การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer)

          เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ปี พ.ศ.2542 พบมะเร็งลำไส้ใหญ่บ่อยเป็นอันดับสามในชายไทย (8.8 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน) รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด เป็นอันดับที่ 5 ในหญิงไทย (7.6 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน) โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และพบว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็งนี้จะมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ปัจจุบันมีการศึกษาด้านชีวภาพของโรคนี้มากขึ้น ทำให้เข้าใจถึงพยาธิกำเนิดนำไปสู่แนวทางการป้องกันโดยการตรวจคัดกรอง (Screening) ทำให้วินิจฉัยมะเร็งนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่มะเร็งลำไส้ใหญ่จะลุกลาม ส่งผลให้เพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น มีการตรวจหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ได้แก่

การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test : FOBT)

          เป็นวิธีที่ใช้แพร่หลาย จากข้อมูลทางยุโรปและสหรัฐ พบว่าร้อยละ 1-2.6 ของผู้ที่ให้ผลบวกของ FOBT มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ความไวต่ำและมีผลบวกลวงสูง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบบริโภคเนื้อแดง หรือผักจำพวกหัวผักกาด กระหล่ำดอก บล็อกโคลี หัวไชเท้า แคนตาลูป ฯลฯ ซึ่งผู้ตรวจควรงดรับประทานอาหารดังกล่าว 3 วัน ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ มาตรวจ และอาจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระมาตรวจซ้ำ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ซึ่งผู้คัดกรอง หลายท่านไม่สะดวกและรู้สึกยากลำบากในการเก็บตัวอย่างมาตรวจนั่นเอง

การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งและเอกซเรย์ (Double (air) Contrast Barium Enema : DCBE)

          เป็นทางเลือกหนึ่งในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอดีต โดยใช้แป้งแบเรียมสวนเข้าทางทวารหนัก ประสิทธิภาพในการตรวจนี้ไม่ชัดเจน ความไวในการตรวจน้อยกว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ถ้าติ่งเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ข้อจำกัดอีกอย่างคือ ผู้รับการตรวจอาจไม่สามารถทนการตรวจได้ เพราะต้องอัดแป้งเข้าไปประกอบกับต้องกลั้นทวารหนัก พลิกตะแคงไปมาและยังต้องการรังสีแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ความชำนาญในการอ่านผลเป็นอย่างดี

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscope)

          เป็นวิธีที่มี Cost Effective สูงสุดในปัจจุบัน สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงเป็นที่แนะนำของสมาคมแพทย์ต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากจะเห็นเนื้องอกชัดเจนแล้วยังสามารถนำติ่งเนื้องอกออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตามวิธีนี้จัดว่ามีภาวะแทรกซ้อนได้ร้อยละ 0.03-0.72 มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้รับการตรวจต้องอดอาหารและเตรียมลำไส้ใหญ่ให้โล่งว่าง ทั้งยังต้องการแพทย์ผู้ชำนาญในการส่องกล้องตรวจเพื่อความแม่นยำและลดภาวะแทรกซ้อนในการตรวจ

การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography)

          เป็นการนำ Helical CT ซึ่งมีความละเอียดสูง มาประกอบภาพ 3 มิติของลำไส้ใหญ่ ข้อดีคือ ทำให้เร็วและปลอดภัย เห็นภาพได้ตลอดความยาวลำไส้ใหญ่และมองเห็นผิวนอก ต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ ลำไส้ใหญ่ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างคือ ความไวและความจำเพาะไม่มาก ทั้งยังต้องเตรียมและต้องเป่าลมเข้าลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือชนิดนี้ยังมีไม่มากและไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตรวจจากระบบประกันสุขภาพได้

การรวจหาดีเอนเอ (Fecal DNA Testing)

          มีความไวในการคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าการตรวจ FOBT ถึง 4 เท่า แต่มีความไว ครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การตรวจนี้อาจเป็นที่ยอมรับให้ใช้เป็น เครื่องมือในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต


                                        ด้วยความปรารถนาดีจาก
                                ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี

<