วิกฤตมอบโอกาส และ ท่ามกลางทุกข์ สุขมีอยู่จริง หมอที่ดีที่สุด กับ หมอคนสุดท้าย

วิกฤตมอบโอกาส และ ท่ามกลางทุกข์ สุขมีอยู่จริง หมอที่ดีที่สุด กับ หมอคนสุดท้าย

           พึ่งยอมรับอย่างจริงใจว่า “วิกฤตมอบโอกาส” และ “ท่ามกลางทุกข์ สุขมีอยู่จริง” “หมอที่ดีที่สุด” กับ “หมอคนสุดท้าย” และ “มีสิ่งดี ๆ มากมายที่ได้มาจากการสูญเสีย” เรื่องที่อยากเล่าเพื่อว่าอาจจะเกิดประโยชน์กับผู้ได้อ่านที่ยังมีโอกาสดูแลพ่อแม่ที่ท่านก็แก่ลงทุกวัน ป่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้เป็นที่รัก ตลอดจนตัวเอง สำหรับเพื่อนแพทย์ การวางใจที่ถูกต้องในการดูแลพ่อแม่เมื่อท่านป่วยมาก ทำให้เราลดความทุกข์ กังวลใจ และยังสร้างพลังซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานั้น เวลาที่เราต้องเป็นที่พึ่งของญาติทุกคนอีกด้วย สิ่งนี้ยังสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยต่อ ๆ ไป
แม้ตัวเองจะเป็นหมอ เมื่อคุณแม่ป่วย ทราบว่าเป็นโรคที่ไม่หาย การตัดสินใจเลือกหมอที่จะดูแลแม่ และความรู้เรื่องโรคนั้นพอทำได้ แต่การหาวิธีดูแลจิตใจของแม่ คนในครอบครัวและตัวเองนั้นยากอย่างยิ่ง ตอนนั้นไม่รู้จะถามใคร เริ่มที่ใด จำได้ว่าน้ำหนักลดไปเลยสามกิโล ที่ทำคือโทรศัพท์คุยกับเพื่อนหมอที่เคยมีพ่อป่วย และสูญเสีย ถามอาจารย์แพทย์ ไม่ใช่แง่โรค แต่เป็นด้านการดูแลจิตใจ
“วิกฤตมอบโอกาส”

          เรื่องที่อยากเล่าเพื่อว่า   อาจจะเกิดประโยชน์กับผู้ได้อ่านที่ยังมีโอกาสดูแลพ่อแม่ที่ท่านก็แก่ลงทุกวัน   ป่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้เป็นที่รัก ตลอดจนตัวเอง สำหรับเพื่อนแพทย์  การวางใจที่ถูกต้องในการดูแลพ่อแม่เมื่อท่านป่วยมาก ทำให้เราลดความทุกข์ กังวลใจ  และยังสร้างพลังซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานั้น เวลาที่เราต้องเป็นที่พึ่งของญาติทุกคนอีกด้วย สิ่งนี้ยังสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยต่อ ๆ ไป

        แม้ตัวเองจะเป็นหมอ เมื่อคุณแม่ป่วย ทราบว่าเป็นโรคที่ไม่หาย การตัดสินใจเลือกหมอที่จะดูแลแม่ และความรู้เรื่องโรคนั้นพอทำได้ แต่การหาวิธีดูแลจิตใจของแม่ คนในครอบครัวและตัวเองนั้นยากอย่างยิ่ง ตอนนั้นไม่รู้จะถามใคร เริ่มที่ใด จำได้ว่าน้ำหนักลดไปเลยสามกิโล ที่ทำคือโทรศัพท์คุยกับเพื่อนหมอที่เคยมีพ่อป่วย และสูญเสีย ถามอาจารย์แพทย์ ไม่ใช่แง่โรค แต่เป็นด้านการดูแลจิตใจ “วิกฤตมอบโอกาส” 

        จากสึนามิปีที่แล้ว (2554) ทำให้ต้องยกเลิกการไปญี่ปุ่น 7 วัน ทั้งที่เตรียมการไว้ครบแล้ว    และเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมเป็นครั้งที่ 2 ของชีวิตที่วัดป่าโสมพนัส จ.สกลนคร ช่วง 4-11 เมษายน ได้เรียนรู้อะไรมากมาย กลับมาปลายเดือนเมษายน พ่อต้องรับการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เดือนตุลาคมลูกต้องผ่าตัดในขณะที่น้ำท่วมกำลังเข้ากรุงเทพ และไม่รู้ว่าอาจารย์หมอที่ผ่าตัดซึ่งบ้านก็กำลังจะน้ำเข้าจะมาตรวจเยี่ยมลูกได้จนหายหรือไม่ ต่อด้วยต้องย้ายออกต่างจังหวัดหนีน้ำ โดยภาวนาอย่าให้มีภาวะแทรกซ้อนกับพ่อ ลูก และแม่ที่ป่วยเรื้อรังต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 เดือนธันวาคมแม่เปลี่ยนจากโรคที่ไม่หายแต่ค่อยเป็นค่อยไป กลายเป็นชนิดใหม่ที่รวดเร็วรุนแรง เข้ารักษาตัวภายในโรงพยาบาลศิริราช สถาบันที่เราศึกษา ตั้งแต่มกราคมจนวันสุดท้ายที่จากไปอย่างสงบคือ 28 เมษายน 2555

         เพราะ “วิกฤต” ครั้งนั้นทำให้ได้มี “โอกาส” ไปฝึกตัวเองในรูปแบบที่ตำราแพทย์ไม่ได้สอน จึงพอจะดูแลทุก ๆ คนได้อย่างมีสติมากขึ้น โดยที่ผ่อนคลายได้บ้าง

สงกรานต์ปีนี้เช่นกัน ไม่กล้าไปไหน เพราะแม่ป่วยมาก เลือกที่จะพาลูกเข้าไปทำกิจกรรมดี ๆ ในวัดใกล้ ๆ และค้างได้หนึ่งคืน ซึ่งก็ดีเพราะจะเที่ยวไทย ก็หาของทานยาก ไปต่างประเทศก็จองลำบาก และแพงกว่าปกติ เริ่มรู้สึกว่าช่วงสงกรานต์ปีละครั้ง ได้ไปวัด พักจิต พักใจกับลูกหรือครอบครัวเป็นสิ่งดีมาก 

ก็เพราะ “วิกฤต” ครั้งนี้อีกที่ทำให้ได้มี “โอกาส” ไปฝึกตัวเองและลูกอีกครั้ง และกลับมาดูแม่ได้อย่างมีสติพอสมควร
 

“หมอที่ดีที่สุด และหมอคนสุดท้าย” 

          อ.ธีระ แพทย์รุ่นพี่ศิริราช 2 ปีดูแลแม่อย่างดีที่สุดตลอดเวลาห้าปีเต็ม จำได้ว่าช่วงแรกก็หาข้อมูลว่าจะให้อาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลใด ท่านใดมาดูแล แต่ยังไม่ได้หาจนสุด ๆ หรอก ก็ตัดสินใจว่าให้พี่ธีระเป็นผู้ดูแลด้วยว่าความเอาใจใส่ เพียงรอยยิ้ม การอธิบายบนพื้นฐานความจริง แต่ให้ความหวัง สร้างกำลังใจ และที่สำคัญคือศรัทธาแก่แม่และเรา รวมถึงทุกคนในครอบครัว เราจึงคิดว่าพี่คนนี้แหละคือ “หมอที่ดีที่สุด” ของแม่แล้ว สิ่งนี้เองทำให้แม่มีกำลังใจดีเสมอ ปฏิบัติตนเชื่อฟังพี่ธีระทุกอย่าง ไม่ต่อต้านการรักษาใด ๆ ทั้งที่บางครั้งเจ็บปวดมาก และชื่นชมหมอของท่านอยู่ตลอดเวลา จนสองสัปดาห์ก่อนจากไปก็ยังพูดว่า “หมอธีระแกดีจะตายไป” “แม่เชื่อว่าหมอคนนี้จะช่วยแม่ได้” “หมอไม่ให้แม่กลับก็ต้องเชื่อหมอ แม่เชื่อแกทุกอย่าง” เราได้เรียนรู้การเป็นหมอที่ดีจากพี่ธีระ พี่ไม่ได้ดีต่อแม่เท่านั้น แต่ต่อทุกคนในครอบครัว อีกสิ่งที่ได้เรียนรู้คือคนไข้แม้เป็นโรคที่ไม่หาย โดยเฉพาะระยะท้าย ๆ แม้จะอยู่ที่หอผู้ป่วยปกติ แต่คนไข้และญาติต้องการดูแลจากแพทย์ พยาบาลไม่ต่างจากผู้ป่วยใน ICU เพราะความเจ็บปวดจากโรคที่ภาวะไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน ความทุกข์ในใจของญาติที่ไม่รู้จะช่วยคนที่เขารักได้อย่างไร เมื่อแม่ของเราเองเป็นคนไข้คนนั้น เราเข้าใจลึกซึ้งเลยว่าการดูแลที่สม่ำเสมอ เอาใจใส่ให้กำลังใจ การสัมผัส การช่วยเหลือ แม้โรคไม่หาย แต่ก็ขอให้ไม่ทรมานจากการเจ็บปวดนั้นคือสิ่งที่มีคุณค่าเพียงใด แต่ “หมอคนสุดท้าย” ไม่ใช่หมอคนที่ดูแลแม่มาตลอด แต่คือ “การจากไป” ต่างหาก เพราะถึงอย่างไรพี่ธีระก็ไม่สามารถทำให้แม่หาย แต่ความทุกข์ของแม่ได้จบสิ้นลง สุขสบาย และพักผ่อนสมบูรณ์เมื่อ “การจากไป” ได้ช่วยท่านต่างหาก ความคิดนี้เราพึ่งได้จากการอ่านหนังสือที่พี่สาวน้องเขยนำมาช่วยแจกในงานของแม่ สองวันหลังจากที่แม่จากไปชื่อว่า “ตายไม่มี” ของท่านปิยโสภณ จากวัดพระราม ๙ อ่านแล้วมุมมองของการจากไปเปลี่ยนทันที สบายใจขึ้นมาก เพราะยอมรับว่าตลอดห้าปีโดยเฉพาะสี่เดือนหลัง มีความสับสนเป็นระยะ ว่าเราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีทางทำให้แม่ได้สมบูรณ์ด้วยภาระต่างๆของตัวเราเอง คิดว่าหากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก่อน คงทำให้เราดูแลแม่ด้วยจิตใจที่เบิกบาน และช่วยให้แนวทางแก่คนในครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น เล่มก็เพียงเล็ก ๆ บาง ๆ ไม่กี่หน้าเท่านั้นเอง
 

“สิ่งดี ๆ มากมายที่ได้จาก สูญเสีย” 

           เราสูญ “เสีย” แต่แม่ “ได้” พักผ่อน สุขสงบ และสบาย เราได้เรียนจบหลักสูตรแพทย์จริง ๆ เมื่อได้ฝึกหัดดูแลแม่ตัวเอง ในเวลาที่ท่านป่วยหนัก จนวาระที่ท่านจากไปต่อหน้าของเราอย่างสงบ แม่เป็นยิ่งกว่าอาจารย์ใหญ่ (คือร่างผู้ล่วงลับที่อุทิศแก่โรงพยาบาลให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาทุกส่วนของร่างกายในวิชากายวิภาค) คือแม่ “จากไป” ให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยที่เป็นผู้เลือกอย่างสงบ  ก่อนจากไปสองสัปดาห์ แม่พูดให้น้องสาวฟังว่า “ไปได้แล้วล่ะ สุคนธ์” ซึ่งแม่ไม่เคยพูดเลยก่อนหน้านี้ ท่านคงเลือกแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ท่านต้องการที่สุดในเวลานั้น จริงเช่นที่หลายคนบอกเราว่าถึงที่สุด ผู้ป่วยเขาอาจเลือกออกมาเอง ซึ่งเราสามารถนำไปใช้กับการดูแลผู้ป่วย คนใกล้ชิดที่ยังอยู่ และเป็นตัวอย่างของการจากไปให้แก่ตัวเราเองด้วย ก็เหมือนทุกสิ่ง หากได้เตรียมหรือทำแบบผึกหัดมาบ้าง พอเจอของจริง ก็พอจะมีแนวทางอยู่บ้าง  การร่วมกันดูแลแม่ทำให้พี่น้องกลับมาใกล้ชิดกัน ห่วงหาอาทรกันมากขึ้น พ่อก็ทำอาหารอร่อยไปฝากแม่บ่อย ๆ เมื่อแม่จากไป เราต้องช่วยกันทำให้รักกันมากกว่าเดิมสิ่งที่ไม่เคยทำก็อยากทำ พี่สาวชวนกันว่าจะพาพ่อไปต่างประเทศ ไปแบบทั้งครอบครัว ก็เราเหลือแต่พ่อแล้ว ต้องรีบทำ

 

“ท่ามกลางทุกข์ สุขมีอยู่จริง”

           งานของการจากไป ทำให้ได้เห็นน้ำใจของญาติ เพื่อน ผู้ร่วมงานมากมาย ที่รวมถึงการมาร่วมงาน ส่งพวงหรีดมา ร่วมทำบุญ เขียนคำไว้อาลัย หรือเพียงรำลึกถึง ที่ทำให้ซาบซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก ไม่เคยคิดอะไรมากเวลาไปร่วมงานของผู้อื่น หรือการกล่าวแสดงความเสียใจ ไม่รู้เลยว่าผู้เป็นลูกรู้สึกเช่นไร ก็ไม่มีวันรู้ได้หรอกจนถึงวันของแม่ตัวเอง ทุกสิ่งที่ได้รับยิ่งใหญ่มากจริง ๆ ในความรู้สึก จำได้ว่าวันที่เห็นผู้คนมาร่วมงานแต่งงาน ดีใจและรู้สึกขอบคุณพ่อแม่ที่เป็นเพราะท่านจึงมีแขกผู้มีเกียรติของท่านมาในงานของเรามากมาย แต่ความรู้สึกเมื่อเห็นคนก้าวเข้ามาในงานของแม่ มันซาบซึ้ง ตื้นตันใจกว่าหลายเท่านัก เพราะไม่ใช่งานรื่นเริง ที่จอดรถในโรงแรมงานแต่งว่าหายาก แต่จอดตามวัดยิ่งยากกว่า แสดงว่าเขาต้องตั้งใจจริง ๆ และคิดกลับกันว่าเพราะพ่อแม่ทำให้เรามีงานทำ มีคนรู้จัก ท่านเลี้ยงลูก ๆ ให้เป็นคนดี จึงมีเพื่อนที่ยังรำลึกถึงและมาในงานของท่าน และบางคนยังมาร่วมงานหลายวัน ญาติสนิทบางท่านก็มาแทบทุกวันอีกด้วย บางทีเราจะเลือกไปงานเพื่อสังคม เช่น เพื่อน ผู้ร่วมงาน จนลดความสำคัญของงานรวมญาติต่าง ๆ แต่จากนี้ความรู้สึกเปลี่ยนไป เพราะความสัมพันธ์ของญาติที่เนิ่นนาน ลึกซึ้ง และเห็นเรามาตั้งแต่ยังไม่มีเรา มันมีคุณค่ามากนัก ตั่วเฮียพี่ชายคนโตของหมอหมงน้องชายคนที่สิบ ก็มาร่วมงานถึงสี่วันรวมวันสุดท้าย เป็นความกรุณาต่อสะใภ้คนเล็กอย่างเราจริง ๆ  ทุกคืนกลับมา เราจะส่งข้อความขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่สละเวลามาร่วมงาน จากใจของเรา คำที่ post ใน facebook แสดงความเสียใจของการจากไปของแม่    มันตื้นตันใจกว่าที่อวยพรวันเกิดของเราเสียอีก
 

          ตอนแรกก็นึกว่ารู้สึกเช่นนี้คนเดียว พี่สาวในวันที่สามของงานมาจับมือพูดน้ำตาไหลว่า “ดูสิ แม่คงดีใจนะ แม่เคยพูดว่าแม่ไม่มีใคร วันงานแม่คงไม่ค่อยมีใครมา แต่นี่มีพวงหรีดจากไหนมากมายที่มีผู้นำมามอบให้” ส่วนน้องสาวก็ส่ง e-mail ขอบคุณเพื่อนร่วมงานใจความว่า“......เวลามีความทุกข์ ก็ยังมีความสุขเล็กๆที่ได้เห็นน้ำใจจากคนที่รู้จัก ญาติบางคนตัวเองป่วย ต้องนั่งรถเข็น แต่มางานคุณแม่ทุกวัน เพื่อนบางคนไม่ได้สนิท เจอกันครั้งสุดท้าย 20 ปีที่แล้ว ได้ข่าวก็มา เพื่อนบางคน ปีนี้ปีชง ก็มีน้ำใจมาร่วมงาน น้องบางคนรู้จักผิวเผิน ก็เป็นน้องใน office แทบไม่เคยติดต่องานกันเลย เสร็จงานก็แวะมา เพื่อนพี่สาวคนหนึ่งเคยโกรธจนเลิกติดต่อกันไปเกินกว่า 20 ปี แต่พอได้ข่าวก็มา ที่บอกว่าคนเราจะเห็นใจกันก็ตอนที่มีความทุกข์เป็นอย่างนี้นี่เอง.........”  จึงรู้ได้ว่างานของแม่  ลูก ๆ เขารู้สึกกันเช่นไร 
 

 “ไม่มีทุกข์ของใครหนักกว่ากัน”  

           แม่ป่วยห้าปีเต็มเป็นช่วงที่แม่เข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ มีการป่วยหลายระบบ เปลี่ยนไปมา แทบทุก 1-2 สัปดาห์จะต้องมีปัญหาใหม่ให้ขบคิด เพราะแม่มีโรคเดิมมากอยู่แล้ว ความทุกข์จึงไม่ใช่ของผู้ป่วยเท่านั้น เเต่เป็นทุกข์ทั้งบ้าน ช่วงแรกแม่บ้านหายไปกับน้ำท่วม ไม่มีคนช่วยดูลูก ต้องทำงานและงานบ้าน และต้องเทียวดูแม่ด้วย เหนื่อยสุด ๆ แทบจะคลานขึ้นเตียงตอนนอน ตื่นเช้าก็มีอรุณสวัสดิ์เป็น WhatsApp จากพี่สาวที่ส่งมาค้างไว้กลางดึก บวกกับกระดาษสอดใต้ประตูเล่าอาการแม่ ซึ่งถ้ามีก็แปลว่าต้องตั้งสติก่อนเปิดอ่าน บางทีโชคดีหน่อยที่ในกระดาษเขียนว่า “มีขนมในตู้เย็น เธอเอาไปกินได้” ทุกครั้งที่แม่มีอาการอะไรใหม่ เเม้เราไม่อยู่ เราจะได้รับการบอกกล่าวจากพี่น้องเสมอ หลายครั้งเครียด เหนื่อย ยิ่งเวลาเหนื่อยจากงาน คนไข้หนัก กลับมาบ้านก็เหมือนไม่มีเวลาหยุดพัก เพราะมีผู้ป่วยคนสำคัญอยู่ที่บ้าน จึงเป็นช่วงที่เราต้องใช้สติในการดำรงตนให้เป็นปกติสุขตลอดระยะเวลาห้าปี  ทำให้มีโอกาสหันไปมองคนที่ทุกข์กว่า เช่นบางครอบครัวต้องดูแลลูกที่ป่วยตั้งแต่เกิด การเข้าคิวรอพบหมอ การหาห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชที่มีผู้ป่วยหนาแน่น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งเรามีโอกาสที่ดีกว่าหลายคนเพราะเป็นแพทย์เอง เป็นศิษย์เก่า แม่ใช้สิทธิเบิกราชการของพ่อ แล้วผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทุกข์ของเขาจะกี่เท่าทวีคูณของเรา 
 

“กายทุกข์ แต่ใจก็สุขได้ อยู่ที่รู้จักเลือก”

         เพราะเรามองเห็นหนทางยาวไกลของโรคที่แม่ต้องเผชิญ สงสารแม่และคนรอบข้าง และไม่รู้ว่าควรรักษาจิตใจของทุกคนอย่างไร แต่แม่เข้มแข็งกว่าที่เราคิดไว้มาก แท้ที่จริงท่านยอมรับโรคของท่าน โดยพร้อมจะต่อสู้ แม่จึงเป็นนักสู้ที่กล้าหาญในความรู้สึก การป่วยทำให้แม่ดูแลสุขภาพตัวเองดีขึ้น หัดปัก cross -stitch ได้ภาพสวยหลายภาพ ที่ชีวิตนี้ไม่เคยทำ และไม่น่าจะหัดทำได้ในวัยนี้ สวดมนต์นานกว่าชั่วโมง ปฏิบัติธรรม ทำให้แม้กายป่วย แต่จิตใจแม่ดีมาก 
 

“เลือกที่จะไปอย่างไร” 

         ช่วงสี่เดือนหลัง ต้องไปกลับบ้านกับศิริราชซึ่งไกลมาก รถติด เราเลือกไปช่วงประมาณหกโมงเย็น กลับสามทุ่ม หลังเลิกงานตัวเอง กลับมานอนก่อน เพราะกลัวขับรถไม่ไหว กลัวตัวเองประมาทเมี่อต้องขับรถกลางคืน แม้จะไปดูแลเม่ไม่ได้เต็มที่ สิ่งที่ปลอบใจตัวเองคือ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เรามีกำลังทำได้ เพราะแม่ป่วย แต่เราและคนที่เหลือต้องแข็งแรง เข้มแข็ง จึงจะมีสติดูแลท่านได้ การตัดสินใจว่าแม่จะจากไปอย่างไรเป็นสิ่งยากมาก เคยได้เรียนว่าผู้ป่วยต้องมีสิทธิเลือก แต่ความเป็นจริงถ้าแม่รู้และให้ท่านเลือก ท่านจะเป็นอย่างไร อาจารย์เราแนะนำในวันที่ท่านมางานว่า เราพูดตรง ๆ ไม่ได้ น่าจะเล่ายกตัวอย่างคนอื่น แล้วแม่อาจเลือกสิ่งที่ท่านต้องการได้ เราก็ว่าจริงนะ แค่นี้ทำไมคิดไม่ได้ จริงที่ว่าปัญหาตัวเองมักคิดไม่ออก  ส่วนมากเราคุยกับพี่สาว แต่ตอนใกล้ ๆ เราขอประชุมน้องสาวและเชิญพ่อด้วย เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง ให้ทุกคนแสดงความเห็นเข้าใจตรงกัน เราจะได้ไม่รู้สึกผิด เพราะเป็นการตัดสินใจของทุกคนที่รักแม่ที่สุด พวกเราขอที่จะให้แม่จากไปอย่างสงบดีกว่ายื้อไว้ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายไม่แตกต่างกัน 

             การได้ปรึกษาพระที่ตนเองนับถือ อ่านหนังสือที่ไม่ใช่ตำราวิชาการ แต่เป็นตำราธรรมะที่ให้ข้อคิดที่ไม่ได้เรียนตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ และหัดปฏิบัติธรรมที่เคยทำน้อยนิด ทั้งหมดนี้คือตำราชั้นเยี่ยมที่สอนในสิ่งที่เราไม่เคยสนใจศึกษา หรือเตรียมตัว เตรียมใจว่าหากโรคทั้งปวงที่เราเรียนรู้มาเกิดกับผู้ใกล้ชิดหรือพ่อแม่ของเรา เราจะรับมือเช่นไร จะเป็นการดีเพียงใด หากเราได้รู้จัก และเรียนรู้มาก่อน และเราจึงอยากปลูกฝังไปถึงลูกหลาน เพื่อให้เขาไม่ได้มีแต่ความรู้ แต่มีความเข้าใจชีวิตด้วย เพื่อเป็นเกราะให้แข็งแกร่งเมื่อมีสิ่งมากระทบแรง ๆ

 

 

“การเตรียมพร้อมย่อมดีกว่า รวมทั้งการจากไป”

           ขนาดเราที่รู้มาก่อนถึงห้าปีว่าโรคของแม่ไม่หาย รู้ว่าใกล้แล้วมาสี่เดือน และรู้ว่าใกล้มาก ๆ มาสองสัปดาห์ ในวันที่มาถึงจริง ทุกอย่างก็ยังฉุกละหุก เพราะมีอีกมากที่เราไม่ได้รู้มาก่อน เที่ยงคืนวันที่ 28 เมษายน ได้รับโทรศัพท์จากน้องสาวที่เฝ้าแม่ว่าแพทย์เวรให้ตามญาติมาดูอาการแม่ ตอนนั้นรู้สึกอื้อ ๆ ในหัวเพราะพึ่งจากแม่มาตอนบ่ายสอง ซึ่งแม่ดูปกติเหมือนทุกวัน  สิ่งที่ทำคือบอกตัวเองให้รีบตั้งสติให้ได้ก่อน เตรียมของที่จำเป็น ปลุกพ่อ หมอหมงสามีขอไปด้วย ตามแม่บ้านมาดูแลเด็ก ๆ ทั้งสามคน น้องโทรหาพี่สาวที่ทำงานอยู่ airport  ส่วนเรากำชับเขาว่าอย่าขับรถเอง และให้น้องเขยเป็นผู้ขับรถ หมอหมงไปไหว้พระในห้องพระ และสิ่งสุดท้ายที่คว้าใส่กระเป๋าคือเข็มกลัดมีรูปหลวงตา และคำว่า “รู้สึกตัว” จากวัดที่เราไปมาเมื่อปีก่อน

           พยายามเจริญสติที่เอาไม่ค่อยจะอยู่มาตลอดทาง คำจากหนังสือธรรมะที่พึ่งอ่านสองวันก่อนท่องมาตลอดว่า “มีสติอยู่กับตัว จะทำให้รู้จัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเราสามารถมองการจากไปของคนที่เรารักได้อย่างสงบและเข้าใจ” เมื่อไปถึงทุกคนก็ไปรายล้อมแม่อย่างอบอุ่น อย่างที่ได้ตั้งใจ และเตรียมไว้ ท่ามกลางน้ำตาของพี่และน้อง และคำถามที่ยังเหลือ เราบอกว่าถึงตอนนี้ ได้เวลาที่แม่จะได้พักผ่อนแล้วให้ท่านสบายเถอะ เปิดบทสวดชิณบัญชรที่แม่ชอบและปกติเปิดให้ทุกคืน พี่สาวจับมือแม่จนนาทีสุดท้าย เราก็พนมมือ สวดไม่เป็น แต่ตั้งจิตให้แม่ตามที่มีผู้สอนว่าการจากไปโดยไม่ห่วงว่าผู้ยังอยู่จะอาลัยและเศร้าโศก จะเป็นการจากไปอย่างสงบ เพราะเราทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้นในเวลานั้น ปกติพยาบาลจะตามแพทย์ให้มาฟังหัวใจผู้ป่วยตอนสุดท้ายว่าไม่เต้นแน่แล้ว เพื่อเป็นการยืนยัน คืนนั้นเราต้องฟังหัวใจของเม่เราเองที่หยุดนิ่ง รวบรวมสติถึงที่สุดแล้วบอกทุกคนว่า “แม่พักผ่อนเถอะนะ ไม่ต้องเป็นห่วง วันนี้ทุกคนมาครบ มาอยู่กับแม่” กราบที่อกแล้วก็ไปกราบที่เท้าขอขมาแม่ ในสิ่งที่เราได้ทำผิดพลาดหรือล่วงเกินท่าน ถอดสายและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากตัวแม่ เราคิดว่าเราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว 

           เราถามตัวเองว่าถ้าหากการจากไปแบบไม่ได้เตรียมการ เตรียมใจ หรือการจากไปอย่างกระทันหันล่ะ มันจะเป็นความทุกข์ยากลำบากใจเพียงไร ถึงเราเองจะได้เคยบอกคนรอบข้างไว้บ้างว่าเราต้องการอย่างไร เผื่อว่าถึงเวลาจริงคนอื่นๆ รวมทั้งตัวเราเองจะได้ตั้งสติได้บ้าง รวมทั้งหากเราได้ทำทุกสิ่งที่อยากทำที่สุด ทั้งให้ตัวเอง คนที่เรารัก แม้ไม่สำเร็จก็ได้วางแผนไว้ เมื่อถึงเวลาต้องจากไป ก็คงไม่มีอะไรต้องห่วงอีก วันที่แม่จากไปแล้วได้ยินคำสรรเสริญมากมาย เราจึงได้กระตุ้นเตือนใจเราว่าให้รีบทำความดี   เพราะสิ่งที่เหลืออยู่คือคุณงามความดีที่ทุกคนจะยังรำลึกถึงเราจริง ๆ 

 “อย่ารอกอดแม่ในวันแม่ (แบบที่เราทำ) เพราะบางทีท่านอาจไม่สามารถรอเรา”

         ยังขอบคุณพี่สาวเสมอ หนึ่งสัปดาห์ก่อนแม่จากไป วันนั้นตั้งใจจะไปงานวันแห่งสติที่สวนโมกข์ กรุงเทพ กับลูกและหมอหมง อยากไปมาก รอมานาน แต่พี่สาวคุยให้ฟังว่า แม่พึ่งบอกว่า “แม่รอเจอหน้าลูกทุกวัน” บอกว่าเธองดไปก่อนเถอะ จึงได้มาหาแม่ในวันนั้น มาตอนบ่ายต้น ๆ จำได้ว่าแม่สีหน้าอิดโรยมาก แต่ยิ้มอย่างมีความสุข แล้วบอกว่า “ดีใจจังตื่นมาก็ได้เจอลูกแต่เช้าเลย” เพราะที่ผ่านมาเราจะไปตอนค่ำเสมอ แล้วเข้าไปกอด แม่บอกว่า “กอดลูกนี่มันชื่นใจจริง ๆ อบอุ่นจัง” แล้วก็โอบกอดเราแน่น ๆ  เราเอาหูฟังไปฟังปอดให้  แม่บอกว่า “มีลูกเป็นหมอก็ดีอย่างนี้เอง” ถามว่าเหนื่อย เจ็บไหมแม่วันนี้ แม่ยิ้มอย่างมีความสุขแล้วบอก “สบายดี” คงเหมือนเดิมที่แม่ไม่อยากให้ลูกกังวล นี่คือวันสุดท้ายที่เรากอดแม่ ขณะที่แม่ยังมีแรงกอดตอบ ขณะที่แม่ยังพูดความรู้สึกได้ เพราะจากวันนั้นสองวัน แขนแม่อ่อนแรงยกไม่ได้ และพูดไม่ได้ หากเราไม่มาหาแม่ตามที่พี่สาวบอก เราคงพลาดโอกาสนี้ เพราะเราลืมคิดไปว่าเรากอดแม่ได้จนวันสุดท้ายก็จริง แต่แม่อาจไม่อยู่ในภาวะของการรับรู้ว่าลูกมากอด  เราเคยคิดว่าเราเป็นหมอ คงมีโอกาสทำให้แม่ได้ดีที่สุด และต้องเป็นคนจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เลย พี่สาวคนโตได้แสดงบทบาทของความเป็นพี่ใหญ่ที่ดีและสมบูรณ์แบบ พี่จัดการเรื่องเวรสลับกันมาเฝ้าแม่ พี่เลือกบอกพี่แหม่มมาช่วยเฝ้า ซึ่งเป็นญาติที่แม่รักมาก ชอบปฏิบัติธรรม ทำให้แม่ได้ฟังคำเตือนสติ และพี่แหม่มก็นำซีดีบทสวดมนต์มาเปิดให้แม่ฟังทุกวัน  พี่สาวยังจัดเรื่องอาหารแต่ละมื้อ  เป็นผู้มาเฝ้าบ่อยครั้งและนานหลายวัน ถึงจะวินิจฉัยสั่งการรักษาไม่ได้ แต่เมื่อใดที่สังเกตอาการแม่ผิดปกติ จะรีบโทรบอกเรา ที่สำคัญได้พาแม่สวดมนต์ และกอดแม่ในยามที่แม่รู้ตัวมากที่สุด ส่วนน้องสาวที่ดูไม่ค่อยเป็นสาระในสายตาของพี่ ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ มีสองวันรวมทั้งคืนสุดท้ายของแม่ที่น้องมาเยื่ยม และตั้งใจจะกลับ แต่เมื่อเห็นแม่อาการไม่ดีก็ตัดสินใจอยู่กับแม่ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย 

“ทำให้แม่ตอนแม่อยู่กับเรา” 

          ความภูมิใจของเราที่ได้ทำให้แม่คือ เดือนมกราคมที่เริ่มทราบว่าอาการมาก เรารีบถามถึงสิ่งที่ท่านอยากทำที่สุด และท่านได้เลือกทำบุญสร้างกุฏิให้วัดป่าอกาลิโก จังหวัดกาฬสินธุ์ของท่านชุติปัญโญ ซึ่งเป็นพระที่เราและหมอหมงเคารพและเคยนิมนต์มาให้แม่ได้สนทนาธรรมที่บ้าน และต่อมาเป็นที่เคารพและศรัทธาของแม่ จากนั้นทุกเดือนที่ท่านลงมากรุงเทพ ท่านจะแวะมาเยี่ยมแม่ ทำให้แม่ได้สนทนาธรรมในยามที่แม้กายไม่สบายแต่ก็ได้ความอิ่มเอิบใจมาช่วย ได้เห็นภาพกุฏิที่ร่วมสร้างมีความคืบหน้า  เรากับพี่ได้ตัดสินใจหาคนจากศูนย์ที่หาได้อย่างยากลำบาก ในจังหวะที่ไม่แน่ใจว่าคนเฝ้าเดิมอาจไม่กลับมา ค่าใช้จ่ายมากกว่าเท่าหนึ่งของที่เป็นอยู่ แต่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะได้คนเอาใจใส่ มีประสบการณ์ดูแลแม่ได้อย่างดี ที่สำคัญคือถูกใจแม่  จนเมื่อแม่จากไป ของชำร่วยในงาน เราเคยเห็นด้ายแดงผูกลูกอมก็ไม่เข้าใจความหมาย ทราบภายหลังว่าเป็นความเชื่อ ส่วนเราอยากแจกหนังสือธรรมะให้ทุกคืนสวด เพื่อเป็นกุศลให้แม่ ตอนแรกจะซื้อหนังสือท่านชุติปัญโญ  สอบถามได้ว่าต้นทุนต่ำสุดก็ 45 บาทต่อเล่ม เราก็ไม่มีกำลังขนาดนั้น ก็หาติดต่อจนได้ซีดีของหลวงตาที่วัดป่าโสมพนัส ที่เราเคยไป ราคาแผ่นละสิบบาท หมอหมงช่วยรีบไปเอาของในวันรุ่งขี้น และท่านชุติปัญโญซึ่งลงมากรุงเทพพอดี ก็ช่วยนำหนังสือจากวัดต่าง ๆ ที่ท่านรู้จักกับพระในวัดนั้นซึ่งจะขอได้หลากหลาย และจำนวนมาก เราจึงได้มีหนังสือมาแจกทุกวัน เราเลือกให้ลูกสาว และลูกน้องสาวเป็นผู้แจกเมื่อมีผู้มาไหว้แม่ เพื่อให้ทุกคนรับไป เพราะบางคนเกรงใจ หรือชีวิตนี้ไม่คิดจะอ่านหนังสือธรรมะ แต่พอเห็นหน้าและได้ยินเสียงเรียกร้องจากเด็ก ๆ ว่า “หนังสือที่ระลึกงานของคุณยายค่ะ” ก็รับไปได้ทุกคน สมตามเจตนา

     หากเป็นพวกเราเอง สามารถไปขอรับหนังสือจากวัดต่างๆ ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ เป็นธรรมทาน เช่นวัดญาณเวศกวัน นครปฐม แล้วร่วมทำบุญ แต่คงเอามาไม่ได้มากนัก (www.watnyanaves.net)  หรือทำบุญแล้วแจ้งว่าต้องการพิมพ์กี่เล่ม ซึ่งทำบุญต่อได้อีกคือ เอากลับมาเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือไว้เผื่อมีผู้มาขอรับภายหลังได้อีก ซึ่งกรณีนี้ต้องรอเวลา เช่นที่วัดพระราม ๙ (ติดต่อ 02-719-7550-1) หรือวัดสนามในมีหนังสือจำหน่ายในราคาไม่สูงนัก ยิ่งภายหลังได้อ่านเจอคำว่า “ธรรมทาน ชนะทานอื่นใดทั้งปวง” ซึ่งท่านอธิบายว่าไม่ใช่แปลว่าได้บุญมากกว่าสิ่งอื่น แต่เหมือนดั่งสอนเด็กให้สอนจับปลา ไม่ใช่ให้ปลา คือการให้หนังสือ ถ้ามีคนได้อ่าน แล้วนำไปปฏิบัติ ไปแนะนำต่อ ธรรมมะดี ๆ ก็แผ่ขยายกว้างไกลออกไป เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก ก็ดีใจที่ได้ทำให้แม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อแม่จากไป การทำอาหารทำบุญไปให้ การนำเงินที่มาจากผู้ร่วมทำบุญในงานแม่ ไปบริจาคตามสถานที่ที่แม่เคยประสงค์ ก็คงไม่เกิดประโยชน์เท่ากับทำอะไรให้ท่านตอนที่ท่านยังอยู่ ซึ่งเราเข้าใจลึกซึ้งแล้วจริง ๆ 

“งานของการจากไป เหมือนการไปทำแผลให้หาย”

           แต่ละวันที่ผ่านไป การปลอบโยน กำลังใจ จากผู้มาร่วมงานหรือเพียงส่งใจมา การที่ลูก ๆ ต้องไปเตรียมงานที่วัดทุกวัน เปรียบเหมือนเวลาเรามีแผลสด ที่ต้องทำแผลทุกวัน    คือมันจะค่อย ๆ ดีขึ้น แสบลดลง แล้วก็หาย เหมือนความห่อเหี่ยว เศร้าโศกในใจได้ถูกรักษาให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว บางส่วนมาจากความเหนื่อยล้าจากงานแต่ละวัน เพราะกว่าจะเสร็จได้เข้านอน และพี่สาว น้องสาว เป็นเหมือนกัน

<