Q&A วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่

         ครั้งนี้โรคไข้เลือดออก ระบาดสูงสุดในรอบ 5 ปี ! ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกสะสมย้อนหลัง 15 ปี สูงถึง 1,237,467 ราย และเสียชีวิตกว่า 1,311 ราย ทั้งนี้อัตราการเสียชีวิตจะสูงในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มักเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

โดยโรคไข้เลือดออกพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ขณะนี้ได้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ ที่สามารถฉีดได้โดยไม่ต้องตรวจภูมิ หรือเคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้วก็สามารถฉีดได้

  • วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุระหว่าง 4-60 ปี
  • วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้สูงถึง 80.2%  ป้องกันไข้เลือดออกแบบรุนแรง 85.9% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4%
  • ฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
  • วัคซีนมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบ แค่มีอาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1-3 วัน

 

Q1: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เลยไหม จำนวนเข็มในการฉีดเท่ากันหรือไม่ กี่เข็ม ห่างกันกี่เดือน?

A1: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ใช้ปริมาณยา เท่ากัน ฉีดได้ตั้งแต่อายุระหว่าง 4-60 ปี   โดยฉีดจำนวน 2 เข็มเท่ากัน  ห่างกัน 3 เดือน

 

Q2: มาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ก่อน 3 เดือนได้หรือไม่?

A2: ไม่แนะนำการฉีดวัคซีนก่อน 3 เดือน เพราะว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะสูงที่สุดเมื่อเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3 เดือน หากจำเป็นต้องเลื่อน ควรเลื่อนออกไปเกิน 3 เดือน ได้แต่ไม่ควรห่างนานเกินไป โดยไม่ต้องเริ่มเข็มแรกใหม่ อย่างไรก็ตามแนะนำให้มาฉีดเข็มที่ 2 ตามเวลาที่แพทย์นัด เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพในการปกป้องโรคไข้เลือดออกจากวัคซีนที่สูงที่สุด

 

Q3: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Qdenga) ฉีดแล้วป้องกันได้กี่เปอร์เซ็น?

A3: ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ 100% หลังจากฉีดครบโดสแล้วก็ติดเชื้อได้ แต่จะลดอัตราการนอนโรงพยาบาลหรือความรุนแรงของโรคได้ เหมือนกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่

โดยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ ป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้สูงถึง 80.2% ป้องกันไข้เลือดออกแบบรุนแรง 85.9% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4% ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพที่สูง

 

Q4: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ แตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวก่อนอย่างไร?

A4: เนื่องจากโครงสร้างของวัคซีน กระบวนการผลิตและหลักการในการผลิตของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงอาจส่งผลต่อ ข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของวัคซีน รวมไปถึงจำนวนเข็มและระยะห่างของการฉีดวัคซีนแต่ละเข็มที่แตกต่างกัน

โดยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่

  • ชนิดที่ 1: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดเดิม ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 - 45 ปี สามารถฉีดได้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น หากไม่มีประวัติการติดเชื้อยืนยัน ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน (ที่เดือน 0, 6 และ 12)
  • ชนิดที่ 2: วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ ผลิตที่ประเทศเยอรมนี ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 - 60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน คือ ทุกคนสามารถฉีดได้โดยไม่ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (ที่เดือน 0 และ 3)

         

Q5: เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกไหม?

A5:  ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพราะไวรัสเดงกีที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ การติดสายพันธุ์หนึ่ง ๆ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ และจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

อีกทั้งยังพบว่า การติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคแทรกซ้อนได้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจึงเป็นการลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดโอกาสในการนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสการเป็นโรคแทรกซ้อนได้

 

Q6: หลังจากหายเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ทันทีเลยหรือไม่?

A6:  แนะนำให้ผู้ที่หายจากไข้เลือดออกแล้ว เว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนมารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เนื่องจากหลังจากติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไว้แล้ว ซึ่งจะลดน้อยลงตามเวลาผ่านไป การฉีดวัคซีนในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคสูง อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้

 

Q7: วัคซีนมีความปลอดภัยแค่ไหน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง?

A7:  วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่ มีความปลอดภัย มีการใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1-3 วัน

 

Q8: ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก?

A8:  เนื่องจากโรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 65 ปี โดยมักระบาดหนักในสังคมเมือง ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น แม้ไข้เลือดออกจะไม่ติดต่อทางการสัมผัสโดยตรงแบบโควิด-19 ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการใส่หน้ากากอนามัยและการฉีดวัคซีน แต่โรคไข้เลือดออกไม่สามารถป้องกันโรคโดยการใส่หน้ากากอนามัยได้ เพราะโรคนั้นติดต่อผ่านยุงลายที่เป็นพาหะที่มีเชื้อไข้เลือดออก หากยุงลายกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออกแม้ไม่แสดงอาการ และมากัดเราต่อก็สามารถส่งต่อเชื้อได้ การป้องกันตนเองจากการโดยยุงกัดตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การป้องกันไข้เลือดออกโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

โรคไข้เลือดออกสามาถติดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุ พบว่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรงได้เหมือนกัน ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการระบาด คือ ประเทศไทย จึงควรได้รับวัคซีนในการป้องกันตนเองจากโรคนี้

 

Q9: คนกลุ่มใดบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และจำเป็นต้องรับวัคซีนอย่างเร่งด่วน

A9: เป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น นั้นใกล้เคียงกับกลุ่มเปราะบางของโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • กลุ่มคนอ้วน
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคธาลัสซีเมีย โรคเลือด โรคไต เป็นต้น
  • กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มนี้อาจจะมีภูมิต้นทานต่ำและมีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค

 

 

 

 

อ้างอิง

  1. World Health Organization. Dengue and severe dengue [Internet].. 2023 [cited 2023 Jun 20]. Available at: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dengue-and-severe-dengue.  [Accessed Jul 2023].
  2. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย ปี พ.ศ. 2566 แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
  3. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566
  4. เอกสารกำกับยาภาษาไทย คิวเดนกา Thai Product Information Qdenga ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2566

 

<