ปลายประสาทอักเสบ

ปลายประสาทอักเสบ

        เกิดจากประสาทส่วนปลายเสื่อม ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการขาดอาหาร (เช่น โรคเหน็บชา โรคพิษสุราเรื้อรัง) เบาหวาน จากพิษของยา (เช่น ไอเอ็นเอช) พิษของสารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง ตะกั่ว สารหนู) โรคติดเชื้อ (เช่น โรคเรื้อน คอตีบ โปลิโอ เอดส์) เอสแอลอี มะเร็ง (เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ๆ เนื้องอกที่กดทับเส้นประสาท ภาวะบีบรัดเส้นประสาท (เช่น) เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น) หรือการได้รับบาดเจ็บของเส้นประสาท

โรคปลายประสาทอักเสบ พบได้ในคนที่มีอายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น ได้แก่

  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ทำงานหนักพักผ่อนน้อย
  • ดื่มสุราหรือแอลกอฮอลล์เป็นประจำ
  • สูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
  • ร่างกายขาดวิตามินบางชนิด เช่น บี 1 บี 6 และ บี 12
  • รับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อเส้นประสาท

ลักษณะของอาการผิดปกติที่พบ เมื่อมีการอักเสบของเส้นประสาท ต่างๆ

เส้นประสาทคู่ที่ 7    ถ้าเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการใบหน้าเบี้ยว ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ส่วนหนึ่งของอาการนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในช่วงที่ร่างกายทำงานหนัก พักผ่อนน้อย

เส้นประสาทคู่ที่ 8    ถ้าเกิดการอักเสบ จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เกิดอาการบ้านหมุน ตามมา บางรายได้ยินเสียงแว่วในหู หรือมีอาการหูดับ

เส้นประสาทคู่ที่ 3, 4 หรือ 6    ถ้าเกิดการอักเสบ มักจะพบในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน อาการที่พบบ่อย คือ เห็นภาพซ้อนแนวใดแนวหนึ่ง

เส้นประสาทคู่ที่ 5    หากเกิดการอักเสบ จะมีอาการปวดเสียว ปวดแปร๊บๆ บนใบหน้า ลักษณะอาการคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต มักเกิดอาการด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า

           หากมีอาการของการรับความรู้สึกน้อย (ชา) หรือมากกว่าปกติ (เจ็บ) มีอาการอ่อนแรง หรือมีปัญหาการทรงตัวลำบาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและตรวจวินิจฉัย
 

การรักษาปลายประสาทอักเสบ

แพทย์จะประเมินวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และตำแหน่งของปลายประสาทอักเสบ ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นฟูเส้นประสาทให้กลับมาทำงานได้ปกติ

การรักษาทั่วไป

  • อาบน้ำอุ่น ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดอาการชา และความเจ็บปวดได้
  • ควบคุมน้ำหนัก และระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ช่วยป้องกันการขาดวิตามิน
  • ลดการสูบบุหรี่
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การบำบัด
  • การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า
  • กายภาพบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อ
  • การผ่าตัด การใช้ยา
  • ให้ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ
  • ทายาและนวดเบา ๆ
  • ฉีดยา

ภาวะแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบ

           ความเสียหายของเส้นประสาทที่ส่งผลให้เกิดปลายประสาทอักเสบ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น แผลที่เท้า การติดเชื้อจนทำให้เกิดเนื้อตาย และยังส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ รวมทั้งการไหลเวียนของระบบโลหิต

หากคุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ ควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที สามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเส้นประสาททำให้มีโอกาสหายเป็นปกติได้มากขึ้นอีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง :

https://w1.med.cmu.ac.th/ortho/images/News59/Aj_Kanit/entrapment%20nueropathy.pdf

รศ.นพ. คณิตศ์ สนั่นพานิช  การกดทับเส้นประสาท (entrapment neuropathy)

10.14456/clmj.2018.27 - Chula Med J Vol. 62 No. 6 November-December 2018

 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

https://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=109133

https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1235

<