โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

นพ. อนวรรถ ซื่อสุวรรณ 
อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี


โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร?
     โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบพร้อมกันหลายๆ ข้อ เมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานานข้อจะถูกทำลาย ทำให้ข้อผิดรูป และเกิดความพิการตามมาได้ นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงในอวัยวะอื่นๆ นอกจากข้อได้ด้วย 

สาเหตุการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร?

     สาเหตุของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยัง ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางการติดเชื้อ ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนเพศ และปัจจัยทางระบบภูมิต้านทาน

ปัจจุบันเชื่อว่า การเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ คือ ผู้ป่วยมีปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งเอื้อต่อการเกิดโรค และได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ

อาการที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอะไรบ้าง?

     อาการที่สำคัญ ได้แก่ ข้ออักเสบจำนวนหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อมือและข้อนิ้วมือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อตลอดเวลาไม่ว่าจะใช้ข้อทำงานหรือไม่ก็ตาม และมีอาการข้อฝืดขัดหลังการตื่นนอนตอนเช้า นอกจากอาการที่ข้อแล้ว อาการในระบบอื่นที่อาจพบได้ เช่น ไข้ต่ำๆ อาการอ่อนเพลีย ปุ่มรูมาตอยด์ อาการปากแห้งตาแห้ง เป็นต้น เมื่อมีข้ออักเสบ ข้อจะสูญเสียหน้าที่การทำงาน ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อลดลง เมื่อข้อมีการอักเสบเป็นระยะเวลานานข้อจะถูกทำลาย และผิดรูป ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เมื่อมีอาการเต็มที่แล้วการให้การวินิจฉัยทำได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบหลายข้อ ส่วนใหญ่ในข้อเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มือและเท้า มีการกระจายของข้อที่อักเสบแบบเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับพบลักษณะข้อผิดรูป แต่ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการนำได้หลายแบบซึ่งในบางครั้งทำให้ยากในการวินิจฉัย 

โรคที่มีอาการเลียนแบบหรือคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอะไรบ้าง?

     โรคข้ออักเสบที่คล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้แก่ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคข้ออักเสบ SNSA โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบติดเชื้อ โรคข้ออักเสบที่พบร่วมกับโรคมะเร็ง เป็นต้น 

ทำไมจึงต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์บ่อยๆ?

       การตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีความจำเป็น เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค ใช้ประเมินความรุนแรงของโรค ใช้ในการประเมินผู้ป่วยก่อนพิจารณาเลือกใช้ยา ใช้ในการติดตามการตอบสนองต่อการรักษา และการติดตามผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา

รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อย่างไร?

       การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด 

1. การรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ยา
       ผู้ป่วยควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตัว และการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ข้อทำงานหนักมากเกินไป ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมีส่วนสนับสนุนสำคัญ ในการช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาพ ทำให้ผู้ป่วยปวดข้อน้อยลงและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านอาจมีความจำเป็น เช่น การปรับก๊อกน้ำเป็นชนิดใช้มือปัดแทนชนิดใช้มือหมุน การอาบน้ำด้วยฝักบัวแทนการใช้ขัน เป็นต้น

2. การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา
       ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้น มีการพัฒนาวิธีการรักษาโดยการใช้ยาหลายขนานร่วมกัน ทำให้ควบคุมข้ออักเสบได้ดีขึ้น ลดการทำลายข้อ โอกาสที่จะเกิดความพิการเมื่อเทียบกับในอดีตพบว่าลดลงอย่างชัดเจน ยาที่ใช้ในการรักษาประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังนี้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen, indomethacin และ diclofenac เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติบรรเทาปวดและลดการอักเสบ แต่มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การระคายเคืองกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ อาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง และเลือดออกแล้วหยุดยาก เป็นต้น การรับประทานยาในกลุ่มนี้ควรรับประทานหลังอาหารทันที ในปัจจุบันมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ายาต้านการอักเสบเดิม แต่ประสิทธิภาพบรรเทาปวดและลดการอักเสบเท่าเดิม ยากลุ่มนี้ เช่น meloxicam, celecoxib และ etoricoxib เป็นต้น

       ยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดโดยตรง แต่จะออกฤทธิ์ทำให้เซลล์ก่อการอักเสบหลั่งสารก่อการอักเสบลดลง ทำให้ข้ออักเสบลดลง ควบคุมโรคได้ดีขึ้น เนื่องจากยาไม่ได้ออกฤทธิ์บรรเทาปวดโดยตรงจึงต้องรอเวลายาออกฤทธิ์หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้วแต่ชนิดของยา ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น chloroquine, sulfasalazine, methotrexate, gold salt, และ leflunomide เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของยา เช่น ผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา ตับอักเสบ กดไขกระดูก และพังผืดปอด เป็นต้น ดังนั้นการใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

       ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่ระงับการอักเสบได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดี แต่ผลข้างเคียงมาก เช่น ผิวหนังบาง น้ำหนักขึ้น ภาวะกระดูกบาง ต้อกระจก กระดูกขาดเลือด เป็นต้น ปัจจุบันแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ อาจใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเพื่อควบคุมโรคในการรักษาช่วงแรกซึ่งยาในกลุ่มต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคยังไม่ออกฤทธิ์ เมื่อควบคุมโรคได้ดีแล้วก็จะลดขนาดยาและหยุดยาให้ได้เร็วที่สุด

       ยาต้านสารซัยโตไคน์ ในปัจจุบันพบว่าสารก่อการอักเสบที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คือสารซัยโตไคน์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นกระบวนการอักเสบต่างๆ จึงมีการพัฒนายาต้านสารซัยโตไคน์ขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น infliximab, etanercept และ adalimumab เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ดีมาก ลดการอักเสบได้รวดเร็ว และยับยั้งการทำลายข้อได้ สามารถใช้ในผู้ป่วยซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อวัณโรคแทรกซ้อนได้ การรักษาด้วยยาในกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายสูง

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด 
       การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาที่สำคัญอีกวิธีหนี่งในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีส่วนช่วยแพทย์ให้ดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขี้น การผ่าตัดในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น การผ่าตัดลอกเยื่อบุข้อ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดซ่อมแซมกรณีข้อผิดรูป เป็นต้น 

       ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น ทำให้ผลการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดความทุกข์ทรมาน ลดความพิการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยการ วินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค ความเข้าใจโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วย

<