โรคงูสวัด อันตรายที่ซ่อนอยู่ วิธีป้องกัน และวัคซีนงูสวัด

                               

                               โรคงูสวัดเป็นการติดเชื้อไวรัส Varicella zoster ชนิดเดียวกับที่ก่อโรคสุกใส โดยการติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรก จะแสดงอาการของโรคสุกใส ซึ่งจะมีตุ่มน้ำใสกระจายทั่วตัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นในวัยเด็ก เพราะโรคสุกใสแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากติดต่อกันทางลมหายใจ หรือสัมผัสตุ่มน้ำ เมื่อโรคหายแล้ว เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายโดยซ่อนอยู่ที่ปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิถดถอยตามวัย เชื้อก็จะถูกกระตุ้นขึ้นมาก่อให้เกิดโรคงูสวัดที่มีความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ

 

                                 ข้อมูลจากการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกพบว่า คนที่อายุ 50 ขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดเพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ยังพบว่าคนวัย(อายุ 50 ปีขึ้นไป) กว่า 90% เคยติดเชื้อไวรัสสุกใสมาแล้ว นั่นหมายความว่า ผู้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคงูสวัด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคไต รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อ Covid-19 มีความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดเพิ่มขึ้น

 

ความอันตรายของโรคงูสวัด

โรคงูสวัดนั้น นอกจากจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สบายแล้ว ยังจะทำให้เกิด

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้องูสวัดที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคปวดเส้นประสาท (Post Herpetic Neuralgia – PHN) คือ มีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลา นานหลายเดือนหรือหลายปีหลังจากผื่นหาย
  • ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนเกิดเป็นแผลเป็น, งูสวัดขึ้นตา (HZO), ปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease)
  • ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อหุ้มสมองตาย ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก

 

ใครมีความเสี่ยงของโรคงูสวัดบ้าง

• ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี, ผู้ที่มีภาวะร่างกายภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น ติดเชื้อ HIV, ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยา steroid ขนาดสูงอย่างต่อเนื่อง

• ผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัด มีโอกาสเป็นซ้ำประมาณ ร้อยละ 6.2 โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV คนไข้มะเร็ง

 

การดูแลรักษาและป้องกันโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัด

• ให้ยาต้านไวรัสได้เร็ว โดยเฉพาะในช่วง 72 ชม.แรกที่เกิดผื่นผิวหนัง จะช่วยย่นระยะเวลาของโรค และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้

• ดูแลผิวหนังในบริเวณนั้นให้สะอาดและหลีกเลี่ยงการเกาจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

• ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

การป้องกันโรคงูสวัด

การจัดการความเครียด การรักษาสุขอนามัยจะช่วยลดโอกาสในการกระตุ้นขึ้นมาของเชื้อไวรัสได้ และหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการของโรคงูสวัดสามารถลดความเสี่ยงของการติดต่อได้

• หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัด

• วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ถือเป็นวิธีป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

รู้จักวัคซีนโรคงูสวัด

ในปัจจุบันมีวัคซีนโรคงูสวัดอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนแรง(ZVL) และ วัคซีน Protein Subunit ร่วมกับสารเสริมฤทธิ์ (Recombinant Zoster Vaccine - RZV) ซึ่งไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น

ผลศึกษาทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าทั้งสองวัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของโรคงูสวัดและโรคปวดเส้นประสาทได้ แต่วัคซีนชนิดที่ไม่ใช่เชื้อเป็น (Protein Subunit with adjuvant system)  แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุที่มากขึ้น วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยที่ดี โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปจะไม่รุนแรงและเป็นชั่วคราว

 

ข้อบ่งชี้ของวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

วัคซีนถือเป็นวิธีป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคงูสวัดสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มอายุนี้มีความเสี่ยงสูง และเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัวหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งหากเป็นวัคซีนงูสวัดชนิดที่ไม่ใช่เชื้อเป็น สามารถฉีดให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรค หรือยากดภูมิได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดซ้ำ ซึ่งพบได้ราว 6 -10%

 

รู้จักวัคซีนโรคงูสวัดวัคซีนชนิด Recombinant Zoster Vaccine – RZV

1.เพื่อป้องกันโรคงูสวัด และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคงูสวัด

  • ในผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป (ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 โด๊ส ห่างกัน 2-6 เดือน)
  • และผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดมากกว่าปกติ (ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 โด๊ส ห่างกัน 1-2 เดือน)

 

2.ประสิทธิภาพของวัคซีนงูสวัด

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 97% และประสิทธิภาพในการป้องกันโรคปวดเส้นประสาท (PHN) 91.2% ในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 89% เมื่อติดตามยาวนาน 10 ปี

 

3.กรณีที่คนไข้เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน

  • สามารถรับวัคซีนงูสวัดได้ โดยให้ 2 โด๊ส และเว้นห่างหลังจากหายจากโรคงูสวัด อย่างน้อย 6 เดือน

 

4.กรณีที่คนไข้เคยได้รับวัคซีนงูสวัดชนิดเชื้อเป็นมาก่อน

  • สามารถรับวัคซีนงูสวัดได้ โดยให้ 2 โด๊ส และเว้นห่างหลังจากวัคซีนเดิม อย่างน้อย 2 เดือน

 

5.การให้วัคซีนงูสวัดร่วมกับวัคซีนตัวอื่น สามารถให้ได้ในวันเดียวกัน แต่คนละตำแหน่ง เช่น แขนคนละข้าง

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • วัคซีนปอดอักเสบ
  • วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก

 

การรู้จักโรคงูสวัดเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรับมือกับโรคนี้ เพื่อปกป้องสุขภาพของตัวเราและคนที่เรารักให้ห่างไกลจากโรคงูสวัด

<