

โรงพยาบาลวิภาวดีมีทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินโดยเฉพาะ พร้อมด้วยทีมพยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่สหสาขาวิชาชีพที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้การรักษาครอบคลุมทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ

ข้อมูลการนัดหมาย

หากต้องการเข้ารับการตรวจหรือรักษาสะเก็ดเงินที่โรงพยาบาลวิภาวดี ผู้ป่วยสามารถนัดหมายล่วงหน้าได้อย่างสะดวกผ่านหลายช่องทาง ดังนี้

  • โทรติดต่อ0-2561-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • Line Official Account@Vibhavadihospital
  • เว็บไซต์โรงพยาบาลวิภาวดีwww.vibhavadi.comและเลือกเมนู “นัดหมายแพทย์” กรอกข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อยืนยันวันและเวลานัดหมายอีกครั้ง
  • Walk-in (เข้ารับบริการโดยไม่ได้นัดล่วงหน้า)สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือหากไม่สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ สามารถเข้ามาติดต่อแผนกโรคผิวหนังที่โรงพยาบาลวิภาวดีโดยตรง ทั้งนี้ แนะนำให้โทรแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวกและลดเวลารอคอย

สิทธิการรักษาและค่าใช้จ่าย

โรงพยาบาลวิภาวดีมีทางเลือกด้านสิทธิการรักษาและระบบชำระเงินที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก ดังนี้

สิทธิการรักษาที่รองรับ

  1. ชำระเงินสด (Self-Pay)ผู้ป่วยสามารถเลือกชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง โดยสามารถสอบถามค่าบริการเบื้องต้นล่วงหน้าได้จากเจ้าหน้าที่
  2. สิทธิประกันสุขภาพเอกชนผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิคุ้มครองค่ารักษาสะเก็ดเงินได้ตามแผนประกันสุขภาพของเอกชนที่ถืออยู่ได้ตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน
  3. สิทธิสวัสดิการข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง)สำหรับข้าราชการและครอบครัวสามารถใช้สิทธิรักษาสะเก็ดเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  4. สิทธิประกันสังคม (เฉพาะผู้ที่เลือกโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นสถานพยาบาลหลัก)กรณีผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคมและได้เลือกโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นโรงพยาบาลประจำ สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ

ค่าใช้จ่ายในการรักษา

  • ค่าพบแพทย์เฉพาะทาง ประมาณ 500 - 1,200 บาทต่อครั้ง
  • ค่ายาและค่าตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม (ขึ้นอยู่กับแผนการรักษา)

ทั้งนี้ แนะนำให้ติดต่อโรงพยาบาลโดยตรงเพื่อสอบถามค่าใช้จ่ายในการรักษาที่แน่นอน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาและจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด

สรุป

สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ แต่สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่มักแสดงอาการเป็นผื่นแดง นูน มีขุยสีขาวหรือเงินบนผิวหนัง ซึ่งมักพบได้บริเวณข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ หรือหลัง อาจมีอาการคัน แสบ หรือระคายเคือง และในบางรายอาจมีอาการปวดข้อหรือเล็บผิดปกติร่วมด้วย

หากใครกำลังสงสัยว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายสะเก็ดเงิน และต้องการรับการวินิจฉัยหรือคำปรึกษาจากแพทย์ผู้มีประสบการณ์ สามารถเข้ารับบริการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลวิภาวดีซึ่งมีบริการแบบ One Stop Service สำหรับโรคผิวหนังโดยเฉพาะ พร้อมทีมแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในทุกขั้นตอน

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดหลายคนมักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน ทั้งในเรื่องอาการ การติดต่อ รวมถึงแนวทางการรักษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง บทความนี้จึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำอธิบายจากหลักทางการแพทย์ไว้ดังนี้

โรคสะเก็ดเงินมีกี่ชนิด?

โรคสะเก็ดเงินสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีลักษณะอาการและตำแหน่งที่พบบนร่างกายแตกต่างกัน ได้แก่

  1. ชนิดผื่นหนา (Plaque Psoriasis)พบบ่อยที่สุด ผื่นแดงนูน มีขุยสีขาวเงิน

  2. ชนิดตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis)มีตุ่มหนองสีขาวบนผิวหนังแดง

  3. ชนิดหยดน้ำ (Guttate Psoriasis)ผื่นเล็กคล้ายหยดน้ำ มักเกิดหลังติดเชื้อ

  4. ชนิดผื่นแดงทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis)ผื่นลามทั่วตัว รุนแรง ต้องรักษาในโรงพยาบาล

  5. ชนิดที่เกิดกับข้อ (Psoriatic Arthritis)มีอาการข้ออักเสบร่วมกับผื่น

  6. ชนิดซอกพับ (Inverse Psoriasis)ผื่นแดงเรียบที่บริเวณอับชื้น

  7. เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic Nails)เล็บบุ๋ม หนา หรือร่อน

  8. สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า และ Sebopsoriasisเกิดเฉพาะที่หรือร่วมกับโรคอื่น

โรคสะเก็ดเงินอันตรายไหม?

โรคสะเก็ดเงินมีทั้งระดับที่ไม่อันตรายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการในลักษณะผื่นเฉพาะที่ ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยยาทาหรือการรักษาเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ในบางรายที่มีอาการรุนแรง เช่น สะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงทั่วตัว หรือมีข้ออักเสบร่วมด้วย ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อระบบภายในร่างกายที่รุนแรงได้

โรคสะเก็ดเงินติดต่อไหม?

โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัส แบ่งปันของใช้ หรือการอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสังคมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถูกตีตราหรือถูกกีดกัน ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสบายใจ

โรคสะเก็ดเงินรักษาได้หายขาดไหม?

โรคสะเก็ดเงินยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แต่อาการสามารถควบคุมได้ด้วยวิธีการรักษาที่เหมาะสม เช่น ยาทา ยารับประทาน ยาฉีด และการฉายแสง ผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ในภาวะอาการสงบ (Remission) ได้ยาวนานหลายเดือนหรือหลายปี หากดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้อย่างเหมาะสม

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111