โรคเส้นเลือดขอด

โรคเส้นเลือดขอด

        หลอดเลือดขอด ( Varicose Veins ) เป็นภาวะที่มี ความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ส่วนใหญ่หมายถึงความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณขา ซึ่งเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาจากแพทย์ที่พบบ่อยที่สุด
       ในหลอดเลือดดำที่ขา เลือดจะถูกลำเลียงกลับไปยังหัวใจภายใต้ความดันประมาณ 20 มิลลิเมตรปรอท โดยที่เลือดในกล้ามเนื้อขาจะเข้าไปในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนเลือดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อยู่รอบนอกจะไหลไปตามหลอดเลือดดำ เมื่อมีความผิดปกติของการรวมกันของหลอดเลือดดำที่ตำแหน่งนี้จะทำให้ เลือดย้อนลงตามหลอดเลือดดำส่วนตื้น ทำให้มีการโป่งขยายตัวของหลอดเลือดดำส่วนปลายที่เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดขอด

สาเหตุการเกิดหลอดเลือดขอด
       ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดขอด ได้แก่
          - อายุที่มากขึ้น จะพบหลอดเลือดขอดได้มากขึ้น กว่า 70% ของคนอายุ 70 ปีขึ้นไปจะพบหลอดเลือดขอด
          - ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีโอกาสเกิดหลอดเลือดขอด เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
          - หลอดเลือดขอดพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
          - บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีหลอดเลือดขอดเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นผลจากการที่มีระดับของฮอร์โมนสูงขึ้น
          - กลุ่มอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหลอดเลือดขอด
          - หลอดเลือดขอดพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวสูงเกินค่ามาตรฐาน
          - หลอดเลือดขอดพบได้ 12% ของประชากรในประเทศตะวันตก ส่วนอุบัติการณ์ ในประเทศทางตะวันออกจะต่ำกว่า ทั้งนี้อาจมีส่วนสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน

         สำหรับกลไกที่เป็นต้นเหตุการณ์เกิดหลอดเลือดขอดยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าน่าจะเป็นความผิดปกติของผนังหลอดเลือดดำหรือวาล์วปิด-เปิดในหลอดเลือดดำเสียไป

อาการแสดงของภาวะหลอดเลือดขอด

         ผู้ป่วยจำนวนมากมายมาพบแพทย์ เนื่องจากลักษณะที่แลเห็นจากภายนอกมองดูไม่สวยงานของภาวะหลอดเลือดขอด ที่มีการขอดตัวของหลอดเลือดดำส่วนตื้น โดยจะมีขนาดประมาณ 3-15 มิลลิเมตร มักเริ่มเป็นที่น่องโดยที่ไม่มีอาการใด ๆ ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการ ปวดล้า หรือรู้สึกเมื่อยที่ขาหลังจาการยืนนาน ๆ มักมีอาการมากขึ้น ในตอนบ่ายหรือเย็น ผู้ป่วยจะรู้สึกดีเมื่อนอนราบและยกขาขึ้นสูง หลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0-5 มิลลิเมตร จะมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม มักมีสีแดงหรือม่วง ส่วนหลอดเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตรมักมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวใต้ผิวหนังจัดเป็นหลอดเลือดขอดในระยะเริ่มต้น

         หลอดเลือดขอดที่เป็นอยู่นาน อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาโดยมากจะเป็นการอักเสบของตัวหลอดเลือดขอดเอง หรือบางครั้งเกิดการอุดตัน แต่พบได้น้อยมาก ปัญหาเลือดออกมากหลังได้รับอุบัติเหตุที่หลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวหนังที่ค่อนข้างบาง ซึ่งอาจทำให้เสียเลือดในปริมาณมาก แต่สามารถแก้ไขได้ง่าย โดยให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูงและพ้นด้วยผ้ายืดซึ่งจะช่วยหยุดเลือดได้ ปัญหาแผลที่ บริเวณข้อเท้าสามารถพบได้ประมาณ 5% 

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดขอด

         การวินิจฉัยหลอดเลือดขอด แพทย์มากอาศัยประวัติการตรวจร่างกายผู้ป่วยร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยาด้วย Doppler Ultrasound หรือ Duplex Ultrasound ซึ่งจะมีประโยชน์ ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดดำส่วนลึก เช่น เคยมีประวัติขาบวม หรือมีแผลที่บริเวณข้อเท้า หรือลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นหลอดเลือดขอดที่เป็นแต่กำเนิด เช่น Klippel-Trenaunay syndrome 

การรักษาโรคหลอดเลือดขอด
   
         การรักษาหลอดเลือดขอดมีหลายวิธีตั้งแต่การให้คำแนะนำ การใช้ถุงน่อง ทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืด การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด หรือการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ขนาดของตัวหลอดเลือดขอดและอาการของผู้ป่วย โดยมากสามารถให้การรักษาในระยะแรกโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งประจำที่อยู่นาน ๆ ควบคุมน้ำหนักตัว และหมั่นออกกำลังกายด้วยการเดิน เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบน่องซึ่งจะทำให้อาการของหลอดเลือดขอดลดลง

การรัดขาที่มีหลอดเลือดขอดด้วยถุงน่องทางการแพทย์

         อาการของหลอดเลือดขอดอาจจะบรรเทาลงได้ด้วยการใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืดซึ่งมีหลายขนาดและความยาว โดยชนิดที่เหมาะสมเป็นชนิดใส่ใต้เข่าที่ขนาดของความดัดประมาณ 20-30 มิลลิเมตรปรอท การใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืดอาจมีประโยชน์ในภาวะหลอดเลือดขอดในระยะเริ่มต้น แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิด หรือทำให้หลอดเลือดขอดหายไปได้

         ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดของการใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพ้นผ้ายืดก็คือ การลืมใช้ หรือความไม่สะดวกในการสวมใส่จากสภาวะอากาศที่ร้อน นอกจากนี้แล้ว ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางหลอดเลือดแดงร่วมด้วย ซึ่งมีรายงานการเกิดภาวะขาดเลือดของขาถึงกับต้องทำการตัดขา ดังนั้นควรตรวจสอบโดยการตรวจคลำชีพจรที่ข้อเท้าเสมอก่อนการใช้

การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด

         วิธีนี้เหมาะกับหลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร ที่เป็นแขนงบริเวณผิวหนังโดยที่ยังไม่ปรากฏความผิดปกติของวาลว์ในตัวหลอดเลือดดำ ส่วนตื้นหรือใช้ในกรณีที่ ทำการผ่าตัดรักษาหลอดเลือดขอดไปแล้ว แต่ยังมีหลอดเลือดขอดเล็ก ๆ หลงเหลืออยู่

ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด
     • หลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร
     • หลอดเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร
     • หลอดเลือดขอดเดี่ยว ๆ 
     • หลอดเลือดขอดบริเวณใต้เข่า

ข้อห้ามของการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด
     • ประวัติการแพ้สารที่ใช้ฉีด
     • หลอดเลือดขอดอักเสบ
     • หลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาในหลอดเลือดดำส่วนลึก
     • หลักการของการฉีดขาเข้าหลอดเลือดขอด คือการฉีดสารที่ทำให้หลอดเลือดดำตีบตันเข้าไปในหลอดเลือดขอดซึ่งสารที่ใช้มีหลายชนิด ซึ่งชนิดที่ใช้บ่อยมีชื่อว่า Hydroxpolyethoxidoxecaine ( Aethoxysclerol ) ซึ่งมีความเข้มข้นตั้งแต่ 1-3%

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด

          ผลแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยแต่เป็นอันตรายรุนแรง คือ อาการแพ้สารที่ฉีดโดยในรายที่เป็นไม่มากอาจมีแค่อาการคัน หรือมีผื่น แต่ถ้ารุนแรง อาจทำให้เกิดอาการช็อคจนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

          ในกรณีที่มีการฉีดสารไม่เข้าหลอดเลือดขอดอาจเป็นเหตุให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นหรือ อาจเกิดหรือแผลบริเวณผิวหนังได้ นอกจากนี้การฉีดสารในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดหลอดเลือดดำอักเสบได้ ส่วนการเกิดหลอดเลือดดำส่วนลึกตัน ( Deep Venous thrombosis ) พบได้น้อยมาก

การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดขอด
         ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด คือ
          1. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาและมีวาล์วในหลอดเลือดดำผิดปกติ
          2. เส้นเลือดขอดที่เกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออก หรือ มีการอักเสบของหลอดเลือดขอด
สำหรับการผ่าตัดรักษาในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ การผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยการใช้การตัดและดึงเอาหลอดเลือดขอดที่มีปัญหาออก ( Conventional Venous Stripping) และการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Endovenous laser ) 

           การผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยการใช้การตัดและดึงเอาหลอดเลือดขอดที่มีปัญหาออก ( Conventional Venous stripping ) เป็นการผ่าตัดที่มักใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อล่งชี้ของการผ่าตัดทุกราย การผ่าตัดชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีแผลให้เห็นได้หลังผ่าตัดบริเวณขาหนีบและใต้เข่า อย่างไรก็ดีการผ่าตัดชนิดนี้ยังคงเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยหลอดเลือดขอด

          การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Endovenous laser ) เป็นการรักษาหลอดเลือดขอดวิธีใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์รักษาหลอดเลือดขอดโดยที่ไม่มีบาดแผลให้เห็นหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ดีการผ่าตัดชนิดนี้ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่มากหรือคดเคี้ยวได้ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการรักษายังคงมีราคาแพง

<